ปกิณณกธรรม ตอนที่ 720
ตอนที่ ๗๒๐
สนทนาธรรม ที่ มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
พ.ศ. ๒๕๔๖
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ถ้าเห็นแล้ว ยับยั้งไม่ให้คิดไม่ได้ ด้วยสัญญาเจตสิกซึ่งจำ สิ่งที่ปรากฏทางตา จนกระทั่งสามารถรู้ว่า คนต่างกันเก้าอี้ ทั้งๆ ที่คนก็มีที่เสื้อสีขาว ที่เก้าอี้นี่ก็มีสีขาว แต่ก็ยังสามารถที่จะรู้ในความต่างนั้นได้ ด้วยความจำ แต่ลักษณะที่จำ ไม่ใช่จิต เป็นเจตสิก เป็นสัญญาเจตสิก เพราะฉะนั้น เราก็เริ่มที่จะเข้าใจสภาพธรรม ไม่ใช่เพียงตัวหนังสือ หรือว่าได้ยินเรื่องราว แต่ขณะนี้เองจำได้ ขณะใดที่จำถ้าไม่รู้ก็คือเรา แต่ถ้ารู้ก็คือสัญญาเจตสิก จำ เพราะว่าสัญญาเจตสิกเกิดดับจิตทุกขณะ ไม่ว่าจะหลับจะตื่น
ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น สัญญาเจตสิกก็เกิด มาหมายความว่าทุกภพทุกชาติ จะเป็นสัตว์เดรัจฉาน หรือจะไปเป็นเทวดาอะไรที่ไหนก็คือ เป็นสัญญาที่มันหมือนมั่นคงมากเลย จำแต่ละเรื่องที่ไม่ใช่ปรมัตถ
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะฉะนั้น กว่าเราจะเข้าใจโดยการฟัง แล้วก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น จนกระทั่งสามารถสละความเห็นว่า เป็นคนที่นั่งอยู่ที่นี่อย่างไม่เกิดดับเลย เป็นความรู้ที่รู้ว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะว่าขณะที่ได้ยิน จริงๆ แล้ว สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ได้รวมอยู่ในเสียงเลย ขณะที่ได้ยิน มีเสียงชั่วขณะที่แสนสั้นเป็นอารมณ์ เป็นสิ่งที่จิตกำลังได้ยินในขณะนั้น ไม่ใช่สีสันวัณณะ
การเกิดดับสืบต่ออย่างเร็วมาก ของสภาพธรรมในขณะนี้ ที่ทำให้ไม่ประจักษ์ว่าเห็นเป็นขณะหนึ่ง ที่ต้องอาศัยจักขุปสาท ได้ยินไม่ได้อาศัยจักขุปสาทเลย แต่ต้องอาศัยโสตปสาท ได้ยินจึงเกิดขึ้นในขณะนี้เอง ก็เต็มไปด้วยความไม่รู้ ในสิ่งที่มีจริงๆ จนกระทั่งได้ฟังพระธรรมแล้วก็ค่อยๆ เริ่มจากความเข้าใจ แต่ไม่ใช่ปัญญาที่ประจักษ์ลักษณะของนิพพาน เป็นไปไม่ได้เลย ต้องมีปัญญาที่ฟังเรื่องราวของสภาพธรรม จนกระทั่งในขณะที่เห็น เริ่มเข้าใจ ซึ่งทุกคนฟังแล้วเข้าใจได้ ขณะนี้ว่าเป็นสีสันวัณณะ เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ พอหลับตา สีต่างๆ ไม่ปรากฏ แต่จะปรากฏบางสี ถ้ามีแสงสว่าง เช่น ไฟฟ้า หรืออะไรที่กำลังปรากฏว่า จะปรากฏสีสันวัณณะอย่างหนึ่ง แล้วก็ถ้าไม่ใช่ตรงไฟ ก็จะปรากฏสีที่จางกว่านั้น มืดกว่านั้น คล้ำกว่านั้น ก็เป็นอีกสีหนึ่ง แต่พอลืมตา แค่สีเท่านั้น เหมือนอย่างนั้น แต่มากสี ก็ทำให้เกิดการทรงจำว่าเป็นคน เพราะฉะนั้น อัตตสัญญา ความทรงจำว่าเป็นเราหนาแน่นมาก
การฟังพระธรรม ขอให้ทราบว่าเพื่อละความไม่รู้ ที่เคยไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม แล้วสภาพธรรม ที่ละความไม่รู้นั้น คือ ปัญญาเพราะเข้าใจถูกต้อง ในสภาพที่กำลังปรากฏ จึงค่อยๆ จะรู้ว่าเราหลง ยึดถือด้วยความไม่รู้มานานเท่าไร เครื่องพิสูจน์ก็คือสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าจะทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่สามารถที่จะเห็นโทษภัย เช่น สิ่งที่ปรากฏทางตา ดับ ไม่เห็นโทษภัยเลยใช่ไหม เพราะต่อสนิทด้วยเสียงที่ปรากฏทางหู แต่เสียงก็ดับ ไม่ใช่ไม่ดับ แล้วก็ต่อด้วยสภาพจิตที่คิดนึก
โทษภัยของสังสารวัฏฏ์ คือทุกขณะที่มีปัจจัยปรุงแต่ง เกิดแล้วดับ โดยที่ไม่รู้ ไม่รู้ตลอดชาติก็มี หรือว่าในชาตินี้ได้ฟังแล้ว มีความเข้าใจทีละเล็กทีละน้อย ไม่สูญหายเลย เพราะว่าต่อไปจะถึงลักษณะของจิต ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่แม้ว่าจะเกิดแล้วก็ดับ แต่ว่าจิตแต่ละขณะ จะเป็นสภาพธรรม ที่เป็นอนันตรปัจจัย ใครทำลายไม่ได้เลย หมายความว่าเมื่อจิตขณะหนึ่งดับ จะเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อทันทีไม่มีระหว่างคั่น แล้วถ้าฟังต่อไปก็มีสภาพธรรม ให้เราเข้าใจขึ้น ว่าเรากำลังศึกษารู้ความจริงของสิ่งที่มีทุกภพทุกชาติไม่ขาดเลย ให้เพิ่มความรู้ในลักษณะนั้นว่าเป็นธรรม
ถ้าเข้าใจคำว่า ธรรม ก็จะรู้ว่ามีธรรมตลอด ไม่มีคนไม่มีสัตว์ แต่มีธรรม และธรรม ก็เป็น นามธรรม กับ รูปธรรม อย่างหนึ่งอย่างใด รูปธรรมจะเป็นนามธรรมไม่ได้ นามธรรมจะเป็นรูปธรรมไม่ได้ และนามธรรมก็มี ๒ อย่าง คือ จิตกับเจตสิก จิตก็จะเป็นเจตสิก ๑ เจตสิกใดไม่ได้เลย เจตสิกก็จะเป็นจิตไม่ได้เลย แม้เจตสิกที่มีทั้งหมด ๕๒ ประเภท แต่ละหนึ่งก็จะเป็นอีกอย่างหนึ่งไม่ได้ เช่นสติเจตสิกจะเป็นปัญญาเจตสิกไม่ได้ ความรู้สึกคือเวทนาเจตสิก จะเป็นสัญญาเจตสิกไม่ได้ ทั้งหมดมีอยู่ที่ตัวเราทั้งหมด
ถ้าเข้าใจธรรม คือ สามารถที่จะรู้จักตัวเองตามความเป็นจริงแล้วก็จะเห็นจริงตามพระธรรม ที่ทรงแสดงทุกประการ แม้แต่เพียงเราพูดสั้นๆ ว่าทุกอย่างเกิดแล้วดับ แต่ทรงแสดงโทษ ว่าสิ่งที่เกิดแล้วดับ ไม่ใช่สิ่งที่เป็นสาระ ที่เราจะยึดถือ เพราะเหตุว่าถ้าเรายึดถือในสิ่งนั้นก็คือ ด้วยความไม่รู้ เพราะฉะนั้น ในชีวิตของเรา เราอาจจะคิดว่าอะไรเป็นสาระตั้งหลายอย่าง แต่ความจริงสิ่งที่เป็นสาระจริงๆ ไม่ใช่สิ่งที่เกิดดับ เพราะฉะนั้น ทรงแสดงธรรมที่จะให้ปัญญาของผู้ที่ได้ฟัง ไตร่ตรอง เข้าใจ จนกระทั่งเจริญขึ้น สามารถที่จะดับกิเลสได้ด้วยปัญญา ที่เจริญแล้ว
ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้น ปัญญาระดับทั่วๆ ไป ถ้าจะใช้คำว่า จะทำอะไร หรือคิดอะไร ก็ให้มีสาระ ความหมายของคำว่า สาระ นี้กว้างมาก
ท่านอาจารย์ เป็นภาษา ของคนที่ยังไม่ได้ฟัง ธรรม กับเมื่อคนฟังธรรมแล้วก็จะรู้ว่า เข้าใจถูกหรือเข้าใจผิดในคำนั้น หรือว่าคำนั้นใช้ในภาษาหนึ่ง ภาษาใด แต่ไม่ได้หมายความถึงสภาวธรรม
วิทยากร จิตโดยประการที่ ๑ ก็เป็นธรรมชาติที่วิจิตรด้วยภูมิด้วยชาติด้วยอารมณ์ต่างๆ ประการที่ ๒ จิตเพราะกระทำให้วิจิตร จะมีหลากหลาย ขอกล่าวเพียงนี้ก่อน จิตเพราะกระทำให้วิจิตรทุกท่านก็คงจะพิจารณาเห็นว่า เป็นอาคารบ้านเรือน หรือว่าจิตรกรรมต่างๆ เพราะฉะนั้น การที่เรากระทำสิ่งต่างๆ เพราะเหตุว่ามีจิตที่ คิด ในการไตร่ตรองที่จะกระทำต่างๆ อีกอย่างหนึ่ง ก็คือจิต เมื่อเกิดขึ้นก็เป็นปัจจัยให้เกิดการกระทำต่างๆ ที่จะเป็น น่าจะเป็นกายกรรมบ้าง วจีกรรมหรือว่ามโนกรรมบ้างต่างๆ เพราะว่ามีจิต เป็นปัจจัยในการกระทำต่างๆ เมื่อส่วนของกรรมให้ผล ก็ให้เกิดเป็นมนุษย์บ้าง เป็นสัตว์เดรัจฉานบ้าง เป็นเปรต อสูรกายต่างๆ บ้าง อันนี้ก็เพราะเหตุว่า มีจิตนั่นแหละเป็นปัจจัยที่จะให้วิจิตร เป็นบุคคลต่างๆ ก็คือจิต เพราะธรรมชาติ ของจิตเอง เป็นธรรมชาติที่วิจิตรอย่างหนึ่ง และเพราะจิตกระทำให้วิจิตรอีกอย่างหนึ่ง
ท่านอาจารย์ ถ้าจิตวิจิตรแล้ว จะไม่กระทำให้วิจิตร เป็นไปได้ไหม คิดอย่างไร พูดอย่างนั้นหรือเปล่า แล้วคำพูดหลากหลายมากเลย พูดอย่างไพเราะ น่าฟัง ด้วยเมตตาก็ได้ พูดอย่างไม่น่าฟังก็มี เพราะฉะนั้น จะเห็นได้จริงๆ ว่า จิตทำให้เกิดการกระทำที่หลากหลาย ทั้งกาย และวาจา อาคารนี้เป็นอย่างไร หลากหลาย ไม่เหมือนอาคารอื่นหรือเปล่า แต่ละบ้าน แต่ละแห่ง ตามความวิจิตรของจิต ซึ่งเกิดจากการที่เมื่อเกิดแล้วก็ดับ แล้วก็สะสมสืบต่อ ปรุงแต่ง อยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น โลกนี้ไม่ว่างจากการที่จะมีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้วยการกระทำทางกาย ทางวาจา ถ้าดูดอกไม้ที่บูชาพระบรมสารีริกธาตุ วิจิตรไหม ด้วยการจัด ก่อนที่จะอยู่ในแจกัน ก็วางๆ อยู่ แต่ว่าพอใส่ลงไปในแจกัน วันนี้กับเมื่อวานนี้ก็ไม่เหมือนกัน เพราะอะไร จิตหลากหลายต่างกัน กระทำให้มีการวิจิตรต่างๆ เพราะความหลากหลายของจิตนั้นเอง เมื่อจิตเกิด จิตเกิดเองไม่ได้ ต้องมีปัจจัยปรุงแต่งให้จิตเกิด ต่อไปเราจะทราบว่า วันหนึ่งๆ มีจิตหลายชาติ ชาติ ชา-ติ คือการเกิดขึ้นของจิต จิตที่เกิดขึ้นเป็นกุศลก็มี จิตที่เกิดขึ้นเป็นอกุศลก็มี ทั้งกุศล และอกุศลเป็นเหตุ ไม่ใช่เกิดขึ้นมาลอยๆ แล้วก็ไม่เกิดอะไรหลังจากนั้น เมื่อเหตุมี สะสม สืบต่อใน จิตก็จะทำให้จิต เกิดผล คือจิตที่เป็นวิบาก เป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว ซึ่งก็จะได้กล่าวต่อไป
แต่ว่าการศึกษาธรรม แม้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ไม่ได้ทรงแสดงว่าพระองค์สามารถ ที่จะบันดาลให้จิตซึ่งเป็นลักษณะอย่างนี้ เปลี่ยนไปเป็นลักษณะอื่นได้ เพราะเหตุว่าสภาพธรรม ตามความเป็นจริงเป็นอย่างไร ก็ทรงแสดงสภาพธรรม ตามความเป็นจริงนั้นๆ เพราะฉะนั้น เมื่อจิตมีลักษณะที่มีปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้น จิตต้องเกิด แล้วเมื่อเกิดแล้ว จะให้จิตเห็นอย่างเดียว ไม่ได้ เพราะเหตุว่าจิตสามารถที่จะรู้ได้ทุกอย่าง ไม่มีอะไรเลย ซึ่งจิตรู้ไม่ได้ อันนี้แน่นอน ไม่ว่าจะเป็นทางตาเห็น มีสิ่งที่ปรากฏเพราะจิตเห็น รู้ได้ คือรู้ว่าสีสันวัณณะขณะนี้ กำลังเป็นอย่างนี้ คือเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา หรือเสียง กลิ่น รส ทางที่จะรู้อารมณ์ของจิตมี ๖ ทาง
เพราะฉะนั้น จะยับยั้งไม่ให้จิตเกิดขึ้น แล้วก็รู้สิ่งที่ปรากฏทางนั้น ทางนั้นไม่ได้เลย เมื่อรู้แล้วดับไป จะห้ามให้มีการสะสม การทรงจำ สิ่งที่ได้รู้แล้วไม่ได้เลย เมื่อเห็นแล้ว สัญญาเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย แล้วก็จะเกิดกับจิตไปทุกขณะ แต่ไม่ใช่ว่าสัญญาเก่า สภาพธรรมทั้งหมดไม่มีอันเก่าเลย ขณะนี้มีปัจจัยปรุงแต่งให้จิตขณะหนึ่งเกิดขึ้นแล้วดับไปไม่กลับมาอีก แต่ว่ามีเหตุปัจจัยที่ปรุงแต่งให้สภาพธรรมที่เป็นจิต และเจตสิก ขณะต่อไปเกิดขึ้น แล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้น จะเปลี่ยนไม่ให้วิจิตร ไม่ให้หลากหลายด้วยเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยไม่ได้ จะให้ไม่วิจิตร คือไม่หลากหลายด้วยอารมณ์ที่จิตรู้ ก็ไม่ได้
ผู้ฟัง ผมสรุปว่า คำว่า วิจิตร วิจิตรได้ทั้งทางบวก ทางลบ ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ทั้งหมด
ผู้ฟัง อย่างบางคนเขาทำอะไร ประดิษฐ์อะไรขึ้นมาสักชิ้นหนึ่ง เขาก็ไม่รู้ว่า เขาทำขึ้นมาได้อย่างไร อันนี้จะเป็นอย่างไร เข้าใจจิตเหมือนกัน
ท่านอาจารย์ มีตา เห็นไหม
ผู้ฟัง มี
ท่านอาจารย์ มีหู ได้ยินไหม สามารถที่จะจำสิ่งที่เห็นได้ไหม แล้วสามารถที่จะคิดนึกหลากหลาย เป็นความวิจิตรต่างๆ หรือเปล่า นี่ คือความวิจิตร
ผู้ฟัง จิตบ้างครั้ง คิดดีก็มี คิดไม่ได้ก็มี
ท่านอาจารย์ เพราะเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย มีการปรุงแต่ง ซึ่งเป็นสังขารขันธ์
ผู้ฟัง แต่ตรงนี้จะพูดถึงเรื่องจิตอย่างเดียว ไม่พูดถึงเรื่องเจตสิกเลย
ท่านอาจารย์ เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้ง สิ่งที่กำลังปรากฏ ทางหนึ่งทางใด
ผู้ฟัง พอจิตไม่ดีก็ไปโทษจิต
ท่านอาจารย์ ถ้าจิตไม่ดี หมายความว่า มีเจตสิกที่ไม่ดีเกิดร่วมด้วย แต่ตัวจิตไม่ใช่อย่างนั้น ตัวจิตโดยสภาวะ แล้วมีอีกชื่อหนึ่งคือ ปัณฑระ หมายความถึง จิตล้วนๆ เป็นสภาพซึ่งไม่ได้มีอกุศลธรรมใดๆ มาเจอปนเลย
ผู้ฟัง เราควรจะต้องไม่ประมาทในชีวิตประจำวัน ถ้าหากว่าชีวิตประจำวัน เราเป็นไปกับโลภะ บ้าง โทสะบ้าง ขณะนั้นมีการสั่งสมทางฝ่ายอกุศลแล้ว แต่ถ้าเรามีการอบรมเจริญปัญญา มีการศึกษาธรรม มีการฟังพระธรรม อันนั้นก็จะเป็นเหตุปัจจัย ให้เราสั่งสมมา แต่สั่งสมฝ่ายดีที่เป็นกุศล
ท่านอาจารย์ คุณธีรพันธ์ได้ยิน คำว่า สันดาน ในภาษาไทยไหม
ผู้ฟัง เหมือนกับว่า เป็นนิสัยที่ไม่ค่อยดี สมัยเด็กๆ ได้ยินคำว่า สันดาน สันดานไม่ดี อะไรอย่างนี้
ท่านอาจารย์ ถ้าดี เป็นสันดานหรือเปล่า
ผู้ฟัง เป็น
ท่านอาจารย์ ตอนเป็นเด็กทราบไหม ว่าที่ดี ก็เป็นสันดานด้วย
ผู้ฟัง จะน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นสันดานที่ไม่ดี
ท่านอาจารย์ ถ้าได้ยินคำว่า สัน-ตา-นะ หรือคำอื่นอีก ที่มีความหมายว่าสืบต่อ จะมีคำอื่นอีกไหม สันตติ พวกนี้ คำที่คล้ายๆ กัน แต่อย่าเพิ่งเหมา เดี๋ยวจะไปเดาเอาแล้วก็จะพลาดได้ เพียงแต่ว่าถ้าได้ยินคำภาษาไทย แล้วก็ได้ฟังธรรมก็สามารถ ที่จะเข้าใจ อย่างเช่น ภาษาไทย ใช้คำว่า สันดาน อย่างที่เราเข้าใจเดี๋ยวนี้ คือจิตเกิดดับสืบต่อ ไม่ใช่ว่าจิตเกิดดับแล้วหมดเลย แต่การดับไปของจิตขณะก่อน เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น แต่ละคนจะมีการเกิดดับสืบต่อของจิต ตามการสะสม ว่าใครสะสมทางตา เห็นอะไรบ้างก็คิดถึงสิ่งนั้น หรือว่าเป็นวิชาการต่างๆ ก็ตามที่ได้ยินได้ฟังประกอบด้วยทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
เพราะฉะนั้น แต่ละคนก็มีจิตเกิดดับเป็น สัน-ตา-นะ ของแต่ละคน พอมาถึงภาษาไทย ใช้สำหรับ ความหมายที่ไม่ดีว่าเด็กคนนี้สันดานไม่ดี อย่างที่คุณธีรพันธ์บอก แต่ความจริงกำลังพูดความหมายในภาษาบาลี ว่าเพราะการสะสม หรือการสั่งสมไม่ดี คือสั่งสมอกุศลไว้มาก เพราะฉะนั้น เวลาที่จะเห็น จะได้ยินอะไรก็ตาม จะมีการกระทำทางกาย ทางวาจาที่ไม่ดี เพราะสันตานะ เรากำลังใช้เหตุผล ใช้คำที่ถูกต้อง ไม่ได้ว่าใครเลย เพราะเหตุว่าตามความจริงก็คือเพราะการเกิดดับสืบต่อของจิต ของแต่ละบุคคลนั่นเอง ที่ทำให้แต่ละบุคคลมีสันตานะ ที่ต่างกัน ถ้าได้ยินคำว่า สันดาน ตอนนี้ก็คงจะไม่รู้สึกอะไร ใช่ไหม ถ้าไม่มีคำว่าดี หรือไม่ดี
ผู้ฟัง ข้อความในอรรถกถาท่านกล่าวว่า เป็นการสั่งสมสันดานด้วยสามารถ ชวนะวิถี
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง แต่ชวนะวิถีก็มาจากเห็นบ้างได้ยินบ้าง ได้กลิ่นบ้าง ลิ้มรสบ้าง รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสบ้าง เพราะฉะนั้น ถ้าพูดถึงการเกิดดับสืบต่อ ใช้สันตติได้ แต่ถ้าพูดถึง สันตานะ จะหมายถึง กุศล และอกุศล ซึ่งถ้าเราเข้าใจจริงๆ ว่าจิตเกิดดับแล้วก็สืบต่อ ทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ละเอียดกว่านั้นอีก คือ จิตมีชาติต่างๆ กัน ซึ่งต่อไปจะทราบว่า จิตที่เป็นเหตุ ไม่ใช่จิตที่เป็นผล แล้วก็ยังมีจิตที่ไม่ใช่เหตุ ไม่ใช่ผลด้วย นี่คือภาษาไทย แต่ว่าภาษาบาลีก็จะเริ่มใช้ภาษาบาลี เป็นบางคำ แต่ให้ทราบว่าสันตานะ คือการเกิดดับ สืบต่อ ที่สั่งสม ทำให้แต่ละคนมีอัธยาศัยที่ต่างกัน แม้ว่าจะเห็นสิ่งเดียวกัน แต่สันตานะ การเกิดดับสืบต่อของกุศล และอกุศลที่ ผ่านมา ก็ทำให้อัธยาศัยในขณะนั้นต่างๆ กันไปได้
ผู้ฟัง จิตชอบคิดที่ไม่ดี ส่วนมาก เพราะเราปล่อยจิต
ท่านอาจารย์ ตามความจริงขณะนี้ที่เข้าใจธรรมแล้ว เรามีไหม
ผู้ฟัง ไม่มี
ท่านอาจารย์ มีจิตเกิดดับสืบต่อ ถ้าคิดดี เพราะสะสม หรือ สั่งสมกุศลจิตไว้มาก แต่ละคนมีอัธยาศัยต่างกัน การทำกุศลของแต่ละคนก็ต่างกัน บางคนชอบทอดกฐิน บางคนก็ชอบเลี้ยงพระ บางคนก็ชอบศึกษาธรรม สนทนาธรรม บางคนก็ชอบบริจาคเงินให้โรงพยาบาล ก็แล้วแต่ นี้ก็ตามอัธยาศัย ที่หลากหลาย ที่แต่ละคนก็จะได้เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงว่าทำไมต่างกัน ทำไมไม่เห็นเหมือนๆ กัน ทำไมไม่ชอบอย่างเดียวกัน เพราะเหตุว่าสะสมสันตานะมาต่างๆ กัน เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า ไม่มีใครสามารถจะเปลี่ยนแปลงสภาพธรรม ตามความเป็นจริง เพราะว่าเป็นลักษณะของจิตที่จะต้องเป็นอย่างนี้ เมื่อจิตเกิดขึ้นเป็นอย่างไร ก็จะต้องสะสมสืบต่อไป
ผู้ฟัง การสะสมที่บอกว่า เราทำมานาน ก็จะสะสมสืบต่อไปเรื่อยๆ แต่ถ้ามาถึงชาติที่เป็นมนุษย์ ขณะนี้ ฟังอยู่นี้ แล้วปัญญามันสามารถเกิดได้ไหมว่าสิ่งที่สะสมมานั้นไม่ถูก เราควรจะละ แล้วมาสะสมสิ่งที่ถูก เป็นปัญญาหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ขณะที่เข้าใจถูกต้อง ขณะนั้นไม่ใช่เรา แต่เป็นเจตสิกซึ่งพระผู้มีพระภาค ทรงใช้คำว่า ปัญญาเจตสิก ไม่ใช่ใครเลย ปัญญาเกิดแล้วก็ดับ ถ้ามีปัญญาทั้งวัน ก็คงดี แต่พอปัญญาดับแล้ว อะไรเกิด ตามการสั่งสมอีก เพราะฉะนั้น เราสามารถที่จะเข้าใจธรรม เห็นธรรม รู้ว่าเป็นธรรม เมื่อสภาพธรรมใดเกิดขึ้น แต่ถ้าสภาพธรรมนั้นยังไม่เกิด จะรู้ได้ไหม คนที่กำลังนอนหลับสนิท ตื่นขึ้นมาจะรู้ได้ไหมว่าอะไรจะเกิด จะคิดอะไร จะรู้ต่อเมื่อสิ่งนั้นเกิดแล้ว เพราะฉะนั้น การที่สิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดแล้ว ผู้ที่เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงก็รู้ว่าตามปัจจัย ใครจะทำอะไรได้ อย่างที่คิดเรื่องไม่ดีบ่อยๆ คิดแล้วเกิดแล้ว จะไปเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เกิดแล้วได้อย่างไร ในเมื่อสิ่งนั้นถูก ปรุงแต่ง เป็น สังขต เกิดแล้ว ปรากฏแล้วดับไป ดับไปเลย แต่ว่าเพราะความเป็นเรา ก็ยังห่วงใย ก็ยังยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน
เพราะฉะนั้น หัวใจพระพุทธศาสนา สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเข้าถึงความเป็นอนัตตา ให้เข้าใจจริงๆ ว่าไม่มีใครสามารถจะดลบันดาลได้ ไม่ว่าแต่ละขณะจิตที่เกิด เป็นอย่างนี้เพราะ มีปัจจัยที่จะเป็นอย่างนี้ ไม่เป็นอย่างอื่น เมื่อไร เมื่อปรุงแต่งแล้วเกิดจึงรู้ แต่ถ้ายังไม่เกิดก็ไม่รู้ เหมือนอย่างเมื่อวานนี้ ที่บอกว่าเราไม่ได้เป็นเจ้าของสภาพธรรมเลย สภาพธรรมเป็นสภาพธรรม ไม่มีใครเป็นเจ้าของ จิตยังไม่เกิด จะเป็นเจ้าของจิตได้ไหม จิตดับไปแล้ว ยังจะตามไปเป็นเจ้าของ จิตที่ดับได้ไหม ก็ไม่ได้ แต่เมื่อสภาพธรรมใดเกิดแล้ว ไม่รู้ จึงเข้าใจว่าเป็นเรา หรือว่าเป็นของเรา แต่ต้องเมื่อเกิดขึ้น ไม่ใช่ยังไม่เกิด
ผู้ฟัง หมายความว่าถึงจะสั่งสมอะไรมา ก็แล้วแต่ ก็ควรจะศึกษาคำสอนที่ถูกต้อง แล้วมีปัญญาเกิดขึ้น ขณะนั้นปัญญาก็ทำหน้าที่
ท่านอาจารย์ ไม่หายไป ไม่หายไป สะสม
ผู้ฟัง ที่จะให้รู้ว่านี้ควรละ นี้ควรเจริญ อะไรอย่างนั้น หรือ
ท่านอาจารย์ หน้าที่ของปัญญา ปัญญาจะนำมาซึ่งกุศลทั้งปวง
ผู้ฟัง ต้องศึกษาต้องฟัง
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่อย่างนั้นก็ไม่ใช่พุทธศาสนา เพราะว่าไม่รู้ต่อไป แต่เมื่อเป็นพุทธศาสนา คำสอนของผู้ที่ตรัสรู้ให้คนอื่นได้รู้ตามด้วย
ผู้ฟัง ในกรณีที่ทั้งๆ ที่เป็นคำสอน เป็นความจริง แล้วก็ให้เห็นหลายๆ อย่าง แต่ก็ยังดื้อไม่เชื่อ นั้นก็คือสั่งสมสันดานที่ไม่ดี หรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง นี่คือ พื้นฐานพระอภิธรรม ที่เราจะต้องมีความเข้าใจในขั้นต้น มิฉะนั้นต่อไป เราก็จะมีความสับสน เวลาอ่านได้ยินคำว่าให้เจริญกุศล ก็คิดว่ามีตัวตน มีผู้บอก แต่ความจริง ให้เข้าใจให้ถูกต้อง ว่าสิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร แล้วปัญญาที่เข้าใจถูก จะทำหน้าที่ของปัญญานั้น
ผู้ฟัง หมายความว่าต้องฟังให้ปัญญาเจตสิกเกิดเอง
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ฟัง ไม่มีปัจจัยที่จะเกิด เพราะเหตุว่าเป็นเพียงสาวก จนกว่าจะเป็นอริยสาวก
ผู้ฟัง ที่พระพุทธองค์ท่านตรัสว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา เราจะเข้าใจพระธรรมแค่ไหน ถึงจะเข้าใจว่า เราได้เห็นพระพุทธเจ้า
ท่านอาจารย์ ตามกำลังของปัญญา ขั้นแรกไม่รู้ว่า ธรรมคืออะไร และเมื่อรู้ รู้ว่าที่เรารู้ มาจากไหน ใครเป็นผู้ที่ตรัสรู้ ว่าไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล แต่มีธรรม โลกทั้งโลกก็คือนามธรรม หรือ รูปธรรม อย่างหนึ่งอย่างใด เท่านั้นเอง แล้วก็ต้องเกิดด้วยจึงได้ปรากฏ และเมื่อเกิดแล้วก็ดับด้วย แต่เมื่อไปประจักษ์การเกิดดับ เพราะอวิชชาความไม่รู้ก็จะมีการปรุงแต่ง เป็นสังขารเป็นความคิดที่วิจิตรต่างๆ เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 661
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 662
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 663
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 664
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 665
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 666
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 667
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 668
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 669
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 670
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 671
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 672
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 673
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 674
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 675
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 676
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 677
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 678
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 679
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 680
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 681
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 682
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 683
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 684
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 685
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 686
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 687
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 688
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 689
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 690
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 691
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 692
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 693
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 694
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 695
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 696
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 697
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 698
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 699
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 700
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 701
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 702
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 703
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 704
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 705
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 706
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 707
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 708
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 709
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 710
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 711
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 712
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 713
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 714
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 715
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 716
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 717
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 718
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 719
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 720