แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1823
ครั้งที่ ๑๘๒๓
สาระสำคัญ
การศึกษาพระธรรมมี ๓ ขั้น
ปริยัติ ไม่ใช่เพียงแต่ได้ยิน แต่ฟัง
การอบรมเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่เรื่องทำ ไม่ใช่เรื่องโยนิโส
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๓๑
ถ้าจะเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ในขณะที่ให้ทาน ขณะนั้นต้องประกอบด้วยปัญญา แต่ไม่จำเป็นต้องมีแต่มหากุศลญาณสัมปยุตต์เสมอไป ผู้ที่เป็นพระอรหันต์ ก็ยังมีมหากิริยาญาณวิปปยุตต์ ฉันใด ผู้ที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์ก็ต้องมีมหากุศล หรือกามาวจรกุศลที่เป็นญาณวิปปยุตต์ฉันนั้นด้วย
แต่ต้องเป็นผู้ที่ตรง ธรรมทำให้เป็นผู้ตรง ถ้าใครรู้สึกตัวว่ายังไม่ตรง ก็จะต้องพิจารณาเห็นโทษของความไม่ตรง และรู้ว่าเฉพาะผู้ที่ตรงเท่านั้นที่สามารถรู้แจ้ง อริยสัจจธรรมได้
ถ. ผู้ที่จะได้นิพพานเป็นอารมณ์นั้น ต้องเป็นบุคคลชั้นไหน คือ เป็นปุถุชนหรือเป็นพระอริยบุคคล
สุ. ปุถุชนไม่มีนิพพานเป็นอารมณ์ ปุถุ คือ หนา ปุถุชน คือ ผู้หนาด้วยกิเลส แต่จากความเป็นบุคคลผู้หนาด้วยกิเลส สามารถอบรมเจริญปัญญาจนรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ ซึ่งขณะที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรมมีนิพพานเป็นอารมณ์ บุคคลนั้น พ้นสภาพของความเป็นปุถุชนโดยเป็นพระโสดาบันบุคคลเมื่อโสตาปัตติมรรคจิตเกิดขึ้นมีนิพพานเป็นอารมณ์
ถ. ที่เราเรียนสติปัฏฐาน เจริญสติปัฏฐานทุกวันนี้ มีเหตุผลอะไรที่เรา ต้องมาทำกัน
สุ. จะทำอะไร
ถ. ที่ว่าเราเจริญสติปัฏฐาน พิจารณาเรื่องรูปเรื่องนามให้เห็นไตรลักษณ์
สุ. เห็น ประจักษ์แจ้ง เป็นปัญญา
ถ. เพื่ออะไร ทำไมต้องทำอย่างนี้
สุ. ชอบปัญญาหรือไม่ชอบ เห็นประโยชน์ของปัญญาหรือไม่เห็น
ถ. ชอบปัญญา แต่ปัญญานี้เอาไปทำอะไร
สุ. ถ้าอย่างนั้น ที่ชอบจริงๆ นั้นก็เป็นโลภะ เพราะว่าปัญญาก็เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยให้เกิดโลภมูลจิตได้
อยากมีปัญญาเพราะอะไร เพราะพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีปัญญา เพราะพระอริยสาวกมีปัญญา เพราะฉะนั้น ก็อยากจะมีปัญญา แต่ยังไม่เห็นประโยชน์ของปัญญา เพียงแต่อยาก
ควรจะพิจารณาจิตในขณะที่อยากมีปัญญาว่า ความต้องการ ความอยาก ในขณะนั้นเป็นโลภมูลจิต หรือเป็นปัญญาที่เห็นประโยชน์ของปัญญา
การฟังพระธรรม ถ้าทุกคนจะพิจารณาจิตของตนเองก็อาจจะถูกต้องขึ้นหรือว่าตรงขึ้น เพราะบางท่านอาจจะบอกว่า เคย คือ ครั้งหนึ่งเมื่อเริ่มศึกษาก็เพราะอยากจะรู้อย่างคนอื่นรู้ เพียงอยากจะเหมือนคนอื่นที่เขาเรียนแล้วเขารู้ ก็อยากจะรู้อย่างเขา แต่ภายหลังเมื่อฟังบ่อยขึ้นมากขึ้นก็รู้ว่า ถ้าจุดประสงค์เป็นอย่างนั้นแล้ว ก็ไม่ถูกต้อง เพราะว่าในขณะนั้นเป็นไปด้วยความต้องการหรือความอยาก เช่นเดียวกับคำถาม ที่ว่านี้ แสดงให้เห็นว่าถ้าเป็นอย่างอื่นที่ไม่ใช่มรรคจิต ๔ ดวง ผลจิต ๔ ดวง และ พระนิพพานแล้ว อารมณ์อื่นทั้งหมดเป็นที่ต้องการของโลภะทั้งสิ้น แม้แต่ปัญญา ที่ว่าอยากจะมีปัญญา ก็ไม่ใช่ด้วยการเห็นประโยชน์ว่า ปัญญาเป็นสภาพธรรมที่สามารถรู้แจ้งในสิ่งที่กำลังปรากฏจริงๆ หมดความสงสัย หมดความไม่รู้
เพราะฉะนั้น ต้องเห็นว่า ตั้งแต่เกิดจนตายในสังสารวัฏฏ์ เป็นเพราะไม่รู้ และก็ยังอยากจะไม่รู้ต่อไป ไม่รู้ว่าเกิดมาอย่างไรและมีชีวิตแต่ละวันแต่ละขณะ เป็นไปอย่างไร ตายแล้วจะเป็นอย่างไร คือ มีความไม่รู้ และยังชอบที่จะไม่ต้องรู้หรอก รู้ไปทำไม ถ้าเข้าใจว่าอย่างนั้น ก็ไม่เห็นประโยชน์ของปัญญา
แต่ถ้าเห็นประโยชน์ของปัญญาจะรู้ว่า เห็น ไม่ใช่เฉพาะขณะนี้หรือชาตินี้ ชาติก่อนๆ ในแสนโกฏิกัปป์ก็เห็นมาแล้วทั้งนั้น ได้ยินก็เหมือนกัน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึกเรื่องราว
เรื่องนี่มากมายเหลือเกินในแต่ละชาติ แต่เฉพาะชาติหนึ่งก็เรื่องหนึ่ง เพราะฉะนั้น เรื่องของชาติก่อนก็จบ คิดจบไปแล้วไม่ต้องคิดต่อในชาตินี้ แต่เรื่องของชาตินี้ในขณะที่ยังไม่ตายก็ยังไม่จบ ยังคิดกันต่อไปอีก แต่ละคนก็คิดเรื่องของตัวเองไป จนกว่าจะจบชาตินี้เมื่อไร ก็หยุดคิดเรื่องของชาตินี้ และก็ไปคิดเรื่องของชาติต่อไปอีก เท่านั้นเอง คือ เกิดมาเพื่อที่จะคิดเรื่องต่างๆ และก็เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ยิ่งกว่านั้นก็ยังเป็นสุข เป็นทุกข์ หวั่นไหวอย่างมากมายกับ เพียงเสียงที่ได้ยินทางหู เป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ เป็นความหวั่นไหวต่างๆ
แสดงให้เห็นว่า วันหนึ่งทุกข์มีมากโดยไม่รู้ แต่ถ้าปัญญารู้จริงๆ ก็น่าจะคิดว่า พอเสียทีได้ไหมที่จะไม่ต้องเห็นอีก ได้ยินอีก ได้กลิ่นอีก ลิ้มรสอีก รู้สิ่งที่ กระทบสัมผัสอีก คิดนึกอีก ถ้าคิดว่าควรจะพอเสียที ก็จะแสวงหาทางดับ ไม่ให้ต้องเห็นอีก ได้ยินอีก ได้กลิ่นอีก ลิ้มรสอีก สัมผัสอีก คิดนึกอีก
ถ. ตามความคิดความเข้าใจของผม ที่เราปฏิบัติสติปัฏฐานทุกวันนี้ ก็เพื่อจะรู้ความจริง คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เราเรียนเพื่อรู้สิ่งนี้ เพื่อจะเอาไปคิดว่า ตัวตนของเราจริงๆ ไม่มี ถ้าไม่มีตัวตนจริงๆ แล้ว ความคิดในกิเลสทั้งหลายจะ เบาบางลงไป อย่างที่ท่านกล่าวว่า ผู้ที่จะเป็นโสดาต้องไม่มีสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา ที่ปฏิบัติสติปัฏฐานก็เพื่อต้องการธรรมข้อนั้น ใช่หรือเปล่า
สุ. ที่ว่าปฏิบัติสติปัฏฐานเพื่อจะเอาไปคิดนั้น ไม่ถูก ต้องแยกว่า การศึกษาพระธรรมมี ๓ ขั้น คือ ขั้นปริยัติ ฟังให้เข้าใจเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงๆ และที่ทรงแสดงไว้ก็ไม่พ้นจากทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ฟังแล้วก็ฟังอีก เพื่อให้เข้าใจขึ้น เพื่อที่จะให้รู้ชัดในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล นี่คือขั้นการฟัง และพิจารณาด้วย เพราะถ้าบุคคลใดก็ตามได้ยิน ขณะนี้ก็กำลังได้ยิน แต่ไม่ได้พิจารณา ไม่เข้าใจในอรรถ ท่านกล่าวว่า ขณะนั้น ไม่ได้ฟัง เพียงแต่ได้ยิน
แม้ในขณะที่กำลังฟังอยู่นี้ ถ้าท่านผู้ใดไม่เข้าใจในสิ่งที่ได้ฟัง ไม่พิจารณาใน สิ่งที่ได้ฟัง ไม่รู้ในอรรถความหมายของสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ขณะนั้นเพียงได้ยิน
เพราะฉะนั้น ความหมายของคำว่า ปริยัติ ไม่ใช่เพียงแต่ได้ยิน แต่ฟัง และสำหรับผู้ที่ได้ยิน พิจารณา ฟังเข้าใจเรื่องสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่ขณะนั้นสติปัฏฐานไม่เกิด หรือไม่ประพฤติปฏิบัติตามธรรมที่เป็นฝ่ายกุศล ขณะนั้น ก็ยังไม่ชื่อว่าเป็นผู้ฟัง ยังไม่ใช่สาวกจริงๆ เพราะถ้าฟังจริงๆ เข้าใจจริงๆ จะประพฤติปฏิบัติตามจริงๆ แต่ถ้าฟังแล้ว เข้าใจแล้ว ก็ยังไม่ปฏิบัติตาม อย่างนั้น จะกล่าวว่าเป็นสาวกหรือเป็นผู้ฟังจริงๆ ยังไม่ได้
ในขั้นของปริยัติ คือ ฟังเพื่อที่จะให้เข้าใจ เพื่อที่จะพิจารณา เมื่อเข้าใจ และพิจารณาแล้ว ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ความเข้าใจจะไม่หยุดอยู่เพียงนั้นเลย แต่เป็นปัจจัยที่จะให้สติระลึก ไม่ใช่เรา เป็นสภาพธรรมที่ระลึกได้ เช่น ในขณะนี้ ทางตามีสิ่งที่กำลังปรากฏจริงๆ ฟังแล้วและสติก็ระลึกได้ว่า จะต้องพิจารณา เพื่อที่จะรู้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนี้ ไม่ใช่สภาพรู้ นี่คือปฏิบัติ
ไม่ใช่ว่าปฏิบัติสติปัฏฐานเพื่อไปคิดให้เห็นว่าเป็นอนัตตา แต่การศึกษาธรรมเป็นปริยัติธรรม เมื่อเข้าใจแล้วจะทำให้สติปัฏฐานเกิดระลึกเพื่อที่จะศึกษาที่เป็น ศีลสิกขา จิตตสิกขา ปัญญาสิกขา เพื่อให้ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่ ไม่ใช่ตัวตน ขณะใดที่ประจักษ์แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง ขณะนั้นก็เป็น ปฏิเวธอีกขั้นหนึ่ง
การฟัง เมื่อเข้าใจแล้วก็เป็นปัจจัยให้สติปัฏฐานเกิดระลึกศึกษาพิจารณา รู้ตามที่ได้ฟัง ไม่ใช่เป็นคำๆ แต่รู้ในลักษณะอาการของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ โดยไม่ใช่นึกเป็นคำ และขณะใดที่ประจักษ์แจ้งในสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตนสามารถ รู้แจ้งพระนิพพานได้ ขณะนั้นก็เป็นปฏิเวธ
เข้าใจจุดประสงค์ของการฟังหรือยังว่า เพื่อละความไม่รู้ เพื่อขัดเกลากิเลส เท่านั้น ไม่ใช่เพื่อเก่งกว่าคนอื่น หรือรู้เท่าคนอื่น
ถ. โลภะรู้ปรมัตถ์ได้ไหม
สุ. ถามอย่างนี้ ต้องเข้าใจคำว่า รู้ หมายความว่าอย่างไร รู้อย่างปัญญา หรือว่ามีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ คำถามต้องชัด ถ้าถามว่า โลภมูลจิตมีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ได้ไหม ตอบว่า ได้ โลภมูลจิตมีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ได้ แต่โลภะ ไม่รู้ว่า ปรมัตถธรรมเป็นปรมัตถธรรม
ถ. ก็รู้เป็นบัญญัติ ใช่ไหม
สุ. ขณะที่กำลังรู้แข็ง เป็นกายทวารวิถีจิต ถูกไหม จิตที่เกิดขึ้นรู้แข็ง ต้องอาศัยกายปสาทรูป เพราะฉะนั้น จิตที่กำลังรู้ลักษณะแข็งที่ยังไม่ดับ ทั้งหมดเป็นกายทวารวิถีจิต คือ เป็นจิตที่เกิดขึ้นเป็นไปในอารมณ์แข็งที่กำลังปรากฏ
เริ่มตั้งแต่ปัญจทวาราวัชชนจิต กายวิญญาณ สัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิต โวฏฐัพพนจิต ชวนจิตที่เป็นโลภะที่พอใจในโผฏฐัพพะที่กำลังปรากฏ ถ้าอารมณ์นั้น ยังไม่ดับ ตทาลัมพนจิตก็เกิดขึ้นรู้แข็งหรือจะใช้คำว่าโผฏฐัพพะก็ได้ จะแข็งหรือจะอ่อน ก็คือโผฏฐัพพะ คือ สิ่งที่ปรากฏทางกาย ในขณะนั้นโลภมูลจิตมีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ แต่ไม่ใช่รู้ชื่อว่าแข็งนั้นเรียกว่าอะไร ในขณะนี้ทุกคนกระทบสัมผัสได้ก็ชั่วขณะ ที่แข็งปรากฏ หรืออ่อนปรากฏก็ได้ และเกิดโลภมูลจิตขึ้น ในขณะนั้นไม่ใช่การรู้ชื่อว่าสิ่งนั้นเรียกว่าอะไร แต่โลภมูลจิตไม่ใช่ปัญญาเจตสิก เพราะฉะนั้น โลภมูลจิต ไม่สามารถรู้ว่า สภาพธรรมที่ปรากฏเป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรมซึ่งไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล
คำว่า ปรมัตถธรรม เป็นชื่อเรียกสภาพธรรมที่มีจริง แต่ต้องเข้าใจถึงลักษณะด้วยว่า โลภะสามารถชอบสีที่กำลังปรากฏก็ได้ ชอบเสียงก็ได้ ชอบกลิ่นก็ได้ ชอบรส ก็ได้ ชอบโผฏฐัพพะก็ได้ เพราะฉะนั้น โลภะชอบรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ แต่โลภะไม่ใช่ปัญญา แม้ว่ามีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ โลภะก็ไม่สามารถรู้ได้ว่า สภาพที่โลภะกำลังชอบ กำลังพอใจนั้น ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล
ถ้าถามเป็นเหมือนชื่อ คำตอบก็ต้องให้ชัดเจน และคำถามควรจะเปลี่ยนด้วยให้ชัดขึ้น มิฉะนั้นแล้วจะทำให้เข้าใจผิดได้
ถ. เวลาเราได้ยินเสียง เราจะโยนิโสว่าอย่างไร อย่างรถยนต์ดัง เราจะรู้เสียงเฉยๆ หรือเราจะรู้ว่า นี่เป็นรูปเป็นนาม
สุ. ขอทบทวนอีกครั้งหนึ่ง ภาวนา คือ การอบรม ที่จะรู้นี่หมายความว่าเพื่อให้ปัญญาเกิดรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ใช่ไหม ตัดคำว่า ทำ ออกไปได้เลย และตัดคำว่า จะโยนิโสอย่างไร ออกไปด้วย เพราะว่าไม่ใช่เรื่องทำ และไม่ใช่เรื่องจะโยนิโส แต่เป็นเรื่องที่ฟังให้เข้าใจก่อนและรู้ว่า ขณะใดสติเกิด
ต้องรู้ว่าขณะใดสติเกิด ไม่ใช่จะทำสติ หรือจะตั้งสติ แต่รู้ว่าขณะใดสติเกิด ขณะนั้นสติกำลังระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่สิ่งที่กำลังปรากฏดับเร็วมาก อย่างได้ยินกับเสียง …
ถ. … (ได้ยินไม่ชัด)
สุ. แต่ก็มีได้ยินอีก มีเสียงอีก หรือทางตาก็ยังไม่ปรากฏว่าดับ เพราะฉะนั้น ถ้าสติปัฏฐานจะเกิดระลึกทางตา …
ถ. ไม่ทัน
สุ. ไม่ทันอะไร ไม่ได้ให้ทันอะไรเลย คำว่า ไม่ทัน ก็ทิ้งไปได้อีกเหมือนกัน คือ ไม่จำเป็นต้องทันอะไรทั้งสิ้น เพราะว่าเป็นการอบรมเจริญความรู้ ไม่ใช่ไปทัน แต่ขณะที่กำลังเห็นเริ่มรู้ไหมว่า เป็นสิ่งที่เพียงปรากฏให้คิด
ถ. รู้ ก็เป็นคนทุกทีเลย
สุ. ขณะนั้นสติไม่เกิด ถ้าสติปัฏฐานเกิด คือ รู้ว่าสิ่งนี้กำลังปรากฏ ก่อนที่จะคิดถึงรูปร่างสัณฐาน ก่อนที่จะรู้ว่าเป็นคน เพียงเห็น มีไหม
ถ. เห็นทีไรก็เป็นคนไปแล้วทุกที
สุ. เป็นคนไปแล้ว ก็จะต้องอบรมเจริญสติปัฏฐาน นี่คือเหตุที่จะต้อง เจริญสติปัฏฐานจากความเข้าใจ เพราะฉะนั้น ที่ถามว่าจะโยนิโสอย่างไร เห็นไหมว่า ไม่ใช่เรื่องจะโยนิโส แต่เป็นเรื่องที่จะต้องเข้าใจอย่างนี้ว่า เพราะเห็นแล้วก็รู้ทันทีว่า เป็นอะไร นั่นก็แสดงว่า ขณะนั้นสติไม่ได้เกิดที่จะระลึกทางตา
เพราะฉะนั้น สติที่ระลึกทางตา เริ่มอย่างไร ต้องมีการเริ่ม มีการปรารภ เรื่อยๆ บ่อยๆ
ถ. แล้วเริ่มอย่างไร
สุ. ทางตามีสิ่งที่ปรากฏให้เห็นโดยยังไม่รู้ว่าเป็นคน มีไหม
ถ. ไม่มี
สุ. ไม่มี ทุกครั้งเป็นคนหมด ขอให้มองไปที่ท่านผู้ฟัง และหันกลับมา มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งใส่เสื้อดอก เมื่อกี้มองแล้ว ท่านใส่เสื้อดอกสีอะไร ดอกอะไร รูปร่างของดอกที่เป็นลายเสื้อเป็นอย่างไร
ถ. ไม่รู้
สุ. แต่เมื่อกี้เห็น ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ถ้ามีคนถามก็จะระลึก คือ มองแล้วก็นึกตาม ใบอนุโมทนาบัตรของมูลนิธิมีอยู่ใบหนึ่ง เป็นรูปของต้นโพธิ์พระอานนท์ และมีคำเขียนข้างบนว่า เอวัมเม สุตัง ซึ่งข้างใต้ภาพต้นโพธิ์มีรูปของอุบาสกนุ่งห่มขาวท่านหนึ่งที่กำลังประนมมือ ไม่ทราบว่าจะมีใครเห็นบ้าง ซึ่งเวลาที่ท่านรับ ใบอนุโมทนาบัตรนั้นไป ท่านเห็น จักขุวิญญาณเกิด และสิ่งที่ปรากฏทางตาก็มี แต่ไม่รู้หรอกว่าข้างใต้ต้นโพธิ์พระอานนท์นั้น มีรูปอุบาสกที่ประนมมือ
แสดงให้เห็นว่า เห็นมี แต่ถ้าไม่มีการนึกคิด จะไม่รู้ว่าสิ่งที่เห็นนั้นเป็นอะไร เริ่มจากลายเสื้อ ดอกเสื้อก็ได้ หรือเริ่มจากในห้องนี้มีอะไรบ้าง ไม่สามารถตอบได้ ทุกอย่าง เพราะว่าบางอย่างไม่ได้คิดถึง เพราะฉะนั้น ก็ไม่ได้ตอบว่ามีสิ่งนั้น แต่ถ้า มีคนบอกว่า ดูให้ทั่ว ให้ละเอียด ก็จะต้องนึกไปแต่ละอย่างเรื่อยๆ จนกระทั่งเกือบจะทั่ว แต่ก็คงมีบางอย่างที่ปรากฏแต่ไม่นึกถึง เพราะฉะนั้น ก็ไม่ทั่ว
ก่อนที่จะไปคิดถึงเรื่องโยนิโส หรือจะทำอะไร ให้ทราบว่า ไม่ใช่เรื่องตัวตน จะไปโยนิโสหรือจะไปทำ แต่เป็นเรื่องการอบรมความรู้ความเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรม ในลักษณะของสติปัฏฐาน จนกระทั่งเข้าใจจริงๆ และจะรู้ว่า ขณะใด สติปัฏฐานเกิดทางทวารไหน หรือระลึกรู้อารมณ์ทางใด
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๘๓ ตอนที่ ๑๘๒๑ – ๑๘๓๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1818
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1819
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1820
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1821
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1822
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1823
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1824
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1825
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1826
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1827
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1828
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1829
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1830
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1831
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1832
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1833
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1834
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1835
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1836
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1837
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1838
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1839
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1840
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1841
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1842
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1843
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1844
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1845
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1846
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1847
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1848
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1849
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1850
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1851
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1852
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1853
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1854
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1855
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1856
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1857
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1858
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1859
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1860
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1861
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1862
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1863
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1864
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1865
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1866
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1867
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1868
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1869
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1870
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1871
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1872
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1873
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1874
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1875
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1876
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1877
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1878
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1879
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1880
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1881
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1882
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1883