สนทนาธรรม ตอนที่ 079
ตอนที่ ๗๙
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีปัญญาแล้วก็ ไม่มีอะไรที่จะละคลาย หรือว่าบรรเทากิเลสได้ ก็เลยสนใจเรื่องของขันติต่อว่า ขันติคงจะไม่ได้จำกัดแต่เฉพาะความอดทน เวลาที่มีคนอื่นมากล่าวร้าย หรือว่ามาว่าเรา แต่ว่าต้องเป็นความอดทนทุกอย่าง เพราะว่าถ้าไม่มีความอดทนจริงๆ นี่คะ ชีวิตในวันหนึ่งๆ ก็คงจะอยู่ไม่ได้
แต่ว่าที่เราจะอยู่สุขสบายมากน้อยเท่าไหร่ ก็คงจะต้องขึ้นกับว่า เรามีความอดทนต่อทุกสิ่งทุกอย่างได้มากแค่ไหน อย่างคนที่มีทุกอย่างแล้วนะคะ ก็ดูเหมือนสบายดี แต่อาหารบนโต๊ะ ไข่มันไม่สุกนี่คะ เท่านี้ค่ะ เดือดร้อนแล้วใช่ไหมคะ แต่ถ้าเป็นคนที่อดทนได้มากกว่านั้น คือไม่ว่าข้าวจะแข็งไปหน่อยหนึ่ง หรือว่าอาหารนั้นจะเปลี่ยนรสชาติไปนิดหนึ่ง
แต่เราก็ไม่มีจิตใจที่จะลำบาก หรือว่าเป็นทุกข์ในขณะนั้น เพราะเหตุว่าขันติความอดทนเกิด ขันตินี่อาจจะหลายอย่างนะคะ คืออภัยให้กับคนที่ทำ เพราะว่าบางคนแทนที่จะคิดถึงเรื่องเหตุปัจจัยว่าทำไมอาหารอย่างนั้นถึงได้เป็นอย่างนี้ ก็อาจจะกลับไปโกรธคนทำก็ได้นะคะ ว่าวันนี้เป็นยังไงทำไม่อร่อย หรืออะไรอย่างนี้ค่ะ
นี่ก็แสดงให้เห็นว่าตลอดชีวิตของเราถ้ามีขันติในทุกอย่างเพิ่มขึ้น โดยที่เราเห็นคุณประโยชน์ของความอดทนว่าทุกอย่างที่จะสำเร็จได้โดยเฉพาะกิเลส หรืออกุศลถ้าไม่มีความอดทนที่จะเจริญกุศล จิตก็ต้องเป็นอกุศล และกุศลทุกอย่างไม่เหมือนกับอกุศลนะคะ เพราะเหตุว่า อกุศลไม่ต้องทำอะไรก็เจริญอยู่แล้ว
โลภะทั้งวันนะคะ ไม่ต้องทำอะไรเลยโทสะก็เหมือนกันนะคะ พร้อมที่จะโกรธเสมอนิดนึงก็โกรธได้ ถึงไม่โกรธแต่ก็ขุ่นใจในบางอย่างที่เรามองเห็นนะคะ ก็ได้ เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้จริงๆ ค่ะว่าถ้ามีปัญญา หรือว่ามีกุศลเกิดขึ้นขณะใด ขณะนั้นจะไม่มีอกุศล ต้องเห็นความต่างกันของกุศลจิตกับอกุศลจิต หรือกุศลธรรมกับอกุศลธรรม ที่เป็นอย่างนี้ก็ต้องเป็นตัวปัญญาอีกที่จะเห็นได้
เพราะฉะนั้นคนที่มีทรัพย์ประเสริฐคือผู้ที่มีปัญญา เพราะเหตุว่าถ้าปราศจากปัญญานะคะ มีทุกอย่างครบถ้วนสมบูรณ์แต่เป็นทุกข์ มีทุกอย่างแต่โกรธ ไม่มีความสุขเลย มีความไม่สบายใจหลายอย่าง แล้วก็ยังมีโลภะมากๆ ด้วย มีอะไรมากๆ ด้วย ก็แสดงให้เห็นว่าอกุศลทั้งหลายนี่คะ เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ทั้งสิ้น
แต่ที่จะเห็นประโยชน์ของกุศลก็ต้องเป็นปัญญาที่เห็น อย่างที่เราฟังพระธรรมทั้งหมดนี่นะคะ เพื่อความเข้าใจถูกต้องในสภาพธรรม เพื่อปัญญาขณะที่ฟัง ให้มีปัญญาเกิดขึ้น และถ้ามีใครมีความเข้าใจจริงๆ นะคะ ปัญญาอันนั้นก็จะทำให้กุศลทั้งหลายเจริญขึ้น รวมทั้งขันติด้วย แต่ที่จะหวังพูดอย่างนั้นพูดอย่างนี้ และให้คนโน้นคนนี้มีขันตินี่ค่ะ เป็นไปไม่ได้เลยค่ะนอกจากว่าพูดให้เขาเกิดความเข้าใจเป็นลำดับขั้น แม้แต่การที่จะเห็นประโยชน์ของความอดทนด้วยกุศล เพราะความอดทนก็เป็นกุศลอย่างหนึ่ง ถ้าอดทนแล้วกุศลจิตเกิด ขณะนั้นก็เป็นกุศล
ผู้ฟัง ทีนี้ขอวนเข้ามาในความกลัว ดิฉันเข้าใจว่าความกลัวนี้ก็ต้องมีความอดทนเหมือนกันใช่ไหมคะ
ท่านอาจารย์ ค่ะ เพราะเหตุว่าไม่มีปัญญาจึงกลัว กลัวอะไรคะ ในเมื่อก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่ปรากฏ เพราะไม่รู้จึงกลัว แต่ถ้ามีปัญญาแล้วก็ไม่กลัวค่ะ ไม่ว่าจะกลัวผี หรือกลัวอะไรก็ตามแต่ ถ้ารู้ว่าเป็นธรรม จะกลัวอะไร
ผู้ฟัง ทีนี้ ถ้าสมมติว่าเพื่อนกำลังจะเข้าผ่าตัดก็กลัวไปว่า อาจจะมีอันตราย หรืออะไรก็จะเตือนตัวเองได้ยังไงให้มีความสุข ที่จะ ก่อนที่จะทำการผ่าตัด หรือว่าเข้าไปรักษาตัว
ท่านอาจารย์ เรื่องเดียวกันหมดเลยคะ คือใครก็ทำอะไรไม่ได้นะคะ เมื่อความกลัวจะเกิดมีเหตุให้กลัวก็กลัว บอกยังไงก็ต้องกลัวโดยเฉพาะถ้าสะสมความกลัวมาแล้วนะคะ ความกลัวก็ต้องเกิด จะไม่ให้เกิดนี่ไม่ได้ เพราะฉะนั้นปัญญาอย่างเดียวนะคะ
อย่าหวังอะไรเลยทั้งสิ้นค่ะ อย่าหวังว่าจะไม่กลัว อย่าหวังว่าจะไม่เจ็บ อย่าหวังว่าจะไม่ทุกข์ หรือว่าอย่าหวังว่าจะไม่โกรธ เป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าอบรมเจริญปัญญาขึ้นเรื่อยๆ ปัญญานั่นเอง จะทำหน้าที่ของปัญญาคือไม่กลัว แต่ถ้าไม่มีปัญญาแล้วจะไปพูดสักเท่าไหร่ให้ไม่กลัวก็ต้องกลัวค่ะ ฟังดูรู้สึกเสียวๆ หรือว่าคนที่กำลังจะต้องถูกผ่าตัดนี้ก็เริ่มจะกลัวแล้วว่าไม่มีอะไรจะช่วยได้
แต่ความจริงต้องเป็นความจริงนะคะ สัจจธรรมคือสัจธรรม เราไม่หวัง ถ้าจะกลัวเกิดเหมือนขนาดนี้ค่ะ จะกลัวได้ไหม ขณะนี้จะโกรธได้ไหม ถ้ามีอะไรสักอย่างที่ปรากฏที่น่ากลัวขณะนี้ แล้วทุกคนฟังธรรมนี้แล้วบอกว่าไม่ให้กลัว เป็นไปได้ไหมคะ สมมติว่าจะมีระเบิด หรือว่าจะมีอะไรก็ตามที่น่ากลัวปรากฏที่นี่ ทั้งๆ ที่ฟังเมื่อกี้นี้ว่าอย่ากลัว ก็ไม่มีใครไปห้ามว่าไม่กลัวเกิดขึ้น
เพราะฉะนั้นที่ดีที่สุดคือไม่หวัง อะไรจะเกิดก็เกิด อันนี้แน่นอนที่สุดค่ะ เพราะฉะนั้นก็มีทางเดียวคืออบรมเจริญปัญญาขึ้น ฟังแล้วก็เหมือนไม่มีอะไรปลอบใจ แต่ถ้าสิ่งที่จะให้ไปปลอบใจ ไม่ใช่สิ่งที่จะปลอบใจได้จริงๆ ให้ไปก็ไม่มีประโยชน์ ให้ความจริงดีที่สุดค่ะ ว่าต้องเป็นเรื่องของปัญญา เพราะฉะนั้นการฟังคำทั้งหมดนี่นะคะ อย่างวันนี้ก็มีคนที่อยากจะเข้าใจเรื่องของการปฏิบัติธรรม เพราะว่าเคยได้ยินเรื่องของสติปัฎฐาน
เคยได้ยินเรื่องของมรรคมีองค์ ๘ และก็อยากจะเข้าใจว่า จะทำยังไง นี่ก็แสดงให้เห็นว่าเราจะต้องตั้งต้นกันใหม่จริงๆ นะคะ ให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า การปฏิบัติธรรมหรือการศึกษาธรรมเพื่ออะไร มิฉะนั้นก็หวังว่าพอศึกษานิดเดียว เราจะเก่งมากนะคะ อะไรจะเกิดขึ้นก็ไม่กลัว ผ่าตัดก็ไม่กลัว อะไรก็ไม่กลัว นั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
ถ้าฟังธรรมอยู่ก็ดีนี่คะ หมายความว่าการฟังธรรมเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดปัญญา เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะโอกาสไหนทั้งสิ้นค่ะ ถ้าเห็นคุณประโยชน์อย่างเวลาที่จะผ่าตัดก็ตาม หรือว่าหลังจากผ่าตัดแล้วก็ตามนะคะ ถ้ามีโอกาสที่จะได้ฟังพระธรรมก็ขอเพียงโอกาสฟัง เพื่อว่าขณะนั้นนะคะ กำลังฟังอยู่กุศลจิตก็เกิด แล้วก็เป็นปัจจัยให้มีความศรัทธามั่นคงในสิ่งที่ได้ยินได้ฟังว่าทุกอย่างเป็นอนัตตา อะไรจะเกิดก็เกิด แล้วก็มีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจริงๆ ให้เห็นความเป็นอนัตตาด้วย
ผู้ฟัง เรียนถามท่านอาจารย์เลยว่า การฟังธรรมแล้วเข้าใจนั้นนะครับ เป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ ความเข้าใจตัวนี้ มีขอบเขต หรือความกว้างขวางมากน้อยสักแค่ไหนครับ
ท่านอาจารย์ คือเราใช้ชื่อภาษาบาลีนะคะ มหากุศล และ ญาณสัมประยุตต์ คนที่มาวันนี้เพิ่งมาครั้งแรกทราบว่ามีหลายท่านทีเดียวแล้วก็มาจากจังหวัดอื่นด้วย แล้วไม่เคยฟังเลยค่ะไม่เคยฟังธรรมเลย เพราะฉะนั้นอาจจะไม่เข้าใจว่า คืออะไร เพราะว่ากุศลนี่ก็ได้ยิน แต่มหากุศลเพิ่มขึ้นมาอีก และญาณกับสัมปยุตต์ด้วย เป็นภาษาไทยธรรมดา ก็คือว่ากุสลจิตที่เกิดพร้อมด้วยปัญญา
เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่าขณะใดก็ตามที่กุศลจิตเกิด บางครั้งจะมีปัญญาเกิดร่วมด้วย แต่ว่าบางครั้งก็ไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย แต่ขณะใดที่มีปัญญาคือความเข้าใจสภาพธรรมขณะนั้นไม่ใช่เรา จึงเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นเจตสิกที่เป็นปัญญาเจตสิกเกิดกับจิตที่เป็นกุศล เพราะฉะนั้นกุศลจิตนั้นจึงชื่อว่าประกอบด้วยปัญญา เป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญาในขณะที่เข้าใจธรรม
ผู้ฟัง หมายถึงในขณะที่ฟังธรรมนั้น กำลังแสดงธรรมในเรื่องอะไรก็ตาม สภาพธรรมต่างๆ เหล่านั้น แค่ในขั้นไม่ใช่สติเกิดนะครับ ในขั้นการฟัง และเราพิจารณาว่า ที่ท่านอาจารย์ได้แสดงว่าในขณะที่ลักษณะของโทสะเกิดขึ้น เราก็เริ่มใส่ใจที่จะพิจารณา สภาพธรรมที่เป็นลักษณะของโทสะเกิดขึ้นนั้น ถือว่าคำนี้ก็เป็นปัญญาขั้นหนึ่งหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ชอบถือนะคะ แต่สภาพธรรมเป็นยังไง ก็เป็นอย่างนั้น ใครจะไปถือเอาไม่ได้เลย เลิกใช้คำว่าถือค่ะ กุศลเป็นกุศล ไม่ใช่ไปถือว่าเป็นกุศล แต่ว่ากุศลเป็นกุศล อกุศลเป็นอกุศล ไม่ต้องถืออีกแล้วใช่มั้ยค่ะ
ผู้ฟัง ครับผมๆ ก็ยังไม่เข้าใจว่าในขั้นการฟังนี่นะครับ เป็นปัญญาไหมครับ ที่พอเริ่มเข้าใจ ว่าลักษณะ เราเริ่มใส่ใจที่จะพิจารณาว่า ลักษณะที่เป็นโทสะนี้เป็นอย่างไร อะไร อย่างไรนี่ครับ คือไอ้ความสงสัยข้องใจนะครับ มันก็ยังติดค้างอยู่
ท่านอาจารย์ ก่อนนั้นเคยเข้าใจมั้ยคะ
ผู้ฟัง ไม่เข้าใจครับ
ท่านอาจารย์ เคยทำกุศล แล้วเคยเข้าใจธรรมไหม ก่อนนั้น
ผู้ฟัง ไม่เข้าใจเลย
ท่านอาจารย์ ไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้นเวลาที่ทำกุศลแล้ว ไม่มีความเข้าใจก็เป็นกุศลที่ไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นขณะใดที่เข้าใจนะคะ อย่าลืมว่าเวลาที่เราศึกษาสภาพธรรมนี่คะ หมายความว่าไม่มีคน แน่นอนค่ะขณะนี้มีจิต มีเจตสิก มีรูป สิ่งที่จะต้องระลึกอยู่เสมอก็คือว่าเคยเป็นคนมานานแสนนานไม่ว่าจะกี่ภพ กี่ชาติก็ตาม
แต่ตามความเป็นจริงที่ถือว่าเป็นคน ที่นี้ใช้คำว่าถือ เพราะเหตุว่าแท้ที่จริงคนไม่มี แต่ไปยึดถือว่าเป็นคน ตามความเป็นจริงแล้วเป็นสภาพปรมัตถธรรม คือจิต เจตสิก รูป ทุกชาติแม้แต่ในขณะนี้ เพราะฉะนั้นแม้แต่ความเข้าใจนี่คะ ก็ไม่ใช่ใคร ไม่ใช่คนหนึ่ง คนใด แต่เป็นธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งเริ่มเกิดเมื่อมีการฟัง แล้วก็มีโสภณเจตสิกอื่นๆ เกิดร่วมกัน มีการพิจารณาด้วยดี ทำให้เกิดสภาพธรรมชนิดนี้ คือสภาพที่เข้าใจถูก ในลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน และก็เริ่มเข้าใจขึ้น เพราะฉะนั้นขณะนั้นเป็นปัญญาเจตสิก ไม่ใช่ใครสักคนที่เข้าใจ
แต่ว่าปัญญาก็เหมือนสภาพธรรมอื่นๆ คือว่าต้องมีระดับขั้นด้วย ว่าปัญญานี่คะ แม้ว่าเป็นความเข้าใจถูก หรือว่าเป็นความเห็นถูก แต่ว่าเป็นความเข้าใจถูก เป็นความเห็นถูกระดับไหนระดับเพียงฟังแล้วเริ่มรู้ว่าจริงๆ แล้วก็หาคนใม่ได้ ที่เคยเป็นเรา แท้ที่จริงก็เป็นจิตแต่ละขณะแล้วก็เป็นเจตสิกซึ่งเกิดร่วมกับจิตแต่ละประเภท
ทำให้วันหนึ่งๆ ที่เคยคิดว่าเป็นเรารัก เราชัง เราสุข เราทุกข์ แท้ที่จริงก็คือเป็นสภาพปรมัตธรรมซึ่งเกิดขึ้น เพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป ถ้ากำลังเข้าใจอย่างนี้นะคะ ขณะนั้นเป็นปัญญาเจตสิก ไม่ใช่เป็นคุณประทีป
อ.สมพร อาจารย์ครับ ถ้าผมฟังธรรมแล้วผมเข้าใจนะครับ ฟังเทปของอาจารย์ และฟังอาจารย์บรรยายเข้าใจ แล้วก็บอกว่าคิดว่าจะหาฟังอย่างนี้ที่ไหนไม่ได้แล้ว จะฟังที่อื่น ที่อื่น คนอื่น พูดไม่เห็นได้เรื่องเลย อย่างนี้จะถือว่ากุศลเป็นปัจจัยให้เกิดอกุศล ได้ไหม
ท่านอาจารย์ ต้องมีปัจจัยทั้งนั้นนะคะ ที่จะให้เกิดขึ้นค่ะ แล้วแต่ถ้าขณะ ...
อ.สมพร ชอบเอาไปเปรียบเทียบอยู่เรื่อย อย่างนี้
ท่านอาจารย์ ทุกอย่างเกิด เป็นเพราะปัจจัย ซึ่งเราจะไม่กล่าวถึงนะคะ เพราะปัจจัยเป็นเรื่องยุ่งยากมากนะคะ ละเอียดมากขอเพียงแต่ว่าให้ทราบว่า อะไรก็ตามที่เกิด ต้องมีปัจจัยคือความรู้ความเข้าใจนะคะ เป็นลำดับขั้น นี่สำคัญมากถ้าความรู้ความเข้าใจขั้นต้นยังไม่มีแล้วเราจะไปก้าวก่ายถึงปัจจัยโน้นปัจจัยนี้ ก็เป็นเรื่องที่สับสนเรียกว่า เป็นเรื่องที่ไม่เข้าใจอย่างแท้จริง เพียงแต่ว่าเราอยากจะเอาชื่อมาใช้เท่านั้นเอง
สำหรับวันนี้นะคะ ขั้นต้นสำหรับคนใหม่ๆ ให้ทราบว่าทุกอย่างที่เกิด ต้องมีเหตุปัจจัยทั้งสิ้น จะไม่มีใครดลบันดาล หรือว่าตามใจชอบ ว่าเราอยากให้เกิดจึงเกิด ไม่ใช่ค่ะ ทุกอย่างเกิดแล้วมีแล้วพร้อมในขณะนี้นะคะ ปรากฏให้เห็น แต่เราไม่รู้เองคะ ว่าขณะนี้เป็นสภาพธรรมชนิดไหน แต่ต้องเกิดเพราะเหตุปัจจัยนั้นแน่นอน ค่อยๆ เรียนไปใจเย็นๆ
ผู้ฟัง ย้อนกลับไปที่ความกลัวอีกสักนิดหนึ่งนะคะ เพราะว่ารู้สึกจะ อยากจะให้เป็นปัญหาใหญ่สำหรับวันนี้ค่ะ ก็ความกลัวนี้ เท่าที่ดิฉันเข้าใจว่า ที่จะไม่กลัวได้ต้องเข้ามาอยู่ในปรมัตถธรรม ซึ่งเดือนที่แล้วคุณวีระเข้าใจดีในเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นขอคุณวีระพูดถึงปรมัตถธรรมอีกครั้งหนึ่งค่ะ เพราะว่าผู้ที่จะไม่กลัวได้ต้องอยู่ในโลกอันนี้ค่ะ เชิญคุณวีระ
ผู้ฟัง ถ้าไม่มีสภาพทั้ง ๒ อย่างคือนามธรรม รูปธรรมเกิดขึ้นแล้ว ก็คงไม่มีการเรียกว่าวีระ หรือเรียกว่าคุณหญิงนพรัตน์ หรือว่าเรียกว่าอาจารย์ หรือเรียกว่าทีวี หรือเรียกว่าไมโครโฟน เรียกว่าอะไรทั้งสิ้น มันก็เป็นเรื่องที่แปลก ที่ว่า อันนี้มันไม่ใช่ของผม อันนี้มันไม่ใช่ของผม ผมกลัว ผมกลัวก็ไม่ถูก เป็นอกุศล และมันก็ไม่รู้สภาพ แม้กระทั่งว่าความกลัวที่เกิดขึ้นก็ไม่รู้ แล้วหมดนะครับ หมดแล้ว
ท่านอาจารย์ แล้วขณะนี้คุณวีระกลัวอะไรค่ะ
ผู้ฟัง ถ้าเผื่อเป็นผมวีระ ก็ยังกลัวอยู่
ท่านอาจารย์ กลัวอะไรค่ะ นั่งอยู่อย่างนี้ กลัวอะไร
ผู้ฟัง ก็ผมก็พูดซ้ำไปอีกทีหนึ่ง ว่ากลัวในเรื่องที่ว่านะ ถ้าเป็นสภาพที่รู้กับสภาพที่ไม่รู้อะไร
ท่านอาจารย์ หมายความว่าเวลานี้นะคะ กำลังนั่งอย่างนี้ค่ะ กลัวอะไร
ผู้ฟัง คือถ้านึกถึงเรื่องนั้น
ท่านอาจารย์ เรื่องอะไรคะ
ผู้ฟัง ก็เรื่องนามธรรมรูปธรรม นี้ก็น่ากลัว
ท่านอาจารย์ กลัวหรอค่ะ กลัวอะไร
ผู้ฟัง ครับ กลัวว่าถ้าเป็นนามธรรมกับรูปธรรมไปแล้ว มันก็ไม่น่าจะเดินไปไหน มันไม่น่าจะทำอะไร
ท่านอาจารย์ นั่นไม่ใช่ความเห็นถูกคะ
ผู้ฟัง ครับ เข้าใจ ท่านอาจารย์
ท่านอาจารย์ มันไม่ใช่ความเห็นถูก ถ้าเป็นความเห็นถูกจริงๆ นะคะ ไม่กลัวค่ะ ที่กลัวเพราะไม่ได้เห็นถูก จึงกลัว ถ้าไม่มีคุณวีระ แต่มีอย่างอื่นที่ไม่ใช่คุณวีระ
ผู้ฟัง ก็มีแต่นามกับรูป
ท่านอาจารย์ ค่ะ เพราะฉะนั้นไม่ใช่ว่าไม่มีอะไรค่ะ มี สิ่งที่มีนั้นไม่ใช่คุณวีระ เท่านั้นเอง นี่เป็นสิ่งที่จะต้องเข้าใจให้ถูกต้องนะคะ เวลาที่เข้าใจถูกแล้วจะกลัวอะไร ก็ยังไม่เข้าใจว่าจะกลัวอะไร
ผู้ฟัง ก็คงยังเข้าใจไม่ถูก ถึงได้มีความกลัว ที่คุณหญิงนพรัตน์ได้กรุณานำขึ้นมาว่าความกลัวนี้ ถึงแม้จะไม่ใช่กลัวถูกตัดขา แต่ว่ามันกลัวอันนี้
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นที่กลัวนะคะ เพราะมีความเป็นตัวตนค่ะ ยังมีความเป็นคุณวีระอยู่จึงกลัว แต่ถ้าไม่มีคุณวีระแล้วจะกลัวอะไร ใช่ไหมคะ แต่เพราะเหตุว่าทุกคน มีความยึดมั่นในตัวตนค่ะ ไม่ว่าจะเห็นก็เป็นเรา จะสุข จะทุกข์ ก็เป็นเรา เพราะฉะนั้นจึงกลัวเราจะลำบาก กลัวเราจะทุกข์ กลัวเราจะต้องถูกตัดขา หรืออะไรก็ตามแต่นะคะ
แต่ให้ทราบว่าความกลัวทั้งหมด เพราะเป็นเราจึงกลัว แต่ถ้ามีความรู้จริงๆ นะคะ ว่าไม่ใช่เราค่ะ ทุกอย่างเป็นธาตุ เป็นสิ่งที่มีเหตุปัจจัยจึงเกิดขึ้น แล้วก็หมดไป ถ้ามีความเห็นถูกจริงๆ นะคะ จะค่อยๆ คลายความกลัว แต่ว่าเพราะมีความยึดมั่นในความเป็นตัวตนจึงกลัว
เพราะฉะนั้นก่อนอื่นนี่นะคะ ต้องมีความเข้าใจถูกต้องจริงๆ ถึงระดับขั้นที่ประจักษ์แจ้ง ว่าไม่ใช่ตัวตนจึงจะละความกลัวได้ เพราะว่าความเป็นตัวตนนี่ลึกมาก ตอนนี้ทราบแล้วใช่ไหมว่า..
ผู้ฟัง ทราบแล้ว แต่ก็ยังเป็นวีระดีกว่า
ท่านอาจารย์ ไม่ได้ค่ะ นั่นแสดงให้เห็นว่า ยังคงมีความต้องการซึ่งเป็นโลภะนะคะเพราะฉะนั้นยังมีสมุทัย ในอริยสัจ ๔ นี่คะ ทุกขสมุทัยเป็นอันดับที่ ๒ นะคะ แต่ว่าอันดับแรกคือทุกขอริยสัจจะ สภาพธรรมทุกอย่างเกิดขึ้น และดับไป ความหมายของทุกข์ที่นี่ ไม่ได้หมายความว่าทุกข์เสียใจ ทุกข์ป่วยเจ็บ หรือว่าทุกข์อะไรต่างๆ ที่คนส่วนมากคิดว่านั่นคือทุกข์
แต่สิ่งที่คนไม่รู้จักคือทุกขอริยสัจจะ หมายความถึงสภาพธรรมจริงๆ แล้ว เพียงมีปัจจัยเกิดขึ้นแล้วดับทันที ขณะนี้นะคะ ทุกอย่างที่ปรากฏเหมือนเที่ยงไม่ได้ดับเลย ความจริงแล้วเป็นสภาพธรรมแต่ละชนิดค่ะ ซึ่งเกิดเพราะมีเหตุปัจจัย เมื่อเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ของสภาพธรรมนั้นแล้วดับทันที ขณะนี้ตลอดเวลา นี่คือทุกขอริยสัจจะ เป็นสัจจะความจริงของผู้ที่เป็นพระอริยบุคคล เพราะฉะนั้นไม่ใช่เรากลัวห่วงเรื่องทุกข์อื่นๆ นะคะ แต่ต้องเข้าใจว่าตราบใดที่ยังอยากเป็นคุณวีระ ยังต้องมีทุกขอริยสัจจะ หนีทุกข์ไม่พ้นค่ะ กลัวทุกข์ใช่ไหมคะ กลัวถูกตัดขาบ้าง กลัวอย่างนั้นบ้าง กลัวอย่างนี้บ้าง แต่หนีไม่พ้นตราบใดที่ยังมีความเห็นว่าเป็นตัวคุณวีระอยู่
ผู้ฟัง ครับ ท่านอาจารย์จะกล่าวยังไง ผมก็ยัง..
ท่านอาจารย์ ยังอยากเป็นคุณวีระ ค่ะ เพราะว่านี่เป็นความจริง ปัญญาระดับขั้นฟังนี่คะ ยังไงๆ ก็ทิ้งความเป็นเราไม่ได้ นี่แสดงให้เห็นว่า กว่าจะถึงความเป็นพระอริยบุคคลจริงๆ เห็นความต่างกันของผู้ที่เป็นปุถุชนนะคะ ผู้ที่ยังหนาแน่นด้วยกิเลส กับผู้ที่เบาบางจากกิเลสจนกระทั่งถึงความเป็นผู้ประเสริฐ คืออริยะ
ประเสริฐโดยปัญญารู้ความจริง จนสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมทั้ง ๔ ไม่ใช่เพียงแต่ทุกขอริยสัจอย่างเดียว หรือสมุทยอริยสัจจะต้องนิโรธคือนิพพานด้วย และหนทางที่จะถึงด้วย เพราะฉะนั้นเหมือนกับว่านะคะ เวลานี้ มีผู้ที่ถึงที่ ที่ดับทุกข์ แล้วก็ได้แสดงหนทางที่จะดับทุกข์ แต่คนก็ยังไม่อยากดับทุกข์ เพราะยังอยากเป็นวีระอยู่ ถูกไหมคะ
ผู้ฟัง ถูกครับ
ท่านอาจารย์ นี่ก็ความจริง เป็นยังไง ก็เป็นอย่างนั้น แสดงให้เห็นว่าแต่ละคนนี่ค่ะ รู้จักตัวเองตามความเป็นจริงว่า ปัญญาอยู่ในระดับไหน อยู่ในระดับที่เห็นประโยชน์ของการฟังธรรม จึงฟัง แต่ว่าในขณะที่ฟังนี่คะ ปัญญายังไม่ถึงระดับขั้นที่ประจักษ์แจ้ง เพราะฉะนั้นก็จะต้องอาศัยการฟังเพิ่มขึ้นอีก จุดประสงค์ของการฟังธรรมนะคะ หรือจุดประสงค์ของชีวิตซึ่งแสนสั้น ต้องใช้คำว่าแสนสั้น เพราะยังไงๆ ทุกคนก็ไม่ถึงร้อยปี ก็นับไปดูว่าอีกกี่ปีก็แล้วกัน จุดประสงค์ของชีวิตที่สั้นๆ อย่างนี้นะคะ เฉพาะของคุณวีระ คืออะไรคะ
ผู้ฟัง ขณะนี้ ก็คือฟังธรรมให้มากยิ่งขึ้นครับ
ท่านอาจารย์ เพื่ออะไร ฟังทำไมคะ
ผู้ฟัง เพื่อที่จะให้เข้าใจสภาพธรรมนั้นได้ จริงยิ่งขึ้น
ท่านอาจารย์ เพื่อที่จะไม่มีคุณวีระรึเปล่า
ผู้ เฮ้อ..
ท่านอาจารย์ ค่ะ
อ.สมพร อันนี้ใจหาย ต้องเริ่มต้นนะครับ ต้องเริ่มต้นที่จะไม่มีตัวตน ถ้าไม่เริ่มต้น เมื่อไหร่ยังเป็น ยังเป็นพันเอกวีระอยู่เรื่อยแล้วก็ ก็จะไม่ถูก และยังไม่เห็น ยังเห็นไม่ถูก ถ้าจะให้เห็นถูก คือต้องเริ่มต้นว่าไม่มีตัวตน
ท่านอาจารย์ แม้ว่าจะใจหาย แต่ยังไม่ถึงเวลาใจหายค่ะ ยังสนุกสนานเพราะยังมีวีระอยู่ใช่ไหมคะ ยังไม่ถึงเวลาจะใจหาย แต่จริงๆ แล้วใจหายตอนที่ไม่มีปัญญานะคะ แต่ถ้ามีปัญญาเกิดขึ้น จะทราบได้เลยว่าจะเกิดพร้อมกับอุเบกขาเวทนา หรือโสมนัสเวทนาเท่านั้น จะไม่เกิดพร้อมกับความกลัวความตกใจหรือความใจหายเลย
แต่ว่าตราบใดที่ยังมีกิเลสอยู่ โลภะจะทำให้ชอบในสิ่งที่เคยชอบ ยังไม่ทำให้คลาย ยังไม่ทำให้เห็นว่าเป็นโทษ เพราะฉะนั้นโลภะจะตามไปได้ตลอด ผู้ที่จะดับโลภะสนิทไม่เกิดอีกเลย คือพระอรหันต์ นี่แสดงให้เห็นว่าถึงแม้ว่าจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมแล้ว นะคะ ปลอดภัยแล้วจากอบายภูมิ ไม่ไปเกิดในนรก เป็นเปรต เป็นอสูรกายก็ตาม แต่ยังมีโลภะ
เพราะฉะนั้นบางคนก็ต่อรองนะคะ ก็เป็นแค่พระโสดาบันก็ดี เพราะว่ายังสนุกสนานยังแต่งตัวสวยๆ ยังทำอะไร ทานอาหารอร่อยทุกอย่างได้หมด ไม่มีอะไรที่ผิดจากปุถุชน เว้นความเห็นผิดไม่มีเลย ความไม่รู้ ไม่เข้าใจ ไม่ประจักษ์แจ้งในลักษณะของสภาพธรรมไม่มี เพราะฉะนั้นจุดประสงค์ของการฟังจริงๆ นะคะ
บางคนอาจจะต้องการปฏิบัติ มาฟังนี่เพื่อที่จะปฏิบัติ โดยที่ยังไม่เข้าใจเลยว่าปฏิบัตินั้นคืออะไร แต่อยาก นี่แสดงให้เห็นว่าไม่พ้นโลภะไปได้เลย โลภะให้ทำทุกอย่างแม้แต่จะทำผิดๆ ก็จะทำ นั่นคือโลภะ แต่ถ้าจะทำถูกแล้วนั่นไม่ใช่โลภะ ถ้าถูกนั่นคือปัญญา
- สนทนาธรรม ตอนที่ 061
- สนทนาธรรม ตอนที่ 062
- สนทนาธรรม ตอนที่ 063
- สนทนาธรรม ตอนที่ 064
- สนทนาธรรม ตอนที่ 065
- สนทนาธรรม ตอนที่ 066
- สนทนาธรรม ตอนที่ 067
- สนทนาธรรม ตอนที่ 068
- สนทนาธรรม ตอนที่ 069
- สนทนาธรรม ตอนที่ 070
- สนทนาธรรม ตอนที่ 071
- สนทนาธรรม ตอนที่ 072
- สนทนาธรรม ตอนที่ 073
- สนทนาธรรม ตอนที่ 074
- สนทนาธรรม ตอนที่ 075
- สนทนาธรรม ตอนที่ 076
- สนทนาธรรม ตอนที่ 077
- สนทนาธรรม ตอนที่ 078
- สนทนาธรรม ตอนที่ 079
- สนทนาธรรม ตอนที่ 080
- สนทนาธรรม ตอนที่ 081
- สนทนาธรรม ตอนที่ 082
- สนทนาธรรม ตอนที่ 083
- สนทนาธรรม ตอนที่ 084
- สนทนาธรรม ตอนที่ 085
- สนทนาธรรม ตอนที่ 086
- สนทนาธรรม ตอนที่ 087
- สนทนาธรรม ตอนที่ 088
- สนทนาธรรม ตอนที่ 089
- สนทนาธรรม ตอนที่ 090
- สนทนาธรรม ตอนที่ 091
- สนทนาธรรม ตอนที่ 092
- สนทนาธรรม ตอนที่ 093
- สนทนาธรรม ตอนที่ 094
- สนทนาธรรม ตอนที่ 095
- สนทนาธรรม ตอนที่ 096
- สนทนาธรรม ตอนที่ 097
- สนทนาธรรม ตอนที่ 098
- สนทนาธรรม ตอนที่ 099
- สนทนาธรรม ตอนที่ 100
- สนทนาธรรม ตอนที่ 101
- สนทนาธรรม ตอนที่ 102
- สนทนาธรรม ตอนที่ 103
- สนทนาธรรม ตอนที่ 104
- สนทนาธรรม ตอนที่ 105
- สนทนาธรรม ตอนที่ 106
- สนทนาธรรม ตอนที่ 107
- สนทนาธรรม ตอนที่ 108
- สนทนาธรรม ตอนที่ 109
- สนทนาธรรม ตอนที่ 110
- สนทนาธรรม ตอนที่ 111
- สนทนาธรรม ตอนที่ 112
- สนทนาธรรม ตอนที่ 113
- สนทนาธรรม ตอนที่ 114
- สนทนาธรรม ตอนที่ 115
- สนทนาธรรม ตอนที่ 116
- สนทนาธรรม ตอนที่ 117
- สนทนาธรรม ตอนที่ 118
- สนทนาธรรม ตอนที่ 119
- สนทนาธรรม ตอนที่ 120