ปกิณณกธรรม ตอนที่ 707


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๗๐๗

    สนทนาธรรม ที่ มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    พ.ศ. ๒๕๔๖


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เมื่อจักขุปสาท มี จึงสามารถกระทบกับสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ แล้วจึงเห็น

    นี่เราจะไม่ใช้คำธรรมอะไรเลย พูดธรรมดาๆ ให้เข้าใจว่าขณะนี้เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ให้ทราบความจริง ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตา กระทบกับจักขุปสาท คือสิ่งที่อยู่ตรงกลางตาสำหรับคนที่ตาไม่บอด แล้วจึงสามารถจะมีธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นนามธรรมซึ่งเป็นธาตุรู้ที่กำลังเห็นในขณะนี้เกิดขึ้น เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ชั่วหนึ่งขณะ ที่มีการเห็นเกิดขึ้น

    แต่ชีวิตประจำวันจริงๆ ของเรา เราไม่ได้รู้ เราไม่ได้เข้าใจอย่างนี้ เพราะฉะนั้น เราก็จะต้องตั้งต้นจากความที่เราไม่เคยรู้อย่างนี้มาเลย แล้วก็ได้ยินได้ฟัง แล้วก็พิจารณาต่อไปให้เข้าใจได้ว่าทำไม ทำไมเห็น แล้วก็มีสิ่งที่ปรากฏ เท่านั้นจริงๆ แต่ทำไมในความรู้สึกของเรา ซึ่งไม่เคยหมดไป ก็คือว่าเห็นคน แล้วก็รู้จักชื่อด้วย เมื่อกี้ก็กล่าวหลายชื่อเลย เพราะว่าถ้าจะกล่าวถึงชื่อท่านผู้ฟังทั้งหมดในที่นี้ก็กล่าวได้ใช่ไหม อะไรเป็นเหตุให้เห็นอย่างนั้น ต้องมีเหตุ ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ถ้าเป็นคนที่เคยรู้จักก็คงจะพอที่จะนึกถึงชื่อ หรือว่านึกถึงรูปร่างหน้าตาได้ แต่ว่าถ้าเป็นบุคคลใหม่ ซึ่งไม่เคยรู้จักเลย ก็เปรียบ เพียงเห็น แต่ว่าไม่รู้จักชื่อ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็พูดถึงตั้งแต่เราเริ่มเกิดก็ได้ คลอดออกมาแล้ว เราไม่รู้เลย มีสิ่งที่ปรากฏทางตา แน่นอน สัจจธรรมต้องเป็นสัจจธรรม จะเป็นอื่นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ขณะที่เห็น ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ กับจิตที่เห็น ไม่ได้มีคน ไม่ได้มีสัตว์ ไม่ได้มีสิ่งของ ไม่มีอะไรๆ ในนั้นเลย ขอให้คิดดู ลักษณะแท้จริงของสิ่งที่ปรากฏ หามีคน สัตว์ สิ่งหนึ่งสิ่งใด ในวัตถุนั้นๆ ไม่ แต่ทำไมปรากฏเป็นคน เป็นห้องประชุม เป็นอะไรมากมาย เพราะฉะนั้น ก็ต้องทราบว่า ที่เรารู้ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดในขณะนี้ คุณวีณารู้สึกจะสนใจมากเลย กำลังฟังว่าเพราะอะไร

    ถ้าไม่จำ ถ้าไม่จำว่า นี่คุณวิชัย ถ้าไม่จำว่า นี่รูปร่างอย่างนี้ สัณฐานอย่างนี้ การคิดถึงสิ่งนั้น ในการที่ทรงจำเป็นเรื่องเป็นราวจะไม่มี จะมีแต่เพียงสภาพเห็น แล้วก็มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น

    ถ้าเราจะศึกษาธรรม ก็ศึกษาตรงแล้วก็จริง ในลักษณะของสภาพธรรม เช่น รูปธรรม ไม่ใช่สภาพรู้ แต่ขณะที่รูปธรรมปรากฏ ต้องปรากฏกับนามธรรม หรือว่าสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งเมื่อเกิดแล้ว ต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด ขณะที่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏ แล้วจะบอกว่าไม่มีใครรู้ ไม่มีใครเห็นสิ่งนั้น สิ่งนั้นปรากฏไม่ได้

    แต่เสียงปรากฏ ต้องมีผู้ที่กำลังได้ยินเสียง หรือมีขณะที่ได้ยินเสียง

    สิ่งต่างๆ กำลังปรากฏ ทางตาในขณะนี้ ก็ต้องหมายความว่า มีสภาพธรรมที่เห็นสิ่งนั้น มิฉะนั้นสิ่งนั้นก็ปรากฏไม่ได้

    อย่างรสหวาน ถ้าบอกว่าหวาน ก็ต้องมีสภาพธรรม ที่กำลังรู้รสหวาน รสหวานขณะนั้นจึงจะปรากฏได้

    การที่เราได้ยินคำหนึ่งคำใด ไม่ต้องรีบร้อนไปไหนเลย มีสิ่งที่ปรากฏให้ศึกษาให้พิจารณาให้ไตร่ตรอง จนกว่าจะเป็นความรู้ของเราเพิ่มขึ้นจริงๆ แล้วเราก็จะเปรียบเทียบได้ว่า ที่เราศึกษามาก มีคำมากมายกับการที่จะรู้จริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรมต้องต่างกัน

    เพราะฉะนั้น ทุกคนตอบได้ ใช่ไหมว่า เห็นอะไร ถ้าตอบว่าเห็นโต๊ะ หมายความว่าต้องมีความจำ ในสิ่งที่เห็น จึงกล่าวว่าเห็นโต๊ะ

    ถ้าบอกว่าเห็นดอกไม้ ก็ต้องมีความจำในสิ่งที่ปรากฏ แล้วก็มีความรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นสภาพธรรม อย่างหนึ่ง ที่จะเรียกว่าดอกไม้ก็ได้ ไม่เรียกว่าดอกไม้ก็ได้ แต่ความทรงจำต้องมี ในสิ่งที่กำลังปรากฏนั้น

    ถ้าเราเริ่มตั้งแต่เกิด แล้วก็รู้ว่าขณะใดก็ตาม ซึ่งนามธรรมเกิดขึ้น นามธรรมเป็นสภาพที่ไม่ใช่รูปธรรม จริง แต่นามธรรมแต่ละประเภท ก็ต้องมีเหตุมีปัจจัย ปรุงแต่งให้นามธรรมนั้นๆ เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น สภาพธรรมใดก็ตาม ซึ่งเกิด หมายความว่าต้องมีปัจจัยปรุงแต่ง สภาพธรรมนั้นจึงเกิดได้ รูปธรรมที่เกิด มีปัจจัยปรุงแต่งหรือเปล่า

    ธรรมต้องเป็น ๑ ไม่เป็น ๒ คือ เป็นสัจจธรรม เพราะเป็นการทรงตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และทรงแสดงตามที่ได้ทรงตรัสรู้ ซึ่งเป็นความจริงที่พิสูจน์ได้ สภาพธรรมใดก็ตามที่ปรากฏ หมายความว่าสภาพธรรมนั้นต้องเกิด แล้วสภาพธรรมที่เกิด ต้องมีปัจจัยปรุงแต่ง จะเกิดขึ้นมาลอยๆ ไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็น นามธรรมที่เกิดขึ้น ผู้ที่ไม่รู้ก็ไม่เห็นมีอะไรเลย แต่ผู้รู้สามารถที่จะรู้ว่า มีปัจจัยอะไรที่จะทำให้สภาพนั้นๆ เกิดขึ้น โดยเป็นปัจจัยสถานใด เสียงขณะนี้ที่กำลังปรากฏ เกิด ถ้าไม่เกิด ก็ไม่ปรากฏ แล้วต้องมีสภาพที่ได้ยินเสียง มิฉะนั้นเสียงก็ปรากฏไม่ได้ เสียงมีปัจจัยปรุงแต่งไหม

    ผู้ฟัง ตามที่ท่านอาจารย์กล่าวข้างต้น ก็มี แต่ว่าถ้าเป็นผู้ที่ใหม่ เช่น อาจจะเป็นปัจจัยต่างๆ ซึ่งก็อาจจะยังไม่เข้าใจว่า ขณะนี้ได้ยินเสียง แล้วรู้ว่าเสียงเกิดแล้วก็ต้องดับ เพราะว่าได้ยินบ้าง ไม่ได้ยินบ้าง แต่ที่ว่าปัจจัยที่ให้เสียงเกิด ยังไม่เข้าใจ เพราะว่า อะไรที่จะเป็นปัจจัยบ้าง เล็กน้อยแค่ไหนอย่างไร

    ท่านอาจารย์ สำหรับผู้ที่จะรู้ความเป็นปัจจัย ทันทีที่ได้ฟังรู้ได้ไหม

    ผู้ฟัง ก็ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้อีกเหมือนกัน ธรรมต้องเป็นไปตามลำดับ ถ้าโดยพระไตรปิฎกที่ได้ทรงจัดแสดงไว้ ก็คือว่า เป็นคัมภีร์สุดท้ายของพระอภิธรรมปิฏก เรื่องของปัจจัย แค่นี้พอไหม

    ผู้ฟัง ถ้าฟังแค่นี้ก็ไม่พอ

    ท่านอาจารย์ ไม่พอ แต่สามารถจะรู้จริงได้หรือเปล่า

    ผู้ฟัง เข้าใจได้

    ท่านอาจารย์ ถ้ายังไม่สามารถ จะรู้จริงได้ แต่ต้องทราบว่า สิ่งที่นี่เกิด อย่างเสียงเกิด เราก็ไม่รู้ ใช่ไหม สิ่งที่กำลังปรากฏ ทางตาในขณะนี้ ผู้ที่ตรัสรู้ทรงแสดงว่าเกิดแล้วดับทันทีเลย แต่เราเห็นตลอด ถ้าขณะนั้นไม่ได้ฟังพระธรรมเลย จะไม่มีความรู้เลยว่า ขณะนี้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา เกิดขึ้นปรากฏแล้วดับ แล้วก็เกิดขึ้นปรากฏสืบต่อ จนกระทั่ง เร็วมากเหมือนไม่ดับเลย นี่คือการฟังจากผู้ที่ไม่รู้แล้วก็ค่อยๆ รู้ขึ้นว่า ความจริงเป็นอย่างนี้ และกว่าจะถึงความจริงอย่างนี้ ก็ต้องอาศัยการอบรมเจริญปัญญา อีกมาก แต่ให้ทราบว่าสิ่งใดก็ตามที่เกิด

    อันนี้ขอให้พิจารณารับฟัง แล้วก็พิจารณาว่า สิ่งใดก็ตามปรากฏเพราะเกิดขึ้น แล้วที่เกิดเพราะมีปัจจัยปรุงแต่ง ไม่ว่าจะเป็นนามธรรม หรือ รูปธรรม ซึ่งภาษาบาลีจะเพิ่มมาอีกคำหนึ่ง สิ่งใดก็ตามที่เกิด สิ่งนั้นเป็น สังขารธรรม เพราะเหตุว่ามีปัจจัยปรุงแต่งสภาพธรรมนั้นเกิด แล้วดับ เพราะฉะนั้น สภาพธรรม ที่เกิดดับเมื่อมีปัจจัย แต่ขณะนี้มีความพร้อมของปัจจัยที่เกิดแล้ว ใช่ไหม อย่างเห็นในขณะนี้ ที่เห็น เห็น นี้ต้องเกิดแล้ว ได้ยินในขณะนี้ที่ได้ยิน ได้ยินนี้ต้องเกิดแล้ว ไม่ใช่ยังไม่เกิด ถูกต้องไหม ลองกระทบแข็ง สภาพที่รู้แข็งเกิด จึงได้รู้แข็ง ไม่ใช่ยังไม่ได้เกิด ก็ไปรู้แข็ง เพราะฉะนั้น ขณะใดที่มีการรู้แข็ง ขณะนั้นสภาพรู้เกิดขึ้นรู้แข็ง

    ขณะนี้ก็คือ สิ่งที่เกิดแล้วเพราะปัจจัยปรุงแต่ง เป็นสังขตธรรม วันนี้ก็คงจะมีเพียงแค่ ๒ คำใหม่ คือสังขารธรรม กับ สังขตธรรม

    ผู้ฟัง น่าสนใจคำถามที่ท่านอาจารย์ถามว่า เห็นขณะนี้อะไรเป็นเห็น น่าสนใจมาก คุณปรเมศร์ก็ตอบว่า เป็นเพราะปัจจัย แล้วท่านวิทยากรก็ตอบได้ว่า เป็นสัญญาด้วย ผมขอตอบอีกนัย ๑ ก็เพราะจิตเป็นเหตุ และก็เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยเป็นเหตุ

    ท่านอาจารย์ อันนี้ยังไม่ได้แยกไปถึงว่านามธรรม คือ จิต และเจตสิก เรากำลังพูดถึงธรรม แล้วเรายังไม้ได้ให้ชื่อ เราให้เพียง ๒ ชื่อคือนามธรรม กับ รูปธรรม เพื่อที่จะเห็นจริงๆ ว่าต่างกัน เพราะว่ารูปธรรมไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย ทุกสิ่งทุกอย่าง แล้ววันหนึ่งๆ ที่ปรากฏก็มีเพียง ๗ อย่างที่เป็นรูปที่ปรากฏ ลองหาดูสิ วันนี้นอกจากรูป ๗ รูปนี้แล้ว จะมีรูปใดปรากฏหรือเปล่า เป็นปกติในชีวิตประจำวัน มีรูปเกินกว่า ๗ รูปหรือเปล่า ที่ปรากฏ

    ผู้ฟัง เป็นชีวิตประจำวัน คือ มีการเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องกระทบสัมผัส

    ท่านอาจารย์ คุณวิชัยก็บอกว่าถ้ายังไม่ได้ศึกษา ก็มี ๗ รูป ศึกษาแล้ว ว่ามีรูป ๒๘ รูป แล้วรูปใดปรากฏ

    ผู้ฟัง ยังไม่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ นั่นสิ รูปที่ปรากฏเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ก็เพียง ๗ รูป ติด ๗ รูปนี้มากไหม แต่ก่อนอื่นขอให้จำสัก ๒, ๓ คำ เช่น สังขารธรรม สังขตธรรม

    สังขตธรรม คือ สภาพธรรมที่ปรุงแต่งแล้วเกิด ขณะใดที่เกิด ขณะนั้นเป็นสังขตธรรม เพราะฉะนั้น สังขตธรรมที่เกิดแล้วดับ สภาพธรรมที่ไม่เกิด ขณะนั้นจะดับได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ นี่คือสิ่งที่เราพิจารณาว่า ขณะนี้ สิ่งนี้เกิดแล้วดับ ต้องจริง แม้ว่ายังไม่ประจักษ์เลย แต่ก็จะเข้าใจว่า เมื่อเป็นสิ่งที่มีจริง ย่อมสามารถที่จะประจักษ์ได้ แต่ว่าต้องอาศัยการอบรมที่เป็นปัญญาตามลำดับขั้นด้วย ไม่ใช่ว่าเพียงฟังเท่านี้ แล้วเราก็จะไปประจักษ์การเกิดดับของธรรมที่เป็นอริยสัจจธรรม แต่เมื่อสิ่งนั้นเป็นความจริง ก็สามารถที่จะพิสูจน์ได้ ในวันหนึ่ง สามารถที่จะเข้าถึงได้

    จิตเป็นสังขารธรรมหรือเปล่า จิตที่ยังไม่เกิด เป็นสังขตธรรมหรือเปล่า ไม่เป็น

    ต้องเกิดแล้ว ปรุงแต่งแล้วเกิด จึงเป็นสังขตธรรม แล้วสังขตธรรมนั้นเกิดก็แล้วดับไป

    ปรมัตถธรรม มี ๔ จิต เจตสิก รูป นิพพาน สำหรับนามธรรม มี ๒ อย่าง คือ จิต กับ เจตสิก จิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ที่กำลังปรากฏ คือมีลักษณะที่รู้แจ้งอารมณ์ อารมณ์คือสิ่งที่ถูกจิตรู้ เมื่อจิตเป็นสภาพรู้ ก็ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้

    สิ่งที่ถูกรู้คือ อารมณ์ในภาษาไทย ซึ่งในภาษาบาลีจะใช้คำว่า อารัมมณะ หรืออาลัมพนะ

    เชิญคุณอรรณพ

    อ.อรรณพ ในเรื่องของ นามธรรม และรูปธรรม ถ้าเราจะพูดพิจารณาเฉพาะนามธรรม และรูปธรรมที่เป็นสังขารธรรม หรือเป็นสังขตธรรม จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ เจตสิกเกิดประกอบกับจิต ในการที่จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ใด เจตสิกก็รู้อารมณ์เดียวกัน อารมณ์ก็คือสิ่งที่จิตรู้

    อย่างเช่นในขณะนี้ มีจิตเห็นเกิดขึ้น จิตเห็นต้องมีสิ่งที่จิตนั้นรู้ คือ สีที่ปรากฏทางตา ซึ่งรูปธรรมก็คงจะเป็น สามารถที่จะปรากฏกับสติได้ ส่วนนามธรรมก็แล้วแต่ว่าจะมีนามธรรมใดปรากฏ เช่น ความโกรธ ความริษยา เมตตา คือ นามธรรมต่างๆ ที่ สามารถปรากฏได้ ความรู้สึกในขณะนี้

    ท่านอาจารย์ คงไม่ลืมว่าเป็นการสนทนาธรรม เพราะว่าการสนทนาธรรม จะทำให้ได้รับฟังความเห็นของผู้ที่ได้ฟัง แล้วก็ความคิดความเข้าใจ วันนี้เราพูดถึงปรมัตถธรรม ๔

    รูปพูดไปแล้ว แล้วก็ นามธรรมก็มี จิต และเจตสิก

    เมื่อกี้นี้ก็กล่าวถึงว่า จิตเป็นใหญ่เป็นประธาน ในการรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่า อารัมมาณะ หรืออาลัมพนะ แต่ภาษไทยเราใช้คำว่า อารมณ์ เมื่อมีจิตซึ่งเป็นสภาพรู้ ก็ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ด้วย แต่ว่าจิตก็เป็นสังขารธรรม ต้องมีปัจจัยปรุงแต่ง อะไรจะเป็นปัจจัยปรุงแต่งให้จิตเกิด ก็แสดงให้เห็นว่า ขณะที่นามธรรมที่เป็นสภาพรู้เกิดขึ้น ก็จะมีนามธรรมที่เป็นสภาพรู้อีกประเภท ๑ ที่เกิดร่วมกัน แล้วก็ดับพร้อมกันด้วย แล้วเมื่อนามธรรมเป็นสภาพรู้ สิ่งที่เกิดร่วมกับจิตก็ต้องเป็นสภาพรู้ ที่รู้สิ่งเดียวกับจิต ที่กำลังรู้ด้วย

    นี่แสดงให้เห็นว่า ขณะใดที่นามธรรมเกิดขึ้น จะมีทั้งจิตซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธาน ที่สามารถที่จะรู้แจ้ง เช่น กำลังเห็น สิ่งที่กำลังปรากฏ หรือว่าได้ยินเสียงที่กำลังได้ยิน แต่ในขณะนั้นเอง จิตเป็นสังขารธรรม เกิดตามลำพังไม่ได้ ต้องมีสภาพธรรม ที่เกิดร่วมกันปรุงแต่งให้จิตเกิดในขณะนั้น ซึ่งสภาพธรรมเป็นนามธรรม มองไม่เห็นเลย ไม่มีรูปร่างเลย แต่ว่าเป็นสภาพธรรม ที่อาศัยจิต เกิดกับจิต จะไม่เกิดที่อื่นเลย เพราะฉะนั้น สภาพธรรม นั้นจึงชื่อว่า เจ-ตะ-สิ-กะ หมายความว่าเป็น สภาพที่เกิดกับจิต เกิดในจิต หรือว่าอาศัยจิตนั้นเองเกิดขึ้น เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ก็คงจะสนทนาหรือถาม ก็คงจะดี วันหนึ่งๆ มีประเภทเดียว หรือว่าหลากหลายประเภท จิต เกิดขึ้นอย่างเดียวซ้ำๆ กันทั้งวัน หรือว่าหลากหลาย

    ผู้ฟัง เกิดขึ้นหลากหลาย อย่างเช่น เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ดีใจบ้าง เสียใจบ้าง

    ท่านอาจารย์ แล้วอะไรทำให้จิตที่เกิดขึ้น หลากหลาย

    ผู้ฟัง เป็นความเข้าใจส่วนหนึ่งว่า คงมีหลายประเภท เพราะเหตุว่าอารมณ์ก็มีต่างกัน อย่างเช่น สิ่งที่ปรากฏทางตา หรือว่าเสียง หรือว่ากลิ่น ขณะนี้ ซึ่งจิตก็มีสภาพรู้ ที่รู้สีบ้าง ได้ยินเสียงบ้าง แล้วก็รู้กลิ่นบ้าง ดังนั้นจิตก็มีหลายประเภท

    ท่านอาจารย์ จิตที่เห็น เกิดแล้วดับ เพราะฉะนั้น จะเป็นจิตที่ได้ยินได้ไหม ไม่ได้ จิตที่ได้ยิน เกิดแล้วดับ เพราะฉะนั้น จะเป็นจิตที่คิดนึกได้ไหม ไม่ได้ นี่ก็แสดงให้เห็นว่า จิตมากมายหลายประเภท แล้วก็ต่างกัน แม้ว่าจิตของแต่ละคน ในแต่ละวันจะต่างกัน หรือว่าเหมือนกัน วันหนึ่งๆ จะมีจิตซึ่งเกิดแล้วก็ดับไป เกิดแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้น ไม่มีจิตเก่า ที่ดับไปแล้วกลับมาเกิดได้อีกเลย

    นี่คือการที่เราเริ่มจะมองเห็น ว่าชีวิตตามความเป็นจริง คือเกิดแล้วก็ไป ทุกขณะ จิตก็ไปสู่อารมณ์ หมายความว่า จิตเป็นสภาพที่ต้องรู้ เพราะฉะนั้น จะขาดสิ่งที่ถูกรู้ไม่ได้ เมื่อรู้อารมณ์แล้วก็ดับไป รู้อารมณ์แล้วก็ดับไป มีอะไรเหลือบ้าง ตั้งแต่เกิดมา จนกระทั่งถึงเมื่อวานนี้ จนกระทั่งถึงวันนี้ จนกระทั่งถึงเมื่อกี้นี้ มีอะไรเหลือบ้าง คิดว่ามี ใช่ไหม คิดว่ายังเหลืออยู่ แต่ว่าตามความเป็นจริง ไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย ไม่มีอะไรที่สามารถที่จะคงอยู่ ให้มีใครไปยึดถือว่าเป็นของเราได้

    อย่างได้ยิน หมดไหมเมื่อกี้นี้ จิตเป็นสภาพที่ได้ยินเสียง เกิดขึ้นได้ยินแล้วก็ดับไป ไม่มีอีกแล้ว จิตที่ดับไปจะกลับมาอีกไม่ได้เลย ขณะที่ได้ยินใหม่ ก็อาศัยปัจจัยใหม่ อาศัยเสียงใหม่ อาศัยโสตปสาทใหม่ เพราะว่าแม้แต่รูปก็เกิดดับด้วย เพียงแต่รูป จะมีอายุยาวกว่าจิต คือจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ รูปรูปหนึ่งจึงดับ แต่เร็วแสนเร็วจนกระทั่งไม่ต้องคิดเลย เพราะว่าขณะที่เสมือนว่า เห็นด้วย ได้ยินด้วย ความจริง ๒ จิต ห่างกันเกิน ๑๗ ขณะ ในขณะนี้ซึ่งปรากฏเหมือนกับว่าทั้งเห็นทั้งได้ยิน

    เพราะฉะนั้น รูปจะเกิดดับเร็วสักแค่ไหน เราคิดว่ารูปจะดับช้า แต่ไม่จริงเลย ดับเร็วมาก แต่ความไม่รู้ ก็ไม่สามารถจะรู้ความจริงใดๆ ได้เลยทั้งสิ้น ก็ขอให้คิดถึงเรื่องของสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งปรุงแต่งจิต แล้วเกิดกับจิต รู้อารมณ์เดียวกับจิต แล้วก็ดับพร้อมจิต

    วิทยากร ที่ท่านอาจารย์กล่าวถึงเรื่องของเจตสิก ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะให้เข้าใจได้ว่า มีสภาพธรรมที่ประกอบกับจิตหลายประเภท อย่างเช่น วันๆ หนึ่งก็ บางท่านก็โกรธก็มี หรือว่าชอบ พอใจบ้าง หรือว่างดเว้นจากทุจริตต่างๆ บ้าง อันนี้ก็เป็นชีวิตประจำวัน ซึ่งมีสภาพธรรมที่เกิดพร้อมกับจิต แล้วก็รู้อารมณ์เดียวกันกับจิต ซึ่งเรียกว่า เจตสิก ก็มีหลายประเภท จึงเป็นปัจจัยให้จิตนั้นมีประเภทต่างๆ กัน

    ท่านอาจารย์ จิตเป็นธรรมหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็น เพราะว่ามีจริงๆ

    ท่านอาจารย์ เป็นสังขารธรรม หรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็น เพราะว่ามีปัจจัยปรุงแต่ง เช่น อย่างหนึ่ง คือ อารมณ์ คือสิ่งที่จิตรู้

    ท่านอาจารย์ เป็นสังขตธรรม หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ขณะที่เกิด ก็เป็นแล้ว มีแล้ว ขณะนี้ก็เป็น

    ท่านอาจารย์ เจตสิก เป็นธรรมประเภทไหน นามธรรมหรือรูปธรรม

    ผู้ฟัง เป็นนามธรรม เพราะว่ารู้อารมณ์เดียวกันกับจิต

    ท่านอาจารย์ เป็นสังขารธรรม หรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็น เพราะว่าต้องเกิดพร้อมกับจิต

    ท่านอาจารย์ เป็นสังขตธรรม หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ถ้าเกิดแล้วมีแล้ว ก็ต้องสำเร็จด้วยปัจจัยต่างๆ

    ท่านอาจารย์ คงงงว่าทำไมถามอย่างนี้ สำหรับบางท่านที่อาจจะเผลอ หรือว่าไม่ทันฟังตรงนั้น ตรงนี้ หรือว่ากำลังคิดอย่างอื่นก็ได้ ก็เป็นการทบทวนเท่านั้นเอง

    ให้ทราบว่าสิ่งที่มีจริงคือปรมัตถธรรม แล้วก็สิ่งที่มีจริง ก็จะเป็น จิต เจตสิก รูป ส่วนนิพพานก็อย่างที่ได้กล่าวถึง ถ้าเรายังไม่เข้าใจเรื่องสภาพธรรมใดๆ เลย การจะพูดถึงนิพานก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจได้

    เพราะฉะนั้น ก็จะขอพูดถึงเจตสิกที่สำคัญๆ เช่น ความรู้สึก ทุกคนมีแน่นอน วันนี้เสียใจแล้วหรือยัง บางทีความเสียใจหรือความไม่พอใจ ไม่มากพอที่เราจะรู้สึกแรงๆ แต่นิดหนึ่งที่รู้สึกจะตรงกันข้ามกับความสบายใจ มีไหม ถ้าเป็นผู้ที่สังเกต ก็จะรู้สึกว่า ความรู้สึกหลากหลายมาก แม้จะหลากหลายอย่างไร ลักษณะของความรู้สึกก็มี จริงๆ เป็นสภาวธรรมอย่างหนึ่ง เป็นจิต หรือเป็นเจตสิก

    คุณนาง มีหรือเปล่า มี คนที่ไม่มีความรู้สึก มีไหม

    ผู้ฟัง ก็มี คนที่ไม่รู้สึกตัวนอนเฉยๆ พยาบาลก็ไม่รู้สึกตัว

    ท่านอาจารย์ นี่คือ สิ่งที่เราเคยคิด ใช่ไหม ว่าขณะนั้นไม่มีความรู้สึกใดๆ แต่จริงๆ แล้ว ความรู้สึกมี ๕ อย่าง ดีใจ เป็นความรู้สึกชนิดหนึ่ง ตรงกันข้ามกับเสียใจ ใช่ไหม มีไหม ดีใจ เป็นความรู้สึกที่มี แล้วตรงกันข้ามกับความเสียใจ

    สำหรับจิตใจ เพราะเหตุว่าบางครั้ง ร่างกายเราแข็งแรง ตา หู ก็ดี แต่ทำไมเสียใจ นี่ก็แสดงให้เห็นว่า เรื่องของใจเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับร่างกาย ต่อให้เป็นผู้ที่สมบูรณ์พร้อมทุกอย่าง มีทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ก็โทมนัสเสียใจได้ ญาติพี่น้องพลัดพราก หรือว่าเป็นอะไรที่มีความวิบัติเกิดขึ้น ความรู้สึกก็ไม่คงที่ ลักษณะของความเสียใจ เป็นธรรมที่มีจริง ก็ต้องสอบถามกันตั้งแต่ต้นว่า เป็นนามธรรม หรือรูปธรรม ตอนนี้ง่าย ใช่ไหม ความเสียใจ เป็นนามธรรม แน่นอนใช่ไหม รูปไม่รู้สึกใดๆ ทั้งสิ้น

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 108
    26 มี.ค. 2567