สนทนาธรรม ตอนที่ 073


    ตอนที่ ๗๓


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นไม่มีเราที่จะปฏิบัติ แม้แต่มรรคมีองค์ ๘ ก็เป็นเจตสิกที่เกิดขึ้นทำกิจของเจตสิกนั้นๆ ก็ไม่ใช่เราปฏิบัติอีก เพราะฉะนั้นถ้ามีความเข้าใจจริงๆ จะไม่ห่วง จะไม่กังวลกับคำว่าปฏิบัติเลย แต่จะเป็นผู้ที่รู้ว่าขณะใดสติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่เข้าใจ และกำลังปรากฏ ที่บอกว่าเข้าใจนี่เข้าใจเรื่อง แต่เวลานี้สภาพธรรมกำลังปรากฏ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏหรือยัง แสดงให้เห็นว่าความเข้าใจ ไม่ใช่เข้าใจเรื่องราว แต่ขณะนี้เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ถ้าขณะใดมีความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ขณะนั้นไม่ต้องใช้คำว่าปฏิบัติ เพราะเหตุว่าขณะนั้นสติต้องระลึกที่สภาพธรรม แล้วก็มีความเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรม เพราะได้ฟัง แล้วก็มีพื้นฐานที่จะรู้ว่าขณะนั้นเป็นสภาพรู้ หรือไม่ใช่สภาพรู้

    อ.สมพร ธรรมนี้รู้ยาก เพราะว่าเราก็ต้องใคร่ครวญฟังบ่อยๆ อย่างที่ว่าน่ะ สี ไม่ใช่เรา หรือ สี ไม่ใช่คน ก็พิจารณาดูนะครับ สี เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏเท่านั้น จะเป็นเราได้อย่างไร หรือ สี เป็นอัตตาได้อย่างไร เสียง ก็เช่นเดียวกัน เป็นสิ่งที่ปรากฏทางหูเท่านั้น แล้วก็ดับไป เสียง จึงไม่ใช่เรา จะเป็นเสียงเรา หรือเสียงคนอื่นก็เหมือนกัน ก็เป็นสักแต่ว่า เสียง ซึ่งเป็นปรมัตถ์ มีอยู่จริง แล้วเสียงนั้นก็ไม่ใช่อัตตา

    เมื่อเราพิจารณารอบด้าน หรือธาตุทั้ง ๔ ธาตุดิน ธาตุที่มีลักษณะแข็ง ก็มีลักษณะแข็งเท่านั้น ไม่ใช่เรา ธาตุดินก็ไม่ใช่เรา ธาตุดินก็ไม่ใช่อัตตา ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ก็เช่นเดียวกัน ใคร่ครวญดูว่า มันไม่ใช่อัตตา มันไม่ใช่ตัวตน เช่น สี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพผะ แต่ละอย่าง แม้ผู้ที่รู้ จิตที่เห็น ก็ไม่ใช่อัตตา ไม่ใช่คนเห็น ไม่ใช่อัตตาเห็น เป็นแต่เพียงจิตเท่านั้น

    มนสิการ เรียกว่าโยนิโสมนสิการ คือมนสิการโดยแยบคาย อย่างนี้บ่อยๆ กุศลก็เกิดขึ้น ก็เป็นเหตุให้สติเกิดขึ้น เพราะสตินั้นได้ปัจจัยครับ

    ผู้ฟัง ก็เป็นเรื่องที่แปลก เพราะว่าอย่างเช่นเห็นโทรทัศน์ แบนๆ อย่างนี้ แต่เป็นเรื่อง เป็นราวไปหมดเลย แล้วท่านอาจารย์บอกว่า ก็ที่นั่งอยู่นี่ เป็นแต่นามรูป ไม่มีอะไรเลย ตราบใดที่ยังไม่มีไปสัมผัสเป็นแข็ง หรือว่าตราบใดที่แค่เห็นเท่านั้น ก็เป็นเพียงแค่เห็น ... ท่านอาจารย์ก็ไม่มี คุณหญิงก็ไม่มี อาจารย์นิภัทรก็ไม่มี คุณกิมรสก็ไม่มี ตรงนี้ก็ไม่มีอะไร แล้วๆ มันมีอะไรไปได้อย่างไร แต่ผมก็ไม่รู้ ก็แปลกดี

    ท่านอาจารย์ โลกของความจริง ที่ไม่มีอะไรนี่คือโลกของความจริง

    ผู้ฟัง แต่เกรงว่าถ้าโลกเป็นอย่างนี้ ก็น่ากลัว

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าเรามีตัวตนเราจึงกลัว เพราะฉะนั้นการที่จะรู้แจ้งสภาพธรรมไม่ใช่ด้วยตัวตน ไม่ใช่ด้วยอวิชา ไม่ใช่ด้วยโลภะ แต่ที่จะถึงได้ต้องด้วยปัญญาที่อบรม ไม่อย่างนั้นจะกำราบความกลัวไม่ได้ เพราะว่าเรามีตัวตนอยู่ กลัวที่จะสูญความเป็นเรา ไม่มีอะไรเหลือเลย มีแต่สภาพธรรมซึ่งเป็นธาตุเกิด และดับ น่าตกใจหรือไม่

    ผู้ฟัง น่าตกใจ

    ท่านอาจารย์ หมดเลย ถึงจะถอนรากของความยึดถือที่เป็นอัตตสัญญา ที่ฝังแน่นแล้วก็นานมาก ไม่ใช่แค่วันนี้ หรือชาตินี้ นานแสนนานมาแล้วที่มีความเป็นอัตตสัญญาความเป็นเราที่ทรงจำสืบต่อ เพราะอะไร เกิดมาก็เราเกิด พอถึงตายก็เราตาย แล้วก็เกิดมาก็เราเกิดอีก เพราะฉะนั้นก็มีความเป็นเราทั้งๆ ที่แท้ที่จริงแล้ว ก็เป็นสภาพธรรมเท่านั้น แล้วเวลาที่กล่าวว่า เป็นสภาพธรรมเท่านั้น ทีละ หนึ่ง อย่าง แล้วก็ทีละขณะด้วย ตัวคุณวีระ ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า นี่ไม่เหลือ ถ้าขณะนั้นมีเสียงปรากฏจะไม่มีแม้แต่หู ซึ่งความจริงเราทราบว่าจิตได้ยินจะเกิดขึ้นต้องอาศัยโสตปสาท แต่ขณะใดที่เสียงปรากฏ โสตปสาทปรากฏไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็มีสภาพซึ่งเป็นธาตุรู้กับเสียงเท่านั้น แล้วไม่มีอะไรเลย นั่นจึงจะเห็นได้จริงๆ ว่าความหมายของอนัตตาคือไม่มีตัวตน ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพธรรมซึ่งเกิดแล้วก็ดับ

    ที่คุณวีระถามว่าต้องรู้ถึงอย่างนี้เชียวหรือ ใช่ไหม ก็เป็นความจริง ต้องอาจหาญร่าเริงที่จะรู้ความจริง แต่ต้องเป็นปัญญา ถ้าไม่ใช่ปัญญาแล้วจะไม่กล้าเลย

    ผู้ฟัง คือผมเห็นประโยชน์ ขออนุญาต แต่ผมก็ยังไม่กล้าเข้าไป ยังกลัวอยู่ ยังกลัวโลกของความจริง

    ท่านอาจารย์ ยังกลัวโลกของความจริง ก็ถูกต้อง คือเรื่องจริง ถ้าตราบใดที่ปัญญายังไม่ถึงขั้นจริงๆ จะต้องมีความไม่กล้า

    ผูฟัง เห็นประโยชน์จากการที่เรากลับมา ทบทวน เรื่องที่ทุกคนบอกว่าเป็นเรื่องปฐม หรือเรื่องพื้นฐาน คือเรื่องของจิตกับเจตสิก ทำให้เราได้เข้าใจสภาพความเป็นจริงที่มีอยู่ ๒ อย่างสำคัญของเรานี้ คือว่าความรู้ คือสภาพรู้ ซึ่งแบ่งเป็น ๒ อย่าง นั่นคือนาม ส่วนรูป ก็คือสิ่งที่ไม่รู้อะไร เราต้องทบทวนอย่างนี้ ใน ๓ วันนั้น เราได้ทบทวนกันอย่างเต็มที่ มีการสอบถามกันอยู่จนกระทั่งรู้สึกว่า สภาพรู้กับสภาพที่ไม่รู้ แตกต่างกันจริงๆ เวลาท่านกล่าวอะไร เกี่ยวกับเรื่องความเป็นไปของสภาพรู้ก็ตาม ของสภาพที่ไม่รู้อะไรก็ตาม ก็เห็นได้ชัด เช่น ถามว่าปลาที่อยู่ในทะเลมีอะไรบ้าง ปลาที่อยู่ในทะเลก็มีจิต มีเจตสิก และก็มีรูป เหมือนกัน รูปก็ไม่รู้อะไร แต่ปลาว่ายไปไหนมาไหนได้ ก็เพราะมีจิตที่เขาคิดนึก อย่างนั้นเขาก็ไปไหนมาไหนไม่ได้ แล้วมาเปรียบเทียบกับเราที่อยู่บนโต๊ะสนทนา ก็มีแต่ความคิด และก็มีแต่สภาพรู้คือความคิด ก็คิดไปไหน ก็คิดไปตามเสียงท่านอาจารย์ได้กล่าว แล้วได้สนทนากัน ก็แบ่งแยกออกไปเลยว่า เป็นเสียง แล้วก็นึกคิด และเป็นรูป เป็นอะไร เข้าใจไป ตามสภาพที่อาจารย์ท่านกล่าว นี้ก็คือประโยชน์ของการทบทวนปรมัตถธรรม โดยเฉพาะสภาพจิต เจตสิก ที่เกิดขึ้น แล้วก็มีอารมณ์คือรูป เป็นสิ่งที่ผมคิดว่าสำคัญที่สุด แล้วก็คิดว่า ผมก็คงจะทบทวนไปอีกนานทีเดียว กว่าจะได้รู้สภาพนั้นอย่างจริงจัง ตอนนี้ก็ยังไม่รู้อะไรครับ

    ท่านอาจารย์ นี่ก็แสดงให้เห็นประโยชน์ของการฟัง เพราะว่าคุณวีระฟังมาหลายอาทิตย์แล้ว แต่อาศัยความเข้าใจซึ่งมีแล้วในการฟัง ก็ทำให้สามารถที่จะเน้น หรือว่าพูดถึงสิ่งที่เป็นความเข้าใจได้อีก แม้ว่าเวลาจะผ่านไป เพราะฉะนั้นความสำคัญของการฟังเพื่อความเข้าใจอยู่ตรงนี้ อย่างที่ว่า ไม่ว่าเราจะตั้งต้น จิต เจตสิก รูป พูดซ้ำไปซ้ำมา ตราบใดที่ยังไม่รู้จริงๆ ว่ากำลังเห็น นี่เป็นธาตุรู้ หรือเป็นจิตประเภทหนึ่ง ตราบนั้นเราก็ยังต้องพูดเรื่องจิต เรื่องเจตสิก เรื่องนามธรรม หรือรูปธรรม

    ผู้ฟัง ในช่วงที่ท่านอาจารย์ได้กล่าวถึง เรื่องวัตถุกับทวาร ผมก็ใคร่จะเรียนซ้ำอีกทีว่าวัตถุกับทวาร ในปัญจโวการภูมินี่คือในภูมิของพวกเราที่อยู่ที่นี่ มีทั้งรูป มีทั้งนาม เพราะฉะนั้นวัตถุก็คือสิ่งที่เป็นอารมณ์ที่จะทำให้นามรู้

    ท่านอาจารย์ ถ้าพูดถึงวัตถุหมายความถึงรูป ๖ รูป เป็นที่เกิดของจิต ไม่เป็นทวาร เป็นที่เกิด

    ผู้ฟัง เข้าใจครับ วัตถุที่ทำให้เป็นอารมณ์ ที่เป็นที่เกิดของจิต

    ท่านอาจารย์ ไม่เป็นอารมณ์ค่ะ

    ผู้ฟัง เป็นที่เกิดของจิต

    ท่านอาจารย์ ค่ะ เพราะว่าในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ตั้งแต่ปฏิสนธิขณะ กรรมทำให้จิตเจตสิกซึ่งเป็นผลของกรรม คือวิบากจิตเกิดพร้อมกับกัมมชรูป เพราะฉะนั้นรูปกับนามอาศัยกันตั้งแต่เกิด ตั้งแต่ขณะปฏิสนธิ เพราะฉะนั้นก็อาศัยกันตลอดในภูมิที่มีขันธ์ ๕

    หมายความว่านามธรรมจะเกิดนอกจากรูปไม่ได้ จะไม่เกิดตามโต๊ะ ตามเก้าอี้ ตามอากาศแต่ต้องอาศัยรูปเป็นที่เกิด ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ แต่ถ้าไม่ใช่ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ นามธรรมล้วนๆ ก็สามารถจะเกิดได้

    ผู้ฟัง แตกต่างตรงนี้ก็คือ ให้เห็นว่าวัตถุกับทวาร คือทวาร คือทางที่ให้จิตเกิดได้

    ท่านอาจารย์ อันนี้ต้องแยก ๒ อย่าง คือวัตถุหมายความถึงรูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิตที่เกิดอย่างเดียว ไม่เป็นทวาร

    ผู้ฟัง เข้าใจครับ

    ท่านอาจารย์ ส่วนทวารหมายความถึงทางที่จิตจะเกิดขึ้นรู้อารมณ์ซึ่งมี ๖ ทาง ได้แก่ทางตา๑ หู๑ จมูก๑ ลิ้น๑ กาย๑ ใจ๑ เป็น๖ ทาง จะเห็นความต่างกันของวัตถุ ๖ กับทวาร ๖ ว่าวัตถุ ๖ เป็นรูปล้วนทั้ง ๖ แต่ทวารเป็นรูป ๕ เป็นนาม๑ นี่คือความต่างกัน เพราะว่า เวลาที่พูดว่า จักขุปสาทเป็น จักขุวัตถุ หมายความว่า จักขุปสาทเป็นที่เกิดของจักขุวิญญาณจิต ในความหมายนั้น ต้องใช้คำว่าจักขุปสาทเป็นจักขุวัตถุของจักขุวิญญาณจิต และอะไรเป็นที่เกิดของสัมปฏิฉันจิต สันตีรณจิต ก็ไม่ใช่จักขุปสาทแล้ว เพราะฉะนั้นก็เป็นหทยวัตถุ เพราะฉะนั้นไม่ได้เกี่ยวกับทวาร เวลาที่พูดถึงที่เกิดใช้คำว่าวัตถุ

    แต่เวลาพูดถึงทวาร จักขุปสาท เป็นทางรู้อารมณ์ของจิตอะไรบ้างตั้งแต่ปัญจทวาราวัชชนจิต ทวิปัญจวิญญาณ ถ้าเป็นทางตาก็จักขุวิญญาณจิต ตลอดไปจนถึงสัมปฏิฉันน สันตีรณ โวฏฐัพพน ชวนะ ตทาลัมพน เป็นทางที่วิถีจิตจะเกิดขึ้นรู้อารมณ์ เพราะฉะนั้นจักขุวัตถุ เป็นที่เกิดเฉพาะของจักขุวิญญาณจิต แต่ว่าเป็นทวารของจิตได้หลายดวง ตลอดวิถีนั้น

    ผู้ฟัง ก็เห็นได้ว่าทวาร เป็นทาง

    ท่านอาจารย์ ที่จิตจะเกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่กำลังปรากฏที่ทวารนั้น โดยที่ยังไม่ดับไป ต้องเป็นปัจจุบันอารมณ์ด้วย

    ผู้ฟัง ได้ความแตกต่างตรงที่ว่า ถ้าเป็นทวิปัญจวิญญาณจิตแล้ว ต้องมีวัตถุ

    ท่านอาจารย์ ในภูมิที่มีขันธ์๕ ทั้งหมด ทุกจิต ทุกดวงก็เกิดที่วัตถุหนึ่งวัตถุใด เว้นจิต ๑๐ ดวงที่อาศัยทวาร ๕ ปสาทรูป ๕ แล้ว จิตอื่นเกิดที่หทยวัตถุ

    ผู้ฟัง จิตอื่นเกิดขึ้นที่หทยวัตถุ ในเมื่อหทยวัตถุ จริงๆ แล้ว ที่เคยเรียนปริยัติมาบอกว่าอยู่ที่น้ำเลี้ยงกลางหัวใจ คือความเข้าใจนี้ไม่สามารถบอกได้ว่า หทยวัตถุนี่จริงๆ แล้วอยู่ตรงไหน ก็พยายามจะเปรียบเทียบว่าหทยวัตถุอยู่ตรงไหน แล้วก็เป็นที่เกิดของจิตอะไร

    ท่านอาจารย์ จิตทุกดวง เว้นจิต ๑๐ ดวง ในภูมิที่มีขันธ์ ๕

    ผู้ฟัง จิตทุกดวง เว้นจิต ๑๐ ดวง ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ พออย่างนี้แล้ว มาเปรียบเทียบกับภูมิที่ไม่มีวัตถุ ไม่มีรูปเลย จิตจะเกิดอย่างไร และก็ตกใจว่าจิตจะเกิดอย่างไร ก็เลยแยกความแตกต่างว่า ที่ไม่มีรูป เพราะรูปไปอยู่ทางโน้น

    ท่านอาจารย์ ไม่เกี่ยว รูปจะเกิดก็เกิดไป รูปจะดับก็ดับไป รูปไม่รู้เรื่องอะไรเลยทั้งสิ้น แต่ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ รูปเป็นทาง ซึ่งถ้าขาดจักขุปสาท จิตเห็นเกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าในรูปที่ตัวเราทั้งหมด รูปที่เป็นอินทรีย์เป็นใหญ่ ไม่ใช่ทั้งหมดตัว ทั้งๆ ที่มหาภูตรูปคือ ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ชื่อว่ามหาภูต หมายความว่าเป็นรูปใหญ่ เป็นรูปที่เป็นประธาน ถ้ารูป ๔ รูปนี้ไม่มีแล้ว รูปอื่นจะมีไม่ได้ทั้งสิ้น อย่าง สี ถ้าไม่มีมหาภูตรูป สี ก็ไม่มี จะเป็นสีของน้ำ สีของดอกบัว หรืออะไรก็ไม่มีทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นมหาภูตรูป ปราศจากไม่ได้เลยสำหรับรูปหนึ่งรูปใดที่จะเกิดในแสนโกฏิกัปป์ข้างหน้า หรือแสนโกฏิกัปป์ถอยหลังไป รูปก็คือมหาภูตรูป ต้องเป็นประธาน และรูปอื่นจึงจะมีได้ เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า แม้ชื่อว่ามหาภูตรูปเป็นรูปใหญ่เป็นประธาน แต่ไม่ใช่อินทรีย์

    แสดงให้เห็นว่าตลอดร่างกายของเราตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า กระทบสัมผัสดู แข็ง แต่แข็งไม่ได้เป็นอินทรีย์ ตัวอินทรีย์จริงๆ คือปสาทรูป เพราะเหตุว่าตาทั้งตาไม่เห็น ไม่ได้เป็นทางที่จะให้จิตเห็นเกิดขึ้น เฉพาะจักขุปสาทรูปกลางตา ซึ่งเราไม่มีทางจะมองเห็นเลย เพราะเหตุว่าถ้าเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด สิ่งนั้นคือรูปารมณ์ สิ่งที่สามารถกระทบตาเท่านั้น ที่จะเห็นได้

    เพราะฉะนั้นคุณลักษณะพิเศษของจักขุปสาทรูป ไม่ใช่อย่างที่เราเรียกว่าเลนส์ แต่ว่าต้องเป็นรูปที่เกิดที่สามารถจะกระทบกับสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น แล้วก็ดับอย่างเร็วมากด้วย แค่ ๑๗ ขณะ รูปนี้แหละเป็นอินทรีย์ เป็นใหญ่ เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีรูปนี้ เห็นไม่มี เช่นเดียวกันนะคะ โสตปสาทก็เป็นอินทรีย์ เป็นโสตินทรีย์ เพราะเหตุว่า ถ้าไม่มีโสตปสาท เสียงขณะนี้ปรากฏไม่ได้

    เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีรูปที่เป็นอินทรีย์ ๕ รูปนี้ พูดถึงอย่างไม่ละเอียดคืออย่างกว้างๆ เราไม่มีการเห็น ไม่มีการได้ยิน ไม่มีการได้กลิ่น ไม่มีการลิ้มรส ไม่มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสเลย มีแต่ความคิดนึกทางใจ คือถ้าจะอุปมาว่าก็เหมือนกับท่อนไม้ เพราะว่า ไม่มีตา ไม่มีหู ไม่มีจมูก ไม่มีลิ้น ไม่มีกาย เพราะฉะนั้นทั้งตัวของเราตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า รูปที่เป็นอินทรีย์ที่เราพอจะรู้ได้มี ๕ รูป นี่คือความละเอียด และความจริง เพราะมหาภูตรูปไม่ใช่อินทรีย์ เป็นประธานของรูป ซึ่งรูปอื่นต้องอาศัยเกิดกับมหาภูตรูปเท่านั้น แต่ว่ารูปที่เป็นอินทรีย์เพราะเหตุว่าเป็นใหญ่ในการที่จะเป็นทางให้จิตเห็นเกิดขึ้น เป็นใหญ่ในการที่จะเป็นทางให้จิตได้ยินเกิดขึ้น เป็นใหญ่เป็นทางที่จะให้จิตได้กลิ่นเกิดขึ้น เป็นใหญ่เป็นทางที่จะให้รสปรากฏ ที่เรารับประทานอาหารอร่อย รสปรากฏ ถ้าขาดชิวหาปสาท ไม่มีทางที่จิตลิ้มรสจะเกิดได้เลย เพราะฉะนั้นจึงกล่าวว่าเป็นอินทรีย์ เพราะว่าเราเห็นทั้งวัน ได้ยินบ้าง ได้กลิ่นบ้าง ลิ้มรสบ้าง ต้องแยกรูปแต่ลักษณะที่ทรงแสดงไว้อย่างละเอียดแม้ว่าเพียง ๒๘ รูป แต่ละรูปก็ต่างกันไป ตามคุณลักษณะ หรือประเภทของรูปนั้นๆ

    เพราะฉะนั้นที่ตัวคุณวีระทั้งหมด ถ้าเป็นความจริงแล้วก็คือ ถ้าพูดถึงธาตุดิน ก็เหมือนกับผงฝุ่นซึ่งมีอากาศธาตุแทรกคั่นอยู่ เรียกว่ากองฝุ่นก็ได้ จริงๆ มันคืออย่างนั้นคะ แต่พอมันติดกันแน่น มีรูปร่างมีสัณฐาน เราก็จำ เป็นตา เป็นคิ้ว เป็นปากสวย สีสันวรรณะปรากฏ เพราะเหตุว่าเราไม่รู้ความจริง ไม่ได้แทงตลอดถึงการเกิดดับ ของนามธรรม และรูปธรรม ซึ่งเกิดดับจริงๆ เพราะฉะนั้นความหมายของโลก ก็คือสภาพธรรมที่เกิดดับ แล้วก็ไม่ได้กล่าวลอยๆ อย่างนี้ ต้องซึ้งไปจนกระทั่งถึงว่า สภาพธรรมคือนามธรรม และรูปธรรมแต่ละขณะกำลังเกิดดับ ถึงจะเข้าใจความหมายว่า โลกที่ทรงแสดงไว้ว่าเป็นสภาพที่เกิดดับ คือเดี๋ยวนี้ขณะนี้

    สำหรับผู้ที่ประจักษ์ความจริง ก็จะไม่มีอะไรเลย ไม่ว่าจะใช้คำว่า โลกแบบโอกาสโลก ท่านก็รู้ว่าเป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ ไม่ว่าจะเป็นสัตวโลก ก็เป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ ทั้งหมดไม่พ้นจากสังขารโลกคือสภาพธรรมที่เกิดดับ ค่อยๆ แยกออกไปให้เห็นลักษณะของรูปก็เป็นโอกาสโลก ลักษณะของสัตวโลกก็เป็นนามธรรมกับรูปธรรม แต่ทั้งหมดก็คือสังขารโลก ถ้าไม่ประจักษ์อย่างนี้ก็ไม่มีทางที่จะเข้าใจว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้อะไรซึ่งเป็นความจริง แต่ความจริงทนต่อการพิสูจน์ แม้แต่เวลานี้ถ้าเราจะจับไมโครโฟน มีใครที่จะรู้ว่าเพราะไมโครโฟนเดี๋ยวนี้ ที่เราเรียกว่าไมโครโฟนนี่ อ่อนหรือแข็งเกิด จึงได้ปรากฏ นี่คือกำลังเกิด เพราะฉะนั้นถ้าปัญญาคมกล้าจริงๆ ก็ประจักษ์การเกิด และดับ ทางนี้ทุกทาง นั่นคือผู้ที่เข้าใจความหมายของโลกคือสภาพธรรมซึ่งเกิดดับ น่าตกใจ

    ผู้ฟัง น่าตกใจ คือท่านอาจารย์กล่าวก็ยิ่งน่าตกใจ แล้วส่วนของความเป็นใหญ่ ความเป็นผม ผมคงจะใช้ภาษาบาลีไม่ค่อยชัด แต่ผมจะเปรียบเทียบความเป็นใหญ่ ความเป็นใหญ่ที่ใจเป็นใหญ่

    ท่านอาจารย์ มนินทรีย์ค่ะ เพราะฉะนั้นเวลาที่เราศึกษาธรรมถ้าเราเข้าใจความหมาย และเราเข้าใจศัพท์ด้วย เพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย เราจะไม่เข้าใจผิดเลย และไม่มีใครจะมาเถียงเราด้วย อย่างมนินทรีย์ สภาพของจิตซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ที่กำลังปรากฏ เพราะว่าเจตสิกแต่ละเจตสิก เขาทำหน้าที่ของเขานิดเดียว อย่างผัสสะแค่กระทบ ไม่ได้เป็นใหญ่แบบรู้แจ้งอย่างจิต สัญญาก็จำ เจตนาก็จงใจในขณะนั้น

    คือเจตสิกแต่ละเจตสิก มีลักษณะเฉพาะของตน แต่ไม่เป็นใหญ่ในการรู้แจ้งอารมณ์เหมือนอย่างจิต เพราะฉะนั้นจิต เพราะเป็นใหญ่ในการรู้แจ้งอารมณ์ และจิตเราก็รู้ว่าอีกความหมายหนึ่ง ก็คือมนะ หรือมโน เพราะฉะนั้นก็เป็นมนินทรีย์ เราก็ได้แล้วคำหนึ่ง คือความเป็นใหญ่ของจิตในลักษณะที่รู้แจ้งอารมณ์

    แล้วเมื่อถึงสุขเวทนา ทุกขเวทนา ความรู้สึกต่างๆ เราก็เห็นว่าสำคัญเหลือเกินที่เราเกิดมาทั้งชาติ เราแสวงหาแต่สิ่งซึ่งเราคิดว่า นำความสุขมาให้เรา เราติดในความรู้สึกที่เป็นสุข สุขเป็นใหญ่ เป็นประธาน ไม่ว่าจะเห็น ไม่ว่าจะได้ยิน ทุกอย่าง ทุกคนแสวงหาความสุข เพราะฉะนั้นสุข ก็เป็นอินทรีย์อย่างหนึ่ง คือเวทนาทั้งหมดทุกเวทนาเป็นอินทรีย์ทั้งนั้นคือเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ ที่สามารถที่จะทำให้สภาพธรรมที่เกิดร่วมกันเป็นอย่างเขา เพราะเหตุว่าพอเขารู้สึกเป็นสุขสภาพเจตสิกอื่นทั้งหมด จะฟู หรือว่าจะสบาย พลอยเป็นสุขไปด้วย หรือว่าถ้าทุกขเวทนาเกิดสภาพของเจตสิกทั้งหมดที่เกิดร่วมด้วยก็ยอบแยบ หมายความว่าไม่ได้ฟู หรือว่าเป็นสุขอย่างนั้น

    นี่แสดงถึงความเป็นอินทรีย์ของเวทนาแต่ละเวทนา แม้แต่อุเบกขาความรู้สึกเฉยๆ ซึ่งเกิดก็เป็นใหญ่ จะเปลี่ยนอุเบกขาเวทนาให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้ ให้เป็นสุขก็ไม่ได้ ให้เป็นทุกข์ก็ไม่ได้ เพราะขณะนั้นความรู้สึกเป็นกลางไม่ทุกข์ไม่สุขกำลังเป็นใหญ่ขณะนั้น เพราะฉะนั้นเราก็ค่อยๆ เก็บอินทรีย์ไปทีละอินทรีย์ ในที่สุดรวมแล้วเราก็ได้อินทรีย์ ๒๒ แล้วก็ครบ แต่ว่าไม่ใช่ไปท่องก่อน แล้วก็พยายามจำ ประเดี๋ยวก็ลืม แต่อาศัยความเข้าใจ ทำให้เราสามารถที่จะรู้ได้จริงๆ ว่าทำไมทรงใช้คำนี้กับสภาพธรรมนั้นเพราะเหตุใด เพราะว่าตัวสภาพธรรมจริงๆ เป็นอย่างนั้น ก็ทรงแสดงสภาพธรรมตามความเป็นจริงอย่างนั้น

    ผู้ฟัง สมมติเราเข้าใจความสุขินทรีย์ ทุกขินทรีย์อย่างนี้ เมื่อสภาพรู้ที่เข้าใจนี้ แล้วก็จะดีหรือครับ เพราะจะไม่มาตอบสนองความที่อะไรต่ออะไรต่างๆ ที่เราอยากจะมีความสุข จะมีความทุกข์เพราะ..

    ท่านอาจารย์ ช่างกลัวจนเสียจริงว่าจะหมดสุข บางคนก็กลัวเหลือเกิน กลัวความเป็นพระอรหันต์ แย่เลย ไม่มีแล้วอาหารจะอร่อย หรือจะไปเที่ยวที่ไหนอย่างไรก็ไม่ได้ ใช่ไหม แต่ความเป็นจริงแล้วเราจะหมดทุกข์ เพราะว่าทุกคนไม่รู้จักทุกข์ แสวงหาทุกข์เพราะทุกอย่างไม่เที่ยง

    ความสุขที่คุณวีระต้องการ สั้นแสนสั้นนะคะ ถ้าเป็นการประจักษ์สภาพธรรมตามความเป็นจริงแล้วไม่ได้ยาวนานเลย แล้วแสวงหาอะไรกับสิ่งซึ่งสั้นแสนสั้นอย่างนั้นนะคะ เกิดมาชั่วขณะแล้วก็ดับ ถ้าเป็นผู้ที่ประจักษ์ความจริงจะโล่งใจนะคะ ไม่ต้องไปติดข้อง ไม่ไช่ว่าจะหมดสนุกไปเลยนะคะ

    แต่ว่ากว่าจะเป็นพระอริยะบุคคล กว่าจะถึงความเป็นพระอรหันต์ต้องผ่านการเป็นพระโสดาบันบุคคล ซึ่งโสดาบันบุคคลไม่ได้ละทิ้งอะไรมากมาย นอกจากความเห็นผิด ความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง แต่แค่นี้คนก็กลัวแล้ว กลัวที่จะไม่มีตัวตน

    ผู้ฟัง ใช่ผมเข้าใจความกลัว ว่ากลัวอย่างไร


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 11
    5 เม.ย. 2567

    ซีดีแนะนำ