สนทนาธรรม ตอนที่ 078


    ตอนที่ ๗๘


    ท่านอาจารย์ จิตเห็น ทำอย่างอื่นไม่ได้เลยนอกจากเห็น จิตได้ยิน ทำอย่างอื่นไม่ได้เลยนอกจากจิตได้ยิน นี่ก็แสดงให้เห็นว่าถ้าเราศึกษาจริงๆ แล้วก็รู้ความต่างกันของ จิต เจตสิกแต่ละชนิด ตัวตน ก็ไม่มี เพราะว่าจิตเองก็เกิด และก็ดับ และเจตสิกที่เกิดกับจิต ก็ดับพร้อมจิตด้วย

    ผู้ฟัง ที่จะสังเกตได้ก็มี ๖ ทวารใช่ไหมครับ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย

    ท่านอาจารย์ ค่ะ เพราะเหตุว่าถ้าเรานอนหลับสนิทเราจะรู้อะไรขณะนั้น คิดนึกก็ไม่มี ฝันก็ไม่มี นั่นคือหลับสนิท แต่มีจิตไหม มีกี่ขันธ์ มีนามขันธ์เท่าไหร่ ขณะที่นอนหลับสนิท นามขันธ์

    ผู้ฟัง เป็นภวังคจิตใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ นามขันธ์ขณะที่นอนหลับสนิท จะใช้ชื่อว่าภวังค์ก็ได้ เพราะว่าขณะใดก็ตามที่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึก จิตเกิดขึ้นทำกิจภวังค์ เพราะว่าจิตทุกชนิดต้องมีกิจเฉพาะของเขา จิตนั้นไม่ได้เห็น จิตนั้นไม่ได้ยิน จิตนั้นไม่ได้คิดนึก แต่ทำภวังคกิจดำรงภพชาติสืบต่อขณะที่จิตเกิดขึ้น ดำรงภพชาติ หลับสนิท ไม่ฝัน ขณะนั้นมีนามขันธ์กี่นามขันธ์

    ผู้ฟัง มีวิญญาณขันธ์ครับ

    ท่านอาจารย์ เท่านั้นหรือ ถ้าใช้คำว่านามขันธ์ ไม่ได้ถามถึงจิตอย่างเดียว

    ผู้ฟัง ผมยังไม่เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ต้องทราบ ว่านามขันธ์ ๔ ไม่แยกจากกันเลย นี่เป็นสิ่งที่จะต้องเข้าใจ

    ผู้ฟัง เป็นวิญญาณขันธ์ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ จิตกับเจตสิก ต้องเกิดพร้อมกัน เจตสิกมี ๕๒ จิตมีหนึ่งก็จริง แต่ว่าเวลาที่แยกเป็นขันธ์ เวทนาต้องเกิดกับจิตทุกขณะ สัญญาต้องเกิดกับจิตทุกขณะ เจตสิกที่เป็นสังขารขันธ์เช่นผัสสะ เจตนา เหล่านี้ ต้องเกิดกับจิตทุกขณะ

    เพราะฉะนั้นจำไว้ก่อนว่า นามขันธ์ ๔ ไม่แยกกันเลย ไม่ว่าจะเกิดในอรูปพรหม ก็มีนามขันธ์ครบทั้ง ๔ จะมีนามขันธ์เพียง ๓ ไม่ได้ จะมีนามขันธ์ที่เกิดเพียง ๒ ไม่ได้ หรือจะมีเพียง ๑ นามขันธ์ไม่ได้ เพราะว่าจิตต้องเกิดกับเจตสิก และต้องครบทั้ง ๔ ขันธ์ด้วย กำลังนอนหลับมีกี่ขันธ์

    ผู้ฟัง มีขันธ์เดียวถูกต้องไหม

    ท่านอาจารย์ กำลังนอนหลับ ไม่มีจิตหรือ ขันธ์เดียวนั่นอะไร

    ผู้ฟัง วิญญาณขันธ์

    ท่านอาจารย์ แล้วไม่มีเจตสิกเกิดได้หรือ นามขันธ์ ๔ คือจิต และเจตสิกไม่แยกกันเลย แยกกันไม่ได้เลย จะรู้ หรือไม่รู้ก็ตาม แต่ว่านามขันธ์ ๔ ไม่แยกกัน แยกกันไม่ได้คือจิตกับเจตสิกต้องเกิดพร้อมกันทุกครั้ง และจิตเจตสิก ๒ อย่างจำแนกเป็น ๔ ขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ เพราะฉะนั้นต้องครบ ๔ ขันธ์ นามขันธ์ ๔ ไม่แยกกันเลย กำลังนอนหลับมีกี่ขันธ์

    ผู้ฟัง ๔ ขันธ์

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ถามถึงนามขันธ์ กำลังนอนหลับมีกี่ขันธ์

    ผู้ฟัง ผมไม่เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ทั้งหมดมีกี่ขันธ์

    ผู้ฟัง ๕ ขันธ์

    ท่านอาจารย์ ๕ ขันธ์ นามขันธ์ ๔ รูปขันธ์ ๑ กำลังนอนหลับมีกี่ขันธ์

    ผู้ฟัง ๕ ขันธ์

    ท่านอาจารย์ ต้อง ๕ ขันธ์ จะเอารูปหายไปไม่ได้ เวลานี้ค่ะคุณศีลกัลมีกี่ขันธ์

    ผู้ฟัง ๕ ขันธ์

    ท่านอาจารย์ เมื่อวานนี้มีกี่ขันธ์ เมื่อเช้านี้มีกี่ขันธ์

    ผู้ฟัง ๕ ขันธ์ หมายความว่า จะนอนหลับรก็มีครบ ๕ ขันธ์

    ท่านอาจารย์ รูปก็มี จิตก็มี เจตสิกก็มี นามขันธ์ ๔ นี้ไม่แยกกันเลย ก็ต้องครบ ๕ ขันธ์อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นภูมินี้ชื่อว่าปัญจโวการภูมิ ภูมิที่มีขันธ์ ๕ ในสวรรค์ มีกี่ขันธ์ เทวดามีกี่ขันธ์

    ผู้ฟัง มี ๔ รูปขันธ์ไม่มีครับ

    ท่านอาจารย์ เทวดา

    ผู้ฟัง เขาก็เป็นอรูปภูมิ

    ท่านอาจารย์ ต้องเฉพาะอรูปพรหมภูมิ ๔ ภูมิเท่านั้น ที่มีเพียงนามขันธ์ ๔ เพราะฉะนั้นขันธ์นี่ แบ่งเป็นเอกโวการภูมิ ภูมิที่มีขันธ์เดียวได้แก่อสัญญสัตตาพรหม มีเฉพาะรูปขันธ์ ถ้าขันธ์เดียวแล้วต้องเป็นรูปขันธ์ค่ะ จะเป็นนามขันธ์ไม่ได้ เพราะนามขันธ์ต้อง ๔ แยกกันไม่ได้

    คือธรรมมีเหตุผลตลอด แล้วก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เพราะเป็นการตรัสรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เพียงแต่ใช้คำที่ต่างๆ กันเท่านั้น อย่างคำว่า เอ กะ คือ ๑ โวการภูมิ ภูมิที่มีขันธ์๑ ต้องเป็นภูมิที่มีแต่เฉพาะรูปขันธ์ ขันธ์เดียวเท่านั้น ได้แก่อสัญญสัตตาพรหม แล้วก็มีภูมิที่มีขันธ์ ๔ ชื่อ จตุโวการภูมิ ะ ได้แก่อรูปพรหม ๔ นอกจากนี้แล้ว เป็นปัญจโวการภูมิคือภูมิที่มีขันธ์ ๕ ทั้งหมด นรกมีกี่ขันธ์ สัตว์ที่เกิดในนรก มี ๕ ขันธ์ รูปพรหมมีกี่ขันธ์

    ผู้ฟัง มี ๔

    ท่านอาจารย์ รูปพรหมแยกจากอรูปพรหมแล้วค่ะ พรหมมี ๒ พวก พวกหนึ่งเป็นรูปพรหม อีกพวกหนึ่งเป็นอรูปพรหม รูปพรหมมี ๕ ขันธ์ อรูปพรหมมี ๔ ขันธ์ คุณวีระอยากมีกี่ขันธ์

    ผู้ฟัง อยากมีครบ ๕ ขันธ์

    ท่านอาจารย์ สมความปรารถนา ไม่สามารถจะมีเพียง ๑ ขันธ์ หรือ ๔ ขันธ์ ได้เลย ตราบใดที่ยังอยากมี ๕ ขันธ์ ก็สมความปรารถนา คือต้องมี ๕ ขันธ์ ไม่อยากจะลดลงไปบ้างเลยหรือ

    ผู้ฟัง เวลากรวดน้ำนี่ก็มีขันธ์ ๑ ขันธ์ ๕ และขันธ์ ๔ สงสัยว่า ขันธ์ ๓ ขันธ์ ๒ ไม่มี เพิ่งเข้าใจวันนี้

    ท่านอาจารย์ ตอนนี้ทราบแล้ว

    ผู้ฟัง จิตไม่ใช่ตัวจำ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ที่จำเป็นเจตสิก เป็น สัญญาเจตสิก

    ผู้ฟัง บางคนสามารถจำได้มาก จำได้น้อย จำไม่ได้เลย อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัย

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องมีปัจจัย บางคนฉลาดมาก บางคนฉลาดน้อย ก็ต้องมีเหตุปัจจัย บางคนมีสติมาก มีสติน้อย ก็ต้องมีเหตุปัจจัย สัญญาคือจำได้ จำน้อยก็เหมือนกัน แต่จริงๆ แล้ว สัญญาเจตสิกเป็นสภาพที่จำ ไม่ใช่เป็นสภาพที่ไม่จำ แต่จำแล้วจะตรึก ระลึก นึกถึงได้ หรือเปล่านั่นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะการนึกถึงไม่ใช่สัญญาเจตสิก แต่เป็นวิตกเจตสิกอีกชนิดหนึ่ง

    สัญญาจำไม่ต้องมีใครใช้ จำเกิดขึ้นต้องจำ มีหน้าที่จำ มีลักษณะจำ นั่นคือสัญญาเจตสิก ใครใช้ได้ไหม ใช้สัญญาให้จำได้ไหม ไม่ได้ เพราะว่าสัญญามีลักษณะจำ ดขึ้นทำหน้าที่จำ และสัญญาต้องจำทุกขณะจิต แต่เมื่อจำแล้วจะตรึกหรือนึกถึงได้ หรือเปล่านั่นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะว่าการตรึกหรือนึกถึงไม่ใช่สัญญาเจตสิก แต่เป็นวิตกเจตสิก ที่เราบอกว่าจำไม่ได้ ความจริงเรานึกไม่ได้

    ผู้ฟัง บางคนที่ระลึกชาติได้ก็ดี หรือจำได้มากน้อย บางคนบอกว่า เอาตัวเข้าสู่ตัว ตัวจิตที่กำลังจะดับ ที่จะสิ้นลม

    ท่านอาจารย์ แล้วอย่างนั้นเป็นภวังคจิตไหม

    ผู้ฟัง เข้าสู่ภวังค์จิต อยู่ตรงนั้น

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ค่ะ ภวังคจิตคืออะไร คือทุกครั้งที่เราใช้คำไหน ขอให้เข้าใจคำนั้นจริงๆ ถ้าไม่ตรงตามพระไตรปิฎกก็นึกเอาเองหมด จะเขียนว่าอย่างไร ก็นึกเอาเองหมด นึกว่าภวังค์เป็นอย่างนั้น ภวังค์เป็นอย่างนี้ แต่ตามความเป็นจริง ภวังคจิตมาจากคำว่า ภว หรือ ภพ กับ อังคะ ใช่ไหมคะอาจารย์สมพร

    อ.สมพร ครับ ภวังค์ มาจาก ภว กับ อังค ถูกแล้วครับ

    ท่านอาจารย์ อาจารย์ ช่วยแปล ภว กับ อังคะ

    อ.สมพร คือ เราต้องขยายความ หมายว่า อังคะ คือองค์ องค์แปลว่า ส่วน ภว ก็มีความหมายหลายอย่าง องค์ของการเกิด คือมาจากปฏิสนธิ เป็นส่วนหนึ่งที่ยังมีอยู่ แม้ว่าปฏิสนธิดับไปแล้ว ก็ยังเหลืออยู่เป็นวิบากจิต เพราะฉะนั้นภวังคจิตก็คือดำรงภพชาติ ยังไม่เคลื่อนจากภพนี้ไป ยังไม่จุตินั่นเอง ยังเป็นไปนานเหลือเกินแล้วแต่กำลังของกรรม

    ท่านอาจารย์ จิตมีหลายประเภท ในจิต ๘๙ หรือ ๑๒๑ ดวง แบ่งโดย ๒ โดยกิจหน้าที่ ว่าจิตใดก็ตามที่ไม่ได้ทำกิจ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คือไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึก จิตนั้นทำภวังคกิจ

    คำว่าภวังค์เป็นชื่อกิจการงานของจิต เพราะว่าขณะแรกคือ ขณะที่จิตเกิด เป็นปฏิสนธิจิต สืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน ทำกิจนี้ แต่ทำกิจนี้เพียงครั้งเดียว ปฏิสนธิจิตของทุกคนไม่มีโอกาสจะเกิด ๒ ครั้งในชาติหนึ่ง เกิดได้เพียงครั้งเดียวคือขณะแรกที่สุด สืบต่อมาจากจุติจิตของชาติก่อน แสดงให้เห็นว่าการเกิดดับของจิตไม่มีระหว่างคั่น คือต้องเกิดแล้วก็ดับ และก็เกิดแล้วดับ

    ขณะที่ตาย จุติจิตดับ ปฏิสนธิจิตเกิดทันที แสดงว่าตายปุ๊บก็เกิดปั๊บทันที และเมื่อจิตที่เป็นปฏิสนธิทำหน้าที่เกิดขึ้นเป็นขณะแรกแล้วดับ เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนั้น ยังไม่เห็น ยังไม่ได้ยิน ยังไม่ได้กลิ่น ยังไม่ลิ้มรส ยังไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสใดๆ ยังไม่ได้คิดนึก

    ขณะใดขณะนั้นเป็นภวังคจิต หมายความว่ากรรมทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดเพียงขณะเดียวไม่พอ กรรมนั้นยังทำให้ภวังคจิตเกิดสืบต่อดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนั้นอยู่ คือยังไม่ให้ตาย จนกว่ากรรมนั้นจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ จุติจิตก็เกิด ทำกิจเคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้ แต่ช่วงระยะระหว่างที่ยังไม่ตาย กรรมอื่นก็ยังมีโอกาสที่จะให้ผล คือทำให้จิตเห็นเกิดขึ้น จิตได้ยินเกิดขึ้น จิตได้กลิ่นเกิดขึ้น จิตลิ้มรสเกิดขึ้น จิตรู้สิ่งที่กระทบกายเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นเราต้องแยกธรรมหรือว่าจิต คือ จิตที่เป็นเหตุกับจิตที่เป็นผล ถ้าแยกโดย ๒ อย่างง่ายๆ ก็คือว่าขณะใดที่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึก คือไม่รู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทาง ขณะนั้นจิตทำกิจภวังค์

    ผู้ฟัง สิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้ว ลืมไปแล้วก็ตามแต่ จะกลับมาได้หมดใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่มีทางกลับมา

    ผู้ฟัง ไม่ใช่ ความจำทั้งหลายที่เราเคยจำ จะกลับมา

    ท่านอาจารย์ ไม่กลับมา

    ผู้ฟัง แล้วก็จะเกิดปรากฏกลับมา

    ท่านอาจารย์ ไม่มีอะไรกลับมา กลับไม่ได้ ไปแล้วไปเลย นี่คือเป็นอนัตตา

    ผู้ฟัง หมายความว่า คนเวลาจะดับจิต

    ท่านอาจารย์ เวลาจุติจิตจะเกิดจะตาย

    ผู้ฟัง บางคน ทำไมถึง สิ่งทั้งหลายเคยทำดี ทำชั่ว ทำชอบอะไรก็แล้วแต่..

    ท่านอาจารย์ นี่คือเรื่องราวของจิต ซึ่งเกิดดับสืบต่อกัน แต่ให้ทราบว่าตัวจริงนั้นคือจิตเกิดขึ้นขณะหนึ่ง และดับ จิตขณะต่อไปก็เกิดแล้วก็ดับ ขณะต่อไปก็เกิด และก็ดับเหมือนขณะนี้ เพราะว่าเรามองดูเหตุการณ์คนนั้นถูกรถชนตาย ก็พูดอย่างนี้ แต่เราไม่ได้พูดถึงจิตทีละหนึ่งขณะซึ่งเกิดดับ สืบต่อกัน ความจริงแล้วถ้าไม่มีจิตเกิดขึ้นทีละหนึ่งขณะ จะมีคนนั้นถูกรถชนตายไหม แต่ที่ยังเป็นคนอยู่เพราะว่ามีจิตเกิดอยู่ทีละหนึ่งขณะ ทำให้มีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้น ที่เราบอกว่ามีเรื่องราวมากมาย คนนั้นถูกลอตเตอรี่ ๔๘ ล้าน หรือว่าคนนั้นทำอะไรก็ตามแต่ เป็นเรื่องราวต่างๆ เพราะจิตเกิดขึ้นทีละหนึ่งขณะ ถ้าจิตดับแล้วไม่เกิดอีกเลย เรื่องราวทั้งหมดไม่มี แต่ตราบใดที่จิตยังเกิดดับสืบต่อกันอยู่ เราก็คิดถึงเรื่องราวทั้งเรื่อง แต่ความจริงที่เรื่องราวจะมีได้ เพราะมีจิตเกิดขึ้นทีละหนึ่งขณะ

    ผู้ฟัง ที่จิตจำได้หมด ทบทวนได้เพราะเกิดภวังค์ที่เรียกว่าภวังคจิตนั้นเอง ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ จิตเกิดขึ้นขณะเดียว ภวังคจิตคือขณะที่ไม่ได้คิด

    ผู้ฟัง เมื่อจิตอยู่ในตัวว่างจากอารมณ์ทั้งหลาย

    ท่านอาจารย์ จิตไม่เคยว่างจากอารมณ์ จิตว่างจากอารมณ์ไม่ได้ ต้องแยกหน้าที่ของจิตกับเจตสิก จิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์เท่านั้น ไม่ได้ทำหน้าที่จำ ไม่ได้ทำหน้าที่รู้สึก ไม่ได้ทำหน้าที่คิดนึก วิตก วิจาร อะไรทั้งสิ้น แต่สัญญาเจตสิกเป็นสภาพจำ เกิดขึ้น และก็จำแล้วก็ดับคะ สัญญาไม่มีหน้าที่คิด

    ผู้ฟัง ดับไปก็จำได้อีก

    ท่านอาจารย์ จิตขณะใหม่ จิตขณะต่อไป สืบต่อๆ แต่ไม่ใช่อันเก่ากลับมา ไม่มีการกลับมา เข้าใจหรือยัง ไม่มีการกลับมา เวลาที่จะนึกไม่ใช่สัญญาเจตสิก แต่เป็นวิตกเจตสิก ที่บ้าน ในตู้เสื้อผ้าลองคิดถึงเวลานี้มีเสื้อตัวไหนบ้าง คิดได้กี่ตัว นี่คือวิตกเจตสิก สัญญาก็จำ แล้วแต่ว่าวิตกเขาจะตรึกหรือนึกถึงอะไร เขาไม่นึกถึงเสื้อผ้า เขานึกถึงอย่างอื่น แต่ก็เป็นสภาพที่ตรึก

    เพราะฉะนั้นจึงมีเจตสิก ๕๒ ซึ่งไม่ก้าวก่ายกันเลย สัญญาจำคือจำ แต่วิตก ตรึก ไม่ใช่จำแต่ตรึก หรือนึกถึงสิ่งที่สัญญาจำ เพราะถ้าสัญญาไม่จำ วิตกก็ตรึกไม่ได้ในสิ่งที่ไม่ได้จำไว้ ใช่ไหม แต่สิ่งใดก็ตามที่แข็ง หรือจะใช้คำว่าอ่อนก็ได้ นั่นเป็นลักษณะของธาตุดิน คือมีลักษณะปรากฏเมื่อกระทบสัมผัสที่กายของเรา กระทบสัมผัสก็จะมีอ่อน หรือแข็ง แล้วอาจจะไม่เคยเรียกว่าธาตุดินเลย แต่ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏที่มีจริง ที่กำลังกระทบนั้นเป็นตัวธาตุคือเป็นสิ่งที่มีสภาวะลักษณะ ที่เราใช้คำว่าดิน คืออ่อนหรือแข็ง เพราะฉะนั้นที่ตัวนี้มีธาตุดิน คืออ่อนหรือแข็ง ถ้าเราไม่ใช่คำว่าธาตุดิน เราก็บอกว่าที่ตัวเรามีอ่อนหรือมีแข็ง แต่อ่อนหรือแข็งเป็นธาตุ แล้วก็แข็งหรืออ่อนนั้นเราใช้คำว่าธาตุดิน ถ้าไม่ใช่คำว่าธาตุดิน จะไม่เรียก หรือจะเรียกก็ได้ หรือจะเปลี่ยนชื่อก็ได้ แต่ธาตุอ่อนหรือธาตุแข็งนั้นเป็นสิ่งที่มีลักษณะปรากฏชนิดหนึ่ง ที่ปรากฏเมื่อถ้าตัวเราร้อน ตากแดด หรือว่าเกิดความรู้สึกอุณหภูมิสูงเป็นไข้ตัวร้อน ขณะนั้นก็เป็นธาตุอีกชนิดหนึ่ง เราจะเรียกชื่ออะไรก็ตาม แต่จะเปลี่ยนชื่อเสียจากภาษาบาลีมาเป็นภาษาไทยว่าธาตุร้อน หรือธาตุไฟ แต่ว่าภาษาบาลีใช้คำว่าเตโชธาตุ นี่คือชื่อต่างๆ ที่ใช้เรียกธาตุ หรือสิ่งที่มีจริงนั้นเอง

    เพราะฉะนั้น ๒ ธาตุ นี้ก็ปรากฏแล้วเมื่อกระทบกับกาย แต่ว่าที่ตัวของเรา บางเวลาก็มีการไหวนะคะ กลืนสิ่งหนึ่งสิ่งใดลงไป ไม่ใช่มีแต่อ่อนหรือแข็งแต่มีอาการที่เคลื่อนไหวด้วยลักษณะนั้นเป็นลักษณะของธาตุลม ไม่เรียกชื่อก็ได้ แต่มีอาการอย่างนั้นปรากฏ คืออาการเคลื่อนไหว ซึ่งถ้าไม่มีธาตุลมแล้วจะไหวหรือจะเคลื่อนไปไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้นลักษณะอาการของธาตุที่เคลื่อนไหวไป ลักษณะนั้นเป็นลักษณะเราใช้คำว่าธาตุลมในภาษาไทย แต่ก็คือวาโยธาตุในภาษาบาลี เพราะฉะนั้นเวลาพูดถึงธาตุ หมายความถึงสิ่งที่มีจริง แล้วก็ใช้ชื่อเรียกแล้วแต่ว่าจะเป็นภาษาบาลี หรือภาษาไทย ทีนี้มาถึงน้ำที่เราอาบ เราเคยชินว่าเราอาบน้ำบ้าง เราดื่มน้ำบ้าง แต่จริงๆ ถ้าไม่กระทบสัมผัสกายจะมีธาตุ ๓ ธาตุ ที่ปรากฏไหมคือธาตุดินบ้าง ธาตุไฟบ้าง หรือธาตุลมที่ไหวบ้าง ส่วนธาตุน้ำไม่ปรากฏ เพราะเหตุว่าไม่ใช่วิสยรูป จึงปรากฏว่ารูปซึ่งเป็นเครื่องผูกพันทางตา หู จมูก ลิ้น กาย นั้นมีเพียง ๗ รูป ทางตา ๑ รูป คือสีสันวรรณะต่างๆ ส่วนที่กำลังปรากทางหู ๑ รูป คือเสียง ทางจมูก ๑ รูป คือกลิ่น ทางลิ้น ๑ รูป คือรส ทางกาย คือธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม สิ่งที่สามารถจะกระทบ และปรากฏทางกายได้มีเพียง ๓ เท่านั้นเอง คือธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม ส่วนธาตุน้ำไม่สามารถที่จะกระทบกาย เพราะเหตุว่าธาตุน้ำเป็นธาตุที่เกาะกลุ่มซึมซาบ เอิบอาบที่ทำให้รวมธาตุทั้ง ๓ เข้าด้วยกัน เพราะฉะนั้นธาตุทั้ง ๔ ไม่แยกจากกันเลย เพราะว่ามีธาตุน้ำทำหน้าที่เกาะกุมไว้ เพราะฉะนั้นเวลาที่กระทบสัมผัส จะกระทบสัมผัสส่วนที่แข็ง หรือว่าส่วนที่ร้อน หรือว่าส่วนที่ไหว แต่ว่าไม่สามารถกระทบธาตุซึ่ง เกาะกุุมธาตุทั้ง ๓ นี้อยู่ คือธาตุน้ำ เพราะฉะนั้น ธาตุน้ำในความหมายของธรรม เราใช้คำว่าน้ำ จริง แต่ไม่ใช่น้ำที่ดื่ม หรือว่าไม่ใช่น้ำที่เราใช้อาบ

    ผู้ฟัง รูปธาตุกับนามธาตุ ธาตุ ๒ อย่างนี่เหมือนกันไหมคะ

    ท่านอาจารย์ ต่างกันลิบลับ หรือต่างกันโดยเด็ดขาดะ แยกจากกันเลย คือรูปธาตุไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น นี่ใช้คำว่ารูป คือสภาพธรรมนั้นมีจริง เกิดขึ้น มีลักษณะเฉพาะของเขา แต่ว่าเขาไม่สามารถที่จะรู้อะไรได้ อย่างกลิ่น หรือเสียง หรือแข็ง ใครจะตี ใครจะกระทบ ใครจะทำอย่างไรก็ตาม เขาไม่รู้สึกเลย ไม่มีความรู้สึก ไม่มีลักษณะรู้ เป็นรูปธาตุ

    แต่ส่วนนามธาตุค่ะ เกิดที่ไหน วันไหน เมื่อไหร่ ขณะไหน ภพไหน ภูมิไหน เมื่อเกิดต้องรู้สิ่ง หนึ่งสิ่งใด เป็นธาตุที่ต้องรู้ เพราะฉะนั้นที่ว่าเป็นคนนี่ ก็ต้องมีทั้งรูปธาตุ และนามชาติ ถ้าเป็นอรูปพรหมก็มีแต่เฉพาะนามธาตุไม่มีรูปธาตุ ถ้าเป็นเทวดาก็มีทั้งรูปธาตุ และนามธาตุ แต่โดยสภาวะตามความเป็นจริงคือ คนไม่มี แต่มีธาตุ เมื่อมีธาตุ แล้วความไม่รู้จึงคิดว่าธาตุนั้นเป็นคน หรือคิดว่าธาตุนั้นเป็นนก คิดว่าธาตุนั้นเป็นมด เพราะเหตุว่ามีรูปปรากฏแล้วก็เป็นสัตว์ด้วย เพราะเหตุว่ามีนามธาตุด้วย แค่รูปธาตุอย่างเดียวไม่ชื่อว่าสัตวโลก ก็เป็นแต่เพียงสิ่งซึ่งมี แต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้ แต่สัตวโลกต้องเป็นนามธาตุด้วย และรูปธาตุด้วยเว้นภูมิเดียว คือ อสัญญสัตตาพรหมซึ่งไม่มีนามธาตุเกิดในขณะที่ดำรงอยู่ในภพนั้น ตามกำลังของปัญจมฌาน ซึ่งหน่ายในนามธรรม เพราะฉะนั้นก็มีแต่รูปธรรมเกิด ซึ่งเป็นภูมิพิเศษ แต่ว่าก่อนนั้นก็ต้องมีนามธาตุ และรูปธาตุทั้ง ๒ อย่าง จึงสามารถจะมีแต่เฉพาะรูปปฏิสนธิในอสัญญสัตตาพรหมภูมิได้ แต่จริงๆ แล้วทุกคนต้องเข้าใจความต่างกัน แยกกันโดยเด็ดขาดของนามธาตุ และรูปธาตุ

    ผู้ฟัง ธาตุในที่นี้หมายถึงมหาภูตรูป ไช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ธาตุหมายความถึงสิ่งที่มีจริง ซึ่งมี ๒ อย่าง สิ่งที่มีจริงที่เป็นนามธาตุอย่าง ๑ ที่เป็นรูปธาตุอย่าง ๑ รูปธาตุทั้งหมดมี ๒๘ โดยที่มีรูปที่เป็นใหญ่ ๔ รูป คือมหาภูตรูป ๔ เพราะว่าถ้าไม่มีมหาภูตรูป ๔ กลิ่นก็มีไม่ได้ รสก็มีไม่ได้ รูปอื่นๆ ก็มีไม่ได้

    ผู้ฟัง พวกเราบางครั้งก็ยังน้อมนำมาพิจารณาธรรมแล้ว แต่ยังน้อมนำมาที่จะมาประพฤติปฏิบัติในตัวนี้ยังไม่ได้ นขอเรียนถามท่านอาจารย์สุจินต์ว่า ช่วยแนะนำอย่างไรดีว่าให้นำเอา ธรรมเหล่านี้เข้ามาอยู่ในตัวเรานี้เพื่อมีความอดทนได้

    ท่านอาจารย์ คือพูดไปพูดมา อย่างไรก็ทำไม่ได้ทั้งนั้น นี่เป็นความจริง ไม่ว่าเราพูดกันมาตั้งอาจจะ ๑๐ นาทีแต่จริงๆ แล้วก็ไม่มีใครทำอะไรได้สักอย่างเดียวทั้งๆ ที่ฟังแล้วจะรู้คุณประโยชน์ของธรรมแต่ละข้อ ก็เป็นเรื่องที่ว่าต้องขึ้นอยู่กับปัญญาตามลำดับขั้นะ เราจะพูดอย่างนี้ทั้งวันทั้งคืน ๑๐ ปี ก็ยังทำไม่ได้อยู่นั่นแหละ

    เพราะว่าปัญญาของเราไม่ถึงระดับขั้นที่จะพร้อมด้วยสติที่จะระลึกได้ ก็เป็นเรื่องที่ว่าขันติ เป็นความอดทนจริงๆ แม้แต่ว่ากิเลสมีมาก แล้วก็ความโกรธ ความทุกข์ของแต่ละคน ก็ไม่มีใครจะไปเปลี่ยนแปลงได้ อย่างคนที่สามีถูกตัดเท้า และเขาก็กำลังเป็นทุกข์ เราจะไปบอกให้ใจเขาเป็นสุข ให้คิดอย่างนั้น คิดอย่างนี้ มันก็เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นขันติความอดทน อดทนจนกว่าจะมีปัญญา ถ้าไม่มีปัญญาแล้วก็ไม่มีอะไรที่จะละคลาย หรือบรรเทากิเลสได้


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 11
    7 มิ.ย. 2567

    ซีดีแนะนำ