อวิชชาสูตร แผ่นที่ ๑ ตอนที่ ๒


    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์คะ กรณีที่เราสะสมความเห็นผิด เริ่มจากอวิชชา ก็จะทำให้มีต่อเนื่องไปถึงมิจฉามรรคทั้ง ๘ เลยหรือ

    ท่านอาจารย์ ดำริผิด พูดผิด ทำผิด เพียรผิด ตั้งมั่นผิด

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้น สมมติเรายังไม่ได้มาศึกษาธรรม รู้สึกว่าเราก็สัมมาอาชีพ คือเราไม่ได้ทำอะไร ที่มันเป็นอาชีพที่ไม่ถูกต้อง

    ท่านอาจารย์ สัมมาอาชีพ คือ อาชีพที่ไม่ทุจริต ไม่ได้เบียดเบียนใคร แต่ขณะนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล โดยมากเราจะพูดถึงระยะยาวเป็นเรื่องเลย แต่ว่าธรรมเป็นทุกขณะจิตที่จะต้องตรง กุศลเป็นกุศล อกุศลเป็นอกุศล แม้กำลังเห็น เห็นไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล นี่ก็คือความตรง เห็นแล้วเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ก็ต้องเป็นความตรง ไม่ได้พูดไกลเกินไป จนกระทั่งถึงการอาชีพอะไรต่างๆ เลย แต่พูดถึงขณะจิตแต่ละขณะ ซึ่งประกอบด้วยเจตสิกต่างๆ ศึกษาจนกว่าขณะนี้เป็นธรรม ไม่มีใครเลย แต่เป็นธรรมทั้งหมด นี่คือประโยชน์จากการศึกษา คือรู้ความจริงว่า ธรรมเป็นธรรม

    ผู้ฟัง เหมือนกับว่า เราก็รู้เรื่องราว แต่เนื่องจากว่าเรายังไม่ได้รู้จริงของสภาพธรรม เราก็จะเป็นตัวเรา และก็เป็นเรื่องราวตลอด

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นปัญญามี ๓ ระดับ ปัญญาซึ่งเกิดจากการได้ยิน ได้ฟัง เข้าใจ สิ่งที่ได้ยิน ได้ฟัง การฟังวันนี้คงไม่มาก เมื่อเช้ามีใครฟังวิทยุบ้าง ครึ่งชั่วโมง แล้วก็เดี๋ยวนี้กำลังฟังได้กี่นาที แต่ระหว่างนั้นเป็นอะไร เพราะฉะนั้นการฟังก็ไม่ได้มากมาย ใช่ไหม เทียบกับอกุศลซึ่งเกิดมาก เพราะฉะนั้นจะให้เราเป็นกุศลตั้งมั่น เป็นไปไม่ได้เลย แต่ว่าค่อยๆ สะสมความเห็นถูก ความเข้าใจถูก นี่เป็นขั้นฟัง และก็เมื่อแม้ไม่ได้ฟัง ก็ยังไตร่ตรอง ตรึก ในเรื่องของธรรมที่ได้ยิน ได้ฟังมา ให้ค่อยๆ เข้าใจขึ้น คือไม่ลืม ยังไม่พอ เพราะว่ารู้ตามความเป็นจริงว่า ยังไม่รู้ลักษณะ คือ ตัวจริงของธรรมที่กำลังปรากฏ ที่กำลังฟัง

    อย่างฟังเรื่องเห็น ที่กำลังเห็น ฟังเรื่องสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา สีสันวรรณะต่างๆ ฟังเรื่องคิดนึกต่างๆ ฟังเรื่องกุศล อกุศลต่างๆ แต่สภาพธรรมเหล่านี้ เกิดดับเร็วมาก ไม่รู้จักตัวจริงของธรรมหนึ่งธรรมใด ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิด ไม่รู้ตรงลักษณะที่เป็นจริงๆ เป็นการยืนยันว่า เรากำลังพูดถึงสิ่งนี้ ให้ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ในความไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงธรรมแต่ละลักษณะ

    เพราะฉะนั้นผู้นั้นก็เป็นผู้ที่ตรงยิ่งขึ้น ที่จะรู้ว่า ปัญญาไม่ใช่มีแต่เฉพาะขั้นฟัง หรือขัั้นไตร่ตรอง แต่สามารถที่จะอบรมจนกระทั่งถึงขั้นประจักษ์แจ้งได้ รู้ความจริงของสิ่งนั้น ตรงตามที่ได้ฟัง เพราะฉะนั้นปัญญาก็ต่างกันเป็น ๓ ระดับ

    ผู้ฟัง เวลาฟังเหมือนกับว่า สภาพธรรมเกิดดับเร็วมาก แล้วเราต้องมีสติที่รวดเร็ว ไปรู้ตามที่เขาเร็ว ฟังแล้วก็เหลือวิสัยที่เราจะไปรู้ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องไปคิดถึงเรื่องนั้นเลย แต่รู้ความต่างกันของขณะที่หลงลืมสติ กับขณะที่สติเกิด มิฉะนั้นจะไม่รู้จักตัวธรรมเลย ฟังแต่เรื่องของธรรมไปเรื่อยๆ ตลอด จนกว่าสติสัมปชัญญะเกิดเมื่อไร ตัวจริงของธรรม คือ ลักษณะนั้น ก็ปรากฏความเป็นธรรม

    ผู้ฟัง แต่ทีนี้เวลาเราฟัง เราก็เหมือนจะสนใจว่า เราฟังอะไรๆ ในนั้นเขาพูดว่าอะไร มันก็ไม่ได้ระลึกอะไรเลย

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจะให้ทำอะไรหรือเปล่า หรือให้เข้าใจว่าความจริงเป็นอย่างนี้ นี่คือปัญญาขั้นฟัง จะเป็นปัญญาขั้นอื่นไม่ได้ เพราะว่าเป็นขั้นฟัง ถ้าเมื่อไรสติสัมปชัญญะเกิด จะบอกว่านี่ไม่ใช่อีกขั้นหนึ่งแล้ว ก็ไม่ได้ จะไปบอกว่านี่แค่ปัญญาขั้นฟัง ก็ไม่ได้ เพราะว่าขณะนั้นสติตัวจริง เกิดรู้ลักษณะของธรรมตัวจริง ที่กำลังปรากฎ ปฏิปัตติ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ

    ผู้ฟัง พอฟังแล้ว เรารู้เรื่องฟังมากๆ ก็ไม่แน่ใจว่า เราจะเป็นพวกบัญญัติปิดบังปรมัตถ์หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ นี่ค่ะ คือจุดที่ว่า เวลาที่ฟังธรรม เอาความคิดของตัวเองเข้ามาใส่เสมอ ไม่ลืมเลยมีตัวตนเข้ามาวัด มีตัวตนเข้ามาเทียบ แต่ฟังธรรมไม่ใช่ให้เราคิดว่า เราเคยคิดอย่างไร แต่ฟังธรรมให้เข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง ว่าจริงไหม ขณะที่เข้าใจถูก เป็นความจริง นั่นคือปัญญา ไม่ใช่เราด้วย แต่ไม่ใช่ฟังแล้ว เราทำอย่างนี้ไม่ได้ เราทำอย่างนั้นไม่ได้ เมื่อไรเราจะเป็นอย่างนี้ เกิดดับเร็วมาก แล้วจะรู้ได้อย่างไร นั่นคือไม่ได้เข้าใจธรรมที่กำลังฟัง

    ถ้าเข้าใจธรรมที่กำลังฟัง ไม่มีใครสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงลักษณะของธรรม ซึ่งต้องเป็นอย่างนี้ ไม่เป็นอย่างอื่น ไม่มีใครไปทำให้ธรรมช้าลง ไม่มีใครไปทำให้ธรรมที่ดับแล้วกลับมาอีก ไม่มีใครสามารถที่จะไปทำให้ธรรม ซึ่งเกิดดับสืบต่อ ปรากฎเสมือนไม่ดับ เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นได้ แต่ว่าฟังแล้วเข้าใจ ว่าความจริงเป็นอย่างนี้ และปัญญาขั้นฟังเป็นอย่างนี้ แต่ว่าหนทางที่จะรู้ความจริง ไม่ใช่เพียงขั้นฟัง ถ้าเพียงขั้นฟังดับกิเลสอะไรไม่ได้เลย แค่เข้าใจ แต่ก็ยังเป็นเรานั่นแหละที่เข้าใจ

    แต่พระธรรมที่ทรงแสดงจากการทรงตรัสรู้ ด้วยพระมหากรุณาที่แสดงให้บุคคลอื่น สามารถที่จะรู้หนทาง มรรค ที่เจริญ เพื่อที่จะได้รู้ความจริงของสภาพธรรม จนดับกิเลสได้ มิฉะนั้นพระคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ไม่มีประโยชน์ และไม่มีความหมายเลย เป็นคุณแก่ใคร ถ้าคนนั้นไม่ได้รับประโยชน์ ไม่ได้รับพระคุณ คือ ความเข้าใจ จากที่ได้ทรงแสดงพระธรรม เพราะฉะนั้นฟังธรรม ให้เข้าใจสิ่งที่ฟัง พอแล้ว ไม่ต้องไปทำอะไรเลยทั้งสิ้น ไม่ต้องไปเปลี่ยนแปลงอะไร แต่ค่อยๆ เข้าใจขึ้นๆ

    ผู้ฟัง แล้วเราต้องเชื่อว่า ความเข้าใจนี้จะเป็นสังขารขันธ์ ปรุงแต่งจิตให้เรารู้ความจริงได้ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ค่ะ เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีความเข้าใจเลย ปัญญาจะเจริญได้อย่างไร ความเข้าใจยิ่งขึ้นจะมาจากไหน เมื่อไม่มีเลย เพราะฉะนั้นต้องมีก่อนตามลำดับ คือขั้นฟังต้องมี และก็ไม่ต้องไปรอ ไปค่อย ไปคิด เรื่องหลงลืมสติกับสติเกิด ไม่มีปัจจัยคิดเท่าไร สติก็ไม่เกิด ๑๐ วัน ๑๐ ปี อย่างไรก็ไม่เกิด แต่เวลาที่สติสัมปชัญญะเกิดเมื่อไร เมื่อนั้นก็รู้ว่าไม่มีใครไปสร้าง ไปทำ แต่ว่าเพราะอาศัยการฟังแล้วก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    ด้วยเหตุนี้หนทางเดียว ก็คือปัญญา พุทธะ คือ ปัญญา ความเห็นถูก ความเข้าใจถูก ไม่ใช่หนทางอื่นเลย พอที่จะละความไม่รู้ไปบ้างไหม ในขั้นฟัง ถ้าปัญญาไม่เกิดก็ละอวิชชา หรือความไม่รู้ ไม่ได้

    ผู้ฟัง ก็ละได้ว่า เราก็ได้รู้สิ่งที่ไม่เคยรู้เลย ว่าความจริงคืออะไร

    ท่านอาจารย์ เข้าใจ สิ่งที่ได้ยิน ได้ฟัง นั่นคือปัญญา

    ผู้ฟัง ขอบพระคุณค่ะ

    คุณอุไรวรรณ เชิญคุณประทีปค่ะ

    ผู้ฟัง กราบเรียนท่านอาจารย์ด้วยความเคารพจริงๆ ครับ ตอนที่ผมนั่งอยู่ข้างหลัง ฟังอาจารย์สนทนากับคุณอรวรรณแล้ว ก็สะดุ้ง สะดุ้งน้อยๆ ว่าผมยังข้ามขั้นตั้งเยอะ แล้วท่านอาจารย์ได้กล่าวถึง ในขณะนี้ เห็นเป็นธรรมอย่างไร ได้ยินเป็นธรรมอย่างไร เรื่อยไปจนถึงทางใจ ทางมโนทวารเป็นธรรมอย่างไร ก็รู้สึกว่าข้ามขั้นจริงๆ แม้กระทั่งในขณะนี้เอง ยังไม่รู้ว่าเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้ลิ้มรส ได้กระทบสัมผัส เป็นธรรมจริงๆ อย่างไร และก็มีลักษณะอย่างไร ท่านอาจารย์จะเพิ่มเติมความเข้าใจหรืออธิบายอย่างไรว่า ถ้าหากว่ายังไม่เข้าใจตามลำดับขั้นแล้ว ก็คือฟังต่อไป

    ท่านอาจารย์ ก็คงจะเพิ่มเติมไม่ได้ เพราะเหตุว่ามีกล่าวไว้ทั้งหมดในพระไตรปิฎก และอรรถกถาครบถ้วน ไม่มีวันจบ เพิ่มเท่าไรก็ไม่พอ

    ผู้ฟัง ขอบพระคุณท่านอาจารย์ครับ

    คุณอุไรวรรณ เชิญคุณเด่นพงศ์ค่ะ

    ผู้ฟัง กราบเรียนท่านอาจารย์ครับ คือติดใจคำที่คุณบุษบงว่า ป่านนี้ยังไม่รู้ แล้วยิ่งหนักเข้าไปกว่านั้น ไม่รู้ว่าตัวไม่รู้อะไร แล้วอาจารย์ก็ถามใครก็ไม่ทราบ บอกไม่รู้อะไร รู้อะไร ตอบไม่ได้สักคน แล้วผมมาติดใจคำที่อาจารย์พูดมาสักพัก บอกว่าพวกเรารู้เรื่องธรรม แต่เหมือนกับไม่รู้สภาพธรรม หรือไม่รู้ธรรมจริงๆ ส่วนตัวผมแล้วท่านอาจารย์ครับ มันจริง คำถามที่ท่านอาจารย์ถามแต่ละคำ คิดว่าเรารู้ แต่เรารู้เพียงว่า นั่นมันคืออะไร ชื่ออะไร หมายความว่าอะไร แต่ไม่รู้ ไม่รู้จริงๆ ท่านอาจารย์ แล้วสรุปลงก็คืออวิชชา ผมก็เลยคิดว่า เห็นจะต้องอย่างคุณประทีปถาม อาจารย์จะทำอย่างไรต่อไป ก็คงตอบว่าให้ฟังต่อไปๆ แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม ก็ยังอดถามไม่ได้จริงๆ เลย

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็ต้องฟังว่า ทำกับเข้าใจ ต่างกันหรือเหมือนกัน ตอนนี้คุณเด่นพงษ์ก็เริ่มจะเข้าใจแล้ว ใช่ไหม ว่าอวิชชามากมาย กว่าจะรู้ว่าอวิชชามากแค่นี้ เพราะฟังใช่ไหม

    ผู้ฟัง ครับผม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นถ้าฟังต่อไปอีก ก็รู้มากกว่านี้

    ผู้ฟัง ก็ยิ่งรู้ว่าตัวโง่อีก

    ท่านอาจารย์ ก็รู้มากกว่านี้ เข้าใจมากกว่านี้ เป็นปกติ เป็นธรรมดา จนกว่าปัญญาจะค่อยๆ เข้าใจ นี่สำคัญที่สุด อย่าไปคิดว่าจะเข้าใจอะไรได้มากมาย สิ่งที่กำลังปรากฏทางตานี้ประจักษ์ชัดเลย อย่างนั้นไม่ใช่ จนกว่าจะค่อยๆ เข้าใจ และจะรู้ว่า การที่เราจะใช้คำว่า คลาย ใช้คำนี้ไม่ได้ง่ายๆ เลย เพียงขั้นฟัง ขั้นรู้เรื่องเท่านั้นเอง สติสัมปชัญญะยังไม่เกิด จะไปคลายอะไร แม้แต่ลักษณะที่ต่างกันของขณะที่หลงลืมสติ กับขณะที่สติเกิด ซึ่งเป็นขั้นต้นที่ปัญญาจะรู้จักตัวธรรมจริงๆ ก็ยังไม่เกิด และจะคลายได้อย่างไร นี่เป็นเรื่องที่ฟัง จนกว่าสภาพธรรมใดเกิด ก็รู้ตามความเป็นจริง ซึ่งในขั้นแรกก็คือความต่าง ของขณะที่หลงลืมสติ หมายความถึง สติสัมปชัญญะไม่เกิด กำลังมีสิ่งที่ปรากฏ กำลังได้ยิน ได้ฟัง สติสัมปชัญญะก็ไม่เกิด กับขณะที่สติสัมปชัญญะเกิด ก็จะรู้ความต่างกัน เพราะฉะนั้นปัญญาขั้นต่อไป ก็จะค่อยๆ อบรมไปอีก เป็นหนทางที่ไม่ใช่หนทางผิด ไม่ใช่หนทางของอวิชชา

    คุณอุไรวรรณ เชิญคุณสุกัญญาค่ะ

    ผู้ฟัง กราบท่านอาจารย์ค่ะ อยากจะให้ท่านอาจารย์ช่วยอธิบายว่า ขณะที่สติเกิด กับขณะที่หลงลืมสติ ในความหมายจริงๆ คือ อย่างไร

    ท่านอาจารย์ ค่ะ สติมีหลายระดับขั้น วันหนึ่งถ้าเราไม่คิดเรื่อง การที่จะให้ความสุขกับคนอื่น ให้วัตถุ ให้สิ่งของ ให้วาจา หรือให้อภัย หรืออะไรก็ตามแต่ ถ้าไม่มีขณะนั้น เราก็มีแต่ความต้องการ ซึ่งเป็นโลภะ ตั้งแต่เช้ามา ก็เป็นเรื่องของเราทั้งนั้นเลยที่ต้องการอะไรบ้าง แต่ขณะใดที่เกิดให้ สิ่งที่เป็นประโยชน์กับบุคคลอื่น เป็นเราหรือว่าเป็นกุศลธรรม เป็นกุศลธรรม ทุกครั้งที่กุศลจิตเกิด จะมีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ไม่เห็นลักษณะของสติว่า ขณะนั้นเป็นสติ เช่น ขณะนี้ เห็นไม่ใช่เรา เป็นจิต ก็ยังไม่ได้เห็นว่าจิตกำลังเห็น เพราะว่าไม่ได้รู้ลักษณะของจิต ฉันใด ธรรมทุกอย่างเกิดขึ้นทำกิจการงานตลอด ไม่มีใครเลยสักคน ตั้งแต่เกิดจนตาย โลภะเกิดขึ้นเป็นธรรมอย่างหนึ่ง โทสะเกิดขึ้นเป็นธรรมอย่างหนึ่ง คิดเกิดขึ้นก็เป็นธรรมอย่างหนึ่ง ทุกอย่างเป็นธรรม แต่ละลักษณะ ซึ่งมีอยู่ เกิดอยู่ และก็มีปัจจัยที่จะเกิดเป็นไป ตั้งแต่เกิดจนตายก็ไม่รู้เลย เกิดเป็นเราเกิด ถึงวันหนึ่งก็เป็นเราตาย โดยที่ไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วก็เป็นธรรมทั้งนั้น

    เพราะฉะนั้นสติขั้นนี้ มี ในขณะที่ฟังธรรมเข้าใจ ถ้าไม่มีสติ ไม่เป็นกุศล ความเข้าใจไม่มี ในขณะที่ฟัง แต่เวลาที่กล่าวถึงคำว่า สติเกิดกับหลงลืมสติ หมายถึงขั้นสติปัฏฐาน หมายถึง ขั้น ไม่ใช่เพียงปริยัติ แต่เป็นปฏิปัตติ คือ ถึงเฉพาะลักษณะที่มีจริง ที่กำลังกล่าวถึง เพื่อรู้ความเป็นสภาพธรรมนั้นๆ ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้นเวลาที่พูดถึงสติ เราก็มักจะหมายความถึงสติปัฏฐานซึ่งเป็นสติสัมปชัญญะ ซึ่งกำลังรู้ลักษณะของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฎ เพราะเหตุว่าพอพูดถึงทาน เราก็ไม่ได้กล่าวถึงสติ ลักษณะของสติไม่ได้ปรากฏ พูดถึง ศีล เราก็ไม่ต้องกล่าวถึงลักษณะของสติ แม้ว่าขณะนั้นก็มีสติเกิดร่วมด้วย ทำกิจการงานทุกขณะที่โสภณจิตเกิดขึ้น เราก็ไม่ได้กล่าวถึง แต่เวลาใช้คำว่า สติเกิดกับหลงลืมสติ หมายความว่า สติเกิดเป็นสติปัฏฐานจึงรู้ว่าลักษณะนั้นไม่ใช่เรา แต่เป็นสภาพที่เป็นหน้าที่ เป็นลักษณะของสตินั่นเองที่เกิดขึ้น จึงรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฎขณะนี้

    ขณะนี้จิตเห็น รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏหรือเปล่าทางตา เพียงเห็น แต่เห็นแล้ว เวลาที่ฟังธรรมมีความเข้าใจเกิดขึ้น ขณะนั้นมีสติขั้นเข้าใจ ทั้งๆ ที่มีสติ ก็ไม่รู้ว่าเป็นสติ ในขณะที่ฟังต้องมีสติเกิดร่วมด้วย จึงเข้าใจ

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์คะ อย่างนั้นขณะที่สติเกิด จะต้องมีลักษณะสภาพธรรมของสติ ให้มี แบบว่าปัญญารู้ลักษณะของสติที่เกิดด้วย ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ขณะที่สติเกิด ที่เป็นสติสัมปชัญญะ ก็ขอเน้นอีกครั้งหนึ่ง ว่าเวลาที่กล่าวถึงคำว่าสติเกิด กับหลงลืมสติ หมายความถึง สติระดับสติสัมปชัญญะ ซึ่งเป็นสติปัฏฐาน เวลาใช้คำว่า สติปัฏฐาน หมายความว่า มีความเข้าใจถูก ในสภาพธรรม แล้วก็รู้ว่าขณะนี้ เป็นลักษณะของธรรม เพียงเรื่องราวที่เข้าใจ จนกว่าจะมีการรู้ลักษณะ ตรงลักษณะนั้น คุณสุกัญญาขณะนี้ มีแข็งปรากฏตรงไหนบ้างไหม

    ผู้ฟัง ขณะนี้ไม่รู้สึก

    ท่านอาจารย์ พอถามอย่างนี้ยังไม่มีแข็งปรากฏเลยหรือ

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ มีอะไรปรากฏ

    ผู้ฟัง มีแต่ความไม่รู้

    ท่านอาจารย์ มีใครบ้างขณะนี้ที่ไม่รู้แข็ง

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วขณะนี้เป็นปกติ แต่ว่าขณะที่ท่านอาจารย์ถามปุ๊บ ว่า ขณะนี้มีแข็งปรากฏหรือเปล่า สุต้องกลับมาคิดก่อน ว่าแข็งปรากฏไหม แล้วทุกครั้งก็จะตอบท่านอาจารย์ว่า แข็งปรากฏ เพราะว่าเราคิดแล้ว แต่พอท่านอาจารย์ถามปุ๊บ สิ่งที่รู้สึกจริงๆ ในขณะนั้น จริงๆ เลย ก็คือไม่มีแข็งปรากฏเลย แล้วก็เข้าใจด้วยว่าสิ่งนี้ คือความไม่รู้ของเราเอง คือมีความไม่รู้อยู่เต็มๆ

    ท่านอาจารย์ ถ้าอย่างนั้นขอเปลี่ยนคำถาม ไมโครโฟน แข็งไหม

    ผู้ฟัง แข็ง

    ท่านอาจารย์ เห็นไหม คุณสุกัญญากำลังจับไมโครโฟน ที่จะบอกว่าไม่มีแข็งปรากฏ ขณะเห็น แข็งไม่ปรากฏ ขณะกำลังคิดเรื่องราวต่างๆ แข็งไม่ปรากฏ แต่ถ้าถามว่ามีแข็งปรากฏไหม ตามปกติธรรมดา ถ้าไม่ได้ฟังเรื่องธรรมเลย ก็สงสัยว่าถามอะไร แข็งปรากฏไหม ใช่ไหม ถ้าถามว่าไมโครโฟนแข็งไหม นี่ตอบได้ แต่ถ้าถามว่าขณะนี้มีแข็งปรากฏไหม งง ใช่ไหม ว่าแข็งปรากฎหรือเปล่า

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่าการฟังธรรมต้องละเอียด ต้องเป็นผู้ที่เข้าใจว่า ชีวิตตามปกติเป็นธรรมทั้งหมด ไม่ว่าจะเคยได้ยิน ได้ฟัง ธรรมหรือไม่เคยได้ยิน ได้ฟังธรรม ก็เปลี่ยนความเป็นจริงที่มีจริง ในชีวิตประจำวันไม่ได้ เหมือนถามว่าขณะนี้เห็นไหม

    ผู้ฟัง เห็น

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้แข็งไหม

    ผู้ฟัง ไมโครโฟนแข็ง

    ท่านอาจารย์ ถ้าตรงอื่น ที่ไม่ใช่ไมโครโฟน แข็งไหม มีแข็งไหม ตรงอื่น

    ผู้ฟัง ที่ข้อศอก

    ท่านอาจารย์ ตอบได้หมดเลยตามปกติ ตามธรรมดา แต่ไม่รู้ว่าขณะนั้น เป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง เพราะหลงลืมสติ และคนที่ไม่ได้ฟังธรรมเลย ถามเขา เขาตอบได้ว่าแข็ง เขามีสติหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ก็หลงลืมสติเหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นไม่ได้หมายความว่า ใครที่ตอบได้ แล้วจะรู้ว่าเป็นธรรม แต่ฟังธรรม แล้วเริ่มเข้าใจว่าสิ่งที่มีจริงนั่นแหละ เป็นธรรมทั้งหมดเลย แต่ไม่เคยรู้ว่าเป็นธรรม เคยเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดตลอดเวลา ตั้งแต่เกิดมา ไม่ได้รู้ความจริงว่าลักษณะจริงๆ เป็นธรรมแต่ละลักษณะเท่านั้น เพราะฉะนั้นการที่จะรู้ความจริงก็คือว่า รู้ว่าสิ่งที่มีจริงนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตน และไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดเลยทั้งสิ้น ปรากฎเมื่อเกิดขึ้น ถ้าไม่เกิดจะปรากฏไม่ได้เลยทุกอย่าง แต่ไม่ประจักษ์การเกิด และการดับ เพราะฉะนั้นจึงต้องฟัง จนกว่าจะรู้ว่าเป็นธรรม ซึ่งเคยเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดมาโดยตลอด จริงๆ แล้ว ไม่เป็นอะไรเลยทั้งสิ้น นอกจากเป็นธรรม

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์คะ อย่างนั้นเราก็เข้าใจผิดตลอดเวลา ว่าสติเกิด อย่างเช่น เราเห็น ถ้าไม่ได้คิดว่าเห็น เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน ก็คิดว่า เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็ยังไม่ใช่สติ ที่จะระลึกถึงสภาพสิ่งที่ปรากฎ

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นนึก นึกไปเรื่อยๆ จำไปเรื่อยๆ ฟังมาเรื่อยๆ

    ผู้ฟัง อย่างนั้นถ้าท่านอาจารย์ถาม ก็ต้องบอกว่าหลงลืมสติอยู่ตลอดเวลา

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นคนที่สติสัมปชัญญะเกิด จะรู้ว่าขณะนั้น เฉพาะขณะนั้น สติสัมปชัญญะเกิด และขณะอื่นที่สติสัมปชัญญะไม่เกิด ก็รู้ว่าขณะนั้นสติสัมปชัญญะไม่ได้เกิด หลงลืมสติ ใครจะบอกแทนได้ไหม

    ผู้ฟัง แต่อย่างไรก็ตาม ลักษณะสภาพธรรมของสติ ก็จะต้องเกิด ขณะที่กุศลจิตเกิด ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง เช่นเดียวกันกับขณะของอกุศล ก็ต้องมีอวิชชาอยู่ด้วย

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง แต่เราไม่รู้

    ท่านอาจารย์ ค่ะ กำลังฟัง กำลังอ่าน กำลังคิด กำลังไตร่ตรอง แต่ยังไม่ถึงรู้ลักษณะที่เป็นธรรม ตรงตามที่ทรงแสดงทุกอย่าง แล้วแสดงความเข้าใจตามลำดับด้วยว่า ถ้าไม่มีการฟังเลย การที่จะประจักษ์แจ้งสภาพธรรมนั้น ว่าเป็นจริงอย่างนั้น ก็เป็นไปไม่ได้เลย ด้วยเหตุนี้จึงเป็นจิรกาลภาวนา กว่าจะเข้าใจสิ่งที่มี และกว่าสติสัมปชัญญะจะเกิด เมื่อเกิดแล้วกว่าปัญญาจะค่อยๆ รู้ จนกว่าจะค่อยๆ คลายความไม่รู้ แม้แต่การที่ว่าจะคลายความไม่รู้ ก็นึกไม่ถึง พูดไม่ได้ ลักษณะนั้นเป็นอย่างไร แต่ให้รู้ว่า แม้ขณะนี้ อกุศลก็เกิดอย่างรวดเร็ว โดยไม่รู้เลย มากมายมหาศาล แสดงถึงความละเอียดของแต่ละขณะ ซึ่งเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย

    เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นความรู้ ก็รู้สิ่งที่ไม่รู้นี่แหละ แต่ค่อยๆ รู้ ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ เข้าใจ ค่อยๆ ถึงลักษณะโดยสติเกิดขึ้น ปฏิปัตติ กำลังมีลักษณะที่กำลังปรากฏ และปัญญาก็ค่อยๆ เห็นถูก ในลักษณะสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน

    คุณอุไรวรรณ เชิญคุณประทีปค่ะ

    ผู้ฟัง กราบเรียนท่านอาจารย์ครับ ผมฟังท่านอาจารย์สอบถามคุณสุกัญญาแล้ว ความเข้าใจในขั้นการฟังพอเข้าใจบ้าง ท่านอาจารย์ถามว่า ขณะนี้คุณสุกัญญามีแข็งไหม ทันทีเลย ผมก็รู้สึกว่าขณะนี้ ผมก็มีแข็งที่กำลังปรากฏ แต่ว่าที่รู้อย่างนั้น เป็นขั้นคิดนึกจริงอย่างที่ท่านอาจารย์กล่าว เพราะว่าในขณะที่แข็งปรากฏ มีแต่ลักษณะแล้วก็ไม่มีชื่อจริงๆ ก็เป็นขั้นคิดอีก แล้วเราก็เรียกชื่อลักษณะอันนั้นว่า นี่คือแข็งที่กำลังปรากฏ ท่านอาจารย์ก็ต้องพูดว่า การที่จะรู้ลักษณะของธรรมนั้น ต้องรู้ทีละหนึ่งขณะ ขณะนั้นก็หลงลืมสติอีก ก็เรียนถามว่า ในขณะที่จะรู้ตรงลักษณะของแข็งที่ปรากฏ ในขณะนั้นก็จะต้องไม่มีชื่อ มีแต่ลักษณะหรือ

    ท่านอาจารย์ คงไม่ต้องถามใครกระมังคะ เห็น แล้วไม่ได้คิด ยังมีเห็นไหม

    ผู้ฟัง มีครับ

    ท่านอาจารย์ ต้องถามใครหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ถาม แต่ว่าโดยตาม เหมือนกับว่าโดยตามความเป็นจริงแล้ว เห็นปุ๊บเป็นชื่อทันทีเลย

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่คะ ไม่ใช่

    ผู้ฟัง แล้วเป็นอย่างไร ถ้าไม่ใช่เป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ คุณประทีปจะคิดถึงชื่ออะไร

    ผู้ฟัง ชื่อท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ เห็นไหม ยังต้องคิดเลยว่าจะเอาชื่อไหน

    ผู้ฟัง แล้วจะรู้โดยไม่คิดละครับ

    ท่านอาจารย์ ก็เห็นไงคะ เห็น

    ผู้ฟัง จนกว่าลักษณะนี้จะปรากฏ และลักษณะนี้ที่ปรากฎ

    ท่านอาจารย์ แค่เห็น ก็รู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร โดยไม่ต้องมีชื่อ ความรวดเร็วของการจำรูปร่างสัณฐาน แต่ไม่ใช่ปัญญา ไม่ใช้สติสัมปชัญญะ เป็นปกติของชีวิต ซึ่งเป็นอวิชชาไม่รู้ความจริงของสภาพธรรม เพราะฉะนั้นก็ต้องฟัง ทางเดียวคือฟังเข้าใจ แล้วก็เป็นเรื่องเฉพาะตัวจริงๆ ว่ามีความเข้าใจเพิ่มขึ้นระดับไหน แต่ข้อสำคัญที่ไม่ควรจะลืมก็คือว่า ฟังธรรม อย่าเอาความเห็นของเรา เข้ามาปน มิฉะนั้นเราก็จะไม่มีโอกาสที่จะเข้าใจ สิ่งที่กำลังได้ยิน ได้ฟัง เพราะเราไปคิดว่า เราเข้าใจอย่างนั้น

    คุณอุไรวรรณ เชิญคุณศุภักษรค่ะ

    ผู้ฟัง กราบพระอาจารย์สุจินต์ค่ะ เมื่อสักครู่ คุณสุกัญญา ที่ท่านอาจารย์เรียนถามว่า ขณะนี้มีอะไรปรากฏ ซึ่งคุณสุกัญญาก็บอกว่า ไม่รู้ว่าอะไรปรากฏ ซึ่งจริงๆ คำถามอันนี้ท่านอาจารย์เคยถามดิฉัน แล้วดิฉันก็จะตอบเหมือนคุณสุกัญญาเลยว่า ไม่รู้ มันเหมือนมันงง ว่าทั้งๆ ที่จริงขณะนั้น เหมือนขณะนี้ที่กำลังสนทนากับท่านอาจารย์ ก็ทราบว่าก็มีสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นปกติ แต่พอเริ่มถามปุ๊บ ก็เริ่มงงว่า ตกลงอะไรมันปรากฏกันแน่นะ แต่พอเริ่มค่อยๆ ฟังมากขึ้น ก็พอจะเข้าใจขึ้นมาอีกนิดหนึ่ง ว่าจริงๆ แล้วน่าจะเป็นเพราะความไม่รู้

    ท่านอาจารย์ ค่ะ เพราะฉะนั้นถ้ามีใครขอให้ช่วยบอกว่า อวิชชาคืออะไร เมื่อไร อันนี้ก็บอกแล้วใช่ไหม แต่ละคนก็อธิบายอวิชชาของตัวเอง เพราะฉะนั้นก็เริ่มจากการรู้ว่า ไม่รู้ว่าอะไรปรากฏ นี่คือธรรมแล้ว แม้กำลังปรากฏ ก็ไม่รู้ว่าอะไรปรากฏ อวิชชาทั้งนั้นเลย

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์กล่าวเหมือนที่จะให้เราค่อยๆ เข้าใจใช่ไหม ว่าอวิชชาเป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ให้รู้ว่า แม้มีสิ่งปรากฏ ก็ไม่รู้ว่าปรากฏ มีอะไรปรากฏก็ไม่รู้ นี่คืออวิชชา มากมายแค่ไหน จนกว่าจะฟัง ทางตา สิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ เป็นสิ่งที่มีจริง เริ่มรู้แล้วว่าอะไรปรากฏ ซึ่งแต่ก่อนนี้ ไม่เคยรู้ว่าอะไรปรากฏ ถ้าจะเปรียบเทียบอวิชชา ยิ่งกว่าทุกจักรวาลรวมกัน ถ้าเป็น รูป (๑) ทำไมไม่รู้สักที ถ้าศึกษาแล้วจะยิ่งเข้าใจถูกต้องขึ้น ว่าการรู้จริงๆ นั้นคืออย่างไร เพราะว่าขณะนี้ เริ่มที่จะเข้าใจไหม ว่าเราอยู่ในโลกของนิมิต แม้ว่าตัวจริงของสภาพธรรมมี แต่เกิดดับเร็วจนไม่ปรากฏ และยังมีทำให้เป็นรูปร่างสัณฐานที่จะจำ และยึดถืออย่างมั่นคงว่าเที่ยงอีก

    ถ้าไม่มีการฟังพระธรรมเลย ไม่มีโอกาสจะตื่น จากสังสารวัฏฏ์เลย ไม่มีทางออกด้วย บางคนอาจจะคิดว่า การศึกษาปริยัติก็คือศึกษาชื่อ และเรื่องราว แต่นั้นไม่ถูกต้องเลย เพราะว่าการศึกษาธรรมที่ถูกต้อง นำไปสู่ปฏิปัตติ คือ การที่สติสัมปชัญญะจะเกิด และก็รู้ตรงลักษณะที่มีจริงๆ จากที่ได้ศึกษา และค่อยๆ เข้าใจขึ้น จนถึงปฏิเวธ นั่นจึงจะเป็นปริยัติ แต่ถ้าเราเรียนแบบจำนวน แบบเรื่อง แล้วก็ไม่รู้ว่าขณะนี้ อวิชชาเป็นอย่างไร เมื่อไร ก็ไม่มีทางที่จะรู้จักสภาพธรรมได้

    ผู้ฟัง เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ได้สนทนากับท่านอาจารย์ถึงคำว่า อินทรีย์ สักกายทิฏฐิ ซึ่งโดยส่วนตัวก็จะค่อยๆ เข้าใจถึงความหมายของคำสองคำได้ลึกซึ้งมากขึ้น เหมือนกับว่าถ้าถูกถามในตอนนี้ก็จะเริ่มค่อยๆ เข้าใจแล้วว่า หมายความว่าอะไร แต่ตรงนั้นก็ไม่ได้ช่วย คือจริงๆ จะว่าไปไม่ช่วยให้เราเข้าใจ ก็ไม่ใช่ทีเดียว มันก็ช่วยทำให้เราเข้าใจบ้าง

    ท่านอาจารย์ รู้ขั้นปริยัติ รู้ว่าขั้นฟังเรื่องราว แต่ถ้าตราบใดที่สติสัมปชัญญะไม่เกิด ไม่มีทางรู้จักธรรม รู้จักตัวจริงของธรรม

    ผู้ฟัง ปริยัติตรงนี้ แล้วมันจะมีประโยชน์อะไร

    ท่านอาจารย์ มีประโยชน์ที่เราจะไม่เห็นผิด เราจะไม่คิดเอง และเราจะเข้าใจว่าความจริงแท้เป็นอย่างไร และปัญญาขั้นฟัง ยังไม่สามารถที่จะรู้แจ้งความจริงนั้นได้ ต้องมีการอบรมต่อไปอีก จึงสามารถที่จะรู้แจ้งได้จริงๆ และสภาพธรรมที่ปรากฏตรงกับที่เรียน ที่ได้เข้าใจในขั้นต้นทุกอย่าง เพราะฉะนั้นจะไม่เป็นผู้ที่ข้ามขั้น แม้แต่คำว่า ธรรม ขณะนี้สิ่งที่ปรากฏเป็นธรรม ก็ยังเพียงแต่ฟังอยู่ จนกว่าสติสัมปชัญญะเกิดเมื่อไร ลักษณะนั้นแหละเป็นธรรม เริ่มชินกับลักษณะที่เป็นธรรมแต่ละลักษณะ

    คุณอุไรวรรณ คงจะรู้ว่าทุกคนมีอวิชชาอีกมากมาย เชิญถามค่ะ ชื่ออะไรคะ

    ผู้ฟัง ดิฉันชื่อนางอุไรวรรณค่ะ จะขอกราบเรียนว่า ถ้าอธิบายอยู่แบบนี้ ดิฉันก็คงจะไม่เข้าใจ อันนี้ก็เวลาเห็นภาพอะไร หรืออ่านหนังสือ เอาขณะที่อาจารย์อธิบาย รู้แล้ว เวลาเดินไปอะไร มันจะลืม เขาเรียกลืมอะไร ลืมนึกถึงสภาพธรรม ใช่ไหม ทั้งนี้ดิฉันจะขอยกตัวอย่างจริงๆ แล้วก็ขอให้อธิบายว่า เมื่อเห็นอย่างนี้ นึกอะไร ดิฉันจะได้นึกได้ถูก จะได้เข้าใจสักที ยกตัวอย่างว่าอย่างดิฉันกำลังนั่งดูทีวี แล้วเดี๋ยวก็หิวขนม กำลังจะเดินไปกินขนม ขณะที่นั่งดูทีวี ควรจะนึกว่าอะไร

    ท่านอาจารย์ ขอเชิญคุณธิดารัตน์ค่ะ

    อ.ธิดารัตน์ อย่างถ้าจะให้เข้าใจ ก็คืออะไรที่มีจริงในขณะที่ดูทีวี ดูทีวี เห็น มีจริงไหม แล้วก็สิ่งที่ปรากฏไม่ว่าจะเป็นการดูทีวี หรือว่าเราเห็นในปัจจุบัน สิ่งที่มีจริงๆ ก็คือการเห็นกับสิ่งที่ปรากฏ โดยไม่ใช้ชื่อ ไม่ใช้คำอะไรเลยก็ได้ แต่มีลักษณะที่รู้ สิ่งที่ปรากฏกับมีสิ่งที่ปรากฏ ตรงนี้คือธรรมที่มีจริงๆ

    ผู้ฟัง แล้วเราควรจะนึกอะไรมากกว่านั้นไหมในเรื่องนั้น

    อ.ธิดารัตน์ ก็ดูทีวีมีเสียงไหม ก็จะมีทั้งการเห็น การรู้เสียง แล้วก็ยังมีจิตที่คิดด้วย ถ้าไม่มีจิตที่คิด เราจะคิดไม่ได้เลย ว่าเรื่องในทีวีเป็นเรื่องอะไร จากนั้นก็มีความพอใจ ไม่พอใจต่างๆ เป็นไปตามเรื่องราว ก็คือเป็นธรรมทั้งหมด ที่เกิดดับสลับกัน

    ผู้ฟัง ก็ให้นึกแค่นั้นใช่ไหม เรื่องของทีวี

    อ.ธิดารัตน์ ไม่ใช่มีตัวเราที่จะบังคับให้นึก แล้วแต่จะระลึกได้ อาจจะลึกถึงการเห็นหรือว่าระลึกถึงสภาพรู้ ค่อยๆ เข้าใจว่าทุกอย่างเป็นธรรม แล้วก็สิ่งอะไรที่มีจริง สภาพที่เราคิดอย่างนี้มีจริงๆ สภาพเห็นมีจริงๆ สภาพได้ยินมีจริงๆ แล้วก็สิ่งที่ปรากฏไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหูมีจริงๆ ค่อยๆ ทำความเข้าใจอย่างนี้ก่อน

    ผู้ฟัง พอดูทีวีแล้ว เราหิวขนม เดียวเราจะลุกไปหยิบขนม ก็ให้นึกว่าอะไร

    ท่านอาจารย์ ขอประทานโทษ รู้สึกว่าจะเคยฟังว่าให้นึกๆ อยู่มาเรื่อยๆ หรืออย่างไร ทิ้งไปเลยเรื่องที่จะให้นึก ไม่มีใครไปบังคับให้นึกได้

    ผู้ฟัง แล้วให้อะไรล่ะคะ

    ท่านอาจารย์ ให้ฟัง ให้เข้าใจขึ้น

    คุณอุไรวรรณ ท่านอาจารย์ค่ะ ขั้นความเข้าใจ ควรจะรู้ว่า อะไรควรจะละก่อน ระหว่างอวิชชากับทิฏฐิ ช่วยอธิบายด้วยค่ะ อวิชชากับทิฏฐิ ควรจะละอะไรก่อน

    ท่านอาจารย์ ทิฏฐิค่ะ

    คุณอุไรวรรณ คุณโชติกาคะ สอบถามปัญหา เชิญเลยค่ะ

    ผู้ฟัง กราบเรียนถามท่านอาจารย์ที่เคารพนะคะ หนูได้ฟังธรรมทางวิทยุเป็นส่วนใหญ่ ก็มีความติดใจในวันนี้ที่มาฟัง เรื่องอวิชชา อวิชชานี่คือ อกุศล เกี่ยวกับบาปด้วยใช่ไหม ถ้าเกี่ยวข้องกันนี่ การที่เราพยายามที่จะทำอะไรที่ไม่ให้เป็นอวิชชา ซึ่งบางครั้งมันเกิดขึ้นโดยอารมณ์ หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่เราก็พยายามที่จะข่ม ไม่ให้อวิชชานั้นเกิดขึ้นเพราะเราเข้าใจว่า อวิชชานั้นเป็นบาป ในการที่เราข่มอวิชชาไม่ให้เกิดขึ้น หนูอยากทราบว่า มันเป็นบาปไหม

    ท่านอาจารย์ คุณกุลวิไล ช่วยกรุณาตอบด้วยค่ะ

    อ.กุลวิไล ก่อนอื่นต้องทราบว่า บาปคืออะไร ถ้าพูดถึงบาป อาจจะคุ้นมาก เพราะว่าเราชาวพุทธ อาจจะคุ้นเคยกับคำว่า บาปกับบุญ แต่โดยสภาพธรรมแล้ว บาปคืออกุศลธรรม หลายท่านคงไม่ชอบธรรมที่เป็นฝ่ายอกุศลแน่นอน แต่อย่างไรก็ตาม อกุศลธรรมนี้ เกิดขึ้นเพราะต้องมีปัจจัยแน่นอน ซึ่งเราก็ได้สนทนากันมาถึงอวิชชาด้วย ซึ่งเป็นความไม่รู้ เราไม่รู้สภาพธรรมที่เป็นจริง จึงเป็นปัจจัยให้อกุศลธรรมเกิดขึ้น และเมื่ออกุศลธรรมเกิดขึ้นแน่นอนต้องมีความไม่รู้ ไม่รู้ในอะไร ไม่รู้ในสภาพธรรมที่ปรากฎตามความเป็นจริง ฉะนั้นตั้งแต่ต้นชั่วโมงที่เราสนทนากันมาถึงสิ่งที่มีจริง ที่เป็นธรรม ก็คือขณะนี้เอง ซึ่งก็ไม่พ้นสิ่งที่ปรากฎทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งไม่ทราบว่าได้ตอบคำถามของผู้ถามหรือเปล่า แต่ถ้ายังไม่ตอบ ก็ขอให้เรียนถามอีกครั้ง

    ผู้ฟัง คำตอบนี้ชัดเจนค่ะ แต่หนูอยากทราบว่า อวิชชา เกิดขึ้นทุกขณะๆ ที่เราเห็นหรือว่าถ้าเราคิดไปก่อนเป็น อวิชชา หรือเปล่า

    อ.กุลวิไล ก่อนอื่นต้องทราบว่า อวิชชา คืออะไรด้วย เพราะว่าอวิชชาก็คืออกุศลธรรม เพราะธรรมที่เป็นฝ่ายอกุศลธรรม มี มีมากด้วย แต่หนึ่งในธรรมที่เป็นฝ่ายอกุศลธรรม ก็คือ อวิชชา หรือสภาพธรรมที่เราเรียกว่า โมหะ โมหเจตสิก ก็คือ อวิชชา อวิชชาจะไม่รู้ ในสภาพธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นจริงในขณะนี้ก็คือ ไม่รู้ว่าธรรมที่ปรากฎอยู่ในขณะนี้ ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เพราะว่าเรามีความเห็นผิดมามาก ก็ยังยึดถือสิ่งที่ปรากฎทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ว่าเที่ยง เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน นี่คือ ความไม่รู้นั่นเอง

    ซึ่งถ้าอ่านในมหาสติปัฏฐานสูตร ท่านจะกล่าวถึงการเห็นพยับแดด ซึ่งพยับแดดก็คือ เงาที่เหมือนกับมีน้ำอยู่ข้างหน้า แต่เราคิดว่าข้างหน้ามีบ่อน้ำหรือว่ามีน้ำอยู่ แต่พอเดินไปหาที่ตรงพยับแดดที่เห็นนั้นไม่ปรากฎ นั่นก็คือความไม่รู้ คืออวิชชานั่นเองที่ปิดบังสภาพธรรมที่เป็นจริง เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่รู้ความจริง เราก็มองเห็นว่า มีสัตว์ บุคคล ตัวตนมากมาย แต่จริงๆ เป็นธรรมแต่ละอย่าง แล้วเกิดขึ้นเพราะว่ามีปัจจัยด้วย ถ้าไม่มีปัจจัย สิ่งเหล่านี้ไม่มีแน่นอน เรามีตา จึงมีการเห็น แล้วเมื่อเห็นแล้วถ้าเราไม่รู้ความจริงว่าเป็นแต่ธรรม เป็นสิ่งที่ปรากฎได้ทางตา เราก็จะยึดถือสิ่งนี้ว่าเที่ยง เป็นตัวตนนั่นเอง แล้วเราก็จะมีความรักบ้าง ชังบ้าง ในสิ่งที่ปรากฎทางตา เสียงที่ปรากฎทางหู เพราะว่าทุกคนคงชอบในอารมณ์ที่ดี ชอบเห็นสิ่งที่ดี ชอบได้ยินสิ่งที่ดี แต่สภาพธรรมเหล่านี้ มีปัจจัยให้เกิดขึ้นแน่นอน แล้วไม่อยู่ในบังคับบัญชาของใครด้วย


    (๑) “ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ขึ้นชื่อว่ากิเลสทั้งหลาย ย่อมเป็นสภาพหยาบ ถ้ากิเลสเหล่านี้ มีรูปร่าง อันใครๆ พึงสามารถจะเก็บไว้ในที่บางแห่ง ได้ไซร้ จักรวาลก็แคบเกินไป พรหมโลกก็ต่ำเกินไป โอกาสของกิเลสเหล่านั้น ไม่พึงมี (ให้บรรจุ) เลย”

    (พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท)



    หมายเลข 105
    28 ก.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ