สนทนาธรรม ตอนที่ 093


    ตอนที่ ๙๓


    ท่านอาจารย์ นี่เป็นเรื่องที่จะต้องแยกชีวิตประจำวันให้เห็นจริงๆ ว่าไม่มีเราเพราะอะไรเพราะมีจิตประเภทต่างๆ แล้วก็ชาติต่างๆ เพราะฉะนั้นให้ทราบว่าโลภมูลจิต เกิดต่อจากจิตเห็นดับไป นี่คร่าวๆ นะคะ แล้วก็เวลาได้ยินเสียง

    ได้ยินเป็นวิบาก ดับไปละ แค่ได้ยิน ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรทั้งสิ้น แค่ได้ยินเท่านั้น หลังจากนั้นโลภะก็ติดข้องในเสียงที่ได้ยิน ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย โดยนัยเดียวกัน ทางใจก็ยังติดไปอีกนะคะ คือว่าถ้าเห็นแล้วชอบ หลังจากสิ่งที่ปรากฏทางตาดับแล้ว ความชอบก็ยังเกิดต่อทางใจด้วย เวลาที่ได้ยินเสียง และติดข้องในเสียงนั้น แม้เสียงดับ ทางใจก็ยังติดข้องในเสียงนั้นต่อไปอีกด้วย

    คือหลังจากที่โสตทวารวิถีหรือว่าปัญจทวารวิถีดับไปหมดแล้ว มโนทวารวิถีจะต้องเกิดต่อ แล้วก็มีจิตประเภทเดียวกันกับหลังจากที่ทางปัญจทวาร ปัญจทวารเป็นโลภชวน เติมคำมานิดหนึ่ง ยังไม่ทราบก็ไปอ่านในหนังสือ หรือว่าค่อยๆ คิดก็คงจะเข้าใจได้ แล้วก็มโนทวารวิถีจิตก็ต้องเป็นโลภะด้วย

    เพราะฉะนั้นเพียงเห็นขณะเดียว ได้ยินขณะจิตเดียวที่สั้นมาก ผลคือว่าสำหรับผู้ที่ไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ผู้ที่ไม่เข้าใจอะไรเลยทั้งสิ้น ว่าไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคลก็มีความติดข้องในสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นปกติ ให้ทราบว่านี่คือปกตินะคะ

    โลภมูลจิตที่เรากล่าวถึง เป็นจิตดวงแรก ขณะแรก เรายังไม่ไปถึงความละเอียดว่าโลภะนั้นมีเจตสิกอะไรเกิดร่วมด้วย แต่ให้ทราบว่านี่คือสมุททัย นี่เป็นเหตุก่อสังสารวัฎต่อไปเพราะเหตุว่ามีความติดข้องในสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้นอย่าลืมนะคะ โลภมูลจิตเกิดได้ ๖ ทาง หรือ ๖ ทวาร โลภมูลจิตเกิดโดยไม่อาศัยทวารได้ไหมคะ

    ผู้ฟัง ไม่ได้ค่ะ

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้แน่นอนนะคะ

    คุณสุรีย์ เอ่อ คุณหมอเข้าใจแล้วนะ ๖ ทางกรุณายกตัวอย่างโลหะมูลจิตในชีวิตประจำวัน

    ผู้ฟัง ก็อย่างเช่นทางตา เราก็มีความติดข้องหรือยินดีพอใจที่จะได้เห็นแต่สิ่งที่ดีๆ สวยงามสะอาด อยากจะไปดูหนัง ดูละคร แล้วก็อยากดูที่มันสนุกๆ ที่เราชอบใจอะไรอย่างนี้คะ

    คุณสุรีย์ ดูหนังสนุก และชอบใจนะคะ จิตขณะนั้น ตอนไหนเป็นโลภมูลจิต

    ผู้ฟัง ก็ตอนที่เรารู้สึกว่าสนุกแล้วเราก็ชอบ

    คุณสุรีย์ มี ๒ ขณะนะคะ เพราะอะไร

    ผู้ฟัง เพราะว่า

    คุณสุรีย์ ดูหนังแสดงความชอบใจ ทำไมจึงเป็นโลภมูลจิต

    ผู้ฟัง เพราะติดข้องในสิ่งที่ปรากฏทางตา

    คุณสุรีย์ อะไรเป็นอารมณ์ของจิตนั้น

    ผู้ฟัง ก็สิ่งที่ปรากฏทางตา

    คุณสุรีย์ ถ้าเผื่อเราถาม ๓ อันนี้ มันใช่แน่นะคะ อาจารย์เรียนถามอาจารย์นะคะ คือวิธีสังเกต ถ้าเราได้ถามจิตของเราทั้ง ๓ อันนี้ เขาจะอนุโลมได้มั้ยคะ ว่าขณะนั้นเป็นโลภมูลจิต

    ท่านอาจารย์ ทั้ง ๓ อันหมายความถึงอะไรคะ

    คุณสุรีย์ ทั้ง ๓ ข้อหมายความว่า เออ ขณะนั้นเราระลึกรู้ว่า ขณะนั้นมันเป็นโลภมูลจิตหรือเปล่า โดยถามตัวเองว่าขณะไหนเป็น ขณะชอบนะคะ นี่ชอบเพราะอะไร เพราะเราติดข้อง คือถ้าเผื่อมันติดข้องเมื่อไร ขณะนั้นเป็นโลภะ

    ท่านอาจารย์ คือว่าโดยมากเลยนะคะ เรามักจะอาศัยตำราที่จะรู้ว่าขณะใดเป็นโลภมูลจิตเป็นจิตที่ติดข้องนะคะ แต่ให้ทราบว่าเห็นมี เรารู้ใช่ไหมคะ แล้วขณะนี้ก็กำลังเริ่มที่จะเข้าใจว่าเห็นเป็นวิบากจิต คือเป็นผลของกรรม

    เพราะฉะนั้นจะมีคำว่ากุศลวิบากจักขุวิญญาณ หรืออกุศลวิบากจักขุวิญญาณ นี่เป็นผลของกรรมนะคะ แต่โลภะนี่สิคะ บางคนบอกว่าเขาไม่มีเลย เพราะเขาไม่เห็นโลภะ แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้วนะคะ จิตทุกดวงค่ะ จะต้องมีเวทนาเจตสิกกำกับเพื่อให้สามารถที่จะเข้าใจ หรือรู้ได้ตามความเป็นจริงว่า จิตประเภทนั้นเป็นอกุศลจิตประเภทใด หรือว่าเป็นกุศลจิตประเภทใด เพราะฉะนั้นต่อไปนะคะ

    เวลาที่รู้เรื่องของจิตหนึ่งจิตใด ต้องถามทันทีว่าจิตนั้นเกิดร่วมกับเวทนาเจตสิกอะไร เพราะฉะนั้นสำหรับโลภมูลจิตจะเกิดร่วมกับเวทนาเจตสิก ๒ อย่างคืออุเบกขาเวทนา หรือที่ภาษาไทยเราใช้คำว่าอุเบกขา หมายความว่าอทุกขมสุข ไม่สุขไม่ทุกข์นะคะ เป็นเวทนาชนิดหนึ่ง กับโสมนัสเวทนา เพราะฉะนั้นเวลาที่เราชอบมากหัวเราะนี่คะ

    บอกได้เลยว่าขณะนั้นเป็นโลภมูลจิตนะคะ ที่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา เพราะฉะนั้นพอจะรู้ได้เวลาที่ดีใจ ไม่ว่าจะทางตาเห็น ทางหูได้ยิน ทางจมูกได้กลิ่น ทางลิ้นลิ้มรส ทางกายกระทบสัมผัส และเกิดความปีติ หรือว่าพอใจ ชอบใจ ปลาบปลื้มใจ ขณะนั้นเวทนาต้องเป็นโสมนัส แต่ไม่ใช่กุศลนะคะ

    ใครอยากได้อะไรที่ชอบมากๆ ให้ทราบเลยค่ะ ว่าขณะนั้นเป็นโลภมูลจิตที่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา แต่ก็มีโลภมูลจิตที่เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา คือความรู้สึกไม่สุข ไม่ทุกข์ เฉยๆ เพราะฉะนั้นวันหนึ่งๆ นะคะ วิธีที่จะรู้ว่าเป็นกุศล หรืออกุศลโดยปริยัติ คือโดยการศึกษาก็ถือว่าต้องทราบว่า ถ้าเป็นกุศลจิต ต้องเป็นไปในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ อย่างเท่านั้น

    คือเป็นไปในเรื่องของทาน หรือศีล หรือภาวนา นอกจากนั้นแล้วนะคะ เป็นอกุศลประเภท หนึ่ง ประเภทใด ซึ่งส่วนใหญ่แล้วในชีวิตประจำวันนี่คะ เป็นอกุศลประเภทที่เป็นโลภมูลจิตแม้ว่าจะไม่เกิดร่วมกับโสมนัสสเวทนา แต่ขณะนั้นเป็นความติดข้องโดยไม่รู้ตัวว่าติดข้อง เพระอะไรคะ เพราะว่าอวิชาไม่สามารถจะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้

    แม้แต่กำลังเป็นโลภะนี่ค่ะ ขณะนั้นก็มีอวิชา ไม่รู้ความจริงของสภาพธรรม จึงมีทั้งโมหะเหตุ และโลภะเหตุเกิดร่วมกัน ในขณะที่โลภมูลจิตเกิด แต่ให้ทราบว่าปกติประจำวันนี้นะคะ โลภะจะมากมายสักแค่ไหน เพราะเหตุว่าขณะหนึ่ง ที่จิตได้ยินเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง กุศลจิตเกิดต่อ แล้วก็ชั่วโมงหนึ่ง หรือครึ่งชั่วโมงก็ตามแต่นะคะ ก็จะทราบได้ว่ามีกุศลจิตเกิดมากเท่าไหร่

    แต่ถ้าวันนั้นไม่ได้ฟัง แล้วพอเกิด วันนี้ใครชนะเหรียญทอง อย่างนี้ขณะนั้นต้องเป็นอกุศลจิตแน่นอน ที่เป็นโลภมูลจิตเป็นความติดข้อง และก็เดี๋ยวนี้ก็คงจะทราบแล้วว่า ชนะหรือไม่ชนะใช่ไหมคะ ชนะหรือป่าวค่ะ ชนะหรอคะ คุณธงชัยทราบ ไม่เอาเหรียญทองค่ะ ถ้าได้ยินว่าชนะ ทุกคนในที่นี้จะเกิดโสมนัสเวทนาแต่เป็นโลภมูลจิต

    แต่ถ้าเกิดไม่ชนะ ไม่พอใจก็จะเป็นอกุศลจิตอีกประเภทหนึ่ง เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่ากำกับด้วยเวทนา ค่ะนี่ก็เป็นเรื่องของจะแสดงให้เห็นว่าสภาพของจิตรวดเร็ว และก็เป็นความจริงนะคะ คือธรรม ทำให้เราเป็นผู้ตรง มีอกุศลประเภทใดก็รู้ หรือว่ากุศลประเภทใดก็รู้ เพราะฉะนั้นผู้ที่ศึกษาธรรมจะไม่หลอกตัวเองเลย เพราะเหตุว่าเป็นผู้ที่เข้าใจธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง ขอถามนิดนึงนะคะ ถ้าสมมติว่าเราเห็น แล้วมีความเป็นตัวตน สัตว์บุคคล ตรงนั้นน่ะเป็นโลภมูลจิตรึเปล่าคะ เห็นแล้วเป็นตัวตนนะค่ะ

    ท่านอาจารย์ มีความเห็นผิดรึเปล่าคะ

    ผู้ฟัง แต่เราก็ไม่ได้ยืนยันนี่คะ ว่าเรามี..

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ยืนยันค่ะ เข้าใจคำว่าความเห็น ไม่ใช่ยืนยันว่าเห็น

    ผู้ฟัง เห็นปุปก็เป็นคุณอดิศักดิ์ เห็นปุปก็เป็นอาจารย์

    ท่านอาจารย์ มีความเห็นอะไรหรือเปล่า หรือว่าเป็นสัญญาความจำ

    ผู้ฟัง ไม่ใช่ความเห็น เป็นสัญญาเฉยๆ

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นสัญญาความจำก็ไม่ใช่ความเห็น เพราะทิฏฐิหมายความถึงความเห็น

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นก็ไม่เป็นโลภมูลจิตจิตหรอคะ เป็นหรือป่าวค่ะ

    ท่านอาจารย์ เวลาที่หมอเห็นอะไร และก็กุศลจิตเกิดได้ไหมทั้งๆ ที่รู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร

    ผู้ฟัง ได้ค่ะ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็ไม่สับสนปะปน โลภะสภาพที่ติดข้องนะคะ กับทิฏฐิความเห็นซึ่งถ้าเป็นอกุศลก็เป็นความเห็นผิด คุณสุรีย์ไม่มีปัญหาต่อนะค่ะ

    คุณสุรีย์ จะต่อใช่ไหมค่ะ

    ผู้ฟัง ตรงที่ว่าเห็นแล้วเป็นคน

    ท่านอาจารย์ พระพุทธเจ้าเห็นเป็นคน หรือเปล่าคะ มีความเห็นผิดรึเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ แต่ยังเห็นว่าเป็นคน

    ผู้ฟัง แล้วขณะที่เห็นว่าเป็นคน ตรงนั้นเป็นโลภะหรือป่าวค่ะอาจารย์

    ท่านอาจารย์ พระพุทธเจ้าไม่มี แต่คนธรรมดาเวลาที่กุศลจิตไม่เกิด อกุศลจิตเกิด บอกแทนคนอื่นไม่ได้ นะคะ

    ผู้ฟัง จะกราบเรียนถามอาจารย์ว่าเห็นเป็นคนเป็นกุศล หรืออกุศลนี้ ขอยกตัวอย่างได้มั้ยค่ะ

    ท่านอาจารย์ คืออย่างนี้นะค่ะ จิตเห็นไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล อันนี้ต้องแยกก่อนนะคะ กรรมทำให้เห็น จิตเห็นดับไปแล้ว หลังจากนั้นกุศลจิตจะเกิดต่อ หรืออกุศลจิตจะเกิดก็ได้ค่ะ ถึงแม้ว่าจะเห็นเป็นคนนะคะ เห็นแล้วกุศลจิตเกิดก็ได้ เห็นแล้วอกุศลจิตเกิดก็ได้

    ผู้ฟัง ยกตัวอย่างเช่นเห็นว่าเป็นคนแล้ว เกิดความเมตตา นี้ถือว่าเป็นกุศลนะคะ

    ท่านอาจารย์ ไม่ถือ ถ้าเมตตาแล้วเป็นกุศลค่ะ ถ้าถือหมายความว่าตามใจชอบ คนนี้ถืออย่างนั้น คนนั้นถืออย่างนี้ แต่สภาพธรรมของเมตตาเป็นกุศล

    ผู้ฟัง อ่อ แล้วก็ถ้าเผื่อตอนที่เห็นนะคะ เห็นว่าไม่ใช่คน เห็นไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตน เห็นเป็นรูป เห็นเป็นสีสัน วัณณะนี้จะเป็นกุศลไหมคะ

    ท่านอาจารย์ มีใครไม่เห็นสีบ้าง มีใครไม่เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาบ้าง

    ผู้ฟัง คือว่าเมื่อก่อนนี้เห็นนะ ดูนี่นะ เห็นเป็นคนนั้น คนนี้ ตอนหลังๆ มานี่ก็จะเห็นเป็นสีก่อน

    ท่านอาจารย์ และตอนที่เห็นว่าเป็นคน เห็นเป็นสิ่งที่ปรากฏคือเห็นสีก่อนหรือเปล่าถึงได้รู้ว่าเป็นคน

    ผู้ฟัง เห็นเป็น เห็นเป็นสีสันวัณณะก่อนที่จะคิดว่าเป็นคนนะคะ เมื่อก่อนนี้เห็นเป็นคนก่อน

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ค่ะ เห็นเป็นคนก่อนได้ยังไงคะ

    ผู้ฟัง คือเมื่อยังไม่ได้ฟังธรรมของอาจารย์นะคะ ที่อาจารย์บรรยายนะคะ จะเห็นเป็นคนนั้น คนนี้เลยค่ะ แต่ว่าแต่เห็นสี แต่ไม่รู้ว่าเป็นสี

    ท่านอาจารย์ แต่นั้นเรื่องไม่รู้ แต่ต้องมีการเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาก่อน รู้หรือไม่รู้เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ต้องเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาก่อน นี่เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เมื่อลืมตาขึ้นมีจักขุปสาทต้องมีการเห็น และมีสิ่งที่ปรากฏทางตาให้เห็น ต่อจากนั้นจะรู้ว่าเป็นคน หรือเป็นอะไรนั้นหลังจากที่เห็นแล้ว

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นการที่เห็นว่าเป็นสีก่อน เป็นกุศล หรือเปล่าคะ

    ท่านอาจารย์ ถามอย่างนี้ หมายความว่าไม่เป็นใช่ไหมคะ เพราะมีคำว่ารึเปล่า

    ผู้ฟัง คือว่าเมื่อก่อนนี้ เมื่อยังไม่ได้ฟังอาจารย์นะคะ จะเห็นเป็นคนนั้นคนนี้ไปเลย แล้วก็ว่าไปอย่างนั้นอย่างนี้นะคะ ตอนหลังมาจะเห็นเป็นสีแล้ว ก็จะหยุดคิดละ

    ท่านอาจารย์ เหมือนเดิมไหมคะ

    ผู้ฟัง ไม่เหมือนค่ะ

    ท่านอาจารย์ ทำไมคะ แต่ก่อนก็ต้องเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วก็รู้ว่าเป็นใคร จะเปลี่ยนแปลงสภาพธรรมไม่ได้ค่ะ

    ผู้ฟัง คือเมื่อก่อนนี้ คือเห็นแล้วนะคะ ก็จะไม่รู้ว่าเป็นสี

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นอยู่ตรงรู้ ไม่ใช่อยู่ตรงเห็น ต้องแยกนะคะ

    ผู้ฟัง ทีนี้ตรงที่รู้มันเป็นกุศลหรือเปล่าคะ

    ท่านอาจารย์ ถ้ากุศลหรือเปล่านี่ก็ใช้ไม่ได้เลยนะคะ

    ผู้ฟัง หรอคะ ก็เท่าที่ดิฉันฟังแล้วก็เข้าใจ คงจะเข้าใจผิด คือคิดว่าถ้าเผื่อเห็นครั้งแรกนะคะ รู้แล้ว ตอนหลังมารู้แล้วว่าเป็นสี

    ท่านอาจารย์ เป็นกุศลหรือเปล่า ถามใครคะ เพราะว่าเมื่อกี้นี้ เรามีคำสรุปว่าเวลาที่จิตเห็นดับแล้ว กุศลจิตจะเกิดต่อก็ได้ อกุศลจิตจะเกิดต่อก็ได้ เพราะฉะนั้นแล้วแต่บุคคลแล้วแต่สภาพจิต จะไปบอกแทนคนอื่นไม่ได้เลยค่ะ ถูกต้องมั้ยคะ ว่าเมื่อเห็นแล้วกุศลจิตเกิด หรืออกุศลจิตเกิดต่อได้

    ผู้ฟัง ค่ะ เข้าใจ กราบขอบพระคุณ

    ท่านอาจารย์ จากการฟังทำให้ค่อยๆ พิจารณานะคะ แต่ว่าไม่ใช่การเห็นผิดปกติ แต่ค่อยๆ เข้าใจในสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้นแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่ปรากฏคือธรรม เปลี่ยนไม่ได้เลย ไม่ว่าปัญญาจะเกิด หรือไม่เกิด ธรรมเป็นปกติ คือสิ่งที่ปรากฏทางตาเดี๋ยวนี้ที่คุณนิพัทธ์พยายามถามว่าเป็นสี หรือเป็นไรนะคะ แต่คำตอบก็คือว่าเป็นสิ่งที่กำลังปรากฏ เปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย แต่ความรู้ความเข้าใจนี่คะ จะค่อยๆ พิจารณารู้ว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง

    จุดเริ่มต้นก็คือว่า ขณะนี้เราไม่เคยคิดเลยว่าเป็นธรรมอย่างหนึ่ง เราคิดแต่ว่าเป็นคน เป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ เป็นสิ่งต่างๆ แต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้นนะคะ ลักษณะก็คือว่าเป็นธรรม สิ่งที่มีจริงอย่างหนึ่ง ที่กำลังปรากฏทางตา เพราะฉะนั้นกว่าเราจะค่อยๆ เข้าใจความหมายของสิ่งที่ปรากฏทางตา

    ทั้งๆ ที่สิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่เปลี่ยน เหมือนเดิม ขณะนี้ อย่างนี้ ก็เป็นอย่างนี้ ตี ๔ ตื่นขึ้นมาจะเห็นอะไรก็ตามแต่ ก็เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วไม่ต้องตื่นเต้น เพราะว่าถ้าตื่นเต้นจะมีความเป็นตัวตน เป็นเราที่เหมือนกับว่ากำลังสำรวมก็ได้ จริงๆ แล้ว ลักษณะของสติเป็นสภาพที่ระลึกได้ แล้วก็ไม่ใช่ระลึกได้ในเรื่องทาน เรื่องศีล แต่ว่าระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้นแม้ในขณะนี้เองคะ มีสิ่งที่กำลังปรากฏ และสติก็คือปกติธรรมดานี่นะคะ ระลึกรู้ว่า เป็นสิ่งที่ปรากฏ เป็นธรรมชนิดหนึ่ง ให้เข้าใจว่าเป็นธรรมชนิดหนึ่ง เพื่อที่จะได้รู้ว่าสิ่งนี้ไม่ใช่สภาพรู้ ต่างกัน ขณะนั้นจริงๆ แล้วนี่นะคะ โลกทั้งโลกไม่มีเลย อย่าว่าแต่ตัวเราเลยคะ โลกทั้งหมดไม่มี เราตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าไม่มี ในขณะที่เห็น

    ในขณะที่เห็นจะมีจิตขณะเดียว ซึ่งกำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา อย่างอื่นจะปรากฏไม่ได้เลย จะมีเรา มีแขนของเรา มีที่นอนของเรา มีโลกที่เราอยู่ ก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นแสดงเห็นถึงความว่างเปล่าจริงๆ จากสาระหรือจากการที่เคยหลงจำไว้ว่าเป็นโลกที่เที่ยง และก็ไม่เคยแตกดับเลย มารู้ความจริงว่าขณะนั้นนะสภาพธรรมที่มีจริงๆ หรือแม้ในขณะนี้เองที่กำลังเห็นอย่างอื่นต้องไม่มีค่ะ

    มีธรรม ๒ อย่างคือสภาพรู้กับสิ่งที่ปรากฏทางตา นี่คือความจริงซึ่งเป็นสัจธรรม แต่ก็ดับเร็วมาก แล้วก็มีสภาพธรรมคือ จิต เจตสิก รูป เกิดสืบต่อ ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งปิดบังไม่ให้สามารถจะรู้ว่า ความจริงแล้วไม่มีอะไรเหลือ สภาพธรรมจริงๆ มีชั่วขณะจิตเดียว กับสิ่งที่กำลังปรากฏที่จิตกำลังรู้เท่านั้น

    เพราะฉะนั้นจากการฟังอย่างนี้นะคะ จะทำให้เห็นว่าเราหลงจำไว้ คือมีอัตตสัญญาว่ามีเราจริงๆ มีคนนั้นจริงๆ มีสิ่งนั้นจริงๆ แต่จากการที่สติเกิดระลึกรู้ ในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วค่อยๆ เข้าใจให้ถูกต้องว่า ทางตาก็คืออย่างนี้ ที่กำลังปรากฏอย่างนี้ เป็นธรรมแต่ไม่ใช่ใคร ไม่ใช่ญาติพี่น้อง ไม่ใช่เพื่อนฝูงไม่ใช่อะไรทั้งหมด เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา

    แต่ว่าหลังจากนั้นแล้วนะคะ ก็มีความจำในรูปร่างสัณฐาน เพราะฉะนั้นเราก็เรียกชื่อได้มองเห็นก็รู้ว่าสิ่งนั้นเป็นใคร แต่โดยลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม เป็นธรรม ซึ่งไม่ใช่ตัวตนไม่ใช่สัตว์บุคคล และก็หมายความว่า เป็นสิ่งที่เพียงปรากฏทางตาเท่านั้น ไม่ปรากฏทางอื่น ค่อยๆ เข้าใจอย่างนี้นะคะ นี่คือภาวนา การอบรมเจริญปัญญา เพราะว่าถ้าไม่อบรมเจริญอย่างนี้ ปัญญาก็เจริญไม่ได้

    วันก่อนก็คุยกับคุณโรเบิร์ด คุณโจนาธาน คุณซาร่า ในเรื่องของการอบรมเจริญปัญญา ซึ่งเป็นภาวนา เพราะว่าบางคนอาจจะคิดว่า ขณะนี้ไม่ใช่ภาวนา แต่ถ้าไม่มีความเข้าใจภาวนาจะมีได้อย่างไร และก่อนที่จะมีความเข้าใจ หรือภาวนานะคะ อวิชาก็เต็มหมด อกุศลก็เต็มหมด เพราะฉะนั้นภาวนาที่เรากำลังสนทนากันเดี๋ยวนี้ และก็มีความเข้าใจเพิ่มขึ้น

    ก็เหมือนกับเกล็ดเกลือเล็กๆ ที่ใส่ลงไปในน้ำที่จะทำให้ค่อยๆ มีน้ำเค็มขึ้น แล้วก็อาจจะชะล้างความสกปรก หรือว่าอกุศลซึ่งดำ แล้วก็มีมากมายในจิตนะคะ ค่อยๆ ออกไปทีละน้อย จากความเข้าใจแม้แต่ในการสนทนา ที่จะรู้ถึงเรื่องของการอบรมเจริญปัญญา ซึ่งเป็นภาวนาจริงๆ ว่าเริ่มจากการฟังเข้าใจขึ้น

    แล้วก็ถ้าเป็นผู้ที่มีปัจจัยพอ สติก็เกิดระลึก แม้ในขณะที่กำลังฟัง เพราะเหตุว่าเป็นธรรมทั้งหมด ไม่มีอะไรเลยที่ไม่ใช่ธรรม แต่กว่าจะรู้จริงๆ ว่าเป็นธรรมทั้งหมด จากฟัง แล้วจากสติค่อยๆ เกิด ค่อยๆ ระลึก ก็เป็นการที่ว่าแม้สติจะเกิดบ้าง การฟังก็ยังจะต้องเป็นสิ่งที่เกื้อกูล อุปการะเพิ่มเติมความเข้าใจ คือเกล็ดเกลือเล็กๆ ลงไปในแม่น้ำคงคา หรือว่า แม่น้ำที่กว้างใหญ่ จนกว่ารสเค็มนั้นจะปรากฏ หรือว่าความสมบูรณ์ของปัญญาก็จะเกิดขึ้น เป็นขั้นๆ

    เพราะฉะนั้นเมื่อฟังเรื่องของสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่ก่อนนี้เคยเห็นเป็นคน แล้วเดี๋ยวนี้ก็เริ่ม จะรู้นะคะ คือเข้าใจขึ้น และต่อไปก็จะมีการระลึกรู้ว่า เป็นสิ่งที่ปรากฏไม่ใช่สภาพที่กำลังเห็น จะต้องรู้ว่ามีธรรม ๒ อย่าง ขณะที่มีการรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย คือมีธรรมที่เป็นนามธรรมอย่างหนึ่ง และมีธรรมที่เป็นรูปธรรมอีกอย่างหนึ่ง มิฉะนั้นแล้วก็ยังคงมีตัวเรา แต่ความจริงไม่มีเลยค่ะ จิตเกิดขึ้นขณะหนึ่ง รู้อารมณ์แล้วก็ดับ เป็นอย่างนี้ตลอดไป

    ผู้ฟัง สิ่งที่ตาเห็นนี่นะคะ แล้วก็ได้ยินเสียง เมื่อก่อนดิฉันไม่คิดว่าได้ยินเสียง มันว่าอะไรทำนองนี้ค่ะ

    ท่านอาจารย์ อันนี้ก็แสดงให้เห็นว่า สติก็สามารถที่จะระลึกได้ จากการที่ได้ฟังมาแล้วว่าที่จริงพอเสียงดับไปแล้ว เราก็คิดนึกตามเสียง และรู้เรื่อง แต่ว่าก่อนนั้น ไม่เคยมีสติเกิดคั่นเลย เป็นแต่เพียงได้ยินเรื่องราวทั้งหมดใช่ไหมคะ แต่ว่าตอนหลังมีความเข้าใจว่า ขณะที่ได้ยิน เป็นเสียงเท่านั้น ตัวตน คนสัตว์จริงๆ แล้วไม่มีเลยค่ะ เราอยู่ในโลกของความคิดหลังจากที่เสียงดับ ไม่มีคน ไม่มีคนอื่นเลย เป็นแต่เพียงอารมณ์ที่ปรากฏเท่านั้นเอง

    ผู้ฟัง ขอกราบขอบพระคุณค่ะ

    คุณสุรีย์ อยากใส่บาตร โลภะไหมค่ะ

    ผู้ฟัง อยากใส่บาตร ก็ต้องเป็นโลภะ เพราะเรามีความอยาก

    คุณสุรีย์ อาจารย์คะ ช่วยหน่อยค่ะ

    ผู้ฟัง ไม่ฉันทะก็ต้องเป็นโลภะ เพราะถ้าจะใส่ ก็ใส่เลยไม่ต้องไปอยากเลย

    ท่านอาจารย์ สำหรับบางคนก็อยากอยู่นั่นแล้วนะคะ อยากบวช อยากบวช อยากบวชอยากใส่บาตร อยากทำอะไร แต่คืออยาก ไม่ได้ทำ เพราะฉะนั้นต้องสังเกตจริงๆ ค่ะ ว่าถ้าอกุศลธรรมแล้วก็ทำให้เราไม่เบาใจ แต่ว่าจะทำให้เราทุกข์ใจ หรือรำคาญใจ หรือว่าหนักใจแต่ถ้าขณะใดที่เป็นกุศลขณะนั้นจะเบาจริงๆ เพราะฉะนั้นแม้แต่ขณะที่กำลังฟังอย่างนี้นะคะ เกิดความไม่เบาใจ ไม่สบายใจ ขณะนั้นให้ทราบได้ว่าขณะนั้นเป็นลักษณะอาการของอกุศล

    คุณสุรีย์ อยากใส่บาตรนี้ อาจจะเป็นฉันทะได้มั้ยคะ คือมีเจตนา

    ท่านอาจารย์ เบาใจหรือว่า..

    คุณสุรีย์ มีเจตนากุศล กุศลเจตนาก่อน

    ท่านอาจารย์ ถ้าใช้คำว่าตั้งใจนะคะ ไม่ใช่อยาก มีความตั้งใจจริงๆ ที่จะทำขณะนั้น ไม่ใช่อยาก

    คุณสุรีย์ เป็นเจตนา

    ท่านอาจารย์ เป็นเจตนาที่เป็นกุศลค่ะ แต่ถ้าอยาก ต้องเป็นความติดข้อง ทำรึเปล่า หรือว่าอยาก แล้วเบาใจหรือเปล่าขณะที่อยาก แล้วไม่ได้ทำ

    คุณสุรีย์ ถ้าเผื่อเราคิดเรื่องราวได้ อย่างเมื่อกี้นี้ที่ให้ตัวอย่าง เธอมานั่งอยู่ตรงนี้แต่เธอไปคิดถึงแคนาดา เสร็จแล้วเธอก็อาจจะเสียใจตอนนั้นก็ หรืออาจจะชอบใจ อันถือเป็นโลภมูลจิต

    ท่านอาจารย์ ถ้าจะพูดถึงทางปัญจทวารกับทางมโนทวารนะคะ ง่ายที่สุดเลยคะ คือว่าเมื่อสี หรือเสียง หรือกลิ่น หรือรส หรือโผฏฐัพพะ ซึ่งเป็นสภาวธรรมดับไปแล้วนะคะ ภวังคจิตต้องเกิดต่อจากทางหนึ่ง ทางใดในปัญจทวาร หลังจากนั้นแล้วมโนทวารทั้งหมดอย่างนี้ก็เป็นเรื่องที่ว่าสบายแล้วค่ะ ทุกคนก็เข้าใจความละเอียดขึ้น ไม่ใช่เพียงแต่ตัวอย่างเรื่องความคิด เพราะเหตุว่าแม้แต่กำลังเห็นขณะนี้ก็มีจิตที่เกิดทางมโนทวารวิถีรับอารมณ์ต่อจากทางปัญจทวารวิถี

    เพราะฉะนั้นโลภมูลจิตทางปัญจทวารวิถีดับไปแล้ว ทางตาที่เห็นนะคะ โลภมูลจิตทางมโนทวารวิถีก็เกิดต่อ เพราะฉะนั้นถ้าจะเอาตัวอย่าง ก็มีตัวอย่าง ตั้งแต่เรื่องคิด แล้วขณะที่แม้ขณะนี้ ทันทีที่ทางปัญจทวารวิถีวาระหนึ่งวาระใดดับ มโนทวารวิถีก็ต้องเกิด

    คุณสุรีย์ คือ ตัวดิฉันเองมีความสงสัยว่า ถ้าไม่มีทั้ง ๕ ทวาร โลภมูลจิตที่เกิดทางใจจริงๆ โดยไม่ต้องผ่านทั้ง ๕ ทวาร ตัวอย่างได้แก่อะไร

    ท่านอาจารย์ คุณสุรีย์เคยฝันไหม

    คุณสุรีย์ ไม่ต้องฝัน ลืมตาอยู่อย่างนี้

    ท่านอาจารย์ ถามว่าเคยฝันไหม ต้องตอบก่อน

    คุณสุรีย์ ฝันค่ะ

    ท่านอาจารย์ ฝันทางทวารไหน

    คุณสุรีย์ ทางใจค่ะ

    ท่านอาจารย์ จิตที่ฝันเป็นอะไร

    คุณสุรีย์ เป็นเรื่องราวแล้วค่ะ

    ท่านอาจารย์ แล้วก็เป็นจิตที่เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล เป็นวิบาก หรือเป็นกิริยา ต้องเป็นชาติ หนึ่งชาติใดใน ๔ ชาติ

    คุณสุรีย์ ต้องแล้วแต่ชาติที่เราฝัน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นโดยมากปกติ ฝันเป็นอะไรคะ

    คุณสุรีย์ เป็นอกุศล

    ท่านอาจารย์ เป็นโลภะ หรือเป็นโทสะ ก็จำแนกออกไปอีก นั่นคือโลภะเกิดทางมโนทวาร

    คุณสุรีย์ แต่ถ้าเผื่อเราลืมตาอย่างงี้

    ท่านอาจารย์ เหมือนกันค่ะ เพระเหตุว่าฝันก็คือคิดนึกทางใจ แต่ว่าระยะยาว และก็ไม่มีสิ่งที่ปรากฏทางตาเราจึงเรียกว่าฝัน

    คุณสุรีย์ ค่ะ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 11
    11 มิ.ย. 2567

    ซีดีแนะนำ