ปกิณณกธรรม ตอนที่ 711


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๗๑๑

    สนทนาธรรม ที่ มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    พ.ศ. ๒๕๔๖


    ท่านอาจารย์ ความคิดนึกจากการจำ ขณะนั้นเรื่องราวต่างๆ ที่มีแล้วก็เป็นสิ่งสำคัญเหลือเกิน ไม่ใช่ปรมัตถธรรม แต่จิตที่คิดเป็นปรมัตถธรรม เรื่องราว รูปร่างสัณฐานที่เราจดจำไว้ทั้งหมด เป็นแต่เพียงความทรงจำในเรื่องราวของสิ่งที่เป็นปรมัตถธรรมที่เคยเห็น เพราะฉะนั้น มีอีกอย่างหนึ่ง ที่ไม่ใช่ปรมัตถ คือ บัญญัติ หมายความถึง ความคิดนึก รูปร่างสัญฐาน หรือว่าความทางจำใดๆ ก็ตามทั้งหมด ซึ่งไม่ใช่เป็นสภาวธรรมที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ ถ้าจิตไม่เกิดคิดถึงเรื่องหนึ่ง เรื่องใด เรื่องนั้นจะไม่มี เพราะฉะนั้น ทุกเรื่องที่กำลังมี ในขณะนี้ที่กำลังคิด จิตคิดถึงเรื่องราวความทรงจำของสิ่งที่เคยผ่านมาแล้ว เพราะฉะนั้น สิ่งที่ยังจำได้อยู่เป็นบัญญัติ เป็นแต่เพียงการคิดนึกถึงสิ่งที่เคยได้ยินได้ฟัง หรือเคยพบมาแล้วเท่านั้น

    ถ้าเราใช้คำว่าบัญญัติคืออะไร แล้วตอบไปง่ายๆ ก็เหมือนเราจะเข้าใจ แต่มาจากไหน ตรงไหนเมื่อไร ขณะไหน จะทำให้เราเข้าใจขึ้น ว่าขณะนี้อะไรเป็นปรมัตถ และอะไรเป็นบัญญัติ

    ผู้ฟัง เรื่องเสียง คำสรรเสริญในเสียงก็ไม่มี คำนินทาก็ไม่มี คำด่า คำว่า ก็มีแค่เสียง แต่อะไรทำให้เราปรุงแต่งมาถึง เป็นสุข เป็นทุกข์ ได้ในเสียงนั้น

    ท่านอาจารย์ ถ้ากล่าวโดยย่อ คือ จิตคิด ขณะใดที่จิตคิดถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่เคยเห็น เคยได้ยินเป็นต้น เป็นเรื่องราวต่างๆ เรื่องราวต่างๆ ทั้งหมดไม่ใช่ปรมัตถธรรม เป็นแต่เพียงขณะที่จิตจำเรื่องราว สัณฐานของสิ่งที่เคยปรากฏเท่านั้น เพราะฉะนั้น มีสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม กับสภาพที่ขณะที่จิตกำลังคิดเป็นเรื่องราวต่างๆ

    ผู้ฟัง ทำไม สัญญาเจตสิก เขายอดเยี่ยมเหลือเกิน จำสัณฐานของเสียง

    ท่านอาจารย์ มีคำตอบไหม เพราะเป็นลักษณะของสัญญา ใครก็เปลี่ยนลักษณะนั้นไม่ได้ จะให้จิตจำไม่ได้ จิตไม่ได้มีลักษณะจำ จิคเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่า อารมณ์ หรือ อารัมมณะ อารมณ์ เป็นภาษาไทย สิ่งใดที่จิตกำลังรู้ สิ่งนั้นเป็นอารมณ์ คือสิ่งที่ถูกจิตรู้ เพราะฉะนั้น จิตไม่ได้ทำอะไรเลย นอกจากเป็นสภาพที่รู้แจ้งในลักษณะของอารมณ์ที่ปรากฏ ที่เราเห็นเป็นคนต่างๆ ถ้าจิตไม่เห็นไม่รู้แจ้งในความต่าง จะรู้ได้ไหมว่าเป็นหลายคน ต้นไม้ หลายดอกไม้ อะไรก็แล้วแต่

    เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า แม้แต่ความจำต้องอาศัยเกิดกับจิตที่รู้แจ้ง ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏให้จิตรู้ แต่จิตไม่มีหน้าที่จำ ที่ว่าทำไม ช่างจำได้มากมายเหลือเกิน จำได้วิจิตร จำได้ทุกเรื่อง ตั้งแต่เป็นเด็กมา นิทานกี่เรื่องก็ยังนึกออก คำโคลง คำกลอนอะไรก็คิดออก เพราะอะไร เพราะสัญญาเจตสิก ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น ก็เพราะเป็นสภาพที่จำ เปลี่ยนลักษณะของสภาพของธรรมแต่ละอย่างไม่ได้เลย สภาพที่จำก็มีหน้าที่จำเท่านั้น ทำอื่นไม่ได้ โกรธไม่ได้ สุขไม่ได้ ทุกข์ไม่ได้ แต่จำได้

    ผู้ฟัง เพราะว่าเขาคงมีบทบาทมาก พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงยกขึ้นมา เป็นสัญญาขันธ์ เป็นกองๆ หนึ่งเลย

    ท่านอาจารย์ พอพูดถึงขันธ์ หรือคำว่ากอง ก็จะได้เพิ่มเติมสำหรับวันนี้ว่า ธรรมที่เกิดดับมีจริง ใช่ไหม เพราะเกิดแล้วแล้วก็ดับไปแล้วด้วย แล้วก็มีปัจจัยเกิดอีกแล้วก็ดับไปอีก แต่ไม่เปลี่ยน คือรูปทั้งหมดทุกรูป มองเห็น หรือมองไม่เห็นก็ตามเป็นรูป จะเป็นนามธรรมไม่ได้ จะมากลายเป็นสภาพรู้ไม่ได้เลย ไม่มีใครเห็นเสียง ไม่มีใครเห็นกลิ่น เพราะฉะนั้น กลิ่นเป็นรูป เพราะไม่ใช่สภาพรู้ กลิ่นในอดีต กลิ่นปัจจุบัน กลิ่นที่จะเกิดขึ้นในอนาคตก็เป็นลักษณะของกลิ่น ซึ่งไม่มีใครเปลี่ยนแปลงได้ เพราะฉะนั้น รูปทุกประเภททั้งในอดีต ทั้งขณะนี้ และข้างหน้า เป็นรูปขันธ์ ขันธ์ คือ กองหรือประเภทของธรรมนั้นๆ

    รูปขันธ์นี้ไม่ยากเลยใช่ไหม ถ้าได้ยินคำว่าขันธ์ หมายความว่า ส่วน หรือ กอง หรือ ประเภทของสภาพธรรมนั้นๆ ถ้าเป็นรูปก็คือ จะเปลี่ยนเป็นนามขันธ์ หรืออย่างอื่นไม่ได้เลย ต้องเป็นรูปขันธ์ ชอบรูปขันธ์ไหม

    ผู้ฟัง ถ้าสีสวยๆ ก็ชอบ

    ท่านอาจารย์ ชอบทุกรูปไหม ทุกชนิดไหม

    ผู้ฟัง ไม่ทุกชนิด

    ท่านอาจารย์ แต่รูปทางตาก็ชอบ รูปทางหูก็ชอบ ทางจมูกก็ชอบ ทางลิ้น ทางกายชอบหมด คุณธีระพันธ์มีรูปอะไรที่ไม่ชอบบ้าง

    ผู้ฟัง มี เช่นกลิ่นเหม็น

    ท่านอาจารย์ ธรรมต้องเป็นธรรม ความจริงต้องเป็นความจริง แม้แต่รูปธรรมก็ต่างกันเป็น ๒ ประเภท คือประเภท ๑ เป็นรูปที่น่าพอใจ อีกประเภท ๑ เป็นรูปที่ไม่น่าพอใจ

    เพราะฉะนั้น อารมณ์นี้ต้องเข้าใจใหม่ เวลาที่ศึกษาธรรม หมายความถึงสิ่งที่จิตกำลังรู้ เช่น กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ สิ่งที่ปรากฏที่ถูกเห็นเป็นอารมณ์ของจิตเห็น เสียงที่กำลังปรากฏเพราะจิตได้ยินเสียงนั้น เสียงนั้นจึงปรากฏ เฉพาะเสียงนั้นเท่านั้นที่จิตรู้ เป็นอารมณ์ของจิต ถ้าจะพูดภาษาบาลีก็อารัมมณะ หรือ อาลัมพนะ เป็นอารมณ์ คือเป็นสิ่งที่จิตรู้ ไม่ใช่สิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น หรือว่าไม่ใช่สิ่งที่จิตไม่รู้

    แม้ว่าเป็นรูป ก็เป็นรูปมากมาย เพราะว่าจิตไม่ได้ไปเห็นหมดทุกรูป แต่รูปใดก็ตาม ที่จิตกำลังรู้ รูปนั้นเป็นอารมณ์ หรืออารัมมณะของจิต รูปทั้งหมดก็จะแบ่งออกเป็นอิฏฐารมณ์ที่น่าพอใจ ถ้าไม่น่าพอใจก็เป็นอนิฏฐารมณ์ รูปที่ไม่น่าพอใจ ถ้ารูป ๒ รูปนี้ไม่มีความต่างกัน เราก็จะมีแต่ความรู้สึกหรือความเป็นอย่างหนึ่งอย่างใด คือ ชอบตลอด ไม่มีไม่ชอบเลย หรือว่าไม่ชอบตลอด ไม่มีชอบเลย แต่เพราะเหตุว่า แม้รูปเอง ก็มีความวิจิตรต่างๆ เกิดจากสมุฏฐานต่างๆ สิ่งที่ปรากฏทางตารูปหนึ่ง รูปที่ปรากฏทางกาย อย่างแหวนเพชร หรือเพชร นิล จินดาต่างๆ ชอบดูใช่ไหม สีสวยใช่ไหม แล้วก็มีเพชร นิล จินดา หลากหลายชนิดหลายสีด้วย แต่เวลากระทบสัมผัสเหมือนกันไหม คือแข็ง เพราะฉะนั้น ต้องแยกสิ่งที่น่าพอใจทางตา กับสิ่งที่น่าพอใจทางกาย คนละขณะ คนละโลก ไม่ใช่พร้อมกันในขณะเดียวกัน รูปทั้งหมดทุกรูป ก็สามารถที่จะเป็นอย่างหนึ่งอย่างใด คือเป็นรูปที่น่าพอใจอย่างหนึ่ง แล้วรูปที่ไม่น่าพอใจอย่างหนึ่ง แต่รูปทั้งหมดเป็นรูปขันธ์ ไม่ว่าจะน่าพอใจ หรือไม่น่าพอใจ

    ผู้ฟัง อารมณ์กับรูป เป็นตัวเดียวกันไหม

    ท่านอาจารย์ ถ้าเราเข้าใจ ธรรม ว่าคืออะไร แล้วก็ธรรมเป็น ๑ ไม่เป็น ๒ คือจะไม่เปลี่ยน ถ้าพูดคำว่า อารัมมณะ หรือ อารมณ์ หมายความว่าเป็นสิ่งที่ถูกจิตรู้ หรือว่าเป็นสิ่งที่จิตกำลังรู้ เช่นเสียง ที่ปรากฏเพราะจิตกำลังได้ยินเสียงนั้น เสียงนั้นจึงปรากฏ เพราะฉะนั้น เสียงในขณะนั้นเป็นอารมณ์ของจิต เพราะว่าจิตกำลังรู้ ใช้คำว่าอารมณ์ก่อน

    และอีกอย่างหนึ่ง ก็คือว่า จิตเป็นสภาพที่สามารถรู้ได้ทุกอย่าง สิ่งใดที่มีจริง เช่น จิต เจตสิก รูป นิพพาน จิตรู้ได้ แม้เรื่องราวต่างๆ ก็ยังคิดนึกได้ เพราะขณะใดที่กำลังคิดนึก ให้ทราบว่าถ้าไม่มีจิต เรื่องนั้นไม่มี ไม่มีสภาพที่กำลังรู้เรื่อง เป็นคำๆ ที่คิดขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้น สิ่งหนึ่งที่จะจำได้ก็คือว่า จิตเป็นสภาพธรรมที่สามารถรู้ได้ทุกอย่าง ทั้งปรมัตถธรรม และบัญญัติ

    ตอนนี้ให้ทราบว่า ความติดของเรามากมายมหาศาล เพียงแค่ยกเรื่องรูป ยังไม่พูดถึง เจตสิกใดๆ ยังไม่พูดถึงอะไรเลยทั้งสิ้น แต่ความติดของเราในชีวิตประจำวัน ในรูปในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะมากมาย จนกระทั่งรู้ว่าสละได้ยาก เพราะฉะนั้น รูปทุกรูปที่เป็นที่ติดข้อง จึงเป็น รูปูปาทานขันธ์ มาจากคำที่รวมกันคือ รูป อุปาทาน กับ ขันธ์

    ผู้ฟัง คำว่า รูป สละได้ยาก แต่เราพิจารณาดูๆ แล้ว รูปภายนอกที่ว่าปรากฏมีอยู่ ๗ รูปที่ว่า ดูเหมือนกับง่าย แต่รูปคือร่างกายเรา มันไม่ค่อยจะสละ มันจะยึดไว้ว่า เรา

    ท่านอาจารย์ ละเอียดขึ้น แล้วก็ลึกมากด้วย แล้วแต่ประเภท ยึดถืออะไรไว้มาก ของนอกบ้านตามถนนหนทางหรือว่ายึดของในบ้านมากกว่ากัน บ้านหนึ่งก็มีรั้ว อะไรที่อยู่ในเขตบริเวณ กับอะไรที่อยู่ในห้องนอน ยังอยู่ในตู้นิรภัยในห้องนอน ความยึดถือของเราตรงไหน มาก

    ผู้ฟัง ธรรมดาของปุถุชน ยึดของในบ้าน ในตัวก่อน

    ท่านอาจารย์ ถ้าของที่เราไม่ติด เราก็ไปไว้นอกบ้านได้ใช่ไหม ใครจะเอาไปก็ได้ เตรียมพร้อมใส่ถุงเรียบร้อย ให้เขาได้ แต่ของที่อยู่ในบ้านก็ลองคิดดู แล้วอย่างนี้จะว่าติดมากไหมในรูป แค่รูปก่อน ผู้ที่จะละความติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ได้คือใคร พระอนาคามีบุคคล ถ้ายังไม่ถึงก็ต้องยอมรับตามความเป็นจริงแล้วก็อบรมเจริญปัญญาเพื่อจะถึง ไม่ใช่ไปพยายามที่จะถึงโดยไม่มีปัญญา

    ผู้ฟัง ถึงพระอนาคามีบุคคล ถึงจะละรูปได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ ละความยินดี ติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

    ผู้ฟัง อย่างในชีวิตประจำวัน มีคนเขาก็ละไปเลยบ้านช่อง ทิ้งไปเลย ดูเหมือนกับจะละ ตรงนี้คงไม่ได้ละ

    ท่านอาจารย์ ตาเห็นไหม ไปอยู่ที่ไหนก็ตาม เห็นไหม น้ำทะเลเป็นอย่างไร ภูเขาเป็นอย่างไร สัตว์ตัวเล็กๆ น่ารักอย่างไร หรือเห็นแล้วไม่รู้อะไรเลย ไม่รู้สึกอะไรเลย ได้ยินเสียงไหม เสียงนั้นเป็นอย่างไร ได้กลิ่นไหม ลิ้มรสไหม รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสไหม ต้องตรงตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง รูป ไม่รู้อารมณ์ ผมก็ขยายความให้คนรอบข้าง คำว่า ไม่รู้อารมณ์ เขาก็ไม่รู้ว่า ตัวเขาเป็นรูป แล้วเขาก็ไม่สุข ไม่ทุกข์ ไม่รู้ว่าตนเองเป็นเสียง เขาไม่หนาว ไม่ร้อน ถูกต้องประการใด

    ท่านอาจารย์ รู้สึกว่า ถ้าเราเข้าใจว่า อะไรเป็นปรมัตถธรรม ก็พอจะเข้าใจว่าอะไรเป็นบัญญัติ เช่น ในขณะนี้ เห็นอะไร เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา รู้จริงๆ อย่างที่พูดหรือเปล่าว่า เห็น สิ่งที่ปรากฏทางตา หรือว่าปกติเราจะตอบว่าเห็นอะไร

    ผู้ฟัง ดิฉันเห็นแจกันดอกไม้

    ท่านอาจารย์ เห็นแจกันดอกไม้ เริ่มที่จะเข้าใจแล้วว่าอะไรจริง สิ่งที่ปรากฏทางตาจริง แต่ความทรงจำรูปร่างสัณฐานเป็นแจกัน ความทรงจำรูปร่างสัณฐานว่าเป็นดอกไม้ เพราะฉะนั้น ขณะนั้นแจกัน และดอกไม้ ไม่ใช่ปรมัตถธรรม แต่เป็นบัญญัติ

    บัญญัติ หมายความถึงสภาพธรรมใดก็ตามที่จิตรู้ ซึ่งไม่ใช่ปรมัตถธรรม ถ้าเป็นปรมัตถธรรม เช่น ถามว่าแข็งไหม คนที่ขณะนั้นมีแข็งปรากฏ ก็ตอบว่าแข็ง ขณะนั้นแข็งเป็นปรมัตถธรรม แต่ปัญญาไม่ได้รู้ว่าเป็นปรมัตถธรรม แต่สามารถรู้ลักษณะที่แข็งได้ แต่เมื่อรู้ลักษณะที่แข็งแล้ว ก็ยังทรงจำด้วย ไมโครโฟน เก้าอี้ โต๊ะ พวกนี้ อะไรก็ตามที่จิตกำลังรู้ แต่ไม่ใช่ลักษณะของปรมัตถธรรมหนึ่ง ปรมัตถธรรมใด สิ่งที่มีที่จิตกำลังรู้ขณะนั้น เป็นบัญญัติ

    เราก็จะรู้ได้ว่า ตั้งแต่เกิดจนตายเราอยู่ในโลกของบัญญัติ ก่อนจะนอนคิดเรื่องอะไร บัญญัติ หรือว่าคิดเรื่องปรมัตถ หรือรู้ลักษณะที่แข็ง หรือว่ารู้ลักษณะที่เป็นเสียง เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีปัญญาเพิ่มขึ้น จะรู้ได้ว่าขณะนั้น จิตกำลังมีปรมัตถเป็นอารมณ์ หรือว่าขณะนั้นจิตมีบัญญัติเรื่องราวต่างๆ เป็นอารมณ์ แล้วผู้ที่ตรงตามความเป็นจริง พอตื่นขึ้นมาจิตมีอะไรเป็นอารมณ์ เสียงนาฬิกาปลุก เป็นเสียงที่เป็นปรมัตถ หรือว่าขณะนั้น เป็นเรื่องเสียงนาฬิกาปลุก

    ผู้ฟัง เพราะเสียงมีจริง แต่ว่า คิดก็เป็นเรื่องของนาฬิกาปลุก

    ท่านอาจารย์ เสียงมีจริง แต่ขณะนั้น ปัญญารู้ว่าเสียง เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง หรือเปล่า เพราะจริงๆ ถ้าจะรู้อย่างนั้น ต้องประกอบด้วย ธรรมอีกประเภท ๑ คือ สติสัมปชัญญะ ที่จะรู้ตรงลักษณะนั้นแล้วไม่มีอะไรเลย แต่นี่ มีนาฬิกาปลุก เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นเราอาจจะไม่ได้รู้ว่า คิดแล้ว ทั้งๆ ที่เสียงเป็นปรมัตถ มี

    เพราะฉะนั้น จริงๆ แล้วคำว่า ปรมัตถธรรม หมายความถึง สภาวธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสิ่งที่มีจริงแต่ละลักษณะที่ต่างๆ กันไป ในขณะที่กำลังปรากฏ

    นี่คือ เราชินกับโลกของบัญญัติ ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วถ้าไม่มีปรมัตถธรรม บัญญัติก็ไม่มี ใช่ไหม ไม่มีเสียง จะไปมีนาฬิกา หรือเสียงนาฬิกาได้อย่างไร ไม่มีสิ่งที่ปรากฏทางตา จะเห็นเป็นคน เป็นรถยนต์ เป็นถนนหนทางได้อย่างไร เพราะฉะนั้น ปรมัตถธรรมมีจริง แต่เพราะไม่รู้ลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม จึงทรงจำ หรือว่าจำรูปร่างสัณฐาน ของสิ่งที่ปรากฏทั้งหมด เป็นเรื่องราวตลอดตั้งแต่เกิดจนตาย ถ้าใครไม่ได้ฟังธรรม อยู่ในโลกของสมมติบัญญัติตั้งแต่เกิดจนตาย โดยไม่รู้ว่าแท้ที่จริงแล้ว อะไรเป็นปรมัตถธรรม เป็นสิ่งที่มีจริงๆ ในความคิดของเขา ก็คือมีญาติพี่น้องจริง มีโรงเรียน มีถนนหนทาง มีทุกอย่างจริง แต่ไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วถ้าไม่มีปรมัตถธรรม สิ่งใดๆ ก็มีไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ที่จะรู้ว่า ปรมัตถธรรม กับ บัญญัติ ต่างกันอย่างไร บัญญัติสามารถที่จะเป็นอารมณ์ คือกำลังปรากฏทางตากับจิตที่เห็น แต่ไม่ใช่กับสติ และสัมปชัญญะ ปัญญาที่สามารถเข้าใจถูก จนกว่าผู้นั้นจะอบรม จนกระทั่งถึงกาละที่พอฟังเข้าใจ แล้วรู้ได้เลย แล้วก็สามารถที่ว่า ถ้าอบรมมาที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ก็สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ในเวลาไม่นานเลย เพียงข้อความ ๒, ๓ ประโยค สภาพธรรมก็เป็นจริง ที่จะให้ผู้นั้นสามารถที่จะรู้ได้

    แต่สำหรับการศึกษาปรมัตถธรรม ให้ทราบว่า มีปรมัตถธรรม และมีบัญญัติ และก็ถ้าขณะใดที่ไม่ใช่ปัญญาที่รู้ลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรมว่าเป็นปรมัตถธรรม ขณะนั้นก็จะมีการรู้ลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรมโดยความเป็นเรื่องราว หรือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เหมือนว่าเที่ยงตลอดเวลา

    คุณวาณียังไม่ดับใช่ไหม คุณจำนงค์ เพราะเป็นคุณวาณี แล้วรูปเกิดดับหรือเปล่า แต่ก็ยังไม่รู้ เพราะเหตุว่าเป็นเพียงปรากฏกับจิตเห็น แล้วก็จิตที่เริ่มฟัง แล้วก็เข้าใจ จนกว่าปัญญาจะอบรมเจริญขึ้น ถึงสามารถจะคลายความที่เป็น เห็นแล้วก็เป็นคุณวาณีอย่างยั่งยืน ไม่เคยดับ เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา แน่นนอนไม่ว่าเป็นใครในความคิดนึก ก็เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา

    ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์ถามคุณวาณี เกิด ดับหรือเปล่า ดับทั้งตัวดูแล้วน่ากลัว

    ผู้ฟัง ที่คุณจำนงค์ พูดเป็นเรื่องราว ความจริงแล้วสภาพธรรมต้องเป็นสภาพธรรมแต่ละประเภท ที่จะปรากฏทางตา ก็เป็นรูปารมณ์ ทางหูก็เป็นเสียง จมูกก็เป็นกลิ่น ลิ้นเป็นรส ทางกายก็เป็นโผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น จะนำคุณวาณีมารวมกันไม่ได้ ความจริงคุณวาณีเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาโดยปริยัติที่เราศึกษากัน อย่างเช่น เคยมีคำถามจากท่านอาจารย์ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตา ร้องเพลงได้ไหม อันนี้เป็นคำถามที่ชวนให้คิด

    ท่านอาจารย์ แล้วก่อนที่จะเป็นคุณวาณี มีหลายท่านไม่รู้จักชื่อนี้เลยใช่ไหม เราก็มาพบกันที่นี่บ่อยๆ แล้วก็มีคนที่นั่งแถวหน้า แถวหลัง ชื่ออะไรบ้างก็ไม่ทราบ แต่จำไว้แล้ว คนนี้เคยเห็น คนนี้มาใหม่ยังไม่เคยเห็นเลย นี่ก็แสดงให้เห็นว่า แม้เพียงสิ่งที่ปรากฏ ความคิดนึกกับความทรงจำของเรา หลายหลากอย่างไรบ้าง ที่จะไม่รู้ว่าแท้ที่จริง แล้วก็เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ เหมือนกันทุกวัน ลืมตาขณะใดก็มี สิ่งที่กำลังปรากฏอย่างนี้แหละ แต่ความทรงจำปรุงแต่ง จากการที่ยังไม่รู้จักชื่อ แต่จำได้ เพราะว่าเคยเห็น พอเห็นแล้วก็จำ พอเห็นอีกที ก็จำได้ แล้วแต่ว่าจะแม่นยำขนาดไหน ต้องเห็นกี่ครั้ง แล้วภายหลังก็รู้จักว่า ชื่อคุณวาณี เพิ่มมาแล้วใช่ไหม เพิ่มบัญญัติคือชื่อ แต่ว่าถึงแม้ว่าไม่มีชื่อเลย ก็มีบัญญัติ คือมีสิ่งที่จดจำไว้จากสิ่งที่ปรากฏ แล้วก็ตอนหลังก็มีบัญญัติเรื่องราวต่างๆ แล้วถ้าคุณวาณีไปทำคุณงามความดี มียศฐาบรรดาศักดิ์ ก็เพิ่มชื่อขึ้นมาอีก

    เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ ว่าเราอยู่ในโลกของสมมติบัญญัติมานานมาก แล้วการที่จะค่อยๆ มีความเห็นถูก กำลังฟังอย่างนี้ก็เกิดความเข้าใจว่า จริงๆ เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ นี่คือการเริ่มของปัญญา ที่จะเข้าใจสิ่งที่ปรากฏ เพราะไม่ใช่หมายความว่า เราจะเข้าใจแล้ว ทุกอย่างหายไปหมด ไม่ใช่อย่างนั้น สภาพธรรมอื่นเกิดต่อทันที

    แม้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงเห็น แล้วก็ทรงรู้ว่าบุคคลที่กำลังปรากฏในขณะนั้น ชื่ออะไร เป็นท่านพระสารีบุตร หรือเป็นท่านพระโมคคัลลานะ เพราะการเกิดดับสืบต่อของจิต ที่ทรงจำเร็วมาก แต่ไม่มีความเห็นผิดในลักษณะของสภาพธรรม เพราะทรงประจักษ์แจ้ง ว่าสภาพธรรมทั้งหลายมีปัจจัยเกิดแล้วก็ดับ เพราะฉะนั้น ความไม่รู้แล้วก็เรื่องของบัญญัติซับซ้อนมากมาย ต้องทราบว่ายังมีอยู่เต็มเลย ทันทีที่กำลังฟังอย่างนี้ ก็ยังมีการจำ มีการรู้บัญญัติทั้งนั้นเลย จนกว่าความรู้ปรมัตถค่อยๆ เพิ่มขึ้น

    ผู้ฟัง ถ้าเราไม่ได้ฟังธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้นี้ เราก็คงจะแยกบัญญัติ กับปรมัตถออกไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ต้องเป็นการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็ทรงพระมหากรุณาแสดง เพราะเหตุรู้ว่าเป็นสิ่งที่ผู้ที่ได้ยินได้ฟัง สามารถไตร่ตรอง พิจารณาอบรมปัญญา ที่จะรู้จริง ประจักษ์แจ้งอริยสัจจธรรมได้ บางคนเข้าใจว่าเวลาที่ปัญญาเกิด แล้วก็จะไม่มีเรื่องราว หรือความคิดนึกเกิดเลย ซึ่งสภาพธรรมเป็นจริงอย่างไรก็ต้องเป็นจริงอย่างนั้น แต่ปัญญาสามารถที่จะเข้าใจ ถูกเห็นถูก ในขณะนั้นได้

    ผู้ฟัง ธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้นี้ ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ๓ ไตรปิฎก ลงที่อนัตตา คือความไม่มีตัวตน

    ท่านอาจารย์ ธรรมเป็นเรื่องจริงที่พิสูจน์ได้ ขณะที่ทุกคนกำลังฟัง ก็เป็นคุณจำนงค์ กำลังพูด เห็นไหม ทั้งๆ ที่ฟังเรื่องปรมัตถธรรม แล้วก็เริ่มที่จะมีความเข้าใจว่าปรมัตถธรรม คือ ธรรมที่มีจริง แม้ไม่เรียกชื่อเลยก็มีลักษณะปรากฏ แต่เวลาฟัง ก็เป็นฟังคุณจำนงค์ กำลังพูด จะเห็นได้ว่ากว่าเราจะเข้าใจจริงๆ แล้วอบรมเจริญปัญญาจนกว่าจะสามารถประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรม ก็ต้องเป็นจิรกาลภาวนา เมื่อไรก็เมื่อนั้น ไม่ต้องเป็นห่วง ไม่ต้องทำอะไรที่จะเป็นไปด้วยความไม่รู้ เพราะว่าถ้าเป็นไปด้วยความไม่รู้ ก็จะไม่รู้ตลอดไป

    ผู้ฟัง ฟังดูแล้วเหมือนกับว่า ธรรมหรือธรรมชาติ ธรรมชาติหรือธรรม มันมีความไม่รู้มากมายกว่าปัญญาใช่ไหม

    วิทยากร ก็เป็นความจริงใช่ไหม ว่ามีความไม่รู้มากกว่า ขณะนี้มีความยินดีพอใจในรูปไหม

    ผู้ฟัง มี

    วิทยากร สี

    ผู้ฟัง ใช่

    วิทยากร สีสวย อยากไปเที่ยวไปดูวิวทิวทัศน์สวยๆ เห็นสิ่งที่น่าพอใจ สายตาก็จะสอดส่ายไปแล้ว ก็ถูกกลืนกิน เพราะว่าขณะนั้นเป็นโลภะที่ติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ในอดีตก็เคยมี อย่างนี้ ติดมาแล้ว สะสมความติดมาด้วย ในปัจจัยก็ยังติดอยู่ แล้วก็ยังไม่ได้ดับเหตุปัจจัย ในอนาคตก็ยังคงมีรูปเกิด แล้วก็เป็นที่ยึดถือ เพราะว่าไม่รู้จักรูปตามความเป็นจริง

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 108
    26 มี.ค. 2567