ปกิณณกธรรม ตอนที่ 686


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๖๘๖

    สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๔๗


    ท่านอาจารย์ แล้วไม่ใช่หวังเพียงปีนี้ ปีก่อนก็หวัง ชาติก่อนก็หวัง ก็หวังว่าจะได้สิ่งที่ดีๆ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แต่ไม่รู้ว่าขณะนี้ สมหวังแล้ว คือว่าหวังจะได้เห็นก็เห็น หวังว่าจะได้ยินก็ได้ยิน หวังจะได้กลิ่นก็ได้กลิ่น หวังว่าจะลิ้มรสก็ลิ้มรส หวังว่าจะรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสก็กำลัรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสเดี๋ยวนี้ รู้ไหม ว่าตามความหวัง แล้วหวังอย่างนี้ จะได้ตลอดไปในสังสารวัฏฏ์ ไม่พ้นเลย จะได้อยู่เรื่อยๆ แล้วก็ไม่รู้ด้วยว่า แท้ที่จริงสิ่งที่ หวังได้อยู่ทุกวัน ตามความหวังที่เคยหวังไว้ อาจจะในแสนโกฏิกัปป์ ก็หวังอย่างนี้แหละ จะวันเกิดปีใหม่หรืออะไรก็แล้วแต่ แล้วก็ในแสนโกฏิกัปป์ ก็หวังอย่างนี้ แต่ไม่เคยรู้เลย ว่าได้อยู่ทุกขณะ พอหรือยัง นี่อวิชชา หรือเปล่าที่ไม่รู้ตามความเป็นจริง กำลังมีสิ่งที่ได้แล้ว จากความหวังในอดีต แต่ก็ติดในสิ่งที่กำลังได้ คือขณะที่กำลังเห็น เพราะไม่รู้ความจริง เมื่อไม่รู้ความจริง ติดอะไรที่กำลังเกิดหลังจากที่เห็นแล้ว ถ้าไม่ใช่เป็นความติดหรือความพอใจ ในสิ่งที่ปรากฏทางตา ในสิ่งที่จิตเห็นกำลังเห็นในขณะนี้ ชั่วขณะ แล้วก็ดับ จะเป็นอย่างนี้ตลอดไป

    เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า เราติดในสิ่งที่เห็น แต่เราลืม เราหวังอื่นทันที ใช่ไหม ทั้งๆ ที่ไม่รู้เลยว่าแม้เห็น ขณะนี้ก็ติดในสิ่งที่เห็น แต่ยังหวังต่อไปถึงสิ่งที่ยังไม่เห็น เพราะเหตุว่าจะหวังต่อไปว่าปีหน้าจะเป็นอย่างไร แล้วก็วันรุ่งขึ้นจะเป็นอย่างไร หวังต่อไปเรื่อยๆ โดยลืมว่าต้องรวมความติดข้อง ในสิ่งที่กำลังปรากฏด้วย เพราะฉะนั้น อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร เจตนาที่เกิดร่วมกับ อกุศล มากมายสักแค่ไหน แล้วเมื่อไรจะรู้ความจริง ถ้าไม่รู้ความจริง ละความหวังไม่ได้เลย แม้แต่จะหวังว่า จะรู้สภาพธรรม ที่ยังไม่ได้เกิด แต่ว่าสภาพธรรม ขณะนี้กำลังปรากฏ ทำไมไม่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ทำไมไม่คิด ที่จะเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่หวังว่าจะไปรู้สิ่งที่ไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้เลย จะออกจากสังสารวัฏฏ์ ได้อย่างไร ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ฉลาดในธาตุ ในอายตนะ ในปฏิจจสมุปบาท ก็เป็นเรื่องที่ถ้าเข้าใจเรื่องของอวิชชา ก็จะทำให้รู้ว่าเป็นผู่ที่มั่นคง ในการที่จะรู้ว่าปัญญา รู้อะไร แล้วก็จะอบรมอย่างไร แล้วก็ต้องเป็นปัญญาของเราเองด้วย ที่ต้องค่อยๆ เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏเพิ่มขึ้น มิฉะนั้นก็จะไม่ละความหวังเลย ก็ยังคงหวังต่อไป แม้แต่ท่านที่หวังว่าเมื่อไรสติจะเกิดมากๆ นั่นก็คือไม่ได้รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ซึ่งขณะนี้ สามารถที่จะรู้ได้ แล้วถ้าไม่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้ เดี๋ยวนี้ แล้วก็จะไปรู้ขณะไหน ตามความหวังไปว่า หวังว่า สติสัมปชัญญะจะเกิด แต่ถ้าเกิดก็คือมีปัจจัยที่จะรู้ ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเป็นจริงอย่างนี้ โดยที่ใครก็สร้างให้เป็นอย่างนี้ไม่ได้ ใครที่จะทำให้สิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนี้เป็นอย่างอื่นไม่ได้ ใครจะไม่ให้เห็นเกิดขึ้นก็ไม่ได้ แล้วเมื่อเห็นแล้ว ความคิดต่างๆ จะเป็นความคิดที่ดี สัมมาสังกัปปะ หรือว่าจะเป็นความคิดที่ไม่ตรงไม่ถูก เป็นมิจฉาสังกัปปะ ก็เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย ไม่ใช่ว่ามีใครสามารถที่จะไปทำอะไรได้

    แต่พระธรรมที่ทรงแสดง แม้ว่าจะผ่านมาแล้ว นานแสนนาน แต่ก็มีโอกาสได้ฟัง ก็ยังศึกษาด้วยความอดทน ด้วยวิริยะ แล้วก็รู้จริงๆ ว่าต้องเป็นความเข้าใจ ลักษณะของสภาพธรรม เพราะเหตุว่าธรรมที่ได้ยินได้ฟัง ก็เป็นเพียงเรื่องราว แต่ว่าตัวธรรมจริงๆ ปรากฏ เมื่อสติสัมปชัญญะระลึกก็จะรู้ตรงว่าลักษณะนั้น ตรงตามที่ได้ทรงแสดงทุกอย่าง

    ผู้ฟัง บัณฑิต ถ้าเป็นพระอริยบุคคล ตั้งแต่โสดาบันบุคคลขึ้นไป จนถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นบัณฑิตแน่นอน ทีนี้ปุถุชนที่เป็นบัณฑิต เมื่อกี้นี้กล่าว่า ปุถุชนเป็นบัณฑิตได้ แล้วเป็นผู้ฉลาดในธาตุ ในอายตนะ ในปฏิจจสมุปบาท

    ท่านอาจารย์ ก็คือสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เท่านั้นเอง จะไป เป็นอย่างไร ก็คือว่าไม่พ้นไปจาก สิ่งที่ปรากฏ ถ้าพูดถึงคนที่หวังลาภ ซึ่งก็ส่วนใหญ่ก็จะหวัง ไม่มีหวังทุกข์ ใช่ไหม ไม่มีหวังสิ่งร้ายๆ แต่ก็หวังสิ่งดีๆ เพราะฉะนั้น เวลาที่หวังมาแล้วในสิ่งนั้น แล้วก็กำลังได้สิ่งนี้ หรือจะได้สิ่งต่อไปก็ไม่พ้นจากทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย สรุปแล้วก็คือว่าหวังจะได้อะไรก็ต้องไม่พ้นจากปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เท่านั้นเอง

    ผู้ฟัง เราไม่ได้หวัง แต่สิ่งนั้นก็ปรากฏขึ้น ซึ่งไม่ได้อยากให้มันปรากฏเลย

    ท่านอาจารย์ ไม่มีหรอกที่ไม่หวัง เพราะว่า คุณวีระ อาจจะไม่ทราบว่า ชาติก่อนหวังอะไร ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ก็มีชาตินี้ที่เห็น ถ้าย้อนคิดไปก็อาจจะ รู้ได้ว่าหวังอย่างนี้หรือเปล่า เพราะว่าไม่ว่าจะชาติไหนทุกคนก็หวังจะเป็นสิ่งที่ดี หวังจะได้ยินเสียงที่ดี แต่เมื่อได้แล้วก็คือหมดไปทันทีที่ปรากฏ เกิดแล้วเป็นผลของกุศลที่ได้ทำไว้ แล้วก็หมดไปแล้วด้วย แล้วก็จะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ หวังจะได้อะไรมาก็เพียงชั่วขณะนิดเดียว ได้จริงๆ ปรากฏทางตาจริง ทางหูจริง จมูก ลิ้น กายจริง แต่ก็หมดแล้ว เหลือแต่ความติดแล้วก็หวังต่อไป

    ผู้ฟัง ความหวังก็ดีเหมือนกัน เพราะว่าความหวังทำให้มี กำลังใจที่จะได้ทำ

    ท่านอาจารย์ ที่จะได้เห็น ใช่ไหม ที่จะได้ยิน ที่จะได้กลิ่น ที่จะลิ้มรส ที่จะรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย เท่านี้ ไม่มีอื่น

    ผู้ฟัง อย่างนี้ไม่อยากหวัง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ธรรมเป็นเรื่องละ ถ้ารู้จริงๆ ละหวัง เพราะว่ากำลังมีแล้ว สิ่งนี้เกิดแล้วตามความหวัง ที่เคยหวัง แต่ว่าไม่เข้าใจความจริง ของสิ่งนี้ ก็หวังข้างหน้า ทั้งๆ ที่ขณะนี้ ติดข้องใน สิ่งที่ปรากฏที่ได้เคยหวัง คือขณะนี้มีแล้วทั้งนั้นเลย

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์พูดในลักษณะอย่างนี้ เหมือนอย่างกับว่าบัญญัติไม่ต้องเข้ามาเกี่ยวข้องเลย อย่างนั้น หรือ

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้กล่าวถึงว่าอย่างนั้น เพียงแต่ว่าให้รู้ความจริงว่าเราต้องการอะไร แล้วสิ่งที่เกิดแล้ว ตามความต้องการ ของเราโดยที่เราก็ไม่เคยรู้เลย

    อวิชชา ไม่รู้ตามความเป็นจริงว่า สิ่งที่มีในขณะนี้ มาจากไหน เกิดขึ้นได้อย่างไรเพราะทรงแสดงไว้ว่า สมุทยสัจจะ อะไรเป็นเหตุที่จะให้เกิดทุกข์ทั้งหลาย ซึ่งก็ได้แก่สภาพธรรมที่เกิดดับนั่นเอง ให้เห็นความเป็นอวิชชาว่ามากมาย

    ถ้าไม่รู้จริงๆ ไม่เข้าใจจริงๆ ไม่สามารถ ที่จะถึงการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ไม่สามารถที่จะออกจากสังสารวัฏฏ์ได้ เราก็เพียงแต่รู้เรื่องราว เพราะฉะนั้น ธรรมจึงเป็นสิ่งที่ละเอียด ที่จะต้องไตร่ตรอง ว่าขณะนี้เป็นธรรม มีแล้ว แล้วก็เคยหวังแล้วว่าจะได้ ก็ได้อยู่ทุกขณะ แล้วหวังต่อไปอีกก็ได้ อีกไม่ออกจากสังสารวัฏฏ์ได้เลย

    พระธรรมที่ทรงแสดงทั้งหมด ทรงแสดงให้เราเกิดปัญญาที่จะเห็นอวิชชา เพราะว่าเรารู้ แต่คำว่า อวิชชา แต่ขณะนี้มีอวิชชา คือไม่รู้ สิ่งที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง แล้วก็ไม่รู้ว่าขณะนี้ที่เห็นเมื่อเห็นแล้วก็ติดข้อง แล้วก็หวังที่จะได้สิ่งอื่น ทั้งๆ ที่กำลังติดข้องในสิ่งที่ปรากฏ

    ผู้ฟัง เข้าใจให้ถูกต้อง ในสิ่งที่ได้แล้ว

    ท่านอาจารย์ ตามความเป็นจริง ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิด จะรู้ไหมว่า มีแล้ว ขณะนี้มีแล้ว

    ผู้ฟัง ไม่รู้ มีแต่จะหวัง ไปเรื่อยๆ คือไม่พอ สิ่งที่มีอยู่แล้วก็ไม่พอ

    ท่านอาจารย์ อวิชชา ก็เป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร

    ผู้ฟัง ในปฏิจจสมุปบาท คำว่า ภพ เข้าใจว่า เป็นแดนเกิด ใช่ไหม คือไปนึกถึงแดนเกิดในมนุษย์ หรือว่าในสวรรค์

    ท่านอาจารย์ พอพูดถึงตรงนี้ ก็เหมือนกับเข้าใจไปเลย ใช่ไหม ภพที่เกิดคือสวรรค์ แต่แล้วมีอะไร ที่สวรรค์มีอะไร

    ผู้ฟัง มีเทพ

    ท่านอาจารย์ เทพ คืออะไร ก็คือภาวะความเป็น ถ้าไม่มีเลย อย่างดาวอังคาร จะเรียกว่าสวรรค์ไหม ถ้าไม่มีภาวะ หรือไม่มีความเป็น ที่เป็นสัตว์ บุคคล

    ผู้ฟัง เวลามีโทสะ ก็ถือว่าเป็นภพ ๑ เหมือนกัน เมื่อมีโทสะ อันนี้ ก็คือเป็นภาวะ ความเป็นได้ ใช่ไหม ไม่ทราบว่าเข้าใจถูกหรือเปล่า

    วิทยากร. ภพ ในที่นี้คือ กรรมภพ เมื่อมีกรรมหนึ่ง กรรมใดที่ได้ทำไว้แล้ว ก็จะต้องเกิดขึ้นในภพ ๑ ภพใดใน ๓๑ ภพภูมิ ที่อาจารย์ท่านกล่าวว่า ภพ คือ ภาวะความเป็น เพราะว่า เพราะมี อวิชชา ก็เป็นปัจจัย เพราะฉะนั้น ในเมื่อยังมี อกุศลอยู่ ยังมีพืชเชื้ออยู่ ก็เป็นปัจจัยที่จะทำให้โทสะเกิดได้ แต่โทสะ ที่นี้ท่านไม่ได้แสดงว่าเป็นภพ เพราะภพ คือ กรรมภพ อย่างที่ท่านแสดงว่าเมื่อ มีภพ ก็มีชาติ แล้วก็มีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมานัสสะ อุปายาส ซึ่งก็คือ ทุกข์ประการต่างๆ อย่างเช่น ทุกข์มีความโศก มีความคร่ำครวญ มีความโทมนัส แล้วก็มีความคับแค้นใจ ก็เป็นลักษณะของโทสะทั้งนั้นที่เกิดขึ้น เมื่อมีภพ แต่ที่มีภพ ก็เพราะว่า มีอุปาทาน

    ท่านอาจารย์ อันนี้ก็จะขอกล่าวถึงอุปสรรค เพราะเหตุว่าเป็นความขัดข้องแล้ว ใช่ไหม อุปสรรคที่จะทำไม่ให้เข้าใจธรรม ก็เพราะเหตุว่าเราไม่ได้ศึกษาตามลำดับ บางที่เราไปเจอคำไหน เราก็อยากรู้ว่าคำนี้คืออะไร แล้วก็ยิ่งเป็นเรื่องคำอธิบาย โดยบุคคล หรือว่าโดยหนังสือที่ยกมา เป็นเฉพาะตอนๆ ไม่สามารถที่จะทำให้เราเข้าใจ โดยลำดับได้ เราก็จะเป็นคนที่เก็บคำนี้มาแล้วก็ คิดว่าคำนี้คืออะไร เก็บคำนั้นมาแล้วก็คำนี้คืออะไร แต่ที่จะเข้าใจได้จริงๆ ก็คือการที่จะต้องฟังแล้วก็เข้าใจตามลำดับจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภพ ภาวะ หรือว่าจะเป็นเรื่องของปฏิจจสมุปบาท หรืออะไรก็ตาม ใครก็ตามที่ไม่ได้ศึกษาตามลำดับ พอได้ยินคำว่า ปฏิจจสมุปบาท ก็อยากจะทราบว่าคำนี้คืออะไร ก็พยายามหาคำแปล แต่จริงๆ แล้วจะเข้าใจแม้แต่คำว่า อวิชชา หรือเปล่า เพราะว่าเริ่มต้นของปฏิจจสมุปบาท ก็คือ อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร เพราะฉะนั้น ก็จะได้แต่เพียงคำ แต่ว่าไม่สามารถที่จะเข้าใจสภาพธรรมได้ แต่ว่าถ้าจะไม่ให้เป็นอุปสรรค ในการขัดข้อง ที่จะเข้าใจสภาพธรรม ก็คือว่า ศึกษาตามลำดับแล้วก็ให้เป็นความเข้าใจจริงๆ แม้แต่คำเดียว เช่น คำว่า ธรรม ถ้ามีความเข้าใจจริงๆ ก็จะไม่ขัดข้องเลย ไม่ว่าจะอ่านในพระสูตรหรือว่า ในพระวินัย หรือในพระอภิธรรม ตอนใดก็ตาม

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์พูดถึงสิ่งที่มีในขณะนี้ มาได้อย่างไร ท่านอาจารย์จะรวมทั้งหมดเลย ใช่ไหม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การถูกต้องกระทบสัมผัส หรือแม้แต่ผลของกุศล หรือผลของอกุศล ที่เราได้รับ ในวัฏฏะนี้ คือเป็นไปในฝ่ายเกิด

    ท่านอาจารย์ คือต้องทราบมาก่อน สิ่งที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้ ที่มีจริงๆ เป็นอะไร แล้วเราถึงจะเข้าใจถูกว่ามาจากไหนได้อย่างไร คงไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ ก็เกิดมาโดยที่ไม่มีเหตุ ไม่มีที่เกิด เพราะฉะนั้น เวลาที่เราเห็น เพื่อที่จะให้เข้าใจถึง ความมากมาย ของอวิชชา ซึ่งเราอาจจะคิดว่าไม่มากเลย อวิชชา ก็คือไม่รู้ แต่พอพูดอย่างนี้ ก็ยังไม่รู้อยู่นั่นเอง ว่าไม่รู้อะไร แต่ไม่รู้จริงๆ ก็คือ ไม่รู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ นี่ก็เรื่องหนึ่ง ไม่รู้ความจริงว่าขณะนี้ มีสภาพธรรมที่ปรากฏ ตามที่เคยหวัง ไม่รู้อีกเหมือนกัน เพราะว่าบอกว่าสิ่งนี้มาจากไหน ถ้าไม่เคยหวัง ไม่เคยต้องการ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส เหล่านี้ก็มีไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น แม้สิ่งที่มีไม่ต้องหวัง เพราะเหตุว่า เกิดแล้ว จะไปหวังได้อย่างไร ในเมื่อสิ่งนี้เกิดแล้ว แล้วเราก็ติดในสิ่งที่เห็น แล้วหวังต่อไป เพราะฉะนั้น ก็ต้องเข้าใจจริงๆ ว่าสิ่งที่ปรากฏในขณะนี้ มีเพราะเคยหวัง หรือใครไม่เคยหวัง หรือใครกำลังหวัง ถ้าหวังอีกก็ได้แค่นี้ คือเห็นมีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา จะหวังสิ่งที่คิดว่าน่าปรารถนา สักเท่าไรก็ตาม เพชรนิลจินดา แก้วแหวนเงินทอง สวรรค์ หรือที่ไหนก็ตามแต่ ไม่รู้ว่ามีความติดข้อง แล้วไม่รู้ว่ามาจากการที่เคยหวัง ก็จะทำให้หวังต่อไปไม่มีวันจบ

    ผู้ฟัง ในชีวิตประจำวัน สิ่งที่เราได้ ไม่ว่าจะเป็น ลาภ ยศ สรรเสริญ หรือแม้ทรัพย์สมบัติ ที่เรามีอยู่ ก็เป็นโลกของบัญญัติทั้งหมดเลย แต่สิ่งที่มีจริงนั้นก็คือแค่ ปรมัตถ์เท่านั้นเอง

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ อะไรก็ไม่มีปรากฏ การฟังธรรมต้องฟังตามลำดับ จากเรื่องที่สามารถจะเข้าใจได้ ในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงความละเอียด เช่น พอพูดถึงภัยคนทั่วไป จะไม่คิดถึงอกุศลเลย แต่จะคิดถึงขณะที่มีสิ่งที่น่ากลัว เป็นอันตราย ไฟไหม้ น้ำท่วมหรืออะไรก็ตามแต่

    แต่ที่คุณประเชิญถามตอนแรก ว่าภัยมาจากคนพาลหรือเปล่า อันนี้ก็ไม่เกี่ยวกัน อันนี้หมายความถึงว่า ภัย คือ สิ่งที่ทำให้เรา สะดุ้งหวาดกลัว สิ่งที่เป็นภัยทั้งหมด ไม่มีใครชอบ เพราะฉะนั้น เวลาที่เราพูดถึงภัย คนทั่วไป เข้าใจอย่างนี้ แล้วค่อยๆ เข้าใจขึ้น ว่าภัยนั้น เมื่อไร ขณะไหน ในขณะที่กำลังเห็น ในขณะที่ได้ยิน ในขณะที่ได้กลิ่น ในขณะที่ลิ้มรส ในขณะที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสที่ทำให้สะดุ้งกลัว อันนั้นก็เป็นภัย กลัวภัยอย่างนี้หรือเปล่า กลัวเห็น สิ่งที่น่ากลัว กลัวได้ยินเสียงที่น่ากลัว กลัวกลิ่นรสทุกอย่างที่ไม่น่าปรารถนาที่ทำให้น่ากลัว อย่างยาพิษ ภัยหรือเปล่า ใช่ไหม รสนั้นอยากจะได้ไหม กลัวหรือเปล่า ก็จากสิ่งที่เราเข้าใจ คนทั่วๆ ไปเข้าใจแล้ว จนกระทั่งค่อยๆ ละเอียดขึ้น ถือว่าแท้ที่จริงแล้ว ภัยนั้นมาจากไหน ภัยทั้งหลายที่จะทำให้บุคคลนั้นตกใจกลัว ก็คือจากคนพาลก่อน คือให้เข้าใจเป็นเรื่องของสัตว์ บุคคล จนกระทั่งถึงเรื่องสภาพธรรม

    ผู้ฟัง ความเกิด เป็นทุกข์อย่างไร

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีความเกิด จะมีความกลัวไหม ต้องร้องไห้ไหม ต้องไปโรงพยาบาล หรือเปล่า ถ้าไม่มีความเกิด ไปรักษาตัว ต้องไปไหม ต้องรับประทานอาหารไหม ไม่ต้องอะไรเลยสักอย่าง

    ผู้ฟัง ตราบใดที่ยังไม่เข้าใจว่า อะไรเป็นรูปกับนามที่มันต่างกัน ตรงนี้ มันก็ไม่มีทางที่สติ จะเกิดระลึกได้เลย

    ท่านอาจารย์ ถ้าเรารู้ว่าสภาพธรรม สั้นมาก ที่กำลังปรากฏ กำลังเกิดดับ อย่างรวดเร็ว แล้วเราจะไปหาอะไร ที่ไม่ปรากฏมารู้ ในเมื่อสิ่งที่ปรากฏมี กำลังปรากฏ แล้วก็สามารถที่จะประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรมที่เป็นอย่างนี้ในขณะนี้ ได้ด้วย ต่อเมื่อมีการเข้าใจขึ้น แล้วก็อบรมเจริญปัญญา แล้วเราจะไปหาอะไรมารู้ในสิ่งที่ปรากฏ แล้วก็ไม่รู้ไปเรื่อยๆ

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ก็ได้กล่าวเหมือนกับว่า ขณะที่สติปัฏฐานเกิด ตั้งแต่ศีรษะถึงเท้า มันจะไม่มีอะไรปรากฏเลย นอกจากลักษณะที่สติ และปัญญาระลึก ขณะนั้นประโยชน์ ตรงนี้ก็ทำให้เห็นความแยกกันว่า มันไม่เป็นฆนะสัญญา อันหนึ่ง แล้วก็ลักษณะที่ปรากฏ ก็ไม่ต้องเอ่ยถึงอะไร มันเป็นลักษณะของสภาพธรรม ตรงนั้น ประโยชน์ ตรงนี้ที่ได้ จากสติปัฏฐานหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ การที่เรารู้ว่า ขณะนี้มีสภาพธรรม แล้วไม่รู้ ก็จะทำให้เราเข้าใจ สิ่งที่กำลังปรากฏ โดยที่ไม่ต้องไปแสวงหาอย่างอื่น เพราะฉะนั้น ขณะนี้เอง เข้าใจก็เข้าใจตรงนี้ ปัญญารู้ ก็รู้ตรงนี้ เพื่อจะได้เข้าใจถูกต้องว่า เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ยังไม่เกิด แล้วไปแสวงหา

    ผู้ฟัง แต่ไม่ใช่ง่ายที่จะ แม้แต่ขั้นอบรมที่จะรู้ความต่างระหว่าง รูปกับนาม หรือเสียงกับได้ยิน หรือว่าคิดนึก ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ง่ายเลย

    ท่านอาจารย์ ก็กว่าจะให้เห็นว่าไม่ใช่ง่ายซึ่งเป็นความถูกต้อง ก็ต้องอาศัยกาลเวลาด้วย ที่จะเข้าใจว่า ไม่ใช่ง่าย

    ผู้ฟัง แต่ก็ทราบว่าความต่าง มีอยู่

    ท่านอาจารย์ แต่ว่าศึกษาธรรมเพื่อละ ถ้ารู้ว่ามีธาตุ ๑๘ แล้วก็มีชื่ออย่างนี้ อยากรู้ไหม มาแล้วใช่ไหม ตัวอยาก แล้วจะรู้ได้ไหม ด้วยอยาก แต่ว่าเมื่อฟังแล้วก็มีความเข้าใจที่ถูกต้อง ว่าทรงแสดงเรื่องสภาพธรรมที่กำลังมีจริงๆ ในขณะนี้ว่า เป็นธาตุทั้งหมด ไม่มีสักอย่างเดียวใน ๑๘ นี้ที่เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน แล้วทั้งหมดก็คือขณะนี้ ไม่ว่าอะไรก็รวมอยู่ในธาตุ ๑๘ นั่นเอง

    การฟัง ไม่ใช่ว่าฟังแล้วอยากจะรู้ ลักษณะของจักขุปสาท อยากจะรู้ลักษณะของโสตปสาท นั่นไม่ใช่เป็นการฟัง เพื่อ ที่จะละความอยาก เพราะเหตุว่าไม่รู้จึงอยาก แต่ว่าการฟัง ฟังเข้าใจว่าขณะนี้เป็นธาตุ ไม่ว่าจะเห็นจะได้ยิน จะได้กลิ่น จะลิ้มรส จะอะไรก็ตามแต่ทั้งหมด เป็นธาตุซึ่งก็เป็น นามธาตุกับรูปธาตุ เพียงเท่านี้ ผู้ที่ตรง ก็ย่อมจะรู้ว่า เรารู้แค่ไหน พูดถึงเรื่องธาตุ ๑๘ แต่ละธาตุ เรารู้แค่ไหน เราเพียงแต่ได้ยินชื่อ ธาตุ ๑๘ แล้วก็รู้ว่าขณะนี้ ทั้งหมดเป็นธาตุ แต่เป็นผู้ฉลาด เป็นผู้ที่รู้ลักษณะของธาตุนั้นๆ หรือยัง นี่เป็นสิ่งที่จะต้องเข้าใจว่าประโยชน์ ของการฟังพระธรรม เพื่อละความไม่รู้ แต่ไม่ใช่เพื่ออยากรู้ จักขุปสาทรูป หรือโสตปสาทรูป ซึ่งในขณะนี้ มีธาตุที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น ถ้ายังไม่รู้ธาตุที่ปรากฏ ตามความเป็นจริง จะไปรู้อื่น จะรู้ได้อย่างไร ในเมื่อสิ่งที่กำลังปรากฏก็ยังไม่รู้

    การศึกษาก็ให้เราเป็นผู้ตรง ว่าขณะนี้ ได้ยินคำว่าธาตุ ๑๘ แล้วรู้ธาตุไหนบ้าง ยังใช่ไหม หรือว่ารู้แล้ว แต่ว่าเข้าใจได้ว่าทั้งหมดเป็นธรรม เป็นธาตุแต่ละอย่างไม่มีสักอย่างเดียวซึ่งพ้นไปจากธาตุได้

    เวลาที่พูดถึง ธาตุ ๑๘ เริ่มด้วย ธาตุ คือจักขุ ได้แก่จักขุปสาทรูป รู้ จากการฟังว่ามี อยู่ตรงไหนก็ยังรู้ด้วย ใช่ไหม จักขุปสาทรูป ไม่ได้อยู่ข้างหลัง อยู่ตรงกลางตา และสามารถจะกระทบกับสิ่ง ที่กำลังปรากฏ ขณะที่กำลังเห็นก็แสดงว่ารูปกำลังกระทบจักขุปสาทแล้ว แล้วจักขุวิญญาณ คือ เห็นในขณะนี้ ก็คือธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งต่างจากสิ่งที่ปรากฏทางตา ซึ่งเป็นรูปธาตุ ต่างจากจักขุปสาทรูป ซึ่งเป็นจักขุธาตุ นี่คือให้เรา มีความเข้าใจจริงๆ ว่า ทุกขณะก็เป็นธาตุแต่ละอย่างนั่นเอง นี่ขั้นฟัง แต่ว่าตามความเป็นจริง พระธรรมที่ทรงแสดง ชี้ถึงสิ่งที่มีในขณะนี้ ให้เข้าใจให้ถูกต้องว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล และที่จะใช้คำว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่บุคคล ก็ทรงบัญญัติ ใช้คำว่า ธาตุ หรือ ธา-ตุ ซึ่งทุกคนก็เข้าใจได้

    เวลาที่พูดถึงธาตุ เราไม่ได้คิดว่า ธาตุนั้นๆ เป็นเรา เราคิดโดยความหมายว่า ธาตุ เป็นธาตุ ฉันใด เพราะฉะนั้น สภาพธรรมที่มีอยู่ทั้งหมด ความจริงก็คือว่า ไม่ใช่ของใคร ไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้น ก็เป็นธาตุ เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจความหมายนี้ คุณวิจิตรมีตาไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ มีจริงๆ เป็นธาตุ หรือว่าเป็นคุณวิจิตร

    ผู้ฟัง เป็นธาตุ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จะสงสัยไหม ว่าธาตุคือจักขุ ก็ตรงกับที่คุณวิจิตรบอก คุณวิจิตรมีตา มีจริงๆ แล้วก็ที่กล่าวถึง ก็คือเป็นสภาพธรรม อย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ ของใคร ตาก็คือตา เพราะฉะนั้น ตาก็เป็นธาตุ ตรงกับภาษาบาลี ที่ทรงแสดงไว้ว่า ธาตุ คือ จักขุ ก็จักขุคือตาเดี๋ยวนี้แหละ เป็นธาตุ ให้เข้าใจความจริงอย่างนี้ นี่คือฉลาดในธาตุ เพราะเหตุว่า จักขุเป็นธาตุ ก็ต้องเข้าใจว่าขณะนี้จักขุที่มีขณะนี้ เป็นธาตุ ใช่หรือไม่ใช่

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 108
    25 มี.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ