ปกิณณกธรรม ตอนที่ 702


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๗๐๒

    สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๔๗


    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์กล่าวเหมือนกับว่า การเรียน การไตร่ถาม การฟัง เป็นเรื่องที่ควรแก่การที่จะต้องทำ

    ท่านอาจารย์ ถ้าเข้าใจแล้ว ทรงไว้ซึ่งความเข้าใจนั้นอย่างมั่นคง ถ้าเข้าใจว่าขณะนี้เป็นธรรม ไม่มีใครที่ตรึก คิดเรื่องนั้น เรื่องนี้ เรื่องพยาบาท หรือเรื่องกาม ความติดข้องต่างๆ แต่เป็นวิตกเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่ตรึก ก็จะไม่มีตัวเราต่างหาก แล้วคิดว่าจะไปใช้ธรรมในชีวิตประจำวัน หรืออะไร ไม่ใช่ นั่นคือไม่แทงตลอด ในการฟังด้วยความเข้าใจ

    ผู้ฟัง ไม่ต้องไปห่วงการพิจารณา จะเกิดขึ้น หรือไม่ ถูกต้อไหม

    ท่านอาจารย์ ห่วง ก็เป็นโลภะ ซึ่งก็คงจะมีความหวังต่างๆ ก็ห้ามไม่ได้ แต่ปัญญาสามารถที่จะรู้ความจริงได้ สิ่งที่ลืมไม่ได้ ก็คือพระพุทธศาสนา เป็นเรื่องให้เกิดปัญญา ความเห็นที่ถูกต้อง จากพระธรรมที่ได้ทรงแสดง ให้เราได้ไตร่ตรอง ให้เราได้ฟัง ให้เราได้ค่อยๆ เข้าใจ แทงตลอดในความหมายของธรรมที่ได้ทรงแสดงไว้

    ผู้ฟัง เมื่อมีการเรียน การไตร่ถาม การฟัง และการทรงไว้แล้ว การพิจารณามันจะเกิดขึ้นเอง ไม่ต้องไปห่วงอะไรทั้งสิ้น ท่านถึงบอกว่า ความห่วงใยไม่

    ท่านอาจารย์ ความห่วงใย การรวบรวม การทำไว้ในใจ และการพิจารณา ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนี้ ผู้กำหนดอยู่ในเบื้องต้นว่า เราย่อมกำหนดรู้ทุกข์ ย่อมละสมุทัย ย่อมทำให้แจ้งซึ่งนิโรธ ย่อมยังมรรคให้เกิด แล้วต่อไป ความห่วงใย เป็นต้น ย่อมมีจำเดิมแต่การกำหนด ถ้าอย่างนั้นก็จะเห็นได้ คุณวีระ ถ้าเรามีความเห็นถูก ในเรื่องการอบรมเจริญปัญญา เราจะห่วงใยไหม ว่าเราจะรู้แจ้ง อริยสัจจธรรมเมื่อไร

    ผู้ฟัง ไม่ห่วง

    ท่านอาจารย์ ไม่ห่วง เพราะเรารู้ว่า เป็นเรื่องของเหตุ ที่จะต้องค่อยๆ อบรมไป จนกว่าผลจะเกิด นี้จริงๆ คือผู้ที่เข้าใจในเรื่องของการอบรมเจริญมรรคมีองค์ ๘ เจริญสติปัฏฐาน จะต้องห่วงทำไม เพราะฉะนั้น ถ้าใครเกิดห่วง คนนั้น เข้าใจจริงๆ หรือเปล่า ในเรื่องการอบรมเจริญสติปัฏฐาน

    เพราะฉะนั้น ในขั้นต้น ที่ว่าย่อมไม่มีแก่ภิกษุนี้ ผู้กำหนดอยู่ในเบื้องต้น จะต้องรู้ตามความเป็นจริงว่า ไม่ต้องไปกังวลเลย ไม่ต้องห่วงเลย เพราะว่าทั้งหมดต้องขึ้นอยู่กับเหตุ แต่ประโยคต่อไปที่ว่า ความห่วงใยเป็นต้น ย่อมมีจำเดิมแต่การกำหนด มาอีกตอนแล้ว ใช่ไหม ถ้ากำลังรู้ลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ ทุกอย่างในชีวิตประจำวัน ไม่ได้เปลี่ยนเลย แต่สามารถที่สติสัมปชัญญะจะระลึก แล้วก็รู้ได้ จะรู้ถึงความห่วงใยไหม ถ้าเกิดขึ้น

    ผู้ฟัง ขณะนั้นก็เป็นกุศลจิต ซึ่งมีญาณสัมปยุตต ก็คงจะไม่ห่วงแล้ว

    ท่านอาจารย์ ความห่วงใยเกิดขึ้น ปัญญารู้ไหม ว่าขณะนั้นเป็นธรรมที่ไม่ใช่เรา

    ผู้ฟัง ผมคิดอย่างนี้ ถ้าสมมติว่าความห่วงใยเกิดขึ้นในขณะนั้น ก็เป็นอกุศลจิต

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวก่อน จะเป็นกุศล หรืออกุศล ก็ตามแต่ มี ๒ ตอนที่ต่างกัน สำหรับผู้ที่มีความเข้าใจถูก ในเรื่องการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ไม่ห่วงใยว่าผลจะเกิดเมื่อไร นี่คือถูก ถ้าบอกว่าเมื่อไรสติปัฏฐานเราจะเกิด ผิด เมื่อไรปัญญาเราจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมก็ผิดอีก เพราะฉะนั้น ในเบื้องต้น ต้องมีความเห็นถูก คือไม่ห่วงใยในผลที่จะเกิด นี้ตอนต้น

    ผู้ฟัง อดห่วงไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นความที่เห็นถูกจริงๆ เอาตอนที่เห็นถูกจริงๆ ไม่ห่วง จะรู้อริยสัจ ชาตินี้หรือเปล่า ที่นั่งกันอยู่ ไม่ห่วงเลย ไม่ใช่ชาตินี้ หรือชาติหน้าจะรู้หรือเปล่า ก็ไม่ห่วงอีก จนกว่าเหตุจะสมควรแก่ผล นี่คือผู้ที่เข้าใจถูกต้อง เพราะฉะนั้น แม้แต่ความเห็นถูก ที่จะเข้าใจถูกจริงๆ แทงตลอดในอรรถนี้จริงๆ แล้วทรงไว้ คือไม่ลืมเลย ไม่มีการคิดที่ว่าเมื่อไรเราจะรู้

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ต้องเป็นผู้ที่มี ความเห็นถูกในการอบรมเจริญสติปัฏฐาน นี่ตอนต้น แล้วต่อไปความห่วงใยเป็นต้น ย่อมมี จำเดิมแต่การกำหนด พอมีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม จะเห็นความห่วงใย สารพัดห่วงเพราะเป็นโลภะ ยังมีความติดข้องอยู่

    ผู้ฟัง คนนั้นเห็นเอง

    ท่านอาจารย์ ขอโทษ ชีวิตประจำวัน ถ้าเราไม่เข้าใจผิดในหนทางก็เป็นปกติ แล้วแต่ว่าสติสัมปชัญญะจะเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมอะไร เมื่อไร แล้วในชีวิตประจำวัน ห่วงไหม ยังไม่ได้รดน้ำต้นไม้ ห่วงโน่น ห่วงนี่ นั่นคือสิ่งที่มีจริงๆ ที่เกิดแล้ว ที่สติสัมปชัญญะจะระลึกรู้ จึงเห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น จึงเห็นโลภะ ละเอียดขึ้น ธรรมทุกอย่างที่จะละ ต้องเห็นโดยละเอียด เพราะว่าต้องดับเป็นสมุจเฉท ไม่ใช่เป็นเพียงขั้นฟัง เพราะฉะนั้น จึงมีข้อความ ๒ ตอนที่ต่างกัน

    ข้อความต่อไป แต่ในกาลต่อมา ทุกข์ ย่อมเป็นอันเธอกำหนดรู้แล้ว ถ้าไม่ระลึกอย่างนี้ ไม่รู้อย่างนี้ จะไม่รู้การเกิดดับแน่นอน ยังเป็นเราอยู่นั่นเอง

    เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมจึงต้องค่อยๆ พิจารณา แล้วข้อสำคัญก็คือว่า ต้องสอบทาน คำแปลว่าถูกต้องหรือเปล่า เพื่อที่จะว่าไม่เป็นความเห็นของตนเอง

    ผู้ฟัง ขอบพระคุณอย่างยิ่ง

    ท่านอาจารย์ ตอนนี้ชัดเจนหรือยัง

    ผู้ฟัง ชัดเจน

    ท่านอาจารย์ สำหรับ ๒ ประโยคที่ตอนแรก ความห่วงใย การรวบรวม การทำไว้ในใจ และการพิจารณา ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนี้ ผู้กำหนดอยู่ในเบื้องต้นว่า เราย่อมกำหนดรู้ทุกข์ คือ รู้เหตุผลของการที่จะอบรมเจริญปัญญา ย่อมละสมุทัย ย่อมทำให้แจ้งนิโรธ ย่อมยังมรรคให้เกิด คือรู้หนทางที่ถูก

    ประโยคต่อไป ความห่วงใย เป็นต้นย่อมมีจำเดิมแต่การกำหนด การกำหนด คือ ขณะที่สติสัมปชัญญะเกิด แล้วระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม จะไม่เห็นโลภะ นี่ไม่ได้ โลภะมีมากมาย

    และต่อไปแต่ในกาละต่อมา เมื่อได้อบรมเจริญแล้ว ทุกข์ย่อมเป็นอันเธอ กำหนดรู้แล้ว หมายความว่า สามารถที่จะประจักษ์แจ้งการเกิดดับ ของสภาพธรรม ที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ย่อมเป็นอันเธอทำให้เกิดแล้ว คือปัญญาระดับนั้นได้เกิดขึ้นแล้ว

    ผู้ฟัง ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด หรือไม่รู้สภาพธรรม คนก็คงโดยทั่วๆ ไป ก็คงไม่ทราบว่าทุกข์นั้นเป็นอย่างไรแน่ อันนี้พอเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ฟังแทงตลอดแล้วใช่ไหม ทุกข์ คือสภาพธรรมที่เกิดดับ นี่ คือสิ่งซึ่ง ญาณ สามารถจะเกิดขึ้นประจักษ์แจ้งได้

    ผู้ฟัง คือแทงตลอด ก็ต้อง การแทงตลอด มันอยู่ที่หลังสุด ไปอยู่หลังจากการพิจารณา และการปฏิเวธ

    ท่านอาจารย์ แต่ต้องมี จากการเข้าใจถูกในขั้นต้น

    ผู้ฟัง การเข้าใจ เพราะฉะนั้น การแทงตลอด แทงตลอดขั้นการฟัง แทงตลอดขั้นการ

    ท่านอาจารย์ อรรถของการคำ พยัญชนะ หรือว่า แทงตลอด ลักษณะของสภาพธรรม เพราะว่าถ้าไม่มีการแทงตลอดในอรรถ ความเห็นถูก จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ในขั้นของแม้แต่ว่า อริยสัจ คืออะไร จะอบรมอย่างไรก็คิดว่าต้องไปทำอย่างอื่น

    ผู้ฟัง ผมพูดตัวทุกข์ตัวเดียวในสมุทัย ก็มีลักษณะ เช่นเดียวกัน ถูกต้องหรือไม่

    ท่านอาจารย์ ทั้ง ๔ อริยสัจ

    ผู้ฟัง จากข้อความที่ว่า ความห่วงใยเป็นต้น ก็คือการห่วงใย การรวบรวม การทำไว้ในใจ และการพิจารณา ย่อมมีจำเดิมแต่การกำหนด จะหมายความว่า ตั้งแต่ในระดับที่สติปัฏฐาน เริ่มเกิดไปจนถึงระดับ วิปัสสนาญาณขั้นต้น ซึ่งก็ยังมีความคิดนึก การประมวลถึง สิ่งที่สติหรือปัญญา ที่รู้ ก็มีความคิดนึกเหล่านี้ เกิดขึ้นแทรกมากมาย ตลอดจนถึงความติดข้อง ความพอใจ หรือความหวังผล ซึ่งเป็นความห่วงใย ในการอบรมเจริญ นี่อันนี้จะหมายความตั้งแต่ขั้นที่ สติปัฏฐานเริ่มเกิด จนถึงขั้น วิปัสสนาญาณขั้นต้นๆ ซึ่งยังมีความห่วงใยเหล่านี้อยู่ จนกว่าปัญญาจะเจริญ

    ท่านอาจารย์ จนกว่าจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม

    ผู้ฟัง ซึ่งในขณะนั้นสภาพธรรมที่ปรากฏ กับบุคคลผู้อบรมเจริญขณะนั้น ก็คือความคิดนึก ความห่วงใย ซึ่งควรที่จระรู้

    ท่านอาจารย์ สภาพธรรมเกิดเป็นปกติ แล้วเป็นเราตลอด ด้วยความเป็นตัวตน เพราะฉะนั้น ความห่วงใยจะมีไหม ในเมื่อ ยังมีเราอยู่ ไม่ว่าจะเป็นโลภะเกิดขึ้น ก็ห่วงใยอีก ว่าเป็นโลภะ ขณะนั้นก็เพราะ ความเป็นตัวตน แต่ถ้ารู้ว่าลักษณะของโลภะเป็นสภาพธรรม ความที่เราจะออกจากสภาพธรรมทั้งหลายได้ด้วยสิ่งเดียว คือปัญญา ที่ค่อยๆ อบรม แล้วก็ไม่หวั่นไหว ไม่ว่าสภาพธรรมที่เกิดนั้นจะเป็นสภาพธรรมใด

    โลภะ สามารถจะเกิดให้ประจักษ์แจ้งการเกิดดับได้ไหม ถ้าไม่ติดไม่ยึดถือ ก็จะไม่หวั่นไหวเลย ในลักษณะของสภาพธรรม ขณะนี้เราเริ่มเข้าใจว่า ทุกอย่างเป็นธรรมจากขั้นการฟัง มีความมั่นคงจริงๆ ในขั้นฟังว่าทุกอย่างเป็นธรรม แต่เวลาที่ธรรมอย่างหนึ่งอย่างใดเกิด หวั่นไหวไหม กลายเป็นเราแล้ว ใช่ไหม

    เพราะฉะนั้น ก็เห็นความเป็นเรา ว่ามีอยู่มากมายแค่ไหน เวลาที่สติสัมปชัญญะเกิด แล้วก็มีลักษณะของสภาพธรรมหนึ่ง สภาพธรรมใดกำลังปรากฏ เรายังไม่หมดไปเลย จากสภาพธรรม อีกมากมาย ซึ่งมีเหตุปัจจัยเกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นเยื่อใย การที่ยังติดข้อง การที่ยังมีเรา แม้สติสัมปชัญญะ ก็จะต้องรู้ตั้งแต่ต้นว่าขณะนั้นไม่ใช่เรา มิฉะนั้นจะเอาเราออกกจากสติที่กำลังระลึก แล้วก็รู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม ก็ไม่ได้ ด้วยเหตุนี้จึงสามารถที่จะเข้าใจถึง สติสัมโพชฌงค์ ว่าไม่ใช่ใคร ก็เป็นสติที่อบรมจนกระทั่งเป็นองค์ที่จะทำให้ เป็นฝ่ายของการตรัสรู้ได้ คือเป็นผู้ที่ไม่หวั่นไหวด้วยความมั่นคงว่า ทุกอย่างเป็นธรรมจากขั้นการฟัง แล้วก็เวลาที่ สติสัมปชัญญะเกิด เลือกไม่ได้เลย โลภะมีเหตุปัจจัยจะเกิด ก็เกิด ความห่วงใยต่างๆ นานา มีเหตุปัจจัยก็เกิด ข้อสำคัญคือขณะนี้สภาพธรรมก็เกิดดับเร็วมาก แต่ไม่รู้จริง ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมหนึ่ง สภาพธรรมใดเลยเพียงแต่เรียนชื่อ

    เพราะฉะนั้น เราถึงได้เข้าใจถูกต้องว่า การศึกษาธรรมก็คือเพื่อให้ถึงขณะที่ สติสัมปชัญญะ รู้ตรงลักษณะด้วยความเข้าใจถูก ว่าลักษณะนั้นเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม อันนี้ เป็นสิ่งที่จะต้องอบรม จึงเป็นภาวนา อบรมที่จะให้เห็นถูกเข้าใจถูก ส่วนชื่อต่างๆ มากมาย

    แม้แต่ใน วิภังคสูตร เราก็จะเห็นได้ว่าความต่างกันของผู้ที่ ทรงแสดงธรรมโดยประการทั้งปวง กับผู้ที่ไม่ได้มีปัญญาถึงอย่างนั้นเลย แล้วก็จะเข้าถึงอรรถ ตามที่ทรงแสดงไว้ เราก็สามารถที่จะเข้าใจได้ว่า สิ่งไหนเป็นประโยชน์ ต่อการที่เราสามารถจะเข้าใจด้วยปัญญาของเราเอง เราก็ค่อยๆ พิจารณาในสิ่งนั้น แต่ว่าไม่ใช่ว่าเราสามารถที่จะไป รอบรู้ในพระไตรปิฎกทั้งหมดได้

    ถ้าไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม แม้สักหนึ่งอย่างที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เราก็จะพูดแต่เพียงว่านามธรรมเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ แล้วเราก็จะพูดว่า รูปเป็นสภาพที่ไม่รู้อะไรเลย จะพูดเรื่องความเป็นอายตนะ ตามที่ได้ฟัง แต่ว่าลักษณะของอายตนะก็ไม่ได้ปรากฏ เพราะเหตุว่าไม่รู้ว่าขณะนั้นไม่ใช่เราเป็นนามธรรม และรูปธรรม เพราะอายตนะไม่มีเราเลย เป็นธรรมทั้งหมด ก็เป็นเรื่องที่เราจะเห็นประโยชน์ว่า ในชาติหนึ่ง เราสามารถที่จะสะสมอะไรได้ ความเข้าใจถูก เห็นถูกอย่างมั่นคง ที่เป็นสัจจญาณ และมีการอบรมเจริญสติปัฏฐาน เมื่อสติสัมปชัญญะเกิด ก็รู้ว่าขณะนั้นต่างกับขณะที่หลงลืมสติ แล้วก็จะรู้ว่าถ้าไม่มีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ก็ยังเป็นชื่อ เป็นรื่องราวของสภาพธรรม แต่ตัวจริงของธรรมปรากฏทันทีที่สติสัมปชัญญะระลึก แล้วก็ไม่ใช่อันเก่าเลย ระลึกขณะไหน ก็คืออันนั้นก็ดับ ระลึกขณะไหนสิ่งนั้นก็ดับ แต่ว่าความเป็นเรายังมีมากจนกว่าจะหมดความเป็นเรา เพราะฉะนั้น ก็เข้าใจได้ว่าเป็นจิรกาลภาวนา และเป็นปัญญาจริงๆ ที่สามารถเห็นถูกเข้าใจถูก ในลักษณะของสภาพธรรมที่สติสัมปชัญญะระลึก

    ผู้ฟัง การจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม เป็นสิ่งที่ทำได้ยากจริงๆ เรียนครั้งที่ผ่านมาก็ได้กล่าวไปแล้วว่า ตรงนี้ก็ขออนุญาตทบทวนที่ว่า

    ความพยายามที่จะเห็นสัจจะ เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก ท่านเปรียบเหมือนกับการที่เหยียดมือไป ภวัคคพรหม หรือเหยียดเท้าเพื่อไปถูกต้องอเวจี แล้วก็เหมือนกับการยังปลายขนทราย เอามาแยกเป็น ๗ ส่วน แล้วก็เอาปลายหย่อนลงไปให้จรดปลาย ตรงนั้นก็ยิ่งทำได้ยาก แม้แต่พยัญชนะที่เราสนทนากันอยู่ ตั้งแต่ในครั้งที่ผ่านมา ก็เป็นเรื่องของสัจจะ โดยบท และพยัญชนะ ก็ยากที่จะเข้าใจ แต่การที่จะประจักษ์แจ้ง และแทงตลอด ยิ่งยากยิ่งกว่านี้หลายเท่าเลย โดยเฉพาะสัจจะ ๒ ข้างปลาย ยิ่งยากมาก

    ท่านอาจารย์ แสดงให้เห็นว่าก่อนที่มรรคจิต จะเกิด ก็มีกิเลส ซึ่งยังไม่ได้ดับ เป็นสมุจเฉท ก็เป็นไปต่างๆ แต่เวลาที่มรรคจิตเกิดแล้ว ก็จะดับ หรือตัดหนทางแห่งอกุศลทั้งหลาย ที่เกิดขึ้นแม้ความดำริ ซึ่งเป็นไปในกาม หรือเป็นไปในความพยาบาท และในการเบียดเบียนตามสมควรแก่ฐานะของมรรคนั้นๆ ก็ดับกิเลสไปได้มากมาย ใช่ไหม กามวิตก พยาปาทวิตก วิหิงสาวิตก สำหรับผู้ที่เป็นพระโสดาบัน ก็ไม่เป็นไปในการที่จะทำให้เกิดอกุศลกรรมที่ทำให้ไปสู่อบายภูมิ

    ผู้ฟัง สำหรับพระอริยบุคคลเบื้องต้น คือ พระโสดาบัน เป็นต้น ท่านก็ยังมีกามวิตกได้ในฐานะที่ไม่ถึงกับไปในอบาย

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ตัดหนทางของการที่จะมีการวิตก ไปในเรื่องของกาม และพยาปาท และวิหิงสา ที่จะไปสู่ อบายภูมิ

    ผู้ฟัง ที่จะไปสู่ อบายภูมิ แต่ว่าในส่วนอื่นก็ยังมีได้

    ท่านอาจารย์ ยังไม่เป็นพระอรหันต์ ยังไม่เป็นพระสกทาคามี พระอนาคามี

    ผู้ฟัง ในที่นี้ท่านกล่าวไว้ในฐานะที่เข้าใจ คือ ท่านกล่าวสูงสุดว่า ถ้าอริยมรรค สัมมาสังกัปปะ อริยมรรคองค์ที่ ๒ เกิดขึ้น คือ ตัดขาดจากอกุศลวิตกทั้งหมด หมายถึงพระอรหันต์ ที่จะไม่เกิดขึ้นอีกเลย

    ผู้ฟัง ถ้าในขณะที่สติปัฏฐานเกิด หรือว่าวิปัสสนาญาณเกิด แต่ไม่ถึงขั้นมรรคจิตเกิด ขณะนั้น สัมมาสังกัปปะ เป็นไปในการ

    ท่านอาจารย์ ออกจากกาม

    ผู้ฟัง แต่ก็ต่างกับระดับที่ สติปัฏฐาน หรือวิปัสสนาญาณไม่เกิด ที่จะเป็นอย่างใด อย่างหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ แต่ว่ายังไม่ได้ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท เพราะฉะนั้น ความรู้ที่รู้ ก็รู้ชัด แล้วก็รู้ชัดตามความเป็นจริงว่ายังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท

    ผู้ฟัง ในขณะที่สติปัฏฐาน หรือวิปัสสนาญาณเกิด ในขณะนั้นก็เป็นการ

    ท่านอาจารย์ กุศลทุกประเภท จะมีพวกกามวิตก พยาปาทวิตก และวิหิงสาวิตกไม่ได้ กุศลทุกประเภท

    ผู้ฟัง แต่ถ้าเป็นกุศลจิตที่ยังไม่ถึงขั้นสติปัฏฐาน ก็ขณะที่เป็นกุศลนั้น เว้นจากกามวิตกอย่าง ๑ หรือเว้นจากพยาปาทวิตกอย่างหนึ่ง หรือจากวิหิงสาวิตกอย่างหนึ่ง จากข้อความที่ท่านกล่าวว่า ชื่อว่าต่างกันในเชิงเบื้องต้น เพราะความหมายในการงดเว้นจากกาม จากพยาบาท และจากวิหิงสา มีสภาวะต่างๆ

    ท่านอาจารย์ ทีละขณะ

    ผู้ฟัง ทีละขณะ

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ใช่มรรค ทุกอย่างต้องเป็นทีละขณะ จะพร้อมกันที่จะตัดหนทาง ของอกุศลวิตกเหล่านี้ได้ เมื่อโลกุตตรจิตเกิด มรรคจิตเกิด

    ผู้ฟัง ในชีวิตประจำวัน ที่ยังไม่ถึงขั้นสติปัฏฐาน อย่างเช่น มีการงดเว้นไม่พูดเท็จก็ขณะ ๑ ในการที่ไม่พูดส่อเสียด

    ท่านอาจารย์ ถึงแม้สติปัฏฐานก็เหมือนกัน แล้วสำหรับมรรคจิต ถึงแม้ว่า วิรตีเจตสิกทั้ง ๓ จะเกิดพร้อมกัน แต่ก็งดเว้น ตามฐานะของโลกุตตระนั้นๆ

    ผู้ฟัง ในองค์มรรค ตามนัยของเจตสิก เราก็จะกล่าวว่าเป็นวิรตี ทั้ง ๓ ประเภท อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เป็นโลกียะ แต่ในตอนอธิบาย ท่านก็จะกล่าวถึงเจตนาเป็นประธาน ในความหมายที่ว่า เจตนาเว้น กับ วิรตีเว้น จะต่างกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้พูดถึงวิรตีเจตสิก ซึ่งเป็นองค์ของมรรคด้วย เจตนาเกิดกับจิตทุกดวงอยู่แล้ว

    ผู้ฟัง แต่ในที่นั้นจะหมายถึงวิรตี ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าเป็นองค์ของมรรค

    ผู้ฟัง แต่ในเรื่องของ อกุศลกรรมบถ หรือกุศลกรรมบถ ก็จะหมายถึงเจตนา

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นกรรม ต้องเป็นเจตนา

    ผู้ฟัง เป็นเจตนา แต่มาถึงเรื่องของอธิบายมรรค หมายถึงวิรตี

    ท่านอาจารย์ ต้องเป็นวิรตีเจตสิก

    ผู้ฟัง ถึงแม้จะใช้ศัพท์คำว่า มีเจตนาเป็นเครื่องงดเว้นก็ตาม

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าเจตนาเกิดกับจิตทุกขณะอยู่แล้ว แล้วเจตนาจริงๆ ไม่ใช่ องค์ ๑ องค์ใดในมรรคมีองค์ ๘

    ผู้ฟัง ไม่ใช่องค์มรรค

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์คิดว่าตรงนี้ มีความหมายว่าอย่างไร อริยสาวกในข้อ สัมมาอาชีวะ เพราะข้ออื่นไม่มี ไม่มีคำว่า อริยสาวก มีเฉพาะข้อนี้ เฉพาะข้อสัมมาอาชีวะ มีคำว่า อริยสาวก ถ้าเป็นอริยสาวกเป็นพระโสดาบันแล้ว มันก็น่าจะเป็นผู้ที่บรรลุแล้ว จะต้องมาเจริญมรรคมีองค์นี้ อยู่อีกหรือ ท่านอาจารย์มีความเห็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ คิดว่าผู้ที่เป็นพระโสดาบันแล้ว ไม่มีมิจฉาอาชีวะ ที่จะไปสู่อบายภูมิ

    ผู้ฟัง มิจฉาอาชีวะ ไปสู่อบายภูมิ

    ท่านอาจารย์ ใช่

    ผู้ฟัง ในวิภังค์ท่านกล่าวไว้ชัดเจนว่า อริยสาวโก ได้แก่ สาวกของพระพุทธเจ้า ผู้เป็นอริยะ อีกท่านหนึ่ง ละขาดจากอาชีวะ ไม่บริสุทธิ์ คือ อันบาป อันลามก แล้วเวลาพระผู้มีพระภาค ยกตัวอย่าง ก็ต้องยกผู้ที่ละขาดแล้ว ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ละขาดแล้ว

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ในที่นี้ ในพระบาลี ที่จะยกตัวอย่างว่า เป็นไฉน ก็ต้องยกตัวอย่างว่าอริยสาวก ละมิจฉาอาชีวะ ถ้ายกปุถุชนไม่แน่นอน ยังไม่ได้ละขาด

    ท่านอาจารย์ เป็นแบบอย่างว่า ถ้าจะรู้ว่าสัมมาอาชีวะ คืออย่างไร ก็ต้องดูอาชีวะของผู้ที่เป็นพระอริยบุคคล เป็นแบบอย่างของสัมมาอาชีวะ

    ผู้ฟัง ถ้าจะหย่อนลงมาคือว่า ชีวิตของพระอริยะ อย่างนี้หนา แต่ผู้ที่ยังไม่เป็นพระอริยะ อยากจะถือเพศอย่างนี้ ต้องเป็นอย่างนี้ ถึงยังไม่เป็นก็ต้องทำตัวอย่างนี้ ก็ประพฤติอย่างนี้

    ผู้ฟัง มรรคอื่น อย่างเช่น สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ ใครก็เว้นได้ ใช่ไหม คือตัวอย่างมีมากมาย แต่ถ้าเว้นขาดจากอาชีวะ อันไม่บริสุทธิ์ ต้องพระอริยบุคคลเท่านั้น

    ถ้าคนที่เว้นจากพูดไม่ดี พูดเท็จ ส่อเสียด คำหยาบ เพ้อเจ้อ หรือเว้นจากปาณาติบาต อทินนาทาน อพรหมจรรย์ แล้วอาชีพที่ไม่ถูกต้อง โดยไม่ได้เข้าใจสติปัฏฐาน ไม่เข้าใจองค์มรรค การเว้นเหล่านี้ จะเป็นองค์มรรคได้หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ไม่เป็น เพราะต้องเกิดร่วมกัน ๘ องค์ อย่างน้อย ๕

    ผู้ฟัง ต้อง ๕ องค์ขึ้นไป

    ท่านอาจารย์ ไม่มีความรู้เรื่องสภาพธรรมเลย แล้วก็เพียงเว้นการพูดเท็จ เป็นองค์มรรคได้อย่างไร ไม่สามารถที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้

    ผู้ฟัง ต้องประกอบด้วยองค์อื่น โดยเฉพาะสัมมาทิฏฐิ

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นสัมมาวาจา คือ สัมมาวาจา แต่ไม่ใช่สัมมาวาจาในมรรคมีองค์ ๘

    ผู้ฟัง ถ้าอาชีพที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ ก็เหมือนกับว่า มรรคองค์นี้จะไม่มีอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ คนเราเกิดมาก็จะต้อง เลี้ยงชีพใช่ไหม แล้วแต่ว่าจะเป็นคฤหัสถ์ หรือเป็นบรรพชิต เพราะฉะนั้น ก็เป็นผู้ที่ไม่มีกายทุจริต วาจาทุจริต ที่เป็นไปกับการอาชีพนั้นๆ หรือการเลี้ยงชีพ

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น อย่างเช่น รับราชการ เป็นต้น รับราชาการ ก็เป็นสัมมาอาชีวะ อย่างนั้นหรือ

    ท่านอาจารย์ ถ้าทำถูก ไม่ผิด ทำผิดได้ไหม ในการอาชีพทุจริตต่างๆ ก็มีได้

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ ถ้าจะเป็นสัมมาอาชีวะ ต้องขณะที่กุศลจิตเกิดขึ้น แล้วก็มีการวิรัติทุจริต ทางกาย ทางวาจา ในอาชีพของเรา

    ท่านอาจารย์ ก็เหมือนกับปกติธรรมดา นี่ก็มี สัมมากัมมันตะได้ สัมมาวาจาได้ แม้ไม่เกี่ยวกับการอาชีพ ถ้าเข้าใจอันนั้น เวลาที่เกี่ยวกับ การเลี้ยงชีพ อันนั้นก็ เป็นไปในการเลี้ยงชีพ

    ผู้ฟัง ในเรื่องของความละเอียดของการที่จะเป็นผู้ที่มีการเลี้ยงชีพชอบ จะมีความละเอียดว่าโสดาปัตติมรรค ก็มีสัมมาอาชีวะ แล้วขณะนั้นก็โสตาปัตติมรรค ก็ดับในเรื่องของการทุจริตทางกายวาจาที่จะเป็น ไปเกี่ยวกับการเลี้ยงชีพ แต่ว่า

    ท่านอาจารย์ ที่จะไปสู่อบายภูมิ

    ผู้ฟัง จะไปสู่อบายภูมิ แต่ระดับของพระสกทาคามี พระอนาคามี ท่านจะดับอะไรที่ละเอียดกว่านี้ ในเรื่องของสัมมาอาชีวะ

    ท่านอาจารย์ ใช่ เพราะว่าสำหรับพระโสดาบัน ท่านดับความเห็นผิดว่าเป็นเรา หรือว่าเป็นตัวตนเพราะว่า มีความรู้ชัดใน ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม จนกระทั่งรู้แจ้งอริยสัจจธรรม

    การที่กิเลสของท่านที่เป็นไปในทางที่ผิด ก็จะลดน้อยลงตามกำลังของปัญญา ท่านจะไปทำทุจริตกรรมที่จะทำให้ไป สู่อบายภูมิ เป็นไปไม่ได้เลย แต่ท่านก็ยังมีอกุศลจิต

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 108
    25 มี.ค. 2567