สนทนาธรรม ตอนที่ 090
ตอนที่ ๙๐
ผู้ฟัง เฉพาะฉะนั้นจึงมีแต่เฉพาะสภาพรู้กับสิ่งที่ปรากฏให้รู้ ไม่มีเรา
ท่านอาจารย์ ไม่มีค่ะ
ผู้ฟัง มีสภาพรู้ที่เกิดขึ้นรู้สิ่งที่กำลังปรากฏอยู่
ท่านอาจารย์ แล้วก็จะระลึกลักษณะที่เป็นรูปธรรมหรือนามธรรมก็ได้ แล้วไม่มีเราที่จะจงใจอีกที่จะต่อ หรือไม่ต่อ ถ้าสติเกิดสติก็ระลึกต่อ ถ้าหลงลืมสติก็เป็นเรื่องคิดนึกเข้ามาเท่านั้นเอง นี่คือการอบรมเจริญปัญญาจริงๆ เป็นปกติ
เพราะฉะนั้นใครก็ตามที่จะบอกว่าส่งเสริมพระพุทธศาสนา และก็พยายามชักชวนกันให้ส่งเสริม ถ้าขาดการศึกษาแล้วไม่ชื่อว่าส่งเสริมพระพุทธศาสนา เพราะเหตุว่าศาสนาคือคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าจะรักษา หรือส่งเสริมพระพุทธศาสนาก็คือว่าศึกษาให้เข้าใจพระธรรม ไม่มีหนทางอื่น
ผู้ฟัง ที่พูดกันมานี้ก็เพื่อจะมุ่งไปสู่ทิศทางในการปฏิบัติ
ท่านอาจารย์ ในการอบรมเจริญปัญญา ไม่อยากจะใช้คำว่าปฏิบัติเลย อบรมเจริญปัญญา เราต้องรู้ตัวเราว่าไม่มีปัญญา หรือว่ามีปัญญาน้อย หรือปัญญายังไม่เจริญจะต้องอบรมให้เพิ่มขึ้น ใช้คำว่าเป็นการอบรมเจริญปัญญาดีที่สุด อย่างที่อาจารย์แปลตอนต้นว่าภาวนา หมายความว่าอบรมให้เกิดขึ้น ให้มีขึ้น ให้เพิ่มขึ้น ให้มากขึ้นไม่ใช่เป็นเรื่องที่เราอยากไปทำ แต่เป็นเรื่องของปัญญาที่จะต้องอบรมให้เพิ่มขึ้น
ผู้ฟัง มีหลายๆ อย่างเช่นว่าการพูด การสนทนากัน ก็เป็นภาวนา
ท่านอาจารย์ เป็นหนทางที่จะทำให้ปัญญาเจริญขึ้นถึงขั้นภาวนาได้
ผู้ฟัง เพื่อให้ผู้ฟังที่จะมีแนวทางไปอบรม
ท่านอาจารย์ ไม่ผิดให้เข้าใจถูกขึ้นๆ มีข้อสงสัยเรื่องการปฏิบัติอะไรหรือไม่
ผู้ฟัง อยากจะรู้ว่าจะปฏิบัติยังไงที่จะให้มีสติ
ท่านอาจารย์ ทีนี้ทราบแล้วใช่ไหมว่าไม่ใช่เรื่องปฏิบัติ แต่เป็นเรื่องการอบรมความรู้ความเข้าใจ ทิ้งเลย ลืมเลยเรื่องปฏิบัติไม่ต้องสนใจ เพราะมิฉะนั้นจะเป็นตัวตนที่ทำไม่ใช่ปัญญาที่เข้าใจถูกในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่าเป็นอนัตตา ต้องฟังให้มากๆ และเข้าใจสภาพธรรมที่ปรากฏ นี่คือการอบรม จนกว่าสติจะเกิด
ผู้ฟัง แล้วเมื่อไหร่
ท่านอาจารย์ เมื่อไหร่นี่คืออยาก สมุทัยสัจคือละโลภะ ต้องท่องไว้ในใจเลยว่า ละโลภะไม่ใช่อยาก
ผู้ฟัง บางทีบางวันไม่ได้เลย
ท่านอาจารย์ มีก็ไม่มี อยากได้นี่คือโลภะ เพราะฉะนั้นเป็นเครื่องเนิ่นช้าไม่ใช่หนทาง
ผู้ฟัง ระลึกเอา ไม่ใช่ว่าอยาก บางทีก็นึกวันนี้อย่างนี้ แล้วก็พอได้ฟังอาจารย์ก็ปล่อยไปเมื่อไหร่ก็ช่าง
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ปล่อย อย่าใช้คำว่าปล่อย ไม่มีใครปล่อย ไม่มีใครทำอะไรสภาพธรรมได้เลย สภาพธรรมเกิดแล้วเดี๋ยวนี้ทุกขณะตามเหตุตามปัจจัย แต่เข้าใจให้ถูกในลักษณะของสภาพธรรม
ผู้ฟัง เพราะยังไม่ได้เรียนมาก ได้แต่ฟัง
ท่านอาจารย์ เวลาฟังธรรมไม่ว่าจะฟังใคร เรามีสิทธิ์ของเราที่จะพิจารณาใช่ไหมที่จะรู้ว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด มีความกล้าที่จะตัดสิน ว่าสิ่งใดผิด หรือสิ่งใดถูก หรือว่าทุกอย่างถูกหมด เวลาที่ศึกษาแล้วเราเป็นคนที่กล้าที่จะตัดสิน ว่าอะไรถูกอะไรผิด สิ่งที่ได้ยินได้ฟังมาอะไรถูก อะไรผิด หรือว่าอะไรๆ ก็ถูกทั้งนั้นแหละ สำหรับแม่ชีเป็นอย่างไรใน ๒ อย่าง
ผู้ฟัง แต่สำหรับแม่ชีพูดจริงๆ ที่ฟังของอาจารย์ว่าถูกหมดเลย
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ หมายความว่าบางคนเท่าที่ฟังมาฟังอะไรเขาถูกทั้งนั้น ที่นั่นก็ถูก ที่นี่ก็ถูก พูดอย่างนี้ก็ถูก พูดอย่างนั้นก็ถูก แม่ชีเห็นด้วยไหม หรือว่าถูกก็มี ผิดก็มีผิดก็มี
ผู้ฟัง ผิดก็มี
ท่านอาจารย์ ถูกก็มี ผิดก็มี เพราะฉะนั้นถ้าเราเป็นผู้ที่ต้องการสัจจะความจริงเราก็ต้องกล้าที่จะตัดสินว่าอะไรถูกอะไรผิดใช่ไหม จะบอกว่าทุกอย่างถูกหมดไม่ได้ถ้าสิ่งนั้นไม่เหมือนกัน หรือต่างกัน อย่างหนึ่งต้องถูก อีกอย่างหนึ่ง ต้องผิดใช่ไหม เราจะไม่อลุ่มอล่วยว่าถูกทั้งหมดเป็นไปไม่ได้
เรื่องจิตนี่เรื่องใหญ่ และทุกคนก็มีจิต แต่ว่าไม่สามารถจะรู้เรื่องจิตได้ถ้าไม่ศึกษาจริงๆ เพราะฉะนั้นก็จะต้องเข้าใจเรื่องจิตให้ละเอียดขึ้น เช่น โดยชาติ ถ้าได้ยินคือใหม่เอี่ยมเลย จิตมีชาติด้วยหรือ เพราะเราไม่เคยคิดเลยว่าจิตมีชาติ คิดว่ามีแต่คน แต่ความจริงแล้วจิตมีชาติ แต่ชาติของจิตนั้นไม่ใช่ชาติไทย ชาติญี่ปุ่น ชาติฝรั่ง จิตมี ๔ ชาติ คือ ๑ ชา-ติ คือการเกิด จิตเกิดขึ้นเป็นกุศล เปลี่ยนไม่ได้ ถ้าเกิดแล้วเป็นกุศลชั่วหนึ่งขณะแล้วก็ดับไป หรือชาติที่ ๒ จิตเป็นชาติอกุศล หมายความว่าจิตนั้นเกิดขึ้นเป็นอกุศล กุศลกับอกุศลตรงกันข้ามกันจะเป็นจิตดวงเดียวกันไม่ได้ เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าจิตของแต่ละคนไม่พ้นจาก ๔ ชาติ แล้วก็เกิดแล้วก็ดับสลับกัน เวลาที่เกิดเป็นกุศลต้องดับสลับก่อน แล้วก็จิตชาติอื่นถึงจะเกิดได้ ที่เราคุ้นหูก็มีกุศล๑ อกุศล ๑ ให้ทราบว่านั่นคือชาติของจิต มีใครไม่มีจิต ๒ ชาติ นี่บ้างคะ ไม่มี มีใครที่มีจิตชาติเดียวคือเป็นกุศลอย่างเดียวไม่เป็นอกุศลเลย ก็ไม่มีอีก ก็แสดงให้เห็นว่าทุกคนมีทั้งจิตที่เป็นชาติกุศล และจิตที่เป็นชาติอกุศลซึ่งเป็นเหตุ ถ้าพูดถึงกุศล และอกุศลซึ่งเป็นเหตุจะต้องมีผล ผลนั้นก็คือทำให้จิตอีกประเภทหนึ่งเกิดขึ้นเป็นวิบากจิต วิบากจิตคือจิตที่เป็นผลของกรรม เพราะฉะนั้นเมื่อกรรมที่เป็นกุศลเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้จิตเกิดขึ้นเป็นกุศลวิบาก จิตเปลี่ยนชาติแล้ว คือถ้าเป็นกุศลเป็นเหตุ ถ้าเป็นวิบากเป็นผล เพราะฉะนั้นถ้าขณะใดที่วิบากจิตเกิดขึ้นให้ทราบว่าต้องเป็นผลของกรรม และถ้าพูดวิบากเฉยๆ เราก็ไม่รู้ว่าเป็นวิบากของกรรมอะไร เพราะฉะนั้นก็ต้องเป็นกุศลวิบาก หรืออกุศลวิบาก แล้วแต่เหตุซึ่งเป็นกรรม ขณะนี้มีใครไม่มีวิบากบ้าง ก็ไม่มีอีก มีทั้งกุศลวิบาก และอกุศลวิบาก แต่ขณะนี้พอจะบอกได้ไหมว่าเป็นวิบากประเภทไหน กุศลวิบากเพราะอะไร ทางตาก็มีกุศลวิบาก ทางหูก็มีกุศลวิบาก อากาศก็เย็นสบายดี ทางกายก็เป็นกุศลวิบากด้วย นี่ก็แสดงให้เห็นว่ามีทั้งกุศลจิต อกุศลจิตซึ่งเป็นเหตุ ๒ เป็น ๒ ชาติแล้วก็มีวิบากซึ่งเป็นผลอีก ๑ ชาติ
มีจิตอีกชาติหนึ่งซึ่งสุดวิสัยที่ใครจะนึกถึงว่ามี ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงตรัสรู้ไม่ทรงแสดง คือจิตอีกประเภทหนึ่งนั้นไม่ใช่จิตที่เป็นเหตุ คือไม่ใช่กุศล อกุศล แล้วก็ไม่ใช่วิบาก คือไม่ใช่กุศลวิบาก ไม่ใช่อกุศลวิบาก แต่เป็นกิริยาจิต นี่เป็นความละเอียดกิริยาจิตก็เข้าใจได้เลยว่าหมายความถึงจิตซึ่งไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล ซึ่งเป็นเหตุ และไม่ใช่วิบากซึ่งเป็นผล จิตนี้เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ทำกิจหน้าที่ซึ่งไม่เป็นเหตุที่จะให้เกิดผลข้างหน้า และก็ไม่ใช่ผลซึ่งเกิดมาจากเหตุหนึ่งเหตุใดในอดีตด้วย แต่มีปัจจัยที่จะทำให้จิตนี้เกิดขึ้นทำกิจเฉพาะบางกิจ แล้วก็ยังมีกิริยาจิตซึ่งเป็นจิตของพระอรหันต์เพราะเหตุว่าพระอรหันต์ดับกิเลสหมด เพราะฉะนั้นสำหรับพระอรหันต์ไม่มีทั้งกุศลจิต และอกุศลจิต บางคนอาจจะคิดว่าพระอรหันต์ดับอกุศลจิตแต่ยังมีกุศลจิต แต่เมื่อกุศลเป็นเหตุ อกุศลเป็นเหตุ พระอรหันต์ดับเหตุที่จะให้เกิดอีก เพราะฉะนั้นพระอรหันต์ก็ดับทั้งกุศลจิต และอกุศลจิต สำหรับพระอรหันต์ที่ยังไม่ปรินิพพานคือยังไม่ตายยังไม่จุติ จะมีจิตเพียง ๒ ชาติเท่านั้น คือวิบากจิต กับกิริยาจิต ไม่มีกุศลจิตไม่มีอกุศล
ไม่ทราบมีปัญหา สงสัย หรือตามไม่ทันหรือไม่ แต่คนที่อ่านหนังสือแล้วก็คงจะไม่มีปัญหา คุณสุพรรณีสงสัยหรือไม่ตอนนี้
ผู้ฟัง ไม่สงสัย
ท่านอาจารย์ ไม่สงสัย ขณะนี้มีวิบากจิตหรือไม่
ผู้ฟัง มี
ท่านอาจารย์ กุศลจิตไหม
ผู้ฟัง มีเต็มที่เลย
ท่านอาจารย์ อกุศลจิตมีไหม
ผู้ฟัง มี
ท่านอาจารย์ มีด้วยหรือ ก็เข้าใจถูกต้อง มีกิริยาจิตหรือไม่
ผู้ฟัง กิริยาจิตก็มีะ ทางปัญจทวาร เราจะมีกิริยาจิตเรื่อยๆ ไปไม่ได้เพราะว่าเราเป็นปุถุชนธรรมดานี่เอง
ท่านอาจารย์ แต่ให้ทราบว่าผู้ที่แม้ไม่ใช่พระอรหันต์ หรือพระอริยบุคคลมีจิตครบทั้ง ๔ ชาติ คือธรรมจะไม่เปลี่ยนเลย สิ่งใดที่ได้ยินได้ฟังอย่างไรวันนี้เป็นความจริงตลอดในพระไตรปิฎก คือไม่ใช่ว่าพระพุทธเจ้าตอนพรรษาแรกจะตรัสอย่างนี้แล้วพรรษาหลังๆ จะเปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้นทรงแสดงไว้ว่าสภาพธรรมคือจิตมี ๔ ชาติเป็นกุศล ๑ อกุศล ๑ วิบาก ๑ กิริยา ๑ ความหมายของทั้ง ๔ ชาติต้องเข้าใจ อย่าเพียงแต่จด หรือจำ แต่ต้องเข้าใจเป็นกุศลอย่างไร เป็นอกุศลอย่างไร เป็นวิบากอย่างไร เป็นกิริยาอย่างไร และต่อไปถึงจะได้ทราบว่ากุศลมีเท่าไหร่ อกุศลมีเท่าไหร่วิบากมีเท่าไหร่ กิริยามีเท่าไหร่ แต่ตอนต้นนี้ให้ทราบว่า ทุกคนที่ไม่ใช่พระอรหันต์ ทุกคนที่ไม่ใช่พระอรหันต์มีจิต ๔ ชาติครบ สำหรับพระอรหันต์นั้นมีจิตเพียง ๒ ชาติคือขาดกุศลกับอกุศล
คุณสุรีย์ เหตุใดท่านจึงกำหนดวิบากจิตเป็นหนึ่งไม่แยกเป็นสอง คือกุศลวิบากจิต และอกุศลวิบากจิต
ผู้ฟัง ที่ไม่แยกเพราะว่าเป็นผลของกุศล และอกุศล
ท่านอาจารย์ คำถามว่าเหตุมี ๒ คือกุศลจิตรึกุศลกรรม๑ แล้วอกุศลจิต หรืออกุศลกรรม๑ เพราะฉะนั้นวิบากก็มี ๒ คือกุศลวิบากเป็นผลของกุศลกรรม อกุศลวิบากเป็นผลของอกุศลกรรม คำถามคือทำไมไม่แยกเป็น ๕ ชาติใช่ไหม แทนที่จะเป็น ๔ ชาติว่าเป็นเพราะเหตุแยกเหตุแยกเป็นกุศล๑ อกุศล๑ พอถึงผลไม่แยก เป็นวิบาก๑ และก็เป็นกริยา๑ น่าจะแยกเป็นกุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑ ที่เป็นอย่างนี้ก็เป็นเพราะเหตุว่าตัวเหตุต่างกันจริง มากมายหลายนัย คือแม้แต่อกุศลกรรมก็ต่างๆ กันไปจะเป็นอกุศลกรรมทางกายก็มี ทางวาจาก็มี ทางใจก็มี ทางฝ่ายกุศลก็เช่นเดียวกัน มีทั้งทาน มีทั้งศีล มีทั้งการอบรมเจริญปัญญา นี่เป็นความหลากหลายของกุศล และอกุศล แต่เวลาให้ผลเป็นวิบากจะเห็นได้เลยว่ามีวิบากที่จำกัด เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่า เพียงวิบากซึ่งเป็นผลของกรรมเกิดขึ้น ถ้ารู้ว่าวิบากคืออะไร จะเห็นได้เลยว่าไม่มีความหมาย หรือไม่มีความสำคัญเท่ากับเหตุที่จะให้เกิดผลข้างหน้า เช่นขณะที่กำลังเห็นขณะนี้ แต่ก่อนอาจจะไม่เคยทราบเลยว่าเป็นวิบากจิต เป็นจิตที่เกิดขึ้นเห็น หรือขณะที่กำลังได้ยินก็เป็นวิบากจิต คือเป็นจิตซึ่งเกิดขึ้นได้ยิน แสดงให้เห็นว่าเราจะต้องศึกษาตั้งแต่ต้นมาเลยว่าผลของกรรมเริ่มเมื่อไหร่อย่างไร ตั้งแต่ปฏิสนธิก็เป็นผลของกรรมแล้ว และเมื่อเป็นผลของกรรมที่ทำให้ปฏิสนธิเป็นบุคคลต่างๆ อาจจะเป็นสัตว์ อาจจะเป็นคนอาจ จะเป็นเทพ อาจจะเป็นพรหม นี่คือผลของกรรมที่ต่างกัน แต่วิบากที่ทำกิจปฏิสนธิชั่วขณะแรกไม่มีใครรู้สึกเลย ขณะแรกที่เกิดในโลกนี้เพียงปฏิสนธิจิตเกิด มีใครรู้สึกว่าสำคัญอย่างไรบ้างหรือเปล่า เพราะว่าดับไปโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัวเลย เพียงชั่วขณะสั้นๆ ไม่ว่าจะเกิดเป็นพรหม หรือจะเกิดเป็นมนุษย์ หรือจะเกิดเป็นเปรต พอปฏิสนธิจิตเกิดขณะนั้นจะไม่มีการรู้อารมณ์ใดๆ ในโลกที่ตนเกิดเลย เพราะเหตุว่าเป็นจิตขณะแรกซึ่งเกิด และเมื่อกรรมทำให้จิตนี้เกิดขึ้นแล้วดับไป ก็ยังทำให้จิตที่เป็นผลของกรรมนั้นเกิดสืบต่อดำรงภพชาติเป็นภวังคจิต ซึ่งก็ไม่มีความหมายอีกเพราะเหตุว่าเวลาที่จิตเป็นภวังค์หมายความว่าไม่รู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เช่น ขณะที่หลับสนิท ซึ่งทุกคนก็ทราบว่าลักษณะนั้นโลกไม่ปรากฏเลย เพราะฉะนั้นก็ไม่สุขไม่ทุกข์ ไม่ดีใจ ไม่ตื่นเต้นไม่เป็นกุศล ไม่เป็นอกุศลทั้งสิ้น เป็นแต่เพียงกรรมทำให้จิตเกิดขึ้นดำรงภพชาตินั้นไว้ จนกว่ากรรมจะทำให้มีจิตเห็นเกิดขึ้น และเพียงแค่เห็นดับแล้วแต่ว่าสิ่งที่ปรากฏนั้นทำให้เกิดความรู้สึกที่ยินดี ยินร้าย ในสิ่งนั้น ทำให้เป็นกุศล หรืออกุศล
เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าวิบากนั้นมีจำกัด เป็นผลเพียงแค่ปฏิสนธิ ภวังค์ และก็มีกิจเห็น ได้ยิน เท่านั้นเอง แต่ว่ากุศลกรรม และอกุศลกรรมนี่มากมาย เพราะฉะนั้นจึงจำแนกทางฝ่ายเหตุเป็น ๒ ชาติ แต่ฝ่ายผลนิดเดียวเกิดขึ้น และก็ดับไป ไม่ว่าจะเป็นกุศลวิบาก หรืออกุศลวิบากก็เท่านั้นเอง คือเป็นเพียงวิบาก ก็ไม่จำเป็นต้องแยก
ผู้ฟัง สมมติว่าเราจะไม่แยกชาติกุศล อกุศล จะเป็นไปได้อย่างไร เพราะต่างกันโดยตรงอยู่แล้ว ต้องมีอกุศล และมีกุศล ส่วนวิบากพูดรวมได้ แล้วเราก็แยกได้ด้วยตอนหลัง พูดรวมได้ว่าวิบากอาจจะหมายถึงให้กุศลวิบาก อกุศลวิบากก็ได้ ทีนี้จะพูดถึงคำว่ากุศลเราจะหมายถึงอกุศลก็ไม่ได้ จะพูดอกุศลจะหมายถึงกุศลก็ไม่ได้ จะเป็นอยู่ในตัวบังคับอยู่ดีต้องแยก ผมเข้าใจอย่างนี้จะใช้ได้ไหม
ท่านอาจารย์ ค่ะจะได้ไม่มีปัญหาว่าแล้วทางฝ่ายกุศลวิบากก็ไม่ใช่อกุศลวิบากอีกเหมือนกัน
ผู้ฟัง ขออนุญาตครับก่อนจะผ่านเรื่องนี้ไปซึ่งเมื่อพูดถึงกุศล และอกุศลเป็นเหตุ อย่างที่คุณนิภัทรพูด แล้วแต่ความจริง เวลาเป็นวิบากเขาแยกอยู่แล้ว เพราะว่าท่านอาจารย์บรรยายอยู่ว่าทางตาเป็นกุศลกับอกุศล ทางหูเป็นกุศลกับอกุศลซึ่งเป็นวิบากอันนี้เป็นการแยกโดยธรรมชาติที่จะต้องเกิดขึ้น แต่เนื่องจากว่าจิตเกิดขึ้นทีละขณะๆ เพราะฉะนั้นเวลาที่บอกทางตามีกุศลวิบากอกุศลบากแล้ว แต่ว่าเป็นโอกาสของกุศลวิบากก็เป็นกุศลวิบาก ถ้าเป็นโอกาสของอกุศลวิบากก็เป็นอกุศลวิบากโดยธรรมชาติแยกหมดแล้ว เพียงแต่ว่าเรายังสับสนบ้าง หรือไม่เข้าใจบ้าง ผมมีความเข้าใจอย่างนี้
ท่านอาจารย์ คือมีปัญหาของคนช่างคิดเท่านั้นเอง ว่าทำไมทางฝ่ายเหตุเป็นกุศลชาติหนึ่ง เป็นอกุศลชาติหนึ่ง แต่พอถึงฝ่ายวิบากไม่แยก รวมเป็นหนึ่งชาติ
คุณสุรีย์ วิบากจิตเป็นรูปธรรม หรือนามธรรมเพราะอะไร
ผู้ฟัง เป็นนามธรรม เพราะว่าเป็นสภาพรู้ค่ะ
คุณสุรีย์ คำว่าจิต มีทั้งวิบากจิต และวิบากเจตสิกเกิดร่วมด้วยจึงเป็นนามธรรม
ผู้ฟัง วิบากจิตเป็นนามธรรม เพราะเป็นสภาพรู้ ประกอบไปด้วยจิต และเจตสิกซึ่งเป็นวิบากด้วย
ท่านอาจารย์ ถ้าใช้คำว่าวิบากแล้ว หมายเฉพาะนามธรรมคือจิต และเจตสิก รูปเป็นผลของกรรมได้แต่รูปไม่ใช่วิบาก เพราะฉะนั้นถ้าได้ยินคำว่าวิบากที่ไหน เมื่อไหร่ในปิฏกหนึ่งปิฏกใดหรือในอรรถกถาต้องทราบว่าถ้าพูดถึงวิบากแล้วหมายเฉพาะนามธรรมคือจิต และเจตสิกเท่านั้น
ผู้ฟัง มีพุทธภาษิตว่า กัมมัง สัตเต วิภัชชติ กรรมย่อมจำแนกสัตว์ ยะทิทัง หีนัปปะณีตะตายะ คือให้เลว และประณีตต่างกันหมายความว่ากรรมดี กุศลกรรมก็จำแนกให้ประณีต กรรมเลวก็จำแนกให้เลว กรรมไม่ดีจำแนกเลว
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเกิดมาแล้ว เราจึงเห็นผลของกรรมในชีวิตของเราเองแล้วก็ของคนอื่นด้วย เพราะฉะนั้นสัตว์โลกเป็นที่ดูวิบาก ผลของกรรม ทั้งๆ ที่เราไม่รู้ว่าชาติก่อนเราทำอะไรไว้ก็จริง แต่ขณะใดก็ตามถ้าเห็นสิ่งที่น่าดู ปราณีต หรือได้ยินเสียงที่ดี ได้กลิ่นที่ดี ลิ้มรสที่ดี กระทบสัมผัสที่ดี เรารู้ว่าต้องมีเหตุในอดีตคือกุศลกรรมเป็นเหตุให้กุศลวิบากเกิด แต่กรรมอะไรไม่ทราบชาติไหนไม่ทราบ แต่ว่าต้องเหตุตรงกับผล คือว่าถ้าผลที่ดีเกิดกับเราก็รู้ว่านี้เป็นผลของอดีตกุศลกรรม แต่เวลาที่สิ่งที่ไม่ดีเกิดขึ้นกับเรา เจ็บไข้ได้ป่วย หรือว่าได้กลิ่นเหม็น หรือว่าได้ยินเสียงที่น่าตกใจพวกนี้เราก็รู้ได้เลยว่าขณะนั้นต้องมีเหตุคืออกุศลกรรมที่ได้ทำไว้แล้วเป็นเหตุ ทั้งๆ ที่เราไม่รู้ว่าทำอะไรไว้เมื่อไหร่ชาติไหน แต่ผลบ่งบอกได้ว่าเป็นผลของกรรมที่เป็นกุศล หรืออกุศลกรรม แต่ตอนจะตายไม่มีทางเลย
ผู้ฟัง อย่างขณะนี้ก็กล่าวด้วยว่าเราต้องได้ทำกุศลไว้มากเพราะได้มาฟังพระธรรมที่ถูกต้องด้วย อย่างนี้จะใช้ได้ไหม
ท่านอาจารย์ ก็ต้องเป็นผลของกุศลที่สะสมไว้ในอดีต เพียงฟังได้ยินชื่อคืออะไรกัน วิถีคืออะไร
ผู้ฟัง คำว่าวิถีคือไม่ใช่ภวังคจิต
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่อะไรอีก
ผู้ฟัง ไม่ใช่จุติจิต ไม่ใช่ปฏิสนธิจิต
ท่านอาจารย์ คือหลักไม่ยากเลยถ้าเราจะจำไว้ หมายความว่าขณะปฏิสนธิ ไม่ใช่อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจรู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใดเลยทั้งสิ้นกรรมทำให้จิตที่เป็นวิบากเกิดทำกิจปฏิสนธิหมายความถึงเกิดสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน เพียงขณะเดียวเท่านั้นที่ทำกิจนี้ จิตที่ทำกิจนี้ขณะเดียวแล้วก็ดับ จะไม่มีจิตที่เกิดขึ้นทำกิจนี้ระหว่างที่ยังมีชีวิตก่อนจะตายเลย หมายความว่าในชาติหนึ่งจะมีปฏิสนธิจิตซึ่งทำปฏิสนธิกิจเกิดสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อนเพียงขณะเดียว แต่หลังจากนั้นกรรมก็ไม่ได้ให้ผลเพียงแค่นั้น ยังทำให้กรรมนั่นเองยังให้ผลต่อไปคือเมื่อปฏิสนธิจิตดับแล้วก็ทำให้จิตที่เป็นวิบากประเภทเดียวกัน เป็นผลของกรรมเดียวกันเกิดขึ้นสืบต่อ แต่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่คิดนึกใดๆ ทั้งสิ้น ทำกิจภวังค์ คือดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนั้นไว้จนกว่าจะมีการเห็น การได้ยิน เมื่อไหร่ จึงไม่ใช่ภวังคจิต เพราะฉะนั้นวิถีจิตก็คือจิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่ไม่ใช้อารมณ์ของปฏิสนธิภวังค์จุติ โดยอาศัยทางหนึ่งทางใดคือตา หรือหู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่ก็ต้องเป็นเรื่องที่ต้องย้อนไปถึงอารมณ์อีก ถามว่าอารมณ์คืออะไร
ผู้ฟัง อารมณ์คือสิ่งที่จิตรู้
ท่านอาจารย์ เสียงเป็นอารมณ์ หรือเปล่า
ผู้ฟัง เป็น
ท่านอาจารย์ เมื่อไหร่
ผู้ฟัง เมื่อขณะที่จิตรู้
ท่านอาจารย์ ขณะที่จิตกำลังได้ยินเท่านั้น เสียงอื่นที่จิตไม่ได้ยินเป็นเสียง ไม่ใช่เป็นอย่างอื่น แต่ไม่ใช่อารมณ์ของจิต เพราะว่าขณะนั้นจิตได้ยิน ไม่ได้เกิดขึ้นได้ยินเสียงนั้น นี่คือความต่างกัน เพราะว่าเสียงก็ยังต้องเป็นเสียง แต่ที่ใช้คำว่าเสียงเป็นอารมณ์คือต้องมีจิตที่กำลังได้ยินเสียงนั้น เสียงนั้นจึงเป็นอารมณ์คือเป็นสิ่งที่จิตกำลังรู้
คุณสุรีย์ ถ้าไม่มีภวังคจิตคั่น จะเกิดอะไรขึ้น
ท่านอาจารย์ ก่อนที่จะตอบขอให้อาจารย์สมพรช่วยอธิบายความหมายของภวังค์โดยศัพท์ด้วย เพราะว่าจะได้เข้าใจชัดขึ้นอีก
อ.สมพร ภวังค์มาจาก ภวะ กับ อังคะ ภวะหมายถึงภพ คือการเกิดนั่นเอง แต่สืบต่อมาจากปฏิสนธิ เป็นชาติเดียวกับปฏิสนธิ เป็นวิบากเหมือนกัน องค์ของภพ ส่วนของภพหมายถึงว่าจิตดวงนี้ทำหน้าที่ดำรงภพชาติสืบต่อจากปฏิสนธิ
- สนทนาธรรม ตอนที่ 061
- สนทนาธรรม ตอนที่ 062
- สนทนาธรรม ตอนที่ 063
- สนทนาธรรม ตอนที่ 064
- สนทนาธรรม ตอนที่ 065
- สนทนาธรรม ตอนที่ 066
- สนทนาธรรม ตอนที่ 067
- สนทนาธรรม ตอนที่ 068
- สนทนาธรรม ตอนที่ 069
- สนทนาธรรม ตอนที่ 070
- สนทนาธรรม ตอนที่ 071
- สนทนาธรรม ตอนที่ 072
- สนทนาธรรม ตอนที่ 073
- สนทนาธรรม ตอนที่ 074
- สนทนาธรรม ตอนที่ 075
- สนทนาธรรม ตอนที่ 076
- สนทนาธรรม ตอนที่ 077
- สนทนาธรรม ตอนที่ 078
- สนทนาธรรม ตอนที่ 079
- สนทนาธรรม ตอนที่ 080
- สนทนาธรรม ตอนที่ 081
- สนทนาธรรม ตอนที่ 082
- สนทนาธรรม ตอนที่ 083
- สนทนาธรรม ตอนที่ 084
- สนทนาธรรม ตอนที่ 085
- สนทนาธรรม ตอนที่ 086
- สนทนาธรรม ตอนที่ 087
- สนทนาธรรม ตอนที่ 088
- สนทนาธรรม ตอนที่ 089
- สนทนาธรรม ตอนที่ 090
- สนทนาธรรม ตอนที่ 091
- สนทนาธรรม ตอนที่ 092
- สนทนาธรรม ตอนที่ 093
- สนทนาธรรม ตอนที่ 094
- สนทนาธรรม ตอนที่ 095
- สนทนาธรรม ตอนที่ 096
- สนทนาธรรม ตอนที่ 097
- สนทนาธรรม ตอนที่ 098
- สนทนาธรรม ตอนที่ 099
- สนทนาธรรม ตอนที่ 100
- สนทนาธรรม ตอนที่ 101
- สนทนาธรรม ตอนที่ 102
- สนทนาธรรม ตอนที่ 103
- สนทนาธรรม ตอนที่ 104
- สนทนาธรรม ตอนที่ 105
- สนทนาธรรม ตอนที่ 106
- สนทนาธรรม ตอนที่ 107
- สนทนาธรรม ตอนที่ 108
- สนทนาธรรม ตอนที่ 109
- สนทนาธรรม ตอนที่ 110
- สนทนาธรรม ตอนที่ 111
- สนทนาธรรม ตอนที่ 112
- สนทนาธรรม ตอนที่ 113
- สนทนาธรรม ตอนที่ 114
- สนทนาธรรม ตอนที่ 115
- สนทนาธรรม ตอนที่ 116
- สนทนาธรรม ตอนที่ 117
- สนทนาธรรม ตอนที่ 118
- สนทนาธรรม ตอนที่ 119
- สนทนาธรรม ตอนที่ 120