สนทนาธรรม ตอนที่ 088


    ตอนที่ ๘๘


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเรื่องราวต่างๆ ที่จิตกำลังรู้ ไม่ต้องอาศัยตา ตาเพียงแต่ทำให้จิตเห็นหรือจิตที่กำลังรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้นไม่ได้คิดอะไร นั่นเป็นทางหนึ่ง ทางหูก็แค่ได้ยิน มีกุศลจิตอกุศลจิตเกิดได้ในเสียง แต่ไม่ได้คิดอะไร แต่ว่าสำหรับทางใจเมื่อเห็นแล้วคิดทันที ต่อทันทีเลย นั่นคือธรรมารมณ์ เพราะฉะนั้นธรรมารมณ์หมายความถึงอารมณ์ใดๆ ก็ตามที่รู้ได้เฉพาะทางใจทางเดียวเท่านั้น วันหนึ่งๆ ก็ครบทั้ง ๖ อารมณ์ คือทางตา ๑ อารมณ์ ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ รวมเป็น ๕ แล้วก็ทางใจอีก๑ อารมณ์

    ผู้ฟัง อย่างนี้ธรรมารมณ์ก็จะเป็นบัญญัติแน่ๆ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ แน่นอน

    ผู้ฟัง ธรรมารมณ์นี่เป็นปรมัตถ์ได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ได้

    ผู้ฟัง กรุณายกตัวอย่างว่าแตกต่างกับอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย อย่างไร

    ท่านอาจารย์ เท่าที่เราจะรู้ได้ในขณะนี้ ความคิดนึกมี ขณะนั้นความคิดนึกไม่ใช่สี ความคิดนึกไม่ใช่เสียง แต่เป็นคำเป็นเรื่อง หรือว่าจะนึกถึงรูปร่างสัณฐานก็ได้ แต่ขณะนั้นไม่ใช่เห็น เพียงแต่นึกถึงรูปร่างสันฐาน ขณะนี้ภูเขาทองไม่ได้ปรากฏ นึกถึงได้ไหม นึกได้ เพราะฉะนั้นขณะที่ไม่ได้ปรากฏ และมีความทรงจำนึกถึงรูปร่างสัณฐานเท่านั้น ขณะนั้นเป็นธรรมารมณ์ นี่คือสิ่งในชีวิตประจำวัน แต่ถ้าจะคิดถึงว่าแล้วอะไรอีกที่จะเป็นธรรมมารมณ์ นามธรรมมีมาก รูปธรรมก็มีมาก นามธรรมทั้งหมดมองไม่เห็นเลย จิตนี่ ใครมองเห็น รู้ว่ามีแต่ไม่เห็น ไม่มีรูปร่าง ไม่มีอะไรที่เราสามารถจะไปจับไปยึดลักษณะของจิตได้ เพราะว่าจิตว่างเปล่าจากรูปทั้งสิ้น เป็นแต่เพียงธาตุชนิดหนึ่งซึ่งเกิด ไม่ใช่ไม่เกิด เกิดแล้วรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด ตั้งแต่เกิดจนตายตลอด นั่นคือจิต เพราะฉะนั้นจิตเป็นธรรมารมณ์ ขณะใดที่รู้สภาพของจิต มีจิตกำลังปรากฏให้รู้ ขณะนั้นรู้ทางใจเป็นธรรมารมณ์ เจตสิกทั้งหมดเป็นธรรมารมณ์ รูปอื่นๆ นอกจากรูปที่กล่าวมาแล้วทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ๗ รูป เป็นธรรมารมณ์ นิพพานเป็นธรรมารมณ์ บัญญัติเป็นธรรมารมณ์

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นเหมือนกับที่บอกว่าถ้าเราไม่มีทวารทั้ง ๖ เราก็ไม่ม่จิต ก็ช่วงนิดเดียว

    ท่านอาจารย์ จิตมีแต่ไม่ปรากฏ จิตต้องเกิด เช่นขณะที่เกิดขณะแรกยังไม่รู้จักโลกนี้เลย ไม่มีการเห็นโลกนี้ ไม่มีการได้ยินเสียง ไม่มีการคิดนึกใดๆ ทั้งสิ้น แต่มีจิตเกิดจึงชื่อว่าปฏิสนธิจิต เพราะฉะนั้นมีจิตอยู่ ๓ ประเภท ซึ่งไม่รู้อารมณ์ทางตาหูจมูกลิ้นกายใจคือ ๑ ปฏิสนธิจิต ๒ ภวังคจิต ๓ จุติจิต จิต ๓ ประเภทนี้ไม่ต้องอาศัยทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทางนี้ก็รู้อารมณ์ เพราะเหตุว่าจิตเป็นสภาพที่รู้อารมณ์ ด้วยเหตุนี้จึงกล่าวว่ามีจิตที่เป็นวิถีมุตตจิตคือไม่ใช่วิถีจิต เป็นทวารวิมุตตจิตเพราะเหตุว่าไม่ต้องอาศัยทวารแต่ก็ต้องรู้อารมณ์ คือถ้าเป็นจิตแล้วจะไม่รู้อารมณ์ไม่ได้ สิ่งที่ไม่รู้อารมณ์ไม่ใช่จิต สิ่งใดที่เกิดถ้ารู้อารมณ์ต้องเป็นจิต หรือถ้าเป็นสภาพรู้ก็ต้องเป็นจิต และเจตสิก

    ขณะที่จิตเกิดขึ้นขณะหนึ่ง แล้วก็มีรูปหรือนามเป็นอารมณ์ก็ตามแต่ แต่เหมือนรวมกันเป็นโลกทั้งโลกซึ่งแน่นทึบ ตามความเป็นจริงแล้วถ้าขณะใดที่เฉพาะสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้นปรากฏ สิ่งอื่นจะปรากฏไม่ได้เลย หรือขณะใดที่เฉพาะเสียง เสียงอย่างเดียวปรากฏ โลกทั้งโลกหมดไม่มีเหลือ มีแต่เฉพาะธาตุรู้กับเสียง นั่นถึงจะเห็นความจริงว่าจิตเกิดขึ้น และก็รู้อารมณ์ทีละอย่าง แต่เวลานี้ก็รวมหมดหนาแน่นเป็นโลกมหึมา แล้วก็มีคนมากมายตามความคิดนึกต่างๆ นี่ก็แสดงให้เห็นว่าจิตเกิดดับเร็วมาก แต่ผู้ที่จะเข้าใจความหมายของอนัตตาหมายความว่าสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตนไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่บุคคลก็เริ่มตั้งแต่ฟังแล้วก็พิจารณาให้เห็นว่าจิตมีจริงๆ แต่ว่าไม่ใช่ใครเลยทั้งสิ้น กุศลจิตก็มีจริงๆ ก็ไม่ใช่ใครเลยทั้งสิ้น อกุศลจิตก็มีจริงๆ ก็ไม่ใช่ใครเลยทั้งสิ้น เป็นแต่เพียงสภาพธรรมจะเริ่มเข้าใจความหมายของธรรมว่าธรรมเป็นธรรมเท่านั้น เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไปอยู่เรื่อยๆ สืบต่อกันไป ให้ทราบว่าจิตเกิดขึ้นทีละหนึ่งขณะ แล้วก็รู้อารมณ์ทีละอย่าง

    ผู้ฟัง บางครั้งเราได้ยินว่าทวารทั้ง ๕ บางครั้งเราได้ยินว่าทั้ง ๖ ทวาร ตรงไหนที่ใช้ ๕ ทวาร กรณีไหนใช้ ๖ ทวาร

    ท่านอาจารย์ หมายความว่า ๕ ทวารก็ไม่รวมมโนทวาร

    ผู้ฟัง ทำไมเราไม่บอกว่า ๖ ทวาร หรือเหมือนศีล ๕ เราก็บอกคนละพวกกับศีล ๘

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าแยกกันอย่างนี้สำหรับสีปรากฏทางตาจักขุทวารแล้วทางมโนทวารยังรับรู้สีต่อด้วย เพราะฉะนั้นสำหรับสีรู้ได้ ๒ ทวาร คือทางจักขุทวารวาระหนึ่ง เมื่อสีดับไปแล้วทางมโนทวารเกิดขึ้นรู้สีนั้นต่ออีกวาระหนึ่ง เพราะฉะนั้นก็ต้องสลับกันอย่างนี้

    ผู้ฟัง จะพูดถึงเกี่ยวแต่เพียงกรณีที่เรียกว่าสภาพที่เห็น

    ท่านอาจารย์ ถูกค่ะ แต่ว่าที่เห็น เห็นด้วยปัญญาความเข้าใจที่ถูกต้อง กับพยายามที่จะตั้งใจให้เห็น จะไม่เห็นอย่างนี้ เพราะเหตุว่าการที่จะเห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ต้องเป็นปัญญาที่เห็น ไม่ใช่เป็นความจงใจหรือความตั้งใจที่จะเห็น เพราะฉะนั้นในมรรคมีองค์ ๘ ไม่มีเจตนาเจตสิกเลยทั้ง ๘

    เพราะฉะนั้นไม่ใช่มีใครที่ฟังเรื่องปรมัตถ์ธรรมแล้วจงใจตั้งใจที่จะให้เห็นเป็นทีละขณะ หรือว่าให้รูปปรากฏทีละทางหรือที่ละทวารไม่ใช่อย่างนั้นเลย ต้องเป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญาซึ่งปัญญาคือความเข้าใจที่ถูกต้อง ความเห็นที่ถูกต้องในสิ่งที่กำลังได้ยินได้ฟังในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่าตรงกับความเป็นจริงแล้วก็ค่อยๆ อบรมขึ้น แต่ถ้าเป็นความตั้งใจแล้วไม่มีทางเลยที่จะเห็นได้ หรือว่าไม่มีทางเลยที่จะละความเป็นตัวตนว่าเราเห็น

    ผู้ฟัง ก็ถูกต้องว่าถ้ามีความตั้งใจที่จะจดจ่อก็จะเป็นสภาพที่มีตัวเราบังอยู่ แต่ถ้าเราไม่ตั้งใจปล่อยให้ภาพนั้นผ่านไปเป็นสภาพรู้สภาพเห็น ก็จะเห็นภาพที่ผ่านไปดังที่ผมได้พูดมา

    ท่านอาจารย์ อย่างนี้ทั้งหมดไม่ใช่เรื่องเห็น แต่เป็นเรื่องความรู้ความเข้าใจถูกต้องขึ้นในสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะโดยมากคนจะใช้คำว่าเห็นๆ แล้วคนก็มุ่งที่จะเห็น แต่ว่าไม่ได้อบรมเจริญปัญญาเลย พยายามทุกอย่างที่จะเห็น ใครบอกให้ทำอะไรก็ทำเพื่อที่จะเห็น แต่ทั้งหมดไม่ใช่ปัญญา เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจว่าปัญญาคืออะไร แล้วก็ปัญญารู้อะไร และปัญญาเริ่มจากอะไรด้วย ถ้าจงใจที่จะไปพยายามที่จะให้เห็นขณะนั้นไม่ใช่ปัญญาแน่นอน

    ผู้ฟัง ในขั้นเริ่มต้นนี่จะจำเป็นจะต้องจงใจก่อนไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้เลย ไม่ได้เลยเด็ดขาด เพราะฉะนั้นอย่าลืมเรื่องอริยสัจ ๓ รอบ สัจจญาณ กิจจญาณ กตญาณ ถ้าไม่มีความเข้าใจถูกในอริยสัจ ๓ รอบนี้แล้วไม่มีทางเลยที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม รอบที่ ๑ คือสัจญาณ ความจริงแท้ๆ ของสภาพธรรมรู้ว่าขณะนี้สภาพธรรมที่มีจริงๆ แล้วก็กำลังเกิดดับที่เป็นทุกขอริยสัจ ไม่ใช่ทำอย่างอื่นไม่ใช่ไปพยายามอย่างอื่นแต่ให้มีความเข้าใจให้ถูกต้องจริงๆ ว่าตราบใดที่ยังไม่ประจักษ์การเกิดดับขณะนั้นไม่ใช่ทุกขอริยสัจ แล้วไปพยายามทำอย่างอื่นก็ไม่สามารถที่จะประจักษ์ได้ด้วย เพราะฉะนั้นไม่มีการเปลี่ยนจากการที่จะรู้ว่าปัญญารู้อะไร ปัญญารู้สภาพธรรมเดี๋ยวนี้ที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงคือการเกิดขึ้น และดับไป เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ทำ แต่เป็นการอบรมความเข้าใจขึ้นทีละเล็กทีละน้อย นี้คือสำหรับสัจญาณของอริยสัจที่ ๑

    สัจญาณของอริยสัจที่ ๒ เห็นว่าโลภะเป็นสมุทัย ประการนี้ต้องยากขึ้นมาอีก มีใครบ้างคะที่จะเห็นโลภะ เวลาที่พยายามจงใจตั้งใจที่จะทำอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจะเห็น แสดงให้เห็นแล้วว่าขณะนั้นไม่รู้เลยว่าโลภะเป็นอริยสัจที่ ๒ ทุกขสมุทัยอริยสัจจ ต้องเห็นโลภะ ถ้าใครไม่เห็นโลภะจะถูกพาไปด้วยโลภะทั้งหมด มีความต้องการมีความจงใจที่จะทำอย่างนั้น ไม่ว่าจะให้นั่ง ให้นอน ให้ยืน นานเท่าไหร่ ให้รับประทานอาหารน้อย ไม่ให้พูดกัน หรืออะไรก็ตามแต่ นั่นไม่ใช่ปกติ ไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ความจริง

    เพราะฉะนั้นก่อนที่จะถึงอริยสัจจ จะต้องรู้สัจญาณ ๓ รอบคือสัจญาณ แล้วถึงจะมีกิจญาณ แล้วถึงจะถึงกตญาณได้ ห้ามอะไรไม่ได้เลยสักอย่างเดียว เรื่องของการอบรมเจริญปัญญาเป็นเรื่องละเอียด อย่าให้โลภะพาไป เพราะว่าขณะใดที่ใดมีโลภะขณะนั้นจะไม่มีปัญญา แต่ถ้ามีความรู้ที่ถูกต้องตามเหตุตามผลตามความเป็นจริงที่นั้นจะมีโลภะไม่ได้ ถ้ายังไม่รู้จักโลภะก็จะถูกโลภะพาไปแน่นอน เพราะว่าขณะนี้มีสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับอยู่แล้ว ทำอะไรไม่ได้เลยนอกจากรู้ความจริง ค่อยๆ ศึกษาค่อยๆ เข้าใจค่อยๆ อบรมไป

    ผู้ฟัง อาจารย์พูดบอกว่ามีก่อนที่จะเป็นโลภะนี้จะต้องรู้อริยสัจ ๓

    ท่านอาจารย์ ก่อนที่จะอบรมเจริญปัญญาที่เป็นกิจญาณจะต้องมีสัจญาณก่อน

    ผู้ฟัง สัจญาณนี่คือเห็นความจริงที่กำลังเกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ มีความมั่นคงแน่นอนปัญญาที่รู้ความจริงของอริยสัจ ถ้ามีคนไปบอกให้นั่งนานๆ แล้วจะเห็นทุกข์ขณะนั้นไม่ใช่สัจญาณของอริยสัจเลย เพราะว่าทุกขสัจหมายความถึงสภาพธรรมเดี๋ยวนี้เกิดแล้วดับ ปัญญาสามารถประจักษ์ได้ถ้าอบรมเจริญถูกต้อง แล้วทำอย่างอื่นโดยที่ไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏแล้วจะประจักษ์การเกิดดับได้อย่างไร เพราะฉะนั้นก่อนอื่น สัจญาณในอริยสัจต้องมีก่อน รู้จริงๆ เข้าใจถูกต้องจริงๆ ว่าปัญญารู้อะไร อะไรเป็นทุกขอริยสัจ อะไรเป็นทุกขสมุทัย

    เรื่องโลภะทรงแสดงไว้ว่าเป็นเรื่องละใช่ไหม แต่ว่าไม่เคยที่จะคิดละโลภะ มีแต่จะตามโลภะ ไปขณะนี้สภาพธรรมกำลังปรากฏ ละโลภะได้อย่างไร ไม่ใช่ไปทำด้วยโลภะเห็นโลภะหรือไม่ถ้าจะทำอย่างอื่นซึ่งไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญารู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ จากขั้นการฟังให้รู้ว่าไม่มีเราแล้วมีอะไร ก็มีนามธรรม และรูปธรรม แค่นี้ที่จะต้องค่อยๆ เริ่มไปเรื่อยๆ

    ผู้ฟัง อาจารย์พูดบอกว่าโลภะนี่จะต้องค่อยๆ ละไป

    ท่านอาจารย์ ต้องรู้ว่าจะต้องละ ไม่ใช่ถูกพาไปด้วยโลภะ ถ้าไม่เห็นโลภะก็ถูกโลภะพาไป โลภะกับทิฏฐินี่ก็เกิดร่วมกัน ถ้าเราไปทำไม่มีทางสิ้นสังสารวัฎ นั่นคือสมุทัย เพราะโลภะทำให้เกิดวนเวียนไปในสังสารวัฎ แต่ถ้าเห็นโลภะไม่ถูกพาไปด้วยโลภะก็จะเป็นทางละสมุทัยที่จะทำให้เกิดวนเวียนไปในสังสารวัฎ เพราะว่าไม่ไปทำผิด เป็นการอบรมเจริญปัญญาจริงๆ ที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจากขั้นการฟัง ถ้าการฟังไม่มีใครจะรู้ว่าขณะนี้ไม่ใช่ตัวตนเป็นนามธรรมเป็นรูปธรรม ถ้าไม่มีความเข้าใจว่าขณะนี้เป็นนามธรรมรูปธรรม และปัญญาจะเจริญตอนไหนตรงไหน เพราะว่าขณะนี้กำลังเห็นก็เป็นนามธรรมเป็นรูปธรรม ถ้าปัญญาจะรู้ ก็รู้ความจริงในขณะที่กำลังเห็น พอกำลังได้ยินรู้ความจริงก็ขณะที่กำลังได้ยิน ซึ่งมีทั้งนามธรรม และรูปธรรม เพราะฉะนั้นการฟังนี่สำคัญมาก

    ผู้ฟัง ความจริงที่เกิดขึ้นหมายถึงว่าถ้าปัญญาที่มีความจริงนั้นก็ดับไปแล้ว เสียงก็ดับไปแล้ว

    ท่านอาจารย์ แค่นี้ไม่พอ ต้องรู้ลักษณะที่ต่างกันของนามธรรม และรูปธรรมจริงๆ ในขณะนี้ ไม่ใช่เพียงฟังเรื่องแล้วก็เข้าใจ นี่คือปริยัตยังไม่ถึงปฏิบัติโดยสติระลึก ซึ่งไม่ใช่เราทำ แต่เป็นสติที่ระลึก ต้องเป็นมรรคในองค์ของมรรค ๘ ที่ทำกิจของมรรคนั้นๆ เพราะอาศัยสัมมาทิฏฐิคือความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นมรรค ๘ จะเริ่มด้วยสัมมาทิฏฐิ ความเห็นที่ถูก

    ผู้ฟัง ความเห็นที่ถูกก็ต้องเห็นขณะที่มีเสียง

    ท่านอาจารย์ เห็นที่ถูกต้องว่าขณะนี้เป็นนามธรรมกับรูปธรรมแน่ใจจนกว่าสติจะระลึกแล้วค่อยๆ เข้าใจขึ้นรู้ถูกต้องขึ้นว่านามธรรมไม่ใช่รูปธรรม นี่ขั้นฟัง ขั้นปฏิบัติคือสติเกิดระลึก ถ้าสติยังไม่เกิดก็เป็นขั้นฟังไปเรื่อยๆ

    ผู้ฟัง ฉะนั้นจะต้องเห็นสัจจะครั้งแรกก่อนจะต้องรู้ว่า..

    ท่านอาจารย์ ต้องมีความเข้าใจในสัจญาณของอริยสัจธรรมทั้ง ๔

    ท่านอาจารย์ เข้าใจว่าการอบรมเจริญปัญญาไม่ใช่การทำ ไม่มีตัวเราที่ทำ

    ผู้ฟัง เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัยของสภาพธรรมนั้นใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ต้องอาศัยสัมมาทิฏฐิมรรคมีองค์ที่ ๑ แล้วสัมมาสติก็ต้องเกิด ถ้าสัมมาสติไม่ระลึก ขณะนั้นจะไปรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏขณะนี้ก็ไม่ได้ ก็เพียงแต่ฟังเรื่องของธรรมที่กำลังปรากฏ แต่สติยังไม่ได้ระลึกลักษณะที่เป็นนามธรรมหรือรูปธรรม

    ผู้ฟัง เช่นว่าผมฟังเสียงอาจารย์อยู่นี้มีทั้งความจริง และก็มีทั้งเรื่องที่อาจารย์ได้พูดออกมา

    ท่านอาจารย์ เป็นจิตแต่ละขณะ ไม่มีใครสักคน ถ้าจิตไม่เกิดก็ไม่มีการได้ยิน ไม่มีการรู้สิ่งที่เป็นความหมายของเสียง

    ผู้ฟัง ถ้าผมตามความหมายตามเนื้อเรื่องที่อาจารย์พูด ไปก็เป็นโลภะใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่กุศลจิตหรืออกุศลจิต ขณะใดที่เป็นปัญญาความเข้าใจถูกขณะนั้นไม่ใช่โลภะ เพราะฉะนั้นสติสัมปชัญญะจึงจำปรารถนาในการอบรมเจริญปัญญา เพราะว่าเราฟังเรื่อง แต่เวลานี้อาจจะมีโลภะแทรก มีโทสะคั่น มีกุศลจิตสลับ แต่ถ้าไม่ใช่สติสัมปชัญญะเราก็เพียงแต่บอกว่าอาจจะมี แต่ไม่ใช่กำลังรู้จริงๆ ว่าขณะนี้เป็นโลภะ ขณะนี้เป็นกุศล ขณะนั้นเป็นโทสะ เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญาไม่ใช่เพียงขั้นฟัง ขั้นฟังหนทางว่าหนทางไหนถูกต้อง แล้วก็เมื่อมีความเข้าใจที่ถูกต้องไม่เป็นไปด้วยกำลังของโลภะ สติปัฎฐานจึงมีการระลึกตามที่ได้ฟัง และเข้าใจ ขณะที่สติระลึกก็ไม่ใช่ว่าปัญญาจะรู้ทันที แต่มีความเข้าใจถูกเกิดขึ้นว่าเพราะสติระลึกลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม ปัญญาก็จะค่อยๆ รู้ในสิ่งที่กำลังปรากฏขึ้น ซึ่งต้องอาศัยกาลเวลา และอาศัยความเข้าใจจากการฟังด้วย ถ้าไม่มีความเข้าใจจากการฟังเลยจะรู้ได้อย่างไรในเรื่องของนามธรรม และรูปธรรมเท่านั้นตลอดชีวิตไม่มีสัตว์บุคคลตัวตนเลย

    ผู้ฟัง ที่ฟังมาก็มีทั้งเสียงของอาจารย์ และก็เรื่องที่..

    ท่านอาจารย์ สภาพธรรมทั้งหมด

    ผู้ฟัง แล้วก็มีความอยากที่จะฟังอาจารย์พูด

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นสภาพธรรมทั้งหมด

    ผู้ฟัง เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ แต่ละอย่างๆ เป็นสภาพธรรมแต่ละชนิด ซึ่งต่อไปเราจะค่อยๆ รู้ละเอียดขึ้นว่ามีสภาพธรรมอะไรบ้างที่เป็นกุศลที่เป็นอกุศล

    ผู้ฟัง การฟังนี้ก็มีเวทนาเกิดหมายถึงมีความรู้สึกว่ามีเสียง

    ท่านอาจารย์ ขันธ์ ๕ ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ เกิดพร้อมกัน

    ผู้ฟัง พร้อมกันทั้งหมด

    ท่านอาจารย์ ทั้ง ๕ ขันธ์ไม่ขาดเลยสักขันธ์เดียว ทั้งจิต ทั้งเจตสิก ทั้งรูป แล้วเราก็ฟังแต่ว่าจิตเจตสิกรูป จิตเจตสิกรูป แต่ขั้นการฟังก็ทำอะไรไม่ได้เลย ละกิเลสก็ไม่ได้ถึงได้รู้ว่าเพียงฟังนั้นไม่พอ จะต้องเพราะสติเกิดเมื่อใดระลึกถูกต้องตามลักษณะของสภาพธรรมเมื่อนั้นแล้วปัญญาจะค่อยๆ เจริญขึ้นคนนั้นเป็นผู้รู้ด้วยตัวเอง เพราะฉะนั้นเป็นปัจจัตตัง ใครสติจะระลึก ใครระลึกแล้วยังต้องอบรมที่จะรู้ลักษณะของรูปธรรมหรือนามธรรมก็เป็นเรื่องของปัจจัตตังแต่ละบุคคล

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นการฟังอย่างเดียวนี่ก็เป็นการอบรมที่ยังไม่เพียงพอ

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ละกิเลสไม่ได้เลย ดับกิเลสไม่ได้เลย

    ผู้ฟัง จำเป็นต้องมีสติระลึกรู้ด้วย

    ท่านอาจารย์ ต้องถึงขั้นประจักษ์แจ้งที่ใช้คำว่าตรัสรู้หรือประจักษ์แจ้งตรงตามที่ได้ฟังทุกอย่าง จิตเกิดดับตรงตามที่ได้ฟังทุกอย่าง นั่นคือการประจักษ์แจ้ง ถ้ายังไม่ประจักษ์ก็คือคนนั้นเป็นผู้ตรงอีก ยังไม่ประจักษ์ นี่ความรู้ขั้นฟังก็ความรู้ขั้นฟัง เป็นผู้ที่ตรง อุชุปฏิปันโนจึงจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

    ผู้ฟัง เป็นผู้ที่ตรงนี้หมายถึงตรงต่อสัจจ ตรงต่อความจริง

    ท่านอาจารย์ ต่อสภาพธรรม รู้คือรู้ ไม่รู้คือไม่รู้ เข้าใจคือเข้าใจ ไม่เข้าใจคือไม่เข้าใจ หลงลืมสติคือหลงลืมสติ สติเกิดคือสติเกิด

    ผู้ฟัง เช่นว่ามีเสียงก็คือเสียง ถ้าไม่มีเสียงก็ไม่มีเสียง ไม่ต้องไปคำนึงถึงอันนี้คือการคิด

    ท่านอาจารย์ ขั้นคิดค่ะๆ ต้องรู้ว่าขณะใดคือขณะที่สติเกิด ขณะใดหลงลืมสตินี่คือจุดเริ่มต้น เมื่อสติเกิดแล้วก็รู้ แต่ถ้าสติยังไม่เกิด จะไปคิดฝันว่าสติจะเป็นลักษณะอย่างนั้นอย่างนี้ก็ไม่ได้ ยิ่งไปทำสมาธิก็จะไม่รู้จักลักษณะของสัมมาสติ

    ผู้ฟัง มีสติที่จะตามเรื่องก็ได้ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ สติเกิดจึงมีสติถ้าสติไม่เกิดก็ไม่มีสติ สติมีหลายระดับ สติขั้นฟังถ้าขั้นฟังไม่มีสติก็ไม่รู้เรื่องเลย

    ผู้ฟัง สติขั้นพิจารณานี้จะต้องเห็น

    ท่านอาจารย์ เข้าใจ เริ่มเข้าใจเรื่องๆ

    ผู้ฟัง เริ่มเข้าใจเรื่อง เริ่มเห็นความจริง

    ท่านอาจารย์ เข้าใจเรื่องของจิต เข้าใจเรื่องของเจตสิก เข้าใจเรื่องของรูป แต่ยังไม่ได้ระลึกลักษณะที่เป็นจิต ยังไม่ได้ระลึกลักษณะที่เป็นเจตสิก ยังไม่ได้ระลึกลักษณะที่เป็นรูป เมื่อใดสัมมาสติเกิดเมื่อนั้นก็รู้ว่าสติเกิด ไม่ใช่เราทำ

    ผู้ฟัง ขั้นนี้เป็นขั้นเข้าใจใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ ขั้นเข้าใจ

    ผู้ฟัง ถ้าขั้นที่เรียกว่าระลึกได้ต้องสติเกิด มีสติร่วมด้วย

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นสติไม่ใช่สมาธิแล้วไม่มีใครทำได้ แต่เมื่อมีเหตุปัจจัยจึงเกิดได้ นี้คือวิธีละโลภะคือสมุทัย มิฉะนั้นแล้วก็ส่งเสริมด้วยโลภะตลอด แม้แต่การฟังยังต้องรู้ว่าฟังอย่างไรละโลภะ ฟังอย่างไรเพิ่มโลภะ

    ผู้ฟัง ถ้าเป็นการฟังที่เป็นโลภะหมายถึงว่าเช่นว่าชอบเสียงอาจารย์

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ ให้ทำอย่างโน้น ให้ทำอย่างนี้ เพราะรู้ว่าอยากจะได้

    ผู้ฟัง หมายถึงว่ามีผู้ชี้นำให้ทำอย่างโน้นถึงจะเห็นอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ นั่นคือโลภะ ไม่ได้บอกว่าธรรมคืออะไร ขณะนี้ไม่ใช่ตัวตนอย่างไรเป็นนามธรรมอย่างไร เป็นรูปธรรมอย่างไร ไม่ให้ผู้ฟังเกิดปัญญาของตนเองที่สติจะระลึก

    ผู้ฟัง ทำไปเพื่อเห็นใช่ไหม ทำไปเพื่อความอยากรู้ว่าเป็นความจริงหรือไม่

    ท่านอาจารย์ แน่นอน อย่างนั้นเป็นโลภะทั้งหมด ไม่ใช่สัมมาสติที่ระลึก

    ผู้ฟัง ถ้าเป็นสัมมาสติที่ระลึกคือเสียงก็คือเสียง ก็คือเสียงที่ปรากฏเดี๋ยวนี้

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่ นี่คือนึก นี่ขั้นคิด เสียงคือเสียง นี่คือคิด เพราะฉะนั้นจึงต้องรู้ว่าขณะที่สัมมาสติระลึกเรียกว่ามีสติ ขณะที่สัมมาสติไม่เกิดคือหลงลืมสติ ไม่ใช้สติปัฏฐาน แต่เป็นสติขั้นฟังได้ ต้องใจเย็นๆ แล้วก็ละโลภะจริงๆ เรื่องโลภะนี่เป็นเรื่องละเอียดถ้าเผลอนิดเดียวโลภะก็มาแล้ว ตั้งใจกับอยากเหมือนกันหรือไม่ ถ้าเราตั้งใจที่จะเป็นคนดีกับการที่เราอยากจะเป็นคนดี ลองคิดถึงสภาพของจิต อยากเป็นพระอรหันต์ อยากเป็นพระโสดาบัน เพราะว่าพระโสดาบันท่านก็ละมิจฉาทิฎฐิ อกุศลที่เป็นความเห็นผิดไม่มี แล้วก็อยากเป็นพระโสดาบัน หรือว่าพระอรหันต์ท่านก็ไม่มีกิเลสเลย เห็นแล้วก็ไม่ต้องเดือดร้อน ก็เลยอยากเป็นพระอรหันต์ นี่อยากแน่นอน จะเห็นได้ว่าเราใช้คำนี้เราต้องพิจารณาสภาพของจิตของเราขณะที่ใช้ว่าเป็นความตั้งใจเป็นศรัทธาเป็นกุศลเจตนา เพราะฉะนั้นเจตนาหรือความตั้งใจมี ๒ อย่างคือเป็นกุศลเจตนาหรืออกุศลเจตนา แต่ถ้าเป็นอยากคือโลภะแล้วเป็นอกุศลอย่างเดียว เพราะฉะนั้น คนที่เขาบอกว่าอยากจะบวชก็คืออยาก แต่ถ้าเขาตั้งใจจะบวชมีความตั้งใจมีศรัทธามีความมั่นคง นั่นก็เรื่องของกุศลที่ต้องการจะเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น คนอื่นตอบแทนคนอื่นไม่ได้ แม้ว่าจะใช้คำ แต่ว่าคนที่ใช้คำนั้นจะเป็นคนที่รู้จักสภาพจิตของตัวเองว่าเพียงอยาก แล้วก็ไม่รู้หรอกว่าขณะนั้นเป็นโลภะ คิดว่าดีใช่ไหม เช่นอยากให้ทาน หรืออยากให้สติเกิด ไม่ใช่ขณะที่สติเกิด


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 11
    29 เม.ย. 2567

    ซีดีแนะนำ