สนทนาธรรม ตอนที่ 063
ตอนที่ ๖๓
ท่านอาจารย์ เวลาที่เราตาย ทุกคนก็บอกว่า ปราศจากวิญญาณ แล้วก็เหมือนกับท่อนไม้ ก็เป็นความจริงนะคะ ตาก็ไม่เห็น หูก็ไม่ได้ยิน จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นก็ไม่รู้รส คิดนึกก็ไม่มีทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น จะไม่มีอะไรที่ต่างกันเลย รูปซึ่งเคยเกิดเพราะกรรม ก็ไม่เกิดอีก รูปซึ่งเกิดเพราะจิตก็ไม่เกิดอีก รูปที่เกิดเพราะอาหารก็ไม่เกิดอีก มีแต่รูปที่เกิดเพราะอุตุเท่านั้นที่ยังคงเกิด ซึ่งแปรสภาพเป็นรูปที่เปื่อยเน่า ซึ่งรูปที่เป็นโต๊ะ เป็นแข็ง เป็นอ่อน พวกนี้ เมื่อไม่มีจิตจะไม่มีลักษณะแบบที่รูปที่มีใจครอง
เพราะฉะนั้น ที่เราจะแยกนามธรรมออกจากรูปธรรม โดยเด็ดขาดก็คือ ให้ทราบว่าลักษณะของรูปธรรมนั้นไม่ใช่สภาพรู้ ไม่ว่ากำลังมีชีวิต หรือไม่มีชีวิตก็เหมือนกัน ไม่ใช่ว่ารูปนี้จะเป็นรูปที่ไม่รู้อะไรเฉพาะตอนตาย แต่กำลังเป็นๆ อย่างนี้ รูปธรรมไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้นตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า จักขุปสาทรูปก็ไม่เห็น โสตปสาทรูปก็ไม่ได้ยิน ไม่ใช่ว่าโสตปสาทได้ยิน แต่เป็นทางที่จะทำให้จิตเกิดขึ้นรับผลของกรรมทางหูคือได้ยิน นี่แสดงให้เห็นว่า เราต้องเข้าใจจริงๆ ในเรื่องความต่างกันของนามธรรม และรูปธรรม แล้วเราถึงจะค่อยๆ พิจารณาลักษณะที่ต่างกันที่กำลังเป็นอยู่ในขณะนี้ นี่คือการศึกษาธรรมเพื่อรู้จักธรรมจริงๆ เพื่อเข้าใจธรรมจริงๆ ไม่ใช่เพียงแต่จำเรื่องราวของธรรมเท่านั้น
เพราะฉะนั้นทุกคนไม่ต้องมีคนอื่นสอบ แต่รู้ด้วยตัวเองว่า มีความเข้าใจตัวธรรม ที่กำลังปรากฏในขณะนี้แค่ไหน ไม่ต้องถามคนอื่นใช่ไหม ธรรมคืออะไรก็อยู่ที่นี่เลย นามธรรม รูปธรรมก็อยู่ที่นี่ทั้งนั้น อยากจะรู้ลักษณะของนามธรรมไหน ก็พร้อมที่จะศึกษาเพราะว่า กำลังเห็นก็เป็นนามธรรม กำลังได้ยินก็เป็นนามธรรม กำลังคิดนึกก็เป็นนามธรรม จำได้ก็เป็นนามธรรม สุข ทุกข์ ก็นามธรรม
ผู้ฟัง ความยากของปรมัตถธรรม และบัญญัตินี่ไม่ใช่ธรรมดาๆ แม้กระทั่งพระปัจเจกพุทธเจ้าตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณเหมือนกัน แต่ก็ไม่สามารถที่จะบัญญัติอย่างที่พระพุทธเจ้าบัญญัติแล้วมาสอนพวกเราได้ นี่เป็นข้อแตกต่างของพระปัจเจกพุทธเจ้ากับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกประการหนึ่ง
ท่านอาจารย์ ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเกิดร่วมกันแต่มีความเป็นใหญ่ต่างกัน เพราะเหตุว่าถ้าพูดถึงความรู้สึกเวทนาเป็นใหญ่ แต่ไม่ใช่เป็นการรู้แจ้งในอารมณ์ อย่างมนินทรีย์หรือจิต เพราะฉะนั้นให้ทราบว่าจิตเป็นเพียงสภาพซึ่งรู้อย่างเดียว รู้แจ้งอารมณ์ที่ปรากฏ รู้ลักษณะของอารมณ์อย่างละเอียดแล้วแต่ว่าอารมณ์นั้นจะคล้ายคลึงกันสักเท่าไหร่ก็ตาม แต่จิตก็สามารถจะรู้แจ้งในอาการซึ่งคล้ายคลึงกัน แต่ไม่ใช่อย่างเดียวกัน นี่คือลักษณะของจิต เพื่อที่จะได้เห็นความต่างกันของจิต และเจตสิก สำหรับเจตสิกก็เป็นสภาพซึ่งเกิดกับจิตชนิดซึ่งติดกันเลย ถ้าเราพูดถึงธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม สี กลิ่น รส โอชา ว่าเป็นรูป ๘ รูป ที่ติดกันแยกกันไม่ได้ แต่สำหรับจิตเจตสิกนี่ก็ติดกันยิ่งกว่านั้นเพราะเหตุว่าเป็นนามธรรม แล้วใครจะไปแยกสภาพซึ่งติดอย่างนามธรรมออกจากกันได้ ทั้งๆ ที่ติดอย่างรูปธรรมก็ยังแยกไม่ออก เพราะฉะนั้น ติดอย่างนามธรรมนี่ก็ยิ่งแยกไม่ได้เลย แต่ก็เป็นสภาพที่ต่างกัน
เพราะฉะนั้น จิตไม่ใช่เจตสิก จิตไม่ใช่วิตกเจตสิก เพราะฉะนั้นวิตกเจตสิกถ้าศึกษาโดยวิถีจิต จะเห็นได้ว่าไม่เกิดกับจิตเพียง ๑๐ ดวงเท่านั้น คือ จักขุวิญญาณจิตที่เห็นเป็นกุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑ ขณะนี้ไม่มีวิตกเจตสิกเกิดด้วย ขณะที่เพียงเห็น ขณะที่เพียงได้ยิน ขณะที่เพียงได้กลิ่น ขณะที่เพียงลิ้มรส ขณะที่เพียงกระทบสัมผัสกาย เรียกว่า ทวิปัญจวิญญาณจิต จิต ๑๐ ดวงนี้ที่รู้อารมณ์ปรมัตถ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ไม่มีวิตกเจตสิกเกิด แต่นอกจากนั้นแล้วจะมีวิตกเจตสิกเกิดร่วมด้วย ในกามาวจรจิต คือเราจะไม่พูดถึงฌาณจิตซึ่งจะต้องละวิตกเจตสิก แต่ว่าเราพูดถึงขณะนี้ทั่วๆ ไป ให้ทราบว่าจิตที่ไม่มีวิตกเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพียง ๑๐ ดวง เพราะฉะนั้นจักขุวิญญาณ คือจิตชั่วขณะที่เห็นสั้นมาก ขณะนี้ไม่มีใครสามารถจะรู้ได้เลยว่าสั้นแค่ไหน เพราะว่าจิตนี้มีอายุสั้นมากเพียงอุปาทขณะคือขณะที่เกิด ฐีติขณะขณะที่ตั้งอยู่ ภังคขณะคือขณะที่ดับ ที่แยกเป็น ๓ เพราะเหตุว่าขณะเกิด ไม่ใช่ขณะดับ และขณะที่ตั้งอยู่ ก็ไม่ใช่ขณะที่เกิด ไม่ใช่ขณะที่ดับ สิ่งที่เร็วแสนเร็วสั้นแสนสั้น พระผู้มีพระภาคก็ยังทรงจำแนก เพราะเหตุว่าจะมีรูปซึ่งเกิดร่วมด้วย ในแต่ละขณะของอนุขณะนี้ ซึ่งเราจะไม่กล่าวถึงความละเอียด แต่ให้ทราบว่าจิตเกิดดับเร็วมาก และเพียงขณะที่เป็นจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ กุศลวิบากอกุศลวิบาก อย่างละ ๒ ดวง รวมเรียกว่าทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ ดวงนี้ ไม่มีวิตกเจตสิก เมื่อดับไปแล้วเร็วที่สุดขณะนี้ จิตที่เกิดต่อ มีวิตกเจตสิก เกิดร่วมด้วย ยังไม่ได้คิดเรื่องราวใดๆ ทั้งสิ้น แต่วิตกเจตสิกเกิดกับสัมปฏิฉันจิต ซึ่งเกิดสืบต่อจากทวิปัญจวิญญาณจิต เพราะฉะนั้นไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องคิดเรื่อง ให้ทราบว่าวิตกเจตสิกไม่ใช่ตอนที่คิดเรื่อง แต่เพียงไม่ใช่ทวิปัญจวิญญานจิต ๑๐ ดวง มีวิตกเจตสิกเกิดตลอด เว้น ๑๐ ดวงนี้ เท่านั้น ที่ไม่มีวิตกเจตสิก ตอนนั้นรูปยังไม่ดับ แต่เพราะเหตุว่าไม่ใช่จิตที่เห็นสิ่งที่ปรากฏ ไม่ได้ทำทัสนกิจ เพราะฉะนั้นจึงมีวิตกเจตสิกเกิดเพื่อที่จะรู้อารมณ์ โดยที่ว่าไม่ใช่จักขุวิญญาณจิตที่เห็น เพราะฉะนั้นแม้ว่าเป็นสัมปฏิฉันจิตต้องมีวิตกเจตสิกเกิดร่วมด้วย สันตีรนจิตซึ่งเกิดต่อก็มีวิตกเจตสิกเกิดร่วมด้วย โวฏฐัพนจิต ชวนจิต และจิตต่อๆ ไปก็มีวิตกเจตสิก แม้ว่า รูปยังไม่ดับ ถึงแม้ว่ารูปดับไปแล้วเป็นภวังคจิตก็มีวิตกเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะเหตุว่าการศึกษาธรรมต้องศึกษาในเหตุในผล ให้เข้าใจว่า เมื่อทรงแสดงโดยพระสัพพัญญุตญาณที่ตรัสรู้ว่า เว้นจิต ๑๐ ดวง นอกจากนั้นมีวิตกเจตสิกเกิดร่วมด้วย ก็แสดงว่าเราจะต้องเข้าใจลักษณะของวิตกเจตสิกจริงๆ ว่าไม่ใช่เพียงตอนคิด แต่ก่อนคิดแม้ว่ารูปยังไม่ดับก็มีวิตกเจตสิกเกิดแล้ว นี่เป็นสิ่งซึ่งยากที่จะเห็นได้เข้าใจได้ เพราะฉะนั้นส่วนใหญ่ที่ทรงแสดงที่จะให้เราสามารถที่จะเข้าใจได้ก็คือตอนคิด ว่าขณะใดที่คิดขณะนั้นเป็นลักษณะของวิตกเจตสิก เพราะเหตุว่าวิตกเจตสิกเป็นสภาพที่จรดในอารมณ์ ซึ่งความจริงแล้วคิดเป็นทางมโนทวาร หมายความว่าไม่ได้อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่ว่ามีความทรงจำจากการที่เคยเห็น เคยได้ยินต่างๆ ในสังสารวัฎ เป็นปัจจัยทำให้มโนทวาราวัชชนจิตตรึกคิดถึงอารมณ์ แต่ว่าขณะนั้นมีวิตกเจตสิกเกิดร่วมด้วย
เพราะฉะนั้น จะเห็นความละเอียดของทั้งจิต และเจตสิกแต่ละชนิดแต่ละขณะ ซึ่งเขาจะทำกิจต่างๆ กันว่า ถ้าเป็นการที่ถึงวาระทางมโนทวารวิถีจิตจะเกิด จิตขณะแรกทางมโนทวารวิถีต้องเป็นมโนทวาราวัชชนะจิตซึ่งก็ต้องมีวิตกเจตสิกเกิดร่วมด้วย วิตกเจตสิกจรดในอารมณ์อะไรมโนทวาราวัชชนจิตก็รู้ในอารมณ์นั้นเป็นขณะแรก แต่ยังไม่ใช่กุศลจิตหรืออกุศลจิต เมื่อมโนทวาราวัชชนจิตดับแล้วผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์เป็นกุศลจิตหรือเป็นอกุศลจิตแล้วแต่เรื่องที่คิด เพราะฉะนั้นเวลานี้ถ้าใครกำลังจะคิดถึงบ้าน คิดได้หรือไม่
ผู้ฟัง ได้ครับ
ท่านอาจารย์ คนอื่นไม่ตอบเลย คุณอดิศักดิ์ช่วยตอบ คิดได้ใช่ไหมคะ ขณะนั้นทางใจใช่ไหม ต้องมีมโนทวาราวัชชนจิตเกิดที่จะนึกถึงบ้าน และวิตกเจตสิกก็เกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นเพื่อให้เข้าใจลักษณะของวิตกเจตสิกที่พอจะเห็นได้เข้าใจได้ จึงใช้คำว่าวิตกเจตสิกเป็นสภาพที่ตรึกหรือคิด แต่ทีนี้ก็ต้องแยกลักษณะของวิตกเจตสิก กับลักษณะของจิตซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธาน เพราะเราบอกว่า จิตคิด เพราะว่าเราเนี่ยไม่เคยรู้เรื่องเจตสิกเลย ใช่ไหม เวลาที่เป็นสุข เราก็บอกว่าจิตเป็นสุข แต่ว่าความจริงแล้ว เวทนาเจตสิกเป็นสภาพที่รู้สึกเป็นสุข เวลาที่เราปลาบปลื้มหรือโสมนัส ขณะนั้นก็เหมือนกับเป็นจิตใช่ไหม แต่ว่าจริงๆ แล้วลักษณะนั้นเป็นลักษณะของเวทนาเจตสิก ฉันใด เวลาที่คิดนี่คือวิตกเจตสิกตรึก แต่ว่าเพราะว่าจิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ที่วิตกเจตสิกตรึก เพราะฉะนั้นจึงเป็นเสมือนจิตคิด หรือเราจะใช้คำว่าจิตคิดก็ได้ เพราะเหตุว่าขณะนั้นไม่ได้รู้อารมณ์ทางตา ทางหู ไม่ใช่เห็น ไม่ใช่ได้ยิน ไม่ใช่ขณะที่รู้กลิ่น ไม่ใช่ขณะที่ลิ้มรส ไม่ใช่ขณะที่กระทบสัมผัสกาย
เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าโดยทั่วไปแล้วเราจะรวมจิต และเจตสิก และเราก็ไม่รู้ว่าลักษณะใดเป็นจิต และลักษณะใดเป็นเจตสิกเพราะเหตุว่าเกิดด้วยกัน แต่ว่าจริงๆ แล้วลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง วิตกเจตสิกก็เป็นวิตกเจตสิก จิตก็เป็นจิต ปัญญาก็เป็นปัญญา เพราะฉะนั้นก็ต้องทราบว่าจริงๆ แล้วปัญญาไม่ใช่จิต และไม่ใช่วิตกเจตสิก เวลาที่มีความรู้ถูกต้องในลักษณะของสภาพธรรม นั่นคือปัญญา แต่เพราะเหตุว่า ปัญญาต้องเกิดกับจิต ไม่มีเจตสิกสักประเภทเดียวซึ่งไม่เกิดกับจิต เพราะฉะนั้น เมื่อจิตเจตสิกเกิดร่วมกัน และจิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ เราก็บอกว่าจิตรู้ เป็นโลกุตตรจิตถ้ามีนิพพานเป็นอารมณ์ หรือว่าเป็นวิปัสสนาญาณขั้นต่างๆ แต่ความจริงแล้วก็คือสภาพที่รู้ถูกต้องเป็นปัญญา แต่เมื่อเกิดกับจิตเราก็เรียกจิตเป็นหัวหน้า แต่ว่าต้องรู้ว่าความจริงแล้วก็เป็นลักษณะของสภาพธรรมแต่ละประเภท
ผู้ฟัง เรียนถามว่า ปัญญาเจตสิกกับจิต คือ แยกไม่ออกว่า ถ้าจิตรู้แจ้งในอารมณ์ และปัญญาเจตสิกก็รู้แจ้งในสภาพธรรม แล้วต่างกันอย่างไร
ท่านอาจารย์ ปัญญารู้ถูก เห็นชอบ เห็นถูก ตามความเป็นจริงของสภาพธรรม ซึ่งจิตเวลาที่มีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วยจะไม่ใช่ลักษณะของการเห็นถูกเลย
อ.นิภัทร การรู้แจ้งของจิตนี้ คือรู้ว่าเป็นเพ็ชรแท้เพ็ชรเทียมอะไรเท่านั้นไม่ได้รู้ทั่ว อย่างปัญญา
ท่านอาจารย์ รู้แจ้งในลักษณะความต่างของอารมณ์ แต่ไม่ใช่ว่ารู้ถูกต้อง
ผู้ฟัง ที่รู้แจ้งนี้เป็นทั้งกุศล และอกุศลด้วยใช่ไหม
ท่านอาจารย์ เราก็จะมาถึงจิตซึ่งทุกคนมี แต่ไม่เคยรู้ว่าความละเอียดแล้วต้องแบ่งจิตออกเป็น ๔ ประเภท โดยชาติโดยการเกิดขึ้น ซึ่งไม่อยากให้ทุกคนลืม หรือไม่ใส่ใจ เพราะเหตุว่า การศึกษาปริยัติธรรมจะทำให้เราเข้าใจตามลำดับต่อๆ ไป ถ้าพื้นไม่มีจริงๆ แล้ว เราไม่สามารถจะเข้าใจได้ละเอียดจริงๆ เราเพียงแต่ฟังสบายใจ สบายหู แต่ว่าจริงๆ แล้วนี่สบายใจ สบายหู แล้วก็เข้าใจถูก ค่อยๆ เพิ่มขึ้นด้วย เป็นปัญญาบารมี เพราะเหตุว่าจะทำให้เราสามารถที่จะมีความเห็นถูกต้อง ตามความเป็นจริงของสภาพธรรม เพราะฉะนั้น ก็คงจะต้องพูดเรื่องชาติของจิตตามสมควร เท่าที่คิดว่าคนใหม่ๆ อาจจะยังสงสัยอยู่ เพราะเหตุว่าก่อนอื่นทุกคนมีจิตทุกวันทุกประเภท ในกามวจรจิต คือจิตซึ่งเป็นไปในรูป ในเสียง ในกลิ่นในรส ในโผฏฐัพ ยังไม่ใช่มีนิพพานเป็นอารมณ์ ยังไม่ใช่โลกุตตรจิต ยังไม่ใช่มีความสงบระดับขั้นฌาน ซึ่งเราก็จะไม่จำเป็นต้องกล่าวถึง เราพูดถึงชีวิตประจำวันจริงๆ จิตที่มีอยู่สามารถที่จะรู้ความจริงได้ว่ามีต่างกันเป็น ๔ ชาติ ชาติคือการเกิดขึ้น เป็น ๑ ใน ๔ คือ เป็นกุศลประเภทหนึ่ง หรือเป็นอกุศลประเภทหนึ่งซึ่งเป็นเหตุ ส่วนผลก็คือเป็นวิบากประเภทหนึ่ง และส่วนอีกชาติหนึ่งนั้นก็น้อยมากสำหรับชีวิตประจำวันคือกิริยาจิต คือจิตที่ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศลไม่ใช่วิบาก แต่สำหรับผู้ที่เป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านไม่มีอกุศล ไม่มีกุศล เพราะฉะนั้นท่านมีวิบากจิตกับกิริยาจิต
เพราะฉะนั้น วันนี้ก็คงจะต้องเน้นเรื่องของเหตุกับผล คือเรื่องกุศล อกุศล และเรื่องของวิบาก ส่วนเรื่องกิริยานั้นก็เป็นความละเอียด ซึ่งเวลาศึกษาปริยัติธรรม เราก็จะทราบได้ว่า เกิดขึ้นเมื่อใด อย่างไร แต่ว่าเมื่อเป็นจิตที่เกิดน้อยมาก แล้วก็รู้ยาก หรือรู้ไม่ได้ แต่สำหรับกุศล อกุศล วิบาก สามารถที่จะรู้ได้ เราก็จะได้พูดถึงเรื่องนี้
มีใครที่ยังจำชาติของจิตไม่ได้ จิตมี ๔ ชาติ กุศลหนึ่ง เป็นจิตประเภทที่ประกอบด้วยเหตุที่ดีงาม เป็นจิตที่เป็นเหตุไม่ใช่เป็นผล ส่วนอกุศล คือขณะที่จิตนั้นประกอบด้วยเหตุที่ไม่ดี เพราะฉะนั้น จะเป็นเหตุให้เกิดผลที่ไม่ดี คืออกุศลวิบากจิต เวลานี้คุณพรรณทิพา มีวิบากจิตหรือไม่
ผู้ฟัง มีค่ะ
ท่านอาจารย์ มีกุศลจิตหรือไม่
ผู้ฟัง เวลาเข้าใจอะไร คิดว่าเป็นกุศลจิต
ผู้ฟัง ไม่เอาคิด ไม่ค่อยจะชอบคำว่าคิด หรือถือ แต่อยากให้เป็นความเข้าใจว่า มีกุศลจิตหรือไม่
ผู้ฟัง ควรจะมี
ท่านอาจารย์ อกุศลจิตมีหรือไม่
ผู้ฟัง ก็ควรจะมีเหมือนกัน
ท่านอาจารย์ ควรเท่านั้นหรือ
ผู้ฟัง มีทั้งหมด เพราะว่า เราควรจะมีวิบาก มีจิตทั้ง ๔ ชาติใช่ไหม
ท่านอาจารย์ เรามีจิตครบทั้ง ๔ ชาติ แต่วันนี้เราจะพูดถึงเรื่อง กุศล อกุศล กับวิบาก ๓ ชาติ มีใครไม่มีกุศลจิตบ้าง มีใครเสงี่ยมเจียมตัวว่าไม่มีกุศลจิตบ้างไหม ความจริงต้องเป็นความจริง ไม่ใช่เรื่องของการที่เราจะคิดว่า เราไม่มี หรือเราควรจะมี หรืออะไรอย่างนั้น แต่เรามีกุศลจิตบ้าง มีอกุศลจิตบ้าง แล้วก็มีวิบากด้วย แต่ควรจะได้ทราบชัดว่าขณะที่เห็น เป็นวิบาก หรือเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล ชั่วขณะที่เห็นกำลังเห็น จิตเห็น ตอบได้ไหมว่า จิตที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล หรือเป็นวิบาก
ผู้ฟัง วิบาก
ท่านอาจารย์ วิบาก แปลว่าอะไร เป็นอะไร เราไม่อยากจะพูดถึงเพียงชื่อเพราะไม่มีประโยชน์เลยถ้าจะศึกษาธรรมโดยชื่อ แต่จะต้องเข้าใจสภาพที่มีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน แล้ววันนี้ก็น่าสนใจเพราะเป็นเรื่องของกุศล อกุศลซึ่งเป็นเหตุ และวิบากซึ่งเป็นผลขออนุญาตถามว่า ขณะที่เห็นเป็นจิตชาติไหน เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล หรือเป็นวิบากที่เห็น กำลังเห็น เฉพาะเห็น ตรงเห็นขณะนี้
ผู้ฟัง วิบาก
ท่านอาจารย์ ทำไมว่าเป็นวิบาก ต้องมีเหตุผล อาจจะยากสักเล็กน้อย
คุณสุรีย์ ทำไมถึงเป็นวิบาก คุณกฤษณา ต้องคิดก่อนว่า วิบากคืออะไร ถึงจะตอบอาจารย์ได้
ผู้ฟัง วิบากก็คือผลของกุศล กับอกุศล ที่ได้ทำมา
คุณสุรีย์ นั่นแหละคือ คำตอบ
ท่านอาจารย์ ตอบอย่างนี้ก็ง่ายเลยใช่ไหม แต่จริงๆ แล้วจะรู้จริงๆ ได้ไหมว่ากำลังเห็นเป็นวิบาก ไม่ใช่เพียงโดยขั้นที่เราฟังมาว่าวิบากเป็นผลของกุศล หรืออกุศล ถ้าเป็นผลที่ดี เห็นสิ่งที่สวยๆ ประณีต ก็เป็นกุศลวิบาก หรือถ้าเห็นสิ่งที่ไม่ดี ก็เป็นอกุศลวิบาก อย่างนี้เราก็ตอบได้ แต่เราจะรู้จริงๆ ได้ไหมว่ากำลังเห็นเป็นวิบากจิต ชั่วขณะที่กำลังเห็นเป็นวิบาก เราสามารถที่จะรู้ได้จริงๆ หรือไม่ ถ้าโดยปริยัติ ต้องทราบว่า ทุกอย่างที่เกิดต้องมีเหตุมีปัจจัย จะเกิดขึ้นลอยๆ ไม่ได้เลย ถ้าใครบอกว่า เกิดขึ้นมาเอง หมายความว่า คนนั้นไม่มีปัญญาที่จะรู้ถึงเหตุว่าอะไรเป็นเหตุให้เกิด แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้วสภาพธรรมทุกอย่างต้องมีเหตุปัจจัยปรุงแต่งจึงจะเกิดขึ้นได้ และสำหรับการเห็นไม่มีใครเลือกได้เลยใช่ไหมว่าจะเห็นสิ่งที่น่าพอใจ หรือไม่น่าพอใจ เพราะเหตุว่าเมื่อพร้อมด้วยเหตุปัจจัย ซึ่งก็ได้แก่ ถ้าเป็นทางตา จักขุปสาท กับ รูป แสงสว่าง ทำให้เห็นเป็นสีสันต่างๆ ก็ยังไม่พอ เพราะว่า นี่เป็นปัจจัยให้เกิดการเห็นซึ่งจะเป็นกุศลวิบาก หรืออกุศลวิบากนั้นแล้วแต่กรรมที่ได้กระทำ นี่แสดงให้เห็นว่า เราต้องเป็นผู้ที่มั่นคงในเรื่องเหตุ และผล เวลานี้ ถ้ากรรมไม่ได้กระทำแล้วในอดีต ไม่มีทางที่จะให้วิบากจิตทั้งหลายเกิดขึ้นได้เลย
เพราะฉะนั้น ที่เราใช้คำว่าวิบากเป็นผลของกรรมก็แสดงให้รู้ว่า ถ้าเรามีความเข้าใจในสภาพซึ่งเป็นวิบาก เราก็ต้องรู้ว่าสภาพนี้เป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว ซึ่งกรรมขณะนี้ทุกคนก็กำลังกระทำอยู่ เดี๋ยวนี้จริงๆ แล้วถ้าถามว่า มีกรรมหรือไม่ เปลี่ยนจากวิบากไปถามว่ามีกรรมไหม ก็ต้องบอกว่ามี แต่ก็ยังไม่ได้ละเอียด เพราะว่าความละเอียดนี่จะพูดให้ละเอียดลึกลงไปอีกก็ได้ แต่ว่าเพียงเผินๆ ทุกคนก็ยอมรับว่า ขณะนี้มีกรรมด้วย แต่กรรมที่กำลังมีในขณะนี้ ยังไม่เป็นปัจจัยให้เกิดวิบาก เพราะฉะนั้น วิบากในขณะนี้เป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว ไม่ใช่ที่กำลังเกิดในขณะนี้ เพราะเหตุว่าจะไม่มีกรรมที่ให้ผลอย่างรวดเร็วทันทีติดต่อกันได้เลย เว้นโลกุตรกุศลเท่านั้น
ผู้ฟัง บังคับไม่ได้
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้จริงๆ ว่า มีการเห็น แต่การเห็น ก็ยังต่างกัน เป็นการเห็นสิ่งที่ดี และไม่ดี ซึ่งแล้วแต่เหตุปัจจัยว่าเป็นผลของกุศลกรรมก็ทำให้เห็นสิ่งที่ดี ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรมก็ทำให้เห็นสิ่งที่ไม่ดี คุณหมอมธุรส มีกรรมหรือไม่ขณะนี้ มีหรือคะ กรรมอะไร ทางไหน
ผู้ฟัง มี
ท่านอาจารย์ ถามถึงกรรม เมื่อครู่ถามถึงวิบากว่ามี ตอนนี้ถามถึงกรรมว่า ขณะนี้มีกรรมหรือไม่
ผู้ฟัง มี
ท่านอาจารย์ กรรมอะไร
ผู้ฟัง กรรมก็คือการกระทำ ก็คือเราได้มาฟังพระธรรม
ท่านอาจารย์ กรรมมี ๒ อย่าง คือ กุศลกรรม และอกุศลกรรม ขณะนี้มีกรรมอะไร
ผู้ฟัง มีกุศลกรรม
ท่านอาจารย์ มีกุศลกรรม เพราะว่ากำลังฟังธรรม
ตอนนี้ทบทวน เพียงสั้นๆ คือเรื่องชาติของจิต ไม่ทราบใครจะมีคำถามอะไรบ้าง หรือเปล่า ชาติของจิต ๓ ชาติ คือ กุศล อกุศล วิบาก ส่วนกิริยาเราอย่าเพิ่งค่ะ
ผู้ฟัง ทบทวนดูแล้วไม่เข้าใจที่ว่า จิตนี้เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ แล้วถ้าเป็นอกุศลชาติเป็นอกุศลได้เพราะว่ามีอกุศลเจตสิกประกอบใช่ไหม คือไม่เข้าใจว่า ตัวจิตนี้ไม่เป็นอกุศลใช่ไหม
ท่านอาจารย์ จิตเป็นสภาพ หรือเป็นธาตุที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะต่างๆ ของอารมณ์ ตัวจิตนี้มีความสามารถเท่านี้เอง จิตจำไม่ได้ จิตสุขทุกข์ไม่ได้ คิดนึก ตรึกแบบวิตกเจตสิก หรือเป็นปัญญาเจตสิก เป็นสติเจตสิก ก็ไม่ได้ แต่เมื่อมีจิตแล้ว ต้องมีเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพที่มีอยู่ในจิตหรือเกิดกับจิต ที่ใช้คำว่า มีอยู่ในจิตนี่ จริงๆ แล้วไม่ใช่ว่ามีอยู่ แต่ว่าเกิดกับจิต เพราะฉะนั้น จิต และเจตสิกนี้แยกกันไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น จึงจำแนกจิตออกเป็นประเภทต่างๆ ได้ถึง ๘๙ ประเภท เพราะเหตุว่า โดยลักษณะแท้จริงของจิตแล้วเป็นแต่เพียงสภาพที่เป็นธาตุรู้ ซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์เท่านั้น
ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นเป็นอกุศลจิตได้ เพราะว่ามีอกุศลเจตสิกประกอบใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ต้องประกอบด้วยเจตสิก
ผู้ฟัง จึงเรียกว่าอกุศลชาติ ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ จึง "เป็น" ไม่ใช่ เรียกว่า แต่"เป็น"
ผู้ฟัง จิตเป็นประธาน ในการรู้อะไรต่ออะไร
ท่านอาจารย์ รู้แจ้งลักษณะที่ต่างกันของอารมณ์
ผู้ฟัง อารมณ์นี้ก็คือเจตสิก
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่
- สนทนาธรรม ตอนที่ 061
- สนทนาธรรม ตอนที่ 062
- สนทนาธรรม ตอนที่ 063
- สนทนาธรรม ตอนที่ 064
- สนทนาธรรม ตอนที่ 065
- สนทนาธรรม ตอนที่ 066
- สนทนาธรรม ตอนที่ 067
- สนทนาธรรม ตอนที่ 068
- สนทนาธรรม ตอนที่ 069
- สนทนาธรรม ตอนที่ 070
- สนทนาธรรม ตอนที่ 071
- สนทนาธรรม ตอนที่ 072
- สนทนาธรรม ตอนที่ 073
- สนทนาธรรม ตอนที่ 074
- สนทนาธรรม ตอนที่ 075
- สนทนาธรรม ตอนที่ 076
- สนทนาธรรม ตอนที่ 077
- สนทนาธรรม ตอนที่ 078
- สนทนาธรรม ตอนที่ 079
- สนทนาธรรม ตอนที่ 080
- สนทนาธรรม ตอนที่ 081
- สนทนาธรรม ตอนที่ 082
- สนทนาธรรม ตอนที่ 083
- สนทนาธรรม ตอนที่ 084
- สนทนาธรรม ตอนที่ 085
- สนทนาธรรม ตอนที่ 086
- สนทนาธรรม ตอนที่ 087
- สนทนาธรรม ตอนที่ 088
- สนทนาธรรม ตอนที่ 089
- สนทนาธรรม ตอนที่ 090
- สนทนาธรรม ตอนที่ 091
- สนทนาธรรม ตอนที่ 092
- สนทนาธรรม ตอนที่ 093
- สนทนาธรรม ตอนที่ 094
- สนทนาธรรม ตอนที่ 095
- สนทนาธรรม ตอนที่ 096
- สนทนาธรรม ตอนที่ 097
- สนทนาธรรม ตอนที่ 098
- สนทนาธรรม ตอนที่ 099
- สนทนาธรรม ตอนที่ 100
- สนทนาธรรม ตอนที่ 101
- สนทนาธรรม ตอนที่ 102
- สนทนาธรรม ตอนที่ 103
- สนทนาธรรม ตอนที่ 104
- สนทนาธรรม ตอนที่ 105
- สนทนาธรรม ตอนที่ 106
- สนทนาธรรม ตอนที่ 107
- สนทนาธรรม ตอนที่ 108
- สนทนาธรรม ตอนที่ 109
- สนทนาธรรม ตอนที่ 110
- สนทนาธรรม ตอนที่ 111
- สนทนาธรรม ตอนที่ 112
- สนทนาธรรม ตอนที่ 113
- สนทนาธรรม ตอนที่ 114
- สนทนาธรรม ตอนที่ 115
- สนทนาธรรม ตอนที่ 116
- สนทนาธรรม ตอนที่ 117
- สนทนาธรรม ตอนที่ 118
- สนทนาธรรม ตอนที่ 119
- สนทนาธรรม ตอนที่ 120