สนทนาธรรม ตอนที่ 089
ตอนที่ ๘๙
ท่านอาจารย์ คนอื่นตอบแทนคนอื่นไม่ได้แม้ว่าจะใช้คำ แต่ว่าคนที่ใช้คำนั้นจะเป็นคนที่รู้จักสภาพจิตของตัวเองว่าเพียงอยาก แล้วก็ไม่รู้หรอกว่าขณะนั้นเป็นโลภะคิดว่าดี ใช่หรือไม่ เช่นอยากให้ทานหรือว่าอยากให้สติเกิด ไม่ใช่ขณะที่สติเกิด ถ้าขณะที่สติเกิดไม่ต้องอยาก สติระลึกทันที แต่ตอนที่อยากให้สติเกิดขณะนั้นสติไม่ได้เกิด และก็อยากให้สติเกิด และความอยากให้สติเกิดเป็นโลภะหรือไม่ เพราะว่าขณะนั้นไม่ใช่สติที่เกิดแล้วระลึก ขณะที่อยากให้ทานขณะนั้นให้หรือเปล่า หรือมีความตั้งใจที่จะให้หรือเปล่า หรือเพียงแต่อยาก เพราะคนที่เพียงแต่อยากมีมาก อยากอยู่ตลอดเวลา อยากในทางอกุศลก็อยาก อยากในทางกุศลก็อยาก แต่เป็นเรื่องอยากทั้งหมด ไม่ใช่เป็นเรื่องของกุศลจิต หรือกุศลเจตนาที่ตั้งใจ เพราะฉะนั้นแต่ละคนก็จะต้องเป็นผู้ที่ละเอียดขึ้นที่จะรู้จักสภาพของจิต
ขณะที่กำลังฟังธรรมมีความเข้าใจ มีความต้องการที่จะฟัง ตั้งใจที่จะฟังเพื่อจะเข้าใจ ขณะนี้ไม่ใช่โลภะ แต่ถ้าอยากเข้าใจ เปลี่ยนไปนิดหนึ่ง อยากเข้าใจแทรกเข้ามา ความอยาก ตรงอยาก จะเป็นกุศลไม่ได้ เพราะว่าตรงนั้นไม่ใช่เข้าใจ
ผู้ฟัง ถ้าเราไม่มีความอยากรู้อยากเห็น เราไม่อยากเป็นคนดี เราไม่อยากจะทำความดี แล้วเราจะตั้งใจทำความดี เราจะตั้งใจมาฟังอาจารย์ทำไม ถ้าอย่างนั้น
ท่านอาจารย์ คนละตอน ตอนที่อยาก
ผู้ฟัง ผมคิดว่ามันน่าจะอยากก่อน แล้วก็อาจจะแยกออกไปเป็นอยากแล้วดับฉันทะ
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่รู้จักโลภะจะไม่ทราบเลยว่าโลภะมีอารมณ์ได้ทุกอย่างเว้นโลกุตรธรรม แม้แต่อยากจะเป็นคนดี
ผู้ฟัง ก็ลงโลภะอีก
ท่านอาจารย์ แน่นอน ทุกอย่างเป็นอารมณ์ของโลภะได้เว้นโลกุตรธรรมนี่คือความจริง ถ้าเป็นคนที่ละเอียดในการพิจารณาแล้วก็ค่อยๆ จะเข้าใจลักษณะของโลภะขึ้นก็จะรู้จักตัวเราเองว่า เราขณะนั้นเป็นโลภะหรือว่าเป็นกุศลเจตนา นี่เริ่มแยกแล้วค่ะ ถ้าเป็นกุศลเจตนาจะทำแน่นอน ตั้งใจ ไม่เหมือนอยาก อยากก็อยากได้ทุกอย่าง คนที่อยาก อยากได้ตลอด อยากโน่น อยากนี่ อยากนั่น อยากทำอย่างโน้น อยากทำอย่างนี้ก็อยากทั้งกุศล ทั้งอกุศล แต่ว่าถ้าเป็นความตั้งใจที่เป็นกุศล จะเห็นได้ว่าเรามีความมั่นคงที่จะทำ อย่างการที่จะมาฟังธรรมที่นี่เราก็มีความตั้งใจที่จะมาไม่เหมือนอยากมา แต่ก็ไม่ได้มา แต่ก็บอกว่าอยากมา แล้วอยากมานี่ อยากมาทำอะไรใช่ไหมคะ นี่ก็เห็นได้แต่ความตั้งใจที่เป็นกุศลที่จะศึกษาที่จะเข้าใจสภาพธรรมให้ถูกต้อง ต้องเป็นกุศลไม่ใช่อยาก
ในอริยสัจ ๔ ตัณหาเป็นทุกขสมุทัยซึ่งต้องละ ลืมไม่ได้เลยไม่ว่าจะตัณหาประเภทใดถ้าไม่ละก็หมายความว่ายังมีเหตุที่จะให้เกิดสังสารวัฎ เพราะฉะนั้นต้องทราบให้แน่ชัดว่าในอริยสัจ ๔ ทุกข์เป็นสิ่งที่จะต้องกำหนดรู้ หมายความว่าพิจารณาโดยทั่วโดยตลอดจนกระทั่งรู้ได้ สมุทัยเป็นสิ่งที่จะต้องละ ตรงนี้โดยมากคนจะลืม แต่ว่าไม่ว่าจะเป็นสมุทัยใดๆ ทั้งสิ้นถ้ายังมีอยู่ก็หมายความว่าผู้นั้นยังไม่ได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ถ้ารู้แจ้งอริยสัจธรรมก็ไม่ใช่หมายความว่าเราจะหมดโลภะ แต่ว่าจะหมดโลภะเป็นขั้นๆ คือเมื่อเป็นพระโสดาบันดับโลภะที่เกิดร่วมกับความเห็นผิดไม่มีความติดข้องยึดมั่นในความเห็นผิดๆ ได้อีกเลย เพราะว่าได้เป็นพระโสดาบันรู้แจ้งอริยสัจธรรมแล้ว แต่โลภะระดับอื่นก็ยังมี แสดงให้เห็นว่าต้องเป็นเรื่องละๆ ๆ แต่ต้องตามขั้นของปัญญา แต่ว่าต้องให้รู้ชัดแน่นอนว่าโลภะเป็นสิ่งที่ต้องละ ต้องพิจารณาจนเห็นจริงๆ ว่าเป็นโทษแล้วก็เป็นสิ่งที่ละ และโลภะไม่ใช่กุศลเด็ดขาดแน่นอน สภาพธรรมใดเป็นกุศลเป็นกุศล สภาพธรรมใดเป็นอกุศลเป็นอกุศล ปัญญาต้องสามารถเห็นความต่างกัน จึงจะละโลภะได้ แต่ถ้ายังปนกันแยกกันไม่ออกเลย แล้วจะไปละอะไร ก็ละไม่ได้ แต่ถ้าสามารถแยกได้ถึงจะละฝ่ายอกุศลออกได้
ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ได้พูดถึงเรื่องอริยสัจ ๔ หมายความว่าเป็นผลที่ทุกคนจะต้องไปถึงจุดนั้น
ท่านอาจารย์ หมายความว่าการศึกษาธรรมของเราพิจารณาดูลึกๆ แล้วเพื่ออะไร แม้แต่คนซึ่งอาจจะไม่ต้องการถึงนิพพานเลย ไม่ต้องการดับกิเลสเลย แต่เริ่มที่จะมีศรัทธาที่จะฟังพระธรรมเพราะรู้ว่าเป็นพระธรรมของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นความจริงต้องเป็นความจริง คนที่ยังไม่ได้ประจักษ์ทุกขอริยสัจ และก็อยากจะหมดกิเลสเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุว่าแม้แต่ขณะนั้นก็ยังเป็นตัวตนที่อยากอยู่ แล้วจะไปหมดกิเลสได้อย่างไร แต่ต้องรู้ว่าที่เราศึกษาพุทธศาสนาเพราะเราเป็นพุทธศาสนิก เรากล่าวคำว่าพุทธังสะระณังคัจฉามิ ธัมมังสะระนังคัจฉามิ สังฆังสะระณังคัจฉามิ แล้วต้องเป็นผู้ตรงคือมีพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ มีพระธรรมเป็นสรณะ มีพระอริยสงฆ์เป็นสรณะ แล้วพูดแต่ปากก็แสดงว่าไม่จริงใจไม่ตรง
เพราะฉะนั้นเมื่อเริ่มศึกษาก็เป็นผู้ที่สนใจที่จะได้เข้าใจว่าผู้ที่เราเคารพนับถือสูงสุดมีพระปัญญาคุณอย่างไร มีพระบริสุทธิคุณ มีพระมหากรุณาคุณอย่างไร และพระธรรมที่ทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษามีคุณค่าเหนือสิ่งอื่นรัตนอื่นอย่างไร มีคุณค่ากว่าเพชรนิลจินดา หรืออะไรทั้งหมดที่เป็นรัตนะซึ่งนำความปลื้มใจมาให้ เมื่อไม่ศึกษา และไม่มีทางจะรู้
เพราะฉะนั้นพุทธศาสนิกชนที่มีปัญญาก็ต้องเห็นว่าจะต้องฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม แม้ว่ายังไม่อยากไปนิพพาน ไม่อยากจะหมดกิเลสอะไรทั้งนั้น แต่ต้องเกิดปัญญาก่อน หมายความว่าต้องรู้ถูก ต้องเข้าใจถูกว่าอะไรเป็นคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าสรุปสั้นที่สุดคือมีเรื่องเจริญปัญญาความรู้ แล้วละ เท่านั้นเอง ถ้ารู้แล้วจะไม่ละนี่ไม่ได้ แล้วก็เวลาที่รู้แล้วจุดประสงค์ของการรู้ไม่ใช่เพื่อลาภ เพื่อยศ เพื่อสรรเสริญ หรือเพื่ออยากจะได้วิปัสนาญาณ หรืออยากจะถึงนิพพานหรืออะไร แต่เป็นเรื่องละ เพราะเหตุว่าถ้าไม่ละก็ไม่ถึงทั้งหมดเลยไม่ว่าจะระดับไหนทั้งสิ้น ที่จะถึงได้เพราะละอย่างเดียว
ผู้ฟัง ผมเข้าใจว่าทุกท่านที่มีโอกาสได้มาร่วมสนทนาธรรมที่นี่คงจะไม่ปฏิเสธเรื่องการศึกษาในภาคปริยัติธรรมว่าเป็นสิ่งที่ควรรู้แล้วก็เป็นสิ่งที่ยังไม่เคยรู้มาก่อน แต่เมื่อการศึกษาเป็นไปตามลำดับ หรือต่อเนื่องกันแล้วก็คงจะต้องมีความสงสัยต่อไปว่าเวลาที่จะมีการประพฤติปฏิบัติธรรมก็จะต้องนึกถึงคำที่มีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎกว่าเอกายโนมัคโค นี้เป็นทางไปอันเอก คำว่าทางไปอันเอกก็มีคำอธิบายซึ่งท่านอาจารย์ก็ได้อธิบายในเทปคำบรรยายว่าคือการเจริญสติปัฐาน ๔ ได้แก่การพิจารณา กายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม ซึ่งเมื่อเป็นข้อปฏิบัติที่จะนำไปสู่การรู้อริยสัจ ๔ จึงขอความเข้าใจว่าจุดเริ่มต้นของความรู้ หรือข้อปฏิบัติที่จะนำไปสู่การรู้แจ้งอริยสัจธรรม ๔ จะต้องไปเกี่ยวข้องกับเรื่องข้อปฏิบัติอื่นๆ หรือว่าเน้นในเรื่องของการฟังให้เข้าใจ แล้วอบรมเจริญสติ และปัญญา
ท่านอาจารย์ ก็มีจุดหนึ่งที่คุณสุกลพูดว่า ตอนที่จะประพฤติปฏิบัติใช่ไหม ทำไมถึงมีตอนที่จะประพฤติปฏิบัติ
ผู้ฟัง เป็นความเคยชินกับภาษา เพราะฉะนั้นต้องยกเว้นคำว่าไม่มีคำว่ามีขั้นตอน
ท่านอาจารย์ นี่เป็นจุดที่จะต้องทำความกระจ่าง ไม่มีตอนไหนเลยซึ่งจะเป็นตอนปฏิบัติหรือตอนที่จะปฏิบัติ จะได้อย่างไร สิ่งนั้นยังไม่เกิดขึ้นยังไม่มาถึง แล้วจะทำอะไรได้ ถ้ามีความเข้าใจจริงๆ ก็คือว่ามีความเข้าใจถูกว่าขณะนี้โดยฟังรู้ว่าไม่มีตัวตนเป็นนามธรรมเป็นรูปธรรมซึ่งลืมไม่ได้เลย แต่เมื่อไม่สามารถที่จะประจักษ์แจ้งก็จะต้องอบรมปัญญาจากการฟังซึ่งเรียกว่าปริยัติ ขั้นได้ยินได้ฟังเรื่องนามธรรม และรูปธรรมเพิ่มขึ้นอีกๆ เข้าใจเพิ่มขึ้นอีกๆ ไม่มีใครจะไปปฏิบัติ แต่ว่าขณะใดที่สติมีการระลึกได้ที่จะรู้ว่าขณะนี้ที่กำลังเห็น หรือกำลังได้ยิน หรือกำลังคิดนึก ทุกขณะทุกสิ่งทุกอย่างในขณะนี้เป็นสิ่งที่มีจริงที่จะต้องค่อยๆ เข้าใจตามที่ได้ยินได้ฟัง
ผู้ฟัง ท่านอาจารย์กล่าวไว้ในเทปคำบรรยายบอกว่า ถ้าใครก็ตามคิดว่าขณะนี้สติก็ไม่เกิดแล้วจะทำอย่างไร ท่านอาจารย์บอกระลึกทันที
ท่านอาจารย์ ทั้งๆ ที่เขาระลึกไม่ได้
ผู้ฟัง ผมก็ยังสงสัยว่าคนฟังจะเข้าใจอย่างไร บอกให้ระลึกทันทีเหมือนคล้ายว่ามีสติรออยู่แล้วแต่ไม่ใช่งาน
ท่านอาจารย์ รอไม่ได้ และไม่มีด้วย เพราะฉะนั้นการฟังต้องฟังให้เข้าใจจริงๆ ให้เข้าใจจริงๆ ว่าเรื่องรู้ แล้วละ ละแม้แต่ความคิดที่จะปฏิบัติ ถ้ายังคิดจะปฏิบัติขณะใดขณะนั้นคือคิดแล้วสติไม่ได้ระลึก ไม่ใช่การปฏิบัติด้วย ก็คิดอยู่อย่างนั้น
ผู้ฟัง ที่บอกว่าเป็นห่วงคนมาใหม่ อยากให้มีการเริ่มต้นไปพร้อมๆ กัน ความหมายที่ถูกต้องหรือเป็นประโยชน์จริงๆ ขอคำอธิบายท่านอาจารย์ตรงนี้
ท่านอาจารย์ ขอให้ทุกคนที่มาที่นี่ ได้เข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟังเท่าๆ กันพร้อมๆ กันไปด้วยกัน ไม่ใช่คนหนึ่งตกหล่นอยู่ทางโน้น คนหนึ่งไม่รู้อยู่ทางนี้ แล้วทางนี้ก็เดินหน้าไปเรื่อยๆ แล้วจะมีประโยชน์อะไรกับการฟัง ถ้าไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้นในขณะที่ฟังถ้าเป็นไปได้ ฟังด้วยการพิจารณา ใครไม่เข้าใจยกมือเลย ถามเลยตรงที่ไม่เข้าใจ คนอื่นจะได้ฟังด้วย แล้วจะได้ช่วยกัน ช่วยให้คนนั้นเข้าใจ ให้ทุกคนสามารถที่จะเข้าใจไปด้วยกันได้
ผู้ฟัง นี่ถือว่าเป็นการเริ่มต้นไปพร้อมๆ กันในที่นี้แต่ละครั้งๆ อย่างนั้นใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ควรจะเป็นอย่างนั้นหรือไม่
ผู้ฟัง ถ้าสมมติว่าในจำนวนที่มาอาจจะใหม่สำหรับที่นี่ แต่เก่าที่อื่นมา ก็ไม่ทราบได้
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นการฟังคือเข้าใจสิ่งที่กำลังได้ฟัง ถ้าไม่เข้าใจถามเลยทันที ไม่เห็นด้วยถามเลยทันที
ผู้ฟัง ตั้งแต่เช้าจนกระทั่งก่อนรับทานอาหาร ท่านอาจารย์ก็ได้มีการพูดกันถึงเรื่องจิต เรื่องเจตสิก เรื่องรูป เรื่องอารมณ์ เรื่องเหตุให้เกิดอะไรต่างๆ ตลอดเวลาที่พูดมาทั้งหมด ถ้าสังเกตดูไม่มีคำไหนเลยที่เป็นเรื่องของตัวตน เป็นเรื่องของสภาพธรรมแต่ละอย่างๆ ๆ แต่ว่าเวลาฟังก็เป็นเรื่องเป็นราวไปหมด เหมือนคล้ายเป็นเราได้ยิน แต่ส่วนที่เป็นจิต เจตสิก รูป ก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง
ท่านอาจารย์ ขณะนั้นคือหลงลืมสติ ถ้าสติไม่เกิดก็คือหลงลืมสติเท่านั้น ก็รู้ความจริงว่าหลงลืมสติ คือหลงลืมสติ แล้วเมื่อไหร่สติเกิดจะไม่รู้หรือว่าขณะนั้นต่างกับขณะที่หลงลืมสติ เพราะฉะนั้นก็ต้องมีความรู้ทั้งขณะที่สติเกิด กับขณะที่หลงลืมสติตามความเป็นจริงทุกอย่าง
ผู้ฟัง เพื่อเป็นการเน้นว่าเรามีสติจริงๆ หรือเปล่า หรือว่าหลงลืมทั้งวันเลยตั้งแต่เช้ามา สิ่งที่ปรากฏทางตาเวลานี้ทุกท่านก็เห็นหมดแล้ว คงไม่ต้องอธิบายในรายละเอียดว่าเห็นอะไร ถ้ามีสติ จะมีลักษณะอย่างไรที่กำลังปรากฏ ถ้าหลงลืมสติจะเป็นอย่างไรเหมือนอย่างที่เคยเป็นหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ เหมือนที่คุณสุกลพูดว่าเป็นเรื่องเป็นราวทั้งหลาย พูดเรื่องนามธรรมเรื่องรูปธรรมก็หลงลืมสติ เพราะว่าไม่ได้ระลึกลักษณะที่กำลังปรากฏที่กล่าวถึง
ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นตั้งแต่เช้ามาจนถึงเดี๋ยวนี้ผมก็ขาดทุนตลอด
ท่านอาจารย์ ไม่เป็นไร ขาดทุนอย่างไร ก็ได้ฟังธรรมๆ ดีพอไหมกับเป็นอกุศล ถ้าเทียบ
ผู้ฟัง ก็ต้องดีกว่า
ท่านอาจารย์ แล้วจะเอากุศลระดับไหน
ผู้ฟัง เอาขั้นสติมีการระลึก
ท่านอาจารย์ นั่นผิด จะเอาได้อย่างไร
ผู้ฟัง ระลึกได้ เพราะว่าอาจารย์เคยเน้นเสมอบอกว่า
ท่านอาจารย์ ถูกค่ะ พระอรหันต์ท่านเป็นพระอรหันต์ไปแล้ว และคุณสุกลยังอยู่ตรงนี้ก็เป็นตรงนี้ จะเป็นอย่างพระอรหันต์ได้อย่างไร
ผู้ฟัง แล้วจะช่วยเหลืออย่างไรได้
ท่านอาจารย์ นี่ก็ผิดอีกแล้ว ใครช่วยใครได้ ฟังธรรมให้เข้าใจ ความเข้าใจนั้นละ ละความไม่เข้าใจ ละความไม่รู้ เป็นเรื่องละ ไม่ใช่เป็นเรื่องเอา ถ้าเรื่องละกำลังพูดแล้วคนก็จะเอาอยู่ตลอดเวลา แล้วจะเอาอย่างไร แล้วจะทำอย่างไร นั่นคือไม่ได้รู้ว่าเป็นเรื่องที่ต้องละ ละโลภะซึ่งแสนที่จะเห็นยากกว่าโลภะอยู่ตรงไหน เพราะโลภะอยู่มาตลอด
ผู้ฟัง อยากให้ท่านอาจารย์เน้นในเรื่องของคำว่าปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันอีกสักเล็กน้อย
ท่านอาจารย์ สติระลึกเมื่อไหร่สติปฏิบัติกิจของสติ
ผู้ฟัง ถ้าสติไม่เกิด
ท่านอาจารย์ ก็หลงลืมสติ
ผู้ฟัง ก็ปล่อยให้หลงลืมไปอยางนั้น
ท่านอาจารย์ ปล่อยหรือไม่ปล่อยได้อย่างไร ใครเป็นคนปล่อยๆ มีใครปล่อย มีใครไม่ปล่อย ในเมื่อความจริงเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น ต้องเป็นผู้ที่รับความจริง หลงลืมสติคือหลงลืมสติ สติเกิดก็สติเกิด แล้วสติดับไป หลงลืมสติอีกก็จริง สติเกิดอีกก็จริง คือเป็นเรื่องจริงตลอด หลงลืมสติก็จริง สติเกิดก็จริง
ผู้ฟัง เมื่อพูดถึงสติก็เป็นที่ปรารถนาของผู้ฟังทุกท่าน
ท่านอาจารย์ มีโลภะเกิดขึ้นแล้ว
ผู้ฟัง จะมีวิธีอะไรที่จะ
ท่านอาจารย์ ไม่มีวิธี เลิกถามเรื่องวิธี เรื่องช่วย เรื่องอะไรหมด เข้าใจให้ถูกต้องว่าเป็นอนัตตา เป็นอนัตตานี่เข้าใจหรือยังว่าเป็นอนัตตา ถ้าเป็นอนัตตาแล้วไม่มีวิธี
ผู้ฟัง อย่างอื่นตอนนี้ก็ไม่มีอะไรสงสัยแล้ว คือฟังก็ต้องฟังอยู่ เพราะขาดการฟังแล้วก็ทำให้ไม่มีความรู้เพิ่มเติม
ท่านอาจารย์ ไม่มีอะไรสงสัยแต่อยาก
ผู้ฟัง คือเพราะท่านอาจารย์พูดในเทปเกือบทุกครั้งทุกตอนไม่ว่าจะฟังจากสถานีไหนก็ไม่พ้นไปจากเรื่องทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ท่านอาจารย์ เพื่อให้ทุกคนเข้าใจให้ถูก
ผู้ฟัง คำว่าไม่มีวิธีๆ คือทำอย่างนั้นทำอย่างนี้ไม่ได้ ต้องระลึกเองใช่ไหม จะแนะนำได้ไหมว่าวิธีจะทำ
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีเสียง ไม่มีโสตปสาทจะมีได้ยินได้ไหม เปรียบเทียบถ้าไม่มีเสียงกับไม่มีโสตปสาทจะมีได้ยินได้ไหม
ผู้ฟัง ไม่มี ไม่ได้
ท่านอาจารย์ ไม่มี ถ้าไม่มีการฟังธรรมให้เข้าใจลักษณะแท้จริงของสิ่งที่กำลังปรากฏจนค่อยๆ เห็นความจริงว่าไม่มีตัวตนเลย จิตไม่ใช่เรา ไม่ใช่มีแต่จิต แต่มีเจตสิกอีกด้วย ทั้งวันก็ไม่ใช่เราอีก แล้วก็มีรูป นี่เป็นความจริง เพราะฉะนั้นถ้ามีความรู้อย่างนี้จนกระทั่งเห็นว่าไม่ใช่เรา และก็ฟังมากขึ้น เข้าใจเพิ่มขึ้น สติจะระลึก แต่ถ้าไม่มีโสตปสาท ไม่มีเสียง แล้วจะให้ได้ยินเกิดอย่างไร ก็ไม่ได้ ถ้าไม่มีการฟังจนกระทั่งเข้าใจจริงๆ ว่าเป็นเรื่องของสภาพธรรมทั้งหมด โลภะไม่มีใครอยากให้เกิดก็เกิด โทสะไม่มีใครอยากให้เกิดก็เกิด สติอยากให้เกิดสติก็ไม่เกิด ทุกอย่างแล้วแต่ปัจจัย ถ้ามีความเข้าใจเพียงพอ สัมมาสติจึงจะเกิดระลึกได้ แต่ถ้าไม่มีความเข้าใจเลย บอกให้ไปนั่งขัดสมาธิมือซ้ายทับมือขวา แล้วปัญญาจะเกิดได้อย่างไร
ผู้ฟัง นิทานชาดกที่มีพระพี่น้อง ๒ องค์ไปบวช แล้วอีกคนหนึ่งโง่ท่องคาถาอย่างไรก็ท่องไม่ได้ แล้วก็ร้องไห้ พี่ชายก็ไม่ให้บวช พระพุทธเจ้าบอกว่าอย่าไปว่าเขาเลย ให้เอาผ้าขาวมาถูๆ ไปถูมา อย่างนี้จะเรียกว่าเป็นวิธีการหรือเป็นวิธีสอน หรือว่าเป็นวิธีที่จะทำให้เขาได้ระลึกได้ดวงตาเห็นธรรม เหมือนกับสมมติว่าผมเรียนถามอาจารย์ว่า ทำอย่างไรเราถึงจะมีสติได้ ทำอย่างไรเราถึงจะระลึกได้อยู่ตลอดเวลาใกล้ๆ อย่างนี้
ท่านอาจารย์ พระที่ท่านเอาผ้ามาลูบนี่ท่านไม่รู้อะไรเลยหรือ
ผู้ฟัง ผมก็ไม่ทราบ
ท่านอาจารย์ ไม่มีทาง
ผู้ฟัง เห็นพูดสั้นๆ พูดแค่นี้
ท่านอาจารย์ พูดสั้นแต่ต้องเข้าใจว่าปัญญาของทุกคนที่จะละกิเลสได้นั้นเป็นปัญญาระดับไหน แล้วรู้อะไร เพราะฉะนั้นถ้าเราเข้าใจอย่างนี้ เวลาเราจะได้ยินตัวอย่างอุปมาทั้งหลายว่าเรื่องลูบผ้า หรือเรื่องอะไรก็ตามแต่ แต่ปัญญาต้องรู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏโดยเป็นปรมัตถธรรม ต้องมีลักษณะที่ปรากฏยืนยันให้เห็นจริงๆ ว่าขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน แล้วปัญญาต้องถึงระดับที่ประจักษ์แจ้งทุกขอริยสัจก่อนที่จะถึงนิโรธอริยสัจ ต้องประจักษ์การเกิดดับจริงๆ
ผู้ฟัง ถ้าอาจารย์แนะวิธีบอกให้ลูบผ้าๆ แค่นี้ ปัญญาคนอาจจะมีอยู่บ้างแล้ว ถ้าบอกอุบายสักนิดหน่อย
ท่านอาจารย์ ไม่มีทางเลย นี่ไม่ใช่ดิฉันนะคะ ในพระไตรปิฏกให้ลูบ ยังไม่ใช่กับทุกคน
ผู้ฟัง อาจารย์แนะอย่างเดียว
ท่านอาจารย์ ไม่ได้เลยเพราะว่าคนที่ลูบผ้าไม่ใช่ว่าไม่มีปัญญารู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม ข้อสำคัญที่สุดต้องรู้ แต่จะรู้โดยอย่างไรไม่ใช่โดยลูบผ้า แต่ต้องมีการฟังแน่นอนที่สุด เพราะว่าเป็นสาวก ใครก็ตามที่เพียงแต่ลูบผ้าเฉยๆ ไม่รู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมเลย หรือไม่เคยได้ฟังพระธรรมเลยไม่มี
ผู้ฟัง มีสติระลึกรู้ว่ากำลังลูบผ้าอยู่ ก็มีสติระลึกรู้ว่ากำลังลูบผ้าอยู่
ท่านอาจารย์ ไม่ได้ค่ะ อย่างนั้นธรรมดาๆ ธรรมดาเหลือเกินระลึกรู้ว่ากำลังลูบผ้าก็รู้ว่ากำลังลูบผ้าไม่ได้รู้ปรมัตถธรรมอะไร
ผู้ฟัง ถ้าหากว่าจะมากไปกว่านั้นก็ต้องมีลักษณะที่ปรากฏ
ท่านอาจารย์ ลักษณะมีปรากฏแล้ว
ผู้ฟัง ลักษณะมีปรากฏคือจากผ้าเป็นลักษณะ
ท่านอาจารย์ ขณะนี้เป็นสภาพธรรมทั้งหมด ไม่ใช่ว่าเวลานี้ไม่ใช่สภาพธรรมแล้วไปเปลี่ยนเป็นสภาพธรรม นั้นไม่ใช่ ขณะนี้ตัวจริงๆ เป็นธรรม แต่มีความไม่รู้ว่าเป็นธรรม เพราะฉะนั้นสติระลึกเมื่อไหร่ แล้วก็รู้ในลักษณะที่เป็นธรรม นั่นคือการอบรมเจริญปัญญา เพราะว่ารู้จริง รู้ถูกต้องว่าเป็นธรรม ก่อนนั้นไม่เคยรู้ๆ แต่เป็นบัญญัติ เป็นคน เป็นสัตว์ ทั้งๆ ที่ตัวจริงเป็นธรรมหมด ไม่ใช่ไปเปลี่ยน แต่ว่าตัวจริงคืออย่างนี้ ปัญญาจะค่อยๆ ลอกความไม่รู้โดยฟังแล้วค่อยๆ เข้าใจขึ้น จนกระทั่งสติระลึกลักษณะที่เป็นปรมัตถ์ และก็เริ่มเข้าใจลักษณะที่เป็นปรมัตถ์ขึ้น นั่นคือการปฏิบัติ
การปฏิบัติของเจตสิกซึ่งปกติได้แก่เจตสิก ๕ เจตสิก สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ไม่ใช่เราเลย แล้วแต่ว่าสภาพของเจตสิกเหล่านี้จะเกิดขึ้นหรือไม่ ถ้าไม่เกิดจะไปหาวิธีอย่างไรก็ไม่ได้ วิธีก็คือเข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจเลยก็ไม่ต้องพูดเรื่องการปฏิบัติ ไม่มีทาง แต่ถ้าเข้าใจแล้วก็ไม่ใช่ว่าไปให้ทำปฏิบัติ หรือให้ปฏิบัติ เข้าใจแล้วก็อบรมความรู้ให้เพิ่มขึ้นจนกระทั่งเหมือนกับมีโสตปสาทกับเสียงพร้อมด้วยปัจจัยเมื่อใด สติก็เกิดระลึกเมื่อนั้น
ผู้ฟัง ในกรณีนี้หมายถึงว่าลูบผ้านี่มีกายวิญญาณรู้สัมผัส ๕
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ชื่อหมด ไม่ใช่ชื่อกายวิญญาณ และรู้สัมผัสด้วย ถ้าเป็นอย่างนี้คือสติระลึกก็มีสภาพธรรมที่ปรากฏ แน่นอนใช่ไหม ทั้งๆ ที่ตั้งแต่เช้ามาเราก็กระทบอ่อนแข็ง
ผู้ฟัง กระทบอยู่ตลอด
ท่านอาจารย์ แต่สติไม่ได้ระลึก
ผู้ฟัง ไม่ได้ระลึกรู้ ก็ไม่ได้รู้ว่ารู้
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นขณะที่สติระลึกไม่ใช่เพียงกระทบอ่อนแข็งอย่างที่หลงลืมสติ แต่ขณะนั้นเองมีการระลึกที่ใช้คำว่าระลึกคือรู้ลักษณะที่กระทบที่กำลังปรากฏนี่แหละ แต่รู้ต่างกับกายวิญญาณซึ่งเพียงแต่กระทบแข็ง และก็บอกได้ว่าแข็ง ใครๆ ก็บอกว่าแข็ง กระทบแล้วก็แข็ง แต่ขณะนั้นไม่ใช่สติที่ระลึก เพียงแต่เป็นกายวิญญาณที่รู้ตรงลักษณะที่แข็ง แต่เวลาที่สติระลึกไม่ใช่มีแต่เฉพาะแข็งกับรู้แข็ง มีการระลึกลักษณะหนึ่งลักษณะใด จะระลึกลักษณะซึ่งเป็นสภาพรู้ หรือว่าระลึกลักษณะที่แข็งก็ได้ ระลึกเพื่อที่จะได้เข้าใจให้ถูกต้องว่าไม่มีเรา แล้วไม่มีอะไรเลยทั้งหมด เวลาที่จิตกำลังรู้แข็งจะมีแต่เฉพาะแข็งปรากฏ และก็มีลักษณะที่รู้แข็ง อย่างอื่นทั้งหมดโลกนี่ไม่มี นี่คือการที่จะค่อยๆ ปล่อย วาง ละ ความยึดมั่นว่ามีเรา มีมือเราหรือมีโต๊ะหรือมีสิ่งที่กำลังถูกกระทบ
ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นจึงมีแต่เฉพาะสภาพรู้กับ
ท่านอาจารย์ สิ่งที่สิ่งที่ปรากฏให้รู้
ผู้ฟัง ไม่มีเรา
ท่านอาจารย์ ไม่มี
ผู้ฟัง มีสภาพรู้ที่เกิดขึ้นสิ่งที่กำลังปรากฏอยู่
ท่านอาจารย์ แล้วก็จะระลึกลักษณะที่เป็นรูปธรรมหรือนามธรรมก็ได้ แล้วไม่มีเราที่จะจงใจอีกที่จะต่อหรือไม่ต่อ ถ้าสติเกิด สติก็ระลึกต่อ ถ้าหลงลืมสติก็เป็นเรื่องคิดนึกเข้ามาเท่านั้นเอง นี่คือการอบรมเจริญปัญญาจริงๆ
- สนทนาธรรม ตอนที่ 061
- สนทนาธรรม ตอนที่ 062
- สนทนาธรรม ตอนที่ 063
- สนทนาธรรม ตอนที่ 064
- สนทนาธรรม ตอนที่ 065
- สนทนาธรรม ตอนที่ 066
- สนทนาธรรม ตอนที่ 067
- สนทนาธรรม ตอนที่ 068
- สนทนาธรรม ตอนที่ 069
- สนทนาธรรม ตอนที่ 070
- สนทนาธรรม ตอนที่ 071
- สนทนาธรรม ตอนที่ 072
- สนทนาธรรม ตอนที่ 073
- สนทนาธรรม ตอนที่ 074
- สนทนาธรรม ตอนที่ 075
- สนทนาธรรม ตอนที่ 076
- สนทนาธรรม ตอนที่ 077
- สนทนาธรรม ตอนที่ 078
- สนทนาธรรม ตอนที่ 079
- สนทนาธรรม ตอนที่ 080
- สนทนาธรรม ตอนที่ 081
- สนทนาธรรม ตอนที่ 082
- สนทนาธรรม ตอนที่ 083
- สนทนาธรรม ตอนที่ 084
- สนทนาธรรม ตอนที่ 085
- สนทนาธรรม ตอนที่ 086
- สนทนาธรรม ตอนที่ 087
- สนทนาธรรม ตอนที่ 088
- สนทนาธรรม ตอนที่ 089
- สนทนาธรรม ตอนที่ 090
- สนทนาธรรม ตอนที่ 091
- สนทนาธรรม ตอนที่ 092
- สนทนาธรรม ตอนที่ 093
- สนทนาธรรม ตอนที่ 094
- สนทนาธรรม ตอนที่ 095
- สนทนาธรรม ตอนที่ 096
- สนทนาธรรม ตอนที่ 097
- สนทนาธรรม ตอนที่ 098
- สนทนาธรรม ตอนที่ 099
- สนทนาธรรม ตอนที่ 100
- สนทนาธรรม ตอนที่ 101
- สนทนาธรรม ตอนที่ 102
- สนทนาธรรม ตอนที่ 103
- สนทนาธรรม ตอนที่ 104
- สนทนาธรรม ตอนที่ 105
- สนทนาธรรม ตอนที่ 106
- สนทนาธรรม ตอนที่ 107
- สนทนาธรรม ตอนที่ 108
- สนทนาธรรม ตอนที่ 109
- สนทนาธรรม ตอนที่ 110
- สนทนาธรรม ตอนที่ 111
- สนทนาธรรม ตอนที่ 112
- สนทนาธรรม ตอนที่ 113
- สนทนาธรรม ตอนที่ 114
- สนทนาธรรม ตอนที่ 115
- สนทนาธรรม ตอนที่ 116
- สนทนาธรรม ตอนที่ 117
- สนทนาธรรม ตอนที่ 118
- สนทนาธรรม ตอนที่ 119
- สนทนาธรรม ตอนที่ 120