ปกิณณกธรรม ตอนที่ 712


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๗๑๒

    สนทนาธรรม ที่ มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    พ.ศ. ๒๕๔๖


    อ.อรรณพ ในอดีตก็เคยมีอย่างนี้ ติดมาแล้ว สะสมความติดมาด้วย ในปัจจัยก็ยังติดอยู่ แล้วก็ยังไม่ได้ดับเหตุปัจจัย ในอนาคตก็ยังคง มีรูปเกิด แล้วก็เป็นที่ยึดถือ เพราะว่าไม่รู้จักรูป ตามความเป็นจริง กลืนกินนี้ก็คือ เพราะว่าเป็นที่ตั้งของความยึดถือ ตลอดเรื่อยมา ยังไม่เข้าใจ ช่วยขยายตอนนี้ด้วย

    ท่านอาจารย์ เมื่อกี้นี้กล่าวถึงขันธ์ ๕ ความจริงแรื่องของขันธ์ ๕ ก็เป็นเรื่องที่ค่อยๆ เป็นไปตามลำดับ แต่ว่าเมื่อกล่าวแล้วถึงชื่อ ๕ ชื่อ คือขันธ์ ๕ สภาพธรรมก็มีนามธรรม กับรูปธรรม และปรมัตถธรรม ก็มีจิต เจตสิก รูป จะไม่บอก แต่ให้คิด แล้วก็ถามให้ตอบ ว่ารูปทุกรูป เปลี่ยนสภาพเป็นนามธรรมไม่ได้เลย รูปหยาบ รูปละเอียด รูปทราม รูปประณีต รูปใกล้ รูปไกล รูปชาติก่อน ชาติหน้า ชาติไหนก็ตามต้องเป็น รูป

    เพราะฉะนั้น ธรรมส่วนนี้ กองนี้ จะเป็นนามธรรมไม่ได้เลย ให้เข้าใจธรรมที่มีแล้วเราไม่รู้เลย ถูกบัญญัติ หุ้มห่อ ปิดบังไว้แนบสนิทเลย ไม่รู้ว่าเป็นธรรมแต่ละอย่าง เพราะฉะนั้น ในขันธ์ ๕ ขันธ์ แล้วก็เป็นรูป ๑ ขันธ์ เพราะฉะนั้น อีก ๔ ขันธ์ เป็นอะไร เป็นนาม นี่ต้องตรงๆ อยู่แล้ว ใช่ไหม ธรรมผิดไม่ได้ จริงก็คือจริง รูปจะเกิดเมื่อไรก็เป็นรูป ก็ต้องเป็นรูปขันธ์อยู่นั่นเอง เพราะฉะนั้น อีก ๔ ขันธ์ เป็นนาม แล้วปรมัตถธรรม ก็มีจิต เจตสิก รูป นิพพาน นิพพานไม่เกิด นิพพานไม่ดับ นิพพานไม่ใช่จิต นิพพานไม่ใช่เจตสิก นิพพานไม่ใช่รูป นิพพานเป็นขันธ์ หรือเปล่า ก็จะมีการเผลอ แล้วก็มีการคิด แล้วก็มีการรู้ว่า ที่เราตอบถูกหรือเปล่า ถ้าผิดจะรู้ได้เลย ไม่ถูก เพราะว่าที่เป็นขันธ์ ก็เพราะเกิดขึ้น ปรากฏจึงสามารถ ที่จะเป็นอดีต เกิดแล้วดับไป เป็นอนาคต ยังไม่มาถึง แต่จะเกิด มีปัจจัยก็เกิด รูป นี่ เกิดได้เมื่อมีปัจจัย แล้วก็ปัจจุบัน คือขณะที่กำลังเกิด แล้วยังไม่ดับปรากฏในขณะนี้

    ขันธ์ทุกขันธ์ก็จะเป็นอดีต หรือปัจจุบัน อนาคต เพราะเหตุว่ามีการเกิดดับ เพราะฉะนั้น สภาพธรรม ที่ไม่เกิดดับ จะเป็นอดีต ได้ไหม จะเป็นปัจจุบันได้ไหม จะเป็นอนาคตได้ไหมในเมื่อสิ่งนั้นไม่ได้เกิดดับ ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ในบรรดาปรมัตถธรรม ทั้ง ๔ ปรมัตถธรรมใด ไม่ใช่ขันธ์ นิพพานเท่านั้น เท่านั้นด้วย รูปเมื่อไรก็เมื่อนั้นต้องเป็นรูปขันธ์ ก็มีขันธ์ ๕ ใช่ไหม แล้วก็ยังไม่ได้เอ่ยชื่อชัดๆ เท่าไร แต่ก็รูปขันธ์ ๑ นามขันธ์ ๔ นามชันธ์ ๔ ได้แก่ปรมัตถธรรม อะไรบ้าง จิต เจตสิก สบายมากเลย หมายความว่านี่คือความเข้าใจ แล้วไม่ว่าเมื่อไร เราก็ไม่ลืม จะเข้าใจ ในเรื่องของขันธ์ กับ ปรมัตถธรรม ต้องรู้ว่าขันธ์ก็คือปรมัตถธรรมนั่นเอง และปรมัตถธรรม ที่จำแนกเป็นขันธ์ได้ มีเพียง ๓ คือ จิต เจตสิก รูป ส่วนนิพพานไม่ใช่ขันธ์ เป็นขันธวิมุติ แปลว่าพ้นจากการที่จะเป็นขันธ์

    อ.อรรณพ ธรรม ที่เป็นปรมัตถธรรม ๓ เป็นขันธ์ ๕ ก็คือ รูป ทั้งหมด เป็นรูปขันธ์ เวทนาเจตสิกเป็นเวทนาขันธ์ สัญญาเจตสิกเป็นสัญญาขันธ์ และเจตสิกที่เหลือทั้งหมดเป็น สังขารขันธ์ ส่วนจิตนั้นเป็นวิญญาณขันธ์

    ท่านอาจารย์ คงจะเป็นแต่เพียงชื่อก่อน เพราะว่าจริงๆ แล้วการศึกษาธรรม ต้องทราบว่าเมื่อฟังแล้ว เราจะมีความเข้าใจ สิ่งที่กำลังปรากฏ อันนี้สำคัญที่สุด คือว่าไม่ว่าจะได้ยินคำอะไร หรือว่าเราจะศึกษาต่อไปอย่างไรก็ตาม ให้ทราบว่าเราจะเข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏเพิ่มขึ้น จากการที่ไม่เคยได้ฟัง ไม่เคยได้เข้าใจเลย ว่า เป็นธรรม จนกระทั่งเริ่มรู้ว่าป็นธรรม แล้วธรรมซึ่งมีจริงๆ ซึ่งใครไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ก็เป็นปรมัตถธรรม

    ปรมัตถธรรมทั้งหมดมี ๔ จริงไม่เปลี่ยนแปลงเลย ไม่ว่าชาติไหน ภาษไหน ที่จะไม่มีปรมัตถธรรม ไม่ได้ เพราะเหตุว่าเมื่อมีโลก มีสิ่งที่ปรากฏในโลก สิ่งที่เป็นโลก และสิ่งที่ปรากฏ ก็จะมีลักษณะที่เป็นธรรมทั้งหมด แต่ว่าลักษณะที่เป็นธรรมที่ต่างกันเป็นประเภทใหญ่ก็มี นามธรรม และรูปธรรม เพราะฉะนั้น เวลาที่พูดถึงปรมัตถธรรม ๔ จะเว้นไม่พูดถึงนิพพาน เพราะเหตุว่าขณะนี้ไม่มีใครเห็นนิพพาน ไม่มีใครได้ยินนิพพานเพราะว่า นิพพานไม่ใช่สภาพธรรมที่เกิด และปรากฏในชีวิตประจำวัน ไม่มีปัจจัยที่จะปรุงแต่งให้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น สิ่งที่เคยเป็นเราเป็นโลกทั้งหมด ก็คือสิ่งที่มีปัจจัยปรุงแต่ง โดยที่เราไม่เคยคิด คิดว่าเมื่อเกิดมีปรากฏ ก็เป็นเราไปเสียทุกอย่าง หรือว่าเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ ตามการที่ได้จำไว้ แต่ตามความจริงก็คือว่า เป็นธรรมมีแน่ๆ แล้วก็เกิดขึ้นแล้วจึงปรากฏ ซึ่งลักษณะที่ต่างกัน เป็น ๒ อย่าง คือ สภาพธรรมอย่างหนึ่ง ไม่ใช่สภาพที่สามารถจะรู้จะเห็น จะคิดจะนึกได้เลย แล้วสภาพธรรมนี้ เป็นประเภทที่เป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเกิดที่ไหน บนสวรรค์ ในน้ำ ที่ไหนก็ตาม หรือว่าเกิดมาแล้วนานแสนนาน ลักษณะนี้ก็ไม่เปลี่ยน คือเป็นสภาพธรรม ที่มีลักษณะที่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย ถึงในอนาคตก็เป็นอย่างนี้ และแม้ในขณะนี้ คือสิ่งที่เรากำลังฟัง ต้องพิสูจน์ ต้องเข้าใจในขณะนี้ ว่ามีรูปธรรมไหม เพราะว่าเราฟังไปก็รู้ว่า มีรูปธรรม แต่เดี๋ยวนี้ ขณะนี้ ต้องมีความเข้าใจขึ้น แล้วก็ไม่ลืม การที่เราพูดเรื่องนามธรรม และ รูปธรรม บ่อยๆ ทุกครั้งก็เพราะเหตุว่า นามธรรมมีจริง รูปธรรมมีจริง แต่เราลืมว่าเป็นนามธรรม และรูปธรรม

    เพราะฉะนั้น เวลาฟังธรรม ก็จะไม่นึกถึงเรื่องอื่นเลย แต่นึกถึงสิ่งที่มีจริงๆ ซึ่งเป็นธรรม และในขณะนี้เราก็สามารถที่จะบอกได้ด้วยตัวของเราเอง ว่าลักษณะใดเป็นรูปธรรมได้

    ผู้ฟัง แข็ง

    ท่านอาจารย์ แข็ง หนึ่งรูป เสียง ๒ แล้ว แข็งรู้ได้ทางกาย ถ้าไม่มีกายปสาท อย่างไรๆ แข็งก็ปรากฏไม่ได้ สำหรับเสียงมีจริงๆ แต่เราบอกว่าเกิด เพราะมีปัจจัยปรุงแต่ง เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีสิ่งที่ทำให้เสียงเกิด เสียงก็เกิดไม่ได้ อย่างนั่งเฉยๆ เสียงก็ไม่เกิด ใช่ไหม แต่พอมีของแข็งกระทบกัน เสียงเกิดแล้ว แต่ถ้าไม่มีการกระทบกันของ ของแข็ง ใครทำให้เสียงเกิดได้บ้าง มีไหม แม้แต่คำที่พูดออกมา ก็ต้องมีการกระทบกันของส่วน ที่เป็นรูปที่เรียกว่า เราเรียกว่าธาตุดิน หรือธาตุที่อ่อนแข็งในปากกระทบกัน เสียงจึงจะเกิดขึ้นมาได้ แต่ก็ยังมีสมุฏฐานนอกจากนั้นอีกด้วย นี่ก็แสดงให้เห็นว่า เรารู้ลักษณะของรูป ทางกาย ทุกคนมี ๑ รูป ทางหู ๑ รูป เดี๋ยวนี้เอง เป็นธรรมที่เราจะเข้าใจ ให้ถึงที่สุดว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ของใคร เพื่อที่จะได้ปัญญาเจริญจนสามารถจะละคลายความติดข้อง การยึดถือสภาพนั้นๆ ว่าเป็นเรา จนกว่าจะสามารถประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่เหนือโลก คือพ้นจากโลก พ้นจากสภาพธรรม ในขณะนี้ นั่นคือนิพพาน แต่ก็อีกไกล

    เพราะว่าการอบรมเจริญปัญญา ต้องตามลำดับจริงๆ ต้องรู้สิ่งที่มีจริง ไม่ใช่สิ่งที่อยู่ในหนังสือ หรือตามตำรา แต่เป็นสิ่งที่สามารถพิสูจน์ในขณะนี้ได้ มีอ่อนแข็ง มีเสียง แล้วมีอะไรอีก กลิ่นเมื่อมีจมูก บางคนอาจจะจมูกดีได้กลิ่นดอกไม้ ที่อยู่ข้างนอก มีต้นไม้ มีกลิ่นหญ้ามีกลิ่นดอกไม้แต่ว่า ถ้าไม่กระทบกับจมูกกลิ่นก็ไม่ปรากฏ แล้วต่อไปก็จะทราบว่า กลิ่นอยู่ถึงที่โน่นแล้วจะมากระทบถึงจมูกที่นี่ได้ ต้องอาศัยธาตุอะไร แต่ให้ทราบว่า กลิ่นก็เป็นสิ่งที่มีจริง รสกระทบกับลิ้น สีต่างๆ ที่ปรากฏทางกาย นี่ก็เป็นรูปต้องอาศัยจักขุปสาท มีสี มีเสียง มีกลิ่น มีรส ๔ แล้ว แล้วก็มีแข็ง ๕ ใช่ไหม เย็นหรือร้อน ๖ ตึงหรือไหว ๗ เป็นรูปที่มีเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ไม่เคยรู้ แต่ขณะนี้ทราบว่าเรากำลังศึกษาธรรม แข็งเป็นของใครหรือเปล่า ไม่เป็น เสียงเป็นของใครหรือเปล่า ไม่เป็น ทุกอย่างเป็น ธรรม คือเพียงเกิดปรากฏแล้วหมดไป

    เพราะฉะนั้น ก็จะต้องฟัง จนกระทั่งมีความ เห็นถูก มีความเข้าใจถูก ว่านี้เป็นรูปธรรม และเป็นรูปธรรม แค่ได้ยินคำว่า รูป ก็รู้ว่ารูปเป็นธรรมที่มีจริง จะใช้คำว่า รูปธรรมก็ได้ แล้วธรรมที่มีจริง ซึ่งเป็นรูป ก็มีหลายอย่างที่ต่างกัน เป็นสีก็มี เป็นเสียงก็มี เป็นกลิ่นก็มี เป็นรสก็มี ในอดีตแต่ก่อน หรือว่าต่อไปข้างหน้า หรือเดี๋ยวนี้ ก็หลากหลายมาก แต่ถึงอย่างไรก็ตาม รูปทั้งหมดทุกชนิด ถ้าไม่ใช่สภาพรู้ จึงเป็น รูปขันธ์ เพราะฉะนั้น รูปไหน ไม่ใช่รูปขันธ์บ้าง ไม่มีเลย นี้คือเป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง ขันธ์ที่ไม่ใช่รูป มีไหม มี เพราะอะไรก็ตาม ที่มีจริง ที่เกิดขึ้น ที่ไม่ใช่รูปธรรม เป็นอะไร เป็นนามธรรม เพราะฉะนั้น ก็มี ๒ อย่าง นามธรรม กับรูปธรรม ศึกษาไปตลอดชีวิต และกี่ชาติก็แล้วแต่ จนกระทั่งประจักษ์จริงๆ ว่า เป็นธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ไม่ใช่ตัวตน รูปธรรม ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย แต่รูปสามารถปรากฏกับสภาพที่สามารถรู้รูปนั้น ซึ่งเป็นนามธรรม

    เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ สิ่งต่างๆ กำลังปรากฏ กับนามธรรม สภาพรู้ หรือธาตุรู้ ใช้คำนี้ ไม่ชินหูเลย แต่ถ้าบอกว่าจิต ชินหู พูดแล้วก็เข้าใจ เหมือนกับว่าเข้าใจได้ทันที แต่จิตเป็นธรรมชนิดหนึ่ง เป็นธาตุรู้ อันนี้ ถ้าเราสามารถจะเข้าใจ หรือคิดว่าเข้าใจจิต เราก็ต้องเข้าใจคำว่า สภาพรู้ หรือธาตุรู้ด้วย มิฉะนั้นไม่ชื่อว่าเราเข้าใจจิต เราเพียงแต่รู้ว่ามีจิต แต่รู้แบบไม่เข้าใจอะไรเลย ว่าจิตคืออะไร แต่ถ้าเราสามารถที่จะเข้าใจได้ ว่ามีสภาพรู้ หรือธาตุรู้ ทั้งหมดเป็นธาตุ หรือธรรมที่มีจริง แต่ธาตุชนิด ๑ ไม่รู้อะไรเลย แต่อีกชนิดหนึ่ง เป็นธาตุรู้ซึ่ง ทันทีที่เกิดต้องรู้ สิ่งหนึ่งสิ่งใด เราใช้คำว่ารู้ เช่น เสียงปรากฏ เรามักจะชินกับภาษาไทยเราว่าได้ยิน เสียง แล้วถามว่าได้ยิน คืออะไรอย่างไร ถ้าเราเข้าใจได้ยินจริงๆ ก็คือได้ยินเป็นธาตุ หรือธรรมที่สามารถได้ยินเสียง คือเป็นธาตุรู้ ซึ่งสามารถจะรู้ สิ่งหนึ่ง สิ่งใด ซึ่งขณะนั้นเป็นเสียง ขณะนี้ เสียงมีหลายเสียง แต่ละเสียง ธาตุชนิดนั้นหรือจิต ธาตุรู้ สามารถรู้แจ้งในลักษณะของธาตุนั้น เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรา แต่เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง มีจริงๆ ขณะเห็น ธาตุชนิดนี้ สภาพธรรมชนิดนี้ ก็คือสภาพที่กำลังเห็นนั่นเอง ขณะนี้ที่กำลังเห็น ไม่เคยสนใจมาก่อน แต่รู้ว่าแท้ที่จริง มีจริงๆ ธาตุที่เห็นหรือสภาพธรรม ที่เห็น หรือ จะใช้คำว่า จิตเห็น ไม่มีรูปร่างลักษณะเลย แต่เห็น เพราะฉะนั้น เราก็กำลังจะศึกษาธรรม ซึ่งแม้ในขั้นต้น ก็ไม่ง่าย เพราะเหตุว่า ถ้าพูดเพียงชื่อ ไม่ยาก แต่ถ้าพูดถึงลักษณะจริงๆ ที่จะให้เป็นความรู้ของเรา จริงๆ ค่อยๆ รู้ค่อยๆ เข้าใจขึ้นว่าลักษณะของธรรม ที่เป็นนามธาตุที่เป็นสภาพรู้ ก็คือในขณะที่กำลังเห็น ในขณะนี้นั่นเอง

    ถ้าได้ฟังเมื่อแสนโกฏิกัปป์มาแล้ว ขณะนี้สบายมากเลย พอพูดถึงเห็น ก็รู้เลย พอพูดถึงนามธรรม ก็รู้เลย สามารถที่จะประจักษ์แจ้ง การเกิดขึ้น และดับไป ของนามธรรมได้ ของรูปธรรมได้ สำหรับผู้ที่ได้อบรมมาแล้ว ซึ่งตัวอย่างก็คือ พระอริยสาวกทั้งหลาย ซึ่งท่านก็กล่าวว่า เมื่อแสนกัปมาแล้ว ท่านเป็นใคร ทำอะไร อยู่ที่ไหนแล้วก็ได้ฟังธรรม เพราะฉะนั้น ของเราไม่ต้องเกี่ยวกับ วันเดือนปี หรือจำนวนเลย แต่ละขณะที่ได้ฟัง แล้วเข้าใจ นั่นคือประโยชน์สูงสุดของการที่รู้ว่า นี่คือสิ่งซึ่งคนอื่นก็ไม่สามารถที่จะบอกเราได้ นอกจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    เพราะฉะนั้น สำหรับปรมัตถธรรม ๔ จิต เป็นธาตุที่เป็นใหญ่เป็นประธาน ในการรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ซึ่งสิ่งที่ถูกรู้ ใช้คำว่า อารมณ์ ในภาษาไทย มาจากบาลีว่า อารัมมาณะ หรืออาลัมพนะ เพราะฉะนั้น เมื่อมีจิตซึ่งเป็นสภาพรู้ จะไม่มีสิ่งที่ถูกรู้ คือ อารมณ์ไม่ได้เลย ไม่มีจิตสักขณะเดียว ซึ่งเกิดขึ้น โดยไม่รู้อารมณ์ หรือว่าไม่มีอารมณ์

    ถ้าพูดถึงอารมณ์ หมายความถึง สิ่งที่จิตกำลังรู้ ต้องกำลังรู้ใน ขณะที่จิตเกิด สิ่งที่จิตกำลังรู้ เป็นอารมณ์ ขณะนี้มีรูปมากมาย แต่ว่ารูปใดก็ตามที่เกิด แต่จิตไม่ได้รู้รูปนั้น รูปนั้นก็เป็นรูป แต่ไม่ใช่อารมณ์ เพราะเหตุว่า ขณะนั้นไม่มีจิตที่กำลังรู้รูปนั้น

    จิตเป็นสภาพธรรม ที่เป็นสภาพรู้ ที่สามารถจะรู้ได้ทุกอย่าง จิตรู้รูปก็ได้ จิตรู้นิพพานได้ไหม ได้ เพราะถ้าจิตรู้นิพพานไม่ได้ ไม่มีการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่มีการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม แต่รู้ได้สำหรับผู้ที่เป็นพระอริยบุคคล ซึ่งจะต้องมีความรู้เรื่องของสภาพธรรมในขณะนี้ จนกระทั่งเป็นความชำนาญ จนกระทั่งสามารถ เป็นการที่สามารถรู้แจ้ง หรือว่าประจักษ์แจ้งความจริงของสภาพธรรม ซึ่งขณะนี้กำลังเกิดดับ เพราะฉะนั้น สำหรับนิพพาน ก็เหมือนทุกครั้ง คือไม่กล่าวถึง แต่จะกล่าวถึงสภาพธรรมที่กำลังมีจริงๆ ในขณะนี้ ซึ่งเป็นรูปธรรม ๑ แล้วก็เป็นนามธรรม ๒ คือจิต และ เจตสิก

    ผู้ฟัง อย่างสมมติว่า ตาเห็นคน จะใช้คำว่า คนเป็นอารมณ์ของตา หรือว่า ใช้คำอย่างไร ถึงจะถูก

    ท่านอาจารย์ ธรรมเป็นสิ่งที่มีจริงทุกอย่าง แล้วเราก็ไม่เคยรู้มาก่อน แต่ถ้ารู้ก็ต้องไม่ผิดจากปกติตามความเป็นจริง เห็นมีจริง เห็นคนก็มีจริง ถ้าไม่มีจิต คนจะมีไหม จะรู้ว่าเป็นคนก็ไม่ได้

    เพราะฉะนั้น จะเห็นความรวดเร็วว่า จิตมีมากมายหลากหลาย มากทีเดียว คนหนึ่งๆ มีจิตหลายประเภท แล้วมนุษย์ ในโลกนี้มีเท่าไร แล้วก่อนนั้นมีเท่าไร ข้างหน้ามีเท่าไร ก็แสดงให้เห็น ความวิจิตร ความหลากหลายของจิต ว่ามีหลายประเภท แต่เมื่อประมวล สรุปลงมาก็เป็นประเภทใหญ่ๆ ๘๙ ประเภท หรือ ๑๒๑ ประเภทโดยพิเศษ พอฟังจำนวน นี่มาจากไหนกัน ก็มากจากชีวิตประจำวันนี้แหละ เช่น ขณะเห็น ต้องมีเห็นก่อน ใช่ไหม เมื่อเห็นแล้ว ไม่มีสภาพที่จำ คนก็ไม่มี ความคิดเรื่องคนก็ไม่มี เพราะถึงอย่างไรๆ สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา เราจะคิดว่าคน เราจะคิดว่าเป็นโต๊ะ เก้าอี้ แต่ยังมีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา แม้ระหว่างที่คิดว่าเห็นคน ก็ยังมีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาอยู่ตลอด ใช่ไหม แต่ระหว่างที่เห็นแล้ว จะมีความคิดว่า คน หรือจะมีความคิดเรื่องราวต่างๆ เห็นก็ยังเห็นอยู่

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ขณะที่เห็นขณะหนึ่งไม่เปลี่ยน แต่ไม่ใช่ขณะที่คิด เพราะฉะนั้น ขณะที่คิดว่าเป็นคนเป็นสัตว์ หรือจะคิดเรื่องราวต่างๆ เมื่อวานนี้ทำอะไร จะพบกันใครที่ไหน จิตเห็นก็ ยังเห็น แล้วจิตคิดก็เป็นจิตอีก ประเภท ๑ หลังจากเห็นแล้ว หลังจากเห็นแล้วจะคิดว่าเป็นคน จะเป็นสัตว์ จะเป็นต้นไม้ จะเป็นอะไร ก็มาจากสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา แต่ความทรงจำรูปร่างสัณฐาน ที่เคยจำไว้ ก็จะทำให้มีความคิดว่ากำลังเห็น สิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะฉะนั้น ให้เห็นความละเอียด ความรวดเร็วว่า การที่มีปัจจัยปรุงแต่ง ให้จิตเห็นเกิดขึ้น ตามความเป็นจริง คือทันทีทำกิจเห็น คือเห็นแล้ว สั้นๆ นิดเดียว เหมือนกับลืมตา แล้วหลับตา จิตเห็นนั้นดับแล้ว เพราะฉะนั้น ความรวดเร็วของการเกิดดับสืบต่อของจิต ก็เหมือนกับมายากล ทำให้ไม่เห็นตามความเป็นจริงเลย ว่าเป็นธรรม ที่เกิดขึ้น ทำกิจเฉพาะอย่าง แล้วก็ดับไป แต่ว่าเหมือนกับว่าขณะนี้ มีเห็นซึ่งไม่ดับเลย เห็นเป็นจิตชนิด ๑ คิดนึก เป็นจิตประเภท ๑ ได้ยินเป็นจิตชนิด ๑ ทั้งหมดเหมือนไม่มีอะไรดับเลย สืบต่อเที่ยงมั่นคง

    เพราะฉะนั้น การศึกษาปรมัตถธรรม ก็คือให้เข้าใจจริงๆ ว่าเป็นธรรม แล้วก็เกิดดับอย่างเร็วมาก ทั้งนามธรรม และรูปธรรม แต่ว่ารูปธรรมเกิดดับช้ากว่าจิต จิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ รูป รูปหนึ่ง หรือกลาปหนึ่ง คือกลุ่มของรูปที่เกิดร่วมกัน กลุ่ม ๑ จึงจะดับไป คือ การศึกษาธรรมไม่จำเป็นที่เราจะต้องรีบไปอย่างเร็ว แต่เป็นความเข้าใจของเราที่มั่นคง เพิ่มขึ้น ในความเป็นสภาพธรรม ซึ่งทำให้ความเข้าใจของเรา เริ่มเข้าใจถูกต้อง ว่าขณะนี้จิตเกิดดับ นับไม่ถ้วน รวดเร็วมาก แต่เพราะไม่ปรากฏ การเกิดดับ ก็มีสภาพธรรม ซึ่งเป็น เจตสิกชนิดหนึ่ง ไม่ได้ใช้คำว่า จิต เพราะเหตุว่า จิตไม่ได้จำ จิตไม่ได้คิด จิตเป็นธาตุที่เป็นใหญ่เป็นประธาน ในการรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ที่ปรากฏ เช่น ในขณะนี้ จะเห็นอะไร ก็เพราะจิต ขณะนั้นรู้แจ้งในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ถ้ามีแหวนเพชร ๒ วง จิตเป็นลักษณะที่รู้แจ้ง ในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ จะเป็นสีเขียว สีแดง จะเป็นเพชรแท้ เพชรเทียม อย่างไรๆ ก็ตาม เพราะจิตรู้แจ้ง สัญญาก็เกิดพร้อมจิต เพราะว่านอกจากจิตแล้ว ขณะหนึ่งๆ ซึ่งมีธาตุรู้ เกิดขึ้น เป็นสภาพที่เป็นใหญ่ในการรู้ คือ จิต เป็นมนินทรีย์แล้ว ก็ยังมีเจตสิก สภาพธรรมที่เป็นนามธรรมอื่นๆ ที่เกิดกับจิต เวลาที่จิตเกิดขึ้น ๑ ขณะ จะมีเพียงจิตเกิดตามลำพังไม่ได้เลย ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย จิตก็เป็นปัจจัยให้เจตสิกเกิด เจตสิกก็เป็นปัจจัยให้จิตเกิด ต่างอาศัยซึ่งกัน และกัน เกิดขึ้น เมื่อสภาพธรรม เป็นอย่างนี้ จะไปถามได้ไหม ว่าใครทำให้ใครเกิด ไม่ได้เลย แต่ตามความเป็นจริงก็คือลักษณะ อย่างนี้แหละ อาศัยกัน และกัน เกิดขึ้น เป็นธรรมเนียม เป็นนิยาม เป็นสภาวธรรม เป็นลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรมนั้น

    เพราะฉะนั้น ขณะใดก็ตามที่จิตเกิด ต้องมีสภาพธรรม ที่เกิดร่วมกัน ที่ทำหน้าที่ จำ สภาพธรรมที่เกิดแล้วก็จำ คือเจตสิกชนิด ๑ ซึ่งทั้งหมดมีเจตสิก ๕๒ ประเภท แต่เจตสิกที่จำ พระผู้มีพระภาค ทรงใช้คำว่า สัญญาเจตสิก นี่ก็ต้องเปลี่ยนจากความเข้าใจเดิมของเรา คิดว่าสัญญา ลงนามกันวันที่เท่านั้น เท่านี้ สัญญากันว่าจะทำอะไร แต่สัญญาเป็นสภาพธรรมที่จำ ทุกขณะที่เกิดแล้วจำได้ อย่างที่คุณเด่นพงษ์บอกว่า เห็นคน จะต้องมีความจำในรูปร่างสัณฐานของสิ่งซึ่ง เคยเข้าใจว่าเป็นคน เพราะฉะนั้น ทุกครั้งที่เห็น ก็รู้ว่าเห็นคน เคยเห็นหุ่นไหม

    ผู้ฟัง เคยเห็น

    ท่านอาจารย์ แต่ก็รู้ว่าเป็นหุ่น ใช่ไหม เพราะจิต เป็นสภาพที่รู้แจ้งในลักษณะของอารมณ์ เหมือนกันอย่างไรก็ตามแต่ จิตก็ยังสามารถที่จะรู้แจ้ง สัญญาก็สามารถที่จะจำ อย่างละเอียดจนกระทั่งรู้ได้ว่า ขณะนั้นไม่ใช่คน แต่เป็นหุ่น ทั้งๆ ที่บางคนอาจจะต้องไป มองแล้ว มองอีก หรืออาจจะต้องกระทบสัมผัส แล้วถึงจะรู้ว่าเป็นหุ่น

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 108
    26 มี.ค. 2567