อวิชชาสูตร แผ่นที่ ๒ ตอนที่ ๒
ผู้ฟัง กราบอนุญาต ที่อาจารย์สนทนากับพี่สุรีย์ นั่นก็เป็นเรื่องสูง แต่นี้บงพูดถึง ในชีวิตประจำวัน บางทีการเข้าใจผิด เกี่ยวกับเรื่องสติเกิดระลึกรู้สภาพธรรมนี้ ก็เป็นได้อยู่บ่อยๆ อย่างบางครั้งก็คิดขึ้นมาว่า ในสมัยแรกๆ ว่า วันนี้ยังไม่ได้คิดถึงเรื่องธรรมเลย นั่นก็นึกว่าเป็นสติ ขั้นสติปัฏฐานแล้ว จริงๆ แล้วมันไม่ใช่เลย เพราะว่านั่นยังเป็นเรื่องราวชัดๆ เลยใช่ไหม เพราะว่ามีเรื่องราว ถ้าจริงๆ เป็นสติเกิดระลึกรู้ ก็คงจะต้องรู้เป็นสภาพรู้ ก็เป็นการเข้าใจผิดได้ ทีนี้การที่ว่าจะเข้าใจถูก ถ้าสติปัฏฐานเรายังไม่เคยเกิดเลย มันก็ต้องเข้าใจผิดไปอย่างนี้เรื่อยๆ ใช่ไหมท่านอาจารย์
ท่านอาจารย์ มีความเข้าใจขั้นปริยัติได้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยให้สัมมาสติเกิด เพราะว่าถ้าเป็นปริยัติจริงๆ คือรู้ว่า ขณะนี้เป็นธรรม และเมื่อฟังแล้วก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น จนกระทั่งสติสัมปชัญญะกำลังรู้ และเข้าใจลักษณะที่เป็นธรรม ถึงลักษณะนั้นด้วยสติปัฏฐาน
ผู้ฟัง ดิฉันก็เลยเข้าใจ ที่ว่าการเรียนมีหลายระดับขั้น ก็คือขั้นเข้าใจอย่าง กับขั้นที่รู้จริงๆ ก็เป็นอีกอย่าง
ท่านอาจารย์ แม้แต่ขั้นฟัง ก็ต้องถูกต้องด้วย ว่าเรียนเพื่ออะไร
ผู้ฟัง ทีนี้ถ้าเผื่อว่า สติยังไม่เคยเกิด แล้วมากราบเรียนถาม ถามเท่าไรก็ยังไม่รู้ แน่นอน
ท่านอาจารย์ แต่ก็ยังรู้ว่า สติสัมปชัญญะหรือสติปัฐานต่างกับขั้นทาน ขั้นศีล
ผู้ฟัง เริ่มเข้าใจถึงลักษณะแล้วว่า อย่างเช่น สติปัฐานเกิดก็คือ ไม่มีชื่ออะไรทำนองนั้น แล้วก็ไม่ได้คิดนึก ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ กำลังมีลักษณะหนึ่งที่กำลังปรากฏ แล้วก็ค่อยๆ เข้าใจลักษณะนั้น
ผู้ฟัง ตรงนี้ถึงเรียกว่ามันเป็นเรื่องยากจริงๆ เลย เพราะอะไรที่มันยังไม่ปรากฏกับเรา มันก็รู้ไม่ได้ ก็ฟังไปจนกว่าเขาจะปรากฏ แล้วเราถึงจะมีการเปรียบเทียบได้ว่าขณะนั้นสติเกิด ต่างกับหลงลืมสติ
ท่านอาจารย์ เวลาเกิดไม่ต้องเปรียบเลย
ผู้ฟัง ไม่ต้องเปรียบ เพราะว่ารู้เองไปเลย
ท่านอาจารย์ กำลังปรากฎ กำลังมีจริงๆ
ผู้ฟัง แต่แม้สติเคยเกิดไปบ้างแล้ว มันก็ยังมีที่ว่า หลังๆ มันใช่หรือไม่
ท่านอาจารย์ ก็คิดสงสัย ขณะนั้นดับไปแล้ว
ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ก็บอก ไม่ต้องไปสนใจ ดับไปแล้วมันไม่มีข้อมูลอะไรลึกซึ้งกับ ขณะนี้สภาพธรรมใดปรากฏ
ท่านอาจารย์ มัวสงสัยเรื่องเก่า และสิ่งที่กำลังปรากฏนี่ จะหมดสงสัยได้อย่างไร
ผู้ฟัง ตรงนี้กราบขอบคุณท่านอาจารย์เลย เพราะว่ามักจะไปหลงอยู่กับเรื่องเก่าๆ ก็เลยพลาดโอกาสที่จะรู้ขณะปัจจุบัน
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ ว่าธรรมเป็นเรื่องละโดยตลอด ถ้าติดคือไม่สามารถที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมในขณะนั้น
ผู้ฟัง ขอถาม อ.ประเชิญลึกหน่อยนะคะ สัมมาญาณ กับ สัมมาวิมุตติ คือเมื่อมัคคจิต ผลจิตเกิด สัมมาญาณเกิดแล้ว แต่สัมมาวิมุตติเกิดขณะไหน
อ.ประเชิญ ถ้าขณะที่รู้ รู้ว่าหลุดพ้นแล้ว โดยมากท่านก็จะหมายถึง ปัจจเวกขณญาณ
ผู้ฟัง ขณะนั้นก็ต้องมีนิพพานเป็นอารมณ์ด้วย
อ.ประเชิญ ใช่ครับ แต่เป็นปัจจเวกขณะ ปัจจเวกขณญาณที่เกิดขึ้นต่อจากขณะที่บรรลุมัคค์หรือบรรลุผลผ่านไปแล้ว ขณะนั้นก็มีพระนิพพานเป็นอารมณ์
ท่านอาจารย์ ค่ะ เหมือนจะเข้าใจ เหมือนจะจำไว้ แล้วก็ลืม เพราะว่าไม่ใช่ขณะที่กำลังรู้จริงๆ นี่เป็นการที่แสดงให้เห็นว่า สิ่งที่เราได้ยินได้ฟัง เราเข้าใจจริงๆ ระดับไหน ไม่ยาก ที่ใครจะบอกว่าสภาพธรรมขณะนี้เกิดดับ และจิตก็เกิดขึ้นหนึ่งขณะ ก็รู้เฉพาะอย่าง ไม่ยากเลยใช่ไหม แล้วลองคิดถึงขณะที่ปัญญาประจักษ์ความจริงต้องตรงอย่างนี้ ขณะนี้ก็เห็นได้เลย ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตา มีอย่างอื่นเกิด สลับอย่างเร็วมากเลย ไม่ได้ปรากฏว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาดับ สิ่งอื่นเกิด แล้วสิ่งนั้นก็ดับ และก็สิ่งอื่นก็เกิดสืบต่อ ไม่มีตัวตนเลย เพราะว่าเป็นธรรม
เพราะฉะนั้นกว่าจะถึงกาล ที่จะละคลายการยึดถือสภาพธรรม โดยการประจักษ์แจ้งจริงๆ ไม่ต้องมานั่งคิดทบทวนอะไร ใช่ไหม เพราะเหตุว่าขณะนั้น ได้ประจักษ์ความจริงของสภาพธรรม ซึ่งเป็นอย่างนั้นเมื่ออบรม แต่ถ้าไม่อบรม ไม่มีทางที่จะเป็นอย่างนั้นเลย เพราะฉะนั้นก็ให้เห็นความห่างไกล ของการที่ฟังเข้าใจ ว่าขณะนี้สภาพธรรมเป็นจริงอย่างนี้ขั้นฟัง แต่ว่าสามารถที่จะอบรมจนกระทั่งประจักษ์ความจริงอย่างนั้นได้ แต่ต้องเป็นความเข้าใจถูกต้องโดยตลอด มิฉะนั้นก็ไม่สามารถที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมได้
คุณอุไรวรรณ เชิญคุณอรวรรณค่ะ
ผู้ฟัง ท่านอาจารย์คะ คงจะนอกเรื่องอวิชชานิดหนึ่ง คือตอนนี้กำลังฟังถึงโสภณธรรม ก็มีวิปัสสนาญาณขั้นต่างๆ พอฟังแล้วเราก็รู้สึกว่ามันเหมือนกับไกลตัวมาก แล้วก็เป็นศัพท์ภาษาบาลี เราผ่านไปก่อนได้ไหม โดยไม่ต้องไปรู้ เพราะมันยังอีกไกล เพราะว่าตอนนี้เรายังหลงลืมสติอยู่ตลอด และวิปัสสนาญาณนี้ มันอีกไกลมาก แล้วเราจำเป็นต้องไปรู้ไหม
ท่านอาจารย์ ถามหากฎเกณฑ์ เรื่องกฎเกณฑ์นี้เลิกไปได้เลย สิ่งใดที่ผ่าน สามารถจะเข้าใจได้ไหม เข้าใจได้แค่ไหน แม้เพียงแต่เข้าใจเบื้องต้น ขั้นต้น ถึงความลึกซึ้งของธรรม ก็ยังสามารถที่จะทำให้เราไม่หลงผิดได้ เพราะไม่เข้าใจว่า เพียงไม่รู้อะไรก็จะไปละกิเลส เป็นพระโสดาบัน เป็นพระอริยบุคคล เป็นไปไม่ได้เลย ต้องเป็นผู้ที่ตรง แล้วก็จะทำให้เราไม่ต้องมีกฎเกณฑ์ เพราะว่าเข้าใจความเป็นจริง ว่าเป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้
ผู้ฟัง แต่เวลาเราฟังแล้ว เราก็จะรู้สึกมันมี นามรูปปริเฉทญาณ
ท่านอาจารย์ คืออะไร ไม่ใช่ผ่านชื่อ โดยไม่รู้ความหมาย เป็นปัญญาระดับไหน
ผู้ฟัง ปัญญารู้รูปนาม
ท่านอาจารย์ ประจักษ์แจ้งความจริงของนามธรรม และรูปธรรม ทางมโนทวาร
ผู้ฟัง ทีนี้ที่จะเรียนถาม ไม่ใช่เป็นกฎเกณฑ์ ในปัญญาเรา ที่ยังค่อนข้างจะเหมือนกับไม่รู้อะไรเยอะๆ อย่างนี้ แล้วมาฟังตรงนี้
ท่านอาจารย์ อันนี้อาจจะผิดหวัง ซึ่งไม่เคยตอบกฎเกณฑ์อะไรเลย เพราะว่าจริงๆ แล้ว แต่ละคนก็เป็นแต่ละหนึ่ง ไม่ว่าจะคิดอะไรขณะนี้ แม้แต่ที่คุณอรวรรณกำลังถาม ก็ตามการสะสม ที่จะเกิดคิด ที่จะเกิดถาม ฟังแล้วก็ยังคิดต่อไปตามการสะสมอีก จะไปแลกเปลี่ยนกับใครก็ไม่ได้เลยทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่จะรู้ความจริง ว่าขณะนี้เป็นธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน จะคิดอะไรต่อไป จะฟังแล้วไตร่ตรองอะไร ก็คือสิ่งที่สะสมมา ที่จะคิดอย่างนั้น ไตร่ตรองอย่างนั้น เป็นอย่างนั้น ให้มีความมั่นคงในความเป็นอนัตตายิ่งขึ้น
ผู้ฟัง อาจารย์ค่ะ แต่เวลาฟังที่อาจารย์บอกว่า ฟังให้เข้าใจสิ่งที่ฟัง แต่เวลาฟังแล้วอาจารย์บอกว่า ไม่ต้องให้ไปคิดตามความคิดของเราเอง
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ ฟังที่เราจะเข้าใจได้ ต่อเมื่อเราไม่ได้เอาสิ่งที่เราเคยคิด มาใส่ในขณะที่เรากำลังฟัง
ผู้ฟัง แต่เราต้องคิดตามสิ่งที่เราฟัง เราถึงจะเข้าใจ ถูกไหม
ท่านอาจารย์ ฟังสิ่งไหน พิจารณาให้เข้าใจสิ่งที่กำลังได้ยิน ได้ฟัง ปัญญาถึงจะเกิดขึ้นได้ ถ้าเรามีความคิดของเราเข้ามาแทรกคั่น แล้วเราจะเข้าใจสิ่งที่กำลังได้ยิน ได้ฟังได้อย่างไร
ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นเราต้องทิ้ง อาจจะเป็นความคิดเก่าๆ ที่เข้าใจผิด
ท่านอาจารย์ เข้าใจขึ้นว่า การที่จะเข้าใจสิ่งที่ฟัง ก็ต่อเมื่อฟัง และพิจารณาสิ่งที่เข้าใจ ไม่ต้องมีตัวตนไปทำอะไร ไปทิ้งอะไร ไม่มีกฎเกณฑ์ว่า จะทำอย่างนั้น จะทำอย่างนี้ หรือจะทิ้ง ก็คือเพียงชั่วขณะที่มีปัจจัยคิดอย่างนี้ แล้วก็หมดไป เรื่องละ โดยตลอด
ผู้ฟัง ขอบพระคุณค่ะ
ผู้ฟัง บงกราบอนุญาตพูดตรงนี้ เรื่องนามรูปปริเฉทญาณ ใช่ค่ะ รู้ว่าเป็นเรื่องไกลตัวมาก แต่ว่าบงมีความมั่นใจว่า จากที่มาเข้าใจเรื่องการอบรมเจริญสติปัฏฐานแล้ว ตรงนี้แหละ ก็จะเป็นหนทางที่จะไปถึงตรงนั้นได้ ขั้นแรกเลย เพราะว่าเราจะรู้ลักษณะของรูปกับนาม ในขณะที่แม้แต่ขั้นฟัง ก็น่าจะถึงจุดนั้นเป็นสเต็ปแรก คิดอย่างนั้น
ท่านอาจารย์ ไม่อย่างนั้นการฟังนี้น่าเสียดาย เป็นโมฆะไปหมดเลย แต่ความจริงไม่ได้เป็นโมฆะเลย สะสมไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงกาลที่ปัญญาจะเกิด ถึงระดับไหนก็ระดับนั้น
คุณอุไรวรรณ เชิญคุณสุกัญญาค่ะ
ผู้ฟัง กราบท่านอาจารย์ค่ะ อนัตตานี้หมายถึงอย่างไร
ท่านอาจารย์ เห็นไหมว่า ถ้าใช้ภาษาบาลีแล้ว งงมากเลย ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่เป็นตัวตน สัตว์ บุคคลใดๆ ทั้งสิ้น แต่เป็นธรรม ตรงกันข้ามกับคำว่าอัตตา ธรรมเป็นเรา ผิด ถ้าถูกคือ ธรรมเป็นธรรม เป็นอนัตตา
ผู้ฟัง และในความหมายของทุกสิ่งที่เกิดขึ้น แล้วก็ดับไป หรือว่ามันไม่เที่ยง มันเป็นความหมายของอนัตตาด้วยหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ บังคับได้ไหม ความหมายของอนัตตาก็คือ นอกจากไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคลแล้ว บังคับบัญชาไม่ได้ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา แล้วแต่ คือถ้ามีความเห็นตรง ถูกต้อง ก็คือเป็นอย่างนี้ เมื่อเป็นธรรมแล้ว ใครจะบังคับได้ ไฟบังคับไม่ให้ร้อนได้ไหม
ผู้ฟัง ไม่ได้
คุณอุไรวรรณ เชิญคุณกุลวิไลค่ะ
อ.กุลวิไล ถ้าพูดถึงธรรมแล้ว แน่นอนก็เป็นสิ่งที่มีจริง เพราะว่าธรรม ก็ไม่ได้อยู่ที่ไหน ก็คือขณะนี้เอง เพราะฉะนั้นที่ท่านทรงแสดงถึง สัพเพ ธัมมา อนัตตา ธรรมทั้งหลาย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน จะเห็นได้ว่า หาความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน ไม่ได้ เพราะว่าเป็นธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งถ้าหากเราไม่ได้ศึกษาพระธรรม แล้วก็ไม่ได้ยิน ได้ฟังพระธรรม ความไม่รู้คืออวิชชาก็มีมาก และเมื่อมีอวิชชากิดขึ้น แน่นอน ย่อมเป็นปัจจัยให้ความเห็นผิดมีด้วย
เพราะในพระสูตรนี้ท่านก็กล่าวถึง มิจฉาทิฏฐิ ย่อมเกิดมีแก่ผู้เข้าถึง คือประกอบด้วยอวิชชา เพราะว่าอวิชชาเป็นโมหเจตสิก เกิดกับอกุศลจิตทุกประเภท แต่อกุศลจิตประเภทใด ที่จะมีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย นั่นก็คือโลภมูลจิต ที่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วยนั่นเอง ฉะนั้นถ้าเรามีความเห็นผิด จากสภาพธรรมที่เป็นจริง ก็ยากที่จะทำให้เราสามารถที่จะพ้นทุกข์ได้ ก็ยังต้องเวียนว่ายในวัฏฏะนั่นเอง
เพราะว่าสภาพธรรมที่ตรงข้ามกับอวิชชา คือปัญญา ฉะนั้นขณะนี้ก็มีแต่ธรรม เพราะว่าถ้าเราได้ยิน ได้ฟัง พระธรรมแล้ว ก็ต้องมีความมั่นคง ว่าทุกอย่างเป็นธรรม แล้วสัตว์ บุคคล ตัวตนอยู่ที่ไหน เพราะว่าต้องเห็นความต่างกัน ระหว่างสิ่งที่เป็นธรรมคือสิ่งที่มีจริง เป็นปรมัตถธรรม ซึ่งก็ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนนั่นเอง
เพราะฉะนั้นความเป็นตัวตนนี้ มีเพราะความยึดถือนั่นเอง ยึดถือในอะไร ก็ยึดถือในปรมัตถธรรมที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้ ซึ่งปรมัตถธรรมที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้ ก็ไม่พ้นจิตเจตสิก และรูปนั่นเอง และโดยสภาพธรรม ท่านก็แสดงไว้มากมาย ขันธ์ ๕ ก็ไม่พ้นจิต เจตสิก และรูปนั่นเอง รูปมีจริง แต่รูปก็ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนด้วย เพราะรูปก็เป็นธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งทางตาก็มีการเห็นรูปที่ปรากฏทางตา ซึ่งจริงๆ แล้วถ้าเราไม่ต้องใส่ชื่อ สิ่งนี้ก็มีจริงนั่นเอง สีสันมากมายเลย ไม่ว่าจะอยู่ภายนอกหรือภายใน ที่กายเราก็มีสี ที่ภายนอกก็มีสี สีนี้ก็คือรูปนั่นเอง แต่การที่จะรู้ลักษณะของรูปได้ ต้องมีสภาพรู้แน่นอน ฉะนั้นขณะนี้ จึงมีทั้งสภาพที่รู้อารมณ์ และสิ่งที่ถูกรู้ด้วย
ทางหูก็เช่นเดียวกัน เสียงก็มีจริง เพราะเสียงก็เป็นธรรมเหมือนกัน แต่เราได้ยินอะไร ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องราวสัตว์ บุคคล มากมายเลย ก็เพราะว่าเรามีการนึกถึงเสียงนั้น คิดถึงเสียงนั้น แล้วมีการแปลความหมายด้วย มีการทรงจำเสียงนั้นไว้ด้วย ขณะนี้ก็เลย เลยลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรมนั้นเอง ว่าถ้าเป็นปรมัตถธรรมแล้ว ต้องเป็นธรรมแต่ละอย่าง แล้วก็ต้องมีสภาพที่รู้เสียงด้วย ทางกายก็โดยนัยเดียวกัน ทางกาย ถ้าทางตามองเห็นก็แค่สี แต่ลองกระทบสัมผัส ท่านแสดงว่าการที่จะรู้ลักษณะที่ ปรากฏทางกายได้ มีด้วยกัน ๓ รูป คือธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม ถ้าเรากระทบสัมผัส ลักษณะอะไรปรากฏ ก็แล้วแต่ สิ่งนั้นต้องมีจริงด้วย
ฉะนั้นลักษณะที่เป็นธาตุดินคืออ่อน และแข็ง ธาตุไฟคือเย็น และร้อน ธาตุลมคือตึง และไหวก็มีจริง ไม่ว่าจะกระทบรูปที่กายเรา หรือรูปภายนอกลักษณะ ๓ อย่างนี้ ถ้ามีปรากฏแล้วไม่พ้นธาตุดินที่อ่อนหรือแข็ง ธาตุไฟที่เย็นหรือร้อน ธาตุลมที่ตึงหรือไหว ฉะนั้นสิ่งเหล่านี้จึงเป็นธรรม ส่วนทางจมูก ทางลิ้น ก็มีรูปเหมือนกัน แล้วก็รูปก็ไม่ใช่สภาพธรรมที่เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน หรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดด้วย เพราะว่าโดยธรรมแล้ว ก็คือธรรมแต่ละอย่างนั้นเอง
ฉะนั้นเราก็ค่อยๆ ศึกษาแล้วก็เทียบเคียงค้นหา ที่ว่ามีเรา เพราะอะไร ส่วนใหญ่ก็เพราะว่า เราจำในสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งก็ไม่พ้นรูปหรือนามธรรมนั่นเอง เพราะว่านามธรรมก็กว้างมาก ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึก ก็เป็นนามธรรม สัญญาความจำก็เป็นนามธรรม หรือแม้แต่เจตสิกอื่นๆ ที่ปรุงแต่งมากมาย เป็นความรัก ความชัง ความดีใจ เสียใจ ซึ่งก็มีมากมาย การที่เราจะปรุงแต่งไปต่างๆ นานา ความขี้เกียจ ความขยันต่างๆ นี้ก็เป็นสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมเช่นกัน เป็นสังขารธรรม เป็นสังขารขันธ์ด้วย ส่วนจิตนี่แน่นอน เรายึดถือจิตเป็นเราตลอดเลย ไม่ว่าเห็น ได้ยิน ก็เป็นเรา เพราะฉะนั้นทั้งหมดนี้ ก็เป็นธรรมแต่ละอย่างนั่นเอง เพราะฉะนั้นที่กายเราก็ตาม ที่กายภายนอกก็ตาม ถ้าเป็นธรรมแล้ว ไม่ใช่เรา
ผู้ฟัง อยากทราบคำว่า สังขาร แปลได้กี่อย่าง
คุณอุไรวรรณ เชิญคุณธิดารัตน์ค่ะ
อ.ธิดารัตน์ สังขาร ก็คือ ธรรม ที่เกิดเพราะปัจจัยปรุงแต่ง ไม่ว่าจะเป็นจิต เจตสิกหรือว่ารูป แต่เราชอบคิดว่า รูปอย่างเดียวที่เป็นสังขาร ก็คือ รูปที่ประชุมกันเป็นรูปร่างกาย แต่จริงๆ แล้วสภาพธรรม ไม่ว่าจะเป็นจิต เจตสิกหรือรูป ก็คือสังขารธรรม คือธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่ง เพราะฉะนั้นสังขารก็จะมีหลายความหมาย ก็เป็นสังขารธรรม โดยจำแนกโดยขันธ์ ก็จะมีคำว่าสังขารขันธ์
ถ้าเป็นสังขารขันธ์ จะหมายถึงเจตสิกแค่เพียง ๕๐ ดวง เว้นเวทนา และสัญญา ก็จะเป็นเจตสิกที่เหลือ ๕๐ ก็จะเป็นสังขารขันธ์ ก็จะมีความหมายเยอะ คือคำว่าสังขารนั้น ถ้าไปประกอบร่วมกับคำใด ความหมายก็อาจจะเปลี่ยนแปลง เช่น มาประกอบร่วมกับคำว่าขันธ์ ก็คือการจำแนกธรรม โดยนัยของขันธ์ ๕ ก็จะมีสังขารขันธ์ ก็จะได้แก่ เจตสิก ๕๐ ดวง แต่ถ้าคำว่าสังขาร ต่อท้ายด้วยคำว่าธรรม ก็คือธรรมทั้งหมด ที่เกิดเพราะปัจจัยปรุงแต่ง ก็คือได้แก่จิต เจตสิก รูป เป็นสังขารธรรม แล้วก็ยังมีอีกหลายความหมาย อีกเยอะมากเลยคำว่า สังขาร
อ.กุลวิไล ใคร่จะเรียนสนทนากับท่านอาจารย์ ถึงเรื่องของมิจฉาสติ เพราะว่าในพระสูตรนี้ ท่านกล่าวถึง องค์แห่งการเกิดขึ้นของอกุศลธรรม ซึ่งก็มีสภาพธรรมที่เป็นความเห็นที่ผิด ก็คือมิจฉาทิฏฐิ ความดำริผิด ก็คือมิจฉาสังกัปปะ ส่วนการงาน ผิดก็คือมิจฉากัมมันตะ วาจาผิด ก็คือมิจฉาวาจา แล้วก็การเลี้ยงชีพผิด ก็คือมิจฉาอาชีวะ มิจฉาวายามะ ก็คือความพยายามผิด มิจฉาสติ ก็คือการระลึกผิด ส่วนมิจฉาสมาธิ ก็คือการตั้งมั่นผิด ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เป็นสภาพธรรมที่เป็นอกุศลธรรม แล้วก็เป็นธรรมที่เป็นฝ่ายที่จะทำให้ไม่รู้ถึงความจริงนั่นเอง แล้วก็ไม่สามารถจะนำสัตว์ให้พ้นทุกข์ได้
ซึ่งก็มีข้อความอยู่ใน สัลเลกสูตร ที่กล่าวถึงมิจฉาสติ ซึ่งก็จะเห็นได้ว่ามิจฉาสติ ท่านกล่าวไว้ในนี้ว่า ได้แก่ขันธ์ที่เป็นอกุศลทั้ง ๔ ขันธ์เลย ซึ่งจะเห็นได้ว่า ท่านได้กล่าวถึงว่า ธรรมดามิจฉาสติ ก็มีเหมือนกับมิจฉาสังกัปปะ เป็นต้น ก็คือมีการดำริผิด ไม่ว่าจะเป็นไปในกาม ในความพยาบาท หรือว่าในความที่จะเบียดเบียน ไม่เป็นธรรมอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ คือไม่มีธรรมอะไรๆ แต่คำว่า มิจฉาสติ นี้ เป็นชื่อของขันธ์ที่เป็นอกุศลทั้ง ๔ ขันธ์ ที่เป็นไปแล้ว สำหรับผู้คิดถึงอดีต แม้นคำใดที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตกล่าวว่า อนุสสติ นั้นมีอยู่ ไม่ใช่ไม่มี ซึ่งได้แก่อนุสสติของผู้ตามระลึกถึงการได้บุตร การระลึกถึงการได้ลาภ หรือการระลึกถึงการได้ยศ ณ ที่สุดทั้งหลาย แม้คำนั้นจึงทราบว่า พระองค์ตรัสหมายเอา การเกิดขึ้นด้วยสติเทียม ของผู้ระลึกถึงเรื่องนั้นๆ จะได้เห็นถึงความต่างกัน ระหว่างสัมมาสติกับมิจฉาสติ เพราะว่าบางทีเราก็นึกว่า สติเป็นโสภณเจตสิก แต่มิจฉาสติในที่นี้ คืออกุศลขันธ์ทั้ง ๔ นามขันธ์ ๔ นั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นจิตที่เป็นวิญญาณขันธ์ แล้วก็เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ ที่เป็นฝ่ายอกุศลธรรม ซึ่งก็เป็นความคิดที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ก็จะกราบเรียนท่านอาจารย์ถึง มิจฉาสติ
ท่านอาจารย์ ไม่ว่าจะเป็นคนในกาลไหน สมัยโน้นใช้ภาษาบาลี สมัยนี้เราอยู่ที่นี่ ใช้ภาษาไทย เคยได้ยินคนพูดบ่อยๆ ใช่ไหม เดินดีๆ นะ ถ้าเดินไม่ดี ไม่มีสติเดี๋ยวหกล้ม ก็คือใช้คำ โดยที่ว่าไม่ใช่หมายความถึงสภาวธรรมที่มีจริง เพราะฉะนั้นถ้าโดยปรมัตถธรรม สติเป็นโสภณเจตสิก ต้องเกิดกับโสภณจิตเท่านั้น แต่การไม่ศึกษาธรรม ทำให้เข้าใจลักษณะของสติผิด และก็ใช้คำ สติ ในความหมายที่ว่าไม่ใช่สติเลย แต่ก็ใช้กัน
ด้วยเหตุนี้จึงทรงแสดงว่า ถ้าเป็นขณะอย่างนั้นๆ ที่เข้าใจว่าเป็นสติ แต่ไม่ใช่สติเจตสิกแล้ว เป็นมิจฉาสติ เพราะฉะนั้นก็จะต้องเข้าใจด้วย แม้แต่มรรคมีองค์ ๘ ทรงแสดงเทียบเคียงให้เห็นว่า ฝ่ายกุศลต้องเป็นสัมมาทิฏฐิ มรรคองค์อื่นๆ จึงจะเป็นสัมมาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นสัมมาสังกัปปะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ถ้ามีสัมมาทิฏฐิแล้ว เกิดแล้ว องค์อื่นๆ ที่จะไม่เป็นสัมมาไม่ได้เลย แต่ถ้าตรงกันข้าม มีความเห็นผิด มิจฉาทิฏฐิ เข้าใจว่าเป็นสัมมา เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นสังกัปปะ ก็เป็นมิจฉาสังกัปปะ หรือว่าความเพียร ก็เป็นมิจฉาวายามะ หรือแม้แต่สมาธิ ซึ่งเข้าใจว่าเป็นกุศลเป็นโสภณ ก็เป็นมิจฉาสมาธิตลอดไปทั้งหมด
เพราะฉะนั้นนี่ก็แสดงความต่างกัน ซึ่งจะต้องรู้ว่า ถ้าขณะใดไม่ใช่โสภณ ขณะนั้นจะเป็นสัมมาไม่ได้ ก็เป็นอกุศลไป เพราะฉะนั้นเรื่องของความเห็นผิด ก็ต้องเป็นอกุศล แล้วก็ใช้คำแสดงให้เห็น เทียบให้เห็นว่า เข้าใจผิด จึงคิดว่าเป็นสติ เป็นความเห็นถูก เป็นอะไรก็แล้วแต่ เข้าใจผิดคิดว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวายามะ เพียรกันใหญ่เลย แต่ความจริงก็เป็นมิจฉาทั้งหมด
คุณอุไรวรรณ สำหรับการสนทนาเรื่องอวิชชาสูตร ก็หมดเวลานะคะ ขอกราบอนุโมทนาท่านอาจารย์ และผู้ร่วมสนทนาธรรมทุกท่านค่ะ