แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1881


    ครั้งที่ ๑๘๘๑


    สาระสำคัญ

    ทุกข์มี ๓ ประเภท

    อรรถกถา อรรถกถาทุติยเวทนาสูตรที่ ๔ - ลักษณะของทุกขเวทนา

    อรรถกถาปฏิสัมภิทามรรค

    อรรถกถามหากรุณาญาณนิทเทส - เรื่องของสภาพที่ไม่สงบ


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๓๒


    สำหรับทุกข์ มี ๓ ประเภท คือ ทุกขทุกข์ ๑ วิปริณามทุกข์ ๑ สังขารทุกข์ ๑

    ทุกข์ในโลกนี้จะไม่พ้นไปจากทุกข์ ๓ ประเภทนี้เลย และทุกคนที่เกิดมาต้องประสบกับทุกข์ทั้ง ๓ ประเภทนี้

    สำหรับทุกขทุกข์นั้น ได้แก่ ทุกขเวทนา ซึ่งอาศัยกายเกิดขึ้น เมื่อมีรูปร่างกาย คือ ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ที่จะไม่ให้มีทุกขเวทนา เป็นไปไม่ได้ ถ้าเป็นไปในกามภูมิ

    ถ้าในรูปพรหมภูมิ ไม่มีกายปสาท แม้ว่ามีรูปร่างกาย แต่ไม่มีกายปสาทที่จะกระทบกับโผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น รูปพรหมบุคคลไม่มีความรู้สึกที่เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ทางกาย

    คิดดู ในขณะที่เป็นมนุษย์ จะดีไหมถ้าไม่มีทุกข์ทางกาย ไม่หิวเลย สบายมาก ไม่ต้องเจ็บ ไม่ต้องปวด ไม่ต้องคัน ไม่ต้องเมื่อยขบ ตัดภาระกังวลไปได้มากมาย แต่ไม่สามารถเป็นไปได้อย่างนั้นเลย เพราะว่ากรรมทำให้กายปสาทรูปเกิดขึ้นเพื่อกระทบกับโผฏฐัพพะ ถ้าเป็นกุศลวิบากก็กระทบกับโผฏฐัพพะที่สบาย ถ้าเป็น อกุศลวิบากก็กระทบกับโผฏฐัพพะที่ไม่น่าสบาย ทำให้เกิดทุกขเวทนา และสภาพธรรมก็มีจริงพิสูจน์ได้ ขณะนี้ปวดเมื่อยเจ็บที่ไหนบ้างหรือเปล่า แม้เพียงเล็กน้อยนิดเดียว บางท่านพัดลมก็เป่าถูกผม ถูกหน้า คิดถึงเวทนาในขณะนั้นว่า สบาย หรือไม่สบาย ซึ่งก็พอที่จะให้สติระลึกรู้ทันในขณะนั้นว่า ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เลย เมื่อมีกายแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้อกุศลวิบากทางกายเกิดขึ้น ต้องกระทบกับโผฏฐัพพะที่ไม่น่าพอใจ แม้เพียงเล็กน้อย

    เพราะฉะนั้น เรื่องของธรรมเป็นเรื่องที่พร้อมจะให้พิจารณา และสามารถ รู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นจริงๆ

    ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ อรรถกถาทุติยเวทนาสูตรที่ ๔ มีข้อความว่า

    ทุกขเวทนาเมื่อเกิดขึ้นก็ดี ถึงฐีติขณะ (ดำรงอยู่) ก็ดี คือ ขณะที่ยังไม่ดับ แตกดับไปก็ดี ย่อมเบียดเบียนทั้งนั้น

    นี่คือลักษณะของทุกขเวทนา ทั้งในอุปาทขณะ ฐีติขณะ และภังคขณะ

    เหมือนลูกศรกำลังเสียบเข้าสรีระก็ดี หยุดอยู่ก็ดี กำลังถอนออกก็ดี ย่อมให้เกิดความเจ็บปวดทั้งนั้น

    คนที่กำลังมีทุกขเวทนามากๆ จะรู้สึกซาบซึ้งทีเดียวในลักษณะการอุปมาทุกขเวทนาเหมือนลูกศร ย่อมให้เกิดความเจ็บปวดทั้งนั้น วันนี้อาจจะแข็งแรงดี แต่ไม่แน่ คืนนี้อาจจะปวดเจ็บที่หนึ่งที่ใด และก็พิจารณาถึงลักษณะของทุกขเวทนา ซึ่งเปรียบเหมือนลูกศร ไม่ว่าจะขณะที่เสียบ ขณะที่หยุดอยู่ หรือขณะที่ถอนออก

    สัทธัมมปกาสินี อรรถกถา ปฏิสัมภิทามรรค อรรถกถามหากรุณาญาณนิทเทส มีข้อความที่แสดงเรื่องของสภาพที่ไม่สงบในวันหนึ่งๆ เพราะว่ามีทุกข์ถึง ๓ อย่าง คือ ทุกขทุกข์ ๑ วิปริณามทุกข์ ๑ และสังขารทุกข์ ๑

    ข้อความในอรรถกถามีว่า

    บทว่า อวูปสันโต โลกไม่สงบ เพราะประกอบด้วยอุทธัจจะอันมีลักษณะ ไม่สงบ เปรียบเหมือนสภาพที่หมุนคว้าง

    ขณะที่จิตใจกำลังเป็นอกุศล ขณะนั้นไม่สงบเลย ขอให้นึกถึงภาพของ สิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามที่กระสับกระส่ายไม่สงบถึงกับหมุนคว้าง แม้แต่ในความคิดก็อาจจะมีสภาพที่เป็นอย่างนั้น หรืออาจจะเปรียบกับมฤคหรือเนื้อที่ถูกลูกศรแทง ในขณะนั้นจะหยุดอยู่เฉยๆ ไม่ได้ ต้องกระสับกระส่าย ทุรนทุราย หมุนคว้าง เพราะไม่ใช่มีแต่ทุกขทุกข์เท่านั้นเวลาที่ความทุกข์เกิด จิตใจขณะนั้นกระสับกระส่ายเดือดร้อน กังวล ไม่สงบ

    บทว่า สสัลโล โลกสันนิวาสมีลูกศร คือ เป็นไปกับด้วยลูกศรมีราคะเป็นต้น

    แสดงให้เห็นชีวิตของแต่ละคน ถ้าไม่พิจารณาจะไม่เห็นทุกข์ แต่เมื่อพิจารณาสภาพที่ทรงแสดงไว้โดยละเอียดจะเห็นได้ว่า โลกมีลูกศร คือ เป็นไปกับด้วยลูกศร เต็มไปหมด ลูกศรที่พร้อมจะเสียบอยู่ทุกขณะ มีราคะเป็นต้น

    ที่ชื่อว่าลูกศร เพราะให้เกิดความบีบคั้น เพราะเจาะเข้าไปในภายใน และเพราะนำออกยาก

    ใครที่ถูกลูกศร คิดดู จะบีบคั้นสักแค่ไหน เพราะว่าเจาะเข้าไปถึงภายใน เพียงแต่กระทบกายนิดหน่อยขีดข่วนก็ยังเจ็บแล้ว แต่ลูกศรไม่ใช่เพียงแค่นั้น เจาะ เข้าไปในภายใน และนำออกยากด้วย

    บทว่า วิทโธ คือ ถูกลูกศรเสียดแทงแล้วเช่นมฤคเป็นต้น บางครั้งถูกผู้อื่นแทง แต่โลกคือหมู่สัตว์นี้ ตนเองเท่านั้นถูกแทงตลอดเวลา

    กำลังรู้สึก หรือไม่รู้สึกเวลาที่อกุศลเกิดว่า ขณะนั้นเป็นลูกศร ซึ่งก็น่าจะรู้ว่า ถูกอะไรแทงบ้างในวันหนึ่งๆ ไม่พ้นลูกศร คือ

    บทว่า ปุถุสัลเลหิ ความว่า ลูกศรจำนวนมาก คือ ถูกลูกศร ๗ ลูก คือ ลูกศรคือราคะ ๑ ลูกศรคือโทสะ ๑ ลูกศรคือโมหะ ๑ ลูกศรคือมานะ ๑ ลูกศรคือทิฏฐิ ๑ ลูกศรคือกิเลส ๑ ลูกศรคือทุจริต ๑

    มีใครไม่ถูกลูกศร ๗ ลูกนี้บ้าง ไม่มี นอกจากจะเป็นผู้ที่ถอนลูกศรออกแล้ว คือ เป็นพระอริยบุคคล เพราะฉะนั้น ผู้ที่ยังไม่ได้ถอนลูกศร คือ ยังไม่ได้เป็น พระอริยบุคคล จะมีสภาพเป็นอย่างไร

    อรรถกถามหากรุณาญาณนิทเทส แสดงว่า

    เป็นสภาพที่มืดตื้อ เพราะอวิชชาปิดกั้นไว้

    เวลานี้มองไม่เห็นว่าจะมืดแค่ไหน เพราะดูเหมือนว่ามีแสงสว่าง แต่ถ้าขณะใดปัญญาไม่เกิดรู้ลักษณะของสภาพที่กำลังปรากฏในขณะนี้ตามความเป็นจริง ไม่มีปัญญา ขณะนั้นก็มืดตื้อเพราะอวิชชาปิดกั้นไว้ เห็นก็เหมือนเดิม เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน และยังมีโลภะ มีโทสะ มีอกุศลต่างๆ ก็ยังเหมือนเดิม เพราะฉะนั้น ก็ดูเหมือนกับไม่มืด แต่ถ้าปัญญาเกิดขณะใดจะรู้ว่า ก่อนที่ปัญญา จะเกิดนั้นอยู่ในโลกของความมืดจริงๆ เพราะว่าไม่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ตามความเป็นจริง ผู้ที่มีอวิชชาจึงเป็นสภาพที่มืดตื้อ เพราะอวิชชาปิดกั้นไว้

    ถ้าอยู่ในห้องที่มืดตื้อ ทุกคนต้องพยายามแสวงหาทางที่จะออกจากความมืด เพราะว่าต้องมีความตกใจกลัวที่จะอยู่ในห้องที่มืดตื้อ หรือมีแต่ความมืดตื้อปกคลุมไว้ทั้งหมด ถ้าเป็นลักษณะนั้นจริงๆ จะเห็นภัย เห็นอันตราย และแสวงหาทางที่จะ ออกจากความมืด

    แต่ขณะนี้ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นอย่างนั้น จนกว่าปัญญาจะพิจารณาเห็นว่า เมื่อมีอวิชชาต้องมืด เพราะว่ายังไม่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง นอกจากอยู่ในที่มืดตื้อแล้ว ยังถูกใส่เข้าไปในกรงกิเลส นี่คือสภาพของคนที่เต็มไปด้วยอวิชชาและอกุศลทั้งหลาย

    นอกจากจะถูกใส่เข้าไปในกรงกิเลสแล้ว

    ยังถูกนำเข้าไปในฝักของอวิชชา มีสิ่งที่ห้อมล้อมอีก ถูกอวิชชาหุ้มห่อล้อมรอบ ดุจสัตว์ที่เกิดในฟองไข่ ฟองไข่ก็จะหุ้มห่อสัตว์นั้นไว้ทำให้สัตว์นั้นออกไม่ได้ ฉันใด คนที่ถูกใส่เข้าไปในกรงกิเลสก็จะต้องเป็นฉันนั้น

    ใส่เข้าไปในกรง และยังมีฝักของอวิชชาหุ้มห่อไว้เหมือนกับฟองไข่

    นอกจากนั้น

    สภาพที่ถูกอวิชชาหุ้มห่อไว้นั้น ก็ยังยุ่งดุจเส้นด้ายของนายช่างหูกที่เก็บไว้ไม่ดี ถูกหนูกัด ย่อมยุ่งเหยิงในที่นั้นๆ เป็นการยากที่จะตีราคาให้สมค่า

    คือ ไม่รู้จะตีราคาอย่างไร ถ้าเป็นนายช่างหูกที่เก็บด้ายไว้อย่างดี กลุ่มด้ายนั้นยังมีประโยชน์ที่จะใช้ได้ ตีราคาได้ แต่นี่นายช่างหูกเก็บไว้ไม่ดี ถูกหนูกัด และยุ่งเหยิงไปหมด ก็ยากที่จะตีราคาให้สมค่าได้

    และสำหรับผู้ที่มากไปด้วยความคิดผิด ความเห็นผิด การประพฤติผิด การปฏิบัติผิดนั้น

    เหมือนเส้นด้ายที่ยุ่งที่นายช่างหูกเอาไปคลุกน้ำข้าว แล้วขยำให้ติดกันเป็นปม

    นี่คือชีวิตจริงๆ ของแต่ละบุคคลที่จะพิจารณาว่า ชีวิตของใครเป็นอย่างไร และใครกำลังสางสิ่งที่ยุ่งเหยิงหรือสิ่งที่ไม่ตรงให้กลับกลายเป็นสิ่งที่ตรงและ มีประโยชน์

    ข้อความต่อไปมีว่า

    สัตว์ทั้งหลายก็ฉันนั้น ไม่อาจรู้เหตุและผลของสภาพธรรมทั้งหลายได้ เป็นผู้พลาดพลั้ง ยุ่งยาก วุ่นวายในปัจจัย คือ นามธรรมและรูปธรรม

    ทุกคนต้องมีการพลาดพลั้งโดยไม่เจตนา ทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง บางทีก็มีความตั้งใจดีที่จะเป็นกุศล แต่ด้วยกำลังของกิเลสทำให้เกิดพลาดไปเสียแล้ว พลั้งไปเสียแล้ว ทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง คือ ยุ่งยาก วุ่นวายในปัจจัยทั้งหลาย คือ ทั้งนามธรรมและรูปธรรมอยู่เรื่อยๆ

    ข้อความต่อไปมีว่า

    สัตว์อื่นนอกจากพระโพธิสัตว์แล้ว ที่สามารถจะประพฤติเหตุปัจจัยให้ตรงต่อการพ้นจากสังสารโดยธรรมดาของตน ย่อมไม่มี

    เพราะฉะนั้น ต้องอาศัยการฟังพระธรรมเพื่อเห็นทุกข์โทษภัยของสังสารวัฏฏ์ และมีวิริยะ ความเพียร ที่จะให้เกิดความเข้าใจสภาพธรรมยิ่งขึ้น

    นี่คือเรื่องของทุกขทุกข์ และเรื่องของกิเลสทั้งหลาย ซึ่งได้แก่วิปริณามทุกข์ คือ ความแปรปรวน ความเสื่อมของสุขนั่นเอง

    ทุกข์กาย ทุกคนหนีไม่พ้นเมื่อมีกาย แล้วแต่ว่าความเจ็บปวดมีเหตุที่จะเกิดขึ้นวันไหนก็เกิดขึ้น และเหตุในอดีตก็คือกรรมที่ได้กระทำแล้วซึ่งเป็นการเบียดเบียน การประทุษร้าย การฆ่า การทำร้ายบุคคลอื่นให้เจ็บหรือให้ตาย นั่นเป็นเหตุที่ทำให้ กายวิญญาณซึ่งเป็นอกุศลวิบากเกิดร่วมกับทุกขเวทนา แต่ไม่ใช่มีแต่เพียงทุกขทุกข์ ยังมีวิปริณามทุกข์ คือ ความแปรปรวนของสุข ทำให้ความรู้สึกที่เป็นทุกข์นั้นเกิดขึ้น

    สำหรับทุกขทุกข์ พิจารณาดูว่า การเกิดเป็นมนุษย์กับเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน อย่างไหนจะดีกว่ากัน เมื่อทุกข์กายเกิดขึ้น สัตว์ดิรัจฉานไม่สามารถรักษาตัวเอง จะหยิบยามารักษา มากิน มาทำอะไรก็ไม่ได้ทั้งนั้น แต่มนุษย์มีทางที่จะเยียวยารักษาทุกข์ที่เกิดขึ้นให้เบาบางลงได้ แสดงให้เห็นว่า การเกิดที่ไม่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย กับการเกิดที่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วยนั้น ต่างกัน

    . เมื่อทุกข์เกิด เราถือว่านี่ตัวเราทั้งแท่งที่เป็นอยู่ นี่เรา เพราะฉะนั้น สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นก็เป็นเราทุกข์ เราเดือดร้อน เราเสื่อมลาภ เราเสื่อมยศ เรามีทุกข์ เราถูกเขานินทาติเตียน เป็นเราทั้งนั้น โดยไม่เข้าใจสภาวธรรม ไม่ได้มองเห็นสภาวธรรม รู้สึกว่าเป็นเรื่องยากจริงๆ ตราบใดที่สติยังไม่ระลึกรู้ขณะที่สภาวธรรมเกิด ขณะนั้นทุกข์ก็ต้องเบียดเบียนอยู่ตลอดเวลา อย่างนี้จะถูกไหมอาจารย์

    สุ. การที่จะพิจารณาให้เห็นว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน มีทาง ที่จะเป็นไปได้ โดยการศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละขณะให้ละเอียดยิ่งขึ้น เช่น ในขณะที่ทุกขกายวิญญาณที่เป็นอกุศลวิบากเกิด ไม่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย นี่ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า ต้องเกิดเพราะมีเหตุ เท่านั้นเอง ไม่ต้องมีใครมีวิริยะที่จะทำให้ทุกข์กายเกิดขึ้น เพราะทำไม่ได้ สภาพธรรมทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นเจตสิกแต่ละประเภท หรือแม้แต่จิตแต่ละขณะ สำหรับกายวิญญาณก็เป็นแต่เพียงชั่วขณะที่รู้สึกโผฏฐัพพะที่กระทบแล้วเป็นทุกข์

    . แต่ที่เรารู้สึก มันเดือดร้อนมากๆ

    สุ. หลังจากที่กระทบ หลังจากที่กายวิญญาณดับแล้ว ไม่มีใครชอบ ทุกข์กาย กำลังปวด กำลังเจ็บ ต้องกระสับกระส่าย เดือดร้อน หมุนคว้าง ไม่รู้จะทำอย่างไร ถ้าเป็นโรคที่ร้ายแรงก็ยิ่งจะเห็นชัด ใช่ไหม จะผ่าตัดดีหรือไม่ผ่าตัดดี แสดง ให้เห็นว่า กำลังหมุนคว้างอยู่ด้วยความกังวล ด้วยความทุกข์

    . มีหนทางที่จะบรรเทาให้ทุกข์เหล่านี้เบาบางลงบ้างไหม

    สุ. ถอนลูกศรด้วยปัญญา เพราะตราบใดที่ยังมีลูกศร ยังไม่ใช่ พระอริยบุคคล ก็ต้องมีทุกข์อย่างมาก

    . แต่ทุกข์เหล่านี้เป็นอกุศล ใช่ไหม

    สุ. กายวิญญาณเป็นวิบาก เกิดขึ้นเพราะกรรมที่ได้กระทำแล้ว ไม่มีใครสามารถยับยั้งได้ แต่ปัญญาที่เกิดขึ้นจะทำให้คลายความกระสับกระส่าย ความกังวลได้

    . แต่ที่เกิดหลังจากกายวิญญาณเป็นอกุศล ใช่ไหม

    สุ. ใช่ และแม้แต่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ยังมีทุกข์ เช่น ในขณะที่กายวิญญาณที่เป็นอกุศลวิบากเกิด เพราะเหตุของอกุศลกรรมที่ได้กระทำไว้ในอดีต

    . ผมยังติดใจเรื่องปฏิสนธิจิตที่ไม่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย ซึ่งได้แก่อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบากและอุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก เพราะทำเหตุอะไรไว้ มีแสดงไว้โดยละเอียดไหม

    สุ. อกุศลกรรม คือ อกุศลจิต ๑๒ ดวง เวลาที่สำเร็จเป็นอกุศลกรรมบถ จะให้ผลเป็นอกุศลวิบากจิต ๗ ดวง เป็นอเหตุกจิต คือ ไม่มีเจตสิกที่เป็นเหตุใดๆ ใน ๖ เหตุ คือ โลภเหตุ ๑ โทสเหตุ ๑ โมหเหตุ ๑ อโลภเหตุ ๑ อโทสเหตุ ๑ อโมหเหตุ ๑ เกิดร่วมด้วย เป็นอเหตุกจิต

    และสำหรับกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว ถ้าเป็นกามาวจรกุศล จะเป็นปัจจัย ให้วิบากจิตเกิดได้ ๑๖ ดวง ใน ๑๖ ดวงนี้ เป็นอเหตุกกุศลวิบาก ๘ ดวง และเป็นกามาวจรวิบากจิตหรือมหาวิบากจิต ๘ ดวง

    สำหรับกามาวจรวิบากจิตหรือมหาวิบากจิตนั้น มีเหตุเกิดร่วมด้วย มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่สำหรับอเหตุกกุศลวิบากไม่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วยเลย เพราะว่าอเหตุกจิตทั้งหมดมี ๑๘ ดวง ใน ๑๘ ดวงนั้น เฉพาะมโนทวาราวัชชนจิตและหสิตุปปาทจิตซึ่งเป็นกิริยาจิต ๒ ดวงนี้เท่านั้นที่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย นอกจากนั้นคืออเหตุกะอีก ๑๖ ดวง ไม่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วยเลย ตามกิจการงานหน้าที่ของจิต เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับประเภทและการงานของจิต

    . ในขณะที่เราเป็นมนุษย์ปุถุชน ไม่ทราบว่าพระธรรมมีแสดงโดยละเอียดไหมว่า ได้ทำกรรมอะไรไว้จึงมีลักษณะอย่างนั้น

    สุ. อกุศลกรรมทุกประเภท ทางกาย ๓ คือ ปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร ทางวาจา ๔ คือ มุสาวาท ปิสุณาวาท ผรุสวาท สัมผัปปลาปวาจา และมโนกรรม ๓ ที่เป็นอกุศลกรรมบถ จะทำให้อกุศลวิบากจิตเกิดขึ้นเพียง ๗ ดวง ไม่มากกว่านั้นเลย



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๘๙ ตอนที่ ๑๘๘๑ – ๑๘๙๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 104
    28 ธ.ค. 2564