อวิชชาสูตร แผ่นที่ ๒ ตอนที่ ๑
อ.กุลวิไล เรามีตา จึงมีการเห็น เมื่อเห็นแล้ว ถ้าเราไม่รู้ความจริงว่าเป็นแต่ธรรม เป็นสิ่งที่ปรากฏได้ทางตา เราก็ยึดถือสิ่งนี้ว่า เที่ยง เป็นตัวตนนั่นเอง แล้วเราก็จะมีความรักบ้าง ชังบ้าง ในสิ่งที่ปรากฏทางตา เสียงที่ปรากฏทางหู เพราะว่าทุกคนคงชอบในอารมณ์ที่ดี ชอบเห็นสิ่งที่ดี ชอบได้ยินสิ่งที่ดี แต่สภาพธรรมเหล่านี้นั้น มีปัจจัยให้เกิดขึ้นแน่นอน แล้วก็ไม่ใช่อยู่ในบังคับบัญชาของใครด้วย
เพราะฉะนั้น ถ้าเราติดข้องในสิ่งหนึ่งสิ่งใด แล้วไม่ได้สิ่งนั้น ความทุกข์ใจย่อมมีแน่นอน และทุกข์ใจที่เกิดขึ้น ก็เพราะว่ามีอวิชชาเป็นมูลนั่นเอง มีความไม่รู้ในสภาพธรรม ที่ปรากฏตามความเป็นจริง แล้วเป็นปัจจัยให้มีการรักบ้าง ชังบ้าง ก็เพราะว่าความไม่รู้ ฉะนั้นถ้าพูดถึงอวิชชาแล้ว ก็ไม่ใช่ขณะใดเอง ขณะที่อกุศลจิตเกิดขึ้น หรือท่านใช้คำว่าบาป ก็คือ อกุศลจิตที่เกิดขึ้นนั่นเอง เพราะว่ามีอกุศลธรรมแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่รู้เห็นตามความเป็นจริงในขณะนี้ แน่นอนว่ามี ภวอวิชชา
แต่กุศลก็ยังเป็นธรรมฝ่ายดี ที่เป็นบุญก็มีหลายขั้น ขั้นทานก็มี ขั้นศีลก็มี หรือแม้แต่ขั้นการอบรมปัญญา ที่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ขณะที่กุศลจิตเกิด มีการแบ่งปันทรัพย์สิน หรือว่าให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นได้ ขณะนั้นก็เป็นกุศล หรือแม้แต่ขณะที่เรางดเว้นทุจริตทางกาย ทางวาจา ก็เป็นกุศล ก็เป็นบุญ ขณะนั้นก็ไม่มีอวิชชา หรือแม้แต่ขณะที่เมตตาจิตเกิดขึ้น เห็นบุคคลอื่นแล้ว ไม่เป็นปัจจัยให้เราเกิดโลภะ โทสะ กุศลจิตเกิดได้ ขณะนั้นก็เป็นบุญ แล้วก็เป็นกุศลด้วย และก็ไม่มีอวิชชา แต่ขณะใดที่ไม่รู้ความจริงนั่นเอง แล้วเป็นไปกับอกุศลธรรมทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งมีปัจจัยให้เกิดได้ แน่นอนขณะนั้นเพราะอวิชชา เพราะฉะนั้นอวิชชาจึงเป็นหัวหน้า พระสูตรนี้ เป็นหัวหน้าของอกุศลธรรมทั้งปวงเลย เพราะว่าอกุศลจิตทั้ง ๑๒ ประเภทนั้น มีอวิชชาเกิดร่วมด้วย
ผู้ฟัง ขอบพระคุณค่ะ
คุณอุไรวรรณ เชิญคุณบุษกรค่ะ
ผู้ฟัง ขอกราบเรียนถามท่านอาจารย์ อย่างท่านอาจารย์ถามว่า แข็งรู้ไหม แต่ที่รู้ว่าแข็งกระทบ รู้ขณะหนึ่ง แล้วก็ชัดมาก แล้วก็รู้ไปต่อเนื่องๆ อย่างนี้ ถูกต้องหรือไม่
ท่านอาจารย์ ถ้าถามว่าถูกต้องไหม ก็เลิกหมดเลย นี่เข้าใจว่าชัดหรืออะไร
ผู้ฟัง ที่ถูกต้องก็คือ รู้ ต้องรู้แบบไม่
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ต้องอย่างนั้น ต้องอย่างนี้ ฟังให้เข้าใจ ถ้าเข้าใจแล้วจะถามอะไรไหม ในเมื่อเข้าใจแล้ว เพราะไม่เข้าใจต่างหาก และเพราะกำลังทำ และเพราะกำลังคิดด้วย ว่าชัดเจนหรืออะไรอย่างนั้น แต่ถ้าถามก็คือว่าไม่เข้าใจ
ผู้ฟัง คือให้รู้ว่าแข็งเท่านั้นเองก็พอ
ท่านอาจารย์ นี่คือมีบทเรียนมาให้ทำอย่างนี้ ให้บอกอย่างนั้น แล้วก็จะทำอย่างโน้น ก็คือไม่ใช่เรื่องทำ ไม่ใช่เรื่องให้ เรื่องเข้าใจ ฟังแล้วเข้าใจขึ้น ว่ากำลังพูดถึงอะไร เดี๋ยวนี้
ผู้ฟัง กำลังพูดถึงเรื่องสิ่งที่ปรากฏ
ท่านอาจารย์ สิ่งที่มีจริงๆ แล้วเข้าใจสิ่งนี้หรือยัง
ผู้ฟัง จะว่าเข้าใจ ก็ไม่เข้าใจ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นฟังให้เข้าใจขึ้น บอกให้ไปทำอะไรหรือเปล่า หรือบอกให้คิดอย่างนั้น อย่างนี้ หรือเปล่า
ผู้ฟัง เปล่า
ท่านอาจารย์ เพราะว่าถ้าคิดจะไปทำก็คือไม่รู้ ก็ยังคงต้องถามอยู่เรื่อยๆ แต่ถ้าฟังแล้วค่อยๆ เข้าใจขึ้น ก็เป็นปัญญาของตัวเอง ที่ค่อยๆ เข้าใจ
ผู้ฟัง คือบางครั้งเหมือนกับว่า อยากจะรู้ แต่ไม่รู้อะไรเลย
ท่านอาจารย์ แล้วทำอย่างนั้น ถูกต้องหรือเปล่า อยากจะรู้ แล้วไม่รู้
ผู้ฟัง ไม่ถูกต้องเลย
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นต้องไม่ทำอย่างนั้นอีก จึงจะถูกต้อง ใช่ไหม กำลังฟังอะไร นี่คือ คำถาม
ผู้ฟัง แล้วก็เข้าใจอะไร
ท่านอาจารย์ ไม่ได้ กำลังฟังอะไร เข้าใจในสิ่งที่กำลังฟัง
ผู้ฟัง กราบขอบพระคุณมากค่ะ
คุณอุไรวรรณ คุณธีรพันธ์ค่ะ มีปัญหาถามว่า ที่พระพุทธองค์ตรัสว่า มนุษย์มี ๕ ประเภทนั้น ๑ ใน ๕ นั้น ก็มีมนุสสเปโต เชิญค่ะ
อ.ธีรพันธ์ มนุสสเปโต ผมเข้าใจว่า เป็นมนุษย์เปรต อย่างเช่น ผมเคยได้ยินเกี่ยวกับมีพระภิกษุรูปหนึ่ง เมื่อมีพระอาคันตุกะมา พระอาคันตุกะมาเป็นผู้ที่มีศีล เป็นพระอรหันต์ ส่วนภิกษุที่เป็นเจ้าถิ่นนั้น เมื่อเห็นพระภิกษุอาคันตุกะ ได้รับการสักการะต้อนรับจากโยมอุปัฏฐาก ซึ่งเคยอุปัฏฐากพระภิกษุเจ้าถิ่นมาก่อน ก็เกิดความไม่พอใจ ไม่อยากให้พระอาคันตุกะที่เป็นพระอรหันต์ ได้รับสักการะอย่างนั้น เกิดจิตใจริษยา ก็เลยไม่อยากจะให้พระรูปนั้น ได้รับการเคารพสักการะ ก็พยายามจะขับไล่ไป ก็คืออย่างเช่น เวลาที่ถวายทานแด่พระภิกษุ ที่เป็นพระอรหันต์ พระภิกษุเจ้าถิ่นก็จะไม่ดีใจยินดีด้วย มีครั้งหนึ่งก็คือ บอกสัญญาณโดยใช้การเคาะด้วยปลายเล็บ ความจริงต้องเคาะให้มีเสียงดัง เพื่อเป็นการปลุกให้พระอาคันตุกะ ได้ขึ้นมารับการถวายบิณฑบาต แต่ว่าเนื่องจากมีจิตใจที่อิจฉา ในลาภสักการะของผู้อื่น ก็เลยใช้ปลายเล็บเคาะ
ในภายหลังได้รับทานนั้นแล้ว ก็ไม่อยากนำทานนั้นไปให้พระอาคันตุกะ เอาทานนั้นไปเผาเสีย ก็เลยได้ยินว่า ในภายหลังพระรูปนั้น ก็กลายเป็นมนุษย์เปรต ผมก็ไม่แน่ใจแต่ว่ารู้สึกจะได้ยินคำนี้ จากรายการแนวทางเจริญวิปัสสนาที่ท่านอาจารย์บรรยาย
คุณอุไรวรรณ คุณประเชิญ จะมีอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ เชิญค่ะ
อ.ประเชิญ การจำแนกหรือเปรียบมนุษย์ไว้หลายประเภท ก็มีมากมาย เหมือนกับที่เราเคยนำมาสนทนา ที่เปรียบกลับม้า เปรียบเหมือนกับน้ำ เปรียบเหมือนกับอะไรหลายอย่าง ใช่ไหม มะม่วงอะไรเป็นต้น ก็มีหลายอย่าง ซึ่งในพระไตรปิฎกที่เป็นส่วนของพระสูตรก็ดี ในปุคคลบัญญัติที่เป็นพระอภิธรรมก็ดี ก็ทรงจำแนกบุคคลเป็นประเภทต่างๆ ซึ่งนี้ก็มี ในการเปรียบเหมือนกับที่กล่าวถึง เปรียบเหมือนกับเปรต ก็คือเรื่องของความประพฤติ หรือความเป็นไปในชีวิตประจำวัน มีแต่ความหิวโหย มีแต่ ความอยากได้ นี่ก็เหมือนกับเปรตบางพวก มนุษย์ที่เหมือนกับสัตว์เดรัจฉาน ก็ไม่มีคุณธรรม หรือมนุษย์เปรียบเหมือนกับเทพ มนุษย์เทโว ก็เป็นมนุษย์ที่มีคุณธรรม มีหิริโอตตัปปะ ซึ่งก็มีไว้ จำแนกไว้มากมาย นี้ก็เคยนำมาสนทนา ใช่ไหม ในหลายๆ ประเภท
คุณอุไรวรรณ ท่านอาจารย์ค่ะ ที่ว่า ธรรมเป็นอนัตตานั้น ยังสงสัยว่า ที่สรรพสัตว์เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏฏะ และยังคงมีกรรมเป็นแดนเกิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์นั้น ดูเหมือนเป็นอะไรที่คงที่ ไม่ดับสูญ เหมือนอัตตา กรุณาอธิบายค่ะ เพราะมันติดค้างในใจมานานแล้ว
ท่านอาจารย์ ขณะนี้สิ่งที่มี และเคยเข้าใจว่าเป็นเรา ถ้าไม่มีสภาพธรรมเกิดขึ้น จะมีเราได้อย่างไร นี่คือขั้นต้นที่จะเริ่มเข้าใจว่า จริงๆ แล้ว สิ่งที่เคยยึดถือว่าเป็นเรา ก็เป็นธรรมหรือเป็นธาตุ ทา-ตุ แต่ละลักษณะ ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไป ถ้าว่ามีเรา เราอยู่ที่ไหน หาเราเจอไหม อะไรเป็นเราบ้าง ท่านที่ถามคงจะอยู่ที่นี่ด้วย ใช่ไหม
คุณอุไรวรรณ ท่านเจ้าของปัญหา เชิญค่ะ
ผู้ฟัง คือสงสัยว่า กรณีที่คนหรือสรรพสัตว์ ตายแล้วเกิด
ท่านอาจารย์ ขอประทานโทษค่ะ คงยังไม่ไปถึงตรงนั้น เพราะว่าคำถามอยู่ที่ว่า มีเราหรือไม่มีเรา ถูกต้องไหม ก่อนที่จะไปถึงเรื่องตาย เกิด วนเวียนในสังสารวัฎ เพราะฉะนั้นในขณะนี้ มีเราหรือเปล่า
ผู้ฟัง ถ้าตามที่ฟังอาจารย์มาบ่อยๆ ก็ต้องตอบว่าไม่มีเรา
ท่านอาจารย์ ต้องพิจารณาจนกระทั่งเป็นความเข้าใจจริงๆ ว่ามีหรือเปล่า ไม่ว่าจะได้ยิน ได้ฟัง อะไรจากไหน จากใครก็ตามแต่ ก็ต้องพิจารณาจนกระทั่งเป็นความเห็นของผู้ฟังว่า แล้วความจริงมีหรือเปล่า
ผู้ฟัง ก็น่าจะเป็นเรื่องของจิต เจตสิก รูปเท่านั้น
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเราไม่มี ถ้าเราไม่มี แล้วสัตว์มีไหม บุคคลมีไหม ถ้าเป็นจิต เจตสิก รูป
ผู้ฟัง ไม่มี
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจิตก็มีหลากหลาย เจตสิกก็หลากหลาย ไม่ซ้ำกันเลยแต่ละคน แต่ละขณะด้วย เพราะฉะนั้นก็แล้วแต่เหตุปัจจัย ปกติเป็นคนที่จำเก่งไหม
ผู้ฟัง ก็เก่ง เหมือนคนธรรมดา
ท่านอาจารย์ จำได้แค่ไหน
ผู้ฟัง ก็วัยเด็กขึ้นมาถึง
ท่านอาจารย์ ชาติก่อนจำไม่ได้ ใช่ไหม
ผู้ฟัง จำไม่ได้
ท่านอาจารย์ แล้วชาติก่อนจะมีหรือเปล่า ในเมื่อจำไม่ได้
ผู้ฟัง ถ้าที่ฟังจากพระพุทธองค์มา ก็คือมีชาติที่แล้วๆ มา
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีชาติก่อนๆ จะมีการตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือไม่ ไม่มีการสะสมมาเลย ไม่มีคุณความดี ที่เป็นบารมีทั้งหลาย ที่จะทำให้รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ด้วยพระองค์เอง จะมีพระอรหันตพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ไหม
ผู้ฟัง ก็ตรงนี้ทำให้คิดว่า แสดงว่าไม่ดับสูญ บุคคลคนเดียวกัน
ท่านอาจารย์ ขณะนั้นจิตดับหรือเปล่า
ผู้ฟัง จิตดับ
ท่านอาจารย์ และเกิดอีกหรือเปล่า
ผู้ฟัง เกิด
ท่านอาจารย์ สืบต่อจากขณะก่อนใช่ไหม ไม่มีวันจบ
ผู้ฟัง เป็นจิตที่เกิดดับ ไม่มีวันจบเท่านั้น
ท่านอาจารย์ กว่าจะถึงจุติจิตของพระอรหันต์ก็ดับ และจะไม่มีการเกิดสืบต่ออีกเลย
ผู้ฟัง ขอบพระคุณค่ะ
คุณอุไรวรรณ ยังมีอีกปัญหาหนึ่งสั้นๆ คุณประเชิญคะ ถามว่าจักขุทวาร ได้แก่ จักขุปสาทรูป ส่วนมโนทวารนั้น คือหทยรูป ใช่หรือไม่
อ.ประเชิญ มโนทวาร เป็นทางรู้อารมณ์ทางใจ นี้หมายถึง ตัวภวังคุปัจเฉทะ ไม่ใช่รูป ไม่ใช่หทยวัตถุ สภาพธรรมของมโนทวาร หมายถึง ภวังค์ เพราะฉะนั้นคำว่ามโนทวาร ไม่ใช่รูป เป็นนามธรรม ขอเรียนเสริมในปัญหาก่อนหน้านี้นิดนึง คือจริงๆ แล้วถ้าหากว่า สัตว์ทั้งหลาย ไม่มีการอบรมเจริญปัญญา ไม่มีการที่จะเรียกว่า ดำเนินหนทางที่จะทำให้พ้นจากทุกข์ ก็คือกล่าวโดยโวหาร ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ว่าเบื้องต้นที่สุดของสังสารวัฏฏ์ไม่มี ใช่ไหม ถ้าหากว่าไม่มีการดำเนินทาง ที่เป็นอริยมรรค สัตว์ทั้งหลายนี้ ก็จะไม่มีที่สิ้นสุด คือเรียกว่าจากภพนี้ ก็ไปสู่ภพหน้า ก็ไปสู่ภพต่อๆ ไป หรือเรียกว่า เป็นการสืบต่อของขันธ์ ธาตุ อายตนะ ที่เป็นไปที่เป็นสังสารวัฏฏ์ ก็คือ ความสิ้นสุดของสังสารวัฏฏ์นี้ก็ไม่มี แต่ไม่ใช่เป็นลักษณะที่เที่ยง
เพราะว่าตามคำสอนของพระผู้มีพระภาคนั้น ผู้ที่เวียนว่ายตายเกิด เพราะถูกอวิชชาครอบงำ แต่ถ้าหากว่าละอวิชชาได้แล้ว ก็ไม่มีการเวียนว่ายตายเกิด เป็นผู้ที่ดำเนินทาง ที่เป็นหนทางที่จะนำออกจากวัฏฏะมีอยู่ ทางมีอยู่ ความพ้นจากวัฏฏะก็มีอยู่ ไม่มีการที่เรียกว่า จะเป็นสิ่งที่แน่นอนตายตัวว่า จะต้องเกิดตลอดไป มีการสิ้นสุด ถ้าหากว่าดำเนินหนทางที่จะทำให้ถึงการสิ้นสุดของสังสารวัฏฏ์
คุณอุไรวรรณ ท่านอาจารย์คะ มีจดหมายจากท่านผู้ฟัง กราบเรียนท่านอาจารย์ ขอความกรุณาอธิบาย ขั้นตอนการปล่อยให้ปัญญาปฏิบัติธรรม กระผมเข้าใจ และศรัทธาในแนวคิด แต่ก็ติดที่วิธีปฏิบัติครับ โดยนัยเดียวกัน ขอถามขั้นตอน การปล่อยให้ปัญญาทำให้กิเลสลดลงตามลำดับมรรค
ท่านอาจารย์ ตั้งต้นใหม่เลย ปล่อยได้อย่างไรเวลานี้ ใครจะปล่อยอะไรไว้ ปล่อยอะไร สภาพธรรมเกิดแล้วก็ดับไปแล้ว มีใครจะไปปล่อยอันไหน ไม่ปล่อยอันไหนได้
คุณอุไรวรรณ คุณพูลสวัสดิ์ค่ะ ถามเองดีไหม เชิญเลยค่ะ
ผู้ฟัง เรียนท่านอาจารย์ครับ คำถามนี้เนื่องมาจาก คำตอบในปัญหาธรรม ที่ผมอ่านพบในอินเตอร์เน็ต บอกว่าไม่มีตัวตน เราจะไปปฏิบัติธรรมไม่ได้ ต้องให้ปัญญาปฏิบัติธรรม ก็เลยติดว่า แล้วจะให้ปัญญาปฏิบัติธรรมอย่างไร ผมใช้คำว่าปล่อย อาจจะไม่ตรง แต่ว่าความหมายก็คือ ผมจะทำอย่างไรต่อครับ ถ้าผมไม่ปฏิบัติธรรม ปัญญาเป็นผู้ปฏิบัติธรรม ไม่เข้าใจ
ท่านอาจารย์ แล้วถ้าไม่ใช่ปัญญา แล้วผมจะปฏิบัติ ผมทำอย่างไร
ผู้ฟัง คือผมยอมรับแล้ว ว่าผมไม่ใช่ผู้ปฏิบัติธรรม
ท่านอาจารย์ ไม่มี ผม ไม่มีตัวตน ขณะนี้เป็นสภาพธรรม เป็นจิต เป็นเจตสิก แล้วแต่ว่ามีปัจจัยที่สภาพธรรมใดจะเกิด สภาพธรรมนั้นก็เกิด ถ้าไม่มีการฟัง จะมีการพิจารณา แล้วก็เข้าใจไหม ว่าขณะนี้ไม่มีเรา แต่ว่าเป็นสภาพธรรมเท่านั้น ที่เกิดจึงปรากฏ ถ้าไม่มีการฟังเลย จะเข้าใจอย่างนี้ไหม
ผู้ฟัง ไม่เข้าใจ หมายความว่า การฟังคือการที่ให้ปัญญาเป็นผู้ปฏิบัติธรรม ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ธรรมคืออะไร และปฏิบัติธรรมคืออะไร ต้องมีความเข้าใจในสิ่งที่ได้ยิน ได้ฟัง ให้ถูกต้อง ถ้ายังไม่รู้ว่าธรรมคืออะไร ปฏิบัติธรรมคืออะไร แล้วก็เป็นอวิชชาทั้งนั้น แล้วจะทำอะไรก็ต้องเป็นไปตามอวิชชา คือความไม่รู้ เพราะฉะนั้นก่อนอื่นที่จะเป็นวิชชาคือรู้ แต่ละคำที่ได้ยิน ได้ฟัง ต้องมีความเข้าใจถูกต้อง ว่าธรรมคืออะไร และปฏิบัติคืออะไร ถ้ายังไม่เข้าใจ ก็ปฏิบัติผิดแน่นอน เพราะเหตุว่าเมื่อมีความไม่รู้ ก็ต้องมีความดำริผิด วาจาผิด กระทำผิด เพียรผิด ตั้งมั่นผิด ตรงกับพระสูตรนี้เลย
ผู้ฟัง อย่างที่เรียนในเบื้องต้น ว่าผมเข้าใจว่า ผมไม่ใช่ผู้ปฏิบัติธรรม ก็ยอมรับ
ท่านอาจารย์ แล้วธรรมคืออะไร ทราบแล้วใช่ไหม ธรรมคืออะไร
ผู้ฟัง คิดว่าทราบครับ
ท่านอาจารย์ และปฏิปัตติคืออะไร อวิชชาก็รู้ว่าตรงข้ามกับปัญญา เพราะฉะนั้นก็ไม่มีเรา ก็มีสองทาง ทางอวิชชากับทางปัญญา จนกว่าจะรู้ว่าเป็นธรรม ฟังให้เข้าใจ เพื่อที่จะได้รู้ตามความเป็นจริงว่า ขณะนี้เป็นธรรม
คุณอุไรวรรณ คุณอุไรวรรณเชิญค่ะ
ผู้ฟัง คือเวลาที่เห็นอะไร ฉันก็คิดแต่ว่าเป็นรูปกับนาม แล้วก็เกิดกับดับ คิดสองอย่างนั้น
ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้คิดอะไร เวลาคิด อะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม คิดเมื่อไร
ผู้ฟัง ที่ว่ายังเห็นต้นไม้ ต้นไม้ก็เป็นรูป
ท่านอาจารย์ ทำไมว่าต้นไม้เป็นรูป
ผู้ฟัง คือเป็นสิ่งที่เราจับต้องได้ สัมผัสได้ อะไรแบบนั้น
ท่านอาจารย์ แล้วสิ่งที่เราจับต้องไม่ได้ สัมผัสไม่ได้ เป็นรูปหรือเปล่า เสียงเป็นอะไร
ผู้ฟัง เสียงเป็นนาม
ท่านอาจารย์ นี่คะ ต้องตั้งต้นใหม่ เพราะว่าเราจะได้ยินแต่คำว่ารูปกับนาม แต่ต้องเข้าใจว่า สภาพที่เป็นรูปจริงๆ นั้นคืออย่างไร และสภาพที่เป็นนาม คืออย่างไร รูปจะมองเห็นหรือมองไม่เห็นก็ตาม เกิดขึ้นแล้ว ไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น ส่วนธาตุอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่รูปธาตุ เวลาที่เกิดแล้ว สามารถที่จะรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด และก็มีลักษณะหลากหลาย แต่เรียกรวมกันว่านามธาตุได้ คือธาตุที่เกิด และก็รู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด
เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีนามธาตุ สิ่งใดๆ ก็ปรากฏไม่ได้เลย แต่เพราะมีนามธาตุ ซึ่งเป็นสภาพรู้ คือกำลังเห็นทางตา กำลังได้ยินเสียงทางหู เพราะฉะนั้นเสียงปรากฏให้รู้ได้ ว่ามีเสียง เพราะมีสภาพที่ได้ยินเสียง แต่ถ้าไม่มีสภาพได้ยิน เสียงก็ปรากฏว่าเป็นเสียงไม่ได้ เปิดเผยอาการของเสียง ลักษณะของเสียงไม่ได้ เพราะไม่มีจิตได้ยินเสียงนั้นเลย เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจความหมายของนามธรรม และรูปธรรม และเข้าใจสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม และรูปธรรม มิฉะนั้นได้ยินเพียงชื่อ แล้วก็ไปนั่งคิดว่า นี้เป็นรูป นี้เป็นนาม โดยที่ว่า ไม่เข้าใจคำว่ารูป หมายความถึงสภาพธรรมอะไร และคำว่านามธรรมหมายความถึงสภาพอะไร
เพราะฉะนั้นต้องตั้งต้นที่มีความเข้าใจว่า ขณะนี้สิ่งที่มีจริงๆ ลักษณะที่แท้จริง เป็นธรรม แต่ว่าเป็นธรรมประเภทไหน เป็นนามธรรม หรือเป็นรูปธรรม เพราะเหตุว่าเมื่อเป็นนามธรรม ไม่ใช่เรา เมื่อเป็นรูปธรรม ไม่ใช่เรา ค่อยๆ เข้าใจขั้นฟังแล้วพิจารณา แต่ไม่ใช่ไปจำแล้วตอบ ว่านี้เป็นรูป นั้นเป็นนาม รสมีไหม เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม มีไหม
ผู้ฟัง มี ตัวรสจะรู้สึกอะไรไม่ได้เลย ขณะที่กำลังลิ้ม รสนั้นจึงปรากฏว่าหวาน หรือว่าเผ็ด หรือเค็ม อะไรก็แล้วแต่ ขม ทั้งหมดปรากฏ เมื่อมีจิตที่กำลังลิ้ม คือรู้ลักษณะนั้น เพราะฉะนั้นขณะนั้น มีสภาพรู้รส กับรส รสจะเป็นสภาพรู้รสไม่ได้ และสภาพที่กำลังลิ้มรส กำลังรู้รสนั้น ก็จะเป็นรสไม่ได้ด้วย
เพราะฉะนั้นรูปธรรม หมายความถึง สภาพธรรมที่มี แต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้ แต่นามธรรมไม่มีรูปร่างเลย ไม่มีใครมองเห็น เกิดขึ้นต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด กำลังมีสิ่งใดปรากฏให้รู้ กับจิตที่เกิดขึ้นในขณะนั้น สภาพที่รู้มีสองอย่าง คือ จิตกับเจตสิก รวมเรียกว่านามธรรม แต่ถ้าจะแยกก็คือ จิตเป็นใหญ่ เป็นประธาน ในการรู้ แต่จิตจะเกิดไม่ได้เลย ถ้าไม่มีเจตสิก ซึ่งเป็นนามธรรมเกิดร่วมด้วย เมื่อมีจิตเกิด ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ทั้งสองอย่างเป็นนามธรรม
คุณอุไรวรรณ เชิญคุณบุษบงรำไพ
ผู้ฟัง ถ้าพูดถึงอวิชชาแล้ว ถ้าจะพูดไปก็คือ ความโง่นั่นเอง แล้วก็นึกว่า ทำไมถึงโง่ได้ถึงขนาดนี้ แล้วก็คงจะต้องโง่ต่อไปอีก เนื่องจากว่าพระธรรมลึกซึ้งมาก เพราะฉะนั้นก็ต้องค่อยๆ ที่จะเข้าใจ อย่างที่ว่าลึกซึ้ง ก็อย่างที่ฟังมาก็บอกว่า สภาพธรรมปรากฏได้ ๖ ทาง แต่เข้าใจขณะนั้น ฟังแค่นี้ก็ยังไม่พอ ต่อๆ มา ก็ค่อยรู้ว่า ๖ ทางนี้ มีจริง แต่จะปรากฏได้ทีละ ๑ ก็ค่อยๆ เข้าใจอีก แล้วพอมาฟังผลสุดท้ายจากเทป ได้ยินเน้นไปเลยว่า ถ้าเสียงก็ปรากฏได้ แต่ถ้าขณะนี้ไม่ได้ยิน ก็คือไม่ได้ปรากฏ ไม่มีอยู่ แต่มีสภาพธรรมอื่นปรากฏ ก็เลยชัดตรงนี้ เข้าใจซึ้งไปอีกเลยว่า เขาเกิดแต่ละขณะอย่างเดียว
ที่ว่ามี ๖ ทางนั้นจริง แต่ต้องน้อมเข้ามาที่จะเข้าใจว่า แต่ละขณะนั้นคืออะไร คือความละเอียดตรงนี้ข้อหนึ่ง ส่วนเมื่อตอนช่วงเช้า ก็ได้ยินท่านอาจารย์กล่าวถึงเปรียบเทียบให้ฟังว่า ขณะเห็น ไม่ต้องคิดก็ปรากฏได้ ตรงนี้ก็น่าสนใจ พิสูจน์ดูว่า ขณะที่เห็นไม่ได้คิด ปรากฏได้ไหม ก็ปรากฏได้จริงๆ แต่จะมาเปรียบเทียบกับว่า ถ้าถามว่าขณะนี้เห็นใคร ต้องคิดแล้ว เห็นใคร คนนั้นชื่ออะไร คือเข้าใจตรงนี้ ว่ามันเป็นความต่างกัน สภาพอย่างนี้หรือเปล่าคะท่านอาจารย์ ที่เราต้องน้อมเข้ามา ที่จะเข้าใจความต่างกัน
ท่านอาจารย์ แล้วก็ไม่ใช่เราน้อม สังขารขันธ์ ขณะใดที่เข้าใจ คือกำลังน้อมไปสู่ความเห็นถูกยิ่งขึ้น
ผู้ฟัง พี่เข็ม บงกราบอนุญาตถามตรงอรรถกถา มีสองหัวข้อ ตั้งแต่อรรถกถาบรรทัดแรกเลย แล้วก็คำถามที่สองก็คือ บรรทัดสุดท้าย แต่บงอยากกราบเรียนถามคำถามหลังก่อน เพราะว่าอยากทราบ เรียนถามคุณประเชิญก็ได้ ที่บอกว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสมรรคมีองค์ ๘ นี้ เจือด้วยโลกียะ และโลกุตตระ ที่เข้าใจก็คือ ๕ กับ ๖ คงเป็นโลกียะ ๘ โลกุตตระ ตรงนี้ ๗ ยังคลุมเครืออยู่ แล้วก็ช่วยอธิบายด้วยว่า ความต่างกันที่เป็นทั้งโลกียะ และโลกุตตระ
อ.ประเชิญ สำหรับตรง ๗ ที่อรรถกถา ท่านก็มีอธิบายไว้ สำหรับผู้ที่เป็นฌานลาภีบุคคล บรรลุพร้อมฌาน บรรลุโลกุตตระพร้อมองค์ฌาน ทุติยฌานเป็นต้นไป ขณะนั้นสัมมาสังกัปปะ คือ วิตกเจตสิก ก็ไม่เกิดร่วมด้วย องค์มรรคจึงเหลือ ๗ ในก่อนย่อหน้า ท่านก็อธิบายไว้ ตรงหน้า ๕ แผ่นที่ ๓ ท่านก็อธิบายไว้ในส่วนของทุติยฌาน เป็นต้นไป นี้ก็คือลักษณะของอริยมรรคมีองค์ ๗ เป็นโลกุตตระ แต่องค์ไม่ครบ ๘ เพราะว่าสำหรับฌานลาภีบุคคล ท่านละวิตก คือ ความดำริ ในที่นี้ โดยทั่วไปก็แปลว่า ความดำริชอบ เป็นวิตกเจตสิก องค์ของมรรค องค์หนึ่ง ท่านละได้แล้ว
สำหรับองค์ ๘ ที่ท่านแสดงโลกียะกับโลกุตตระ เราก็ทราบตั้งแต่เบื้องต้นแล้ว สำหรับพระบาลีที่ทรงแสดง ในฝ่ายของอกุศล ที่มีอวิชชาเป็นหัวหน้า นี้ก็คือมรรคที่ผิด มิจฉามรรค นี้ก็คือมรรค ๘ เหมือนกัน แต่ว่าเป็นโลกียะ ส่วนโลกุตตระ มรรค ๘ ที่จะเกิดขึ้นพร้อมกัน ก็เป็นโลกุตตระ ขณะนั้นก็ทรงแสดงมรรค ๘ ที่เป็นโลกุตตระ ซึ่งในฝ่ายสุกกปักข์ ในอรรถกถาท่านใช้คำว่า สุกกปักข์ คือฝ่ายที่เป็นฝ่ายกุศล ฝ่ายขาว
มรรค ถ้าเป็นโลกียะจะไม่ครบ ๘ ที่เราได้ทราบความละเอียดที่ท่านอาจารย์ ได้ให้ความละเอียดไปแล้ว ว่า สำหรับผู้ที่เจริญมรรคที่เป็นโลกียะหรือสติปัฏฐาน มรรค ก็เกิดขึ้นองค์ ๕ แต่ถ้าวิรตีเกิดร่วมด้วย ก็เป็นองค์ ๖ นี่คือลักษณะของโลกียะจะไม่ครบ ๘ แต่โดยนัยของเทศนาก็คือมรรคทั้ง ๘ แต่ที่เกิดขึ้นจริงๆ นั่นก็คือเป็นขณะที่เป็นโลกุตตระ เพราะฉะนั้นตรงนี้ที่ผมเข้าใจ ในความหมายที่ท่านกล่าวไว้ ในตอนท้ายของอรรถกถาที่ว่า พระผู้มีพระภาคตรัสมรรค ๘ นี้ เจือทั้งโลกียะ และโลกุตตระ ก็น่าจะมีความหมายสองนัย คือถ้ากล่าวโดยนัยของมิจฉามรรค ก็องค์ ๘ เหมือนกัน อันเป็นโลกียะแน่นอน และก็โลกุตตระ ก็คือ มรรค ๘ ที่เป็นโลกุตตระ หรือแม้แต่มรรค ๘ ที่เป็นฝ่ายสุกกปักข์ ที่เป็นฝ่ายขาว ก็มีทั้งโลกียะ และโลกุตตระ แต่ไม่ครบ ๘ ถ้าเป็นโลกียะ กราบเรียนอาจารย์ได้กรุณาเพิ่มเติมในความหมายตรงนี้ด้วย
ท่านอาจารย์ อย่างที่คุณประเชิญกล่าวถึง
ผู้ฟัง ขอบคุณ คุณประเชิญค่ะ คำถามอีกคำถามหนึ่ง ที่เริ่มตั้งแต่ข้อแรกเลย บทแรกของอรรถกถา คุณธิดารัตน์ ที่กล่าวบอกว่า เป็นหัวหน้าด้วยอาการ ๒ อย่าง คือด้วยอำนาจของสหชาตปัจจัย และก็อำนาจของอุปนิสสยปัจจัย ก็ช่วยขยายความตรงนี้ด้วย และก็เกี่ยวกับในชีวิตประจำวันอย่างไร
อ.ธิดารัตน์ ท่านก็อธิบายความเป็นหัวหน้า ความเป็นหัวหน้าของธรรมสองฝ่าย ก็คือ อวิชชา คือความไม่รู้ แล้วก็วิชชา อย่างอวิชชา ความไม่รู้ การเป็นหัวหน้าของเขาก็คือ สหชาตปัจจัย หมายถึงว่า เป็นปัจจัยโดยการเกิดพร้อม ก็ในขณะที่จิตนั้นเป็นอกุศลจิต ก็จะต้องมีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วย ก็จะเป็นสหชาตปัจจัย ก็คือเป็นปัจจัยโดยการเกิดพร้อมกัน ให้ธรรมๆ อื่น ไม่ว่าจะเป็นจิต และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย เป็นไปพร้อมกัน ที่ว่าเป็นปัจจัยโดยความเกิดพร้อม
ส่วนอุปนิสสยปัจจัย ก็คือการสะสมนั่นเอง อย่างมีความไม่รู้ ก็เป็นปัจจัยให้เกิดความไม่รู้ เกิดอกุศลจิต เกิดขึ้นอีกในภายหลัง และเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็สะสมอีก เพื่อที่จะเป็นปัจจัยให้ความไม่รู้นั้นเกิดขึ้นอีก โดยนัยตรงกันข้ามกัน วิชชาหรือว่าความรู้ ก็จะมีทั้งที่เกิดพร้อมกัน โดยความเป็นสหชาตปัจจัยกับกุศล กุศลจิต และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย โดยการเกิดพร้อมกัน แล้วก็ด้วยอำนาจของอุปนิสสยปัจจัย ก็คือได้สะสมมาแล้วในอดีต ก็จะเป็นปัจจัยให้มีการเกิดกุศลขึ้นอีก ในครั้งต่อๆ ไป
ผู้ฟัง ช่วยขยายความสหชาตปัจจัยให้ชัดๆ อีกอย่าง ยกตัวอย่างเลย ขอบคุณค่ะ
อ.ธิดารัตน์ คือสหชาตปัจจัย ถ้ายกอวิชชาหรือว่าความไม่รู้ หรือว่าเจตสิก โมหเจตสิก เป็นตัวปัจจัย ปัจจยุบบันก็คืออกุศลจิต ยกตัวอย่าง จะเป็นโลภะที่ประกอบด้วยความเห็นผิด หรือไม่ประกอบด้วยความเห็นผิดก็ได้ จะต้องมีอวิชชาหรือว่าความไม่รู้เกิดร่วมด้วย หรือโทสะก็ตาม โมหะก็ตาม อกุศลทั้ง ๑๒ เวลาที่อกุศลจิตเกิดขึ้น มีโมหะเป็นมูล หรือว่าเป็นปัจจัย แล้วก็เกิดขึ้นพร้อมกับจิต และเจตสิกทั้งหลาย เพราะว่าจิตเวลาเกิดขึ้น ไม่ได้มีเจตสิกเกิดเพียงชนิดเดียว ก็จะมีเจตสิกเกิดร่วมกัน แม้กระทั่งขณะที่เป็นโมหมูลจิต ก็จะต้องมีเจตสิก เกิดถึง ๑๕ ประเภท หนึ่งในนั้นก็มี โมหเจตสิก เป็นหนึ่งใน ๑๕ ประเภท แล้วก็มีจิต เพราะฉะนั้นโมหะ เป็นตัวปัจจัย ปัจจยุบบันก็ได้แก่จิต และเจตสิกที่เหลือ
ผู้ฟัง พอที่จะเข้าใจได้ว่า ถ้าอกุศลเกิด จะต้องมีโมหะเกิดร่วมด้วย นี้เรียนถามไปว่าสหชาตปัจจัยนี้ จะมีเกี่ยวกับเรื่องของรูปบ้างไหม
อ.ธิดารัตน์ หมายถึง เป็นปัจจัย ถ้าสมมติว่าเป็นจิตตชรูป ก็คือเมื่อมีจิต มีเจตสิกเกิด รูปก็จะเกิดพร้อมด้วย แต่โดยความหมายของสหชาตปัจจัยโดยละเอียดจริงๆ ท่านอาจารย์จะช่วยอธิบายโดยละเอียด
ท่านอาจารย์ คำว่า สหชาต แปลว่า เกิดพร้อมกัน เพราะฉะนั้นเวลาที่สภาพธรรมหนึ่งเกิดขึ้น เป็นปัจจัยให้สภาพธรรมอื่น เกิดพร้อมกับตน เป็นสหชาตปัจจัยแก่สภาพธรรมที่เกิดพร้อมกัน เพราะฉะนั้นจะยกสภาพธรรม เช่น จิต เป็นสหชาตปัจจัยแก่เจตสิก แล้วก็เจตสิกแต่ละหนึ่ง ก็เป็นสหชาตปัจจัยแก่จิต และเจตสิกอื่นๆ ซึ่งเกิดร่วมกัน นั่นคือความหมายของสหชาตปัจจัย สำหรับรูปธรรม ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม เกิดพร้อมกัน เพราะฉะนั้นธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม แต่ละธาตุ ก็เป็นสหชาตปัจจัยแก่ธาตุที่เหลือ นี่คือขั้นต้นที่ควรจะเข้าใจ ความละเอียดก็มีอีกมาก
ผู้ฟัง ขออนุญาตถาม ที่ถ้าหากว่าจิตเกิดพร้อมกับรูป จะเป็นในขณะที่ปฏิสนธิจิตได้เลยใช่ไหม ขณะนั้น
ท่านอาจารย์ กรรมเป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิต ซึ่งเป็นวิบาก เกิดพร้อมกับเจตสิก และกัมมัชรูป
ผู้ฟัง กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์ค่ะ
ผู้ฟัง ถามอ.ประเชิญ ช่วยอธิบายสัมมาอาชีวะ กับ สัมมากัมมันตะ ต่างกันอย่างไร
อ.ประเชิญ ถ้าเป็นอาชีวะ ก็เนื่องด้วยชีวิต เนื่องด้วยการดำรงชีวิตอยู่ ก็คือเป็นอาชีพ ในภาษาไทยเราก็คือเรื่องของอาชีพ ถ้าเป็นกัมมันตะ ก็จะเป็นการเว้นจากทุจริตทางกาย คือเว้นจากปาณาติบาต เว้นจากอทินนาทาน เว้นจากกาเมสุมิฉาจารอันนี้เรียกว่าสัมมากัมมันตะ อย่างในวิภังคสูตร ในเล่มเดียวกันนี้ ท่านได้กล่าวถึงลักษณะขององค์มรรคของแต่ละองค์ ท่านก็มีคำที่เป็นพระบาลี มีแต่ละองค์ให้ไว้ ท่านก็อธิบายไว้ดังนี้ ในข้อ ๓๗ ในวิภังคสูตร ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัมมากัมมันตะเป็นไฉน เจตนางดเว้นจากปาณาติบาต อทินนาทาน และก็กาเมสุมิจฉาจาร หรือบางนัยก็อพรหมจรรย์ อันนี้เรียกว่า สัมมากัมมันตะ คือการเว้นการกระทำทางกาย ที่เป็นทุจริตทั้งหลาย อันนี้คือลักษณะของสัมมากัมมันตะ
สัมมาอาชีวะเป็นไฉน อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ละการเลี้ยงชีพที่ผิด สำเร็จชีวิตอยู่ด้วยการเลี้ยงชีพที่ชอบ นี้เรียกว่าสัมมาอาชีวะ ท่านก็ยกตัวอย่างของอาชีพของพระอริยสาวก ที่เว้นจากกายทุจริต ๓ เว้นจากวจีทุจริต ๔ การงานที่จะประกอบอาชีพ ที่จะดำรงชีวิตอยู่ โดยเว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นจากการลักทรัพย์ เว้นจากการประพฤติผิดในกาม อันนี้คือทางกาย และทางวาจาคือเว้นจากการพูดปด เว้นจากการพูดส่อเสียด เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ เว้นจากการพูดคำหยาบ กาย ๓ วาจา ๔ เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากทุจริตทางกาย ทางวาจา ที่เนื่องด้วยอาชีพ อันนี้คือลักษณะของสัมมาอาชีวะ
ผู้ฟัง คือมันก็ทางกายเหมือนกัน อาชีพ
อ.ประเชิญ แต่ว่าเนื่องด้วยอาชีพ เนื่องด้วยการดำรงชีวิตที่เป็นอาชีพ
ผู้ฟัง ความต่างกันอยู่ตรงนี้
อ.ประเชิญ ใช่ครับ
ผู้ฟัง อีกตัวตรงนี้ค่อนข้างจะยาก มิจฉัตตะ อันนี้คงจะยากสำหรับคนเรียนใหม่ แต่ก็ควรจะรู้ เพราะว่ามันอยู่ในอรรถกถา ช่วยขยายความคำว่า มิจฉัตตะ สำหรับผู้ที่เพิ่งเรียนให้เข้าใจง่ายๆ ด้วย อาจารย์ประเชิญ
อ.ประเชิญ มิจฉัตตะ ก็เป็นภาษาบาลี ภาษาไทยที่นิยมแปลกัน ก็คือความเป็นผิด ก็จะตรงข้ามกับสัมมัตตะ คือ ความเป็นชอบ ซึ่งท่านก็จะกล่าวถึงมรรค ๘ รวมไปถึงการพ้นผิด ซึ่งมิจฉัตตะมี ๑๐ ประการ แล้วก็สัมมัตตะ ความเป็นชอบก็ ๑๐ ประการเหมือนกัน ก็คือมรรค ๘ ในทางผิดคือมิจฉาทิฎฐิ มิจฉาสังกัปปะ ตลอดไปจนถึงกัมมันตะ วาจา อาชีวะ วายามะ สติ สมาธิ นี่คือ ๘ และก็จะมีการพ้นผิด ความรู้ผิด ความพ้นผิดก็เป็น ๑๐ นี่คือลักษณะของมิจฉามรรค ท่านจึงใช้คำว่ามิจฉัตตะ
ผู้ฟัง หมายความว่ามิจฉามรรค ๘ บวกกับมิจฉา
อ.ประเชิญ มิจฉาวิมุตติ มิจฉาญาณ
ผู้ฟัง ต้องถามท่านอาจารย์ ดิฉันถามหลายหนแล้ว แต่อยากจะพูดว่า คือคำว่า ญาณ แปลว่า ปัญญา แต่ว่ามิจฉาญาณ เหมือนมิจฉาสติ จะทำให้คนที่เรียนใหม่ หลงได้ แล้วมิจฉาวิมุตติ คำว่า วิมุตติ คือหลุดพ้น มันก็ควรจะเป็นกุศล แต่ก็เป็นมิจฉาวิมุตติอีก อาจารย์ช่วยขยายด้วย
ท่านอาจารย์ ก็ต้องดูว่ามีสัมมาหรือมิจฉา เพราะว่าคนที่เข้าใจผิด คิดว่ามีปัญญา มีไหม
ผู้ฟัง ความจริงไม่มีปัญญา แต่นึกว่ามีปัญญา
ท่านอาจารย์ เข้าใจผิดตั้งแต่ต้น คือมิจฉาทิฎฐิ ก็เข้าใจว่าเป็นสัมมาทิฎฐิ แม้แต่การดำริผิด การคิดผิด ไม่ใช่หนทาง ก็เข้าใจว่าเป็นหนทาง ประพฤติปฏิบัติผิดต่อไป จนกระทั่งเข้าใจว่าปัญญาเกิด แต่ความจริงไม่ใช่ปัญญา จนกระทั่งเข้าใจว่าเป็นพระอรหันต์ หลุดพ้นแล้ว แต่ความจริงก็ไม่ใช่ เพราะเหตุว่าเป็นหนทางผิด
เพราะฉะนั้นจึงทรงแสดงไว้ เพื่อให้เห็นว่า ธรรมละเอียดมาก ถ้าไม่ทรงแสดงมิจฉัตตะ ๑๐ ก็จะไม่ทำให้คนที่เข้าใจผิด คิดว่าได้บรรลุญาณ แล้วก็รู้แจ้งอริยสัจจธรรม คิดว่าถูก แต่เมื่อทรงกำกับไว้ ว่ามรรคมีสอง คือมิจฉามรรค และสัมมามรรค ครบทั้ง ๘ แล้วก็มิจฉัตตะ ไม่ใช่เพียงแค่หนทาง ยังเข้าใจว่าเป็นปัญญา ซึ่งไม่ใช่ปัญญา และเข้าใจว่าหลุดพ้น คือได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม โดยไม่ใช่การรู้แจ้งอริยสัจจธรรม เพราะฉะนั้นจึงทรงแสดงไว้ทั้ง ๑๐ ให้รู้ว่าผิดตั้งแต่หนทาง จนกระทั่งถึงการเข้าใจผิด ว่าเป็นญาณ และหลุดพ้น
ผู้ฟัง เพราะว่ามีอวิชชานั่นเอง จึงทำให้หลอกตัวเองว่าเป็นผู้ที่มีญาณ และหลุดพ้นด้วย อันนี้ใช่หรือเปล่า
ท่านอาจารย์ อวิชชาเป็นความไม่รู้ ถ้าไม่รู้แล้วไปหมดเลย กาย วาจา ทั้งหมด จะถูกไม่ได้ เพราะไม่รู้