สนทนาธรรม ตอนที่ 062
ตอนที่ ๖๒
ท่านอาจารย์ ที่จริงแล้ว ที่ใช้คำว่า ปริตตธรรม แสดงให้เห็นว่า ธรรมที่เราคิดว่ายั่งยืน แท้ที่จริงแล้วสั้นมาก เป็นธรรมที่เล็กน้อยจริงๆ เพราะเหตุว่าอย่างที่เปรียบเทียบให้เห็นว่าระหว่างการเห็นกับการได้ยิน จิตเกิดดับเกินกว่า ๑๗ ขณะจิต แต่เราคิดว่าพร้อมกัน เพราะฉะนั้นปริตตธรรมจะแสดงให้เห็นถึงความสั้นแสนสั้นของสภาพนามธรรม และรูปธรรม ซึ่งเราไม่รู้ ก็จะคิดว่ายั่งยืนใช่ไหมคะ จิตเกิดตอนปฏิสนธิแล้วไปดับตอนจุติที่เราตายจากโลกนี้ เราคิดว่าเป็นจิตที่ยั่งยืนมากดวงเดียวแล้วก็เดี๋ยวเปลี่ยนสภาพเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ที่จริงนั้น ไม่ใช่อย่างนั้น
ปริตตธรรม คือสภาพธรรมที่อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้นแล้วดับ เร็วแค่ไหน นี่คือความหมายของปริตตธรรม โดยการที่เรายังไม่ต้องพูดถึงวิถีจิต หรืออะไรเลย แต่ให้เข้าใจความเล็กน้อยของสิ่งที่กำลังปรากฏ หรือสภาพธรรมที่เกิดขึ้น เพราะว่าจิตก็มีอายุแสนสั้น สั้นกว่ารูปอีก เพราะรูป ยังต้องจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ รูปหนึ่งจึงดับ แต่จิตนั้นอายุสั้นกว่านั้น ให้เห็นความเล็กน้อย ไม่มีสาระ
ผู้ฟัง แต่ว่ารูปธรรมที่เป็นปรมัตถ์ธรรมเกิดขึ้น เกิดขึ้นในช่วงที่อาวัชชนะจิตเกิด
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ค่ะ เราจะนับอายุของรูป เราไม่รู้จะเอาอะไรมานับ ใช่ไหมคะ ต้องเอาสิ่งที่สั้นกว่านั้น อย่างถ้าเราจะนับเซนติเมตร เราก็ต้องเอาสิ่งที่เล็กกว่านั้นมานับว่ากี่อันนั้นถึงจะเป็นอันนี้ ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นการที่เราจะนับอายุของรูป และเราไม่มีอย่างอื่นเลยซึ่งสามารถจะนับอายุของรูปว่ายาวสั้นแค่ไหน เพราะเหตุว่า รูปที่เราคิดว่ายั่งยืนนั้น แท้จริงสั้นมาก
เพราะฉะนั้นก็ต้องอาศัยสิ่งที่สั้นกว่านั้นอีกคือ จิต เปรียบให้เห็นเป็นการแสดงให้เห็นว่า รูปทุกรูปที่เกิดจะมีอายุเกินกว่าการเกิดดับของจิต ๑๗ ขณะไม่ได้เลย ถ้าเป็นรูปปรมัตถ์ ไม่ว่าจะเป็นน้ำค้าง ไม่ว่าจะเป็นน้ำในทะเล ไม่ว่าจะเป็นใบไม้ ไม่ว่าจะเป็นผลไม้ ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม รูปกลาปที่เล็กที่สุดที่แตกย่อยออกไปซึ่งมีอากาศธาตุแทรกคั่น มีอายุเท่ากับการเกิดดับของจิต ๑๗ ขณะ ถ้าเราบอกว่านับภวังค์ก็ได้ ภวังค์ ภวังค์ ภวังค์ ๑๗ ขณะ รูปๆ หนึ่งดับ หรือจะนับตั้งแต่ปฏิสนธิจิต ปฏิสนธิจิตหนึ่งขณะ และก็เป็นภวังค์ไป ๑๖ ขณะ รูปๆ หนึ่งจะดับ
หรือจะนับตอนจุติจิตของชาติก่อนหนึ่งขณะ และนับปฏิสนธิจิต ภวังคจิต ไปอย่างไรก็ตาม คือ นับให้ได้จิต ๑๗ ขณะ รูปๆ หนึ่งดับ แต่เวลาที่แสดงให้เห็นว่าเหตุใดถึงได้แสดงวาระของจิตที่รู้รูปครั้งหนึ่งๆ หรือว่าอารมณ์หนึ่งๆ ก็เพื่อเห็นว่า ที่เราว่าเรากำลังเห็น วิถีจิตเกิดดับอย่างไรตั้งแต่เวลาที่รูปเกิดแล้วก็กระทบกับ..ถ้าเป็นเสียงเกิดพร้อมกับโสตปสาทรูปยังไม่ได้ยินแต่เกิดแล้ว เสียงเกิดแล้ว โสตปสาทรูปเกิดแล้ว และก็กระทบแล้ว เป็นอดีตภวังค์ เพราะเหตุว่าจิตจะเกิดขึ้นได้ยินทันทีไม่ได้ ต้องมีการกระทบ ขณะที่กระทบนั้นเป็นอดีตภวังค์ เมื่ออดีตภวังค์ดับแล้วจะให้ได้ยินทันทีก็ไม่ได้อีกเพราะเหตุว่าจิตนี่จะต้องเกิดดับสืบต่อกันโดยสมนันตรปัจจัย หมายความว่าการเกิดดับของจิตจะต้องสืบต่อกระทำกิจการงานตามสมควรด้วยดี ไม่ใช่ว่าจะให้จิตชนิดนี้เกิด จะให้จิตชนิดนั้นเกิดตามใจชอบ แต่จะต้องเป็นไปตามสภาพของจิตว่าเมื่ออดีตภวังคจิตดับแล้ว ภวังคจลนะสืบต่อ เป็นภวังค์ที่ไหวเพื่อที่จะทิ้งอารมณ์เก่า และเพื่อที่จะรู้อารมณ์ไหม่ เพราะเหตุว่าจิตทุกขณะต้องรู้อารมณ์ คือ สิ่งที่จิตกำลังรู้ในขณะนั้น เราเรียกว่าอารมณ์ เพราะฉะนั้นเมื่อภวังคจลนะดับแล้ว จิตได้ยินก็ยังเกิดทันทีไม่ได้ ขณะต่อไปเป็นภวังคุปัจเฉทะ หมายความถึงกระแสภวังค์ดวงสุดท้าย ซึ่งเมื่อใช้คำว่าภวังคุปัจเฉทแล้ว หลังจากนั้นก็ต้องเป็นวิถีจิต ระหว่างที่เป็นภวังค์ไม่ใช่วิถีจิต เพราะเหตุว่าถึงแม้ว่าอารมณ์กระทบก็จริงแต่ยังไม่มีการรู้อารมณ์นั้นเลย
นี่แสดงให้เห็นว่า เราต้องเข้าใจว่า จิตแบ่งโดยประเภทใหญ่ๆ แล้วเป็น ๒ อย่าง คือจิตที่ไม่ใช่วิถี กับจิตที่เป็นวิถีจิต เพราะเหตุว่าถ้าใช้คำว่าวิถีจิต หมายความว่าจะต้องมีการรู้อารมณ์ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ สำหรับปฏิสนธิจิตไม่เห็น ปฏิสนธิจิตไม่ได้ยิน ปฏิสนธิจิตไม่มีอารมณ์ใดๆ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เลย โลกนี้ไม่ปรากฏกับปฏิสนธิจิต ปฏิสนธิจิตเป็นวิบากจิต ซึ่งกรรมเป็นปัจจัยทำให้ปฏิสนธิให้เป็นบุคคลนั้นในภพชาตินั้น โดยที่ยังไม่เห็น ยังไม่ได้รับผลของกรรมอื่นๆ เลย แต่ว่ามีความเป็นสภาพบุคคลนั้นเกิดขึ้น เพราะปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น นี่แสดงให้เห็นว่าจิตต้องรู้อารมณ์ เมื่อเป็นจิตแล้วจะไม่รู้อารมณ์ไม่ได้ แต่การรู้อารมณ์ของจิต ต่างกันเป็น ๒ อย่าง คือ รู้โดยอาศัยทวาร หรือ รู้โดยไม่อาศัยทวาร ซึ่งเรียกว่าทวารวิมุต
เพราะฉะนั้นปฏิสนธิจิตไม่ใช่วิถีจิตเพราะไม่อาศัยทวารหนึ่งทวารใดรู้อารมณ์ ภวังคจิตก็ไม่ใช่วิถีจิตเพราะเหตุว่าไม่ได้อาศัยทวารหนึ่งทวารใดรู้อารมณ์ จุติจิตซึ่งเป็นจิตขณะสุดท้ายทำกิจเคลื่อนพ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้ ก็ไม่ได้มีอารมณ์ของโลกนี้ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นอารมณ์
เพราะฉะนั้นจิต ๓ ประเภทนี้เท่านั้น ที่ไม่ใช่วิถีจิต คือ ปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ อย่างนี้ก็เข้าใจง่ายขึ้น ใช่ไหม นอกจากนั้นแล้วไม่ว่าจะเป็นจิตอะไร ชื่ออะไร ต้องอาศัยทางหนึ่งทางใด เช่น กำลังเห็น อาศัยตาเป็นจักขุทวารวิถีจิตทั้งหมดจนกว่ารูปจะดับ ถ้าเป็นทางหูที่ได้ยินเสียงเป็นโสตทวารวิถีจิตทั้งหมดจนกว่ารูปจะดับ
เพราะฉะนั้นวิถีจิต ตั้งต้นที่ปัญจทวาราวัชชนจิตไม่ใช่ภวังคจิต และนับไป ๑๗ ขณะ และรูปก็ดับ แสดงอายุของรูปเท่านั้นเอง เราจะแสดงโดยวิถีจิตก็ได้ ไม่แสดงโดยวิถีจิตก็ได้ แต่ที่แสดงไว้โดยวิถีจิต เพื่อให้เห็นว่าเดี๋ยวนี้สภาพธรรมเกิดดับสืบต่อกันอย่างไร และจักขุวิญญาณจิตสั้นคือเพียงชั่วขณะเดียวที่กำลังเห็น นอกจากนั้นก็เป็นปัญจทวาราวัชนจิต สัมปฏิฉันนจิต สันตีรณจิต ชวนจิต โวฏพณจิต ซึ่งไม่ใช่จักขุวิญญาณจิต
เพราะฉะนั้นเราต้องทราบว่าสิ่งที่มีจริงๆ เอาชื่อออกไปก่อน เอาชื่อออกให้หมดเลย สิ่งที่มีจริงๆ มี ๔ อย่างคือ ๑ รูปธรรม แยกรูปธรรมมาก่อนเลย รูปธรรม เช่น ภูเขา ต้นไม้ อะไรที่เราใช้คำเรียกแต่ความจริงก็จะขาดธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ไม่ได้คือ อ่อน แข็ง นั่นเอง ทั่วไปหมดมีอ่อน มีแข็งทั่วโลกก็แล้วกัน จักรวาลที่ไหนดวงดาวที่ไหนก็มีรูปซึ่งอ่อน หรือแข็งแต่ว่าถึงแม้ว่ามีรูปจริง แต่ถ้าไม่มีธาตุรู้ หรือสภาพรู้ หรืออาการรู้ซึ่งเราจะใช้คำว่าจิต และเจตสิกในภายหลัง
แต่ถ้าพูดถึงจิตกับเจตสิก ก็หมายความถึงสภาพธรรมที่สามารถรู้สิ่งหนึ่ง สิ่งใด เช่นแข็งมี และสภาพที่สามารถรู้ในสิ่งที่แข็ง รู้ในอาการที่แข็ง ลักษณะที่แข็ง ลักษณะที่รู้นั้นคือจิตกับเจตสิกซึ่งเป็นนามธรรม เพราะฉะนั้นเราก็แยกปรมัตถธรรมออกเป็น ๒ อย่าง คือ รูปธรรมนั้นไม่สามารถที่จะรู้อะไรเลยทั้งสิ้น แต่นามธรรมนั้นเกิดขึ้นเพื่อรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด เกิดแล้วจะไม่รู้ไม่ได้เลย ต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด เช่น กำลังรู้เสียงคือได้ยิน กำลังรู้สีคือกำลังเห็น หรือกำลังคิดนึก กำลังสุข กำลังทุกข์ กำลังจำ นั่นคือลักษณะที่เป็นนามธรรม ซึ่งรูปธรรมจะไม่มีความสามารถ ไม่มีลักษณะอย่างนี้เลย รูปธรรมไม่สามารถจะรู้อะไรได้ นี่คือเอาชื่อออกหมด ยังไม่สมมติว่าเป็นอะไรทั้งสิ้น
แต่ในการที่เราจะรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด เราจำเป็นต้องใช้คำบัญญัติให้เข้าใจว่าเราหมายความถึงสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะฉะนั้นจึงมีภาษามากมาย ภาษาอังกฤษ ภาษาไทยภาษาฝรั่งเศส แล้วแต่ว่าคุ้นเคยกับภาษาใดก็เข้าใจภาษานั้นว่าหมายความถึงปรมัตถธรรมอะไร แต่จริงๆ แล้ว ให้ทราบว่า ปรมัตถธรรมมีจริง คือ มีจิต มีเจตสิก มีรูป จึงมีบัญญัติหรือสมมติได้ แต่ถ้าไม่มีปรมัตถธรรมที่เป็นนามธรรมที่รู้สิ่งที่ปรากฏขณะนั้น ก็ไม่สามารถที่จะมีการไปรู้ความหมาย หรือรู้ชื่อของสิ่งนั้นได้เลย
เพราะฉะนั้นต้องแยกว่าสิ่งที่มีจริงๆ ที่เป็นปรมัตธรรมเอาชื่อออกหมดก็ยังมีจริงๆ แต่ถ้าจะเอาชื่อลอยๆ ออกมาโดยไม่มีปรมัตถธรรมนั้นไม่ได้เลย ต้องมีคนที่กำลังคิดคำนั้น ชื่อนั้น เพราะฉะนั้นต้องมีปรมัตธรรมจึงจะมีบัญญัติได้ และให้ทราบว่าที่จะเกิดความทรงจำเป็นบัญญัติเรื่องราวเพราะเหตุว่าขณะที่เกิดในครรภ์ ขณะนั้นก็ไม่มีรูปร่างอย่างนี้เลย ขณะแรกที่เพิ่งเกิดคือปฏิสนธิจิตเกิดในท้องของมารดา จะมีรูปกลุ่มเล็กๆ เพียง ๓ กลุ่ม คือ กลุ่มที่เป็นกาย กายทสกะ ประกอบด้วยรูป ๑๐ รูป ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม สี กลิ่น รส โอชา กายปสาท และมีชีวิตรูป เพราะเหตุว่าเป็นรูปที่เกิดจากกรรม อีกกลุ่มหนึ่งก็เป็นกลุ่มซึ่งเป็นที่เกิดของจิตคือหทยทสกะ ทั้ง ๓ กลุ่มนี้เล็กมาก ให้ทราบเวลาพูดถึงรูปกลุ่มหนึ่งๆ ไม่ใช่ดอกไม้ในแจกันเป็นกลุ่มหนึ่ง แต่หมายความถึงรูปที่ติดกันแยกไม่ได้เลย
เพราะฉะนั้นเล็กสักเท่าไรก็ตาม รูปนั้นใช้คำว่าติดกันแยกไม่ได้มี ๘ รูปที่ติดกัน ย่อยออกไปเล็กสักเท่าไหร่ เอากลีบดอกไม้อันนี้ไปทำให้ละเอียดยิบก็ยังมีรูปที่ติดกันแยกไม่ได้ ๘ รูปเป็นอย่างต่ำที่สุด ถ้าเป็นรูปที่เกิดจากกรรมก็ต้องมีชีวิตรูป แล้วก็ถ้าเป็นกายปสาทเพิ่มขึ้นไปอีกก็เป็น ๑๐ รูป ถ้าใช้คำว่ากลุ่มหรือกลาปหมายความว่ารูปที่ติดกันแยกไม่ได้เลย ขณะนี้เราเห็นโต๊ะ เห็นเก้าอี้ ใหญ่โตมโหฬารเอาไปย่อยให้ละเอียด ละเอียดยิบที่แยกจากกันไม่ได้เพราะว่าติดกันจริงๆ แยกไม่ได้เลยต้องมี ๘ รูป แต่ขณะนี้ที่เป็นโต๊ะนี้ ก็คือ ๘ รูป หลายกลุ่ม และก็มีอากาศธาตุแทรกอยู่ระหว่างนั้น แต่ถ้าใช้คำว่า ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม สี กลิ่น รส โอชา ๘ รูปนี้แล้วติดกันแยกไม่ได้เลย
นี่แสดงให้เห็นว่า ธรรมชาติที่เป็นรูปนี้มีจริง แต่ถ้าไม่มีนามธรรม ก็ไม่มีบัญญัติ รูปก็เป็นรูปไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นที่เราเกิดมาก็เห็น และไม่ใช่เพียงเห็นอย่างเดียว ยังมีสภาพที่จำ จำสิ่งที่เห็น แล้วเวลาจำ ก็มีความคิด คิดถึงสิ่งที่เคยเห็น เพราะฉะนั้นก็จำได้ว่านี่เป็นดอกไม้ นั่นเป็นโต๊ะ นี้คือสัญญาขันธ์ หรือสัญญาเจตสิกที่จำ เพราะฉะนั้นเพราะมีความจำจึงมีการนึกเป็นเรื่องราวต่างๆ เวลาเราดูโทรทัศน์ เราอ่านหนังสือพิมพ์ เหล่านี้เป็นเรื่องความจำทั้งหมด
ถ้าไม่มีสภาพจำเพียงอย่างเดียว สิ่งที่ปรากฏที่โทรทัศน์ หรือขณะนี้ ก็เป็นแต่เพียงสีสันวัณณะ แต่เพราะเราจำได้ว่าเป็นคุณพิพัฒน์ เราจำได้ว่าเป็นท่านอาจารย์สมพร เพราะเหตุว่าตัวจำ จำสีสันวัณณะที่ปรากฏ เพราะฉะนั้นจึงมีบัญญัติการคิดเรื่องอาจารย์สมพร มีการคิดเรื่องของคุณพิพัฒน์ คิดเรื่องดอกไม้ว่ามาจากเชียงใหม่ การคิดเรื่องโต๊ะ คิดยาวมาก ทั้งๆ ที่สิ่งที่ปรากฏทางตาสั้นนิดเดียว เกิด แล้วก็ดับเร็วมาก แต่เพราะความจำนี่เองจึงทำให้คิดถึงสิ่งที่จำเป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ หรือว่าแม้ไม่เป็นเรื่อง เพียงคิดต่อจากที่เห็นเท่านั้น ขณะนั้นก็เป็นบัญญัติแล้ว
แสดงให้รู้ว่าขณะใด ไม่มีปรมัตถธรรม คือไม่ใช่ มีจิต หรือเจตสิก หรือรูป หรือนิพพานเป็นอารมณ์ ขณะนั้นมีบัญญัติเป็นอารมณ์ทั้งหมด เร็วแสนเร็วอย่างไรก็ตามให้ทราบว่าช่วงขณะที่มีจิตเป็นอารมณ์ ไม่มีบัญญัติเป็นอารมณ์ ชั่วขณะที่มีเจตสิกเป็นอารมณ์ไม่มีบัญญัติเป็นอารมณ์ ชั่วขณะที่มีรูปปรมัตถ์รูปหนึ่งรูปใดเป็นอารมณ์ ขณะนั้นไม่มีบัญญัติเป็นอารมณ์ นอกจากนั้นมีบัญญัติเป็นอารมณ์ทั้งหมด
เพราะฉะนั้นวันหนึ่งๆ ที่กล่าวว่าเราอยู่ในโลกของบัญญัติมาก ก็เพราะเหตุว่ารูปปรากฎทางตานิดเดียวก็ดับ แต่เรื่องราวของสิ่งที่ปรากฏไม่ได้ดับเลย เราคิดต่อไปยาวมาก นี่คือมีเรื่องบัญญัติของปรมัตถ์ที่เพียงปรากฏ ถ้าเราเดินไปแล้วก็พบคนที่ไม่รู้จักเราจะคิดถึงเรื่องเขานิดเดียว อาจจะมองผม มองเสื้อผ้า หรืออะไรก็ได้ แล้วก็คิดนิดเดียว แต่ถ้าเป็นคนที่เรารู้จัก เรื่องราวมาแล้ว คุยกันสนทนากันเป็นเรื่องเป็นราวนั้น ก็แสดงให้เห็นว่าความคิดนึกนี่ทับถมจนกระทั่งลักษณะของปรมัตถ์ไม่ปรากฏว่าเป็นปรมัตถธรรม กลายเป็นบัญญัติไปหมดตลอดเวลาตั้งแต่เกิดจนตาย
จนกว่าเราจะได้ฟังพระธรรมแล้วเข้าใจจริงๆ ว่าปรมัตถธรรมหมายความถึงสิ่งที่มีจริงๆ และใช้คำว่าเป็นธรรม เพราะเหตุว่าอาศัยเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้น แล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว ผู้ใดรู้ความจริงนี้ และทรงแสดงอย่างนี้ ผู้นั้นคือพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะเหตุว่า ขณะนี้แม้สภาพธรรมกำลังเกิดดับ ก็ไม่มีการประจักษ์แจ้ง เพราะปัญญาไม่ได้อบรมจนถึงขั้นที่ประจักษ์ได้ แต่ไม่ใช่หมายความว่าสุดวิสัย เพราะเหตุว่าเมื่อมีการตรัสรู้แล้วก็ทรงแสดงธรรม ปรากฏว่ามีผู้ที่สะสมความเข้าใจธรรมจากการที่เพียงฟัง สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยะบุคคล เป็นพระโสดาบัน เป็นพระสกทาคามี เป็นพระอนาคามี เป็นพระอรหันต์มากมาย นี้แสดงให้เห็นว่ามาจากการสะสมปัญญาความเข้าใจถูกในลักษณะของสิ่งที่มีจริงๆ ซึ่งเป็นปรมัตถธรรม แต่ว่ากว่าจะถึงวันนั้นก็ฟังไปก่อนแล้วก็เข้าใจขึ้น และแต่ละคนก็เป็นผู้ที่ตรงที่จะรู้ว่ามีความเข้าใจเพิ่มขึ้นแม้แต่คำสั้นๆ คำเล็กๆ ก็อย่าประมาทเพราะเหตุว่าแม้แต่ธรรมคำเดียวก็ต้องเข้าใจให้ถูกต้อง ธรรมแสดงว่าไม่ใช่ใคร ไม่มีใครเป็นเจ้าของ เป็นสิ่งที่มีจริงๆ และถ้าเป็นธรรมที่ปรากฏก็หมายความว่าสภาพธรรมนั้นต้องเกิดขึ้นจึงได้ปรากฏ แต่ว่าเราไม่สามารถที่จะเห็นความเกิดขึ้น และความดับไป เพราะเหตุว่าต้องเป็นปัญญาที่อบรม แล้วก็ประจักษ์แจ้ง จึงสามารถที่จะประจักษ์ได้ แต่ต้องเริ่มจากการฟังแล้วค่อยๆ เข้าใจขึ้น
ผู้ฟัง ขอถามว่า ถ้าหากบอกว่า บัญญัติไม่มี
ท่านอาจารย์ บัญญัติไม่มีสภาวะ
ผู้ฟัง ไม่มีสภาวะของบัญญัติ แต่ว่าก็ยังมีปรมัตถ์อยู่อีก
ท่านอาจารย์ ต้องมีปรมัตถ์เท่านั้น
ผู้ฟัง ถ้า ฟัน ก็ต้องบอกว่ามีแต่แข็ง
ท่านอาจารย์ ขอให้ช่วยกันตอบถ้าถามว่าขณะนี้ทุกคนมีฟันหรือไม่ ไม่มีนะคะ เพราะอะไรต้องมีเหตุผล
ผู้ฟัง เพราะคำว่าฟัน เป็นบัญญัติแข็ง ถ้าเราจะตอบเป็นปรมัตถ์
ท่านอาจารย์ แต่ความเข้าใจต้องเป็นขั้นๆ ที่ตอบว่าไม่มีฟัน เพราะอะไร ความจริงมีฟันไหม ความจริงมีแข็ง ความจริงตลอดศีรษะจรดเท้า มีอ่อน มีแข็ง มีเย็น มีร้อน มีตึง มีไหว แต่ส่วนผสมของรูปละเอียดมากก็สามารถที่จะแยกเป็นส่วนสัดได้ แม้แต่โต๊ะ เพราะฉะนั้นที่ส่วนสัดของแข็งนี่ประกอบด้วยสีต่างๆ กัน กลิ่น รสอะไร ก็ต่างๆ กันเท่านั้น แต่สามารถที่จะเห็นความต่างโดยสี เพราะฉะนั้นจึงบัญญัติว่า คิ้ว ตา จมูก ปาก ฟัน เล็บ อะไรก็แล้วแต่ ก็แล้วแต่จะคิด ทรงจำเอา แต่ว่าปรมัตถ์ธรรมจริงๆ คือ อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึง หรือไหว นี่นี่เพียงตอนหนึ่ง แต่ถ้าถามว่าขณะนี้เดี๋ยวนี้มีไหม ถ้าตอบว่ามี แปลว่า จำไว้ว่ามี ถ้าตอบว่าไม่มี เพราะจำไว้อีกว่าไม่มี ใช่ไหมคะ เพราะว่านี่เป็นขั้นความจำ ยังไม่เข้าถึงขั้นความจริง
ผู้ฟัง ปรมัตถ์มีหรือคะ
ท่านอาจารย์ ปรมัตถ์มีแน่นอน ปรมัตถ์มีแต่เกิดแล้วดับแล้วเร็วมากเลย ขณะที่ทางตากำลังเห็น กับทางหู ที่เสียงกำลังปรากฏ จิตเกิดดับเกิน ๑๗ ขณะ จิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ รูปหนึ่งรูปดับ เพราะฉะนั้นระหว่างทางตากับทางหู คือเสียงกับสี ที่กำลังปรากฏนี่ จิตเกิดดับเกิน ๑๗ ขณะ เพราะฉะนั้นรูปที่เราคิดว่าไม่ดับ ขณะนี้ดับเร็วมาก และเสียงที่กำลังปรากฏนี้ก็ดับเร็วมาก เพราะฉะนั้นที่ว่าเป็นฟันก็ดับไปแล้วเร็วมากเกิดแล้วดับแล้วเกิดแล้วดับแล้วทุกอย่าง เพราะฉะนั้นรูปที่ว่าขณะนี้มีฟันไหมถ้าตอบว่ามี คือจำว่ามี ถ้าตอบว่าไม่นี่ คือจำว่าไม่มี แต่ความจริงคือรูปใดก็ตามที่ไม่ปรากฏ รูปนั้นเกิดแล้วดับแล้วตลอดเวลา เร็วมาก
เพราะฉะนั้น เวลาที่ปัญญาจะรู้ความจริงนี่ เฉพาะรูปที่ปรากฏเท่านั้น เพราะว่ารูปอื่นเกิดแล้วดับแล้วหมด นี้ถึงจะไม่มีตัวเรา เพราะเหตุว่าจริงๆ คือสิ่งที่เกิดดับเร็วมากจนไม่เหลือ เหลือเฉพาะสิ่งที่เพียงปรากฏทางหนึ่งทางใดเท่านั้น คือทางตา สีกำลังปรากฏ ทางหู เสียงกำลังปรากฏ รูปอื่นนั้นเกิดแล้วดับแล้วทั้งหมด เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล
ผู้ฟัง ขอให้อาจารย์กรุณาอธิบายว่า เมื่อไม่มีชื่อแล้วเป็นบัญญัติ มีลักษณะที่ต่างจากที่เป็นปรมัตถ์นั้นอย่างไร
ท่านอาจารย์ คุณพรรทิพาเห็นอะไรคะตอนนี้
ผู้ฟัง เห็นสี
ท่านอาจารย์ เห็นแต่สีหรือคะ ไม่ได้รู้ว่าเป็นอะไรเลยหรือ
ผู้ฟัง ทราบว่าเป็นอะไร
ท่านอาจารย์ ทราบว่าเป็นอะไรใช่ไหม ยังไม่ต้องเรียกชื่อก็ทราบใช่ไหม
ผู้ฟัง ทราบ
ท่านอาจารย์ ขณะนั้นคือมีบัญญัติเป็นอารมณ์โดยไม่ต้องเรียกชื่อก็ได้
ผู้ฟัง ที่สนใจคือถ้าเป็นปรมัตถ์ จะรู้อย่างไรจึงจะต่างจากที่เรารู้โดยเป็นบัญญัติ คือเราก็ไม่รู้ชื่อ สมมติว่าเป็นเด็กมองไปก็ไม่รู้ชื่อ ต้นไม้เขาก็ไม่รู้
ท่านอาจารย์ แต่เด็กมีบัญญัติไหม
ผู้ฟัง เด็กก็มีบัญญัติ เพราะว่าเห็นนั้นก็เป็นรูปใช่ไหม แต่ถ้าจะให้เป็นปรมัต
ท่านอาจารย์ บอกเด็กบอกไม่ได้ค่ะ
ผู้ฟัง นั่นสิคะ ก็เลยสงสัยว่าลักษณะที่รู้แบบปรมัตถ์นี่
ท่านอาจารย์ ต้องฟังให้เข้าใจ ต้องมีการฟังถ้าไม่มีการฟังไม่มีทางรู้ อยู่ดีๆ จะรู้ขึ้นมาเองเป็นไปไม่ได้เลย ไม่มีใครสักคนจะรู้ได้ถ้าไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้ฟัง อาจารย์จะกรุณาอธิบายได้ไหมคะว่ารู้อย่างไรเป็นปรมัตถ์
ท่านอาจารย์ ฟังเข้าใจว่าปรมัตถธรรมคืออะไรเสียก่อน
ผู้ฟัง อย่างนี้ก็หมายความว่าเรามองไปแล้วต้องไม่เป็นแท่งเป็นรูป ต้องสลายใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่อย่างนั้น ทำอะไรไม่ได้เลย ทุกอย่างคงที่เหมือนเดิมเปลี่ยนแปลงไม่ได้ สภาพธรรมเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้นแต่สิ่งที่เพิ่มขึ้นคือความรู้ความเข้าใจถูก ในสิ่งที่ปรากฏ ไม่ใช่ไปเปลี่ยนแปลงสภาพธรรมให้เป็นอย่างอื่น
ผู้ฟัง ความเข้าใจถูกว่าแท้จริงแล้วมันคืออะไรกันแน่นะคะ
ท่านอาจารย์ ที่จริงการศึกษาธรรม คนอื่นจะบอกเราไม่ได้เลยว่าเราเข้าใจแค่ไหนเพราะเหตุว่ามีปรมัตถธรรม มีสภาพธรรมตลอดเวลา เพราะฉะนั้นถ้าเป็นผู้ที่ศึกษา และรู้ว่าศึกษาธรรมคือสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นคนนั้นก็สอบตัวเองได้ตลอดเวลาว่ามีความเข้าใจธรรมแค่ไหน เพราะเหตุว่าขณะนี้เป็นธรรมทั้งนั้น ไม่ใช่อยู่ในหนังสือ ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องราว แม้แต่ที่เราพูดเรื่องนามธรรม กับรูปธรรม ขณะนี้ไม่ใช่มีแต่รูปธรรม เพราะเหตุว่าถ้าเป็นรูปธรรมแล้ว จะไม่มีสภาพรู้เลย เช่นที่เราบอกว่าโต๊ะนี้ไม่มีสภาพรู้เลย ไม่เห็น แต่ทำไมเมื่อเป็นเราที่เคยเป็นเราก็เพราะเหตุว่ามีนามธรรมด้วยไม่ใช่มีแต่รูปธรรม ถ้าเรามีเพียงรูปตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า จะเหมือนกับโต๊ะ หรือท่อนไม้ เวลาที่เราตายทุกคนก็บอกว่าปราศจากวิญญาณแล้วก็เหมือนกับท่อนไม้ ก็เป็นความจริง เพราะตาก็ไม่เห็น หูก็ไม่ได้ยิน จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นก็ไม่รู้รส คิดนึกก็ไม่มีทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นจะไม่มีอะไรที่ต่างกันเลย
- สนทนาธรรม ตอนที่ 061
- สนทนาธรรม ตอนที่ 062
- สนทนาธรรม ตอนที่ 063
- สนทนาธรรม ตอนที่ 064
- สนทนาธรรม ตอนที่ 065
- สนทนาธรรม ตอนที่ 066
- สนทนาธรรม ตอนที่ 067
- สนทนาธรรม ตอนที่ 068
- สนทนาธรรม ตอนที่ 069
- สนทนาธรรม ตอนที่ 070
- สนทนาธรรม ตอนที่ 071
- สนทนาธรรม ตอนที่ 072
- สนทนาธรรม ตอนที่ 073
- สนทนาธรรม ตอนที่ 074
- สนทนาธรรม ตอนที่ 075
- สนทนาธรรม ตอนที่ 076
- สนทนาธรรม ตอนที่ 077
- สนทนาธรรม ตอนที่ 078
- สนทนาธรรม ตอนที่ 079
- สนทนาธรรม ตอนที่ 080
- สนทนาธรรม ตอนที่ 081
- สนทนาธรรม ตอนที่ 082
- สนทนาธรรม ตอนที่ 083
- สนทนาธรรม ตอนที่ 084
- สนทนาธรรม ตอนที่ 085
- สนทนาธรรม ตอนที่ 086
- สนทนาธรรม ตอนที่ 087
- สนทนาธรรม ตอนที่ 088
- สนทนาธรรม ตอนที่ 089
- สนทนาธรรม ตอนที่ 090
- สนทนาธรรม ตอนที่ 091
- สนทนาธรรม ตอนที่ 092
- สนทนาธรรม ตอนที่ 093
- สนทนาธรรม ตอนที่ 094
- สนทนาธรรม ตอนที่ 095
- สนทนาธรรม ตอนที่ 096
- สนทนาธรรม ตอนที่ 097
- สนทนาธรรม ตอนที่ 098
- สนทนาธรรม ตอนที่ 099
- สนทนาธรรม ตอนที่ 100
- สนทนาธรรม ตอนที่ 101
- สนทนาธรรม ตอนที่ 102
- สนทนาธรรม ตอนที่ 103
- สนทนาธรรม ตอนที่ 104
- สนทนาธรรม ตอนที่ 105
- สนทนาธรรม ตอนที่ 106
- สนทนาธรรม ตอนที่ 107
- สนทนาธรรม ตอนที่ 108
- สนทนาธรรม ตอนที่ 109
- สนทนาธรรม ตอนที่ 110
- สนทนาธรรม ตอนที่ 111
- สนทนาธรรม ตอนที่ 112
- สนทนาธรรม ตอนที่ 113
- สนทนาธรรม ตอนที่ 114
- สนทนาธรรม ตอนที่ 115
- สนทนาธรรม ตอนที่ 116
- สนทนาธรรม ตอนที่ 117
- สนทนาธรรม ตอนที่ 118
- สนทนาธรรม ตอนที่ 119
- สนทนาธรรม ตอนที่ 120