แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1878


    ครั้งที่ ๑๘๗๘


    สาระสำคัญ

    บารมี หมายถึง ธรรมซึ่งทำให้ถึงฝั่ง คือ พระนิพพาน

    โลภะต้องการทุกอย่าง

    อรรถสาลินี จิตตุปาทกัณฑ์ - แสดงเหตุให้เกิดญาณสัมปยุตต์

    ธรรม ๗ ประการ ความเกิดขึ้นแห่งวิจยสัมโพชฌงค์

    อรรถกถาพระวิภังคปกรณ์ โพชฌงคปัพพธัมมวิจย - สัมโพชฌงค์ - อาหารเพื่อความเกิดขึ้นแห่งธัมมวิจยสัมโพชฌงค์


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๓๒


    สุ. สำหรับเรื่องของทานหรือเรื่องของกุศลที่จะมีอานิสงส์มากก็คงจะทราบได้ว่า ขณะที่กุศลจิตเกิดเป็นขณะหนึ่ง และขณะที่อกุศลจิตเกิดก่อนหรือหลังกุศลนั้น ก็ต่างกับขณะที่เป็นกุศล

    ทุกคนยังเป็นผู้พอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ไม่มีใครปฏิเสธเลย ชีวิตจริงๆ ต้องเป็นอย่างนั้น จนกว่าจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงขั้นบรรลุ เป็นพระอนาคามีบุคคล เพราะถึงแม้เป็นพระโสดาบันบุคคล หรือพระสกทาคามีบุคคล รู้แจ้งอริยสัจจธรรมและดับกิเลสเป็นลำดับไป แต่ยังไม่ถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล ก็ยังมีความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น ในระหว่างที่อบรมเจริญปัญญาหรือบารมีต่างๆ เพื่อจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม อกุศลธรรมก็ยังมีกำลังที่จะทำให้เกิดอกุศลจิตต้องการผลซึ่งเป็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ดีหลังจากที่ทำกุศลแล้ว

    แต่ผู้ที่มีปัญญาจะพิจารณาให้ลึกซึ้งกว่านั้นอีกว่า ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นเป็นเหตุที่ดีแน่นอนที่จะทำให้ผลที่ดีเกิด ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้ลิ้มรส ได้กระทบสัมผัสสิ่งที่น่าพอใจ แต่ความติด ความปรารถนา ความต้องการ ที่จะหลงเพลิดเพลินในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนั้นเป็นอกุศล เพราะฉะนั้น ต้องทราบว่า สิ่งที่เป็นบารมีคือขณะที่เป็นกุศล และถ้าอกุศลเกิดภายหลังก็ให้ทราบว่า บารมีคือส่วนในขณะที่เป็นไปกับปัญญาที่รู้ประโยชน์ของกุศล แต่ขณะที่อกุศลเกิด จะเป็นบารมีไม่ได้ เพราะว่าบารมีหมายความถึงธรรมซึ่งทำให้ถึงฝั่งคือพระนิพพาน

    และการที่จะถึงพระนิพพานได้ คือ การดับกิเลส เพราะฉะนั้น ขณะที่เป็นกุศลโดยที่ไม่หวังผล ขณะนั้นเป็นบารมีได้ แต่ขณะใดที่เกิดความหวัง ความต้องการในผล การหวังหรือการต้องการนั้นไม่ใช่บารมี ซึ่งไม่จำเป็นต้องหวังหรือต้องการ เพราะเมื่อมีเหตุที่ดีแล้ว ผลที่ดีก็ต้องเกิด ถ้ามีการปลูกต้นไม้ผล มีการใส่ปุ๋ย มีการรดน้ำพรวนดิน ถึงเวลาที่จะให้ดอกผลเกิด จะมีใครไปยับยั้งไม่ให้ดอกผลเกิดก็ไม่ได้ กุศลก็เหมือนกัน เมื่อมีเหตุปัจจัยถึงกาลที่จะให้ผล ก็ต้องให้ผล

    เพราะฉะนั้น การที่จะขัดเกลากิเลส การที่จะอบรมเจริญปัญญา ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด และพิจารณารู้สภาพธรรมที่เป็นอกุศลและกุศลให้ตรงตามลักษณะของกุศลและอกุศลนั้นยิ่งขึ้น

    ผู้ฟัง ผมฟังแล้วก็พอเข้าใจว่า การที่จะให้เป็นบารมีนั้น คือ ไม่หวังผล แต่ถึงแม้จะฟังแล้ว เข้าใจแล้ว บางคราวก็ยังหวังว่า การทำทานหรือรักษาศีล ในภพต่อๆ ไปก็คงจะมีทรัพย์หรือรูปร่างที่อุดมสมบูรณ์ ยังอดไม่ได้ที่จะหวังอย่างนั้น แต่ก็เป็นการดีที่ตอกย้ำเตือนผม เป็นเครื่องเตือนใจให้สติพอระลึกรู้ได้บ้าง

    สุ. เวลาอื่นที่ไม่ใช่เวลาทำกุศล ก็หวังอยากจะให้ปัญญาเกิด ใช่ไหม เวลานี้หรือเวลาอื่นซึ่งไม่ได้ทำกุศล เช่น ทานกุศล ก็หวังที่จะให้ปัญญาเกิด คงไม่มีใครปฏิเสธ หรือคงไม่มีใครบอกว่า ไม่ต้องการปัญญา

    ทุกคนหวังที่จะให้มีปัญญามากๆ แต่เวลาทำกุศล ก็ไม่ได้หวังปัญญา กลับไปหวังอย่างอื่น ใช่ไหม หวังทรัพย์สมบัติ หวังรูปสมบัติ หวังอะไรต่างๆ แต่เวลาอื่นทำไมอยากจะให้ปัญญาเกิดมากๆ อยากจะให้มีปัญญาคมกล้า แต่ตอนทำกุศลเสร็จ ไม่ได้หวังปัญญา หวังอย่างอื่น

    แสดงให้เห็นว่า โลภะต้องการทุกอย่างโดยที่ไม่ได้คิดถึงเหตุว่า เหตุที่จะให้ ผลนั้นๆ เกิด เช่น ปัญญา จะเกิดเพราะโลภะ หรือความหวัง หรือความต้องการไม่ได้ แต่ต้องเกิดเพราะกรรม

    อัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ แสดงเหตุให้เกิดญาณสัมปยุตต์ คือ กุศลจิตที่มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วยว่า มี ๔ ประการ คือ ๑.โดยกรรม ๒.โดยอุปัติ ๓.โดยความแก่รอบแห่งอินทรีย์ ๔.โดยความห่างไกลจากกิเลส

    คนที่ต้องการปัญญา และปัญญาจะเกิดเพิ่มขึ้น ต้องรู้เหตุของปัญญาด้วย ถ้าไม่มีเหตุของปัญญา ปัญญาก็เกิดไม่ได้ แม้แต่กุศลญาณสัมปยุตต์ก็เกิดไม่ได้ ถ้าขาดเหตุที่จะให้เกิด ๔ ประการ คือ

    ประการที่ ๑ โดยกรรม

    การกระทำของแต่ละคนเป็นการชี้ผลที่จะเกิดข้างหน้าว่า ปัญญาจะเกิดหรือ ไม่เกิด เช่น การสนทนาธรรม การศึกษาธรรม การฟังธรรม การแสดงธรรม หรือ การไตร่ตรองพิจารณาธรรม การกระทำต่างๆ เหล่านี้จะเป็นเหตุให้ปัญญาเกิดร่วมกับกุศลจิต แต่ถ้าทำอย่างอื่นและหวังอยากจะให้ปัญญาเกิด ก็ควรจะพิจารณาว่า จะเป็นไปได้ไหม เหตุกับผลต้องตรงกัน

    เพราะฉะนั้น ท่านที่คิดว่าปัญญายังน้อยอยู่ และควรที่ปัญญาจะมีมากกว่านั้น ก็ต้องกระทำกรรมที่เป็นเหตุให้เกิดปัญญา หรือแม้แต่ในขณะที่ถวายทาน แทนที่จะ มุ่งให้ได้รูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ โภคสมบัติ ลาภ ยศ สรรเสริญ บริวารมากมาย ก็มุ่งเพื่อที่จะได้รู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง อย่างนั้นจะดีกว่าใช่ไหม เพราะว่าเหตุย่อมตรงกับผลที่จะเกิด

    ประการที่ ๒ โดยอุปัติ

    คือ โดยการเกิดขึ้นในประเทศที่สมควร หรือในโลกที่ไม่เบียดเบียน สามารถ ที่จะพิจารณาสภาพธรรมได้ เพราะแม้แต่การเกิดในโลกมนุษย์ บางท่านก็จุติจาก รูปพรหมภูมิ บางท่านก็จุติจากอรูปพรหมภูมิ บางท่านก็จุติจากสวรรค์ชั้นหนึ่งชั้นใด ซึ่งในสวรรค์ทุกชั้นและในรูปพรหมภูมิก็มีศาลาสุธัมมา มีที่ฟังธรรม ไม่ใช่มีแต่สถานที่ ที่น่าเพลิดเพลินยินดีเท่านั้น

    ถ้าเป็นผู้ที่ใฝ่ใจในการศึกษาธรรม ไม่ว่าจะเกิดในภพไหน ภูมิไหน เช่น ในสวรรค์ หรือในรูปพรหมภูมิ อรูปพรหมภูมิ เวลาที่จุติจากภูมินั้นมาสู่โลกนี้ หรือ จุติจากโลกนี้ไปสู่ภูมินั้นๆ ก็เป็น โดยอุปัติ คือ เกิดในโลกที่ไม่เบียดเบียน ซึ่งเป็นประเทศที่สมควร มีผู้ที่มีปัญญามากมาย เช่น บนสวรรค์ชั้นต่างๆ ก็มีพระอริยบุคคล ตั้งแต่พระโสดาบันจนกระทั่งถึงพระอรหันต์ ไม่ว่าจะเป็นที่สวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ชั้นดาวดึงส์ ชั้นยามา ชั้นดุสิตา ชั้นนิมมานรดี ชั้นปรนิมมิตวสวัตตี ชั้นรูปพรหม เพราะฉะนั้น ถ้าได้เกิดในภพภูมิเหล่านั้นก็มีโอกาสที่จะได้ฟังพระธรรม และ มหากุศลญาณสัมปยุตต์ก็จะเจริญขึ้น

    ประการที่ ๓ โดยความแก่รอบแห่งอินทรีย์

    จะเห็นได้ว่า บางท่านบอกว่า ท่านฟังพระธรรมมาตั้งหลายปีแล้วเพิ่งจะเข้าใจ นี่ก็แสดงให้เห็นถึงความแก่รอบแห่งอินทรีย์ คือ ไม่ใช่เป็นผู้ที่ท้อถอย แต่เป็นผู้ที่ ฟังแล้วฟังอีก พิจารณาเพิ่มขึ้นอีก เข้าใจเพิ่มขึ้นอีก แม้ทีละเล็กทีละน้อยก็เป็นความแก่รอบแห่งอินทรีย์ และเมื่อถึงกาลถึงสมัยที่จะเข้าใจสภาพธรรมก็จะเห็นได้ว่า ช่างไม่ยากเลย ช่างเข้าใจได้ง่ายจริงๆ ไม่เหมือนกับสมัยที่อินทรีย์ยังไม่แก่กล้า ไม่ว่าจะได้ยินได้ฟังอะไรก็สงสัย ไม่เข้าใจ ศัพท์ก็มาก หรืออะไรต่างๆ เหล่านั้น ไม่สามารถที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมได้ แต่เมื่อมีความแก่รอบแห่งอินทรีย์ มหากุศลญาณสัมปยุตต์ก็เกิดได้

    ประการที่ ๔ โดยความห่างไกลจากกิเลส

    คือ เป็นผู้ที่ห่างไกลจากกิเลสเป็นปกติของชีวิต ซึ่งแต่ละคนก็จะพิจารณาดู วิถีชีวิตหรือการดำเนินชีวิตของท่านเองได้ว่า การดำเนินชีวิตของท่าน การคบหาสมาคมกับบุคคลต่างๆ สิ่งแวดล้อมของท่านนั้น ห่างไกลจากกิเลส หรือยังคง เต็มไปด้วยกิเลส ใกล้ชิดกับกิเลส

    ถ้าเป็นผู้ที่ห่างๆ ออกมาเสียบ้างจากกิเลส ก็จะเห็นได้ว่า ญาณสัมปยุตต์ มีโอกาสที่จะเกิดบ่อยๆ แต่ถ้าเป็นผู้ที่ยังหมกมุ่นใกล้ชิดและยังคงมีสิ่งแวดล้อมเป็นไปในเรื่องของกิเลสที่จะเกิดขึ้น การที่จะให้มหากุศลญาณสัมปยุตต์จะเกิด ก็เป็นสิ่งซึ่งยากที่จะเกิดได้

    นี่ก็เป็นเรื่องเหตุและผล ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า เมื่อผู้ใดต้องการปัญญา ก็จะต้องรู้เหตุของปัญญาด้วย

    นอกจากนั้น ใน อัฏฐสาลินี ยังได้แสดงธรรม ๗ ประการ ซึ่งเป็นไปเพื่อความเกิดขึ้นแห่งวิจยสัมโพชฌงค์

    วิจยสัมโพชฌงค์ คือ ปัญญาที่สามารถพิจารณารู้ความต่างกันของธรรม ที่เป็นกุศล ที่เป็นอกุศล ที่เป็นวิบาก เป็นต้น

    ธรรม ๗ ประการ ย่อมเป็นไปเพื่อความเกิดขึ้นแห่งธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ คือ

    ๑. การไต่ถาม

    ๒. การกระทำวัตถุภายในภายนอกให้ผ่องแผ้ว

    ๓. การปรับอินทรีย์ให้เสมอกัน

    ๔. การเว้นบุคคลโฉดเขลา

    ๕. การคบหาบุคคลมีปัญญา

    ๖. การพิจารณาจริยาด้วยญาณอันลึกซึ้ง

    ๗. เป็นผู้มีจิตน้อมไปในคุณ

    ท่านที่ต้องการให้ปัญญาเจริญขึ้น ควรจะได้พิจารณาธรรม ๗ ประการนี้

    ประการที่ ๑ การไต่ถาม

    บางท่านมีความสงสัย ก็เก็บไว้ ไม่ถามใคร ไม่ปรึกษากัน ไม่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน เพราะฉะนั้น ก็ไม่อาจเข้าใจธรรมได้ละเอียด แต่ถ้าได้ไต่ถามผู้ที่สามารถ ให้คำตอบหรือชี้แจงความละเอียดความลึกซึ้งของธรรมได้ ก็จะทำให้เข้าใจธรรมนั้นๆ ได้โดยเร็ว เพราะฉะนั้น การไต่ถามเป็นสิ่งที่มีประโยชน์

    แต่บางท่านอาจจะไม่ชอบที่จะถูกถามในเวลาที่ท่านเป็นผู้ถาม คือ เวลาที่ท่านสงสัย ท่านอยากถาม อยากรู้เฉพาะตอนนั้นๆ เท่านั้น และท่านคิดว่าท่านเข้าใจ แต่ความจริงแล้วที่ท่านถูกถามก็เพื่อที่จะสอบความเข้าใจของท่านว่ามีมากน้อยเท่าไรและตรงตามเหตุตามผลหรือไม่ หรือเป็นแต่เพียงการจำ เพราะบางท่านคิดว่า ถ้าท่านจำได้หมายความว่าท่านเข้าใจ แต่ความจริงไม่ใช่อย่างนั้น ไม่ใช่หมายความว่า จำได้แล้วจะเข้าใจ แต่ที่จะเข้าใจจริงๆ คือ เมื่อใดที่ถูกถาม ก็สามารถตอบคำถามนั้นได้ทั้งหมดโดยความกระจ่างชัดตรงตามเหตุผล นั่นจึงจะชื่อว่าเป็นผู้ที่เข้าใจ

    เพราะฉะนั้น ถ้ามีใครถามปัญหาธรรมท่าน ก็ควรจะดีใจที่ในขณะนั้นมีผู้ช่วย ที่จะให้ท่านได้ทราบว่า ความเข้าใจของท่านมากน้อยแค่ไหน หรือเพียงแต่จำได้ เท่านั้นเอง หรือจำได้และก็เข้าใจเงาๆ ยังไม่กระจ่างชัดทีเดียว

    ประการที่ ๒ การกระทำวัตถุภายในภายนอกให้ผ่องแผ้ว

    นี่ก็เป็นชีวิตประจำวัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ปัญญาที่จะเกิด ไม่ใช่เป็นผู้ที่ประพฤติผิด เข้าใจผิด เช่น ต้องเป็นผู้ที่ไม่อาบน้ำ และไม่ทำความสะอาดร่างกาย ต้องเป็นผู้แสดงเหมือนไม่มีกิเลส ไม่แปรงฟัน ไม่ซักเสื้อผ้า อะไรต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งความเห็นผิดอย่างนั้นมี เพราะฉะนั้น ปัญญาจริงๆ คือ ชีวิตประจำวันก็เป็นผู้ที่กระทำวัตถุภายในภายนอกให้ผ่องแผ้ว ทั้งในเรื่องที่เกี่ยวกับร่างกาย เครื่องใช้ สิ่งแวดล้อมด้วย

    ประการที่ ๓ การปรับอินทรีย์ให้เสมอกัน

    บางท่านเป็นผู้ที่มีศรัทธา แต่ไม่ได้พิจารณาธรรมในเหตุและในผลโดยละเอียดจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกระทำตามพระธรรมหรือพระวินัย บางท่านก็ดูเผิน เพียงดูศีลที่บางคนปฏิบัติ แต่ไม่ได้ศึกษาให้ละเอียดว่านั่นเป็นศีลจริง หรือเป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัวซึ่งไม่ใช่หนทางที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม เช่น การเป็นผู้ที่เข้าใจว่า ไม่บริโภคเนื้อสัตว์แล้วจะทำให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม นั่นก็อาจจะทำให้บางคน มีศรัทธา แต่ไม่ได้พิจารณาในเหตุผลก็เชื่อว่าเป็นไปตามนั้น

    สำหรับพุทธศาสนิกชน หรือแม้แต่ภิกษุสงฆ์ หรือแม้พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เป็นผู้ที่บริโภคเนื้อสัตว์ ซึ่งทำให้ผู้ที่นับถือศาสนาอื่น หรือชาวต่างประเทศที่ยังไม่ได้พิจารณาเหตุผลจริงๆ อดที่จะตำหนิไม่ได้เลยว่า ทำไมเมื่อชาวพุทธมีศีล คือ เว้นการฆ่าสัตว์ แต่ยังบริโภคเนื้อสัตว์

    แต่ก็มีชาวต่างประเทศท่านหนึ่ง ท่านเป็นผู้ที่เข้าใจธรรมอย่างละเอียด ท่าน ก็ชี้แจงให้เพื่อนของท่านซึ่งเป็นชาวต่างประเทศได้พิจารณาว่า ธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนั้น เป็นปรมัตถธรรม เป็นสัจจธรรม เป็นธรรมที่จริงและละเอียด การกระทำทุกอย่างเป็นเรื่องของเจตนา ความจงใจ ความตั้งใจ ในขณะที่มีการ ฆ่าสัตว์ มีวธกเจตนา เจตนาฆ่า แต่ในขณะที่บริโภคเนื้อสัตว์ไม่ได้มีเจตนาฆ่า เจตนาแต่ละขณะนั้นต่างกัน เจตนาที่เป็นกุศลก็ไม่ใช่เจตนาที่เป็นอกุศล เพราะฉะนั้น ในขณะที่บริโภคเนื้อสัตว์ ไม่มีเจตนาที่เป็นอกุศลซึ่งเป็นเจตนาฆ่า และสำหรับผู้ที่ มีปกติเจริญสติปัฏฐาน แม้ในขณะที่กำลังบริโภค เจตนาในขณะนั้นก็เป็นไปกับ กุศลจิต เป็นญาณสัมปยุตต์ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพนามธรรมและรูปธรรม ในขณะนั้นได้ เพราะฉะนั้น นี่จึงเป็นหนทางที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมตามความเป็นจริง

    แสดงให้เห็นถึงเรื่องของอินทรีย์ว่า บางท่านเป็นผู้ที่มีศรัทธาแต่ปัญญา ยังไม่ละเอียด ถ้ารู้อย่างนี้แล้วก็ต้องให้อินทรีย์เสมอกัน คือ ไม่ใช่เป็นผู้เพียงมีศรัทธา แต่ต้องเป็นผู้ที่มีปัญญาซึ่งมีศรัทธาในทางที่ถูก ในทางที่เป็นเหตุเป็นผลด้วย นี่ก็เป็นตัวอย่างของการปรับอินทรีย์ให้เสมอกัน ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดญาณสัมปยุตต์

    ประการที่ ๔ การเว้นบุคคลโฉดเขลา

    นี่ก็เห็นได้จากชีวิตประจำวัน โดยมากคนที่ปราศจากเหตุผล คบหาสมาคมกัน ก็มีทิฏฐิความเห็นอย่างเดียวกัน คือ เมื่อเป็นผู้ที่เขลา ก็เขลาไปด้วยกันทั้งหมด มีความเห็นที่เขลาเหมือนๆ กัน

    ประการที่ ๕ การคบหาบุคคลผู้มีปัญญา

    ประการที่ ๖ การพิจารณาจริยาด้วยญาณอันลึกซึ้ง

    จริยา คือ ขณะจิตแต่ละขณะซึ่งเป็นไปนั่นเอง

    ประการที่ ๗ เป็นผู้มีจิตน้อมไปในคุณ

    คือ ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ รู้ว่าสิ่งที่ต้องการในชีวิตควรจะเป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่ มีประโยชน์ทั้งในโลกนี้และในโลกหน้าด้วย เมื่อเป็นผู้ที่มีจิตน้อมไปในสิ่งที่ เป็นประโยชน์ ก็จะเป็นผู้ที่แสวงหาความจริงซึ่งเป็นสัจจธรรม ซึ่งเป็นประโยชน์ที่สุด

    เพราะฉะนั้น เป็นการแสดงให้เห็นถึงเหตุกับผล ไม่ใช่หวังเฉยๆ ว่า อยากจะมีปัญญา และก็คิดว่าทำไมปัญญายังไม่เกิด หรือทำไมปัญญาจึงยังน้อย แต่จะต้อง รู้เหตุของปัญญาด้วย

    สัมโมหวิโนทนี อรรถกถา พระวิภังคปกรณ์ สติปัฏฐานวิภังค์นิทเทส อรรถกถา โพชฌงคบรรพ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ มีข้อความว่า

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายอันเป็นกุศลและอกุศลเป็นต้น อันเปรียบด้วยธรรมดำและธรรมขาวมีอยู่ การทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการในธรรมนั้น นี้เป็นอาหารเพื่อความเกิดขึ้นแห่งธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดขึ้น หรือว่า ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญงอกงามไพบูลย์ยิ่งขึ้นแห่งธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว

    ก็คือในขณะนี้เอง ที่กำลังฟังและพิจารณาด้วยความแยบคายที่จะเห็นเหตุ และผลของธรรมตามความเป็นจริง

    ชาตินี้ก็เป็นเพียงชาติหนึ่งในสังสารวัฏฏ์ ซึ่งสังสารวัฏฏ์ที่ผ่านมาก็ยาวนานมาก และชาตินี้สำหรับแต่ละบุคคลก็จะเห็นความไม่เที่ยง สำหรับคนที่อยู่ในวัยชราขณะนี้ ธรรมทั้งหลายก็ไม่เที่ยง เพราะฉะนั้น อีกไม่นานก็จะกลับเป็นเด็ก และจากเด็กก็จะกลับเป็นหนุ่มเป็นสาวอีก และสำหรับคนที่เป็นหนุ่มเป็นสาวในขณะนี้ อีกไม่นานก็ต้องถึงความเป็นคนชรา และหมุนเวียนกลับไปเป็นเด็ก และก็เป็นหนุ่มเป็นสาวอีก เหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตก็หมุนเวียนไปทั้งได้ลาภ เสื่อมลาภ ได้ยศ เสื่อมยศ สรรเสริญ นินทา สุข ทุกข์ แต่ละภพแต่ละชาติ ซึ่งไม่พ้นจากโลกธรรม ๘



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๘๘ ตอนที่ ๑๘๗๑ – ๑๘๘๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 104
    28 ธ.ค. 2564