ปกิณณกธรรม ตอนที่ 689


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๖๘๙

    สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๔๗


    ท่านอาจารย์ ก็เป็นเรื่องที่จะต้องรู้ด้วยตัวเองทั้งหมด ไม่ใช่เพียงแต่ในหนังสือ เมื่ออ่านแล้วเราก็สามารถที่จะเข้าใจ ความหมาย หรืออรรถของอายตนะ ของธาตุ ที่เป็นธาตุก็คือทั้งหมดเป็นธาตุ แต่ที่เป็นอายตนะ ขณะนั้นถ้าไม่มีจิตเห็นเลย จะเป็นที่สืบต่อของธรรมอีกหลากหลายที่จะติดตามมาหรือเปล่า เพราะเหตุว่าเมื่อมีอายตนะแล้ว ก็เป็นบ่อเกิด เป็นที่เกิดของสภาพธรรมที่สืบต่อไปอีกนานแสนนาน ในสังสารวัฏฏ์ ซึ่งต่อไปก็จะเกี่ยวกับปฏิจจสมุปบาท

    ผู้ฟัง เรียนถามท่านอาจารย์ ว่าไม่ทราบว่าในพระธรรมทั้งหมด นี่ การพิจารณาถึงการสอดคล้องกันทั้งหมด จะบางส่วนได้ไหม ที่จะเป็นแค่ความจำ

    ท่านอาจารย์ จำอย่างไร จำชื่อ หรือว่าเข้าใจ แล้วก็ขณะที่เข้าใจก็จำ สัญญาเจตสิกเกิดกับจิตทุกขณะ จำโดยที่ไม่เข้าใจ คือสัญญาที่ไม่มีความเข้าใจเกิดร่วมด้วย แต่ก่อนที่เข้าใจก็ต้องจำไปด้วย ไม่ใช่ว่าเราจะต้องไปนั่งท่องอะไร

    ผู้ฟัง ที่เขาบอกว่า สงเคราะห์ แล้วจะเป็นความจำโดยที่สงเคราะห์กัน เราก็ทำตาม ไม่ถูกต้อง ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ การศึกษาธรรม ต้องทราบ เฉพาะตนเลยว่า เพื่ออะไร จุดประสงค์ของแต่ละคนอาจจะไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ผู้ที่ได้สาระจากพระธรรมก็คือ ผู้ที่ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม เพื่อเข้าใจถูกเห็นถูกในธรรม แล้วยังเพื่อขัดเกลากิเลส

    ผู้ฟัง แม้กระนั้น ขณะที่ กรรมจะสงเคราะห์ หรืออะไรก็ตาม ก็ควรที่จะย้อนกลับมาพิจารณา ถึงความสอดคล้อง ถ้ามีเวลา

    ท่านอาจารย์ ที่ใช้คำว่าสอดคล้อง ที่นี่หมายความว่า ความจริงของธรรมนั้น ถูกต้องไม่ติดขัด หมายความว่าสามารถที่จะเป็นความจริงในทุกที่ทุกสถาน เช่น อุปจย สันตติ ชรตา อนิจจตา เป็นลักษณะของรูป ไม่ว่าจะในภพไหน ภูมิไหน ขณะไหน กลาปไหนต้องเป็นอย่างนั้น

    ผู้ฟัง ซึ่งอาจจะ ถ้าว่าจำ ก็จำได้ว่ามี ๔ แต่ถ้าว่าจากจำแล้ว มาพิจารณาถึงความสอดคล้อง เพื่อการละ อันนี้ก็จะเป็นประโยชน์มากกว่า ที่จะเพียงแต่สงเคราะห์เฉยๆ

    ท่านอาจารย์ ละที่นี่ ก็คือ เมื่อมีความเข้าใจถูก ปัญญาก็ทำกิจของปัญญาเพิ่มขึ้น คือสามารถเห็นสิ่งที่เป็นอกุศลว่าเป็นอกุศล เห็นสิ่งที่เป็นกุศลว่าเป็นกุศล เพราะฉะนั้น ก็จะมีการขัดเกลา นี่คือประโยชน์ มิฉะนั้นแล้ว ถ้าศึกษาแล้วไม่ได้ขัดเกลาเลย มีแต่ความจำ แต่ว่าไม่ได้เข้าถึงความเป็น อนัตตา และความเป็นเหตุ เป็นผล เป็นกุศล อกุศลในธรรม ก็จะไม่มีการขัดเกลาเลย อันนั้นก็ไม่ได้ประโยชน์ คือไม่ได้สาระจากพระธรรม เมื่อฟัง แล้วได้ยิน ไตร่ตรอง จนกระทั่งเป็นความเข้าใจ ในความจริงของสภาพธรรมนั้น ซึ่งจะต้องตรงกันทุกแห่ง แล้วก็ตรงตามความเป็นจริงด้วย ถ้าไม่ตรงก็ หมายความว่า ความเข้าใจนั้นยังไม่ครบสมบูรณ์ ยังคลาดเคลื่อน ยังไม่ถูกต้อง

    ผู้ฟัง ประโยชน์ของการที่เข้าใจ คือการละ

    ท่านอาจารย์ ประโยชน์ คือความรู้ว่าไม่ใช่ตัวตน

    ผู้ฟัง ไม่ใช่ตัวตน ขอบพระคุณ

    ผู้ฟัง ต้องศึกษาอย่างไร จึงจะไม่เป็นทะเลชื่อ ตั้งแต่อวิชชา เป็นปัจจัย จึงมีสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ ตั้งแต่ต้นไปเลย

    ท่านอาจารย์ โดยมากคนจะพอใจ ที่คิดว่าได้ศึกษาธรรมหัวข้อต่างๆ ศึกษาเรื่องปฏิจจสมุปบาท ศึกษาเรื่องขันธ์ เรื่องธาตุ เรื่องอายตนะ เรื่องสติปัฏฐาน พอใจที่จะรู้ชื่อ แต่จริงๆ แล้วไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น ควรที่จะรู้ว่ามีความเข้าใจ ในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง แค่ไหน เช่น แม้แต่ในคำว่า ธรรม ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เข้าใจอย่างไร ถูกต้อง แล้วก็ค่อยๆ ไปถึงคำต่างๆ

    เพราะฉะนั้น เรื่องปฏิจจสมุปบาท ถ้าเพียงแต่บอกว่ามีอะไร อย่างที่อ่านไปเมื่อกี้นี้ ครบ คิดว่ารู้เรื่องหมดแล้ว ก็ไม่มีอะไร แต่จริงๆ ไม่ใช่อย่างนั้น เพราะว่าสภาพธรรมที่เป็นปฏิจจสมุปบาท ก็ คือธรรมทั้งหมด ที่จะทำให้ก่อเกิดสังสารวัฏฏ์ต่อไป ไม่ใช่หนทางที่จะดับ ที่จะเป็นโลกุตตระ ถ้าเป็นโลกุตตระแล้ว ไม่เกี่ยวกับปฏิจจสมุปบาทเลย เพราะเหตุว่าไม่ใช่เป็นธรรมที่ทำให้ สังสารวัฏฏ์เกิดสืบต่อไป

    เพราะฉะนั้น ก็จะต้องเข้าใจจริงๆ ต้องรู้ว่าถ้าเป็นเรื่องที่ ถ้ายังไม่เข้าใจ ธรรม จะเข้าใจปฏิจจสมุปบาท ได้ไหม หรือว่าเข้าใจเพียงหัวข้อ อย่างเมื่อกี้ นี่เป็นปฏิจจสมุปบาทอะไร เห็นไหม ถ้าเรามีความเข้าใจ ในแต่ละองค์ของปฏิจจสมุปบาท เราก็สามารถที่จะเข้าใจถึงการสืบเนื่องกันได้ ว่าทั้งหมดความเห็นต่างๆ ขณะนั้นจิตเป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง ซึ่งถ้ากล่าวก็คือเป็น อภิสังขาร ที่เป็นบุญญาภิสังขาร หรืออบุญญาภิสังขาร ยังไม่ใช่ อเนญชาภิสังขารแน่ เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่ไม่ใช่ว่าเราได้ยินชื่อคำนี้แล้วเราจะเข้าใจทั้งหมด ขอเพียงให้เข้าใจความหมาย ของคำนั้นก่อน ทุกครั้งที่ไดยินคำอะไร ให้เข้าใจความหมายของคำนั้น แล้วค่อยเข้าใจ เพิ่มขึ้นๆ

    ผู้ฟัง อย่างไร จึงจะเป็นการรู้ปฏิจจสมุปบาท ในชีวิตประจำวัน ที่พอจะเข้าใจได้ สำหรับผู้ฟังโดยทั่วไป

    ท่านอาจารย์ ถ้าในชีวิตประจำวัน ก็มีชื่อที่จำได้ นี้แน่นอน คือพอพูดถึงปฏิจจสมุปบาท ชื่อนี้เคยได้ยิน แล้วก็จะมีความเข้าใจในชื่อนี้มากน้อยแค่ไหน นี้ประการที่ ๒ แล้วก็ขณะนี้ไม่ใช่ไปนั่งเปรียบเทียบว่าจะเป็นปฏิจจสมุปบาทอะไร เพราะว่าจริงๆ แล้วก็คือ ความเข้าใจธรรมทั้งหมด เมื่อถึงกาลที่เราสามารถเข้าใจ ถึงการที่ธรรมแต่ละอย่าง อาศัยกันเกิดขึ้นอย่างไร ก็จะเข้าใจ ไม่ใช่เพียงแต่เฉพาะหัวข้อว่าอวิชชาเป็นปัจจัยแก่สังขาร แต่จะต้องเข้าถึงว่าเป็นปัจจัย โดยฐานะอะไร ไม่ใช่ว่าปัจจัย แล้วปัจจัยอะไร ก็ไม่ทราบ ใช่ไหม

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่จะเข้าใจความละเอียดเพื่มขึ้นของธรรม โดยการที่รู้ว่า ไม่ใช่กล่าวว่าเป็นปัจจัยเฉยๆ แต่ว่าต้องทราบว่าโดยปัจจัยอะไรด้วย ก็เป็นเรื่องของการที่จะศึกษาเรื่องของสภาพธรรม จนกระทั่งเข้าใจขึ้นๆ ในความเป็นอนัตตา แต่ไม่ใช่ไปเจาะจง คิดว่าเราสนใจเรื่องนี้มาก เราอยากจะรู้เรื่องนี้อย่างเดียว แต่ความจริงแล้ว ต้องมีพื้นฐานตั้งแต่ต้น และก็จะเข้าถึงการสืบเนื่องกัน ของพระธรรมที่ได้ทรงแสดงโดยประการต่างๆ

    ผู้ฟัง คำว่า พาล กับบัณฑิต ถ้ารู้ปัญหานี้ มันก็อาจจะช่วยได้ เท่านั้นเอง ถูกหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ถ้ามีความเข้าใจว่าทุกอย่างเป็นธาตุ พาลเป็นธาตุหรือเปล่า แล้วก็บัณฑิตเป็นธาตุหรือเปล่า เพราะฉะนั้น ถ้ามีความเห็นผิด เราไม่ได้กล่าวถึงชื่อคนหรือว่าสัตว์ใดๆ เลยทั้งสิ้น ความเห็นผิดเป็นพาลหรือเป็นบัณฑิต คือทุกอย่างสามารถที่จะลงไปที่ธาตุได้ แม้แต่พาลก็คือคนที่เห็นผิด มีความประพฤติผิด มีความเข้าใจผิด เพราะฉะนั้น การกระทำทั้งหมด ซึ่งเกิดจากคนพาลก็เป็นโทษทั้งหมดเลย มาจากความเห็นผิด หรือความไม่รู้ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น พาลก็ต้องเป็นสภาพธรรมด้วย ทุกอย่างก็ต้องเป็นธรรม คนพาลจะพูดถูกได้ไหม จะทำดีได้ไหม นี้ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า ก็คือจิต เจตสิก รูป นั้นเอง

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ถ้าเผื่อใครก็ตาม

    ท่านอาจารย์ ก็จะเข้าใจความเป็นจริงของคำที่เราใช้ แม้แต่ว่าพาล หรือ บัณฑิต คือทุกอย่างเป็นธาตุทั้งหมด ก็สามารถที่จะเข้าใจได้ว่าเป็นธาตุอะไร

    ผู้ฟัง แล้วก็ต่อมาก็ยังมี อายตนะอีก ก็พูดถึง มันก็เรื่องใกล้ๆ กันกับธาตุ ๑๘ อีก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็อยู่ เรื่องเดียวใกล้ๆ กัน

    ท่านอาจารย์ ก็ลองยกตัวอย่างสักความเห็นหนึ่ง ว่าความเห็นผิด เป็นธาตุอะไร ทั้งหมดเรากล่าวรวมว่ามี ๑๘ ธาตุ เพราะฉะนั้น ความเห็นผิด เป็นธาตุอะไร คือถ้าเรียนแล้ว ไม่แยก ๑๘ เอาไว้เฉยๆ แต่ก็สามารถที่จะเข้าใจได้ว่า ไม่ว่าเราจะพูดอะไร ถ้าพูดถึงเรื่องคนพาลต้องเป็นปรมัตถธรรม เมื่อเป็นปรมัตถธรรม กล่าวเฉพาะความเห็น ว่าความเห็นผิด จะเป็นธาตุอะไรใน ๑๘ ธาตุ

    ผู้ฟัง ผมเรียกชื่อมันไม่ถูก

    ท่านอาจารย์ ชื่อก็คือว่าขณะนี้เอง เป็นธาตุทั้งหมด ต้องมีจักขุปสาทเป็นธาตุ แล้วก็ต้องมีรูปธาตุ ที่กระทบจักขุปสาท ทำให้เกิดจักขุวิญญาณธาตุ คือจิตเห็นขณะนี้ นี่ก็คือเราเรียกสิ่งที่เราได้เข้าใจว่า เป็นธาตุ คือเป็นธรรม เห็นก็เป็นธรรม แต่ไม่ใช่รูป จึงเป็นจักขุวิญญาณธาตุ สำหรับเห็น แต่เห็นนี้ก็ต้องอาศัยจักขุปสาท เป็นรูปธาตุ ก็เป็นจักขุธาตุ แล้วก็เห็น ก็ต้องมีสิ่งที่กำลังปรากฏ สิ่งนั้นต้องกระทบจักขุปสาท ก็เป็นรูปธาตุ สำหรับสีสันวัณณะ ใช้คำว่ารูปธาตุ ถ้าอย่างนั้น ๓ ธาตุแล้ว ใช่ไหม นี่คือขณะนี้ ถ้าเราจะรู้ว่าทุกอย่างเป็นธาตุ แม้ในขณะที่กำลังนั่งอยู่ที่นี่ เราก็ไม่ลืม เรื่องความเข้าใจของเราในเรื่องธาตุว่า เมื่อเป็นธาตุแล้ว ลองย่อยขยาย ที่เคยเข้าใจว่าเป็นเรา เป็นคน เป็นสัตว์ ที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน แท้ที่จริงแล้วเป็นธาตุอะไรบ้าง ทางตานี่ ๓ ธาตุ แล้ว ใช่ไหม ทางหู ๓ ธาตุ ทางจมูก

    ผู้ฟัง ๓ ธาตุเหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ ทางลิ้น

    ผู้ฟัง ๓ ธาตุ เหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ๑๕ ธาตุแล้ว เหลืออีก ๓ ธาตุ ป็น มโนธาตุ ได้แก่ ถ้าจะใช้ศัพท์ที่เราศึกษาพระอภิธรรมมาแล้ว ก็คือปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ สัมปฏิจฉันนะ ๒ เพราะว่าทั้ง ๓ ต้องเกิดที่หทยวัตถุ เป็นมโนธาตุ

    ในขณะที่จักขุวิญญาณเกิดที่จักขปสาท โสตวิญญาณก็เกิดที่โสตปสาท ฆานวิญญาณก็เกิดที่ฆานปสาท ชิวหาวิญญาณก็เกิดที่ ชิวหาปสาท คือพูดย้ำไปย้ำมา เพื่อที่จะให้รู้ว่า ขณะนี้เป็นธาตุ แม้แต่สิ่งซึ่งเป็นปัจจัย ที่จะให้เกิดเห็นขณะนี้ ก็ต้องเป็นธาตุด้วย เพื่อให้รู้ว่าขณะนี้กำลังเห็น เป็นธาตุ มิฉะนั้น การศึกษาเรื่องธาตุของเรา ก็เป็นการศึกษาเพียงเรื่องชื่อ แต่ว่าในขณะนี้มีเห็น แล้วก็จะให้เข้าใจให้ถูกต้องว่าเป็นธาตุอย่างไร ทั้งหมดนี่ ๑๕ ธาตุ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็มีมโนธาตุ ๓ ซึ่งได้แก่ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ สัมปฏิจฉันนจิต ๒ แล้วก็มี มโนวิญญาณธาตุ กับธรรมธาตุอีก ๒ อย่าง รวมเป็น ๑๘

    สำหรับมโนวิญญาณธาตุ ก็คือจิตอื่นทั้งหมดที่เหลือ จากที่ได้กล่าวแล้ว คือนอกจาก จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ ปัญจทวาราวัชชนจิต สัมปฏิจฉันนจิต นอกจากนี้แล้วเป็นมโนวิญญาณธาตุ สามารถที่จะรู้อารมณ์ได้ทั้ง ๖ เหลือธรรมธาตุ ถ้าเรามีความเข้าใจถูกต้องว่าทุกอย่างเป็นธาตุ แล้วก็ ธรรมทั้งหมดก็มี จิต เจตสิก รูป เพราะฉะนั้น จิตก็ได้เป็นวิญญาณธาตุหมดแล้ว ใช่ไหม แล้วก็รูปที่กล่าวถึงแล้วก็ มีเพียง ๕ รูป ๑๐ รูปทั้งภายนอก คือ สี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ จะนับจำนวนก็ได้ไม่นับจำนวนก็ได้ แต่เอาตามเข้าใจว่า รูปที่เหลือก็ต้องเป็นธรรมธาตุ เจตสิกทั้งหมดก็ต้องเป็นธรรมธาตุ นิพพานก็เป็นธรรมธาตุ คือธรรมทั้งหมดที่มีจริงๆ เป็นธาตุทั้งหมด ถ้าจำแนกไปโดยเป็นธาตุทั้งหลายแล้ว ส่วนที่เหลือทั้งหมด นอกจากวิญญาณธาตุ แล้วก็เป็นธรรมธาตุ

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดก็เป็นเจตสิก เป็นธาตุ เป็นธรรมธาตุ ถูกไหม

    ท่านอาจารย์ เป็นธาตุ เป็นธรรมธาตุ แล้วถ้าเข้าใจถูกต้อง เจตสิกทั้งหมดคือธรรมธาตุทั้งหมดเลย โลภธาตุ โทสธาตุ โมหธาตุ ทั้งหมดเลย แล้วก็ยังมีรูปส่วนที่ไม่ได้กล่าวถึง ที่เป็นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็เป็นธรรมธาตุ ถ้าเข้าใจว่าทุกอย่างเป็นธาตุ แล้วเป็นธรรม ถ้ากล่าวรวมคือธรรมทั้งหมด เป็นธาตุ แต่ถ้าแยกโดยทวาร อย่างที่เรากำลังนั่งอยู่เดี๋ยวนี้ ให้รู้ว่าไม่ใช่เรา เป็นธาตุ เราก็สามารถที่จะรู้ได้ วันหนึ่งๆ ไม่พ้นจากธาตุ ๑๘

    ความเป็นจริงก็คือพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญพระบารมี พร้อมด้วยพระญาณต่างๆ เมื่อสิ่งใดปรากฏ ด้วยพระญาณนั้นเอง ที่ได้มีปัญญาเหนือบุคคลอื่นใดทั้งสิ้น จึงสามารถที่จะทรงแสดงลักษณะของสภาพธรรมนั้นโดยประการทั้งปวง เมื่อโดยประการทั้งปวง ก็มีคำต่างๆ อย่างคำว่า ปรมัตถธรรม หรือว่าปรมัตถ หรืออภิธรรม หรือว่าธาตุ หรือว่าอายตนะ หรือขันธ์ทั้งหมด ก็เพื่อที่จะแสดงให้คนที่ไม่สามารถที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่มี ถ้าไม่ได้มีการฟังเลย แต่ว่าผู้ที่แม้ขณะนี้สภาพธรรมก็มี แล้วก็มีการฟัง แล้วก็มีการไตร่ตรอง โดยนัยประการต่างๆ เพื่อที่จะให้ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ในลักษณะของสภาพธรรม แม้ว่ายังไม่ได้ประจักษ์ แต่ว่าเวลาที่อบรมเจริญปัญญา ปัญญานั้นก็ไม่ใช่ว่ารู้อื่น เข้าใจอย่างอื่น แต่เข้าใจสิ่งที่กำลังมี ตามกำลังของความรู้ของบุคคลนั้น ซึ่งก็ต่างกันตั้งแต่ท่านพระสารีบุตร จนกระทั่งถึงพระมหาสาวก จนกระทั่งถึงพระสาวกธรรมดา อนุพุทธทั้งหลาย

    เพราะฉะนั้น ก็จะเป็นได้ว่าแม้สภาพธรรมมีเป็นความจริง แต่ผู้ที่สามารถที่จะแสดงสภาพธรรมนั้น โดยอรรถ โดยประการทั้งปวง ต้องเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ส่วนผู้อื่นแม้ว่าจะมีการประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ แต่ก็ไม่ได้สะสมปัญญาถึงระดับที่จะแสดงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังประจักษ์แจ้งโดยประการทั้งปวงได้ เช่น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    เพราะฉะนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องนึกไม่ออก แต่ว่าเป็นเพราะเหตุว่าไม่ได้สะสมปัญญาพระญาณถึงการเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำให้สามารถที่จะแสดงสิ่งที่มีจริงๆ ด้วยพยัญชนะ ด้วยอรรถประการต่างๆ ที่จะให้คนอื่นค่อยๆ เข้าใจขึ้นได้ อันนี้ก็เป็นการศึกษาให้เข้าใจสภาพธรรมที่มี ขั้นฟัง ขั้นพิจารณา แล้วก็ต้องอบรมจนกระทั่งถึงขั้นประจักษ์แจ้งด้วย เพราะว่าบางคนก็อาจจะเข้าใจเพียงว่า รู้แล้ว เหมือนกับว่าขณะนี้พูดเรื่องเห็น ก็เหมือนกับรู้แล้วว่าเห็นเป็นธรรมไม่ใช่เรา เข้าใจว่ารู้แล้วทั้งหมด ตามที่ได้ฟัง ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ไม่เข้าถึง พระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะเสมือนคิดแค่นั้นเอง ว่าขณะที่กำลังเห็น มีจริงๆ แล้วก็ไม่ใช่เรา

    แต่ว่าการที่จะประจักษ์แจ้งได้ ได้ทรงแสดงหนทางด้วยว่า การที่ปัญญาจะเจริญ ต้องอาศัยขั้นฟัง ในสิ่งที่ไม่เคยฟัง แล้วก็พิจารณาว่าสิ่งที่ได้ยินได้ฟังนั้น ถูกต้องจริงหรือเปล่า แล้วก็รู้ด้วยว่าเป็นปัญญาขั้นเข้าใจเรื่องราว ไม่ว่าหลังจากที่ฟังแล้วก็ไม่ลืม ก็ยังไตร่ตรองพิจารณาเพราะว่า วันหนึ่งๆ เราคิดมากมายหลายเรื่อง แล้วก่อนที่จะได้ฟังธรรม เราคิดเรื่องอื่นทั้งนั้นเลย

    แต่เวลาที่ได้ฟังธรรมแล้วก็มีปัจจัยที่ได้ ทำให้เกิดคิดถึงสิ่งที่ได้ฟัง แล้วแต่ว่าเราจะสะสมการฟังมามากน้อยแค่ไหน ถ้าคนที่สะสมการฟังไม่พอ ก็รู้จักตังเองได้ตามความเป็นจริง พอพ้นจากขณะที่ฟัง เราคิดเรื่องอะไร เราคิดเรื่องอื่น หรือว่ายังคิดไตร่ตรอง เรื่องธรรมที่เราได้ยินได้ฟัง นั่นก็คือขั้นคิด แล้วก็ยังรู้ด้วย ว่าขณะที่กำลังคิดนั้น ไม่ใช่การรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับ เพราะเหตุว่าจริงๆ แล้วสภาพธรรม ในขณะที่กำลังเห็นกำลังได้ยิน กำลังคิดต่างๆ ก็เป็นลักษณะของธาตุ แต่ละชนิด เฉพาะอย่างๆ ซึ่งทรงแสดงไว้ แล้วก็แต่ละอย่างที่เกิดนั้นก็ดับไปด้วย

    ผู้ฟัง เรียนถามท่านอาจารย์ พุทธบริษัท ที่ศึกษาพระธรรม เมื่อฟังเรื่องชื่อแล้ว ควรใส่ใจในเรื่องชื่อ หรือควรใส่ใจในเรื่องของสภาวธรรม ของชื่อนั้นๆ

    ท่านอาจารย์ ประโยชน์ ของการศึกษาธรรมเพื่อ เข้าใจถูกเห็นถูก นี่ประการที่สำคัญที่สุด ตลอดไปด้วย ไม่ใช่เป็นเรื่องสำหรับเพียงจะสนทนา หรือว่ากล่าวถึงเพื่อแสดงความรู้ หรือความคิด แต่ว่าประโยชน์สูงสุด การศึกษาก็ทราบแล้วว่า ทำไมทรงแสดงเรื่องการ ศึกษาธรรม ๓ ลักษณะ ลักษณะที่ ๑ คือ ศึกษาแบบ งูพิษ ไม่ได้เป็นประโยชน์เลย แต่ว่าศึกษาแล้วมีความเข้าใจก็มีความสำคัญตน ว่าได้เข้าใจ แล้วก็เวลาที่ศึกษาไม่ว่าจะศึกษาเรื่องอะไรทั้งหมด ถ้าเป็นปัจจัยที่จะให้เกิดความสำคัญตน ไม่เป็นประโยชน์เลย เพราะว่าเหมือนจับงูพิษที่จะทำให้ตัวเองเป็นอันตรายได้ จับงูพิษข้างหาง นี้ประการที่ ๑ ซึ่งต้องไม่ลืมเลย ว่าธรรมทั้งหมดของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงพระมหากรุณาแสดง เพื่อขัดเกลากิเลส ไม่ใช่เพื่อส่งเสริมให้ใครมีกิเลส

    เพราะฉะนั้น เมื่อศึกษาธรรมแล้วมีกิเลส คือไม่เข้าใจ พระมหากรุณาที่ทรงแสดงธรรม เพื่อให้เข้าใจแล้วก็ ให้รู้ว่าจะต้องอบรมเจริญปัญญา จึงจะขัดเกลากิเลสได้ แต่เมื่อมีปัญญาแล้ว ไม่ใช่เพิ่มกิเลส ขึ้น อันนั้นก็จะเป็นโทษ

    ประการที่ ๒ คือการศึกษาเพื่อเป็นที่พึ่งของเรา เพราะว่าเรา จะมีอะไรที่เป็นที่พึ่งจริงๆ สมบัติจริงๆ พึ่งได้ไหม มีสมบัติมากมายมหาศาลก็ป่วยไข้ตามกรรม ก็เกิดทุกข์ทางใจเดือดร้อน เพราะฉะนั้น สมบัติจริงๆ ช่วยได้หรือเปล่า หรือว่าพี่น้องมิตรสหาย แม้แต่มารดาบิดา ถ้าลูกป่วยไข้ แม้มารดาขอที่จะป่วยแทนก็ยังเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ที่พึ่งจริงๆ ของทุกคน ก็คือพึ่งความเห็นถูก ความเข้าใจถูก ซึ่งไม่สามารถจะเกิดได้เลย

    ถ้าไม่มีการฟังพระธรรม จะไม่มีใครที่จะสามารถเป็นอย่างพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า คือสามารถรู้แจ้งสภาพธรรม ที่มีจริงๆ โดยไม่ได้ฟังโดยไม่ได้อบรมพระบารมี ที่จะถึงความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ เพราะฉะนั้น เมื่อไม่เป็นอย่างนั้น การฟังธรรมฟังเพื่อเป็นที่พึ่งให้เกิดความเห็นถูก ให้เกิดความเข้าใจถูก เพื่อละคลายกิเลส อันนี้ลืมไม่ได้เลย เป็นที่พึ่งตลอดไปจนกว่าจะถึงความเป็นพระอรหันต์เมื่อไร เมื่อนั้นการฟังธรรม การศึกษาธรรมจึงเป็นไปประดุจเป็นขุนคลังผู้รักษาสมบัติ ที่ประเสริฐสุดคือพระธรรม แต่ว่าก่อนที่จะถึงนั้นก็คือเพื่อเป็น ที่พึ่งที่จะทำให้ปัญญาค่อยๆ เจริญขึ้น จนกระทั่งขัดเกลากิเลสได้

    เพราะฉะนั้น การฟังธรรมประโยชน์จริงๆ คือขณะที่กำลังฟัง เข้าใจ พอเข้าใจถูก ประคับประคองตัวเอง ไปในเรื่องการละคลายกิเลส ในเรื่องเข้าใจสภาพธรรม ที่แม้ว่าจะฟัง ก็ต้องรู้ว่าฟังสิ่งที่มีจริงๆ เช่น ธาตุ ๓ ที่ทรงแสดงไว้ อันดับแรกคือ จักขุธาตุ รูปธาตุ จักขุวิญญาณธาตุ คือไม่ลืมที่จะ รู้ว่ามี แล้วยังไม่เข้าใจ มีแล้วก็ยังไม่รู้ มีแล้วก็ฟังต่อไปอีกมากๆ เพื่อที่จะให้มีสัญญาความจำที่มั่นคงที่จะไม่ลืม ฟังจนกว่ามีการรู้ว่าขณะนี้ ที่กำลังเห็น เป็นธาตุ เป็นสิ่งที่มีจริง ซึ่งรูปธาตุก็คือ สิ่งที่กำลังปรากฏ นามธาตุก็คือสภาพที่กำลังเห็น ไม่ต้องไปหารูปร่างใดๆ ทั้งสิ้นของนามธรรม ไม่ต้องไปคิดว่าจะมีลักษณะอย่างไร แต่เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ ที่กำลังเห็น นี่คือการที่ฟังแล้วฟังอีก เพื่อประโยชน์ที่จะได้เข้าใจถูกต้องจริงๆ เพื่อที่จะได้ละคลายกิเลส

    เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นการศึกษาอย่างนี้ ก็เป็นการที่จะปลอดภัย คือไม่ใช่เพื่อความสำคัญตน หรือว่าการที่เราจะไปข่มบุคคลอื่น ว่าคนอื่นเป็นผู้ที่รู้น้อย เราเป็นผู้ที่รู้มาก อันนั้นไม่ใช่ เพราะฉะนั้น ขณะที่ฟัง ถ้าใครสามารถที่จะเข้าใจได้ เพื่อการขัดเกลา ความไม่รู้นั่นคือประโยชน์ เพราะว่าถึงเราจะไปจำเรื่องราวไว้มาก เรื่องพยัญชนะต่างๆ ตำราต่างๆ ในภาษาหนึ่งที่เราเกิดมา อย่างในขณะนี้ เราเป็นคนไทย เราจำภาษาไทย ถ้าเราไปเกิดใหม่เป็นคนอื่น เราจะจำภาษาที่เราเคยจำไว้มากมายอย่างนี้ได้ไหม แต่ถ้าเป็นความเข้าใจ ธรรม ไม่ว่าเราจะได้ยินด้วยภาษาอะไร เราสามารถที่จะเข้าใจอรรถ แล้วก็รู้ว่าขณะนั้นก็คือ สภาพธรรมที่เราสามารถที่จะเข้าใจได้

    ผู้ฟัง การปฏิบัตินั้น ถ้าเรายึดพระไตรปิฎก เป็นหลัก แล้วก็ดำเนินไปตามนั้น ผมว่าเป็นการดี ถ้าเราไปออกนอก ไปวิธีอื่น ที่ไม่มีที่ตรัสไว้ เป็นอันตรายอย่างยิ่ง ถ้าเราพิจารณาโดยความเป็นธาตุ มันก็ไม่มี ตัวตนไม่มี เฉพาะขณะที่เราพิจารณา โดยความเป็นธาตุ

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 108
    25 มี.ค. 2567