สนทนาธรรม ตอนที่ 075


    ตอนที่ ๗๕


    ท่านอาจารย์ จิต และเจตสิกเป็นสภาพธรรม ซึ่งเป็นสภาพรู้ เกิดขึ้นขณะใดต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด เช่นขณะนี้ โต๊ะไม่เห็น แต่ว่าคน สัตว์เห็น เพราะฉะนั้นลักษณะที่เห็น ก็เป็นสภาพของจิต ถ้าเราจะถามคนที่ไม่ศึกษาธรรมเลย เขาจะตอบได้ว่า มีจิต แต่ถ้าถามเขาต่อไปว่าจิตอยู่ที่ไหน เขาจะตอบไม่ได้เลย รู้แต่ว่ามีจิต ไม่ว่าจะเป็นศาสนาใด หรือจะเป็นชาวไทย หรือชาวต่างประเทศก็ตาม เขาจะคิดว่ามีสภาพอย่างหนึ่งในตัว แต่ว่าเขาบอกไม่ได้ว่า สภาพนั้นอยู่ที่ไหนหรือทำอะไร แต่พระผู้มีพระภาคตรัสรู้สภาพของธรรมตามความเป็นจริง ที่กำลังปรากฏทุกๆ ขณะ เร็วเกินกว่าที่เราคิด

    เราอาจจะแบ่งเวลาในหนึ่งวันเป็น ๒๔ ชั่วโมง หนึ่งชั่วโมงเป็น ๖๐ นาที หนึ่งนาทีแบ่งเป็น ๖๐ วินาที และวินาทีก็แบ่งออกไปเป็นเสี้ยววินาที แต่ในทางธรรม ไม่ได้กล่าวอย่างนี้ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมเกิดดับเร็วกว่านั้นมาก เพราะฉะนั้นในระหว่างที่เรายังมีชีวิตอยู่ ที่เคยเป็นเรา มีเพียงจิต เจตสิก และรูปเท่านั้น เพราะมีรูปด้วย ไม่ใช่มีแต่จิต เจตสิก ถ้ามีแต่จิต เจตสิก รับประทานอาหารได้ไหม ถ้ามีแต่จิต เจตสิก ทำอะไรได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ถ้ามีแต่รูปอย่างเดียว ทำอะไรได้ไหม

    ผู้ฟัง ก็ไม่ได้ ต้องเกิดพร้อมกันหมด

    ท่านอาจารย์ แต่เมื่อมีจิต เจตสิก รูป มีการเห็น มีการเคลื่อนไหว มีการรับประทานอาหาร มีการทำธุรกิจต่างๆ เพราะว่ามีรูปด้วย ถ้ามีแต่นามธรรมอย่างเดียว จะไม่มีการกระทำใดๆ ทั้งสิ้น เพราะมีแต่จิต เจตสิก ซึ่งเป็นสภาพรู้ นี่ก็แสดงให้เห็นว่า เราต้องเข้าใจปรมัตถธรรม ๔ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริง เป็นธรรมพื้นฐานตั้งแต่เบื้องต้น คือ ๑. จิต ๒. เจตสิก ๓. รูป ๔. นิพพาน ละนิพพานไว้ก่อน ใครสนใจอยากจะถึงนิพพานก็ยังไม่ถึง ถ้ายังไม่สามารถที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ถูกต้องขึ้นจริงๆ เป็นปัญญาของตัวเองจริงๆ เข้าใจจริงๆ ในธรรม ไม่ใช่เป็นเรื่องไปท่อง แต่เป็นเรื่องที่เวลานี้มีธรรม พร้อมที่จะให้พิสูจน์ ฟังแล้วก็พิจารณาไป เข้าใจว่า ขณะนี้เรากำลังกล่าวถึงเรื่องสิ่งที่มีจริงๆ

    เพราะฉะนั้นตัดนิพพานออก เพราะว่าแสนไกล และก็ยังไม่ถึงแน่ ถ้าปัญญาไม่สมบูรณ์จริงๆ ก็เหลือสภาพธรรมที่เราจะต้องเข้าใจจริงๆ โดยละเอียด เพียง ๓ อย่างเท่านั้นคือ จิต เจตสิก รูป และถ้าสังเกตดู ไม่ทราบว่าเป็นหลักของภาษาบาลีหรือไม่ ที่จะใช้คำว่า หนึ่ง ข้างหลัง เขาจะไม่พูด หนึ่งจิต สองเจตสิก สามรูปใช่ไหม แต่จะพูดจิต ๑ เจตสิก ๑ รูป ๑ นี่แสดงให้เห็นความชัดเจน แม้แต่ภาษา ว่าจิต ๑ แยกออกมา จากอย่างอื่น จะไปปนหรือว่าจะไปรวมกับอย่างอื่นไม่ได้ เจตสิก ๑ เจตสิกก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งจะไปแยกไปรวมกับปรมัตถ์อื่นไม่ได้ รูป ๑ ก็เป็นประเภทของรูป ซึ่งแยกต่างจากจิต และเจตสิก

    เพราะฉะนั้นก็ให้ทราบว่า เวลาที่เราจะพูดถึงเรื่องกิเลส ความจริงแล้วเราก็จะผ่านปรมัตถธรรม จิต เจตสิก รูป ไปโดยย่อๆ ที่ว่าจิต เจตสิก เป็นนามธรรม ไม่มีรูปร่าง แต่เป็นสภาพรู้ เมื่อเกิดขึ้นขณะใดต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด เช่นในขณะนี้จิตกำลังเห็น จิตกำลังได้ยิน จิตกำลังคิดนึก เจตสิกก็เกิดกับจิต ดับพร้อมจิต รู้อารมณ์เดียวกับจิต คำว่าอารมณ์ที่นี้หมายความถึง สิ่งที่จิตกำลังรู้ เช่นเสียงในภาษาบาลีใช้คำว่าสัททะ เสียงในป่าไม่มีใครได้ยิน ก็เป็นสัททะ เป็นเสียง เปลี่ยนลักษณะของเสียงไม่ได้ แต่เสียงใดที่จิตกำลังรู้ เสียงนั้นเป็นสัททารมณ์ รวมคำว่า สัททะ กับ อารมณ์ หมายความว่าเสียงนั้น เป็นเสียงที่จิตกำลังรู้ เป็นอารมณ์ของจิต นี่คือความต่างกันของพยัญชนะแม้เล็กน้อย แต่ต้องเข้าใจว่า เสียงเป็นเสียงเท่านั้น แต่ถ้าสัททารมณ์แล้ว หมายความว่าต้องมีจิตได้ยิน หรือสภาพนามธรรม กำลังรู้เสียงนั้น เพราะฉะนั้นเสียงที่กำลังปรากฏที่ทุกคนกำลังได้ยินขณะนี้ เป็นอะไร

    เป็นเรื่องที่เราจะต้องทวนกันไปทวนกันมา ที่จริงแล้วที่นี่เป็นที่สำหรับทบทวน และก็เป็นที่สำหรับจะเข้าใจสภาพธรรมเพิ่มขึ้น พร้อมๆ กันไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นคำว่าอารัมมณะหรืออารมณ์ หมายความถึงสิ่งที่จิตรู้ ทิ้งความหมายเดิมในภาษาไทย ที่เราว่าอารมณ์ดี อารมณ์ไม่ดี นั่นเป็นปลายเหตุ ถ้าใครอารมณ์ดี ก็เห็น ได้ยินสิ่งต่างๆ ที่ดี อารมณ์ไม่ดี ก็เห็น ได้ยินสิ่งต่างๆ ที่ไม่ดี เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจความหมายใหม่ในธรรมคือ เมื่อมีจิตซึ่งเป็นสภาพรู้ ก็ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ สิ่งที่ถูกรู้ภาษาบาลีใช้คำว่าอารัมมณะ หรืออารัมพนะก็ได้ ใช่หรือไม่

    อ.สมพร สองคำนี้เหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจำอีกคำหนึ่ง อย่าลืม เมื่อจำจิตแล้ว ก็ต้องจำอารัมมณะ หรืออารมณ์ หรืออารัมพนะก็ได้คู่กันไปด้วย เพราะฉะนั้นปรมัตถธรรม ไม่มีใครสามารถจะเปลี่ยนแปลง เช่น เสียง ภาษาไทยใช้คำว่าเสียง แต่ภาษาบาลีใช้คำว่าสัททะ เสียงเป็นเสียง ใครจะได้ยินหรือไม่ได้ยิน ไม่สำคัญเลย กลิ่นเป็นกลิ่น ใครจะได้กลิ่นหรือไม่ได้กลิ่น ไม่สำคัญเลย เปลี่ยนแปลงสภาพของเสียงให้เป็นกลิ่นไม่ได้ เปลี่ยนแปลงสภาพของกลิ่นให้เป็นเสียงไม่ได้ ธรรมอย่างใดก็เป็นธรรมอย่างนั้น

    เพราะฉะนั้นเสียงในป่า ซึ่งเวลานี้ก็มี ถ้าต้นไม้ล้ม หรืออาจมีเสียงวิทยุ เสียงเพลงที่หนึ่งที่ใดก็ได้ ก็ยังคงเป็นเสียง แต่เมื่อขณะนี้ไม่ปรากฏกับจิต เสียงนั้นก็เป็นเสียง คือสัททะ แต่เสียงใดก็ตามที่เป็นอารมณ์ หรืออารัมมณะ หรืออารัมพนะ ที่จิตกำลังได้ยิน เสียงนั้นเป็นสัททารมณ์ คือรวมคำว่า สัททะในภาษาบาลี กับอารัมมณะ แล้วเป็นสัททารมณ์ หมายความว่าเป็นเสียงที่เป็นอารมณ์ของจิต เพราะฉะนั้นในขณะนี้ ถ้ามีจิตได้ยินเสียงเกิดขึ้น ถามว่าเสียงนั้นเป็นอะไร เป็นสัททะ หรือเป็นสัททารมณ์

    ผู้ฟัง เสียงที่ได้ยินเป็นสัททารมณ์

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไร

    ผู้ฟัง เพราะมีอารมณ์ร่วมใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ไปเอามาจากไหนอารมณ์ร่วม ยังไม่ได้พูดสักคำ แสดงว่าฟังธรรมต้องฟังสิ่งที่กำลังฟังอยู่ อย่าไปเอาความเห็น ความคิดเดิมๆ หรืออะไรมาปะปน อารมณ์ร่วมไม่เคยพูดเลย

    อ.นิภัทร อารัมมณะ แปลว่าสิ่งที่เป็นที่มายินดีของจิต

    ท่านอาจารย์ ซาบซึ้งหรือไม่กับคำว่า อารัมมณะ แค่สิ่งที่เป็นที่มายินดีของจิต

    อ.นิภัทร "อา" มาจากคำว่าอาคันตวา "รัมมณะ" คือ รัมมะติ แปลว่าเป็นที่ยินดี เป็นที่มายินดีของจิต

    ท่านอาจารย์ สิ่งเป็นที่มายินดีของจิต แสดงว่าจิตขาดอารมณ์ไม่ได้เลย เป็นที่มายินดีของจิตจริงๆ ไม่ว่าจิตประเภทไหนเกิดขึ้นก็ต้องการอารมณ์ เพราะว่าจิตเป็นสภาพที่ต้องรู้อารมณ์ เพราะฉะนั้นอารมณ์นั่นเองเป็นสิ่งที่คู่กันกับจิต จิตไม่ได้ต้องการรู้อะไรเลยทั้งสิ้น แต่จิตต้องการรู้อารมณ์ เพราะว่าอารมณ์นั้นเป็นที่มายินดีของจิต นี่จะเป็นเหตุที่จะทำให้เราเข้าใจคำว่าอนุสัยกิเลส เพราะเหตุว่าจิตเป็นสภาพรู้อารัมมณะเป็นสิ่งที่ถูกรู้ และสิ่งที่ถูกรู้ เป็นสิ่งที่เป็นที่มายินดีของจิต เพราะว่าจิตไม่ต้องการอะไรทั้งนั้น นอกจากจิตเป็นสภาพที่เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็รู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด และสำหรับความหมายของอารัมพนะ

    อ.สมพร กล่าวถึงของ ๒ อย่าง จิต ๑ อารมณ์ ๑ อารัมพนะก็เปรียบเหมือนคนแก่ถือไม้เท้า ถ้าไม่มีไม้เท้า หรือไม่มีอุปกรณ์ที่จะให้ลุกขึ้น ก็ลุกขึ้นไม่ได้ คำว่าอารัมพนะ เป็นเครื่องยึดเหนี่ยว ทำให้จิตเกิดขึ้น เหมือนคนแก่ที่จะลุกขึ้นได้ ก็เพราะอาศัยไม้เท้า หรืออุปกรณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ท่านจึงกล่าวว่าอารัมพนะเครื่องยึดเหนี่ยว คือทำให้จิตเกิดขึ้น ถ้าไม่มีอารมณ์ จิตก็เกิดไม่ได้ อารมณ์คืออารัมพนะ

    ท่านอาจารย์ แสดงให้เห็นว่า ถ้าเข้าใจความหมายของทั้ง ๒ คำคือความหมายของทั้งอารัมมณะ เป็นที่มายินดีของจิต และความหมายของอารัมพนะ เป็นเครื่องยึดเหนี่ยว ก็แสดงให้เห็นว่า จะปราศจากกันไม่ได้เลย เวลาที่จิตจะเกิด ถ้าไม่มีอารมณ์ จิตเกิดไม่ได้เลย แสดงให้เห็นว่าแม้ว่าสภาพธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง แต่ถ้ารู้ถึงปัจจัยที่ทำให้สภาพธรรมแต่ละอย่างเกิดขึ้น จะเห็นความเป็นอนัตตาว่าแม้แต่จิตถ้าขาดอารมณ์ ซึ่งเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว ที่จะทำให้จิตรู้อารมณ์นั้น จิตนั้นก็เกิดไม่ได้

    เพราะฉะนั้นก็คงจะไม่มีใครสงสัยในความหมายของอารัมพนะ อารัมมณะ กับจิต จิตเป็นสภาพรู้ อารัมมณะเป็นสิ่งที่ถูกจิตรู้ ซึ่งเป็นที่มายินดีของจิต และเป็นสิ่งที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยว เป็นปัจจัยหนึ่ง ที่ทำให้จิตเกิดขึ้น และสิ่งที่ถูกจิตรู้ ไม่ว่าจะเป็นอะไรทั้งสิ้น เป็นนิพพานก็ได้ เป็นอะไรก็ได้ สิ่งที่ถูกรู้นั้น เป็นอารมณ์ของจิต คือสิ่งที่จิตรู้ ซึ่งคำว่าอารมณ์เป็นภาษาไทย ถ้าเป็นภาษาบาลีจะมี ๒ คำ คืออารัมมณะ หรืออารัมพนะ ซึ่งความหมายว่า ถ้าใช้คำว่าอารัมมณะ หมายความว่าเป็นที่มายินดีของจิต เพราะว่าจิต ต้องรู้อารมณ์ ปราศจากอารมณ์ไม่ได้เลย ส่วนอารัมพนะหมายความว่า เครื่องยึดเหนี่ยว ถ้าปราศจากอารมณ์ จิตก็เกิดไม่ได้ แม้ว่าจิตเป็นสภาพรู้ หรือธาตุรู้ เมื่อต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด จึงต้องมีสิ่งที่ถูกรู้เป็นปัจจัยหนึ่ง ที่ทำให้จิตเกิดขึ้นได้ เรียกว่าอารัมมณปัจจัย เป็นปัจจัยให้จิตเกิด โดยเป็นอารมณ์ของจิต เพราะฉะนั้นอารัมมณะกว้างขวางมาก เพราะจิตสามารถที่จะรู้ได้ทุกอย่าง จิตรู้จิตก็ได้ จิตรู้เจตสิกก็ได้ จิตรู้รูปก็ได้ จิตรู้นิพพานก็ได้ จิตคิดนึกเรื่องราวต่างๆ สมมติบัญญัติต่างๆ คิดเรื่องอะไรทั้งวัน ก็คือจิตทั้งนั้นที่กำลังคิด ไม่ว่าอะไรก็ตามที่จิตกำลังรู้ สิ่งนั้นเป็นอารัมมณะ หรืออารัมพนะ หรือภาษาไทยใช้คำว่าอารมณ์

    สภาพของเสียงเป็นสิ่งที่มีจริงๆ ภาษาบาลีไม่มีคำว่าเสียง มีคำว่าสัททะ ใช้คนละภาษา ถ้าคนไทยเราก็พูดว่าเสียง แต่ถ้าภาษาบาลีใช้คำว่าสัททะ เสียงทุกเสียงเป็นสัททะ เสียงในป่า เสียงในครัว เสียงในโรงละคร เสียงที่ไหนๆ ก็ตามแต่ เมื่อเกิดขึ้น เป็นสภาพที่กระทบหู ปรากฏเป็นเสียงสูงๆ ต่ำๆ เป็นเสียงดังเบาๆ หรือว่าดังมากๆ ทั้งหมดคือเสียง เปลี่ยนสภาพของเสียงไม่ได้ เปลี่ยนชื่อได้ คนไทยไม่เรียกว่าเสียง ทั้งๆ ที่สภาพนั้นเป็นอย่างนั้น แต่ภาษาบาลีใช้คำว่าสัททะ คนไทยใช้คำว่าเสียง ภาษาอื่นก็เรียกตามภาษานั้นๆ ไป เปลี่ยนชื่อได้ แต่เปลี่ยนสภาพของเสียงไม่ได้ นี่คือธรรม เพื่อที่จะให้เข้าใจความหมายของธรรม ว่าธรรมเป็นธรรม ซึ่งไม่เป็นของใคร แล้วก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เพราะฉะนั้นเสียงเป็นเสียง แต่เสียงใดก็ตามที่จิตกำลังได้ยินเมื่อสักครู่ดับไปแล้ว กำลังได้ยินอีกแล้วก็ดับอีก เสียงใดก็ตามที่จิตกำลังได้ยิน เสียงนั้นเป็นอารมณ์ คือเป็นสิ่งที่จิตรู้ เพราะฉะนั้นภาษาบาลีก็รวมคำว่าสัททะกับอารมณ์เป็นสัททารมณ์ หมายความถึงเสียงที่จิตกำลังรู้ หรือกำลังได้ยิน แต่ถ้าเสียงเฉยๆ ใครจะรู้ หรือไม่รู้ก็ตาม เสียงก็เป็นเสียง แต่ถ้าใช้คำว่าสัททารมณ์ หมายความว่ามีสภาพรู้คือจิต กำลังได้ยินเสียงนั้น ถามว่ากำลังได้ยินเสียง เสียงเป็นสัททะหรือเป็นสัททารมณ์

    ผู้ฟัง เป็นสัททารมณ์

    ท่านอาจารย์ เป็นสัททารมณ์

    ผู้ฟัง อารัมมณะเป็นที่ยินดีของจิต อารัมพนะ เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวของจิต ๒ คำนี้ไม่เหมือนกันหรือ

    ท่านอาจารย์ สองความหมายเหมือนกัน หมายความว่าเป็นอารมณ์นั่นเอง แต่อารมณ์นั้น มี ๒ ลักษณะหรือ ๒ ความหมายคือว่า เป็นสิ่งที่เป็นที่ยินดีของจิต หรือว่าเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวให้เกิดจิต ได้สองอย่าง

    ผู้ฟัง เมื่อสักครู่ที่อาจารย์ถาม แล้วหนูไม่ได้ยิน แสดงว่าหนูไม่มีสัททารมณ์ ใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ก็กำลังทำอะไรอยู่ ไม่ใช่ถามคนอื่น ถามคนอื่นได้อย่างไร จะไปบอกแทนคนโน้น ว่าคนโน้นไม่ได้ยินใช่ไหม ก็ไม่ได้ ขอให้ทราบว่าสภาพธรรมเกิดดับเร็วที่สุด เร็วมาก ทันทีที่เกิดก็ดับ อย่างได้ยิน ได้ยินปุ๊บก็ดับไปแล้ว เพราะฉะนั้นจะไปถามคนอื่นว่าเมื่อสักครู่นี้ ฉันกำลังได้ยินหรือไม่ คนอื่นตอบไม่ได้

    ผู้ฟัง ได้ยิน แต่ว่าไม่ได้ฟัง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเห็นความรวดเร็วของการเกิดดับของจิตได้ยิน ว่าจิตได้ยินดับ มีการได้ยินจริง แต่จิตที่เกิดต่อคิดนึกเรื่องอื่น ตามที่กล่าวว่าได้ยินแต่ไม่ได้ฟัง เพราะฉะนั้นได้ยิน และไม่ได้ฟังคงมาก คือเมื่อมีหู มีโสตปสาทแล้วก็ต้องได้ยิน ที่บอกว่าไม่ได้ยิน หมายความว่าขณะนั้นเสียงไม่กระทบหู แต่ถ้าเสียงกระทบหู ใครจะสนใจหรือไม่สนใจก็ตาม มีปัจจัยที่จะให้จิตได้ยินเกิด จิตได้ยินก็เกิด แต่เมื่อจิตได้ยินเกิดแล้ว จะคิดนึกเรื่องอื่นก็ได้ ก็เป็นเรื่องของตัวเอง ด้วยเหตุนี้จึงมีคำว่าสาวก ซึ่งภาษาบาลีก็ใช้คำว่าสาวะโก แปลว่าผู้ฟัง ไม่ใช่ผู้ได้ยิน ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นที่นี่ จะเป็นผู้ฟัง หรือผู้ได้ยิน ใครทราบ

    ผู้ฟัง ตัวเอง

    ท่านอาจารย์ ถ้าเพียงแต่ได้ยิน และก็ไม่เข้าใจ หรือไม่พิจารณา หรือไม่ไตร่ตรอง ขณะนั้นก็เป็นผู้ได้ยิน แต่ถ้าเป็นผู้ฟังคือได้ยิน และพิจารณา แล้วเข้าใจในสิ่งที่ได้ยิน นั่นคือผู้ฟัง เพราะฉะนั้นผู้ที่จะประพฤติปฏิบัติตามพระธรรม แค่ได้ยิน เป็นไปไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าได้ยิน ทุกคนก็ได้ยิน แต่ว่าได้ยินแล้วใครเข้าใจ คือผู้ฟัง และความหมายจริงๆ ก็ยังมากกว่านั้นอีก คือแค่ฟังแล้วไม่ประพฤติปฏิบัติตามก็เป็นสาวกจริงๆ ไม่ได้ เพราะว่าเพียงแค่ฟังเข้าใจ แต่ว่ายังไม่ได้ประพฤติปฏิบัติตาม

    ผู้ฟัง คำว่าอารัมมณะ แปลว่าสิ่งที่เป็นที่มายินดี คำว่ายินดี หมายความว่าอย่างไร

    ท่านอาจารย์ พอใจต้องการ จริงหรือไม่ ต้องการเสียงหรือไม่ ต้องการได้ยินเสียง หรือไม่

    ผู้ฟัง บางทีไม่ได้ต้องการ ก็ได้ยินก็มี

    ท่านอาจารย์ ถ้าอย่างนั้นให้หูหนวกเลย

    ผู้ฟัง ตกลงแปลว่ายินดี

    ท่านอาจารย์ แน่นอน เป็นที่มายินดี ตราบใดที่มีจิต ต้องมีอารมณ์ ซึ่งเป็นที่มายินดีของจิตแน่นอน

    ผู้ฟัง เสียงที่เราไม่พอใจนี้

    ท่านอาจารย์ ก็ยังอยากฟัง แต่เราเลือกฟังใช่หรือไม่ เราอยากฟังแต่เราเลือกฟัง สิ่งที่เราพอใจ เพราะเราบอกว่ารูปารมณ์ ถ้าเอาคำว่าอารมณ์ออก ก็คือรูปะ หรือว่าภาษาไทยเราก็ใช้คำว่ารูป และเราก็เคยชินกับคำว่ารูป อีกลักษณะหนึ่ง คือต้องเป็นรูปร่างอะไรอย่างหนึ่ง ถ้าใช้คำว่ารูป จะไม่มีแต่เพียงสีอย่างเดียว แต่ว่าตามความจริงแล้ว ไม่ได้มุ่งหมายถึงรูปร่างอย่างหนึ่งอย่างใดเลย แต่หมายความว่าสิ่งใดก็ตามที่จิตกำลังเห็น ปรากฏทางตา สิ่งนั้นภาษาบาลีใช้คำว่ารูปารมณ์ หรือรูปารัมมณะ หรือรูปารัมพนะก็ได้

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า เราเริ่มจะมาถึงความเข้าใจชีวิตของเราจริงๆ ซึ่งวันหนึ่งๆ ก็คือเห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ได้กลิ่นบ้าง ลิ้มรสบ้าง รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสบ้าง คิดนึกบ้าง แค่ ๖ ทาง แต่ว่าวุ่นวายเหลือเกิน แล้วก็เป็นทุกข์เหลือเกิน เดี๋ยวก็โกรธมากๆ ท้องแข็งหรืออะไรอย่างนั้น ก็แสดงให้เห็นว่า เรายังไม่รู้แหล่ง ตามความเป็นจริงว่า กว่าจะเป็นสิ่งนั้นได้ มาจากไหน ถ้าไม่มีตา ไม่มีหู ไม่มีจมูก ไม่มีลิ้น ไม่มีกาย ไม่มีใจ ดับสนิทเลย ทุกข์ใดๆ ก็มีไม่ได้ แต่ว่าถ้ามีสิ่งต่างๆ เหล่านี้แล้ว ที่จะไม่ให้มีทุกข์เป็นไปไม่ได้เลย แล้วแต่ว่าทุกข์นั้น จะเป็นทุกข์ในลักษณะใด ทุกข์ที่เป็นทุกข์ อย่างทุกคนคิดว่าป่วยไข้ได้เจ็บ ประสบกับสิ่งที่ไม่พอใจ แต่ว่าจริงๆ แล้ว นั่นยังไม่ใช่อริยสัจจ ยังไม่ใช่ความจริงแท้ เพราะเหตุว่าทุกข์ก็เปลี่ยนเป็นสุขได้ เมื่อทุกข์หมดไป สุขก็เกิดขึ้น เวลาที่เรื่องที่ไม่น่าพอใจหมดไป เรื่องที่น่าพอใจก็เกิดขึ้น ก็ยังไม่ใช่ทุกข์แท้ๆ ที่เป็นทุกขสัจจ์ แต่ให้ทราบว่าเมื่อมีการเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้ว จะมีกิเลสติดตามมาทีหลัง ซึ่งต่อไปจะกล่าวถึงเรื่องของอนุสัยกิเลส ซึ่งก่อนที่จะพูดเรื่องใดก็ตาม ขอให้เข้าใจพื้นฐานของธรรม ที่กำลังมีอยู่ แล้วก็จะเข้าใจเรื่องของกิเลส ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกันในขณะไหนบ้าง

    เพราะฉะนั้นสำหรับทางตา เราเคยคิดว่ารูป เราเห็นรูป เราอาจจะบอกว่าภาพเขียน หรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นรูป โต๊ะนี้ก็รูปโต๊ะ หนังสือก็เป็นรูปหนังสือ แต่ตามความเป็นจริงธรรมตรงที่สุด ซึ่งใครก็ปฏิเสธไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นชาติไหนทั้งสิ้น สิ่งใดก็ตามที่สามารถกระทบตาแล้วปรากฏ เป็นธรรมอย่างหนึ่ง เป็นสิ่งที่มีจริงอย่างหนึ่ง แน่ใจหรือไม่ว่าเป็นอย่างนั้น

    ผู้ฟัง ก็มีทั้ง มีจริงกับไม่จริง

    ท่านอาจารย์ หมายความว่าเรากำลังกล่าวถึงเรื่องธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งสามารถจะปรากฏได้ทางตาทางเดียว ซึ่งธรรมอย่างนั้น ภาษาบาลีใช้คำว่ารูปะ หรือรูปในภาษาไทย ซึ่งต่างกับรูปที่เราเคยพูดถึง ที่เราบอกว่ารูปนี้ เราอาจจะคิดถึงรูปที่ถ่ายมารูปภาพ รูปเขียน หรือว่ารูปโต๊ะ รูปเก้าอี้ รูปหนังสือ รูปกล่อง รูปอะไรก็ได้ แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้ว คำว่ารูปะ หรือรูปารมณ์ หรือรูป ซึ่งจิตกำลังเห็น หรือว่ากำลังรู้เพราะว่าจิตเป็นสภาพรู้ หมายความถึงสิ่งหนึ่ง ซึ่งสามารถกระทบกับจักขุปสาท แล้วปรากฏลักษณะของสิ่งนั้น นั่นคือรูปารมณ์ หรือรูป มีจริงหรือไม่

    ผู้ฟัง มีจริง

    ท่านอาจารย์ อะไรมีจริง

    ผู้ฟัง รูปารมณ์มีจริง

    ท่านอาจารย์ รูปารมณ์ คือ รูป มีจริง เวลานี้เราไม่ได้พูดถึงคน ไม่ได้พูดถึงโต๊ะ ไม่ได้พูดถึงอะไรเลย แต่พูดถึงธาตุ หรือธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งกระทบหูไม่ได้ กระทบจมูกไม่ได้ แต่กระทบจักขุปสาทรูปได้ แล้วก็กำลังปรากฏในขณะนี้ แต่เราไม่เคยรู้ความจริง เราคิดว่าเราเห็นคน เราคิดว่าเราเห็นโต๊ะ เห็นสิ่งต่างๆ แต่ถ้าย้อนมาถึงขณะจิตแท้ๆ ที่เพียงเห็น ยังไม่ทันนึกถึงคน ไม่ได้นึกถึงรูปร่างสัณฐานใดๆ ทั้งสิ้น เพื่อที่จะให้เข้าถึงสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม เป็นสิ่งที่มีจริงว่าไม่ต้องเรียก แต่ว่าสภาพธรรมชนิดนี้มี แล้วก็กำลังปรากฏทางตา เพราะฉะนั้นโลกของทางตาล้วนๆ เป็นโลกหนึ่ง ยังไม่ปนกับทางใจ ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายเลย ตัดโลกนี้ออกมาโลกหนึ่ง ก็คือโลกที่มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ ซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่ารูปารมณ์ สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา คุณหมอเห็นคุณสุพรรณีหรือไม่

    ผู้ฟัง เห็น

    ท่านอาจารย์ เห็นอะไร

    ผู้ฟัง เห็นนิมิต

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่เรียกคุณสุพรรณี จะเห็นคุณสุพรรณีหรือไม่ เพราะคุณหมออาจจะไม่รู้จักชื่อ ไม่รู้จักชื่อคุณสุพรรณี แต่เห็น แต่ไม่รู้จักชื่อได้ หรืออาจจะไม่ใช่คุณสุพรรณีก็ได้ อะไรก็ได้ที่ปรากฏทางตา แล้วเราไม่รู้จักชื่อเลย บางอย่างเราไม่รู้เลยว่านี่เรียกว่าอะไร อย่างชิ้นส่วนต่างๆ ของรถยนต์ ลองแยกออกมาทีละชิ้นทีละชิ้น เราเรียกไม่ถูก ชิ้นนี้เรียกอะไรก็ไม่รู้ แต่ว่าเห็นแล้วก็รู้ว่าสิ่งนั้นทำหน้าที่อะไร มีลักษณะอย่างไรได้ เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่า เราจะต้องเข้าใจในปรมัตถธรรมจริงๆ เพราะว่าเราคุ้นเคยกับสิ่งที่เราสมมติบัญญัติ ว่าเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 11
    6 พ.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ