แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1867
ครั้งที่ ๑๘๖๗
สาระสำคัญ
อรรถกถา ปกิณณกนิบาต อุทานรกชาดกที่ ๔ - เลื่อมใสในบุคคลที่มีข้อประพฤติปฏิบัติผิด เพราะความไม่เข้าใจในธรรม
ขุ.มหา.คุหัฏฐกสุตต-นิทเทส - ลักษณะของปัญญาซึ่งตรงกันข้ามกับอวิชชา
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๒
พระ อาตมาคุยกับพระรูปหนึ่ง แนะนำให้ท่านฟังธรรมที่อาจารย์บรรยาย เรื่องสติปัฏฐาน ท่านบอกว่า เมื่อก่อนผมก็เคยฟัง อาจารย์ก็ยังไม่บรรลุอะไรสักที เพราะเขาเห็นอาจารย์ยังแต่งตัวอยู่ อาตมาก็บอกว่า เป็นเรื่องของท่าน ก็ไม่เห็น ท่านจะแต่งตัวอะไร ท่านก็อยู่ธรรมดาของท่าน
สุ. ถ้าบรรลุแล้วจะเป็นอย่างไร ถ้าเป็นพระโสดาบันแล้วเป็นอย่างไร
พระ เขาบอกว่า ไม่มีสักกายทิฏฐิ ไม่มีวิจิกิจฉา ไม่มีสีลัพพตปรามาส
สุ. พระโสดาบันบุคคลต่างจากพระอรหันต์ ต่างจากพระอนาคามี ต่างจากพระสกทาคามีหรือเปล่า หรือพระโสดาบันบุคคลก็เหมือนพระอรหันต์ เหมือนพระอนาคามีบุคคล เหมือนพระสกทาคามีบุคคล
นี่คือการไม่เข้าใจสภาพธรรมตรงตามความเป็นจริง
เรื่องของความเลื่อมใสในบุคคลที่มีข้อประพฤติปฏิบัติผิด เพราะว่ามีความ ไม่เข้าใจในธรรม และไม่ใช่มีแต่เฉพาะในสมัยนี้ แม้แต่ในสมัยก่อนนานแสนนานมาแล้วก็มี ตามข้อความในอรรถกถา ปกิณณกนิบาต อุททาลกชาดกที่ ๔ ท่านปุโรหิตทูลพระราชาผู้ทรงเลื่อมใสในฐานะอันไม่ควรเลื่อมใส โดยกล่าวคาถาว่า
ข้าแต่พระราชา ถ้าบุคคลเป็นพหูสูต ไม่ประพฤติธรรม ก็จะพึงกระทำกรรม อันลามกทั้งหลายได้ แม้จะมีเวทตั้งพันอาศัยแต่ความเป็นพหูสูต ยังไม่บรรลุ จรณธรรม จะพ้นจากทุกข์ไปไม่ได้เลย
พระผู้มีพระภาคตรัสชาดกเรื่องนี้ เมื่อภิกษุรูปหนึ่งบวชในพระศาสนา อันประกอบด้วยธรรมเป็นเครื่องนำออกจากทุกข์เห็นปานนี้ แล้วยังอาศัยการหลอกลวงเพื่อต้องการปัจจัย ๔
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น แม้ในครั้งก่อน เธอก็หลอกลวงเหมือนกัน
ไม่มีปัญญา จะเป็นพระโสดาบันได้อย่างไร แต่ก็ยังกล่าวว่าเป็นพระโสดาบัน เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องที่จะกล่าวว่าเป็นพระโสดาบัน แต่เป็นเรื่องที่จะต้องแสดงหนทางข้อปฏิบัติที่ทำให้ปัญญาเจริญขึ้นรู้ลักษณะของสภาพธรรมจนกระทั่ง ประจักษ์แจ้งการเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
เพราะฉะนั้น เรื่องของความเข้าใจผิด หรือการไม่พิจารณาไตร่ตรอง และ มีความเลื่อมใสในฐานะที่ไม่ควรเลื่อมใสนั้น ก็ไม่ใช่แต่ในสมัยนี้ แม้แต่ในสมัยก่อน ก็มีมานานแล้ว
ถ. คำว่า สักกายทิฏฐิ แปลว่าการยึดขันธ์ ๕ เป็นของตน ใช่ไหม เวลาที่เรานั่งเฉยๆ บางครั้งจิตเรานึกถึง นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ นึกไปโดยที่เราไม่ตั้งใจ อย่างนี้เป็นสัญญาหรือเปล่า เป็นสักกายทิฏฐิหรือเปล่า
สุ. สัญญาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง
ถ. ก็เป็นสักกายทิฏฐิชนิดหนึ่ง ใช่ไหม
สุ. สัญญาเป็นเจตสิกชนิดหนึ่ง เป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิก เกิดกับจิตทุกดวง ส่วนมิจฉาทิฏฐิเป็นอกุศลเจตสิกเกิดกับอกุศลจิต
ถ. ที่หนูยกตัวอย่าง เป็นสักกายทิฏฐิหรือเปล่า
สุ. สักกายทิฏฐิ คือ ในขณะนั้นมีความเห็นเกิดขึ้นยึดถือว่าเป็นเรา ในขณะที่กำลังฟังพระธรรมและมีความเข้าใจว่า ขณะที่กำลังเห็นเป็นธาตุรู้ ไม่ใช่ตัวตน มีความเข้าใจอย่างนี้หรือเปล่า การที่จะกล่าวว่าขณะใดเป็นสักกายทิฏฐิ หรือขณะใดไม่เป็นสักกายทิฏฐิ ขอให้เป็นความเข้าใจของท่านผู้ฟังเอง
การที่จะไปถามใครๆ ว่า อันนี้เป็นไหม อันนั้นเป็นไหม นี่เป็นกุศลไหม หรือนั่นเป็นอกุศลไหม คนอื่นไม่สามารถตอบได้ เพราะว่าเขาไม่รู้สภาพจิตของบุคคลอื่น แต่ทุกคนสามารถรู้สภาพจิตของตนเองได้ทุกๆ ขณะ
จะต้องมีหลัก คือ มีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า ขณะใดเป็นสักกายทิฏฐิ และขณะใดไม่ใช่สักกายทิฏฐิ เพราะว่าจิตเกิดดับสืบต่อกันเร็วมาก ถ้าไม่ศึกษาเรื่องของจิตโดยละเอียดก็จะปะปนกัน ไม่สามารถแยกได้ว่า จิตขณะไหนเป็นกุศล และ จิตขณะไหนเป็นอกุศล
เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นต้องทราบว่า อกุศลจิตมีกี่ประเภท และอะไรบ้าง เช่น ความเห็นผิดทั้งหมด ได้แก่ ทิฏฐิเจตสิก เกิดกับเฉพาะโลภมูลจิต ในขณะที่มีความเห็นเกิดขึ้นว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน
ถ้าสนทนากับหลายท่านที่ยังไม่เคยฟังพระธรรมเลย ทุกท่านจะบอกว่า เป็นตัวตนแน่ๆ ตายแล้วก็เกิด คนนี้เป็นคนนี้ สัตว์เป็นสัตว์ แต่ตามความเป็นจริง พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล แต่มีสภาพธรรมที่มีจริงๆ ซึ่งเป็นนามธรรม เป็นสภาพรู้ เกิดกับรูปธรรมในภูมิที่มีขันธ์ ๕
นามธรรมและรูปธรรมเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยและก็ดับไป และก็มีปัจจัยให้เกิดขึ้น และก็ดับไป สืบต่อกันอยู่เรื่อยๆ โดยที่ว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลจริงๆ เช่น ได้ยินในขณะนี้ เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยและดับไป ขณะที่ได้ยินไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงจิตประเภทหนึ่งเกิดขึ้นรู้เสียงคือได้ยินเท่านั้นและก็ดับ จึงกล่าวว่า ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน
สิ่งใดที่เกิดขึ้น มีปัจจัยจึงเกิดขึ้น และสิ่งนั้นก็ดับไป เพราะฉะนั้น ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคลที่เที่ยง แต่ผู้ที่ยังไม่เคยได้ยินได้ฟังพระธรรมเลยก็เข้าใจว่า มีสัตว์ มีบุคคล ที่เที่ยง เมื่อตายก็สิ้นสภาพ และก็เกิดเป็นบุคคลใหม่ หรือเป็นสัตว์ประเภทหนึ่ง ประเภทใด ถ้าเห็นอย่างนี้ เป็นสักกายทิฏฐิ
ถ. แต่เมื่อกี้นี้ที่หนูถาม ก็ไม่ได้เป็นสักกายทิฏฐิ คิดว่าไม่ใช่
สุ. ฟังให้เป็นความเข้าใจของตัวเองก่อน จะได้พิจารณาและสามารถรู้ได้ว่า ขณะใดเป็น ขณะใดไม่เป็น เวลาเห็นดอกไม้สวยๆ ชอบไหม
ถ. ชอบ
สุ. ทันทีเลยหรือเปล่า
ถ. ใช่
สุ. ไม่ต้องรอเลยหรือ
ถ. ใช่
สุ. ไม่มีความเห็นใดๆ ทั้งสิ้น เพียงแต่เห็นก็ชอบแล้ว ใช่ไหม นั่นคือ โลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ไม่มีความเห็นใดๆ เกิดขึ้นในขณะนั้น ไม่ต้องมานั่ง ปุจฉาวิสัชนาถามกันเรื่องสักกายทิฏฐิ เรื่องความมีตัวตนหรือไม่มีตัวตน
ความพอใจในสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แม้พระโสดาบันก็ยังมี เพราะว่าท่านเป็นพระอริยบุคคลที่ยังไม่ได้ดับความยินดีพอใจ ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่ท่านดับความเห็นผิดเป็นสมุจเฉท
เพราะฉะนั้น จะเห็นได้โดยเทียบกับพระอริยบุคคลว่า เมื่อพระอริยบุคคล ขั้นพระโสดาบันและพระสกทาคามี ยังมีความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ยังมีโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์คือไม่มีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๔ ดวง แต่สำหรับปุถุชนผู้ที่ยังไม่ใช่พระอริยบุคคลมีโลภมูลจิต ๘ ดวง คือ เพิ่มโลภมูลจิตที่เกิดร่วมกับทิฏฐิ เป็นทิฏฐิคตสัมปยุตต์อีก ๔ ดวง
แสดงให้เห็นว่า ถ้ามีความยินดีพอใจในสิ่งหนึ่งสิ่งใดโดยไม่ได้คิดถึง ความเห็นใดๆ ทั้งสิ้น ขณะนั้นก็ไม่มีมิจฉาทิฏฐิเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น ตอบ ตัวเองได้ไหมในขณะนั้น
ถ. อีกอย่าง หนูสงสัยมานานแล้ว เวลาหนูไหว้พระเสร็จ หนูชอบคิดว่า ขอบารมีขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ขอให้ลูกรอดพ้นจาก ภัยอันตรายทั้งปวง อาจารย์คิดว่า เป็นการติดชนิดหนึ่งหรือเปล่า คงจะติด ใช่ไหม
สุ. ในพระไตรปิฎก พระผู้มีพระภาคทรงแสดงสัจจะ ท่านพระองคุลีมาล ก็แสดงสัจจะ
ถ. อย่างนี้เป็นการแสดงสัจจะหรือ
สุ. ในขณะนั้นคิดอย่างไร คนอื่นตอบให้ไม่ได้ ต้องเป็นปัญญาของตัวเอง ที่ฟังและเข้าใจว่า สัจจะ คือ การกล่าวคำจริง แม้คำนั้นจะเป็นสิ่งซึ่งอาจจะไม่มีใครรู้ แต่ผู้ที่สามารถกล่าวถึงความจริงนั้นให้คนอื่นรู้ได้ ก็เป็นผู้ที่มีความมั่นคงในสัจจะ เพราะฉะนั้น ก็ขออำนาจของสัจจะ ความจริงนี้ ซึ่งเป็นกุศลในการที่จะกล่าวคำจริง เพื่อที่จะให้ แล้วแต่ว่าขณะนั้นมีเหตุจำเป็นเฉพาะหน้าอะไร ซึ่งก็ต้องเป็นกุศลเท่านั้น จึงจะช่วยได้ อย่างอื่นช่วยไม่ได้ และต้องเป็นกุศลของตนเองด้วย ไม่ใช่กุศลของ บุคคลอื่น ถ้ากุศลของบุคคลอื่นช่วยได้ สัตว์ทั้งหลายจะไม่มีความทุกข์เลย เพราะว่าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีพระมหากรุณา
ถ. สักกายทิฏฐิกับมิจฉาทิฏฐิ อย่างเดียวกันหรือเปล่า
สุ. ขึ้นชื่อว่าทิฏฐิ เป็นความเห็นผิดทั้งนั้น แล้วแต่ว่าจะเป็นความเห็นผิด ในข้อไหน ถ้ากล่าวถึงสักกายทิฏฐิ ก็เป็นมูลของความเห็นผิดอื่นๆ ทั้งหมด ถ้าดับสักกายทิฏฐิแล้ว ทิฏฐิอื่นๆ จะมีไม่ได้เลย มิจฉาทิฏฐิอื่นๆ จะต้องดับหมดด้วย
ถ. มิจฉาทิฏฐิที่ท่านแสดงไว้ว่ามี ๑๐ อย่าง ทานที่ให้แล้วไม่มีผล ยัญที่บูชาแล้วไม่มีผล บิดาไม่มี มารดาไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี ก็ถือว่า เป็นมิจฉาทิฏฐิ
สุ. เป็นมิจฉาทิฏฐิ
ถ. ต่างจากสักกายทิฏฐิอย่างไร
สุ. สักกายทิฏฐิ คือ ยึดถือขันธ์ ๕ ว่า เป็นตัวตน
ถ. แต่ผู้ที่ยังมีสักกายทิฏฐิอยู่ ถือว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ
สุ. ถ้าเป็นความเห็นผิดแล้ว ก็เป็นความเห็นผิด มิจฉาในภาษาบาลี ก็แปลว่า ผิด เท่านั้นเอง
ถ. ถ้าอย่างนั้น ทุกคนที่ยังมีโลภทิฏฐิคตสัมปยุตต์อยู่ ก็เป็นมิจฉาทิฏฐิทั้งนั้น
สุ. ขณะใดที่โลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์เกิด ขณะนั้นเป็นอกุศลที่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย
ถ. เป็นมิจฉาทิฏฐิ
สุ. ก็ภาษาบาลีธรรมดา มิจฉา แปลว่า ผิด ทิฏฐิ แปลว่า ความเห็น เพราะฉะนั้น ภาษาไทยก็ใช้คำว่า ความเห็นผิด ธรรมดา
ถ. ในโลภทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ท่านใช้คำว่า ทิฏฐิ เฉยๆ ไม่มีคำว่า มิจฉาทิฏฐิ
สุ. เพราะว่าเป็นหมวดของอกุศลจิต จึงไม่จำเป็นต้องใช้คำว่า มิจฉาทิฏฐิ แม้แต่ในอกุศลเจตสิก ๑๔ ดวง ก็ใช้คำว่า ทิฏฐิเจตสิก เพราะว่าเป็นอกุศลอยู่แล้ว
ถ. คิดว่า ถ้าเป็นสักกายทิฏฐิ รู้สึกว่าจะเบาๆ หน่อย แต่ถ้าพูดว่า มิจฉาทิฏฐิ รู้สึกว่ารุนแรงเหลือเกิน
สุ. ก็แล้วแต่ หมายความว่า เข้าใจมิจฉาทิฏฐิว่าอย่างไร ถ้าเข้าใจ คำแปลตรง คือ มิจฉา แปลว่า ผิด ทิฏฐิ แปลว่า ความเห็น เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะ เป็นสักกายทิฏฐิหรือทิฏฐิอื่นทั้งหมดที่ผิด ก็คือ มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดนั่นเอง แล้วแต่ว่าจะเป็นความเห็นผิดขั้นรุนแรง ร้ายแรง เช่น เห็นว่ากรรมไม่มี ผลของกรรมไม่มี เป็นต้น ถ้าเห็นอย่างนั้นก็จะมีการทำทุจริตกรรมอย่างมาก เพราะคิดว่า กรรมไม่มีผล นั่นก็เป็นความเห็นผิดที่มีกำลัง
ถ. เป็นมิจฉาทิฏฐิที่มีกำลัง
สุ. แน่นอน
ถ. ถ้าสักกายทิฏฐิ ธรรมดา ถือว่าเป็นความเห็นผิดที่ไม่ถึงขั้น ปฏิเสธบุญ ปฏิเสธบาป ยังไม่ถึงขั้นรุนแรง
สุ. ไม่ถึงมิจฉาทิฏฐิประเภทอื่น แต่เป็นมูลของมิจฉาทิฏฐิทั้งหลาย ตราบใดที่สักกายทิฏฐิยังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท ก็เป็นเหตุให้มิจฉาทิฏฐิอื่นๆ เกิดขึ้นได้
สำหรับผู้ที่ในชีวิตประจำวันไม่ได้แสวงหาปัญญา เพียงแต่แสวงหารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ทรัพย์สมบัติ เพราะว่ายังไม่เห็นประโยชน์ และยังไม่เห็นคุณค่าของปัญญานั่นเอง เพราะฉะนั้น ควรที่จะได้พิจารณาว่า นอกจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งข้อความในพระไตรปิฎกตอนหนึ่งที่ท่านผู้ฟังคงจะได้ยินบ่อยๆ ว่า กามทั้งหลายเปรียบเสมือนของที่ยืมเขามา ท่านกล่าวว่า เหมือนกับบุคคลคนหนึ่ง ซึ่งขอยืมของของคนอื่นมามากมายแล้วก็ใส่รถ และแล่นไปเรื่อยๆ
นี่คือชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย เหมือนกับรถที่เคลื่อนไปทุกขณะ และสิ่งที่ได้รับ ในชาติหนึ่งๆ ก็เหมือนกับของที่ขอยืมเขามาทั้งหมด เพราะฉะนั้น เวลาที่รถแล่นไป พบเจ้าของของทรัพย์สมบัติที่ขอยืมเขามาคนใด เจ้าของนั้นก็เอาของนั้นคืนไป แสดงให้เห็นว่า ในชีวิตของทุกคนไม่ใช่ว่าจะมีแต่ได้ลาภหรือสมบัติ แต่ต้องมีการ เสียสมบัติ และเสียลาภ เสื่อมลาภด้วย
ถ้ามีความเข้าใจจริงๆ ว่า ไม่ได้เป็นเจ้าของสิ่งหนึ่งสิ่งใดในโลกเลย ตลอดชาติ เป็นแต่สิ่งที่ขอยืมมาเท่านั้น ในระหว่างที่นั่งรถแล่นไปเรื่อยๆ เมื่อพบปะเจ้าของทรัพย์ผู้ใด เขาก็เอาของนั้นคืนไป ก็จะไม่เดือดร้อนใจ เพราะว่าทุกชาติก็เป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นอย่างนี้จริงๆ แล้ว สิ่งที่ควรจะแสวงหา คือ ปัญญาที่ทำให้ รู้ความจริงของสภาพธรรมจนกระทั่งสามารถละคลายความติด ซึ่งเป็นเหตุให้เกิด ความทุกข์ได้ ถ้าได้รู้ลักษณะของปัญญาก็จะทำให้แสวงหาปัญญาด้วย ไม่ใช่เพียงแต่แสวงหารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และทรัพย์สมบัติเท่านั้น
ขุททกนิกาย มหานิทเทส อรรถกถา อัฏฐกวรรค คุหัฏฐกสุตตนิทเทส ที่ ๒ แสดงลักษณะของปัญญาซึ่งตรงกันข้ามกับอวิชชาว่า
ชื่อว่าปัญญา เพราะอรรถว่า รู้ทั่ว
รู้ทั่วอะไร รู้ทั่วอริยสัจทั้งหลายโดยนัยว่า นี้ทุกข์ เป็นต้น
แค่นี้ท่านผู้ฟังก็พอจะพิจารณาได้ว่า ท่านพิจารณาข้อความนี้จนกระทั่งเข้าใจชัดเจนขึ้นหรือยัง
ชื่อว่าปัญญา เพราะอรรถว่า รู้ทั่ว
ไม่ใช่รู้เล็กๆ น้อยๆ นิดๆ หน่อยๆ ก็เข้าใจว่ารู้แล้ว หรือว่าเพียงได้ยิน คำหนึ่งคำใดในพระไตรปิฎกก็คิดว่าเข้าใจแล้ว โดยที่ไม่ได้ศึกษาจริงๆ ว่า คำนั้นหมายความถึงอะไร แม้แต่คำว่าปัญญาที่ว่ารู้ทั่ว ก็ยังมีคำอธิบายว่า รู้ทั่วอะไร คือ รู้ทั่วอริยสัจทั้งหลาย โดยนัยว่า นี้ทุกข์ เป็นต้น
ทุกข์ที่เป็นอริยสัจจะ ไม่ใช่ทุกข์ปัญหาชีวิต ไม่ใช่ทุกข์ความเดือดร้อน ไม่ใช่ทุกข์ความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา เป็นต้น แต่เป็นทุกข์ที่รู้ว่า ไม่มีสิ่งใดเลย ที่เที่ยง เห็นชั่วขณะแล้วก็ดับ ได้ยินชั่วขณะแล้วก็ดับ คิดนึกชั่วขณะแล้วก็ดับ สุขชั่วขณะแล้วก็ดับ ทุกข์ชั่วขณะแล้วก็ดับ จึงรู้ว่า นี้ทุกข์ คือ สิ่งที่เกิดแล้วดับนั่นเองเป็นทุกข์
ปัญญานั้น ชื่อว่าอินทรีย์ ด้วยอรรถว่า เป็นใหญ่ เพราะครอบงำอวิชชา เสียได้
แสดงให้เห็นว่า ขณะใดที่ปัญญาไม่เกิด ถูกครอบงำด้วยอวิชชามากมาย สักแค่ไหนในวันหนึ่งๆ เพราะฉะนั้น ลักษณะของปัญญา เป็นสภาพธรรมที่ ตรงกันข้ามกับอวิชชา เพราะว่าครอบงำอวิชชาได้ในขณะที่ปัญญาเกิด
ก็ปัญญานั้นมีความสว่างเป็นลักษณะ และมีความรู้ทั่วเป็นลักษณะ เหมือนอย่างว่า ในเรือนมีฝา ๔ ด้าน เวลากลางคืน เมื่อจุดประทีป ความมืดย่อมหายไป ความสว่างย่อมปรากฏ ฉันใด ปัญญามีความสว่างเป็นลักษณะก็ฉันนั้น
กำลังฟังเรื่องของนามธรรมและรูปธรรม กำลังฟังเรื่องเห็นเป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ เป็นลักษณะรู้ ในขณะที่กำลังเห็น สว่างหรือยัง เป็นความสว่าง หรือว่ายังเป็นความมืดอยู่ เพราะฟังแล้วก็เริ่มจะเข้าใจว่า มีสภาพธรรมที่กำลังเห็นในขณะนี้ และสภาพนี้ก็เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ เป็นเพียงลักษณะสภาพธรรมอย่างหนึ่งเท่านั้น แต่ขณะใดที่ยังไม่ประจักษ์ ขณะนั้นจะชื่อว่าสว่างยังไม่ได้ เพราะว่าเพียงเริ่มรู้ เริ่มเข้าใจ แต่สว่าง คือ สามารถประจักษ์ในขณะที่ธาตุรู้ปรากฏทางมโนทวาร ซึ่งไม่มีลักษณะของรูปหนึ่งรูปใดเข้าไปเจือปนในลักษณะอาการของธาตุรู้นั้นเลย นั่นจึงจะเป็นความสว่างที่ว่า ปัญญามีความสว่างเป็นลักษณะก็ฉันนั้น
ข้อความต่อไป มีอยู่ตอนหนึ่งที่ว่า
ก็เมื่อผู้มีปัญญานั่งโดยบัลลังก์เดียว หมื่นโลกธาตุย่อมมีแสงสว่าง เป็นอันเดียวกัน
บางท่านที่ไม่เข้าใจเรื่องความรู้ ก็เข้าใจว่าปัญญามีลักษณะเหมือนรูป ที่ส่องสว่าง แต่ตามความจริงแล้วไม่ใช่ เพราะถ้าเป็นแสงสว่างต้องเป็นรูปธรรม ไม่ใช่นามธรรม ปัญญาเป็นความสว่างที่เป็นนามธรรม เพราะว่าเป็นความรู้ที่ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่เคยประจักษ์แจ้ง เพียงแต่เคยฟัง เคยเข้าใจ แต่ยังไม่ประจักษ์
เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ปัญญาสามารถเจริญขึ้นจนกระทั่งเปรียบเหมือนความสว่าง หรือมีความสว่างเป็นลักษณะ แม้ว่าจะนั่งอยู่ ณ ที่หนึ่งที่ใด หมื่นโลกธาตุย่อมมีแสงสว่างเป็นอันเดียวกัน หมายความว่า ปัญญาแทงตลอดหมดในลักษณะของนามธรรมเมื่อนามธรรมปรากฏ
นามธรรมในภูมิที่มีขันธ์ ๕ หรือนามธรรมในสวรรค์ หรือนามธรรมของ รูปพรหมบุคคล หรือแม้นามธรรมของอรูปพรหมบุคคล ก็มีลักษณะเดียวกัน คือ เป็นแต่เพียงธาตุรู้ สภาพรู้ ไม่ว่าจะเป็นโลกธาตุกี่โลกธาตุ ถึงหมื่นโลกธาตุใน แสนโกฏิจักรวาล ลักษณะของนามธรรมก็เป็นนามธรรมนั่นเอง เพราะฉะนั้น ขณะที่ปัญญาประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรม หมื่นโลกธาตุย่อมมีแสงสว่าง เป็นอันเดียวกัน คือ ปัญญาสามารถรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใด ก็เป็นสภาพธรรมอย่างนั้น
บุรุษถือประทีปน้ำมันเข้าไปในเรือนที่มืด ประทีปย่อมกำจัดความมืดให้เกิด แสงสว่าง ทำรูปทั้งหลายให้ปรากฏได้ ฉันใด ปัญญาก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อเกิดขึ้นย่อมกำจัดความมืดคืออวิชชา ให้เกิดแสงสว่างคือวิชชา ส่องแสงแห่งญาณ ทำอริยสัจ ๔ ให้ปรากฏได้ ปัญญามีความสว่างเป็นลักษณะอย่างนี้ทีเดียวแล
ทุกท่านที่กำลังฟังพระธรรมในขณะนี้ กำลังอบรมปัญญาบารมี พร้อมด้วย วิริยบารมี และขันติบารมี เพื่อที่วันหนึ่งปัญญาที่เป็นความสว่างที่รู้แจ้งสภาพธรรม จะปรากฏ จะเกิดขึ้นได้
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๘๗ ตอนที่ ๑๘๖๑ – ๑๘๗๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1818
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1819
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1820
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1821
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1822
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1823
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1824
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1825
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1826
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1827
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1828
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1829
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1830
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1831
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1832
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1833
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1834
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1835
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1836
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1837
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1838
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1839
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1840
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1841
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1842
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1843
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1844
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1845
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1846
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1847
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1848
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1849
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1850
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1851
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1852
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1853
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1854
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1855
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1856
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1857
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1858
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1859
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1860
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1861
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1862
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1863
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1864
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1865
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1866
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1867
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1868
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1869
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1870
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1871
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1872
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1873
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1874
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1875
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1876
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1877
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1878
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1879
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1880
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1881
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1882
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1883