แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1873


    ครั้งที่ ๑๘๗๓


    สาระสำคัญ

    ผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน

    การน้อมเข้าไปรู้ลักษณะสภาพธรรม

    เข้าใจเรื่องลักษณะจิต เจตสิก ขณะที่จิตและเจตสิกประเภทใดกำลังเกิด กำลังทำกิจการงาน

    บารมี คือ ธรรมที่ทำให้ถึงฝั่ง

    เจตนา ๓ กาล ปุพพเจตนา มุญจนเจตนา และอปรเจตนา

    สัมโมหวิโนทนี อรรถกถาติกนิทเทส - ญาณวัตถุ ปัญญาที่เป็นไปในทานบารมี

    ขุ. อรรถกถายุธัญชยจริยา - ปัญญาเริ่มต้นด้วยมนสิการโดยความเป็นของไม่เที่ยง


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๓๒


    ในขณะที่แข็งปรากฏมีกายปสาทรูปแน่นอน ถ้าไม่มีกายปสาทรูป แข็งปรากฏไม่ได้ เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นมีกายปสาทรูป มีรูปที่อ่อนหรือแข็งเป็นปฐวีธาตุ มีรูปที่เย็นหรือร้อนเป็นเตโชธาตุ มีรูปที่ไหวหรือตึงเป็นวาโยธาตุ และมีจิตที่กำลัง รู้เฉพาะแข็งเท่านั้น ไม่มีอย่างอื่นเลยในขณะนั้น และกายปสาทรูปก็ดับอย่างรวดเร็ว ปฐวีธาตุ วาโยธาตุ เตโชธาตุที่กำลังปรากฏก็ดับอย่างรวดเร็ว และก็หมด จึงไม่มีเรา นี่คือการเห็นกายในกาย รู้ว่าเป็นแต่เพียงกาย ไม่ใช่เรา

    ทุกชาติต้องเป็นอย่างนี้ ฟังดูเหมือนไม่ยาก แต่เป็นความจริง จนกว่าจะประจักษ์และถ่ายถอนอัตตสัญญาได้

    ไม่ยาก ใช่ไหม ที่จะระลึก ที่จะค่อยๆ รู้ขึ้น แต่ต้องเป็นผู้ที่อดทน และเป็นผู้ที่รู้ตามความเป็นจริงว่า ละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลบ้างหรือยัง

    ผู้ฟัง เรื่องกายในกาย ไปอ่านพยัญชนะแล้วงง สมัยผมเรียนใหม่ๆ เห็นกายในกาย เห็นจิตในจิต จิตที่ยิ่งกว่าให้รู้ขึ้นไปๆ จิตที่เป็นมหรคตให้รู้ พยัญชนะเหล่านี้ทำให้งุนงงมาเสมอ แต่ถ้าได้ฟังอาจารย์บรรยายก่อน กลับไปอ่านอีกทีชัดเจนขึ้น ได้ประโยชน์ขึ้น อย่างวันนี้สรุปย้ำลงมาเลยว่า พยัญชนะจะว่ากายในกาย มีกาย ซ้อนกาย กายนอก กายใน วางไว้ก่อน เอาเป็นว่าระลึกรู้ที่กาย คือ มีเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว รู้ได้ทางกาย เพราะฉะนั้น กาย เวทนา จิต ธรรม พยัญชนะต่างๆ เหล่านั้น ผมว่าวางไว้ก่อน ถ้าเข้าใจที่อาจารย์บรรยายแล้ว กลับไปอ่านอีกทีจะชัดเจนดีกว่าเก่ามาก

    ถ. ขณะที่ลมกระทบ จิตผมจะไม่ค่อยทัน คือ รู้ว่าเป็นพัดลมทันทีเลย เป็นการนึกคิดเลย ขณะที่กระทบเราจะรู้ไม่ทัน จะไปรู้ตอนนึกคิด รู้จิตของเราว่า ตอนนี้กำลังนึกคิด

    สุ. ขณะนี้สติปัฏฐานเกิดได้ไหม

    ถ. ถ้ามีความเข้าใจคงได้

    สุ. เพราะฉะนั้น ขึ้นอยู่กับความเข้าใจ การฟังเรื่องนามธรรมและรูปธรรมจนกระทั่งเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมเป็นปัจจัยให้สติเกิดระลึกเมื่อมีสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดปรากฏ และระลึกเพื่อที่จะพิจารณารู้ลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่เพียงคิด แต่เป็นการระลึกในลักษณะที่ปรากฏ

    ถ. ผมติดตามฟังท่านอาจารย์เรื่อย แต่รู้สึกว่า การปฏิบัติจริงๆ ไม่ค่อยจะได้ผล อย่างตอนกระทบสติเราไม่ทัน ไปรู้ตอนที่กระทบแล้วเป็นสัตว์เป็นบุคคลไปแล้ว และเราก็รู้ว่า นั่นเป็นนามนึกคิด ไม่ใช่ขณะที่เรากำลังกระทบ ตอนกระทบผมระลึก ไม่ทัน

    สุ. ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน จะไม่ใช้คำว่า ระลึกไม่ทัน เพราะว่าในขณะนี้มีสภาพธรรมกำลังปรากฏ ระลึกทันที จะไม่ทันได้อย่างไร ขณะนี้มี สภาพธรรมกำลังปรากฏและระลึก ไม่ทันอย่างไร

    ถ. เราไประลึกว่า เป็นพัดลมมากระทบเราแล้ว ไม่ใช่สภาพที่กำลังกระทบ ไปคิดอย่างนั้น

    สุ. ขณะที่คิดว่าเป็นพัดลม ขณะนั้นไม่ใช่สติปัฏฐานแน่นอน เพราะฉะนั้น เมื่อรู้ว่าขณะนั้นไม่ใช่สติปัฏฐาน แต่ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางหนึ่งทางใด ใน ๖ ทาง คือ ทางตามีสภาพธรรมอย่างหนึ่งกำลังปรากฏ ทางหูมีสภาพธรรม อีกอย่างหนึ่ง ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ให้รู้ลักษณะของปรมัตถธรรม สภาพธรรมที่มีลักษณะจริงๆ ในขณะนั้น เพราะฉะนั้น จะไม่มีการไม่ทันเลย เพราะว่าไม่ขาดลักษณะของสภาพธรรมทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทาง

    ผู้ฟัง ผมนึกถึงที่อาจารย์พูดตอนต้นว่า การน้อมเข้าไปรู้ลักษณะ อันนี้ยาก อาจารย์บอกว่า แม้คนที่อ่านอภิธัมมัตถสังคหะจบและเรียนพระอภิธรรมปิฎกก็ตาม การที่จะน้อมเข้าไประลึกรู้ในลักษณะ อันนี้ยาก เพราะว่าปกติของคนเรา การน้อม เข้าไปรู้ลักษณะอย่างที่อาจารย์ยกตัวอย่างว่า เห็นหรือได้ยิน ลักษณะเป็นอย่างไร แต่ขณะที่พิจารณา ที่กำลังเทียบเคียง สำเหนียก สังเกตอยู่นั้น จะมีการคิดนึก ปนเข้ามา จะคิดนึกถึงบัญญัติ เกิดสลับกันอย่างนี้ ปกติของปุถุชนสติที่ระลึกรู้มีน้อย การคิดนึกจะแทรกเข้ามา เพราะฉะนั้น การที่จะน้อมไปรู้ลักษณะจึงยาก ซึ่งก็ได้แก่ ตัวผมเอง แม้กระทั่งทุกวันนี้ก็เหมือนกัน

    ที่อาจารย์พูดเมื่อกี้ถึงการน้อมไประลึกลักษณะ คำพูดแค่นี้ไปกระตุ้นเราอีกว่า การที่เรายังเข้าไม่ถึงลักษณะ เพราะมีการคิดนึกเข้ามาเป็นตัวปิดกั้น และจะทำอย่างไรเมื่อเป็นอย่างนั้นแล้ว

    ผมก็คิดว่า คงจะต้องฟัง และคอยสังเกต สำเหนียก คือ ต้องน้อมระลึกถึงลักษณะอยู่เสมอๆ พยายามทำความเคยชินให้เกิดขึ้น ครั้งหนึ่งผมเคยฟังเทป ของอาจารย์ที่ว่า การเจริญสติปัฏฐานอย่างปุถุชนกับพระอริยะ สติคงไม่เหมือนกัน อย่างของพระอริยะสติคงเกิดบ่อย ของเราเกิดเล็กๆ น้อยๆ และจะสลับกับการคิดนึกถึงบัญญัติมากกว่า ไม่ทราบที่ผมพูดมานี่จะผิดถูกอย่างไร ที่ว่าต้องฟังต่อไป และ น้อมระลึกถึงลักษณะ ต้องน้อมอยู่เสมอ ทำให้เกิดความเคยชิน

    สุ. ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า ต้องรู้ทั่ว คือ ถ้ายังไม่ทั่วตราบใดก็ยังคง เป็นตัวตนที่กำลังคิด เพราะฉะนั้น ในขณะที่ว่ามีความคิดแทรก ขณะนั้นก็ต้องพิจารณารู้ว่า แม้แต่ความคิดก็ไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น กว่าจะตลอดทั้งวันไม่มีเรา สติเกิดขณะไหนก็เป็นเพียงสภาพธรรม แต่ละอย่าง เมื่อนั้นจึงจะเป็นผู้ที่ใกล้ต่อการที่จะประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรม ตามความเป็นจริง

    และสำหรับผู้ที่ศึกษาธรรมมามาก ก็ควรที่จะได้ทราบว่า เพื่อประโยชน์ คือ รู้ลักษณะของธรรม ไม่ใช่เพียงเข้าใจเรื่องของธรรมเท่านั้น มิฉะนั้นจะทำให้เข้าใจผิด ในการปฏิบัติได้ เพราะบางท่านแม้ศึกษาพระธรรมถึงขั้นพระอภิธรรม แต่ก็ยังเข้าใจผิดในการปฏิบัติได้ คือ ไม่สอดคล้องกันในเรื่องของการศึกษาและในการรู้ลักษณะของสภาพธรรม เช่น กล่าวว่า ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน สภาพธรรมเป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแต่ละอย่าง แต่ละลักษณะ ก็ควร ที่จะเข้าใจโดยรู้ในขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน ซึ่งเป็นชีวิตประจำวัน แต่บางท่าน ก็ไม่ได้อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ในชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นว่า ถ้าไม่ศึกษาโดยรอบคอบ โดยละเอียด แม้จะเป็นผู้ที่ศึกษาลักษณะของสภาพธรรม เข้าใจเรื่องจิต เรื่องเจตสิก แต่จุดประสงค์ของการเข้าใจเรื่องจิต เจตสิก ไม่ใช่เข้าใจเรื่องจิต เจตสิก ตามหนังสือ แต่ต้องเข้าใจเรื่องจิต เจตสิก ในขณะที่จิตประเภทใดกำลังเกิด และเจตสิกประเภทใดกำลังเกิดขึ้นทำกิจการงาน ซึ่งถ้าเป็นโดยลักษณะนี้ การปฏิบัติและการศึกษาก็จะสอดคล้องกัน

    คือ เมื่อเข้าใจเรื่องลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมแล้ว ก็จะระลึกได้ว่า ในขณะนี้เองเป็นสิ่งที่เราได้ศึกษามาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นจักขุวิญญาณ คือ จิตที่กำลังเห็น ที่ได้ศึกษาแล้วคือในขณะนี้เอง หรือโลภมูลจิต ความยินดี ความชอบใจ เพลินไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ก็เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ เพราะฉะนั้น ขณะใดที่กำลังเพลิน กำลังพอใจในรูปบ้าง ในเสียงบ้าง ในกลิ่นบ้าง ในรสบ้าง ในโผฏฐัพพะบ้าง ก็เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยที่ไม่ใช่ตัวตนทั้งสิ้น ซึ่งปัญญาต้องรู้ชัดและประจักษ์แจ้ง จึงจะละคลายการยึดถือสภาพธรรม ว่าเป็นตัวตนได้

    เพราะฉะนั้น การศึกษาจึงต้องเป็นผู้ที่รอบคอบ ไม่ใช่เป็นผู้ที่เข้าใจเพียงพยัญชนะ แต่จุดประสงค์คือเพื่อรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏให้ตรง ตามที่ได้ศึกษา เพราะว่าธรรมเป็นเรื่องละเอียด ปัญญาเป็นเรื่องละเอียด ปัญญาบารมีเป็นเรื่องละเอียด ปัญญาเป็นความรู้ถูกความเข้าใจถูกซึ่งต้อง สมบูรณ์พร้อมทั้งเหตุและผล เพราะฉะนั้น ผู้ใดที่พิจารณาธรรมในชีวิตประจำวันจริงๆ อย่างละเอียดรอบคอบประกอบด้วยเหตุและผลที่ถูกต้อง ก็เป็นการอบรมปัญญาบารมี

    ถ้าไม่เป็นผู้ที่ไตร่ตรองพิจารณาก็จะเข้าใจผิด และจะประพฤติปฏิบัติผิด แม้แต่เรื่องของทาน การให้ ก็จะต้องพิจารณาว่า การให้ที่เป็นบารมีต่างกับการให้ ซึ่งหวังผล เพราะว่าบารมี คือ ธรรมที่ทำให้ถึงฝั่งคือการดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ถ้ายังมีความติดในผลของกุศล หรือมีความหวังในผลของกุศล ขณะที่หวังเป็น อกุศลแล้ว เพราะฉะนั้น จะอาศัยอะไรขัดและละคลายอกุศลที่หวังผลของกุศลนั้น ถ้าไม่ใช่ปัญญาที่รู้จริงๆ

    ถ้าให้เพื่อหวังผล ขณะนั้นไม่ได้ละอะไรเลย เพราะว่าให้เพื่อรับ เหมือนกับ มือหนึ่งที่ยื่นให้ และอีกมือหนึ่งก็ยื่นรับ เพราะฉะนั้น ก็ไม่ได้ละคลายอกุศลใดๆ

    ปัญหาเล็กๆ น้อยๆ เป็นสิ่งที่น่าคิด เพื่อให้เกิดปัญญาความเข้าใจที่ถูกต้องจริงๆ แม้ในเรื่องของทาน เช่น เรื่องเจตนา ๓ กาลของการให้ทาน คือ เจตนาก่อนให้ บุพพเจตนา เจตนาขณะให้ มุญจนเจตนา และเจตนาหลังให้ อปรเจตนา

    เมื่อได้ศึกษาเรื่องของทานที่มีผลมาก เพราะว่าเจตนาที่เป็นกุศลเกิดถึง ๓ กาล คือ ทั้งก่อนให้ กำลังให้ และหลังจากที่ให้แล้ว ก็ควรศึกษาพิจารณาให้ทราบจิตใจของตัวเองว่า อยากระลึกถึงทานที่ให้แล้วเพื่อให้ได้ผลมากบ้างหรือเปล่า เพราะบางคนเมื่อได้ทราบว่ามีอะไรที่จะได้ผลมาก ก็พยายามทำเพื่อให้ได้ผลมาก แต่ไม่ทราบว่า ผลมากจริงๆ คือ ไม่มีอกุศลเกิดแทรก หรือไม่มีอกุศลเกิดหลังจากที่ให้แล้ว เพราะฉะนั้น บางท่านรู้เรื่องเจตนา ๓ กาล ก็คิดว่าจะทำอย่างไรดี คือ จะระลึกดีหรือไม่ระลึกดีถึงกุศลที่ได้ทำไปแล้ว เพราะถ้าไม่ระลึกกุศลก็จะน้อย แต่ถ้าระลึก ก็จะเป็นการหวังให้ได้รับผลมากหรือเปล่าจึงระลึก

    นี่เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ แต่ก็ควรที่จะพิจารณาถึงเหตุผลว่า ทำไมบางครั้ง ที่กระทำทานไปแล้วจึงไม่ระลึกถึงทานนั้นเลย และบางครั้งเมื่อกระทำแล้วก็ระลึก เป็นปกติธรรมดา ไม่ได้ตั้งใจที่จะระลึกแต่ก็ระลึก

    สำหรับบางคนซึ่งยังมีความหวังความติดในผลมาก ก็อยากที่จะระลึก เมื่อรู้ว่า ถ้าระลึกแล้วจะทำให้เป็นกุศลเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้น ก็พยายามที่จะระลึก

    นี่เป็นความละเอียดของจิตใจของแต่ละบุคคล ซึ่งคนอื่นไม่สามารถรู้ได้ นอกจากตนเองจะเป็นผู้ที่พิจารณาจริงๆ ว่า ขณะใดเป็นกุศล ขณะใดเป็นอกุศล

    คงจะเคยได้ฟังจากวิทยุที่ท่านผู้หนึ่งบอกว่า เวลาที่ท่านนอนไม่หลับ ท่านก็ระลึกถึงทานคือการให้ที่ท่านได้กระทำไปแล้ว ซึ่งดีกว่าที่จะปล่อยจิตให้ระลึกเป็นไป ในอกุศล เพราะว่าส่วนใหญ่ของคนที่นอนไม่หลับก็มักจะคิดถึงเรื่องต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องของอกุศล เป็นเรื่องของโลภะบ้าง เป็นเรื่องของโทสะบ้าง แต่ขณะที่สติเกิดระลึกได้ว่า เมื่อนอนไม่หลับระลึกถึงกุศลย่อมดีกว่าที่จะระลึกถึงอกุศล ขณะนั้นก็เป็นกุศล เพราะไม่ใช่เป็นการคิดว่า ระลึกเพื่อที่จะให้ได้ผลของกุศล

    แสดงให้เห็นถึงความละเอียดของจิตใจของแต่ละคน ซึ่งต้องเป็นผู้พิจารณาว่า ขณะใดเป็นกุศล ขณะใดเป็นอกุศล เพราะถ้าไม่รู้อย่างนี้ คนที่หวังผลของกุศลมากๆ และอยากระลึก ก็จะเพียรระลึกด้วยความหวัง ด้วยความต้องการผลของกุศล ซึ่งขณะนั้นกุศลจะมากไม่ได้เลย เพราะว่าเป็นการหวังในผลจึงระลึก แต่ตรงกันข้าม บางคนไม่ได้หวังผลของกุศลเลย เมื่อนอนไม่หลับก็รู้ว่า แทนที่จะคิดเรื่องอกุศล ก็คิดถึงเรื่องกุศลที่ตนได้กระทำแล้ว เช่น เรื่องทาน เป็นต้น จะเป็นประโยชน์กว่า

    และบางท่านซึ่งเป็นผู้อบรมเจริญปัญญา ความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ขณะที่นอนไม่หลับนั้น ก็ไม่กระวนกระวาย ไม่กระสับกระส่าย แต่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏซึ่งเป็นนามธรรมบ้าง เป็นรูปธรรมบ้าง และก็รู้ลักษณะของสภาพนามธรรมต่างๆ ชนิด เพราะบางขณะอาจจะเป็นความกระวนกระวาย เล็กๆ น้อยๆ บางขณะอาจจะเป็นอาการง่วง ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่มีจริงทั้งหมด ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ แต่ขณะใดสติไม่ระลึก ขณะนั้นก็เป็นเราที่อยากจะหลับแต่ไม่หลับ หรือบางครั้งแม้ง่วงก็ยังไม่หลับบ้าง หรืออยากจะหลับให้เร็วกว่านั้น หรือนานกว่านั้น เพื่อที่จะได้นอนมากๆ ร่างกายจะได้แข็งแรง

    จะเห็นได้ว่า ทั้งหมดล้วนเป็นสภาพธรรมที่มีจริง ซึ่งไม่มีใครไปเปลี่ยนปัจจัย ที่จะทำให้สภาพธรรมแต่ละขณะเกิดขึ้นเป็นไปอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ปัญญาเพียงเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังเป็นอย่างนั้นตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

    แสดงให้เห็นว่า กว่าปัญญาจะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมจนถึงขั้นที่ แม้ไม่หลับก็ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ก็จะต้องเป็นผู้ที่สะสมอบรมความเข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรม และเป็นผู้ที่มีปกติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมบ่อยๆ จนกระทั่งมีปัจจัยที่จะระลึกได้

    สำหรับผู้ที่ใคร่จะทราบว่า ปัญญาที่เป็นไปในทานบารมีคืออย่างไร

    สัมโมหวิโนทนี อรรถกถา พระอภิธรรมปิฎก วิภังคปกรณ์ อรรถกถาติกนิทเทส อธิบายญาณวัตถุ หมวด ๓ มีข้อความว่า

    ปัญญาใดอันสัมปยุตต์ด้วยเจตนาในทาน

    เวลาที่อ่าน ต้องพิจารณาตามด้วยความละเอียด ปัญญาใดอันสัมปยุตต์ด้วยเจตนาในทาน เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ในอกุศล ไม่ใช่ในการหวังผล

    ปัญญาใดอันสัมปยุตต์ด้วยเจตนาในทาน ย่อมเกิดขึ้นอย่างนี้ ปัญญานี้ชื่อว่าทานมยปัญญา ก็เมื่อบุคคลคิดว่า เราจักให้ทานดังนี้ ก็ให้ทานอยู่ ครั้นให้ทานแล้ว ก็พิจารณาอยู่ซึ่งทานนั้น ทานมยปัญญานั้น ย่อมเกิดขึ้นด้วยอาการ ๓ อย่าง คือ ปุพพเจตนา มุญจนเจตนา อปรเจตนา

    นี่เป็นความละเอียดที่จะรู้ว่า ขณะไหนมีปัญญาเกิดร่วมด้วยในขณะที่ให้ทาน เพราะบางท่านก็รู้ว่า กุศลที่สูงคือมหากุศลญาณสัมปยุตต์ มีปัญญาเจตสิกเกิด ร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นไปในทาน หรือในศีล หรือในสมถภาวนา หรือในสติปัฏฐาน ที่เป็นวิปัสสนาภาวนา ซึ่งไม่ใช่เพื่อให้หวังผลใดๆ แต่เพื่อให้เข้าใจสภาพธรรมถูกต้องตามความเป็นจริง เป็นปัจจัยให้ปัญญาเกิดเป็นไปในทานมัยได้

    อรรถกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก อรรถกถายุธัญชยจริยาที่ ๑ มีข้อความว่า

    ปัญญาเริ่มต้นด้วยมนสิการโดยความเป็นของไม่เที่ยง รู้ธรรมเป็นอุปการะ และไม่เป็นอุปการะแห่งทานเป็นต้น เป็นปัญญาบารมี

    ทาน คือ การสละวัตถุเพื่อประโยชน์สุขของบุคคลอื่น ในขณะที่สละขณะนั้น ไม่เห็นแก่ตัว เพราะฉะนั้น ปัญญาเริ่มต้นด้วยมนสิการโดยความเป็นของไม่เที่ยง เคยคิดบ้างไหมเวลาที่จะให้วัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่จะรู้ว่า ไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดซึ่งเที่ยง แม้แต่ทรัพย์สมบัติที่มีอยู่ในวันนี้ซึ่งยังไม่ได้ให้ ก็อาจจะสูญหายไปก่อนที่จะให้ก็ได้ เพราะว่าทรัพย์สมบัติก็ไม่เที่ยง หรือแม้แต่ตัวเราเองซึ่งยังไม่ได้ให้ทานก็ไม่เที่ยง เพราะฉะนั้น ก็อาจจะสิ้นชีวิตไปก่อนที่จะให้ทานก็ได้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๘๘ ตอนที่ ๑๘๗๑ – ๑๘๘๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 104
    28 ธ.ค. 2564