ปกิณณกธรรม ตอนที่ 715
ตอนที่ ๗๑๕
สนทนาธรรม ที่ มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
พ.ศ. ๒๕๔๖
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เพียงชั่วจิตนี้ดับ รูปนั้นเป็นรูปที่ปราศจากชีวิต รูปทุกรูปนั้นไม่มีชีวิตินทริยรูปเลย แต่ว่าในความทรงจำของเรา ซึ่งไม่ละเอียด เราก็ยังมองเห็นว่า คนที่ตาย บางที่เราไม่รู้หรอกว่าเขาตายเมื่อไร ใช่ไหม เพราะว่าจิตเกิดดับเร็วมาก แล้วก็รูปก็ยังไม่ทันแข็ง ยังไม่ทันเปลี่ยนสภาพ ก็ด้วยความทรงจำ เราไม่สามารถจะทรงจำถึงขณะนั้นได้ ว่าขณะที่พ้นสภาพความเป็นบุคคลนั้นแล้ว รูปนั้นไม่มีชีวิต เพราะว่าไม่มีชีวิตินทริยรูปเกิดอีกเลย นี้ก็เป็นความละเอียดที่จะแสดงให้เห็นว่า ระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่นี่ เพราะชีวิตินทริยรูป จึงทำให้รูปเป็นรูปที่ทรงชีวิต หรือมีชีวิต หรือดำรงชีวิต แต่ความจริงในกลาป หรือในกลุ่มของรูปแต่ละกลุ่ม ที่เกิดดับสืบต่อเร็วมาก และต้องเป็นกลุ่มของกัมมชรูป คือรูปที่เกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐานด้วย ด้วยเหตุนี้เมื่อหุ่น หุ่นหญิง หุ่นชาย ตุ็กตาต่างๆ มีชีวิตินทริยรูปไหม ไม่มี ตา ก็เหมือนกัน รูปวาดบางรูป เหมือนรูปที่มีชีวิตมาก แต่ก็ไม่มีชีวิตินทริยรูป เพราะเหตุว่าไม่ใช่รูปที่ทรงชีวิต ไม่ใช่รูปที่เกิดจากกรรม
เพราะฉะนั้น นี่ก็เป็นเรื่องของสภาวธรรมอย่างละเอียด ทั้งนามธรรม และรูปธรรมที่แสดงให้เห็นว่า เมื่อมีสิ่งนี้เกิดขึ้น ผลก็คือว่าจะมีสัญญาความทรงจำที่หลากหลายในสิ่งที่มีชีวิต ไม่มีชีวิต แต่ว่าลักษณะจริงของสภาวธรรมแต่ละอย่าง ถ้าเป็นชีวิตินทริยที่เป็นเจตสิก ก็อนุบาลรักษาสหชาตธรรม ธรรมที่เกิดร่วมกัน ที่เป็นนามธรรมทั้งจิต และเจตสิก ให้ดำรงอยู่ชั่วขณะที่ยังไม่ดับไป แล้วถ้าสำหรับเป็นรูป ก็มีชีวิตินทริยรูปซึ่งเป็นรูปที่เกิดจากกรรม ทำให้รูปนั้นต่างจากรูปอื่น เช่น หุ่นต่างๆ ก็เกิดจากอุตุ เป็นสมุฏฐาน ไม่ได้เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน ถึงแม้ว่าจะดูเหมือนสักเท่าไร แต่ก็ไม่ใช่ เพราะเหตุว่าไม่มีชีวิตินทริยรูป
ผู้ฟัง ขออนุญาตเสริมท่านอาจารย์ สมมติว่าเป็นแขน ขาดลงไป วางอยูบนถนน ขณะนั้นก็ไม่มีชีวิตรูปแล้ว เพราะชีวิตรูปก็ดับไปแล้ว ก็มีเฉพาะอุตุรูปเท่านั้น
ผู้ฟัง คำว่า รู้แจ้งอารมณ์ ในความหมายของจิต กับปัญญาที่รู้ตามความเป็นจริง จะเหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร หมายความว่า รู้แจ้งอารมณ์
ท่านอาจารย์ เพราะว่ามีคำที่ว่า รู้แจ้งด้วยวิญญาณ รู้แจ้งด้วยสัญญา รู้แจ้งด้วยปัญญา
ปัญญาเป็นสภาพที่เห็นถูกเข้าใจถูก ไม่ใช่เป็นแต่เพียงสภาพที่เห็นแจ้งลักษณะของอารมณ์ เพราะว่าเด็กๆ ก็เห็นแจ้งลักษณะของอารมณ์ได้ ทุกคนที่มีตา แล้วมีสิ่งที่ปรากฏ จิตเห็น เห็นแจ้งลักษณะของอารมณ์ บางคนก็อาจจะบอกว่า เพราะเห็นไม่ชัด ใช่ไหม ชัดหรือไม่ชัดอย่างไร อารมณ์ที่ไม่ชัดเพราะจิตกำลังรู้แจ้ง จึงกล่าวว่าอารมณ์นั้นไม่ชัด มีลักษณะที่สามารถที่จะรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์เท่านั้น แต่แจ้งที่นี่ไม่ได้หมายความว่าชัด อย่างที่ว่าบางคนก็อายุมากแล้ว ใชไหม ตาก็เสื่อม มองอะไรก็ไม่ชัด แล้วจะกล่าวว่าขณะนั้นจิตรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ที่ปรากฏหรือเปล่า ด้วยประการใดๆ ทั้งสิ้น อารมณ์จะปรากฏ โดยความชัดหรือไม่ชัดก็ตาม แต่จักขุวิญญาณ คือ จิตนั้น เป็นสภาพที่เห็นแจ้งความไม่ชัดของลักษณะของรูปที่ปรากฏด้วย คือตามความเป็นจริง ในขณะนั้น
เพราะฉะนั้น จิตไม่ใช่ปัญญา เพราะว่าไม่ได้เห็นถูกต้องว่า ขณะนั้นเป็นสภาพธรรม ซึ่งเมื่อลืมตาขึ้น สิ่งนี้ก็ปรากฏในลักษณะนี้ พอหลับตาลงไปสิ่งที่ปรากฏ เป็นอีกลักษณะหนึ่ง มีแต่เพียงลักษณะของอารมณ์ต่างๆ ในวันหนึ่งๆ จิตเป็นสภาพที่รู้ลักษณะนั้น จะใช้คำว่ารู้ลักษณะก็ได้ หรือจะเจอคำว่ารู้แจ้ง เพราะว่าลักษณะนั้นอาจจะใกล้เคียงกันมาก แต่จิตก็เป็นสภาพที่รู้แจ้งในลักษณะ ซึ่งแม้จะใกล้เคียงกันอย่างไร แต่จิตก็ยังเห็นความต่างได้ นั่นคือเป็นแต่เพียงสภาพที่รู้ลักษณะของอารมณ์
แต่ปัญญาเป็นความเห็นถูก ความเข้าใจถูก ความรู้ถูก ว่าสภาพธรรมนั้นเป็นอย่างไร ไม่ใช่ตัวตนอย่างไร มีลักษณะต่างกันอย่างไร นั่นก็เป็นปัญญา
ผู้ฟัง ขอต่อเรื่องที่ว่า จิตรู้ จิตเห็นแล้ว สัญญามีหน้าที่จำ ที่เขาจำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง เป็นเพราะว่าสัญญามันเสื่อมไป หรือว่าประสาทส่วนใดส่วนหนึ่งเสื่อม
วิทยากร ที่สัญญาจำได้แม่นยำ หรือว่าเลือนลาง แต่ก็เป็นสภาพของความจำ เพราะว่าเกิดกับจิตต่างประเภทกัน และกำลังของจิต และเจตสิกที่เกิดในขณะนั้น มีกำลังแตกต่างกัน แต่ว่าสัญญาลักษณะก็คือ จำในอารมณ์เดียวกับที่จิตรู้
ท่านอาจารย์ การศึกษาธรรมก็เพื่อที่จะให้เข้าใจสิ่งที่มีแล้ว ปรากฏในขณะนี้ตามความเป็นจริง เพราะเหตุว่า บางคนก็อาจจะคิดว่าต้องไปทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้นมา โดยที่ลืมว่าขณะนี้ มีสภาพธรรมปรากฏแล้ว ที่จะฟัง เพื่อที่จะให้เข้าใจความเป็นจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
ซึ่งในคราวก่อน เราก็ได้พูดถึงเรื่องของธรรม แล้วก็ธรรมประเภทใหญ่ๆ ที่ต่างกันก็มี ๒ อย่าง คือ สภาพธรรมที่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย ก็มีจริงๆ เช่น แข็ง เช่น เสียงพวกนี้ ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ส่วนสภาพธรรม อีกอย่างหนึ่งนั้น ไม่ใช่แข็ง ไม่ใช่เสียง ไม่มีรูปร่างลักษณะใดๆ เลยทั้งสิ้น แต่ว่า เมื่อไรที่เกิดขึ้นต้องรู้ รู้ในที่นี้ไม่ใช่รู้อย่างปัญญา หรือว่ารู้อย่างความเห็นถูก ความเข้าใจถูก แต่เป็นการรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ เช่น ในขณะนี้ มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา เป็นธรรมแน่นอน เพราะว่า มีจริงๆ กำลังปรากฏ แล้วขณะที่มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ก็ต้องมีสภาพธรรมที่สามารถเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาด้วย
สภาพธรรม ๒ อย่างนี้ จึงต่างกัน ฟังอย่างนี้ จนกว่าจะเป็นปัญญา ที่สามารถเข้าใจถูกเห็นถูก และประจักษ์แจ้งความต่างของสิ่งที่ปรากฏ และสภาพธรรมที่กำลังเห็น ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ง่ายเลย แต่ก็เป็นสิ่งที่มีจริง และอาศัยการฟังบ่อยๆ ก็จะทำให้ ขณะที่ฟังนั้นเอง ก็ค่อยๆ เข้าใจในขณะนี้ที่กำลังเห็น ค่อยๆ เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา มีจริงๆ เป็นธรรมอย่างหนึ่ง และในขณะที่มีสิ่งที่ปรากฏทางตา ในขณะนี้ต้องมีสภาพนามธรรม ซึ่งสามารถเห็นสิ่งที่ปรากฏ เป็นชีวิตประจำวัน
ขณะที่ได้ยิน ขณะนี้มีเสียงปรากฏ ที่เสียงปรากฏได้ก็ต้องมีสภาพที่สามารถได้ยินเสียง ลักษณะที่ได้ยิน ลักษณะที่สามารถรู้เสียง เป็นสภาพรู้ หมายความว่าไม่มีรูปร่างใดๆ เลย ทั้งสิ้น แต่ก็มีจริง แล้วก็กำลังได้ยินเสียงขณะหนึ่ง กำลังเห็นอีกขณะหนึ่ง กำลังคิดนึกก็เป็นอีกขณะหนึ่ง
เพราะฉะนั้น ก่อนฟังธรรม เราก็อยู่ในโลกของสิ่งที่เราเคยเข้าใจว่า เป็นคน เป็นสัตว์ ที่ไม่เคยเกิดดับเลย ในความทรงจำของเรา เรามีญาติ พี่น้อง มีมิตรสหาย มีทุกสิ่งทุกอย่าง ซึ่งไม่เคยคิดว่าสิ่งนั้นเกิดจึงได้ปรากฏ แล้วเมื่อเกิดปรากฏแล้วก็ดับไป
การฟังธรรม ก็ไม่พ้นจากชีวิตประจำวัน ทุกๆ ขณะที่ได้ยินได้ฟัง เหมือนในครั้งพระไตรปิฎก พระผู้มีพระภาคก็ตรัสถามผู้ที่ไปฟัง ได้ไปเฝ้าพระองค์ในขณะนั้นว่า เห็นเที่ยงไหม ขณะนี้มีเห็น เมื่อกล่าวเป็นภาษาบาลี แล้วท่านเหล่านั้นมีความเข้าใจในสภาพธรรม ท่านก็สามารถที่จะเข้าใจ ลักษณะของสภาพธรรมที่เห็นตามการสะสม ถ้าคนที่ฟังน้อย ก็ค่อยๆ พิจารณาว่าเป็นความจริง แต่ถ้าคนที่ได้ฟังมาก อบรมเจริญปัญญามามาก สภาพธรรมสามารถจะปรากฏ ก็กราบทูลว่า เห็นเกิดแล้วดับ นี่ก็เป็นปัญญาต่างระดับ ซึ่งทุกคนก็ต้องเป็นผู้ที่ตรงต่อความจริง เพราะเหตุว่า พระธรรมจะทำให้ผู้ที่ได้ยินได้ฟังเกิดปัญญาของตัวเอง นี้เป็นสิ่งที่มีค่าที่สุด เป็นรัตนที่สูงสุด
ถ้าไม่มีการฟัง ใครจะทำให้เราเกิดปัญญาความเข้าใจ เป็นไปไม่ได้ ต้องอาศัยการฟังการพิจารณา การเข้าใจ สิ่งที่เกิดแล้ว เพราะปรุงแต่งแล้วในขณะนี้เป็นสังขตธรรม เพราะฉะนั้น สังขตธรรมก็หมายความถึง สิ่งที่ปรากฏเดี๋ยวนี้แหละ เพราะได้ปรุงแต่งแล้ว จึงเกิดขึ้นเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ในชีวิตของเราไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ถ้าไม่ลืมคำว่า สังขตธรรม ก็คือมีปัจจัยปรุงแต่งที่จะเกิดขึ้นเป็นอย่างนี้ เป็นอย่างอื่นไม่ได้ ถ้ามีการบาดเจ็บ มีการปรุงแต่งเกิดขึ้นแล้ว ที่จะเจ็บตรงนั้น เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ถ้ามีความคิดนึกก็หมายความว่า ขณะที่คิดนั้นเอง ก็มีปัจจัยปรุงแต่ง ที่เกิดคิดอย่างนั้น ไม่ใช่คิดอย่างอื่น เพราะฉะนั้น ทุกขณะในชีวิตก็เป็นธรรมซึ่งมีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะเหตุว่า เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป
ผู้ฟัง พอดีจะเรียนถามเรื่องสังขตธรรมพอดี จากการที่เรียนที่นี่ ก็เข้าใจว่า กลุ่มของรูปธรรม เขาจะมีเกิดเป็นกลุ่มๆ ตามที่เรียน ก็คือ ๔ สมุฏฐาน ก็ ๒๑ กลุ่ม เป็นสังขตธรรม แล้วก็กลุ่มของนามธรรม ก็คือ จิต ๘๙ นี่เอง ก็เกิดเป็นกลุ่มๆ อันนี้คือ เป็นสังขตธรรม ตามที่ผมเข้าใจ
ท่านอาจารย์ สภาพธรรม อย่างนามธรรม คือ จิต เกิดขึ้น ๑ ขณะ ประกอบด้วยเจตสิก จะมีจิตเกิดขึ้นโดยไม่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยไม่ได้ เพราะฉะนั้น การอาศัยกัน และกันของจิต และเจตสิกเป็นสังขารธรรม แต่ขณะนี้จิตใดเกิด เพราะว่าสังขารธรรม คือ จิต และเจตสิก ในขณะนั้นปรุงแต่งให้เกิดขึ้นเป็นอย่างนี้ในหนึ่งขณะ ไม่ใช่ไปเป็นกอง หรือว่ารวมกันเป็นสังขต
สังขตธรรม คือ สภาพธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเกิด เพราะปรุงแต่งแล้วเกิดเป็นอย่างนี้ขณะนี้ เช่น เห็น ขณะนี้ที่เกิดแล้ว เป็นสังขตธรรม เพราะมีกัมมปัจจัยที่ได้กระทำแล้ว ถึงกาละที่จะให้ผล คือทำให้วิบากจิต จิตเห็นเป็นผลของกรรมเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ปรุงแต่งแล้วเกิดขณะนี้เป็นสังขต เป็นแต่เพียงชื่อใหม่ ความจริงก็เป็นสิ่งที่เราเคยเข้าใจแล้วนั่นเอง คือธรรมที่เกิดทั้งหมดเป็นสังขตธรรม แต่เพิ่มความหมายว่า ขณะที่สภาพธรรมใดเกิด ขณะนี้ เกิดแล้วจึงปรากฏ ที่เกิดแล้วปรากฏเป็นสังขตธรรม เพราะปรุงแต่งแล้วเกิดขึ้นเป็นอย่างนี้ ไม่เป็นอย่างอื่น
ผู้ฟัง ทีนี้มานัยของสังขารธรรม ที่เรากล่าวว่า สังขารธรรม หรือว่าโดยนัยของโลกว่า สังขารโลก คือ จิต และเจตสิก กับรูป จะกล่าวอย่างไร จึงเรียกว่าสังขารธรรม เช่น กล่าวว่าเจตสิก ๗ ดวง กล่าวโดยนัยอย่างนี้คือ สังขารธรรม หรืออย่างไร
ท่านอาจารย์ จิตหนึ่ง ก็เป็นสังขารธรรม เพราะว่าจะเกิดโดยที่ไม่มเจตสิกเกิดร่วมด้วยไม่ได้ เจตสิก ๑ ก็เป็นสังขารธรรมเพราะต้องเกิดกับจิต รูปหนึ่งก็เป็นสังขารธรรม เพราะว่าต้องอาศัยรูปอื่น หรือว่าสมุฏฐานเกิดขึ้น เรียกว่า ธรรม นั่นเอง ที่เราเคยชินกับคำว่า สัง-ขา-ระ ที่เราเข้าใจว่าเป็นแต่เพียงร่างกาย ไม่ถูก เพราะหมายความถึง สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เกิดต้องมีปัจจัยปรุงแต่ง นั่นคือ ความหมายของสังขารธรรม และปรุงแต่งแล้วเกิด เดี๋ยวนี้เอง แต่ละขณะเป็นสังขตธรรม
ผู้ฟัง ทีนี้ก็จะเรียนถามอาจารย์ต่อไปว่า อย่างขณะนี้เราเห็น ก็รู้ว่า จักขุวิญญาณกำลังทำทัศนกิจเห็น
ท่านอาจารย์ หมายความว่า ธรรม เราแสดงลักษณะ หรือสภาพความจริงของธรรมนั้น ว่าที่เป็นธรรม ขณะที่ปรากฏต้องเกิด แล้วเราก็มีความเข้าใจเพิ่มขึ้น ที่จะเกิดได้ต้องมีปัจจัยปรุงแต่ง ยังไม่พูดถึงปัจจัยอะไรเลยทั้งสิ้น แต่ให้ทราบความหมายของสังขารธรรม แล้วเมื่อปรุงแต่งแล้วเกิดเป็นอย่างนี้ เดี๋ยวนี้ นี่คือสังขตธรรม
ในพระไตรปิฎก จะใช้คำว่า สังขตธรรม เกิดดับ แต่ภาษาไทยเราไม่ค่อยได้ยินคำว่า สังขต ใช่ไหม ได้ยินแต่คำว่าสังขาร เพราะว่าเราไม่เข้าใจเรื่องการเกิดดับเลย
ผู้ฟัง เจตสิกที่ว่า ๕๒ ถ้าเป็นกุศล เจตสิกที่ประกอบก็เป็นในลักษณะที่เป็นกุศล อะไรอย่างนี้ใช่ไหม ปรุงแต่งคือหมายถึงลักษณะของเจตสิกนั่นแหละ ไม่ใช่อื่นใดเลย
ท่านอาจารย์ รูปก็ปรุงแต่งรูปด้วย หรือว่ากรรมก็ปรุงแต่ง คือถ้าพูดถึงสภาพธรรมที่เกิดปรากฏ เราไม่เคยรู้ เราไม่เคยสนใจเลยว่า แม้ขณะนี้ สภาพธรรมแต่ละอย่าง เหมือนไม่ดับ และเหมือนไม่เกิด เหมือนมีอยู่ตลอดเวลา แต่ความจริง ถ้าเราจะค่อยๆ เข้าใจให้ถูกต้องตามเหตุผลที่ผู้ที่ตรัสรู้ และทรงแสดง แสดงถึงความต่างกันของปัญญาอย่างมาก ว่าผู้ที่ไม่รู้ก็ไม่รู้เลย แต่ผู้ที่ตรัสรู้ แม้แต่สภาพนี้ที่เหมือนมีอยู่แล้ว ความจริงเกิดแล้วก็ดับด้วย แล้วที่จะเกิดได้ก็เพราะเหตุว่ามีปัจจัย มีเครื่องปรุงแต่ง มีสิ่งที่ประกอบที่จะทำให้สภาพธรรมนี้เกิดขึ้น โดยที่ว่า ใครจะรู้หรือไม่รู้ อย่างเจตสิก ใครจะรู้
แม้แต่จิต ๑ ขณะที่เห็น ก็ไม่รู้เลยใช่ไหมว่า นี่ไม่ใช่เรา แต่เป็นธาตุ ธา-ตุ ชนิด ๑ ซึ่งมีจริงๆ ส่วนใหญ่คิดถึงรูปธาตุ แต่ความจริงมีธาตุอีกชนิด ๑ คือ นามธาตุ ถ้าไม่มีนามธาตุ ไม่มีอะไรเดือดร้อนเลย โลกก็ไม่ปรากฏ ถึงจะมีรูปก็ไม่ได้ปรากฏ เพราะไม่มีธาตุรู้หรือสภาพรู้ ที่เห็นที่ได้ยินรูปนั้นๆ
นี่ก็แสดงให้เห็นว่ามี สิ่งที่เหมือนธรรมดา แต่ลึกลงไปคือ สัจจธรรม ความจริงของสิ่งนี้แหละ ที่ผู้ตรัสรู้ไม่ได้ตรัสรู้อย่างอื่นเลย แต่ตรัสรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ว่าเป็นสังขารธรรม คือเป็นสิ่งที่เกิดเพราะมีหลายอย่างปรุงแต่ง อาจจะเกิดร่วมกันก็ได้ หรือว่าที่แล้วมา เช่น กรรมในอดีตที่ได้กระทำแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้จิตในขณะนี้เกิดก็ได้
เรายังไม่พูดถึงใดๆ เลยทั้งสิ้น เราจะพูดเพียงแต่ให้เข้าใจให้มั่นคง ว่าขณะนี้เป็นธรรม แล้วธรรม ที่มี ๒ อย่าง ก็คือสภาพที่ไม่รู้อะไรเลยอย่างหนึ่ง แล้วสภาพรู้อีกอย่างหนึ่ง เพื่ออะไร เวลาที่ปัญญาอบรมเพื่อที่จะประจักษ์แจ้ง ก็จะประจักษ์แจ้งตามลำดับอย่างนี้แหละ คือตามลำดับที่จะรู้ว่า ลักษณะของรูปเป็นอย่างหนึ่ง ส่วนลักษณะของสภาพรู้หรือธาตุรู้ ซึ่งไม่มีใครเห็นเลย แต่มีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่เกิดจนตาย ก็จะต้องเป็นสภาพรู้ซึ่งเกิดขึ้นรู้ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แล้วก็ดับไป นี้เป็นแต่เพียงเราพูดถึงสิ่งที่มีในขณะนี้ ให้เข้าใจสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ เพราะเกิดแล้ว ว่าความจริงเป็นอย่างนี้
แต่ว่ายังไม่ได้พูดถึงเหตุปัจจัยใดๆ ทั้งสิ้น เพียงแต่ว่าให้เข้าใจคำเพิ่มเติม นอกจากธรรม นามธรรม รูปธรรม ก็เข้าใจคำว่า สังขารธรรม และสังขตธรรม เพื่อที่จะให้เห็นความต่างเล็กน้อยว่า สังขตธรรม หมายความถึง สิ่งที่ปรากฏเกิดขึ้นในขณะนี้ เพราะปรุงแต่งแล้ว แต่ว่าลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดก็ต้องมีปัจจัยปรุงแต่ง จะเกิดขึ้นเองไม่ได้
ผู้ฟัง รูป ๒๘ นามธรรม ๕๓ ที่กล่าวเมื่อครั้งที่แล้ว เขาปรุงแต่ง เขามีความสามารถ เฉพาะตัวของเขา หรือด้วยปัจจัยของเขาหรืออย่างไร
ท่านอาจารย์ ขณะนี้เรายังไม่ทราบว่า มีรูปเท่าไร มีนามเท่าไร แต่มีนามธรรม แล้วก็มีรูปธรรม เพราะฉะนั้น ขณะนี้ก็ให้เข้าใจลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมที่ต่างกัน แล้วต่อไปเราก็จะเห็นได้ว่า ต่างกันอย่างไร มากมายขนาดไหน แต่ให้ทราบเป็นพื้นฐานว่าเป็นธรรม เมื่อเป็นธรรมแล้วเกิดแล้วด้วย แล้วก็ดับแล้วด้วย แต่ไม่เคยเข้าใจเลย เพราะฉะนั้น การเข้าใจธรรมไม่ใช่ไปที่อื่นแล้วจะเข้าใจธรรม แต่ขณะนี้ มีธรรมที่เกิดแล้วปรากฏ เพราะฉะนั้น ความเข้าใจก็ต้องเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ซึ่งได้ยินแต่เพียงชื่อ ว่านามธรรม กับรูปธรรม แต่ชื่อบ่งถึงลักษณะหรือความหมายของสิ่งที่มี ว่าลักษณะหนึ่ง ที่ใช้คำว่านามธรรม เพราะไม่มีรูปใดๆ ทั้งสิ้น จะไปจับต้องกระทบสัมผัสไม่ได้เลย แต่เป็นธาตุที่น่าอัศจรรย์ เพราะสามารถรู้ได้ทุกอย่าง เช่น ในขณะนี้ มีสิ่งปรากฏเพราะ มีสภาพที่กำลังเห็น ซึ่งเป็นธาตุรู้ซึ่งไม่มีรูปร่างเลย
ธาตุรู้มืดสนิท เพราะไม่มีสีสันวัณณะใดๆ ไม่ใช่เสียง ไม่ใช่กลิ่น ไม่ใช่รส แต่สามารถ ที่จะเห็นสิ่งที่สว่างทางตาในขณะนี้ เพราะฉะนั้น สิ่งที่มีจริง เป็นจริงอย่างไร ถ้ามีพื้นฐานที่มั่นคงที่จะเข้าใจ เวลาที่จะประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมนั้น ก็ไม่คลาดเคลื่อน ต้องเป็นความจริง ตรงตามลักษณะจริงๆ
เพราะฉะนั้น ลักษณะจริงๆ ขอให้คิดถึงกำลังเห็น ลักษณะที่เห็นมืดสนิท สามารถรู้ ในความมืดสนิทเป็นธาตุที่สามารถเห็น สิ่งที่ปรากฏที่สว่าง นี่ก็เป็นทางตา ถ้าเป็นทางหูขณะที่เสียงปรากฏ เสียงไม่สว่างเลย แต่ว่ามีลักษณะของเสียงที่ธาตุรู้นั้นกำลังได้ยินเสียง ตัวธาตุรู้มืดสนิท แต่เสียงเป็นเสียงอย่างที่กำลังปรากฏ
นี่คือลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งถ้าไม่รู้ก็เป็นเรา มีความยึดถือว่าเป็นเรา ทุกอย่างที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรมก็ต้องรู้ประโยชน์ว่า เพื่อให้เกิดปัญญาของเราเองที่จะค่อยๆ เข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมอย่างมั่นคง แล้วก็พระธรรมที่ทรงแสดงไว้ละเอียดลึกซึ้งมาก กำลังจะเป็นผู้ที่ก้าวไปสู่ฝั่งมหาสมุทร แล้วก็เห็นความกว้างใหญ่ของมหาสมุทร คือพระธรรมเทศนา จากการตรัสรู้ แล้วก็จะรู้ว่าเราสามารถจะเข้าใจได้แค่ไหน แต่สิ่งที่มีจริง แสดงให้เห็นว่า เป็นคำสอนของผู้ที่ตรัสรู้แน่นอน จึงได้ทรงแสดงสิ่งที่มีจริงซึ่งใครไม่สามารถจะรู้ได้ ให้คนอื่นสามารถค่อยๆ เข้าใจได้
ผู้ฟัง ที่เรื่องธรรม อย่างไรๆ ก็ไม่เป็นธรรมสักที เห็นอะไร ได้ยินอะไร ก็เป็นสัตว์ เป็นบุคคลไปหมด อันนี้ตรงนี้ เราจะมีวิธีอย่างไร
ท่านอาจารย์ เป็นเราใช่ไหม
ผู้ฟัง ใช่
ท่านอาจารย์ อยากจะรู้ อยากจะมีวิธี อยากจะถึง แต่ไม่มีเรา ต้องเข้าใจสภาพธรรมที่มีว่า สภาพนั้นๆ เกิดขึ้นได้อย่างไร และไม่ใช่เราอย่างไร เพื่อที่จะละความต้องการ ที่จะถึง อะไรก็ไม่รู้ เมื่อไม่รู้แล้ว จะไปถึงอะไรก็ไม่รู้ไช่ไหม อยากจะถึงอะไร กำลังไม่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วอยากจะถึงอะไร
ผู้ฟัง อยากจะรู้อย่างที่อาจารย์เคยบอกว่า เย็นร้อน อ่อนแข็ง บางทีเข้าไปอาบน้ำ รู้สึกว่าเย็น อันนี้จะเป็นความรู้สึกแบบนั้นหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ เรื่องของอริยสัจ ๔ เป็นเรื่องที่ลึกซึ้ง แม้แต่หนทาง ต้องรู้ว่าเป็นเรื่องของความเห็นถูก ความเข้าใจถูกในสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังมี แข็งปรากฏ มีความเห็นถูก มีความเข้าใจถูกอะไร หรือว่าอยากจะไปรู้อะไร นี่แสดงให้เห็นว่า เราฟังธรรม แล้วเราก็เริ่มที่จะเห็นว่า ความไม่รู้มีมากแค่ไหน และความรู้จะต้องค่อยๆ อบรมจากขั้นการฟังให้เข้าใจ ในสิ่งที่มี จนกระทั่งสามารถที่จะมีการรู้ลักษณะซึ่งจะใช้คำว่า สติสัมปชัญญะหรือสติปัฏฐานก็ได้ เกิดขึ้น แล้วก็มีลักษณะที่เป็นปรมัตถ ซึ่งวันหนึ่งๆ ข้ามไปหมด ขณะที่ทุกคนนั่งอยู่ที่นี่ ก็มีเห็นก็ข้ามไป มีเสียงก็ข้ามไป มีแข็งก็ข้ามไป ไม่ใช่สติสัมปชัญญะที่ระลึกลักษณะของแข็ง หรือสิ่งที่ปรากฏ หรือเสียง
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 661
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 662
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 663
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 664
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 665
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 666
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 667
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 668
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 669
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 670
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 671
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 672
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 673
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 674
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 675
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 676
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 677
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 678
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 679
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 680
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 681
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 682
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 683
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 684
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 685
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 686
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 687
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 688
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 689
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 690
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 691
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 692
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 693
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 694
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 695
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 696
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 697
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 698
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 699
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 700
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 701
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 702
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 703
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 704
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 705
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 706
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 707
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 708
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 709
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 710
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 711
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 712
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 713
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 714
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 715
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 716
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 717
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 718
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 719
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 720