ปกิณณกธรรม ตอนที่ 690


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๖๙๐

    สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๔๗


    ผู้ฟัง ถ้าเราพิจารณาโดยความเป็นธาตุ มันก็ไม่มี ตัวตนไม่มี เฉพาะขณะที่เราพิจารณา โดยความเป็นธาตุ หากสติไม่เกิด มันก็เป็นธาตุ เป็นตัวตน สัตว์ บุคคล

    ท่านอาจารย์ ขณะที่เรากำลังคิด กำลังพูด สภาพธรรมทั้งหลายก็เกิดดับ แม้แต่เรากำลังคิดเรื่องธาตุ กำลังพิจารณาเรื่องธาตุ ตัวธาตุจริงๆ ถ้าไม่ใช่เพราะสติที่กำลังรู้ เพียงรู้ ไม่ใช่มากมายเลย เพียงรู้ตรงลักษณะนั้น นั่นคือจุดเริ่มของการที่จะเข้าถึงธรรม เพราะว่าเวลาที่เราพูดเรื่องธาตุ ทุกอย่างเป็นธาตุ เราคล้อยตามได้ พิจารณาก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น แต่แม้กระนั้นก็ยังไม่ถึงลักษณะของแต่ละธาตุ ที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว

    เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมก็ทรงแสดงไว้ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ

    ปริยัติ ต้องมีแน่นอน การศึกษาพระไตรปิฎก การฟังธรรม ไม่ว่าจะเป็นพระสูตร พระวินัย พระอภิธรรม ก็เพื่อให้เข้าใจลักษณะของธรรมที่มี ไม่ใช่ให้เราไปนึกถึงชื่อ ติดชื่อมากมาย ถ้าเราเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมแล้ว ไปวุ่นวายอะไรกับชื่อ ในเมื่อเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม แต่ตอนที่เรายังไม่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม เราอาจจะไปคิดว่า เราต้องอาศัยพยัญชนะหลากหลายมากมาย ที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม นั่นก็ไม่ผิด เพราะเหตุว่าเพียงคำเดียวเข้าใจไม่ได้ ต้องหลายๆ คำ แต่ทุกคำเป็นคำที่จะให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ไม่ใช่เป็นชื่อเผินๆ ที่เราคิดว่าเราเข้าใจ แต่ความจริง ชื่อเผินๆ ที่เราคิดว่าเราเข้าใจ จะอุปการะเกื้อกูลต่อการที่จะเข้าถึงลักษณะของสภาพธรรมได้อย่างไร อันนี้ต้องคิดเลยว่า เวลาที่ฟัง เป็นเรื่องของธรรมเป็นเรื่องของธาตุจริง แต่ตัวธาตุจริงๆ ก็กำลังเกิดดับ

    เพราะฉะนั้น จึงทรงแสดงหนทางเดียว คือ สติปัฏฐาน ถ้าไม่ใช่สติ คือสภาพที่สามารถระลึกรู้ลักษณะของสภาพที่เป็นธาตุที่กำลังปรากฏ ไม่มีการที่จะถึงความเป็นธาตุได้เลย ก็ยังเป็นเรื่องราว แล้วก็เป็นชื่อของธาตุประการต่างๆ เช่น โดยประการ ๑๘ บ้าง ๖ บ้าง ๒ บ้าง ก็แล้วแต่ ที่จะจำที่จะคิดไป แต่ว่าลักษณะของธาตุจริงๆ ต้องอาศัย ขณะใดที่สติสัมปชัญญะ ที่ใช้ว่า สัมปชัญญะ คือ ไม่ใช่สติขั้นทาน ขั้นศีล หรือขั้นสมถะ ไม่เพียงขั้นฟัง แต่ขณะนี้มีลักษณะตรงตามที่เราได้เข้าใจ แล้วสติก็รู้ตรงนั้น คิดถึงนามธรรม นี่ว่ายากไหม ที่จะรู้ลักษณะของนามธรรม ไม่ใช่รูปธรรมใดๆ เลย แต่มี นามธรรมที่ไม่ใช่สติ ก็เป็นนามธรรมอื่น เช่น โลภะบ้าง โทสะบ้าง วิตกคิดนึก ตรึกตรองไปเรื่องต่างๆ บ้าง แต่นามธรรมที่เป็นสติ เป็นสภาพที่สามารถที่จะระลึกเกิดขึ้น คือรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรม นี่ต้องฟังจนกว่าสติสัมปชัญญะนั้นเกิดเมื่อไร ก็จะค่อยๆ เข้าใจขึ้นว่า ขณะที่สติสัมปชัญญะเกิด ต่างกับขณะที่หลงลืมสติ

    นี่คือการที่เราจะรู้ว่า พระธรรมไม่ใช่เพียงแสดงโดยชื่อให้เราเข้าใจ แต่ว่าทรงแสดง โดยที่ว่า เมื่อเข้าใจแล้วก็สามารถที่จะอุปการะทำให้สติสัมปชัญญะเกิด แล้วก็รู้ตรงลักษณะของความเป็นธาตุจริงๆ แล้วกว่าปัญญาจะค่อยๆ เจริญขึ้น ก็ต้องอาศัยการที่สติสัมปชัญญะ มีปัจจัยเกิดโดยที่ไม่ใช่เรา ก็จะเห็นความเป็นอนัตตา แล้วก็รู้ว่าหนทางนี้เป็นหนทางที่ยาวนาน เพราะเหตุว่าเป็นเรื่องละ ความเป็นเราที่จะทำ เป็นเราที่จะรู้ แต่เป็นการรู้ว่าทุกอย่างเป็นธรรม โดยสติที่เกิดก็เป็นธรรม เป็นเรื่องละเอียด แล้วก็เป็นเรื่องยาก มิฉะนั้นไม่ทรงแสดงว่า อริยสัจทั้ง ๔ ลึกซึ้ง แม้แต่หนทางก็ลึกซึ้งด้วย แต่ไม่ท้อถอย ใช่ไหม ได้ฟัง ได้เข้าใจ ได้เริ่มต้น ค่อยๆ ไป

    ผู้ฟัง ผมก็ต้องอบรมต่อไป อย่างที่อาจารย์แนะนำว่า ต้องระลึก เนืองๆ บ่อยๆ ไม่ใช่ชาติเดียว ๒ ชาติ อาจารย์นำเสนอบอกว่าต้องเป็นกัปๆ เลย เป็นอนุสติไป เราลองนึกดูสิว่า มันยากแค่ไหน ธรรม

    ท่านอาจารย์ การที่จะละความไม่รู้ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะยากหรือจะง่าย แล้วจะใช้เวลานาน หรือเวลาสั้นๆ นี่ก็คงจะเป็นข้อเตือนใจได้ว่าเป็นเรื่องรู้ แล้วเป็นเรื่องละ ถ้าไม่รู้จริงๆ ละไม่ได้เลย แม้แต่ว่า เวลาที่สติสัมปชัญญะ เกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรม โลภะก็มาทันทีได้ นี่ก็แสดงให้เห็นว่า โลภะทั้งหมดที่ เราพูดถึงบ่อยๆ มีกี่ดวงเป็นประเภทต่างๆ พอถึงเวลาเกิดขึ้นจริงๆ ไม่รู้ จนกว่าปัญญารู้เมื่อไร เมื่อนั้นจึงจะละได้ เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่ละเอียด ที่จะต้องค่อยๆ อบรมไป

    ผู้ฟัง การพิจารณาถึงความเป็นผู้ฉลาด สำหรับการที่จะเป็นผู้ฉลาดในธาตุ แล้วก็อายตนะ ต่างกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ พระธรรมที่ทรงแสดงมาจากการทรงตรัสรู้ ไม่ใช่คิดเลย แต่เราผู้ฟังคิด ตามสิ่งที่เราได้ยินได้ฟัง เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นความต่าง แล้วความต่างที่ลึกซึ้งก็คือว่า ผู้ทรงแสดงประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ตามความเป็นจริง จึงทรงแสดงเรื่องของสภาพธรรมนั้น โดยประการทั้งปวง ด้วยพระปัญญาที่ได้ สะสมมาเหนือบุคคลใด เพราะฉะนั้น เราฟัง เราเฉลียวใจบ้างไหม ว่าสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังทั้งหมด เป็นความจริงของผู้ที่ตรัสรู้

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะเข้าถึงอรรถของคำว่า ขันธ์ ของคำว่า อายตนะ หรือของคำว่า ธาตุ ก็คือผู้ที่สามารถที่จะรู้ลักษณะของขันธ์ ของธาตุ ของขันธ์ ของอายตนะ มิฉะนั้นแล้วไม่ใช่การเข้าถึง เป็นการเพียงฟังแล้วก็มีความจำ ในอรรถโดยพยัญชนะที่ต่างกัน ว่าถ้าพยัญชนะอายตนะ หมายถึงอะไร ถ้าพยัญชนะปฏิจจสมุปบาทหมายความถึงอะไร คือสามารถที่จะเพียงเข้าใจพยัญชนะที่ต่าง ว่ามีอรรถที่ต่างกัน โดยที่ตัวธรรมไม่สามารถที่จะรู้ตามความหลากหลายนั้นได้ จนกว่าจะได้ประจักษ์แจ้งจริงๆ

    เพราะฉะนั้น แม้ว่าจะทรงแสดงเรื่องธาตุ แต่ขณะนี้ธาตุปรากฏหรือเปล่า กับปัญญา กับสติสัมปชัญญะ ปรากฏกับอวิชชา ปรากฏกับอกุศลได้ ใช่ไหม เช่น รูปธาตุในขณะนี้กำลังปรากฏ แล้วเราพอใจในรูปธาตุ นั่นเป็นปัญญา หรือเปล่า เป็นความรู้ในความเป็นรูปธาตุหรือเปล่า เป็นความรู้ในเรื่องของจักขุวิญญาณธาตุหรือปล่า ก็ไม่ใช่ความรู้เลย แต่เราใช้คำว่า ธาตุ ได้คล่อง เช่น จักขุธาตุ หมายความถึง จักขุปสาทรูป รูปธาตุ หมายความถึงวัณณะธาตุ หรือวัณณะรูป ซึ่งกำลังปรากฏทางตา จักขุวิญญาณธาตุหมายความถึงจิต ที่กำลังเห็น สามารถเห็นสิ่งนี้ได้ เราใช้คำได้ เราพูดตามได้ เราอธิบายได้

    แต่ว่าการที่จะรู้จริงๆ ถึงลักษณะของธาตุที่ไม่ใช่ชื่อ แต่ลักษณะนั้นเป็นธาตุคือ เป็นธรรมที่มีลักษณะที่ใครเปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย เป็นสภาพรู้ หรือเป็นธาตุรู้ ซึ่งสามารถที่ปัญญาจะประจักษ์ได้ แต่ต้องด้วยการอบรม ตามลำดับขั้น คือ ขั้นการฟังสิ่งที่ถูก การพิจารณาให้เข้าใจถูก การอบรมเจริญปัญญาที่ถูก จึงสามารถที่จะเข้าถึงลักษณะของธาตุ ตามที่ได้ทรงแสดงไว้

    นี่แม้แต่ลักษณะที่เป็นธาตุ ก็ยังไม่เข้าถึง ถ้ายังไม่เข้าถึงลักษณะที่เป็นธาตุ จะประจักษ์ถึงขันธ์ไม่ได้ เพราะว่าขันธ์หมายความถึง ลักษณะที่เป็นนามธรรม และ รูปธรรม นั่นเองที่เกิดแล้วดับ

    เพราะว่าสภาพธรรม ที่มีปัจจัยเกิดแล้วไม่ดับ ไม่มี เมื่อสภาพธรรมใดเกิด ต้องรู้ว่าสภาพธรรม นั้น ไม่มีใครสามารถจะสร้างได้เลย แต่เพราะปัจจัยแต่ละอย่าง เช่น จิตเห็นจะมีได้เพราะมีสีสันวัณณะ กระทบจักขุปสาท จิตเห็นจึงเกิดขึ้นได้ ไม่ใช่ว่าใครจะไปสร้าง หรือไปทำขึ้นมาได้ และเมื่อจิตเห็น แล้วดับ

    เพราะฉะนั้น แล้วแต่อรรถ หรือความหมายของขันธ์ไม่ใช่เพียงแต่เราไปจำแนกไว้ ว่าเพราะเกิดแล้วก็ดับ เป็นอดีต เป็นปัจจุบัน เป็นอนาคต แม้แต่รูปซึ่งเป็นสภาพที่ไม่ใช่ธาตุรู้ ก็หลากหลายจนกระทั่งมีทั้งภายในภายนอก มีทั้งหยาบ ละเอียดพวกนี้

    นี่คือสิ่งซึ่งเราฟังแล้วเราพยายามจำ บางคนก็อาจจะพยายามหาตัวอย่าง แต่ว่าหนทางจริงๆ คือฟังแล้วเข้าใจ แล้วรู้ว่าไม่ใช่เรา แล้วต้องรู้ถึงหนทางที่จะทำให้ สามารถประจักษ์ในความเป็นธาตุ แล้วจึงจะประจักษ์ในความเป็นขันธ์ แล้วขณะนั้น ถ้ามีปัญญาเกิดขึ้น ลักษณะของความเป็นอายตนะก็ สามารถจะรู้ในขณะที่ สภาพธรรมนั้นเกิดขึ้นปรากฏ

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ชื่อ แต่ว่าเป็นลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเป็นธรรมเป็นธาตุ แล้วก็เป็นอายตนะ แล้วก็เป็นขันธ์ แล้วก็หลากหลายทั้งหมดในพระไตรปิฎก ก็มาจากลักษณะความเป็นจริง ของสภาพธรรมนั้นๆ นั่นเอง

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เพียงแต่เราเรียนแบบกลับกัน คือ ไปเรียนเป็น ชื่อทั้งหมด แต่ว่าผู้ที่ได้ทรงตรัสรู้ ทรงแสดงจากการประจักษ์แจ้ง แล้วก็ทรงแสดงเรื่องสิ่งนั้นโดยชื่อต่างๆ เพื่อที่จะให้คนที่ได้ฟัง มีโอกาสได้อบรมเจริญปัญญา จนถึงการที่ประจักษ์แจ้งได้

    ผู้ฟัง เพราะว่าพยัญชนะที่ท่านบัญญัติไว้ ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ผู้ที่ศึกษาต้องเข้าถึง อรรถ และเข้าถึงสภาพธรรมที่มีจริง ด้วย

    ท่านอาจารย์ จึงชื่อว่าศึกษาธรรม มิฉะนั้นก็ไม่ได้ศึกษาธรรมเลย ศึกษาเรื่องราวหรือชื่อเท่านั้นเอง เพราะว่าบางคนถ้าถามว่า ธรรม อยู่ที่ไหน ตอบไม่ได้ นี่แสดงว่าศึกษาแต่ชื่อ แต่ไม่รู้ว่าขณะนี้ เป็นธรรม

    ผู้ฟัง แล้วท่านอาจารย์ก็อธิบายถึงความ เข้าใจถึงความต่างกันระหว่างธาตุ ขันธ์ อายตนะ เพราะว่าถ้ารู้จักความเป็นธาตุ ก็คือ รู้จักสภาวธรรมที่มีลักษณะต่างกัน

    ท่านอาจารย์ ด้วยการประจักษ์แจ้งในธาตุนั้น แล้วก็ขณะนั้นไม่มีชื่อ แต่เวลาได้ยินคำว่า ธาตุ จะรู้เลยว่าหมายความถึง ลักษณะนั้นแหละ มีจริงๆ อย่างนั้น และไม่มีใครสามารถจะเปลี่ยนแปลงได้ เป็นแต่ละธาตุจริงๆ

    ผู้ฟัง แล้วพอถึง อรรถ ที่เป็นขันธ์ ก็นอกจากมีสภาวธรรมที่เป็นนามธรรม และ รูปธรรม แล้วก็ยังเห็นถึงความเกิดขึ้น และดับไปของสภาพธรรมนั้น

    ท่านอาจารย์ ซึ่งขณะนี้ ถ้าเราบอกว่า นามขันธ์กับรูปขันธ์ เราเข้าใจได้ สำหรับผู้ที่เรียนเรื่องจิต เจตสิก รูป ก็ทราบว่ารูปทุกรูปเป็นรูปขันธ์ จิต และเจตสิกก็เป็นนามขันธ์กำลัง เกิดดับ ถ้าพูดตัวอย่างง่ายๆ คนก็เข้าใจได้ ขณะที่เห็น ไม่ใช่ขณะที่ได้ยิน เพราะฉะนั้น ขณะที่เห็นต้องดับก่อน แล้วขณะที่ได้ยินจึงเกิดขึ้น ถ้าพูดอย่างนี้ก็ติดตามได้ เข้าใจได้ แต่ความจริง คือต้องประจักษ์อย่างนี้แหละ จึงสามารถที่จะกล่าวยืนยันได้ ว่าสภาพธรรมทั้งหลายที่เกิด เป็นขันธ์ เพราะเกิดแล้วก็ดับไป สิ่งที่กำลังมีเป็นปกติ ความไม่รู้ ก็คือ ไม่รู้ ในสิ่งที่เกิดแล้ว เป็นแล้ว ตามปกติ ความเข้าใจจากการฟัง ในสิ่งที่กำลังปรากฏตามปกติ ก็เริ่มเข้าใจในความเป็นธรรม ของสิ่งที่เกิดขึ้นปรากฏตามปกติทุกชาติ แล้วการที่เวลาที่สติสัมปชัญญะเริ่มเกิด ก็จะรู้ตรงลักษณะของแต่ละลักษณะซึ่งปรากฏทางตา อย่าง๑ ทางหูอย่าง๑ ทางจมูกอย่าง๑ ทางลิ้นอย่าง๑ ทางกายอย่าง๑ ทางใจอย่าง๑ ก็เป็นการถึงธรรมที่ได้เข้าใจ แล้วก็ที่มีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน จนกว่าจะประจักษ์แจ้งว่า ธาตุก็คืออย่างนี้ ขันธ์ก็คืออย่างนี้ อายตนะก็คืออย่างนี้

    ผู้ฟัง อายตนะ คือขณะที่สภาพธรรมนั้นกำลังปรากฏ

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง เพราะว่าโดยอรรถ ท่านแสดงถึง อายตนะคือเครื่องต่อบ่อเกิด ที่ให้สภาพธรรมนั้นปรากฏ ก็คือมีจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์

    ท่านอาจารย์ นอนหลับสนิท อะไรก็ไม่ปรากฏ หรือขณะนี้ ถ้าเสียงยังไม่ปรากฏ แล้วเสียงเกิดปรากฏได้อย่างไร คนที่ไม่คิดไม่เข้าใจเลย ก็ไม่รู้ไปหมดเลย ไม่รู้ ตอบว่าไม่รู้ ใช่ไหม เพราะว่าไม่รู้จริงๆ แต่ถ้ารู้ก็สามารถจะรู้ได้ว่า อายตนะนั่นเอง แต่ว่าไม่ใช่ เป็นคำที่เราเอาคำมาใช้กล่าวถึง แต่ต้องเป็นการกำลังมีสภาพธรรมนั้นซึ่งจากที่ได้ยินยังไม่ได้เกิดเลย แล้วได้ยินเกิดขึ้นด้วยสติสัมปชัญญะ ในลักษณะของได้ยิน เพราะฉะนั้น ก็รู้ไว้ว่า ได้ยินนั่นแหละต้องมีทาง แล้วก็ต้องมีสภาพธรรมที่ประชุมรวมกัน สำหรับชวนจิต คือ พวกกุศลจิต และอกุศลจิตทั้งหลาย ของคนที่ไม่ได้อบรมเจริญปัญญา จะไม่มีการรู้ลักษณะของสภาพธรรม เพราะเป็นกุศล และอกุศลไปเรื่อยๆ ไม่ใช่เป็นขณะที่กำลังรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งจะเกิดแทรกคั่นน้อย ในตอนแรก เพราะว่ายังไม่ได้อบรม แต่ก็เป็นการที่ขณะนั้นปัญญาสามารถเข้าใจถูกได้ว่า ต่างกับขณะที่ สติไม่ได้เกิด ไม่ได้รู้ตรงลักษณะ แล้วยังต้องมีโลภะความอยาก ท่วมท้นเลยสำหรับคนที่อยากจะรู้มากๆ อยากจะทำอะไรต่อไป

    แต่ผู้ที่มีปัญญาก็รู้ว่า ไม่ใช่เราจะไปบังคับได้เลย เมื่อไรมีปัจจัย สติสัมปชัญญะก็เกิดอีก แล้วก็รู้อย่างนั้นแหละ แต่เมื่อปัญญายังไม่ชัด จึงตรงกับที่ว่าบ่อยๆ เนืองๆ คือสามารถที่จะเข้าใจอรรถของพยัญชนะที่มี ที่ทรงแสดงไว้ แล้วเวลาที่ได้ฟังบ่อยๆ เข้าใจขึ้น พวกที่เป็นปุถุชนก็เริ่มที่จะสะสม ความเห็นถูก ความเข้าใจถูก เพื่อที่จะละความต้องการสติสัมปชัญญะ ไม่ใช่เพื่อไปเพิ่มความต้องการหาวิธี ละวิธีต่างๆ ที่จะให้สติสัมปชัญญะเกิด ซึ่งไม่ใช่หนทาง แล้วลองเทียบกับพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า คนที่สติสัมปชัญญะนานๆ เกิด แม้ว่าจะได้ฟังมากๆ แล้วก็ตาม กับผู้ที่ทรงตรัสรู้ ความรวดเร็วของพระปัญญาที่เกิด เพราะว่าธรรมดาขณะนี้ พอเห็นแล้ว อกุศลเกิดไม่รู้เลย เกิดแล้วก็ไม่รู้ นี้คือความไม่รู้ แต่ว่าถ้าเป็นผู้ที่มีสติสัมปชัญญะ จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิด แต่ละทางได้ เมื่อได้อบรมแล้ว

    แล้วสำหรับผู้ที่ทรงประจักษ์แจ้ง ลองคิดถึงความรวดเร็วของ มหากิริยา พระปัญญา ขณะนั้นที่สามารถที่จะรู้เร็วกว่าเราสักแค่ไหน เพราะว่าขณะนี้ จิตเห็นเกิดดับนับไม่ถ้วน เราไม่เคยรู้เลย เห็นตลอดเวลา เหมือนกับไม่ดับเลย แต่ผู้ที่มีพระปัญญา พระปัญญานั้นจะรวดเร็ว สามารถที่จะรู้ลักษณะของธาตุของธรรมแต่ละอย่างโดยประการทั้งปวง มากมายสักแค่ไหน นี่ก็แสดงให้เห็นว่าเป็นเรื่องของการอบรม แล้วก็เห็นความต่าง ของผู้ที่ไม่รู้กับผู้ที่รู้จริงๆ โดยปัญญาต่างระดับขั้น

    ผู้ฟัง ขันธ์ ธาตุ อายตนะ ก็เป็นภูมิของวิปัสสนาภาวนา

    ท่านอาจารย์ ใช้ภาษานี้ แล้วก็เหมือนกับเจาะจง ว่าอย่างอื่นไม่ใช่ภูมิ ใช่ไหม บางคนก็บอก จำนวนจำกัดมาเลยว่า อะไรเป็นภูมิของวิปัสสนาได้ อะไรเป็นภูมิของวิปัสสนา ท่องชื่อได้ แต่แท้ที่จริงแล้ว ทุกอย่างที่มีจริง เป็นภูมิของวิปัสสนาทั้งนั้น

    ผู้ฟัง ก็คือไม่พ้น ปรมัตถธรรม ๔

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ถ้าไม่รู้ก็คือ ไม่ใช่ปัญญา เพราะฉะนั้น ถ้าไม่รู้ ไม่ใช่ปัญญาจะดับกิเลสได้หรือ

    ผู้ฟัง อย่างขันธ์ ธาตุ อายตนะก็ไม่พ้นสภาพธรรมที่เป็นจิต เจตสิก รูป

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ถูกต้องไหม ถ้ามีคนบอกว่า ให้คนนี้พิจารณาขันธ์ ให้คนนั้นพิจารณาธาตุ ในเมื่อไม่รู้อะไรเลย แต่ผู้ที่ท่านรู้ ท่านสามารถที่จะรู้ว่าขณะนั้น ท่านพิจารณาอะไร ท่านพิจารณาลักษณะของขันธ์ หรือท่านพิจารณาของความเป็นอายตนะ หรือพิจารณาในความเป็นธาตุ แต่คนที่ไม่รู้เลย แล้วเราก็จะไปบอกว่าให้คนนี้พิจารณาขันธ์ ให้คนนั้นพิจารณาธาตุ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย เพราะไม่รู้อะไร

    ผู้ฟัง ปฏิจจสมุปบาท ท่านก็แสดงไว้ว่า เป็นอารมณ์ของวิปัสสนาภาวนาได้ด้วย ซึ่งก็ต้องเป็นลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรมด้วย

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่เป็นปรมัตถแล้ว จะไปรู้อะไร ไปรู้สิ่งที่ไม่จริง ไปนั่งคิดเอา แล้วก็ไม่สามารถที่จะรู้ว่า ขณะที่กำลังคิดนั้นอะไร

    ผู้ฟัง จะให้ท่านอาจารย์ช่วยขยายความว่า บัณฑิตผู้ฉลาดในปฏิจจสมุปบาท นั้นเป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ บัณฑิตทั้งหมด ที่ท่านแสดงสูงสุด คือพระอรหันต์ อย่างที่เราพูดถึงคำแรก อวิชชา แค่คำเดียวของปฏิจจสมุปบาท อยู่ที่ไหน ก็ยังไม่รู้ แล้วจะไปรู้ลักษณะความต่างของปัญญา ซึ่งไม่ใช่อวิชชา

    ผู้ฟัง ถ้าเราเห็นครั้งหนึ่ง เราพิจารณาตรงลักษณะของสภาวธรรม หรือสภาพธรรม ขณะนั้นก็เป็น อโมหะ โลภะ หรืออกุศลก็ไม่เกิด อย่างนี้จะถูกไหม

    ท่านอาจารย์ เวลาที่กล่าวถึงอกุศล เพราะเหตุว่าแม้แต่อกุศลนั้นเป็นอะไร ก็ยังไม่รู้ ซึ่งความจริงแล้วเวลาที่พูดถึง อกุศล ก็จะต้องเป็นโลภมูลจิต หรือโทสมูลจิต หรือโมหมูลจิต ซึ่งจะสังเกตได้ความต่าง โดยเวทนาที่เกิดร่วมด้วย ถ้าขณะนั้น เป็นความรู้สึกที่ไม่เดือดร้อนเฉยๆ ขณะนั้นก็จะเป็นโลภะ หรือโมหะ แต่ไม่ใช่รู้ได้โดยการคาดคะเน ขณะนั้นต้องสามารถรู้โดยสติสัมปชัญญะทั้งหมด ขึ้นอยู่กับสติสัมปชัญญะ ถ้าสติสัมปชัญญะ ไม่รู้ตรงลักษณะ ก็เพียงเดา ว่านี่เป็นลักษณะโมหะ หรือว่าเป็นโลภะ ขณะที่ความรู้สึกนั้นไม่เดือดร้อน คือ ไม่ใช่โทมนัสเวทนา ก็จะเป็นอย่างหนึ่งอย่างใด นี้โดยขั้นของการศึกษา

    แต่ถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจธรรม คือตัวธรรม เข้าใจลักษณะของสติสัมปชัญญะ รู้ขณะที่สติสัมปชัญญะเกิด ว่าต่างกับขณะที่สติสัมปชัญญะไม่เกิด จะเข้าใจอวิชชาไหม ไม่ต้องไปหาที่ไหนเลย อรรถของอวิชชามีมากมาย หลายคำ ตรงไหมกับที่กล่าวไว้แล้วทั้งหมด เช่น ขณะที่เห็น แล้วก็หลงลืมสติ ขณะนั้น เห็นดับแล้ว แล้วก็มีอกุศลจิตเกิดต่อ โดยมีอวิชชา ถ้าไม่มีอวิชชาอะไรจะเกิด หลังจากที่เห็นดับแล้ว แล้วไม่รู้ ไม่ใช่ว่ามีสติสัมปชัญญะที่รู้ คือ ตามรู้ มโนทวารวิถีจิต จะรู้สิ่งที่ปัญจทวารวิถีรู้ หรือที่โสตทวารวิถี ฆานทวารวิถี ชิวหาทวารวิถี กายทวารวิถี มโนทวารวิถี ถ้าสติสัมปชัญญะเกิด เราไม่จำเป็นต้องกล่าวแยกไปเลย ว่าทางทวารไหน อะไร อย่างไร

    แต่ผู้ที่ทรงแสดง ทรงแสดงถึงความละเอียดที่สุด ที่ว่าหลังจากจิต ๑ ขณะดับไปแล้ว ยังไม่ทันถึงมโนทวาร ในปัญทวารซึ่งอาศัย จักขุเป็นทวารนั่นเอง มีจิตอะไรเกิดสืบต่อ พอถึงชวนจิต เวลานี้ ขณะที่สติสัมปชัญญะไม่เกิด สภาพธรรมเกิดดับนับไม่ถ้วน เราจะไปรู้จริงๆ ในสิ่งซึ่งได้ทรงแสดงไว้ เป็นไปไม่ได้ นอกจากฟังแล้วก็เริ่มเข้าใจว่า ธรรมคืออย่างนี้

    เพราะฉะนั้น จะรู้ว่าอวิชชา คือเมื่อไร อย่างไร ต่อเมื่อสติสัมปชัญญะเกิด จึงรู้ความต่างว่า ขณะที่สติสัมปชัญญะไม่เกิด ขณะนั้นไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม ทันทีที่เรานอนหลับ แล้วตื่นขึ้นมาเห็น เรารู้ลักษณะของเห็น สภาพนั้นไม่ใช่เรา เป็นธาตุรู้ แล้วสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เรารู้อย่างนี้หรือเปล่า เป็นผู้ที่มีสติหลับ มีสติตื่นหรือเปล่า ถ้ายังไม่ใช่ ก็คือว่าขณะนั้นไม่รู้

    เพราะฉะนั้น อวิชชา ไม่ใช่ชื่อ ที่อยู่ในหน้านั้นหน้านี้ แต่อวิชชา ก็คือขณะที่สติสัมปชัญญะไม่เกิด ขณะนั้นจะไม่รู้ความต่างของสภาพธรรม ที่มีลักษณะจริงๆ กับเรื่องราวทั้งหมด ด้วยความไม่รู้

    ในที่นี้ที่กล่าวว่า หลงไปในบัญญัติ ในเรื่องราวต่างๆ ในความคิดนึกต่างๆ นั่นเป็นขณะที่สติสัมปชัญญะไม่เกิด

    ผู้ที่จะเข้าใจอวิชชาก็คือ สามารถที่จะรู้ได้ว่า ปัญญาต่างกับขณะที่สติสัมปชัญญะไม่เกิด เพราะฉะนั้น อวิชชาอยู่ที่ไหน ก็ตอบได้ มิฉะนั้น ตอบไม่ได้เลย อยู่หน้านั้นเล่มนี้ แต่ว่าจริงๆ แล้ว เมื่อสติสัมปชัญญะไม่เกิด ตั้งแต่ลืมตาตื่น จนหลับ ก็เป็นเรื่องราวของสมมติบัญญัติ เพราะฉะนั้น ก็จะกล่าวได้เลยว่า ทันทีที่ตื่นก็หลง หลงนี้คืออวิชชา อวิชโชฆะ

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 108
    25 มี.ค. 2567