สนทนาธรรม ตอนที่ 077


    ตอนที่ ๗๗


    ท่านอาจารย์ ใช้สติได้ไหม

    ผู้ฟัง สติคือการลึกรู้

    ท่านอาจารย์ ใช้สติได้ไหม เมื่อครู่นี้ใช้วิปัสสนาญาณ ต่อมาจะเปลี่ยนคำถามเป็น ใช้สติได้ไหม ยังไม่ต้องถึงวิปัสสนาญาณ ใช้สติได้ไหม

    ผู้ฟัง ได้ครับ

    ท่านอาจารย์ ได้หรือ

    ผู้ฟัง ถ้าสติ คือสติระลึกรู้อยู่

    ท่านอาจารย์ คำถามว่า ใช้สติได้ไหม

    อาจารย์นิภัทร มีสติที่จะให้ใช้หรือเปล่า

    ผู้ฟัง สติเป็นสภาวะ

    อาจารย์นิภัทร คือสภาพธรรมเป็นอนัตตา แม้กระทั่งสติก็เป็นอนัตตา คุณไปเที่ยวใช้เขาได้หรือ คิดถึงตรงนี้นะ เพราะฉะนั้นต้องอบรมให้มีขึ้น ค่อยๆ มีขึ้นทีละเล็กทีละน้อย แล้วเขาเป็นสังขารขันธ์ เขาทำกิจ ทำหน้าที่เขาเอง คือเราต้องอย่าลืมว่า สภาพธรรมเป็นอนัตตา เราเที่ยวใช้ไม่ได้

    ผู้ฟัง ผมต้องขอโทษ คือโดยการพูดภาษาธรรมดานี่ จะมีการ คำที่พูดให้เข้าใจ จะต้องมีคำว่าใช้อยู่

    ท่านอาจารย์ ไม่ถูกต้อง คือว่าคำพูดใดๆ ก็ตาม จะเปรียบเทียบให้เห็นว่ามาจากความเข้าใจอย่างไร เข้าใจถูก หรือเข้าใจผิด ถ้าเข้าใจถูกจะไม่มีคำว่า ใช้เลย

    ผู้ฟัง ผมก็เป็นผู้ที่มาสนทนาใหม่

    ท่านอาจารย์ ส่วนใหญ่ เรามักจะได้ยินคนพูดว่าใช้ ใช้สติ ใช้ปัญญา แต่จริงๆ แล้วคนที่พูดเข้าใจสติ เข้าใจปัญญา หรือเปล่า แล้วก็ที่ใช้คำว่า ใช้สติใช้ปัญญาจะถูกต้องไหม เพราะฉะนั้นผู้ฟัง ไม่ว่าจะฟังจากใครที่ไหนก็ตามเป็นผู้ที่พิจารณาสิ่งที่ได้ฟังแล้วก็สามารถจะรู้ได้ว่า คำนั้นถูก หรือคำนั้นผิด ไม่ใช่ว่าเมื่อใครใช้ เราใช้ตาม ไม่ใช่ว่าเมื่อใครบอกเราเชื่อ แต่ว่าผู้ฟังมีสิทธิ์ที่จะพิจารณาทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้ยินได้ฟัง แล้วก็รู้ด้วยว่าผิดตรงไหน เช่น ใช้สตินี่ ผิดแน่นอน ใช้ปัญญาก็ผิด

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างงั้นการพิจารณานี่ จะต้องไม่มีคำว่าใช้ปัญญาพิจารณา

    ท่านอาจารย์ ใช้ไม่ได้ค่ะ ใช้ไม่ได้เลย สภาพธรรมขณะนี้ เกิดแล้วมีแล้ว ใครทำให้เกิด ขณะนี้เห็น ขณะนี้ได้ยิน ใครใช้ใครทำ แต่ว่าสภาพธรรมขณะนี้ ปรากฏเพราะเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย เพราะฉะนั้น ปัญญาคือความรู้ถูกต้องตามความเป็นจริงว่า เป็นธรรม ซึ่งเกิดปรากฏเพราะเหตุปัจจัย ไม่มีตัวตนที่จะไปใช้ ไปทำ หรือไปบิดเบือนอะไรทั้งสิ้น แต่ว่าเมื่อสภาพธรรมเป็นอย่างไร รู้ตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น จากขั้นฟัง ขั้นพิจารณา ขั้นระลึก ขั้นประจักษ์แจ้ง ให้เห็นว่าไม่มีตัวตน ไม่มีใครทำ ไม่มีใครใช้

    ผู้ฟัง คือถ้าหากว่าไม่มีผู้ใช้ หมายถึงว่าเสียงเกิดขึ้น มีเสียงอยู่ เสียงนั้นก็ดับไปตามธรรมชาติของเสียงนั่นเอง ใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ ทุกอย่างเป็นธรรม หมายความว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา เป็นสิ่งที่มีลักษณะจริงๆ ปรากฎ เสียงก็เป็นเสียง กลิ่นก็เป็นกลิ่น เห็นก็เป็นเห็น ได้ยินก็เป็นได้ยิน โลภะก็เป็นโลภะ โทสะก็เป็นโทสะ ปัญญาก็เป็นปัญญา สติก็เป็นสติ เป็นสภาพธรรมจริงๆ แต่ละอย่าง

    ผู้ฟัง ธรรมนี้ เกิดขึ้นแล้วก็ ตั้งอยู่แล้วดับไปใช่ไหม ขณะหนึ่ง ขณะหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ ค่ะ ไม่มีสิ่งใดเที่ยงเลย ต้องประจักษ์ความจริงอย่างนี้ จึงจะเห็นว่า ไม่ใช่ตัวตนได้

    ผู้ฟัง การประจักษ์ความจริง ประจักษ์ด้วยวิญญาณ

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้ก็มีวิญญาณ คือจิตประจักษ์ความจริง หรือเปล่า

    ผู้ฟัง จิตก็ ประจักษ์ความจริงอยู่

    ท่านอาจารย์ ความจริงไม่ใช่สัจธรรม หรือว่าอริยสัจธรรม

    ผู้ฟัง ความจริง ที่ปรากฎอยู่ก็มี เช่น เสียง

    ท่านอาจารย์ ค่ะ เสียงปรากฏกับอะไร

    ผู้ฟัง เสียงปรากฎกับหู

    ท่านอาจารย์ หูไม่รู้เสียงค่ะ

    ผู้ฟัง หูไม่รู้เสียงแต่หูเป็นที่รับเสียง

    ท่านอาจารย์ สามารถกระทบเสียง แต่หูไม่รู้ หูไม่ใช่สภาพรู้

    ผู้ฟัง แต่ว่ามีโสตวิญญาณ

    ท่านอาจารย์ ใช้ชื่อว่าโสตวิญญาณ แต่ว่าจริงๆ แล้วเป็นธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งได้ยินเสียง

    ผู้ฟัง ซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเช่นกัน ขั้นต่อไปก็ นอกจากดับไปแล้ว ก็ต้องไปที่เกิดใหม่ ไปที่อยู่ที่ไหม่

    ท่านอาจารย์ ไม่มี ไม่ใช่ สภาพธรรมอาศัยเหตุปัจจัยเกิด แล้วก็ดับ แต่ว่าจิต เจตสิก เป็นสภาพนามธรรม ซึ่งเป็นปัจจัยชนิดหนึ่ง ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงสภาพ จิต เจตสิก ไม่ให้มีปัจจัยชนิดนี้ก็ไม่ได้ ปัจจัยชนิดนี้ก็คือว่า ทันทีที่จิต และเจตสิกซึ่งเกิดร่วมกันดับไป ก็เป็นปัจจัยทำให้จิตเจตสิก ขณะต่อไปเกิด ชื่อว่าอนันตรปัจจัย ไม่จบสิ้น

    ผู้ฟัง ถ้าเราบอกคนหนุ่มสาวว่า การปฏิบัติธรรม จะต้องสะสมกันเป็นแสนกัปแสนกัลป์ เขาไม่เชื่อ ไม่เอาด้วย รู้สึกว่าเอาหลักฐานอะไร เอาทฤษฎีอะไรมาพูด ที่ว่าคนเรานั้นอยากจะทำบุญ และทำทาน อยากให้เห็นผลทันตาก็ประการหนึ่ง เป็นนิสัยคนปัจจุบัน จึงกราบเรียนถามท่านอาจารย์ว่า คำตอบเหล่านี้จะตอบได้อย่างไร ที่มีหลักการ หรือยืนยันได้ถูกต้องว่า การปฏิบัติธรรมนั้นต้องอาศัยเป็นแสนกัปแสนกัลป์

    ท่านอาจารย์ คือเป็นผู้ที่รู้ใจเยาวชนที่คอยไม่ได้ นานเกินไปตั้งแสนกัป หรืออะไรอย่างนี้ ก็คงจะเหมือนที่คุณศุกลถามเมื่อเช้านี้เหมือนกัน ทำอย่างไรถึงจะเร็ว คือจริงๆ แล้ว ถ้าทราบว่าธรรมคืออะไร และปฏิบัติธรรมคืออะไร เขาเองจะเป็นคนตอบว่าพร้อมหรือยังที่จะถึง หรือว่าจะถึงได้เมื่อไหร่ เพราะว่าตัวเองเท่านั้นจะเป็นผู้ที่ทราบ แต่ถ้ายังไม่ทราบว่า ธรรมคืออะไร ปฏิบัติธรรมคืออะไร และก็เข้าใจไขว้เขว คิดว่าปฏิบัติธรรมก็คือ การนั่งสมาธิ เพราะฉะนั้นก็ต้องไปถึงอะไร แป๊บเดียวก็ถึงแล้ว อย่างนั้นดูจะทันอกทันใจ แต่ว่าเราจะให้สิ่งที่ถูกต้อง ให้เป็นความรู้ที่ถูกต้อง หรือว่า ไม่รู้อะไรก็ปฎิบัติกันเถอะ แล้วเดี๋ยวเดียวก็ถึง

    เพราะฉะนั้นก่อนอื่นดิฉันคิดว่า เรื่องของธรรมเป็นเรื่องที่จริง เป็นเรื่องที่ตรง ไม่ว่าใครจะรอไหว หรือรอไม่ไหวอย่างไร ก็เป็นเรื่องของคนนั้นเอง ที่ว่า เราไม่ใช่ขู่ หรือไม่ใช่ไปบอกว่านานแสนนาน แต่ว่าสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ มีจริงๆ มีความเข้าใจถูกต้องว่า เป็นธรรมอย่างไร ขั้นต้นก็ยังไม่ทราบแล้วก็จะไปคิดว่า เขาควรจะถึงได้เร็วๆ ได้อย่างไร เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องของกาลเวลา เมื่อเช้าก็ยกตัวอย่างท่านพระสารีบุตร เพียงไม่กี่คำจากท่านพระอัสชิ นี้เป็นเครื่องปลอบใจได้ไหม เพียงไม่กี่คำ จากท่านพระอัสชิก็ได้เป็นพระโสดาบัน แต่ตามความเป็นจริงคนที่ฟังขณะนี้ เป็นท่านพระสารีบุตร หรือเปล่า และก่อนที่จะเป็นท่านพระสารีบุตรได้ ที่จะเป็นอัครสาวก อบรมบารมีเท่าไหร่ จึงจะเป็นได้ สำหรับท่านพระอัญญาโกณฑัญญ ไม่ใช่อัครสาวก แต่ท่านก็แสดงประวัติของท่านว่า ท่านอบรมมาเท่าไหร่

    เพราะฉะนั้นไม่ใช่เป็นเรื่องที่เราพูดเอง แต่เป็นเรื่องที่ว่าเมื่อถึงกาล ที่ปัญญาสามารถจะรู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริงเมื่อไหร่ ก็เมื่อนั้น สำหรับคนฟัง ก่อนอื่น แทนที่จะคิดว่า นานมากเหลือเกิน ก็ขอให้เป็นความเข้าใจขั้นต้นก่อนว่า เข้าใจให้ถูกในเรื่องของธรรม และในเรื่องของการปฏิบัติธรรม เพราะว่าการสอนธรรม และการเผยแพร่ธรรม ต้องเป็นเรื่องธรรมจริงๆ ไม่ใช่เรื่องความคิดของเรา แต่ว่าเป็นเรื่องตามที่มีจริงๆ ในพระไตรปิฏกพร้อมทั้งเหตุผลด้วย

    ผู้ฟัง อดีตชาตินั้นเราอาจจะไม่อาจจะทราบได้ เมื่อเรายังไม่อาจมีตาทิพย์เรียนถามว่า ในปัจจุบันชาตินี้ขณะนี้เดี๋ยวนี้ ถ้าเราได้มีการปฏิบัติกัน โดยหลักการแล้วเนี่ย เราจะสามารถที่จะบรรลุ

    ท่านอาจารย์ นี้เป็นเรื่องสมมติ ถ้าเรา แต่ว่าจริงๆ แล้วเดี๋ยวนี้ ปัญญาที่จะรู้ว่าธรรมคืออะไรมี หรือยัง ถ้าปัญญาที่จะรู้ว่าธรรมคืออะไรก็ยังไม่มี แล้วจะปฏิบัติได้อย่างไร เพราะฉะนั้นเรื่องถ้าปฏิบัติ นี้เป็นเรื่องสมมติ และไม่มีการคำนวณเวลา ไม่มีการจัดแบ่งว่า สำหรับคนนี้จะต้องใช้เวลาเท่านั้นปี เท่านั้นปี ไม่เหมือนการเรียนหนังสือ ซึ่งมีหลักสูตร แล้วก็มีว่า ถ้าคนนี้เรียนเก่งจะเป็นอย่างนี้ เรียนอะไรต่อไปได้อย่างไร แต่ธรรมนี้เป็นเรื่องที่ว่ามีความเข้าใจสิ่งที่เป็นธรรมหรือยัง ตั้งต้นกันตรงนี้ ก่อนที่จะพูดถึงเรื่องปฏิบัติธรรม ถ้ายังไม่มีความเข้าใจว่า ธรรมคืออะไร ปฏิบัติธรรมก็ไม่ได้แน่นอน คิดแล้วว่าธรรมคืออะไร ยังไม่ต้องไปพูดเรื่องธรรมชาติ เพราะว่า การที่เราศึกษาธรรมนี่ หมายความว่า เราไม่รู้ธรรม เราจึงศึกษาธรรม ถ้าเรารู้แล้ว เราไม่ต้องศึกษาเลย เพราะรู้แล้ว แต่เพราะว่าไม่รู้ต่างหากจึงศึกษา แม้แต่เพียงคำๆ เดียวคำแรก ว่าธรรม เราคิดว่าเราเข้าใจถูกต้องดีแล้วหรือ หรือว่าพอใครบอกว่าธรรมชาติ เราก็ อ้อ ธรรมชาติ ใช่ธรรมชาติ อย่างนั้นหมายความว่า เราเข้าใจธรรม หรือเปล่า แต่ถ้ามีคำอธิบายให้เราเข้าใจ อย่างที่ภาษาบาลีที่เมื่อเช้านี้แปลกัน อาจารย์แปล ธรรม ว่าอย่างไร

    อาจารย์สมพร ธรรม แปลว่า ทรงไว้ซึ่งภาวะของตน

    ท่านอาจารย์ ค่ะ ถ้าอย่างนี้ทำให้เราคิดใช่ไหม ธรรมซึ่งทรงไว้ซึ่งสภาวะของตน เอ๊ะอะไรเนี่ย อะไรเป็นธรรมบ้าง แข็งเป็นธรรมหรือเปล่า ทรงไว้ซึ่งสภาวะแข็ง ไม่เปลี่ยนเป็นอย่างอื่น กลิ่นเป็นธรรมหรือเปล่า เพราะว่าทรงไว้ซึ่งสภาวะที่กระทบจมูก อย่างนี้เราจะทำให้เราสามารถที่จะเข้าใจความหมายจริงๆ แต่ถ้ามาใช้แบบที่เราเคยพูดกัน เหมือนเข้าใจว่าธรรมคือธรรมชาติ และเป็นอย่างไรธรรมชาติ ใช่ไหมคะ หรือว่า แข็งเนี่ยเป็นธรรมชาติ หรือเปล่า อาหารในจานเนี่ยเป็นธรรมชาติ หรือเปล่า แต่ถ้าถามว่าเป็นธรรมมั้ย เป็น เราเริ่มเข้าใจว่าธรรมหมายความถึง ทุกสิ่งที่มีจริง และก็มีลักษณะที่เป็นภาวะเป็นสภาพของเขาซึ่งไม่ใช่ของใครเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ถ้าพูดอย่างนี้ เราก็เริ่มเข้าใจธรรมโดยไม่ต้องไปอิงอาศัยสิ่งซึ่งเหมือนจะเข้าใจแต่ไม่เข้าใจอย่างธรรมชาติ สภาพธรรมที่เพียงเกิดขึ้น และดับไปเที่ยงหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่เที่ยงครับ

    ท่านอาจารย์ เป็นอะไร หรือเปล่า เป็นอัตตา หรือเปล่า เป็นเรา หรือเปล่า เป็นของเรา หรือเปล่า เป็นของใคร หรือเปล่า ลักษณะที่แข็งเป็นของใคร หรือเปล่า

    ผู้ฟัง คือว่ามันมาประชุมอยู่ขณะหนึ่ง แล้วก็เปลี่ยนไป นี่ใช่อนัตตา

    ท่านอาจารย์ สภาพธรรมที่เกิดแล้วดับ ธรรมเป็นธรรม ไม่ใช่อัตตา ที่เราคิดเป็นอัตตานี่ คือเป็นเราใช่ไหม ที่ใช้คำว่าอัตตาเนี่ย คือเรา และก็ยังมีของเราด้วย เพราะคำว่าเรา มี ๓ อย่าง ตามลักษณะที่ว่า เราด้วยโลภะ เราด้วยตัณหา เราด้วยทิฏฐิ ความเห็นผิด หรือเราด้วยมานะ มี ๓ เรา ถ้ามานะก็เราใหญ่ใช่ไหมคะ ถ้าตัณหาก็ ของเราแน่ๆ ถ้าทิฏฐิก็ ตัวตนเราจริงๆ คุณศิลกัลจะเรียนหรือไม่คะ จิต๘๙ เจตสิก ๕๒ รูป ๒๘

    ผู้ฟัง คือตอนนี้ผมคิดว่าจะพยายามศึกษาที่ปรากฎให้เห็นก่อน

    ท่านอาจารย์ ค่ะแต่ว่าในขณะเดียวกัน เราก็ศึกษาปริยัติได้ เพื่อให้รู้ความเป็นอนัตตามากขึ้นได้ อย่างจิตนี้ที่จะเห็นว่าไม่ใช่เรา หรือไม่ใช่ตัวตนเพราะเหตุว่า เป็นสภาพธรรมที่เกิดโดยอาศัยเจตสิกปรุงแต่งเกิดขึ้น แล้วก็ยังมีปัจจัยอื่นอีกมากเลยค่ะ มีปัจจัยมากเพื่อจะเกิดชั่วขณะสั้นๆ แล้วดับ คิดดู ไม่เหลืออะไรสักอย่างที่จะเป็นของเราได้ ได้ยินเมื่อกี้ดับแล้ว ไม่มีเรา ขณะที่ได้ยิน แต่ตอนที่กำลังได้ยินอยู่ ถ้าไม่รู้ความจริงว่าเป็นธรรมก็คือเรากำลังได้ยิน นี่คือเห็นผิด นี้คืออวิชชา เพราะฉะนั้นความเห็นถูกก็ไม่ใช่ตรงอื่น แต่ตรงสภาพธรรมที่กำลังมีจริงๆ แล้วก็เห็นถูกขึ้น ว่าขณะใดเป็นนามธรรม ขณะใดเป็นรูปธรรม

    ผู้ฟัง ที่อาจารย์อธิบายขณะนี้ก็เข้าใจนะครับ แต่เวลาจริงๆ เข้า ไม่เป็นอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ ก็แน่นอนค่ะ เพราะว่าจะเป็นอย่างนี้ ยังไม่ได้ ถ้าเป็นอย่างนี้ก็พระโสดาบัน แต่วันหนึ่ง ก็ถึงได้ ไม่ได้ห้ามเลยนะคะและไม่ได้บอกใครว่าถึงไม่ได้ แต่บอกทุกคนว่าไม่เร็ว

    ผู้ฟัง เข้าใจครับ ผมขอถามว่า ที่คำกล่าว ที่บอกว่าการเป็นพระโสดาบันนั้น ก็คงไม่จำเป็นว่า ต้องรู้อะไรมากนัก เพียงแต่ว่ารู้สึกในศีล ๕ แค่นั้นก็สามารถจะบรรลุธรรม

    ท่านอาจารย์ เป็นไปไม่ได้เลย

    ผู้ฟัง ตำราหลายเล่มเขียนไว้ คำบรรยายเขาเขียนไว้

    ท่านอาจารย์ ต้องดูในพระไตรปิฏกค่ะ

    ผู้ฟัง องค์ประกอบของการที่จะเป็นพระโสดาบันนั้น

    ท่านอาจารย์ องค์คุณของพระโสดาบันบุคคล กับองค์ที่จะทำให้รู้ธรรม เป็นพระโสดาบันบุคคลมี ๒ อย่าง โสตาปัตติยังค ๔ มี ๒ อย่าง

    อาจารย์นิภัทร ครับ ที่ว่าพระโสดาบัน ใช่ ท่านมีศีล ๕ บริสุทธิ์ ต้องเป็นพระโสดาบัน ศีล ๕ ถึงจะบริสุทธิ์ อย่างปุถุชนเราธรรมดา มีบ้างไม่มีบ้าง คือไม่ครบ แต่ถ้าพระโสดาบันแล้วศีล ๕ ของท่านเนี่ย ครบบริบูรณ์บริสุทธิ์ ไม่ใช่ว่ามีรักษาศีล ๕ บริสุทธิ์แล้ว ก็จะได้เป็นพระโสดาบัน ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ แน่ใจแล้วใช่ไหมว่าสำหรับพระโสดาบัน แล้วศีล ๕ ของท่านบริสุทธิ์ แต่ผู้ที่ศีล ๕ บริสุทธิ์ไม่ใช่พระโสดาบัน ได้ หรือว่าไม่ใช่เป็นพระโสดาบันบุคคลด้วยศีล ๕

    ผู้ฟัง ครับเข้าใจครับ คือเป็นศีลของพระโสดาบันที่บริสุทธิ์

    ท่านอาจารย์ พระโสดาบันศีล ๕ บริสุทธิ์แต่ไม่ใช่ท่านเป็นพระโสดาบันด้วยการมีศีล ๕

    ผู้ฟัง ครับ ต้องมีองค์คุณ

    ท่านอาจารย์ โสตาปฏิยังค ๔

    อาจารย์สมพร พระโสดาบัน เมื่อท่านตายแล้ว ท่านเกิดมาใหม่ท่านก็มีศีล ๕ อีก บริสุทธิ์ แต่ปุถุชนนี้ขณะนี้เราสามารถรักษาศีล ๕ ให้บริสุทธิ์ได้ แต่เกิดมาใหม่ ไม่แน่ว่าจะมีศีล ๕ บางทีก็เป็นอกุศลตั้งแต่แรกเลย ส่วนโสดาบัน ยังเกิดอยู่ตราบใด ศีล ๕ ของ ท่านก็ไม่ล่วงเลยแม้แต่ข้อเดียว จึงว่าพระโสดาบันมีศีลบริสุทธิ์

    ท่านอาจารย์ คุณศิลกัลคะ สติเป็นขันธ์อะไรคะ

    ผู้ฟัง สติเป็นเจตสิก

    ท่านอาจารย์ โดยปรมัตถ์เป็นเจตสิก เวทนาเจตสิกหนึ่ง เป็นเวทนาขันธ์สัญญาเจตสิกหนึ่ง เป็นสัญญาขันธ์ เจตสิกอื่นทั้งหมดที่เหลือ เป็นสังขารขันธ์ สติเป็นขันธ์อะไรคะ นี่คือประโยชน์ของการศึกษาธรรม เราจะไปคอยคิดว่า เราไม่เอา เราจะเอาเฉพาะสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่ว่าเราจะไม่เข้าใจละเอียดพอที่จะละความเป็นตัวตนได้ ใช่ไหม แต่ถ้าสติมีปัญญามี แล้วเป็นขันธ์อะไร เพราะอะไร แสดงให้เห็นว่าเราจะเริ่มเข้าใจสภาพธรรมในชีวิตประจำวันว่าเวทนาเกิดกับจิตทุกขณะ แล้วทุกคนต้องการแต่สุขเวทนา เพราะฉะนั้นเวทนานี้สำคัญมากในชีวิต ถ้าเกิดมาแล้วไม่มีเวทนาเจตสิกไม่ต้องขวนขวายอะไรเลย ใช่ไหม แต่เพราะเหตุว่ามีเวทนาเจตสิกซึ่งเป็นสภาพที่รู้สึกเกิดกับจิต แต่จิตไม่ใช่สภาพที่รู้สึก จิต เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ลักษณะของอารมณ์ที่ปรากฏ เป็นใหญ่ในการรู้เท่านั้นเอง แต่ไม่รู้สึก และไม่จำเลย สำหรับสภาพที่กำลังรู้สึกนั้น เป็นเจตสิกชนิดหนึ่ง คือเวทนาเจตสิก และทุกคนจะขาดเวทนาเจตสิกไม่ได้เลย ต้องเกิด แต่เมื่อเกิดแล้วไม่รู้ จึงต้องการแต่สุขเวทนา หรือโสมนัสเวทนา พอเกิดทุกขเวทนา หรือโทมนัสเวทนานี้ไม่ชอบแล้ว เดือดร้อนกันมากเลย นอนไม่หลับบ้าง อะไรบ้าง นี่คือโทมนัสเวทนา หรือทุกขเวทนาทางกาย เพราะฉะนั้นเวทนาเป็นสิ่งที่สำคัญจนกระทั่งเป็นเวทนาขันธ์ เจตสิกนี้เราแสวงหาทุกอย่างเพื่อให้เวทนาเจตสิกเกิดขึ้นเป็นโสมนัสเวทนา หรือเป็นสุขเวทนาทางกาย

    ส่วนสัญญาเจตสิกจะเห็นได้ว่าเป็นสภาพที่จำ เกิดกับจิตทุกประเภททุกขณะ โดยที่เราไม่รู้เลยว่าขณะที่จำนี้ เวลาเนี่ย รู้ว่าเป็นอะไร นี่คือจำ สัญญาเจตสิกจำ จิตไม่จำเลย จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้อย่างเดียว แต่ว่าสัญญาเจตสิก รู้ว่าเห็นอะไรนั่นคือสัญญาจำ

    เพราะฉะนั้นเวทนาเจตสิกหนึ่ง เป็นเวทนาขันธ์ สัญญาเจตสิกหนึ่ง เป็นสัญญาขันธ์ เจตสิกอื่นๆ ที่เหลือทั้งหมดเป็นสังขารขันธ์ สติเป็นขันธ์อะไร สังขารขันธ์ ปัญญาเป็นขันธ์อะไร เป็นสังขารขันธ์ โลภะ โทสะ โมหะ อโลภะ อโทสะ อโมหะ เมตตา กรุณา มุทิตา ทุกอย่างที่เหลือ ๕๐ ทั้งหมด เป็นสังขารขันธ์ แล้วเราค่อยๆ รู้ความจริงว่า เขามีลักษณะอย่างไรบ้าง ศรัทธา เป็นขันธ์อะไร สังขารขันธ์ มิจฉาทิฎฐิ ก็เป็นสังขารขันธ์ ก็ไม่มีเราใช่ไหมเพราะว่าเป็นธรรมแต่ละชนิดแต่ละลักษณะ ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยค่อยๆ พิจารณาแต่ละนามธรรม รูปธรรม ทั้งจิต เจตสิก รูป จนปัญญาค่อยๆ เห็นความจริงว่า ไม่มีตัวตน ยิ่งรู้มากยิ่งเห็นมากยิ่งเข้าใจมาก ก็ยิ่งเห็นความเป็นอนัตตา ตั้งแต่ขณะแรกที่เกิดขึ้นในโลกนี้ก็รู้แล้วว่าจิตประเภทไหนประกอบด้วยเจตสิกเท่าไหร่ มีรูปอะไรเกิดร่วมด้วย

    ผู้ฟัง ก็เรื่องจิตเราจะจำได้อย่างไร มีตั้ง ๘๙ หรือ ๑๒๑ ประเภท

    ท่านอาจารย์ เข้าใจก่อนสำคัญที่สุด ยังไม่ต้องไปจำ ยังไม่ต้องไปจด ยังไม่ต้องทำอะไรทั้งสิ้น ขอให้เข้าใจเข้าใจจริงๆ ว่าจิตนี่ต่างกับเจตสิก ทั้งๆ ที่เป็นนามธรรม เป็นสิ่งที่มีจริงๆ เป็นสภาพรู้ ไม่มีรูปร่างใดๆ เจือปนเลย ขอให้คิดถึงธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นธาตุรู้ เวลาที่เราใช้คำว่าธรรม หรือธาตุ เราไม่ได้เอามาเกี่ยวข้องกับตัวเรา ไม่เป็นเรา พอบอกว่าเป็นธาตุแต่ว่าจริงๆ แล้ว ไม่ใช่มีแต่เฉพาะรูปธาตุ นามธาตุก็มี และความต่างกันของรูปธาตุกับนามธาตุก็คือว่า รูปธาตุไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น แต่นามธาตุคือจิต และเจตสิก เมื่อเกิดขึ้นขณะใดต้องรู้สิ่ง หนึ่ง สิ่งใด เพราะฉะนั้น ในนามธาตุด้วยกันคือจิต และเจตสิกต่างกัน นี้แสดงให้เห็นว่า เราเริ่มจะเห็นความละเอียด เพราะว่าเราเคยพูดเรื่องใจ คนนั้นใจดี คนนั้นมีเมตตา ลักษณะต่างๆ ของจิตใจ แสดงว่ามีเจตสิกอะไรเกิดร่วมด้วย ทั้งๆ ที่เราไม่รู้เรื่องจิตเจตสิก แต่ลักษณะของเจตสิก ก็ต้องเกิดกับจิตนั้นๆ

    เวลาที่คนฆ่าสัตว์เรารู้เลยว่าคนนี้ไม่มีเมตตา ขณะนั้นมีโทสะ มีความที่ต้องการจะให้สิ่งนั้นพินาศ สูญสิ้นชีวิต ซึ่งเราจะไม่ฆ่าคนที่เรารัก หรือว่าคนที่เราติดข้อง แต่สิ่งไหนซึ่งเราไม่ชอบไม่พอใจเราจะทำร้าย หรือทำลายสิ่งนั้น แสดงให้เห็นว่าเจตสิกก็เกิดแต่เราไม่เคยรู้เลย ว่าเป็นเจตสิกอะไรบ้าง แต่เวลาที่ศึกษาแล้ว เราสามารถที่จะเข้าใจ เรียกว่าถ้าตามความเป็นจริงโดยขั้นศึกษาสามารถที่จะรู้ตั้งแต่เริ่มเกิดขณะแรกจนถึงตาย โดยละเอียดว่า มีเจตสิกอะไรเกิดบ้าง แต่ตัวจริงๆ ของเขาซึ่งเกิด และทำหน้าที่การงานแม้ว่าเป็นจริงอย่างนั้น แต่อวิชาไม่สามารถจะรู้ได้

    นี่แสดงให้เห็นว่าปัญญามีหลายขั้น ปัญญาขั้นฟังเรื่องราวของธรรม ก็เข้าใจเพียงเรื่องราว แต่ตัวจริงเวลานี้ธรรมเกิดดับ กำลังทำหน้าที่ของธรรมแต่ละอย่าง จิตเกิดขึ้นแต่ละชนิดทำกิจแต่ละอย่าง จิตเห็นทำอย่างอื่นไม่ได้เลย นอกจากเห็น จิตได้ยินทำอย่างอื่นไม่ได้เลย นอกจากจิตได้ยิน นี้ก็แสดงให้เห็นว่า ถ้าเราศึกษาจริงๆ แล้วก็รู้ความต่างกันของจิตเจตสิกแต่ละชนิด ตัวตนก็ไม่มี


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 11
    22 พ.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ