สนทนาธรรม ตอนที่ 101


    ตอนที่ ๑๐๑


    อ.สมพร คนเขาให้ทานเพราะกลัว กลัวยากจนบ้าง บางทีมีน้อยก็ไม่ให้เลย มีมากก็ไม่ให้เลยเพราะกลัวจะหมดเปลือง การที่กลัวอย่างนั้น มีความมุ่งอย่างนั้นแล้วจะได้รับผลอย่างนั้นจริงๆ เพราะการไม่ให้ทาน แต่เมื่อให้ทานแล้วแม้ของน้อยก็แบ่งให้ทานได้ เรามีมากเราก็ให้ได้ แล้วผลที่เกิดจากความอดอยากจะไม่ปรากฏเพราะอาศัยการให้ทาน การให้ทานไม่ได้ทำให้เรายากจน ทำให้เป็นคนมีทรัพย์สมบัติมากเพราะอาศัยการให้ทาน

    ท่านอาจารย์ ถามว่า คุณสุกลต้องการหิริโอตตัปปะสักเท่าไหร่

    ผู้ฟัง ความจริงต้องการมากๆ เพราะว่าเมื่อรู้ว่ามีหิริมีโอตตัปะแม้แต่การกระทำ และความประพฤติต่างๆ จะเป็นไปด้วยความระมัดระวังไม่ให้เกิดอกุศลต่างๆ ได้ในชีวิตประจำวัน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นคุณสุกลต้องการกุศลสักเท่าไหร่

    ผู้ฟัง เรื่องกุศลไม่ต้องการ

    ท่านอาจารย์ หิริโอตตัปปะนั้นเป็นกุศล ถ้าต้องการหิริโอตตัปปะก็คือกุศลเป็นโสภณเป็นธรรมฝ่ายดี

    ผู้ฟัง ผมพิจารณาธรรม ๒ อย่างที่เป็นหิริ โอตตัปปะ เช่น มีความไม่พอใจ มีความเกลียด ที่ยังไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องของกุศลขั้นอื่นเลย

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วขณะใดที่หิริโอตตัปปะเกิด ขณะนั้นเป็นกุศล จะปฏิเสธได้ไหมว่าขณะนั้นไม่ใช่กุศล หรือว่าไม่มีอย่างอื่น ไม่มีอโลภะ ไม่มีอโทสะ ไม่มีมานะ ไม่มีทิฏฐิ ไม่มีอะไรได้ไหม เพราะว่าขณะใดที่หิริโอตตัปปะเกิด โสภณธรรมเกิดร่วมด้วยมาก และอกุศลธรรมสักนิดเดียวก็ไม่เกิดร่วมด้วยในขณะนั้น เพราะฉะนั้นคำถามก็คือว่าคุณสุกลต้องการหิริโอตตัปปะเท่าไหร่

    ผู้ฟัง ถ้าอาจารย์อธิบายอย่างนี้แล้วไม่กล้าตอบครับ เพราะว่าเป็นฝ่ายกุศลจริงๆ

    ท่านอาจารย์ และอีกอย่างนะคะ ต่อให้ตำราจะว่าสักเท่าไหร่ แล้วคุณอดิศักดิ์อ่านมาแล้วก็ช่วยตอบ อาจารย์สมพรท่านจะอธิบายสักเท่าไหร่ คนอื่นจะเพิ่มเติมสักเท่าไหร่ กลับไปบ้านอ่านอีกสักเท่าไร เปิดวิทยุฟังอีกสักเท่าไร จะได้หิริโอตตัปปะอย่างใจไหม แสดงให้เห็นอยู่แล้วว่าสังขารขันธ์เราลืมไม่ได้ ฟังดูทุกอย่างดีก็อยากจะได้ไปหมด พอ ๒-๓วัน หรือเดือนหนึ่ง พูดเรื่องหิริโอตตัปปะก็อยากได้เหลือเกิน ทำอย่างไรจะมีมากๆ พิจารณาอย่างไรอยู่ในตำราเล่มไหน พระผู้มีพระภาคตรัสไว้อย่างไร แต่อย่าลืมว่า ถึงจะไปอ่านสักร้อยครั้งพันครั้ง พอที่จะเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้หิริโอตัปปะเกิดหรือเปล่า และเวลาที่หิริโอตตัปปะเกิดรู้หรือเปล่า ขณะที่กำลังฟังธรรมมีหิริโอตตัปปะไหม ไม่ต้องไปจับตัวหิริโอตัปปะมาดู แต่ให้ทราบว่าโสภณธรรมคือโสภณเจตสิก เกิดกับกุศลจิตทุกขณะ เราไม่รู้เลยขณะนี้ที่กำลังมีศรัทธาในการที่ไม่ไปที่อื่น และฟังธรรม แล้วพิจารณาให้เข้าใจ ขณะนั้นศรัทธาก็มี หิริก็มีโอตะปะก็มี อโลภะก็มี อโทสะก็มี เจตสิก ๑๙ เประเภทที่เป็นโสภณสาธารณะต้องเกิดพร้อมกันหมด แล้วทำไมเราจะมามุ่ง เวลาพูดถึงหิริ โอตตัปปะ ก็อยากให้มีมากๆ ทำอย่างไรถึงจะได้หิริโอตตัปปะมากๆ ต้องทราบจริงๆ ว่าไม่ใช่เรื่องอยาก

    เพราะฉะนั้นเรื่องโลภะขอให้เห็น ถ้าไม่เห็นแล้วละไม่ได้เลย มีแต่ว่าได้ยินอะไรก็ต้องการ ได้ยินชื่อนิพพาน อริยสัจก็อยากจะได้ชาตินี้ ได้ยินหิริ โอตตัปปะ ก็อยากจะมีมากๆ แต่ไม่ทราบว่าขณะใดที่เป็นกุศลจิตขณะนั้นโสภณธรรมต้องเกิด แล้วก็ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา เพียงแต่ว่าการฟัง การพิจารณา การไตร่ตรองจะค่อยๆ เป็นสังขารขันธ์ที่จะทำให้กุศลจิต และโสภณเจตสิกอื่นๆ เกิด แต่ไม่ใช่เพราะว่าเราไปรู้เหตุอย่างนั้นเหตุอย่างนี้ อ่านอย่างนั้นอ่านอย่างนี้ แล้วก็จะเกิดได้ คุณสุกลคิดว่าการที่จะรู้ลักษณะของสภาพนามธรรม และรูปธรรม อวิชชารู้ หรือว่าวิชชาคือปัญญารู้

    ผู้ฟัง ต้องเป็นวิชชา หรือปัญญารู้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นถ้าวิชชายังไม่เกิดยังไม่ได้อบรม มีทางที่จะรู้ได้ไหมว่าสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา

    ผู้ฟัง ตอนนี้ก็มีการอบรมแล้ว

    ท่านอาจารย์ แล้ว

    ผู้ฟัง มีการอบรมบ้าง

    ท่านอาจารย์ ถ้าแล้วจริงๆ ต้องรู้ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจความหมายของอบรมว่า อบรมนี่ไม่ใช่ทำ ไม่ใช่ตั้งใจ ไม่ใช่อยาก ไม่ใช่จงใจ แต่ความเป็นผู้ตรง ซึ่งไม่ต้องไปสอบถามใครเลย แต่สภาพธรรมขณะนี้ปรากฏ แล้วขณะนี้ปัญญารู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏหรือเปล่า ถ้ายังไม่รู้ก็หมายความว่ายังจะต้องอบรมเจริญจนกว่าปัญญาระดับที่สามารถจะรู้ได้รู้ขณะนี้ ถ้าไม่รู้ก็เป็นเพียงขั้นการฟังเพราะเหตุว่าธรรมที่จะเข้าใจได้มี ๓ ขั้นอย่างที่เราได้พูดถึงในตอนเช้า ขั้นฟัง ฟังเรื่องราวของสภาพธรรมเป็นการเริ่มต้นของการอบรม ซึ่งถ้าไม่มีปัญญาขั้นนี้การที่จะประจักษ์ลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตนจริงๆ จะเป็นไปไม่ได้เลย ปัญญาก็ต้องเจริญขึ้นแล้วค่อยๆ เติบโตแต่ว่าโตช้ามาก แล้วต้องช้ากว่าอกุศลแน่ ต้องช้ากว่าอวิชชาแน่ เพราะอวิชาเจริญเร็วทุกขณะ ไม่ต้องมีการอบรมอะไรเลยอวิชชาก็มีเหตุปัจจัยที่จะเกิด แต่กว่าปัญญาจะค่อยๆ เกิดขึ้นมาได้ ให้เห็นว่าแม้แต่ว่าเราจะฟังมานานสักเท่าไรก็ตามเราก็ต้องเป็นผู้ที่ตรงว่านี่ปัญญาขั้นฟัง หรือว่าปัญญาที่สติเริ่มระลึกที่ลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม เพราะว่าเราเข้าใจเรื่องปรมัตถธรรม การฟังพระธรรมก็คือฟังให้เข้าใจเรื่องสภาพธรรมที่มีจริงๆ แม้ว่าไม่ต้องใช้ชื่อ อย่างเมื่อกี้นี้ก็พูดถึงเรื่องมโนทวาร ปัญจทวารอะไรกันมากมาย แต่ว่าขณะที่สติระลึกจะไม่มีคำว่าปัญจทวาร จะไม่มีคำว่ามโนทวารเลย แต่ว่ามีสภาพธรรมปรากฏ ซึ่งเวลานี้ถ้ามโนทวารไม่ปรากฏใครก็แยกมโนทวารกับปัญจทวารไม่ได้ เพราะสืบต่อกันเหมือนไม่มีมโนทวารขั้นเลย เห็นก็เห็นอยู่ตลอดเวลาทั้งๆ ที่ใจก็คิดนึกไปสารพัด หูก็ได้ยิน กายก็กระทบสัมผัส แต่ทางตานี่ก็ยังปรากฏเหมือนกับว่าไม่ได้ดับ และก็ไม่มีมโนทวาร

    เพราะฉะนั้นสภาพธรรมจริงๆ ลึก แล้วก็ไม่ใช่ตัวตน แต่ว่าจะต้องเป็นความละเอียดที่จะต้องอาศัยการฟังเพื่อละความต้องการ เพราะเหตุว่าถ้าเราไม่มีการฟังเรื่องของสัจจญาณคือความเข้าใจอย่างถูกต้องจริงแท้ในหนทางปฏิบัติ เราจะไม่พ้นกำลังของโลภะ เพราะว่าเราอยากได้ เราอยากเห็น เราอยากรู้ เราอยากถึงนิพพาน เพราะฉะนั้นมีวิธีไหนที่จะทำให้ไปถึง เราจะข้ามไปเลย ทำอย่างไรขอให้บอก ถ้าเขาบอกบางทีก็จะทำ ซึ่งความจริงแล้วไม่ได้เข้าใจเลยว่าวิชชาต่างหาก ความรู้ต่างหากซึ่งเจริญขึ้นบ้างหรือยัง เริ่มเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏหรือเปล่า ถ้ายังไม่เข้าใจ ยังไม่มีแม้แต่เงาหรือพืชต้นเล็กๆ ที่กำลังจะต้องเจริญเติบโตไป ผลก็ย่อมมีไม่ได้ เพราะฉะนั้นให้เข้าใจว่าแม้เพียงขั้นการฟัง ขณะใดที่เป็นความเข้าใจที่ถูกต้องขณะนั้นคือปัญญาเล็กๆ ยังไม่เจริญยังไม่เติบโตแต่มีพืชมีเชื้อที่จะเจริญเพราะเหตุว่าเป็นความเห็นถูก แล้วเราก็ต้องรู้ตามความเป็นจริงว่ายังไม่ใช่ขั้นที่จะไปประจักษ์ไตรลักษณ์ความเกิดดับหรือทางทวารไหน หรือว่าเห็นเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเพราะเหตุว่าที่จะเห็นถูกต้องตามความเป็นจริงต้องประกอบมรรคมีองค์ ๕ คือขาดสัมมาทิฏฐิความเห็นที่ถูกต้องไม่ได้ แล้วก็จะปราศจากสัมมาสติไม่ได้ด้วย

    เพราะฉะนั้นเราจะไม่ใช่บอกว่าทำอย่างนี้ หรือทำอย่างนั้น เพราะว่าถ้าทำอย่างนี้หรือทำอย่างนั้นเป็นอัตตาหรือเปล่า เป็นความต้องการหรือเปล่า เป็นเรื่องละด้วยความรู้ หรือว่าเป็นการต้องการที่จะเห็น ที่จะทำ หมายความว่ามีหนทางอยู่ ๒ ทางหนทางหนึ่ง ก็คือไม่รู้ความจริงแล้วก็ติดแล้วก็ต้องการ อีกหนทางหนึ่งก็คือว่าค่อยๆ เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ละความไม่รู้ซึ่งมีมากเหลือเกิน ความไม่รู้นี้ก็ทั้งทางตาทางหูทางจมูกทางลิ้นทางกายทางใจ เมื่อเป็นผู้ตรงก็รู้ว่าความไม่รู้ขณะนี้แค่ไหนเอาความไม่รู้ดีกว่าความรู้ใช่ไหม ให้รู้ให้ถูกต้องว่าเป็นความไม่รู้ที่ยังมากเหลือเกิน เพราะฉะนั้นการฟังก็ค่อยๆ ขจัดความไม่รู้ออกไปเป็นขั้นๆ

    ผู้ฟัง ถ้าเปลี่ยนคำพูดเสียใหม่ว่าสภาพธรรมกำลังเกิดขึ้นกำลังปรากฏไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เรากำลังพูดถึง พยายามจะเปลี่ยนคำพูดนี้ให้คุ้นเคยกับคำว่าธรรม ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรม ธรรมกำลังปรากฏ แต่ว่าความรู้ยังไม่มากพอ หรือความรู้ยังไม่มี อย่างนี้จะช่วยทำให้เกิด..

    ท่านอาจารย์ จริงๆ ไม่เกี่ยวกับคำพูดว่าจะต้องคิดเป็นคำๆ อย่างนี้ ขณะกำลังฟังเข้าใจ เริ่มค่อยๆ เข้าใจขึ้นมาถึงลักษณะที่ต่างกันของนามธรรม และรูปธรรม เป็นจุดตั้งต้นที่จะต้องมีความเข้าใจชัดเจนจริงๆ ได้ยินคำว่ารูปธรรม และรูป ๒๘ รูป อย่าเพิ่งคิดว่าว่าเรารู้หมดแล้ว หรือว่าเข้าใจหมดแล้ว เพียงแต่ว่าจะรู้ความต่างกันของนามธรรมกับรูปธรรม ค่อยๆ เข้าใจขึ้นในลักษณะของสภาพ ๒ อย่างซึ่งต่างกัน

    ผู้ฟัง เรื่องอกุศลที่ไม่ให้ผลในปฏิสนธิกาลเลย แต่ก็อาจจะให้ผลในปวัตติกาลได้ไม่ใช่อกุศลกรรมบถ ๑๐ มีไหม

    ท่านอาจารย์ คุณบุศวงสงสัยว่าอกุศลจิตซึ่งมีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วยเป็นตัวเจตนานั้นเป็นกรรม แล้วก็เมื่อเป็นอกุศลจิตแล้ว ระดับไหนที่จะให้ผล

    ผู้ฟัง ในปวัตติกาลได้ ไม่ให้ผลในปฏิสนธิกาล

    ท่านอาจารย์ ระดับไหนใช่ไหม

    ผู้ฟัง ระดับไหน

    ท่านอาจารย์ ต้องทราบระดับของอกุศลจิตว่าอกุศลจิตมี ๓ ระดับ อกุศลจิตเป็นอกุศลจิตแน่นอน เปลี่ยนสภาพของอกุศลจิตให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้ แต่อกุศลจิตนั้นยังไม่ได้เป็นอกุศลกรรมบถหนึ่งอกุศลกรรมบถใดเลย เช่นชอบรสหวาน เติมน้ำตาลในกาแฟเป็นอกุศลจิตหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็นอกุศลจิต

    ท่านอาจารย์ เป็นอกุศลกรรม หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ ไม่เป็นอกุศลกรรมบถ ถ้าพูดละเอียดถึงเจตนาเจตสิก และเป็นกรรมทั้งหมดเลย แต่เราจะไม่กล่าวถึงในแง่นั้น เราจะกล่าวถึงในแง่ของอกุศลกรรมบทว่าอกุศลจิตที่ไม่เป็นอกุศลกรรมบถได้ เช่นชีวิตประจำวันทุกอย่างที่ไม่ใช่ล่วงเป็นอกุศลกรรมบถทางกาย ทางวาจา ทางใจ ก็เป็นอกุศลจิต เวลาที่เป็นอกุศลกรรมบถ ก็แสดงไว้ว่าอกุศลกรรมบถทางกาย ๓ ทางวาจา ๔ ทางใจ ๓ แล้วเวลาที่เป็นอกุศลกรรมบถทางกายไม่ครบองค์ให้ผลเพราะว่าเป็นอกุศลกรรมบถ ไม่ใช่เพียงแต่โกรธเฉยๆ ไม่พอใจเฉยๆ ขุ่นใจเฉยๆ แต่มีการล่วงเป็นกายทุจริตมีเจตนาฆ่าแต่ว่าเขาไม่ตาย หรือว่าไม่ครบองค์อื่นก็ได้สำหรับศีลข้ออื่นๆ หรืออกุศลกรรมบถข้ออื่นๆ ก็หมายความว่ามีอกุศลเจตนาที่เป็นอกุศลกรรมบถแต่ว่าไม่ล่วงจนกระทั่งครบองค์ เพราะฉะนั้นกรรมนั้นได้กระทำแล้ว เมื่อได้กระทำแล้วก็ต้องให้ผล แต่ตราบใดที่ไม่ครบองค์ก็ไม่ให้ผลเป็นปฏิสนธิ แต่ว่าให้ผลในปวัตติกาลได้ เพราะฉะนั้นเราจะรู้ได้ว่าขึ้นอยู่กับเจตนาเจตสิก

    เรื่องของกรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด และก็ต้องฟังละเอียดด้วยว่าในบรรดาธรรมที่เป็นปรมัตถ สภาพธรรมใดเป็นกรรม เพราะว่าเราใช้คำนี้บ่อยๆ ใช่ไหม ผัสสะเจตสิก สัญญาเจตสิก เวทนาเจตสิกไม่ใช่กรรม แม้ว่าจะเกิดร่วมกันกับเจตนา เกิดร่วมกับจิต แต่ไม่ใช่ตัวกระทำ สำหรับสภาพธรรมที่เป็นตัวจงใจ ตั้งใจ ที่จะกระทำจริงๆ ได้แก่เจตนาเจตสิก เพราะฉะนั้นเจตนาเจตสิกถ้ากล่าวโดยเจาะจง เจตนาเจตสิกเป็นกรรม แต่ถ้ากล่าวรวมก็ใช้คำว่าจิตได้ เพราะเหตุว่าจิตก็ต้องเป็นใหญ่เป็นประธานอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นในเมื่อเจตนาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง จึงมีกรรม ๒ อย่างคือสหชาตกัมมปัจจัย ถ้าพูดอย่างนี้แล้วเราเข้าใจความหมายเราก็เข้าใจได้ทันที สหชาตกัมมปัจจัยคือเจตนาเจตสิกซึ่งเกิดพร้อมกับจิต และเจตสิกที่เกิดร่วมกันในขณะหนึ่งๆ นั่นเป็นสหชาตกัมมปัจจัย หมายความว่าเกิดร่วมกัน และก็ดับไป เหมือนกับเวลาที่เกิดโลภะขณะหนึ่ง โทสะขณะหนึ่ง หรือกุศลจิตขณะหนึ่ง ขณะนั้นตัวเจตนาเป็นสหชาตกัมมปัจจัย

    เพราะฉะนั้นถ้ากล่าวโดยลักษณะที่ว่าเจตนาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง โดยเป็นสหชาตกรรมปัจจัยแต่ไม่ใช่นานักขณิกกัมมปัจจัยทั้งหมด ต้องเป็นเฉพาะกุศลจิต หรืออกุศลจิตเท่านั้น นี่ตอนหนึ่ง แต่ว่าถ้ากล่าวถึงการให้ผลแล้วต้องถึงขั้นที่เป็นกรรมบถถ้าไม่ถึงขั้นเป็นกรรมบถก็หมายความว่าเป็นปัจจัยโดยอุปนิสสยปัจจัยเพราะเหตุว่าสะสมทำให้จิตประเภทนั้นเกิดบ่อยๆ เช่นเวลาที่โลภมูลจิตเกิดแล้วก็ดับไปก็สะสมสืบต่อที่จะทำให้มีโลภะประเภทนั้นเกิดอีกโดยอุปนิสสยปัจจัย คนที่ชอบหวานก็จะชอบหวานไปนานอาจจะตลอดชาติ พออาหารไม่หวานก็ไม่อร่อย ก็แสดงถึงอุปนิสสยปัจจัย คนที่ชอบเปรี้ยวพออาหารไม่เปรี้ยวก็ไม่ถูกใจอีกเหมือนกัน เพราะอุปนิสสยปัจจัย แต่ไม่ได้กระทำกรรมอะไร แม้ว่าเป็นอกุศลจิต เป็นชวนจิตเป็นชาติอกุศลก็ตาม แต่ก็ไม่ได้ผลอะไร

    ผู้ฟัง ผมเคยคิดว่ามีวิบากเป็นแต่เพียงอุปปนิสัย

    ท่านอาจารย์ แน่นอน จะวิบากอะไร เพียงแต่ชอบรับประทานของหวานๆ จะให้เกิดวิบากอะไรทางไหน กรรมอะไร สงเคราะห์เข้าในกรรมหนึ่งกรรมใดไม่ได้เลยสักอย่างเดียว เพราะฉะนั้นก็สะสมสืบต่อโดยเป็นอุปนิสสยปัจจัย แต่เมื่อไหร่ที่มีกำลังถึงกับล่วงทุจริตกรรม ถ้าครบองค์ก็ทำให้ปฏิสนธิได้ ถ้าไม่ครบองค์ก็ให้ผลในปวัตติกาลนี่คือความต่างกันของกำลังของกรรม มิฉะนั้นกรรมก็ไม่มีกำลังต่างกัน

    ผู้ฟัง ถ้าเช่นพระภิกษุที่ทำให้ขาดใบอะไรนะ

    ท่านอาจารย์ ตระไคร้น้ำขาด

    ผู้ฟัง เป็นอกุศลกรรมอะไรครับ

    ท่านอาจารย์ การแสดงธรรมโดยนัยของพระสูตรกับโดยนัยของพระอภิธรรมต้องเข้าใจว่าในพระสูตรหรือแม้แต่ในพระวินัยเองจะไม่กล่าวถึงสภาพของขณะจิตโดยละเอียดเลย จะไม่กล่าวถึงปัญจทวาราวัชชนจิตหรือจักขุวิญญาณจิต สัมปฏิจฉันนจิต สันติรนจิต ชวนจิตเลย เพราะฉะนั้นบางทีจะมีเหตุที่มีปัจจัยพร้อมที่จะให้สภาพธรรมนั้นเกิดขึ้นเป็นผลแต่ไม่ได้แสดง แสดงแต่เฉพาะจิตใกล้จะจุติว่าจิตที่ใกล้จะจุติในขณะนั้นเป็นอกุศลเพราะนึกถึงการกระทำซึ่งล่วงพระวินัยเป็นโทษสำหรับท่าน แต่จริงๆ แล้วพระวินัยบางอย่างก็ไม่ใช่อกุศลกรรมบถ ถูกไหม

    ผู้ฟัง ถูกครับ

    ท่านอาจารย์ แต่เวลาที่บุคคลนึกถึงบ่อยๆ แล้วก็โดยเฉพาะก่อนที่จะสิ้นชีวิตมีปัจจัยที่จะทำให้จิตเศร้าหมองโดยอะไรก็ได้ อาจจะเป็นโดยการคิดนึก หรืออะไรก็ได้แต่ว่าต้องมีกรรมที่สำเร็จที่จะทำให้ปฏิสนธิที่เป็นปฏิสนธิกาล ไม่ใช่ว่าโดยเพียงเท่านั้น

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นต้องมีอกุศลกรรมที่เป็นชนกกรรมอื่นอีก

    ท่านอาจารย์ แน่นอนที่สุดโดยนัยของพระสูตรจะไม่กล่าว แต่ถ้าโดยนัยของพระอภิธรรมจะค้านกับองค์ของกรรมบถถ้าเรากล่าวว่าไม่ครบองค์ก็ทำให้ปฏิสนธิได้ ซึ่งธรรมจะค้านกันไม่ได้เลย เพียงแต่ว่าเราจะดูว่านั่นเป็นส่วนของพระสูตร ส่วนของพระวินัย หรือว่าเป็นส่วนของพระอภิธรรม

    อ.นิภัทร เพราะฉะนั้นพระที่ท่านจับใบตระไคร้น้ำขาดไป ต้องอาบัติใช่ไหม

    ผู้ฟัง อาบัติครับ

    อ.นิภัทร ต้องอาบัติ แต่ว่าไม่ใช่อาบัตินั้นเป็นชนกกรรมที่จะให้ปฏิสนธิ ไม่ใช่เพราะกรรมนั้น ไม่ใช่เพราะอาบัตินั้น แต่เป็นเพราะว่าท่านเกิดความเศร้าหมองขึ้นมา ก่อนจะมรณภาพก่อนจะตายท่านเศร้าหมองว่าท่านต้องอาบัติแล้วท่านไม่ได้แสดงอาบัติเกิดเศร้าหมอง อกุศลกรรมอื่นที่มีกำลังเป็นชนกกรรมนำเกิดได้ แต่ไม่ใช่เพราะความเศร้าหมองนั้น ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่ครับ

    ท่านอาจารย์ ถ้าศึกษาในพระสูตรในพระวินัยวินัยหรือพระอภิธรรมต้องลงกันทั้งหมด มิฉะนั้นเราจะมาขัดว่าทำไมที่นี่กล่าวว่าต้องครบองค์ถึงจะเป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิดได้ใช่ไหม อันนี้ก็จะค้านกับพระอภิธรรม แต่อย่างไรก็ตามทั้งหมดต้องถือพระอภิธรรมเป็นใหญ่แล้วก็พิจารณาส่วนอื่นให้สอดคล้องกับพระอภิธรรม

    อ.นิภัทร มีบางท่านที่มาใหม่ไม่ค่อยได้ฟังคำว่าปฏิสนธิกาลกับปวัตติกาล อาจจะไม่ทราบว่าคืออะไร ปฏิสนธิกาลคือขณะปฏิสนธิชั่วขณะจิตเดียวที่ปฏิสนธิในภพใดภพหนึ่งเรียกว่าปฏิสนธิกาลขณะที่เกิดปฏิสนธิ หลังจากปฏิสนธิแล้วถือว่าเป็นปวัตติกาลทั้งนั้น ให้เข้าใจอย่างนี้กาล ๒ กาล

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นปฏิสนธิกาลได้แก่ขณะจิตขณะเดียว คือขณะแรกของชาตินี้เป็นปฏิสนธิกาล นอกจากนั้นแล้วแม้แต่ขณะต่อไปขณะที่ ๒ ก็เป็นปวัตติกาล

    ผู้ฟัง ในการที่มีสติรู้ รูปารมณ์ ก็ชื่อว่าเป็นกายานุปัสสนาสติปัฐาน ได้ไหม

    ท่านอาจารย์ โดยมากทุกคนที่พูดเรื่องสติปัฏฐานติดชื่อจริงๆ ติดชื่อมากเลยว่านี่เป็นอะไร นี่เป็นกายานุปัสสนา หรือธัมมานุปัสสนา หรือจะเป็นทั้ง ๒ อย่างได้ไหม แต่จริงๆ แล้วสภาพธรรมเป็นสิ่งที่กำลังปรากฏให้รู้ โดยที่ว่าขณะที่สติเกิด และกำลังระลึกลักษณะหนึ่งลักษณะใดตรงนั้นไม่มีชื่อ แต่เวลาที่ทรงแสดงพระธรรมเทศนาโดยโวหารเทศนา มีชื่อ เพราะว่าจำแนกออกเป็นหมวดๆ หรือว่าเป็นบรรพ ตามการยึดถือ เพราะว่าเราเคยยึดถือรูปร่างกายตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าว่าเป็นตัวเรา แล้วก็เป็นของเราด้วย เพราะฉะนั้นจึงมีการระลึกเพื่อที่จะรู้ความจริงว่าไม่มีส่วนหนึ่งส่วนใดที่เคยคิดว่าเป็นตัวเราเป็นเราได้เลยจริงๆ ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าอย่างโดยปฏิกูลมนสิการบรรพ ก็จำแนกออกไปเป็นส่วนๆ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ถ้าพิจารณาจริงๆ แล้วก็ไม่ใช่เรา

    เพราะฉะนั้นเวลาที่มีการระลึกที่กาย เราไม่ต้องใส่ชื่อเลย แต่เพราะเคยยึดถือเคยจำไว้ว่าเป็นกายของเรา จึงเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน แต่จะรู้อะไรก็ได้ที่กาย ไม่ต้องใส่ชื่อไปกำกับว่าต้องเป็นอย่างนี้ หรือต้องเป็นอย่างนั้น แต่ให้รู้ว่าถ้าระลึกที่กายก็เป็นกายานุปัสสนาสติปัฎฐาน เพราะว่าจริงๆ แล้วถ้าจะพิจารณาถึงส่วนอื่นในพระไตรปิฏกประกอบกันด้วยว่าทำไมจึงแยกกายเฉพาะส่วนนี้ออกเป็นกายานุปัสสนาสติปัฎฐาน เพราะว่าไม่ว่าใครจะอยู่ที่ไหนกายอยู่ที่นั่นด้วยหรือเปล่า กายนี่ไปไหนไปด้วยกัน นั่งอยู่ที่นี่ นอนอยู่ที่นั่น เดินอยู่ที่โน่น ก็เหมือนว่าทุกคนต้องพากายอันนี้ไปด้วยเพราะเหตุว่ามันเป็นกายของเรา เมื่ออยู่กันมาตั้งแต่เกิดก็เลยยึดถือแข็งที่ตรงนี้ว่าเป็นเรา แต่ความจริงลักษณะแท้จริงๆ ของแข็งไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็แข็ง เพราะฉะนั้นถ้าปัญญาสามารถที่จะรู้จริง ใช้คำว่ารู้จริงๆ ว่าแข็งเป็นรูปชนิดหนึ่ง แล้วก็เหมือนกันหมดไม่ว่าจะอยู่ภายในที่นี่ หรือจะอยู่ที่โน่น หรือจะอยู่ในขวดแก้ว หรือจะอยู่ที่ไหนก็ตาม ลักษณะที่แข็งก็คือแข็ง ถ้าประจักษ์แจ้งความจริงอย่างนี้ ก็จะทำให้ไม่ยึดถือกายตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าซึ่งเคยยึดถือมาตั้งแต่เกิดทุกชาติว่าเป็นเรา

    ข้อสำคัที่สุดคืออะไรก็ตามทั้งหมดที่เคยคิดเคยเข้าใจว่าเป็นเรา หรือว่าของเรา แท้ที่จริงแล้วต้องรู้ตามความจริงว่าเมื่อไม่ใช่ของเรา แล้วเป็นอะไร


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 11
    9 พ.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ