สนทนาธรรม ตอนที่ 080


    ตอนที่ ๘๐


    ท่านอาจารย์ นี่แสดงให้เห็นว่าไม่พ้นโลภะไปได้เลย โลภะทำให้ทำทุกอย่าง แม้แต่จะทำผิดๆ ก็จะทำ นั่นคือโลภะ แต่ถ้าจะทำถูกแล้วนั่นไม่ใช่โลภะ ถ้าถูกนั่นคือปัญญา เพราะฉะนั้นนี่ก็แสดงให้เห็นว่า เราจะต้องรู้จักโลภะจริงๆ ว่าโลภะนั้นทำให้เราเกิดมาเป็นตัวเราขณะนี้ แล้วก็ยังไม่พ้นจากโลภะ แต่ว่าเราก็ไม่ได้สะสมมาแต่โลภะ หรือว่าโทสะ หรือว่าอกุศลใดๆ เรายังมีการสะสมศรัทธา ความผ่องใสของจิตที่เห็นประโยชน์ของการที่จะเป็นพุทธบริษัทที่จะมีพระรัตนตรัยเป็นสรณะ อย่าลืมว่าถ้ามีพระรัตนตรัยเป็นสรณะแล้วต้องมีพระธรรมเป็นสรณะด้วย ไม่ใช่มีแต่พระพุทธรูป หรือว่าการที่เราจะกล่าวคำนมัสการเช้าค่ำ แต่ต้องมีธรรมเป็นสรณะคือมีศรัทธาที่จะฟัง ฟังเพื่ออะไร ก็เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ถ้าจุดประสงค์ผิด แม้ว่าจะมีพุทธบริษัทมากมายในประเทศไทย นอกประเทศไทย แต่ว่าจุดประสงค์ผิด เพราะไม่สามารถที่จะถึงความเข้าใจในพระรัตนตรัยได้จริงๆ หรือว่าการที่พระผู้มีพระภาคทรงบำเพ็ญพระบารมี เพื่อที่จะอนุเคราะห์พุทธบริษัท บุคคลเหล่านั้นก็ไม่สามารถที่จะได้รับมรดกของความเข้าใจธรรม เพราะฉะนั้นจุดประสงค์สำคัญที่สุดของการฟัง ไม่ใช่เพื่อฟัง แล้วจะปฏิบัติ หรือว่าฟังเพื่อที่จะปฏิบัติ หรือว่าอยากจะปฏิบัติ แต่ฟังเพื่อเข้าใจสภาพธรรม นี่คือปัญญา

    เพราะฉะนั้นเวลาที่บางคนก็บอกว่าเขาสูงอายุแล้ว หรือว่าโรคภัยไข้เจ็บมีมากเหลือเกินอยากปฏิบัติธรรม พูดอย่างนี้แสดงว่าอยาก แต่ว่าถ้าเข้าใจว่าการปฏิบัติธรรมก็คือการอบรมเจริญความรู้ถูก ความเห็นถูก ความเข้าใจถูก ซึ่งจะต้องตั้งต้นจากการฟัง เพราะฉะนั้นการฟังเป็นเครื่องวัดระดับความรู้ความเข้าใ ว่าฟังแล้วเข้าใจมากน้อยแค่ไหน ยังไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องของการปฏิบัติเลยทั้สิ้น เพราะปฏิบัติคือการอบรมความรู้ความเข้าใจ ซึ่งจะมีไม่ได้เลยถ้าไม่มีความเข้าใจขั้นการฟัง เพราะฉะนั้นขั้นการฟังนั้นจุดประสงค์ไม่ใช่เพื่อจะปฏิบัติเพราะว่าเพื่อจะเข้าใจธรรม ซึ่งการปฏิบัติก็คือการอบรมเจริญความรู้ความเข้าใจธรรม ไม่ใช่ว่าให้ไปทำอย่างอื่นเลย เมื่อการปฏิบัติคือการอบรมเจริญความรู้ความเข้าใจธรรม ขณะฟังเข้าใจ นั่นคือการอบรมเจริญความรู้ความเข้าใจธรรม ซึ่งเป็นขั้นต้น ยังข้ามขั้นไม่ได้ยังจะไปสู่การปฏิบัติไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าก่อนอื่นทุกคนต้องตรงที่จะเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วการที่มีจุดประสงค์ที่จะเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏนี้เองจะนำไปสู่การที่สติจะเกิด แล้วก็ปฏิบัติกิจของสติปัฏฐาน ซึ่งถ้าไม่มีเหตุปัจจัย ฟังเพื่อที่จะไปปฏิบัติแต่ไม่มีเหตุปัจจัยที่สติปัฎฐานจะเกิด ก็ไม่เกิด แล้วก็ไปหลงเข้าใจว่าอยากจะปฏิบัติหรือจะปฏิบัติ

    เพราะฉะนั้นให้ทราบว่าการปฏิบัติธรรมก็คือการอบรมเจริญความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเพิ่มขึ้น นี้เป็นจุดประสงค์ของคุณวีระหรือเปล่าคะ ยังไม่ให้ไปละกิเลส ยังไม่ให้หมดความเป็นวีระ ยังไม่ให้ไปปฏิบัติที่ไหน แต่ให้เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ พอใจไหมคะยังมีวีระอยู่ จนกว่าจะเป็นพระโสดาบัน ยังเป็นวีระอีกนาน แต่ว่าชาตินี้ก็แค่นี้ เป็นวีระชาตินี้ชาติหน้าเป็นใครไม่ทราบ ก็ยังเป็นคนนั้นต่อไปอีกจนกว่าจะเป็นพระอริยบุคคล

    ผู้ฟัง เดี๋ยวนี้คนเข้าใจคำว่าปฏิบัติไม่ถูกต้องคลาดเคลื่อนกันถ้าอย่างที่ท่านอาจารย์พูด เพราะว่าคนจะไปปฏิบัติส่วนใหญ่ก็จะไปปฏิบัติ ไปถือศีล ฟังเทศน์ที่วัดก็จะไปนั่งปฏิบัติ

    ท่านอาจารย์ เขาคงไม่ถึงกับจะไป เขาเพียงแต่ฟังแล้วเขาจะปฏิบัติ อาจจะป่วยไข้อยู่ แล้วเห็นว่ามีเวลาน้อย เพราะฉะนั้นจะปฏิบัติ เพียงความคิดอย่างนี้ยังไม่ต้องไปไหนคือไม่ใช่คนที่มีความเห็นผิดว่าต้องไป แต่คิดว่าจะปฏิบัติ

    ผู้ฟัง ทั้งๆ ที่นอนป่วยอยู่นี้อยากจะฟังธรรมเพื่อจะปฏิบัติ ที่คิดอย่างนี้นั้นถือว่าเป็นการไม่ถูกต้อง ใช่ไหมครับท่านอาจารย์ ถือว่าเป็นการไม่ถูกต้องเพราะว่าไม่รู้จะปฏิบัติอะไร

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าไม่เข้าใจว่าปฏิบัติคือการอบรมเจริญปัญญา การอบรมเจริญปัญญาต้องเป็นไปตามลำดับขั้น คือฟังธรรมแล้วเข้าใจ สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ผู้ที่รู้แจ้งแล้วรู้ว่าไม่ใช่ตัวตน นี่คือผู้ที่รู้แจ้ง เป็นธรรมจริงๆ กำลังเห็นเป็นธรรม ที่เห็นนั้นเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่ธาตุรู้ที่กำลังเห็น มีธาตุรู้ชนิดหนึ่งซึ่งกำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้นการปฏิบัติธรรมก็คือการอบรมเจริญความรู้ถูกทางตาที่กำลังเห็น อบรมเจริญความรู้ถูกทางหูที่กำลังได้ยิน เดี๋ยวนี้ขณะนี้ตามปกติ เพราะฉะนั้นไม่มีตัวเราที่จะปฏิบัติ เพราะว่าความรู้ถูกต้องเข้าใจถูก สัมมาทิฏฐิต้องมีในมรรคมีองค์ ๘ ถ้าไม่มีสัมมาทิฏฐิเป็นมรรค ๑ ในมรรคมีองค์ ๘ การปฏิบัติใดๆ ก็ไม่ถูก เพราะเหตุว่าไม่ทำให้เกิดความรู้ในสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นก่อนที่จะมีความรู้จริงในสิ่งที่กำลังปรากฏก็คือการอบรมขั้นฟัง ฟังให้เข้าใจ แล้วไม่ต้องห่วงเรื่องการปฏิบัติ เป็นเรื่องอบรมเจริญความรู้ความเข้าใจขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่ไปทำอย่างอื่น

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นขณะที่ฟังธรรมเพื่อให้มีความเข้าใจ นี้ก็ถือว่าเป็นเบื้องต้นของการปฏิบัติแล้วใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ เป็น ไม่ใช่ถือ

    ผู้ฟัง ขณะที่ฟังธรรมเพื่อให้เข้าใจธรรมที่ถูกต้อง ตามความเป็นจริง นี่เป็นการปฏิบัติเป็นเบื้องต้นของการปฏิบัติ

    ท่านอาจารย์ นี่คือการอบรมเจริญปัญญา เป็นการอบรมปัญญาซึ่งเกิดจากการฟัง การฟังต้องมีปัญญา

    ผู้ฟัง ทำอย่างนี้แล้วสติปัญญาก็จะเกิด

    ท่านอาจารย์ ฟังเข้าใจขณะไหนขณะนั้นเป็นปัญญาที่เกิด

    ผู้ฟัง และเมื่อสติปัญญาเกิด สติปัญญาเขาก็จะทำหน้าที่ของเขา

    ท่านอาจารย์ เมื่อเข้าใจขึ้นๆ นั้นคือการอบรมเจริญปัญญา

    ผู้ฟัง นี่เป็นการปฏิบัติในตัวไปเลย

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีการเข้าใจ ปัญญาไม่มีเลยแล้วจะปฏิบัติอะไร ภาวนาหรือว่าการปฏิบัติคือการอบรมเจริญความเข้าใจถูกความเห็นถูก เพราะฉะนั้นกำลังฟังนี่คือการอบรมเจริญความเห็นถูก จนกว่าจะถึงขั้นที่สติปัฏฐานเกิดระลึก นั้นเป็นมรรคมีองค์ ๘

    ผู้ฟัง แต่อันนี้แก้ไขยากครับท่านอาจารย์ ตามชนบท เท่าที่ผมทราบ

    ท่านอาจารย์ แต่ไม่เป็นไรค่ะ เรื่องของคนอื่นทิ้งไป

    ผู้ฟัง คือเขาบอกว่า มัวแต่มาฟังมาสนทนากันอยู่ แล้วเมื่อไหร่จะได้ปฏิบัติสักที เพราะว่า เมื่อปฏิบัตินั้นจะรู้จริง ฟังอยู่ สนทนากันอยู่นั้นคือไม่รู้จริงหรอก ต้องไปนั่งปฏิบัติแล้วจะเห็นจริง

    ท่านอาจารย์ เข้าใจหรือยัง เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้หรือยัง ถ้ายังไม่เข้าใจ และจะปฏิบัติอะไร

    ผู้ฟัง ผมก็บอกว่าจะปฏิบัติหาอะไร เพราะว่าปฏิบัติมันเป็นเพียงชื่อเท่านั้นเอง ขณะใดที่สติระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่ละขณะๆ เฉพาะๆ ถึงเฉพาะๆ แต่ละขณะ นั้น นั่นเรามาบัญญัติคำว่าปฏิบัติ แต่ก็ทำให้คนมาติดคำว่าปฏิบัตินี้จน จนไม่รู้ว่าคืออะไรกันแน่

    อ. สมพร ก็ถูกแล้ว คือขณะที่เราฟัง ฟังธรรมแล้วก็เข้าใจ แล้วก็มีมนสิการก็ถึงธรรมนั้นโดยเฉพาะ มนสิการคือใส่ใจในธรรม ขณะนั้นก็เรียกว่าปฏิปัตติคือถึงเฉพาะแล้ว แต่ถึงเฉพาะนี่ก็ยังมีความหมายหลายอย่าง หมายความว่าถึงเฉพาะ ซึ่งไม่มีอะไรปิดกั้น ซึ่งเรียกว่าปฏิเวทแล้วนั้นสูงขึ้นไปอีก ขณะที่เราเข้าใจเนื้อความนั้นก็เป็นการถึงเฉพาะแล้ว ก็เรียกว่าเป็นการปฏิบัติเหมือนกัน แต่ว่ายังไม่ถึงที่สุด เพราะว่าปฏิบัติอาศัยการฟัง ฟังเสียก่อน ฟังแล้วก็คิด คิด และก็ใส่ใจถึงธรรมที่พูดนั้น นี่ก็เป็นการปฏิบัติ หรือเรียกอีกอย่างว่า โยนิโสมนสิการ ใคร่ครวญถึงธรรมนั้น นีาคือการปฏิบัติ แต่ว่าการปฏิบัตินี้พอสมัยนี้ก็มีความคลาดเคลื่อนไปอีก ต้องไปเข้าสำนักปฏิบัติจึงจะปฏิบัติได้ นี่เป็นการคลาดเคลื่อน ในสมัยก่อนพระพุทธเจ้ากำลังแสดงธรรมเขาก็ใคร่ครวญไปขณะนั้นเองติดต่อกันไป ฟังแล้วก็ใคร่ครวญ คือฟังแล้วก็ปฏิบัติขณะนั้นเอง เมื่อจบธรรมเขาก็สำเร็จเป็นพระอริยบุคคล แต่สมัยนี้ก็กล่าวถึงการปฏิบัติจะต้องเข้าสำนักปฏิบัติ ซึ่งเป็นการที่คลาดเคลื่อนไปไม่ตรงต่อความเป็นจริง หมายถึงว่าการใส่ใจมนสิการถึงสิ่งนั้นคือธรรมอันนั้น นี่เป็นการปฏิบัติ เรียกว่า ปฏิปัตติ

    ท่านอาจารย์ มีคนที่กลัวนิพพาน คุณวีระกลัวไหมคะ

    ผู้ฟัง กระผมยังไม่กลัว นิพพานเลย เพราะแค่นิดเดียวก็คงจะกลัวแล้ว คือความกลัวนี้ถ้าจะกล่าวถึงแล้วเป็นความรู้สึกว่า คือมันจะต้องจากสิ่งที่ คือก็ไม่ได้จากยังมีชีวิตอยู่ แต่ว่างานการก็ตาม เงินเดือนที่จะได้ขณะนี้ก็ตาม หรืออะไรต่างๆ เป็นความคิดที่ฟุ้งไปหมด

    ท่านอาจารย์ เพียงแต่ว่าถ้ารู้ว่ามีความเห็นผิด กลัวที่จะมีความเห็นผิดต่อไปไหม แล้วก็มีความเห็น ๒ อย่าง คือมีความเห็นถูกอย่างหนึ่ง กับมีความเห็นผิดอย่างหนึ่ง คุณวีระคิดว่าควรจะมีความเห็นถูกหรือควรจะมีความเห็นผิด อย่าไปกลัวความเห็นถูกแต่ควรจะกลัวความเห็นผิด เพราะฉะนั้นถ้ามีความเห็นผิดว่าเป็นตัวตน นี่คือความเห็นผิดแน่นอน ส่วนความเห็นถูกคือความรู้ที่ถูกต้องว่าไม่มีตัวตน ไม่ได้หมายความว่าไม่มีคุณวีระ คือวีระนี้เป็นเพียงชื่อ แต่ว่าสภาพธรรมจะต้องเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยแม้ว่าจะไม่ชอบที่จะเป็นตัวคุณวีระ บางคนก็อาจจะไม่ชอบตัวนี้ อยากจะเป็นตัวอื่น ก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้เพราะเหตุว่าสภาพธรรมทุกอย่างต้องเกิด จะไม่ให้มีคุณวีระคือไม่มีชื่อวีระเท่านั้นไม่พอ ต้องไม่ให้มีทั้งหมดที่เป็นวีระก็ไม่ได้ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมต้องเกิดเพราะเหตุปัจจัย

    บางคนเขาบอกว่าเขาไม่อยากจะมีชีวิตอยู่ต่อไปอีกเลย หนีไม่พ้น คือจะอยากหรือไม่อยากอย่างไรก็ตาม สภาพธรรมต้องเกิดตามเหตุตามปัจจัย ถึงจะไปหลอกเขาไปปลอบว่าก็ไม่ต้องเกิดอีกอย่างนั้นอย่างนี้ก็ตาม นั้นเป็นเรื่องเท็จ เรื่องจริงคือ อย่างไรก็ต้องมีเหตุปัจจัยที่จะต้องทำให้เกิด เพราะฉะนั้นสิ่งที่มีเหตุปัจจัยเกิด ความเห็นผิดที่ไปยึดถือว่าเป็นเราหรือของเราต่างหาก ที่ทำให้เราเกิดความกลัวว่าเราจะไม่มีสิ่งนี้ จะสูญสิ่งนี้ไป นี่เป็นความเห็นผิดเพราะว่าจริงๆ แล้วสิ่งนี้ไม่ใช่ของเรา แล้วก็ไม่มีเรา แต่ว่าความยึดถือทำให้กลัวว่าจะไม่มีเรา ความเห็นผิดนี่จะเห็นได้เลยว่านำมาซึ่งความผูกพัน และความยึดมั่น แต่ถ้ามีความเห็นถูกว่าเราไม่มี นี่จริงๆ แล้วสบายใจ โล่งหมดเลย เกียรติยศชื่อเสียงทั้งหมดนั้นจริงๆ แล้วก็ไม่มี เพราะไม่มีคน มีแต่โลภะซึ่งเป็นความยึดติดในเกียรติ หรือว่าในอะไรก็แล้วแต่ แต่ว่าจริงๆ แล้วสิ่งต่างๆ เหล่านั้นถ้าไม่มีสภาพธรรมที่มีปัจจัยเกิดขึ้น ก็ไม่มีเลย คนก็ไม่มี อะไรก็ไม่มี แต่เพราะเหตุว่าเมื่อมีสภาพธรรมนี้เกิดแล้วมีความไม่รู้ จึงมีความยึดมั่นในสิ่งที่เกิดนี้ว่าเป็นเรา แต่ละคนก็มีความยึดมั่นในสิ่งที่เกิดนั้นว่าเป็นเรา เมื่อมีเราแล้วยังไม่พอ ยังต้องการทุกอย่างที่ดีทั้งนั้นสำหรับเรา เช่น ลาภก็ยังไม่พอ มีลาภแล้วก็ยังไม่พอ ต้องมียศอีก มียศแล้วก็ยังไม่พอ ทั้งลาภทั้งยศ ต้องมีสรรเสริญอีก นี่แสดงให้เห็นว่าทุกอย่างที่เราคิดว่าเป็นเรา หรือของเราแท้ที่จริงแล้วก็เป็นสภาพธรรมที่มีเหตุปัจจัยเกิดแล้วดับ แต่ความไม่รู้ทำให้ติด และก็เป็นทุกข์เมื่อไม่ได้สิ่งต่างๆ เหล่านั้น เพราะฉะนั้นถ้าเรารู้ว่า ไม่มีตัวเรา ชื่อวีระเฉพาะชาตินี้ชาติเดียว เวลาที่ตายแล้วจะมาผูกพันกับชื่อนี้อีกๆ ไหม จะเป็นคนนี้อีกหรือเปล่า มองเห็นก็ไม่รู้ว่าคนนี้เป็นใคร เห็นกองกระดูกก็อาจจะไม่รู้ว่านี้เคยเป็นเราในพันชาติมาแล้วหรืออะไรอย่างนั้น เพราะว่าจริงๆ แล้วไม่มีเรา ไม่มีตัวเรา เพราะฉะนั้นลาภก็เป็นของที่ว่างเปล่า เพราะเหตุว่ามีเฉพาะขณะที่เห็น เวลานี้ไม่เห็น อยู่ที่ไหนลาภของเรา เห็นอีกเมื่อไหร่ก็เป็นของเราเมื่อนั้น แต่ว่าสูญไปเมื่อไหร่ ความทุกข์ก็เกิดขึ้น เพราะว่าไม่รู้ตามความเป็นจริงว่า ทุกอย่างต้องเกิดตามเหตุตามปัจจัย

    เพราะฉะนั้นถ้ามีปัญญาที่เห็นถูก จะทุกข์เพราะไม่ได้ลาภไหม จะทุกข์เพราะไม่ได้ยศไหม จะทุกข์เพราะไม่ได้สรรเสริญไหม จะทุกข์เพราะว่าหมดความสุขไหม ก็ไม่มีทุกข์ เพราะเหตุว่ารู้ความจริงว่า ทุกอย่างเพียงอาศัยเหตุปัจจัยเกิดแล้วดับ ลาภก็ไม่เที่ยง ยศก็ไม่เที่ยง สรรเสริญก็ไม่เที่ยง สุขก็ไม่เที่ยง ทุกอย่างเป็นเพียงชั่วขณะที่เป็นปรมัตถธรรมที่เกิดแล้วดับ แต่เพราะความไม่รู้จึงติดอย่างมากๆ แล้วก็เป็นทุกอย่างมากๆ เพราะสิ่งต่างๆ เหล่านั้น เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีตัวเราจะเริ่มมีความเบาจะเริ่มมีความสบาย ถ้าคุณวีระเป็นคนใหญ่มาก ใหญ่โตสำคัญเหลือเกิน ถ้าใครไม่ปฏิบัติกับคุณวีระสมเกียรติยศหรือฐานะ เป็นทุกข์ไหม

    ผู้ฟัง ต้องเป็นทุกข์แน่

    ท่านอาจารย์ แต่ถ้าไม่มี เรานี่เล็กลงๆ จนไม่มีเรา นี่สบายไหม ใครจะทำอะไรก็เรื่องของเขา ไม่เดือดร้อน อย่างนี้เราก็ยังจะเสียดายไหม ความที่จะยังคงเห็นผิดที่ยึดถือตัวนี้ว่าเป็นเรา ยังไม่อยากจะให้หมดไป

    ผู้ฟัง ใช่ครับ ก็ยังคงห่วงว่า ข้างๆ เขาว่านี่ใหญ่ขนาดนี้แล้วไม่ทำให้สมอย่างที่ใหญ่ บางคน คนอื่นก็ทำให้สังคมของเขาเสียหมดอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วฟังเหมือนกับว่าเขาทำให้คุณวีระเป็นทุกข์ แต่ความจริงเพราะกิเลสของคุณวีระเอง ทำให้คุณวีระเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นไม่เกี่ยวกับเขา เขาคือเขา อย่างไรๆ เขาก็คือเขา เขาจะนำความสุขมาให้คุณวีระไม่ได้เลย เขาจะนำความทุกข์มาให้คุณวีระไม่ได้เลย ใจของคุณวีระเท่านั้นที่เป็นสุข หรือเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นอยู่ที่ว่าปัญญาเกิดมากหรือน้อยความเป็นตัวตนลดลงบ้างหรือเปล่า ถ้ามีความเต็มไปด้วยความตัวตนความยึดมั่น คุณวีระก็เป็นทุกข์ตลอดไป แล้วยังไม่อยากจะหมดความทุกข์อันนี้อีก เพราะยังอยากจะมีความเป็นตัวตนอีก นี่ก็แสดงให้เห็นว่าไม่รู้ว่าอะไรเป็นทุกข์ และไม่รู้ว่าอะไรเป็นเหตุของความทุกข์ เพราะฉะนั้นก็พ้นทุกข์ไม่ได้ แล้วยังต้องการที่จะมีปัญญาเพิ่มขึ้นไหม

    ผู้ฟัง ต้องการที่จะมีปัญญาเพิ่มขึ้น แต่ในช่วงที่ว่ากลัวคือว่าเมื่อสภาพธรรมที่ปรากฏ ปรากฏขึ้นมา เป็นเพียงแต่สภาพที่ปรากฏเท่านั้นเอง

    ท่านอาจารย์ คือเมื่อสภาพจะปรากฏก็เดี๋ยวนี้ก็กำลังมีสภาพธรรมปรากฏ แต่ปัญญาไม่รู้ต่างหาก เพราะฉะนั้นก็ผ่านไปโดยปัญญาไม่เกิด สภาพธรรมเขาเกิดเพราะมีเหตุปัจจัยแต่ว่าปัญญาไม่เกิด

    ผู้ฟัง ก็คือว่าไปห่วงที่สภาพธรรมที่เกิดไปแล้ว ว่าเป็นอย่างนั้นก็เลยคิดไปสภาพธรรมก็ไม่มีอาการเกิดขึ้นอีก

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้สภาพธรรมกำลังเป็นอย่างนี้ชั่วขณะสั้น เพราะฉะนั้นนี่เป็นสิ่งที่จะทำให้ไม่กังวลถึงสิ่งที่ผ่านไปแล้ว เพราะว่าถ้านึกถึงสิ่งที่ผ่านไปแล้วปัญญาไม่รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะปรากฏสั้นมาก สภาพธรรมทุกอย่างปรากฏสั้นแสนสั้นค่ะ

    ผู้ฟัง ก็ยังแปลกใจที่ท่านอาจารย์ได้กล่าวว่า ถ้าเป็นปัญญาจริงๆ ที่จะทราบธรรมที่ปรากฏแล้วต้องเบาสบาย แต่การเบาสบายนี่ คือการเบาสบายก็ปรากฏขึ้น คือปรากฏขึ้นหลังจากที่มีอาการที่ทราบสภาพที่ปรากฏ ปรากฏขึ้นแต่ว่าความเบาสบายนั้นบ้างก็ข้ามตอนไปเสีย คือหมายความว่าก็มาคิดถึงเรื่องว่า ถ้าเผื่อว่ามีแต่สิ่งที่ปรากฏนี่ความเบาสบายนี้น่าจะเถียงอาจารย์ว่าไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ เพราะเห็นว่ายังมีความเป็นตัวตนอยู่ เพราะฉะนั้นก็กลัวเหลือเกินว่าที่จะรู้ความจริงว่าขณะนี้ไม่ใช่ตัวตน แต่จริงๆ แล้วพูดถึงความเบาสบาย ทุกคนก็ยังมองไม่ออก เลยจริงๆ ว่าจะเบาสบายได้อย่างไร เพียงแค่ว่าถ้าชีวิตที่เหลือของคุณวีระคุณวีระจะ ...

    ผู้ฟัง บวชครับ

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ค่ะ การบวชไม่ใช่เหตุที่จะทำให้เบาสบายเลย ถ้ายังมีกิเลสอยู่บวชก็เป็นทุกข์แน่นอน เพราะฉะนั้นบวชหรือไม่บวชอยู่ที่ปัญญา ว่าปัญญาเพิ่มขึ้นหรือเปล่า เพียงแต่ว่าในชีวิตที่เหลือของคุณวีระ คุณวีระจะลดความคิดถึงตัวเองน้อยลง แล้วก็ทำทุกอย่างเพื่อคนอื่นเพิ่มขึ้น แค่นี้เบาแล้ว สบายแล้ว ยังไม่ต้องไปรู้ความจริงไม่มีเรา ซึ่งความจริงคือไม่มี แต่เพียงชั่วชีวิตที่สั้นๆ ทำสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับคนอื่นแล้วก็ลืมตัวเอง เพราะว่าจริงๆ แล้วเมื่อไม่มีตัวแต่เพราะเหตุว่าปัญญายังไม่ถึงขั้นที่จะรู้แจ้งอย่างนั้น เราก็สามารถที่จะคิดถึงตัวเองให้น้อยลง แล้วก็คิดถึงคนอื่นเพิ่มขึ้น ก็เป็นทางที่จะค่อยๆ ลดความเห็นแก่ตัว หรือว่าความทุกข์เพราะตัวนี้ให้น้อยลง เวลาที่คุณวีระทำอะไรให้คนอื่น และรู้สึกว่าขณะนั้นไม่ได้คิดถึงตัวเราเอง วันนั้นทั้งวัน คืนนั้นทั้งคืนคุณวีระก็คงจะสบายใจว่า ไม่ต้องมากังวลกับตัวเอง แต่ทีนี้ความทุกข์นี่เพราะความกังวลกับตัวเองทั้งนั้น และทุกคนกังวลกับตัวเองมากมายเหลือเกิน โดยไม่รู้ว่ากังวลในลักษณะใดบ้าง แต่ออกมาในชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้นถ้าเราจะเจริญกุศลเพิ่มขึ้นอย่างที่ว่า นอกจากจะละชั่ว แล้วยังทำความดีนั่นก็เป็นทางหนึ่ง ซึ่งค่อยๆ จะอบรมไปจนกว่าเมื่อทำความดีเท่านั้นยังไม่พอ ยังต้องฟังธรรมให้เกิดปัญญา ต้องประกอบกันไปด้วย พอเกิดปัญญามีความรู้เพิ่มขึ้น ก็จะนำไปสู่การชำระจิตให้บริสุทธิ์ แล้วจะกลัวความไม่มีตัวได้อย่างไรในเมื่อไม่มีตัวอยู่แล้ว แต่ไปรักตัว หวงตัว ยึดมั่นในตัวต่างหากที่เป็นทุกข์

    ผู้ฟัง ซึ่งเราควรจะต้องทำความเข้าใจกับรูปธรรมหรือนามธรรมให้ได้มากๆ จริงๆ เลย จะพูดซ้ำพูดซากอะไรก็แล้วแต่ กระผมเป็นผู้ที่ฟังมา

    ท่านอาจารย์ คิดว่าเราไม่ต้องไปทรมานตัว ถึงขนาดที่ว่าจะต้องที่ได้ให้มากๆ อะไรอย่างนี้ คือเป็นเรื่องของการอบรมจริงๆ จุดประสงค์คือว่าเราเป็นผู้ไม่รู้ แล้วก็มีผู้รู้ที่ทรงแสดงไว้ เพราะฉะนั้นเราก็เป็นผู้ที่ดำเนินรอยตาม หรือว่าเดินตาม คืออบรมเจริญความรู้ เท่าไรก็เท่านั้น แล้วค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไปโดยความไม่ใช่ตัวเรา ไม่อย่างนั้นจะมีความรู้สึกหนัก ว่าอยากจะมีปัญญามากๆ อีกแล้ว หรือว่าอยากจะให้สติเกิดบ่อยๆ เมื่อไหร่อย่างนั้นอย่างนี้ใช่ไหม ซึ่งขณะนั้นทั้งหมดเป็นอกุศล

    เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วธรรมก็คือว่า เมื่อเราได้ทราบว่าทุกอย่างเป็นธรรมแล้วก็เป็นอนัตตา เพราะฉะนั้นการฟังให้เข้าใจขึ้นคือการอบรมเจริญปัญญาขึ้นเรื่อยๆ ด้วยความเบาสบาย ไม่มีความอยากเข้าไปเจือปนว่าเราอยากจะให้เข้าใจมากๆ วันนี้ หรืออะไรอย่างนั้น แต่ว่าเพื่อเข้าใจขึ้น

    อ. สมพร เรื่องกลัว ละยากนะครับ ถ้าเราพิจารณาดูความกลัวนั้นเกิดจากอะไร ความกลัวนี่เกิดจากอะไร ลองพิจารณา

    ผู้ฟัง คือ ไม่ทราบ ไม่รู้อะไร

    อ. สมพร คือความกลัวนั้นเป็นธรรมอะไร แล้วเกิดจากอะไร เราก็ต้องพิจารณาดูครับ ความกลัวนั้นเป็นธรรมอะไร

    ผู้ฟัง เป็นความกลัวนั้นก็คือเจตสิกที่เกิดร่วมกับโทสมูลจิต


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 11
    23 พ.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ