สนทนาธรรม ตอนที่ 094


    ตอนที่ ๙๔


    ท่านอาจารย์ โดยมากปกติ ฝันเป็นอะไร

    คุณสุรีย์ เป็นอกุศล

    ท่านอาจารย์ เป็นโลภะ หรือเป็นโทสะ ก็จำแนกออกไปอีก นั่นคือโลภะเกิดทางมโนทวาร

    คุณสุรีย์ แต่ถ้าเผื่อเราลืมตาอย่างนี้ ไม่ได้เนาะ

    ท่านอาจารย์ เหมือนกันค่ะ เพราะเหตุว่าฝันก็คือคิดนึกทางใจ แต่ว่าระยะยาว และก็ไม่มีสิ่งที่ปรากฏทางตา เราจึงเรียกว่าฝัน

    คุณสุรีย์ แต่หมายความว่าเราคิดนึกทางใจ โดยที่ว่าเราอาจจะนึกถึงที่บ้าน หรือที่ไหนแล้วเราเกิดโทสะ หรือเกิดโลภะขึ้น

    ท่านอาจารย์ คะ นั้นหมอยกตัวอย่างแล้วใช่ไหมคะ เรื่องคิดนึกที่เป็นโลภะ อยากทำอะไรๆ

    ผู้ฟัง ค่ะ แล้วก็มีอีกประเด็นหนึ่งนะคะ อาจารย์ อย่างสมมติเราไปได้ยินคนอื่นชมเรามาหรือเป็นชีวิตจริงนะคะ เจ้านายชมมา โอ้โหชมจบไปแล้ว หนูยังมาแบบโอ้ยพร่ำเพ้อ โอ้โหเขาชมเราอย่างนั้นอย่างนี้ ขับรถอยู่นะคะ แต่พอ ก็นึกถึงพระธรรมที่อาจารย์สอน ก็บอกโอ้เรานี่กำลังมีโลภะนะ มันไม่มีประโยชน์เลย มันจะมีแค่เสียงก็จบไปแล้ว มานั่งพิไรรำพัน มานั่งพร่ำเพ้ออะไรเงี้ย หนูก็เลยสงบลงไปนะคะ ก็เห็นตัวเอง ไม่ต้องมาเสียเวลา

    ท่านอาจารย์ รู้สึกพี่หงวนจะคล่องเรื่องคำชมนะคะ พี่หงวนขา กรุณานิดนึงที่พี่บอกว่าเวลามีใครชม แล้วเป็นยังไงคะ เล็กน้อยอะไรมั้ยคะ เห็นไหมคะ คำชม

    ผู้ฟัง เป็นของเล็กน้อย ไม่พอที่จะละกิเลสได้

    คุณสุรีย์ ไม่ได้ยินเลยค่ะ

    ท่านอาจารย์ เป็นของเล็กน้อยแล้วไงนะคะ ไม่พอที่จะละกิเลสคะ ต่อให้ชมสักเท่าไหร่ก็ตาม ก็ไม่ทำให้เราละกิเลสได้ เพราะฉะนั้นจึงเป็นของที่เล็กน้อยไม่มีค่าอะไรมากมายเลย นอกจากทำให้เราเกิดกิเลสขึ้นอีก

    คุณสุรีย์ โลภมูลจิตดวงที่ ๑ นะคะ แล้วก็เรียนไปทอดเดียวคือต่างกันโดยเวทนา เพราะฉะนั้นอยากจะขออาสาสมัคร จะทบทวนนิดหน่อยในเรื่องของเวทนา เพื่อโยงเขาหาทิฐิคตสัมปยุตตนะคะ ขอเชิญอาสาสมัครนะคะ

    ท่านอาจารย์ ก่อนตอบ ขอให้ทุกคนทราบว่า ไม่ใช่ตัวหนังสือค่ะ และก็ไม่ใช่อยู่ในหนังสือด้วย เพราะเหตุว่าเรื่องของโลภมูลจิตคือจิตที่เกิดร่วมกับโลภเจตสิก ความติดข้องมีอยู่เป็นประจำในใจทุกคน ที่เราเป็นทุกข์เพราะทุกวันนี้เนี่ยนะคะ เราอาจจะไม่ทราบว่ามาจากเหตุเดียวคือโลภมูลจิต เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีโลภมูลจิต หรือว่าโลภมูลจิตลดน้อยลงไปนะค่ะ ทุกข์ก็จะน้อยลง แต่โดยมากเรามักจะเห็นทุกข์ตอนปลายค่ะ คือกำลังเป็นทุกข์อยู่ รู้สึกว่าโน้นก็ทุกข์ นี่ก็ทุกข์ มีเรื่องทางตา ทางหู ให้คิด ให้ทุกข์ แต่ลืมคะว่าต้นเหตุของทุกข์มันอยู่ที่ไหน

    เพราะฉะนั้นถ้าไม่รู้จักต้นเหตุของทุกข์ยังไงๆ เราก็ละทุกข์ไม่ได้ เพราะฉะนั้นเรื่องของโลภมูลจิตเป็นเรื่องสำคัญทีเดียวนะคะ เพราะเหตุว่าเป็นสภาพธรรมที่มีอยู่เป็นประจำในใจ และส่วนใหญ่ทุกคนไม่อยากละโลภะ แต่ไม่อยากมีทุกข์ เพราะฉะนั้นก็ค้านกันอยู่อย่างนี้นะคะ ทุกข์ก็ไม่ต้องการ แต่โลภะซึ่งเป็นเหตุของทุกข์ก็ไม่อยากจะให้หมดไป เพราะว่าทุกคนชอบ มีความติดข้องในทุกสิ่ง

    เพราะฉะนั้นถ้ามีปัญญาที่สามารถจะเข้าใจก่อน ยังไม่ต้องไปละค่ะ ละไม่ได้ เพียงขั้นฟังแต่ให้เข้าใจจริงๆ ว่าทุกอย่างที่กำลังจะกล่าวถึงนะคะ อยู่ที่จิตของแต่ละคน ซึ่งจะเข้าใจชัดขึ้นเวลาที่เราพูดถึงเรื่องนั้นๆ ก็เชิญผู้ที่จะตอบค่ะ

    คุณสุรีย์ โลภมูลจิตต่างกันโดยเวทนา ๒ อย่างได้แก่อะไรบ้าง

    ผู้ฟัง ก็มี โสมนัสเวทนา และอุเบกขาเวทนา

    คุณสุรีย์ โสมนัสเวทนาภาษาบาลีว่าอะไรคะ

    ผู้ฟัง โสมนัสสหคต แล้วก็อุเบกขาสหคต

    คุณสุรีย์ อุเบกขานะคะ อุเบกขาสหคต อุเบกขาเวทนาเป็นขันธ์อะไร

    ผู้ฟัง อุเบกขาเวทนาเป็นเวทนาขันธ์

    คุณสุรีย์ โลภเจตสิกเป็นสังขารอะไร

    ผู้ฟัง โลภเจตสิกเป็นสังขารขันธ์

    คุณสุรีย์ โลภมูลจิตเป็นขันธ์อะไร

    ผู้ฟัง เป็นวิญญาณขันธ์

    คุณสุรีย์ จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์โดยไม่อาศัยทวารได้หรือไม่

    ผู้ฟัง ได้

    คุณสุรีย์ ได้ จิตขณะใดที่รู้อารมณ์โดยไม่อาศัยทวาร

    ผู้ฟัง จิตคิดนึก ครับ

    คุณสุรีย์ ขณะใดที่รู้อารมณ์โดยไม่อาศัยทวาร คนอื่นช่วยตอบในใจด้วยนะคะ

    ผู้ฟัง เอาดังๆ ก็ได้ค่ะ ทุกคนช่วยกันต่อสิคะ จิตขณะใดที่รู้อารมณ์โดยไม่อาศัยทวาร

    ผู้ฟัง จิตที่เป็นปฏิสนธิจิต ภวังคจิต และจุติครับ เชิญนะคะ

    ท่านอาจารย์ อันนี้คงจะต้องลืมไม่ได้เลยนะคะ ว่าจิตเป็นสภาพที่รู้อารมณ์ยังไงๆ ที่จิตเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ไหน ทำกิจอะไร ขณะไหน ต้องมีอารมณ์ที่จิตกำลังรู้ เพราะเหตุว่าจิตเป็นสภาพรู้ เพราะฉะนั้นไม่ยากเลยค่ะ ถ้าเราจะแยกจิตเป็นประเภทใหญ่ๆ ๒ ประเภทเท่านั้นนะคะ

    คือวิธีเข้าใจธรรมมีหลายอย่าง แต่ว่าธรรมเป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ และก็ถ้าเข้าใจจริงๆ แล้วนะคะ ก็จะเป็นเรื่องที่ไม่ว่าจะพบในพระไตรปิฎกส่วนใด ความหมายต้องเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเราสามารถที่จะแยกจิตในขั้นต้นที่สุดออกเป็น ๒ ประเภทคือจิตที่รู้อารมณ์นะคะ โดยไม่อาศัยทวาร กับจิตที่รู้อารมณ์โดยต้องอาศัยทวาร

    เพราะฉะนั้นก็เป็นจิตที่ รู้อารมณ์โดยอาศัยทวารนี่นะคะ ส่วนใหญ่คืออาศัยทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีจิตเพียง ๓ ประเภท หรือ ๓ กิจเท่านั้น ที่ไม่ต้องอาศัยทวารเลย คือปฏิสนธิจิตขณะแรกที่เกิดขึ้น ไม่ได้อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะเหตุว่าเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้วกรรมหนึ่ง เป็นปัจจัยทำให้ปฏิสนธิจิตทำกิจเกิดขึ้น

    ลองคิดถึงกรรมนะคะ เรามีกรรมตั้งเยอะค่ะ คิดถึงกรรมชาติก่อน และก็ในแสนโกฏิกัปป์มาแล้ว แต่กรรมหนึ่งทำให้เราเกิดเป็นคนนี้ ในชาตินี้ กรรมเดียวเท่านั้นนะคะและยังมีกรรมอีกเยอะแยะทีเดียว

    เพราะฉะนั้นเมื่อกรรมเป็นปัจจัยทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด ไม่ต้องอาศัยทวารเพราะเหตุว่าขณะนั้น ไม่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ใช่จิตที่คิดนึกเป็นวิบากจิต คือเป็นผลของกรรมที่เกิดขึ้นเพราะกรรมหนึ่ง เวลาที่ปฏิสนธิจิตดับไปแล้วนะคะ กรรมนั้นเองก็ทำให้จิตซึ่งเป็นวิบากชนิดเดียวกัน เป็นผลของกรรมเดียวกันเลยค่ะ เกิดสืบต่อดำรงภพชาติทำกิจภวังค์ชื่อภวังคกิจ

    โดยไม่ต้องอาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รู้อารมณ์เลย เช่นขณะที่เรานอนหลับสนิท ขณะนั้นจะเห็นได้ว่าไม่รู้อารมณ์ ไม่ฝัน ไม่คิดนึกทั้งสิ้น นั่นคือภวังคจิต และอีกขณะหนึ่ง ก็คือจุติจิตขณะสุดท้ายของชาตินี้ก็เป็นผลของการที่ทำให้จุติจิตเกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้นต้องทราบขณะเกิดก็เป็นผลของกรรม ขณะตายจริงๆ จิตขณะสุดท้ายนะคะ ที่จะเกิดขึ้น และดับไป สิ้นสุดสภาพความเป็นบุคคลนี้ ก็เป็นผลของกรรม แสดงว่ากรรมนี่ค่ะ ทำให้เราดำรงอยู่ตามกำลังของกรรม ว่าจะให้มีอายุยืนยาวสักแค่ไหน และระหว่างนั้นก็เป็นภวังค์

    เพราะฉะนั้นต้องจำว่าจิตที่ไม่อาศัยทวารไม่ใช่วิถีจิต มีเพียง ๓ ขณะคือปฏิสนธิ ภวังค์ จุตินอกจากนั้น แม้แต่กำลังฝันก็คือต้องอาศัยทางใจคิดนึกเรื่องราวต่างๆ มีใครสงสัยตอนนี้ไหมคะ

    คุณสุรีย์ ต่อไปนะคะ จิต ขณะหลับสนิทไม่ฝัน เรียกจิตชนิดนั้นว่าอะไร

    ผู้ฟัง ภวังคจิต

    คุณสุรีย์ ภวังคจิตนะค่ะ โลภะ ...

    ท่านอาจารย์ อาศัยทวารหรือเปล่าค่ะ

    ผู้ฟัง ไม่อาศัยครับ

    ท่านอาจารย์ เป็นวิถีจิตหรือเปล่าค่ะ

    ผู้ฟัง ไม่ใช่วิถีจิต

    ท่านอาจารย์ ค่ะ ถ้าไม่อาศัยทวารก็ไม่ใช่วิถีจิตเพราะถ้าใช้คำว่าทวาร ก็ต้องเป็นวิถีนะคะ คือจิตจะต้องเกิดสืบต่อรู้อารมณ์ที่กำลังปรากฏ

    คุณสุรีย์ โลภมูลจิตเป็นภวังคจิตใช่หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ใช่ครับ

    คุณสุรีย์ ถ้าไม่ใช่ เพราะอะไร

    ผู้ฟัง เพราะว่าต้องอาศัยทวาร

    คุณสุรีย์ กี่ทวาร

    ผู้ฟัง ๖ ทวาร

    คุณสุรีย์ ขอบคุณนะคะ อันนี้ต่อไป โยงเข้าถึงทิฐิคตสัมปยุตต คราวที่แล้วนี้เราเรียน เรา..

    ท่านอาจารย์ ขอถามสักนิดหนึ่ง นะคะ คุณสุรีย์ค่ะ ทวารไหนสำคัญมากกว่าค่ะ ที่ว่าอาศัย ๖ ทวารนี่ค่ะ

    ผู้ฟัง ก็ทั้ง ๖ ทวาร

    ท่านอาจารย์ จริงๆ หรอคะ ถ้าทางตาเพียงแค่เห็น และไม่รู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร กับทางใจที่รู้แล้วค่ะ และก็มีความติดข้อง มีความต้องการ มีเรื่องราวต่างๆ แสดงให้เห็นว่าใจ ทางใจนะคะ รับรู้ทุกอย่างจากทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แล้วไม่ใช่รับรู้เฉยๆ ค่ะ ยังปรุงแต่งคิดนึกยาว เป็นเรื่องราวต่างๆ แม้ไม่เห็น แม้ไม่ได้ยิน แม้สิ่งนั้นดับไปแล้ว แต่ทางใจก็ยังคิดต่อ

    ผู้ฟัง แต่ก็เป็นปัจจัยหนึ่ง ใช่ไหมฮะ

    ท่านอาจารย์ อะไรเป็นปัจจัยนี้ค่ะ

    ผู้ฟัง ก็ ตา หู จมูก ลิ้น กาย

    ท่านอาจารย์ แน่นอนค่ะ เพราะฉะนั้นต้องทราบว่า เรานะคะ เกิดมามีตาสำหรับรับผลของกรรมคือต้องเห็น แต่ว่าหลังจากเห็นแล้วเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล หรือส่วนใหญ่เป็นโลภะ และโลภะที่เราเห็นทางตา นิดหนึ่งนะคะ สิ่งที่ปรากฏทางตาดับแล้ว เหมือนกับเสียงที่ปรากฏทางหูนะคะ นิดหนึ่งเสียงก็ดับแล้ว แต่ทางใจทำไมไม่ลืม เพราะว่าเก็บไว้หมด แล้วก็ยังแม้ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ก็ยังคิดนึก เป็นสุข เป็นทุกข์ต่างๆ

    เพราะฉะนั้น ใจนี่ เป็นสิ่งน่าจะเข้าใจ น่าจะรู้จัก และก็น่าจะเห็นจริงๆ ว่าเป็นเพียงธาตุซึ่งรู้ และก็เกิดดับอยู่ตลอดเวลา

    คุณสุรีย์ ตอนนี้เข้าวรรคที่ ๒ นะคะ ทิฐิคตสัมปยุตต เราทบทวนเวทนาไปแล้ว ตอนนี้ก็ไปถึงสัมปยุต และวิปปยุตนะคะ ก็พูดถึงสัมปยุตธรรมคราวที่แล้วนี้ ก็เข้าใจแล้วว่าสัมปยุตหมายความว่าประกอบ วิปปยุตคือไม่ประกอบนะคะ เราก็จะเริ่มต้นเลยนะคะ ว่าต่อจากคราวที่แล้วนะคะ ความเห็นผิดที่เรียกว่าสักกายทิฏฐิ นิยตมิจฉาทิฏฐิ สีลพัตตปรามาส เป็นต้น เป็นโลภมูลจิตที่เป็นทิฏฐิคตสัมปยุต หรือวิปปยุต

    ผู้ฟัง ก็เป็นทิฐิสัมปยุตครับ

    คุณสุรีย์ ทิฐิสัมปยุตนะคะ

    ท่านอาจารย์ คงต้องบอกว่าให้สมบูรณ์ ภาษาบาลีต้องพูดให้เต็ม ว่าไงนะคะ

    ผู้ฟัง ให้เต็มประโยคเลย

    คุณสุรีย์ ทิฐิ เป็นทิฏฐิคตสัมปยุต หรือทิฏฐิวิปปยุต เพราะอะไรจึงเป็นทิฏฐิคตสัมปยุต

    ผู้ฟัง ก็มีความเห็นผิดประกอบร่วมด้วย คือทิฏฐิเจตสิก

    คุณสุรีย์ ไช่แล้วนะคะ เมื่อกี้นี้ท่านอาจารย์ก็บอกแล้วว่าทิฏฐิเจตสิก ต้องประกอบด้วยกับความเห็นผิดนะคะ ตัวนี้สำคัญนะคะ

    ท่านอาจารย์ คุณสุรีย์ อีกนิดนึง ทิฏฐิเจตสิก

    คุณสุรีย์ ทิฏฐิเจตสิก ขอโทษค่ะ เพราะฉะนั้นทิฏฐิเจตสิกหมายความว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง ก็หมายความว่า เออ เจตสิกที่เป็นลักษณะของความเห็นผิดนะ

    คุณสุรีย์ เห็นผิดในสภาวธรรม

    ผู้ฟัง เห็นตามความเป็นจริง

    คุณสุรีย์ คะๆ เชิญคะ มีคำถามใช่ไหมคะ

    ผู้ฟัง ไม่ใช่ ขอเรียน คุณสุรีย์สักหน่อยว่า บางท่านพึ่งมาวันนี้วันแรกนะคะเพราะฉะนั้น สัมปยุต คตัง สตัง อะไรกันเนี่ย คงยังไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้น ขอท่านอาจารย์อธิบายสักหน่อย สำหรับท่านที่มาใหม่วันนี้ สักหน่อยหนึ่งก่อนจะดีไหมคะ

    คุณสุรีย์ ค่ะ เชิญค่ะ

    ท่านอาจารย์ เชิญอาจารย์สมพรค่ะ

    อ.สมพร ธรรมสัมปยุตนี่เป็น เป็นคำของบาลี ของไทยแล้วก็มีความหมายขยายความได้หลายอย่าง สัมปยุต ก็หมายว่าสิ่งนั้นจะต้องมีลักษณะประกอบด้วยลักษณะ ๔ อย่าง เช่น จิตกับเจตสิก จิตเราก็ทราบแล้ว เป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์ เจตสิกนั้นเป็นธรรมชาติที่อาศัยจิตเกิดขึ้น ๒ อย่างนี้ที่บอกว่าสัมปยุต ก็คือประกอบด้วยลักษณะ ๔ อย่าง คือเกิดพร้อมกันดับพร้อมกัน มีอารมณ์อย่างเดียวกัน มีที่อาศัยเกิดแห่งเดียวกัน ๔ อย่างนี้เรียกว่าสัมปยุต ทั้ง ๔ อย่าง เป็นภาษาบาลีนะครับ ท่านย่อไว้สำหรับคนที่รู้แล้วเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ คนใหม่ๆ ละคะ ขอพูดด้วยนิดนึงค่ะ คือว่าสัมปยุตเป็นคำใหม่ในภาษาบาลีนะคะ ภาษาไทยเราใช้คำภาษาบาลีเยอะ แต่ไม่มีเห็น ไม่มีใครมีชื่อสัมปยุต หรือว่าไม่ได้ใช้คำสัมปยุตจนกระทั่งเราชินหู แต่ว่าตามความเป็นจริงค่ะ ก็คงจะไม่ยากที่จะเริ่มจำว่า ถ้าใช้คำว่าสัมปยุตนะคะ หมายความถึงนามธรรมที่เกิดร่วมกันคือจิต และเจตสิก

    เพราะฉะนั้นเวลาที่บอกว่า โลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุต หมายความว่าขณะนั้น นอกจากมีเจตสิกอื่นๆ ซึ่งต้องเกิด อยู่แล้วนะคะ เช่น สัพพสาธารณเจตสิก ๗ ดวง ที่ต้องเกิดกับจิตทุกดวงแล้ว ก็ยังมีเจตสิกซึ่งเกิดร่วมกับจิตนั้น เช่นถ้าเป็นโลภมูลจิตนะคะ จะใช้คำว่าทิฏฐิคตสัมปยุต หมายความว่ามีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นถ้าได้ยินคำว่าสัมปยุต ก็คือ มีเจตสิกซึ่งเกิดร่วมด้วยนะคะ

    เช่น ถ้าเป็นทิฏฐิคตสัมปยุต ก็เป็นความเห็นผิดเกิดร่วมกับจิตในขณะนั้น นี่เป็นเรื่องของภาษา ถ้าค่อยๆ จำไป ค่อยๆ สนใจนะคะ หนังสือก็มีค่ะ และก็เป็นคำที่เพียงแต่ว่า ถ้าเราทราบว่าเป็นเจตสิกที่เกิดกับจิต ก็อาจจะมีสัมปยุตอื่นๆ เช่นญาณสัมปยุตเกิดร่วมกับปัญญา วิจิกิจฉาสัมปยุตเกิดร่วมกับความสงสัย เพราะฉะนั้นถ้ามีคำว่าสัมปยุต ให้ทราบว่าเป็นเจตสิกซึ่งเกิดกับจิต

    คุณสุรีย์ ความเห็นผิดจากปรมัตถ์ว่าเป็นอัตตา คุณหมอพูดปรมัตถ์ก่อน เห็นผิดจากปรมัตถ์ว่าเป็นอัตตา หมายความว่าอย่างไร เอาตามความคิดเห็นเท่านั้นเองนะคะ

    ผู้ฟัง ปรมัตถ์เป็นอนัตตา เพราะไม่มีตัวไม่มีตน

    คุณสุรีย์ ไม่มีตัว แต่ผิดจากปรมัตถ์ว่าเป็นเรา ถูกไหมคะ ขอเรียนเชิญท่านอาจารย์สุจินต์ค่ะ

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้นะคะ มีความเห็นผิดรึเปล่า ขณะที่กำลังฟังพระธรรม คือถ้าเราย้อนกลับมาหาแต่ละขณะ จะทำให้เราเข้าใจชัดเจนขึ้น เพราะว่าดูเหมือนเราพูดเรื่องชื่อ เราพูดถึงความเห็นผิด แล้วเราก็พูดถึงเรื่องว่าความเห็นผิดว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ

    แต่ในขณะนี้ที่กำลังฟังธรรมนะคะ มีความเห็นผิดรึเปล่า มีเสียงตอบแล้วนะคะ มีใครเห็นด้วยค่ะ คำตอบว่า เปล่า มีใครเห็นด้วยค่ะ ทำไมน้อยจังคะ แต่ถูกนะคะ เพราะเหตุว่าเราไม่ได้มีความเห็นเรื่องที่ว่าตายแล้วสูญ หรือว่า เห็นว่าโลกเที่ยง หรือว่าเห็นอะไรเลย เพราะฉะนั้นต้องแยกให้ดีๆ นะคะ ระหว่างความเห็นผิด ก็ต้องเป็นความเห็นค่ะ

    ขณะที่ต่างคน ต่างแสดงทัศนะความคิดเห็นต่างๆ ลัทธิต่างๆ ขณะนั้นฟังดูแล้ว จะรู้ได้เลยคะ ล้วนแต่เป็นความเห็น ถ้าไม่ตรงกับสภาพธรรมขณะใด ขณะนั้นเป็นความเห็นผิดแล้วแต่ว่าจะเป็นความเห็นผิดเรื่องอะไร แต่ว่าขณะนี้เรากำลังเรียนเรื่องของจริง คือเรื่องสภาพธรรมที่มีจริงๆ เรียนเรื่องจิตมีจริง เรียนเรื่องเจตสิกมีจริง เรียนเรื่องรูป เรียนเรื่องโลภะเรียนเรื่องทิฏฐิ ล้วนแต่เป็นสภาพธรรมที่มีจริง แล้วก็กำลังเข้าใจถูกในสภาพธรรมที่มีจริง

    เพราะฉะนั้นในขณะนี้นะคะ ไม่มีความเห็นผิด ไม่เป็นสักกายทิฏฐิค่ะ

    คุณสุรีย์ ขอความเห็นท่านอาจารย์สมพร อีกสักท่านหนึ่งนะคะ เพื่อจะได้สรุป

    อ.สมพร คือความเห็นผิด หรือความเห็นถูก ก็เราก็พิจารณาเป็นขณะๆ ไป ขณะนี้มีความเห็นผิดก็ถือว่ามีทิฏฐิ ถ้าไม่มีความผิดมีกุศลเกิดขึ้น ขณะนี้ก็ไม่มีความเห็นผิดต้องตัดสินด้วยขณะของจิตครับ เพราะว่ามันเป็นจิตคนละดวง

    คุณสุรีย์ ที่นี้ ความเห็นผิดจากปรมัตถ์ ว่าเป็นอัตตา หมายความว่าเห็นผิดจากขันธ์ ๕ ใช่ไหมคะ อาจารย์สมพร

    อ.สมพร ความเห็นผิดที่เป็นสักกายทิฏฐิใช่ไหมครับ สกายทิฏฐินี้เราก็มุ่งถึง ขันธ์ ๕ แต่ว่าขันธ์ ๕ สำหรับคนเก่าเข้าใจดี และคนใหม่ก็อาจจะยังไม่เข้าใจนะครับ ว่ามีความเห็นผิดในขันธ์ ๕ ว่าเป็นเรา หรือเป็นตัวตนนี่นะครับ เรียนขันธ์ ๕ กัน เราต้องอธิบายแยกแยะสำหรับคนที่กำลังศึกษาใหม่ๆ ก็เห็นว่าขันธ์ ๕ เห็นรูปว่าเป็นเรา

    ก็ยกตัวอย่างเช่น สี ปรากฏกระทบที่ตา เราก็บอกว่าเราเห็น แท้จริงนะครับ ขันธ์ ๕ ทำหน้าที่ เช่น จิตประกอบด้วยเจตสิก ทำหน้าที่เห็นนะครับ ไม่ใช่เรา มีความเห็นผิดอย่างนี้นะครับ

    ท่านอาจารย์ ที่จริงแล้วนะคะ ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก เพราะฉะนั้นก่อนที่จะพูดถึงเรื่องความเห็นผิด จะมีการกล่าวถึงวิปลาส ๓ อย่าง ซึ่งวิปลาสมีถึง ๓ และความเห็นผิดซึ่งเป็นทิฏฐิวิปลาส เป็นเพียง ๑ ใน ๓ วิปลาส เพราะฉะนั้นก็จะมี สัญญาวิปลาสกับจิตวิปลาส และทิฏฐิวิปลาส ซึ่งปกติแล้วขณะใด ซึ่งทิฏฐิเจตสิกไม่เกิด ขณะนั้นมีจิตวิปลาสกับสัญญาวิปลาสเกิดกับอกุศลจิต แล้วแต่ว่าจะเป็นอกุศลประเภทใด แต่ขณะใดที่มีทิฏฐิวิปลาสขณะนั้นจะต้องเป็นโลภมูลจิต

    เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าใกล้เคียงกันมาก ถ้าเราไม่ยกวิปลาสขึ้นมากล่าวถึง เราก็จะคิดว่าทุกอย่างเป็นทิฏฐิเป็นสักกายทิฏฐิ แม้แต่ขณะที่กำลังเห็น แล้วก็เห็นเป็นคุณนิภัทรใช่ไหมคะ ซึ่งใครก็ต้องเห็นเป็นคุณนิภัทร พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ต้องเห็นว่าเป็นคุณนิภัทร หรือพระอรหันต์ทั้งหลาย ก็ต้องรู้ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตานั้นเป็นอะไร แต่ว่านี่ไม่ใช่ความเห็นผิดค่ะ ต้องเข้าใจ

    และสำหรับผู้ที่ดับกิเลสหมดแล้วนะคะ แม้สัญญาวิปลาส หรือจิตตวิปลาสก็ไม่มี แต่ว่าสำหรับผู้ที่ยังไม่ได้ดับกิเลสหมด ยังมีอกุศลจิตอยู่นะคะ ขณะใดที่ไม่มีทิฏฐิความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย เป็นแต่อกุศลเท่านั้น ขณะนั้นเป็นจิตวิปลาสกับสัญญาวิปลาส เพราะฉะนั้นก็ต้องทราบว่าขณะนั้นนะคะ ที่พูดอย่างนั้นวิปลาสประเภทไหน จะเป็นสัญญาวิปลาส จิตวิปลาส หรือทิฏฐิวิปลาส

    คุณสุรีย์ ถ้าเป็นทิฏฐิวิปลาสนี้มันประเภทเดียวกับสักกายทิฏฐิหรือป่าวคะ

    ท่านอาจารย์ เริ่มจากสักกายทิฏฐิทั้งหมดค่ะ ถ้าดับสักกายทิฏฐิแล้ว ทิฏฐิทั้งหลายมีไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นก็มาจากความยึดมั่นว่าเป็นเราอย่างที่เราเคยมีความรู้สึกอย่างนั้นนะคะ ก่อนที่จะศึกษาพระธรรม ถ้าถามทุกคน และทุกคนมีความเห็นว่ามีตัวตนแน่นอน จะมีใครมากล่าว จะมาบอกให้เราทราบว่าไม่มี ตัวตนไม่มี มีแต่ธรรม ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน เพราะฉะนั้นเวลาที่พูดถึงความเห็นก่อนที่จะศึกษาธรรม มีความเห็นผิดหลายอย่าง เห็นว่าเป็นตัวตน แล้วก็มีความเห็นว่าตายแล้วก็สูญ หรือว่า เห็นว่าเที่ยง ต่างๆ เหล่านี้นะคะ ก็เป็นความเห็นผิด

    อย่างตอนที่พบชาวต่างประเทศคนหนึ่ง นะคะ เขากำลังมีลูกเล็กๆ น่ารักค่ะ เขาก็บอกว่าเนี่ยลูกเขาใช่ไหมคะ ก็เลยถามเขาว่า แน่หรอนี้ ลูกคุณแน่หรอ เขาก็บอกใช่ นี่ลูกเขาจริงๆ เขารักมาก เพราะว่าเป็นลูกซึ่งเขาเพิ่งมีเป็นคนแรก เนี่ยนะคะ เป็นลูกผู้ชายน่ารักก็เลยถามเขา ว่า ตาของลูกคุณน่ะเป็นของคุณด้วยหรือเปล่า ใช่ไหมคะ เฉพาะตาของลูกคุณนี่ เป็นของคุณด้วยหรือเปล่า เขาบอกว่าทั้งตัวๆ คือเขาไม่ยอมที่จะวิเคราะห์ หรือพยายามที่จะเข้าใจแม้แต่คำถามที่จะสะกิดใจว่า แล้วตาของลูกละเป็นของเขาด้วยหรือเปล่า เขาก็บอกว่าทั้งตัว

    นี่แสดงให้เห็นว่านะคะ ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมจริงๆ นี่ค่ะ ยากที่ใครจะไปถ่ายถอนสักกายทิฏฐิ เพียงแต่ว่าขณะนั้นมีปัจจัย ที่จะให้โลภมูลจิตเกิดร่วมกับความเห็นผิดรึเปล่า ถ้าเราไม่ถามเขาขณะนั้นนะคะ เขาก็มีความชอบในขนม หรือว่าในอาหาร หรือในอะไร ซึ่งขณะนั้นไม่มีความเห็นผิดใดๆ เกิดร่วมด้วย แต่ถ้าสนทนากัน เราจะเห็นชัดว่าความเห็นของแต่ละคน ในขณะนั้นเกิดจากจิต ซึ่งมีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วยหรือไม่

    อ.นิภัทร อาจารย์ ไอ้อย่างงั้น ไอ้มิจฉาทิฏฐินี่ รู้สึกฟังอย่างที่อาจารย์พูด รู้สึกว่ามันจะเกิดยากนะอาจารย์

    ท่านอาจารย์ ธรรมดาแล้วก็ไม่เกิดนะคะ ไม่ใช่ว่าเกิดกันทั้งวัน ไม่อย่างงั้นต้องเกิดกันทั้งวันแน่ๆ ค่ะ เพราะว่าตื่นมาก็เห็นคนโน้นคนนี้อยู่ตลอดเวลา เห็นโต๊ะเห็นเก้าอี้ก็ต้องมีจิตประเภทเดียวกัน คือโลภมูลจิตที่เกิดร่วมกับความเห็นผิด แต่ความจริงไม่ใช่

    อ.นิภัทร เป็นแบบ ที่ยังไม่มีความเห็นลงไปว่ายังงั้นยังงี้ ตายแล้วต้องสูญแน่ ไม่เห็นมีใครมาบอกสักทีว่าตายแล้ว ไปอยู่ที่โน่นที่นี่ อะไรอย่างนี้ ถึงจะเป็นมิจฉาทิฏฐิ

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าวันนี้เข้าใจว่าตอนตั้งแต่เช้ามา ก็ที่บ้านทุกคนก็คงจะไม่ได้พูดกันเรื่องนี้ใช่ไหมคะ อาจจะพูดเรื่องอาหาร เรื่องดอกไม้ เรื่องสวน เรื่องอะไรต่างๆ ก็ขณะนั้นไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย แต่จิตตวิปลาส สัญญาวิปลาสค่ะ

    อ.นิภัทร เกิด เกิดตลอด เกิดไม่ขาดสาย

    ท่านอาจารย์ กับอกุศลจิตค่ะ

    อ.นิภัทร กับอกุศลจิต เพราะฉะนั้นเราก็ต้องยึดให้มั่นว่ามิจฉาทิฏฐิจะต้องเกิดกับอกุศลจิต สักกายทิฏฐิต้องเกิดกับอกุศลจิตทั้งนั้น ส่วนสัญญาวิปลาส จิตวิปลาส เกิดกับกุศลจิตก็ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ค่ะ เกิดกับอกุศลจิตเท่านั้น เพราะเป็นเรื่องที่ต้องละ

    อ.นิภัทร เป็นเรื่องที่ต้องละ

    ผู้ฟัง ถึงแม้ว่า จิตนั้นจะเป็นญาณวิปปยุต

    ท่านอาจารย์ ไม่มีทางค่ะ สำหรับกุศลจิตจะไม่มีสัญญาวิปลาส จิตวิปลาส เพราะว่าประกอบด้วยโสภณเจตสิกมากมาย


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 11
    6 ก.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ