สนทนาธรรม ตอนที่ 065


    ตอนที่ ๖๕


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็ไม่ใช่ว่าเรานี่จะตายตัว แต่ว่า นี่ก็เป็นเพียงเครื่องเทียบเคียงให้เราพอที่จะเห็นได้ ว่าอารมณ์มี ๒ อย่าง คืออิฐฐารมณ์ อารมณ์ที่น่าติดข้องน่าต้องการ อย่างหนึ่ง และอนิฏฐารมณ์ อารมณ์ซึ่งไม่น่าติดข้อง ไม่น่าต้องการอีกอย่างหนึ่ง เพียงรู้คร่าวๆ เพราะว่าวันนี้ทั้งวัน เราก็มีทั้งอนิฏฐารมณ์ และอิฏฐารมณ์ตลอดมา แต่ว่าไม่ใช่ว่าเราสามารถที่จะไปรู้อย่างแน่ใจ เจาะจงได้ทุกกรณี ทุกเรื่องราว ว่านี่เป็นอิฐฐารมณ์ หรืออย่างนั่นเป็นอนิฏฐารมณ์ เราเพียงแต่รู้อย่างชัดๆ ที่ปรากฏ ที่เป็นสิ่งที่น่าพอใจมาก สำหรับทุกคน เราก็บอกว่า นี่เป็นอิจฐารมณ์ เช่น เห็นดอกไม้สวย หรือกลิ่นหอมพวกนี้ แต่รายละเอียดปลีกย่อยก็ต่างไปอีก

    อ.สมพร เรื่องอารมณ์ที่ชอบ เรียกว่า น่าปรารถนา คือ อิฏฐารมณ์ ถ้าไม่ชอบ ไม่น่าปรารถนา คือ อนิฏฐารมณ์ แต่ความจริง ก็มีมากกว่านี้ คือ บางครั้งรูปของพุทธเจ้า เป็นรูปที่พุทธมามกะเห็นแล้วส่วนมากก็เกิดศรัทธา แต่บางคนเห็นแล้วก็เกิดโลภะเพราะรูปที่สวย อย่านั้นก็เรียกว่าอิฐฐารมณ์โดยสภาวะ โดยปกติ ซึ่งก็มีอิฐฐารมณ์ อารมณ์ที่น่าปรารถนาโดยปริกัปป เช่นนกแร้ง เห็นพวกซาก ซากสัตว์ที่ตายแล้วเกิดชอบใจ อย่างนี้จะก็เป็นปริกัปปอิฏฐารมณ์ได้เหมือนกัน แต่ไม่ใช่โดยสภาวะ เรื่องอารมณ์นี้มีความวิจิตรพิสดารหลากหลายอยู่มาก บางครั้งท่านจึงกล่าวว่าเอาคนกลางๆ มาตัดสินว่าคนกลางๆ ส่วนมากกว่า เห็นว่าสิ่งนี้ น่าปรารถนาก็จัดเป็นอารมณ์ที่ดี เอาส่วนมากเป็นเกณฑ์ เพราะว่ามีแยกไปได้ เช่นสุนัข ได้กลิ่นที่ไม่ชอบใจ อย่างเราไม่ชอบใจ แต่สุนัขเขาชอบใจ อย่างนี้ท่านก็เรียกว่าปริกัปปอิฐฐารมณ์ โดยการคิดการนึก เพราะว่าสัตว์มันชอบอย่างนั้น ปริกัปป ก็มาจากประเภทวิตก ศัพท์เดียวกับวิตก นี้เราพูดกันสั้นๆ ว่าที่ชอบ ไม่ชอบ อิฐฐารมณ์ อนิฏฐารมณ์

    ผู้ฟัง ขอเรียนถามว่า ถ้าเราทำกรรมอะไรไว้ แล้วจะได้รับวิบากอย่างนั้นตรงอย่างนั้น หรือไม่ เช่นหักขาก้ามกุ้ง แล้วเราขาแขนก็ต้องหัก หรืออย่างไร หรือว่าจะตรงอย่างนี้ หรือว่าแล้วแต่ไม่ทราบแน่นอน

    อ.สมพร เราทำกรรมอย่างใด ก็ต้องให้ผล จะไปหักขาเขา เราก็ต้องถูกหักเหมือนกัน

    ผู้ฟัง ตรงอย่างนั้นเลยใช่ไหม

    อ.สมพร แต่ว่ากรรมนั้นว่าจะมีโอกาสให้ผลเมื่อใด หรือไม่มีโอกาสให้ผล ก็แล้วแต่ปัจจัย กรรมทุกอย่างจะให้ผลต้องประกอบด้วยปัจจัย ทั้งกรรมดี และกรรมชั่ว ทุกวันนี้ กรรมดี และกรรมชั่วที่ให้ผลได้ผลง่ายที่สุดก็คือทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ส่วนที่กรรมหนักๆ บางครั้งก็ไม่ค่อยให้ผล ให้ผลเล็กๆ น้อยๆ ทางกาย เพราะว่าทางกายให้ผลเป็นทุกข์ หรือเป็นสุข ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น นี่ให้ผลแล้วเราไม่รู้สึกตัวขนาดนั้นเลย เพราะว่าประกอบด้วยเวทนาที่เป็นกลางๆ เรียกว่า อุเบกขาเวทนา

    กรรมทุกอย่างทำแล้วต้องให้ผลแน่ ก็มีตัวอย่าง กัณหา ชาลีที่ตีชูชก เมื่อชูชกเป็นวัว กัณหา ชาลี เกิดเป็นชาวนา หลังจากนั้นมา กัณหา ชาลี ก็ถูกชูชกตี ก็ไม่รู้กี่ชาติจนชาติสุดท้ายเป็นกัณหา ชาลี ก็เพราะไปตีเขาก่อน กรรมนั้นได้โอกาสเมื่อใดก็ให้ผลเมื่อนั้น เพราะถูกตีมาตั้ง ๕๐ กว่าชาติ แต่ว่าชื่อก่อนไม่ได้ชื่อกัณหา ชาลี กัณหาชาลีเป็นชาติสุดท้ายแล้ว ถูกตี

    ผู้ฟัง อย่างนี้ดิฉันน่าจะลำบากเพราะตอนเด็กอยู่ใกล้ริมน้ำแล้วชอบตกกุ้ง ก็ใช้เหยื่อก็เด็ดไส้เดือนมา แล้วก็เกี่ยวที่เบ็ด ก็คงลำบาก พอได้กุ้งมาแล้วก็หักขากุ้งอีก

    อ.สมพร อย่าวิตกเลย เพราะว่าเรื่องกรรมเราไม่ได้ทำแต่กรรมชั่ว เราก็พยายามสร้างทำแต่กรรมดีให้ประณีตขึ้นๆ เมื่อกรรมดีได้โอกาสให้ผลติดต่อกันไป กรรมชั่วก็ไม่ได้โอกาส

    คุณสุรีย์ สมมติว่าเราสวด ความจริงเราก็ไม่รู้ แต่ว่าเรารู้สึกว่า มีจิตปิติ คือไม่มีอารมณ์โกรธ รู้สึกว่าการทำอย่างนี้เป็นมงคล ถามอาจารย์สุจินต์ ว่า ...

    ท่านอาจารย์ มงคลอยากได้หรือไม่

    คุณสุรีย์ ไม่อยากได้ แต่เป็นมงคลกับตัวเรา

    ท่านอาจารย์ มงคลต่อตัวเรานี่ไม่อยากได้หรือ

    คุณสุรีย์ อย่างนี้เป็นญาณวิปยุตต์ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ยังค่ะ ถามว่า มงคลต่อตัวเรานั้นไม่ได้อยากได้หรือ

    คุณสุรีย์ ไม่รู้

    ท่านอาจารย์ ที่เขาสวดอย่างอื่น เขาก็ต้องการสำหรับตัวเขาทั้งนั้น

    คุณสุรีย์ ใจเราไม่มีโลภะไม่มีโทสะ แต่ไม่ทราบว่ามีโมหะหรือไม่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจึงต้องพิจารณาโดยละเอียดเพื่อเราจะได้เป็นกุศลขึ้น ถ้าเราไม่พิจารณาโดยละเอียด แล้วเราก็ไปเข้าใจว่า อกุศลเป็นกุศล เพราะฉะนั้นทุกอย่างไม่ใช่อยู่ที่คำตอบ แต่อยู่ที่สภาพของจิต ซึ่งเราเป็นผู้รู้ตรงตามความเป็นจริงว่าจิตเป็นอย่างไร

    คุณสุรีย์ แต่เรารู้สึกจิตของเราว่าปิติ

    ท่านอาจารย์ ยังไม่พูดถึงจิตแต่พูดถึงการสวดทั่วๆ ไปไม่ใช่ว่า การสวดทุกครั้งจะต้องเป็นกุศล

    คุณสุรีย์ ใช่

    ท่านอาจารย์ เป็นอกุศลก็ได้

    คุณสุรีย์ ใช่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นทุกคนต้องเป็นผู้ตรง เพราะว่าใครก็ตามที่สวดโดยไม่ใช่การระลึกถึงพระพุทธคุณ ไม่ใช่ด้วยการนอบน้อมต่อพระรัตนตรัย แต่ว่าสวดเพื่อต้องการอะไรสำหรับตัวเอง เพื่อผลข้างหน้าจะเกิดขึ้น ถ้าสวดไปได้ร้อยครั้งพันครั้งอย่างนั้นไม่ใช่เป็นการที่จิตเป็นกุศล เพราะฉะนั้น สภาพของกุศลจิต ต้องต่างกับอกุศลจิต สิ่งนี้ต้องเข้าใจ มิฉะนั้นแล้วจะเข้าใจว่าอกุศลเป็นกุศล ขณะใดที่ติดข้องต้องการ ไม่ว่าจะทำอะไรทั้งนั้นไม่ใช่กุศล ขณะที่ติดข้องต้องการแล้วสวดคำที่ไม่รู้ความหมายขณะนั้น ก็ไม่ใช่กุศลเหมือนกัน เพราะฉะนั้นสำหรับชาวพุทธ เป็นผู้ที่ได้รับการสั่งสอนมาตั้งแต่เล็กแต่น้อยว่าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้ที่ไม่มีกิเลสเลย เป็นผู้ที่ทรงพระปัญญาที่ทุกคนก็กราบไหว้ในพระปัญญาคุณ เพราะฉะนั้นเราก็ได้รับคำสอนตั้งแต่เด็กจะให้บูชาพระรัตนตรัย ให้ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า แล้วบางคนที่ยังไม่รู้จักคุณของพระพุทธเจ้า อย่างน้อยที่สุดเขาก็กราบหมอน ๓ ครั้ง กล่าวนโม ตัสสะ ภะคะวะโต นี้ทุกคนก็เข้าใจว่าเป็นคำที่แสดงความนอบน้อมต่อพระรัตนตรัย โดยที่ว่ายังไม่รู้คำแปล เพราะเหตุว่าไม่ได้เรียนบาลี และคนนั้นก็อาจจะยังไม่ได้รับคำสอนว่า นะโม แปลว่าอะไร ตัสสะ แปลว่าอะไร แต่จิตนอบน้อมมีแล้วเป็นกุศลแล้ว เพราะฉะนั้นขณะนั้นให้ทราบว่าขณะนั้น เป็นกุศลขั้นศีล เพราะว่าเป็นการแสดงความนอบน้อมต่อพระรัตนตรัย เป็นสิ่งที่เรากระทำทางกาย ทางวาจา ตั้งแต่เด็ก ยังไม่เข้าถึงการภาวนา เพราะเหตุว่ายังไม่เข้าใจในความหมาย เพราะฉะนั้น จิตขณะนั้น ไม่ใช่ว่า จะระลึกถึงคุณของพระธรรมจนกระทั่งสงบด้วยปัญญา เพราะฉะนั้นก็เป็นแต่เพียงกิริยาอาการที่เกิดจากจิตที่นอบน้อมด้วยการกระทำการบูชาจึงเป็นขั้นศีล เพราะว่าเป็นการกระทำด้วยกาย ด้วยวาจา ต่อเมื่อไหร่ขณะที่เราฟังธรรมแล้วมีความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้นว่านี่คือคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีความซาบซึ้งในพระปัญญาเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นขณะใดที่จิตของเราสงบ อาจจะด้วยการระลึกถึงคุณของพระผู้มีพระภาค จะโดยพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ พระมหากรุณาคุณ ก็ตาม ขณะนั้นจิตสงบ และขณะใดที่สงบจากอกุศล ขณะนั้นไม่ได้แสดงกิริยาอาการที่นอบน้อมด้วยกาย ด้วยวาจา แต่ว่าเป็นความสงบของจิตใจ ขณะนั้นก็จะเป็นขั้นภาวนาที่เป็นสมถ เพราะฉะนั้นสมถะจึงมีอนุสติที่เป็นธรรมมานุสติด้วย ระลึกถึงคุณของพระธรรม ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า พุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ

    และหากจะเป็นการเจริญกุศลที่สูงกว่านั้นก็ด้วยปัญญาที่สามารถที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นก็ต้องต่างกันไป แม้แต่ผู้ที่กำลังไหว้พระสวดมนต์ด้วยกัน คนที่กราบพระ แล้วสติระลึกลักษณะของสภาพธรรม รู้ว่าเป็นแต่เพียงนามธรรม และรูปธรรม ไม่ใช่ตัวตน แม้แต่กิริยาอาการเป็นการแสดงการนอบน้อม แต่ขณะนั้นก็เป็นสติปัฏฐานได้ เพราะฉะนั้นก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลค่ะ ไม่ตายตัว

    ผู้ฟัง ถ้าหลังจากสวดมนต์แล้วเราอธิษฐานว่าขอให้บุญกุศลที่สวดมนต์นี้เกิด ปัญญา คือแทงทะลุธรรม ขอให้สำเร็จเป็นพระโสดาบันด้วยบุญกุศลอย่างนี้จะเป็นกิเลสหรือไม่

    ท่านอาจารย์ เรารู้ใช่ไหม ว่าเราพูดอย่างนี้ แต่ไม่ถึง

    ผู้ฟัง ก็ไม่ทราบ เป็นการสะสมกุศล เพราะฉะนั้น เราก็ไม่ต้องสะสม อย่างเวลา ทำบุญก็ชอบอธิษฐานแบบนี้ เพราะว่าเป็นการสะสมกุศล ให้เราได้มีเจตนาตรง คือเราไม่ได้เฉ เพราะการที่เราให้หมดกิเลส ก็ไม่ควรจะเป็นการสะสมกิเลส

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่า เราต้องมีความเข้าใจ เราไม่ถึงด้วยการพูด แต่ความตั้งใจมั่นนี้จะเป็นปัจจัยที่จะทำให้เราเนี่ยได้มีโอกาสฟังธรรม ได้พิจารณาธรรมที่ถูกต้อง ได้เข้าใจหนทางปฏิบัติที่ถูกต้อง ได้อบรมเจริญปัญญา

    ผู้ฟัง แต่ควรจะทำอย่างนี้ต่อไปใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้ว ถ้าเรามีความมั่นคงจริงๆ ไม่ต้องพูด ก็ได้ใช่ไหม ตอนที่เรายังไม่มีหนทางเลย เราก็แสวงหาทาง ขอให้กุศลนี้เป็นทางเป็นปัจจัยที่จะทำให้เราได้มีโอกาสได้ฟังพระธรรม ได้พิจารณาพระธรรม ได้เข้าใจพระธรรม แต่ถ้าเรามีโอกาสแล้ว มีการฟังแล้ว มีการพิจารณาแล้ว มีความมั่นคงในธรรม ไม่มีใครที่จะเปลี่ยนแปลงเราไปทางอื่นได้ ใช่ไหม เพราะว่าเรามีความมั่นคงแล้ว ถึงเราไม่พูด ขณะที่สติระลึกขณะที่กำลังฟังธรรมนี่แสดงความมั่นคงกว่าพูดไปแล้วไม่มาฟังเลย ตอนกลางคืนก็อธิษฐานแต่ถึงเวลาจะได้ฟัง ไม่มาฟัง อย่างนี้ก็ไม่ได้ใช่ไหม

    ผู้ฟัง แต่การอธิษฐานด้วยการพูดก็เป็นการช่วยให้จิตกับคำพูดเราไปในทางเดียวกันไม่ใช่หรือ

    ท่านอาจารย์ หมายความว่าขณะนั้น เราต้องการให้จิตของเรามีความมั่นคง แต่ว่าเรามั่นคง หรือยัง แต่ถ้าเรามั่นคง และเราต้องพูดหรือไม่

    ผู้ฟัง สรุปแล้วสวดมนต์เสร็จ ก็ไม่ต้องพูดอะไร

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ต้อง หรือไม่ต้อง คือไม่ใช่มีใครที่จะบอกเรา แต่ว่าเป็นสภาพจิตของเราเองที่เรารู้ตัวเราว่า เรามีความมั่นคงในพระรัตนตรัยพอหรือยัง หรือว่ายังต้องการที่จะต้องมั่นคงด้วยการที่แสดงความมั่นคง แต่ว่าแสดงความมั่นคง แล้วเรามั่นคงตามที่แสดงหรือไม่ นี่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง คือปากอย่างหนึ่ง แล้วก็การกระทำอีกอย่างหนึ่งได้ บางคนก็พูดพูดไป ขอถึงพระนิพพาน แต่ไม่ฟังธรรมเลย

    ผู้ฟัง อารมณ์ก็เป็นโลกเหมือนกัน เพื่อจะให้เข้ามาในอารมณ์ หรือในโลกของพระอริยต่อไป โลกทางตา โลกทางหู โลกทางจมูก โลกทางลิ้น โลกทางกาย โลกทางใจ ที่ว่าโลก ๖ ที่อยู่ใกล้ ก็คืออยู่ที่ตัวเรานี่เอง

    ท่านอาจารย์ เรียนถามอาจารย์สมพร คำว่า โล กะ คำเดียว

    อ.สมพร โล กะ คำเดียว แปลว่าแตกสลาย ถ้าแปลตามนัยโลก ๓ แปลว่า เป็นที่ดูบุญ และบาปของสัตว์

    ผู้ฟัง แปลว่าแตกสลาย หรือแปลว่าดูก็ได้ แปลว่ามองดูอย่างนี้หรือ

    อ.สมพร ก็เหมือนว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นอารมณ์ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้นทางกายนี้ เป็นโลกในวินัยของพระอริย นี้เป็นโลกอีกชนิดหนึ่ง คือคำว่าโลกกว้างขวาง ถ้าจะเอานัยเดียว คือธรรมชาติที่แตกสลายชื่อว่าโลก

    ผู้ฟัง นัยของสังขารโลก เพื่อเข้าประเด็นที่ศึกษาเรื่องจิต

    อ.สมพร สังขารโลก ทุกวันนี้ก็มีปรากฏอยู่เสมอๆ เกี่ยวกับทางตา ทางหูทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งเป็นโลกที่พุทธเจ้าทรงบัญญัติ เพื่อจะให้สัตว์นั้นเห็นตามความเป็นจริงว่าของจริงเช่นสังขาร สภาพที่ปรุงแต่ง ทางตา ทางหู ทางจมูก ก็สิ่งที่เป็นอารมณ์ แม้แต่ "ตา" ก็เป็นสังขารโลก สภาพที่ปรุงแต่งทั้งหมดเรียกว่าสังขาร หรือ สัง ขา ระ

    ท่านอาจารย์ ที่ว่า โลก ถ้าเพียงแต่รับฟังเฉยๆ ก็ฟังไปนะคะ แต่ถ้ามีสิ่งที่จะให้คิด เราอาจจะไตร่ตรองแล้วก็เข้าใจยิ่งขึ้น ก็ขอถามว่า โลกอยู่ที่ไหน ถ้าคิดแล้วสนุก และเป็นความจริงด้วย ทุกคำถามมีคำตอบ แล้วก็เป็นเรื่องจริงพิสูจน์ได้ เมื่อกี้อาจารย์ก็ได้บอกแล้วว่า โลกคืออะไร โล กะ หรือโลก หมายความถึง สิ่งที่แตกดับ แสดงให้เห็นว่าขณะนี้ ความรู้ของเราเนี่ยยังไม่เข้าใจเรื่องโลก เพราะว่าไม่เห็นมีอะไรแตกดับเลย เห็นก็เห็นอย่างนี้ ตัวเราก็ยังนั่งอยู่ที่นี่ แล้วก็อาจจะคิดเรื่องนี้ ทำเรื่องนั้น ยังไม่มีอาการปรากฏความแตกดับเลย แต่คำว่าโลก หรือ โล กะ นี้ เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงใช้คำนี้หมายความถึงสภาพธรรมที่แตกดับ เราเคยคิดบ้างหรือไม่ว่าโลกแตกดับ จริงหรือไม่ เพราะฉะนั้นก่อนที่จะถึงโลกแตกดับจริงหรือไม่นี้ ก็ต้องรู้ว่าเมื่อรู้ว่าโลกคืออะไร โลกอยู่ที่ไหน ถ้าไม่รู้จัก วันนี้เราก็พูดแต่เรื่องโลกไปไกลมาก แล้วเราก็ยังไม่รู้เลยว่าโลกนี้อยู่ที่ไหนที่ว่าแตกดับ เพราะฉะนั้นถ้าเข้าใจความหมายว่า โลกหมายความถึงสภาพที่แตกดับแล้วเราจะต้องเข้าใจจริงๆ คำนี้ไม่ผิดแน่ เพราะเหตุว่าเป็นพระธรรมที่ทรงแสดง ไม่ว่าส่วนไหนๆ ในพระไตรปิฎก โลกเป็นสภาพธรรมที่แตกดับทั้งนั้น ทั้งนั้นหมายความว่าทั้งหมดที่เป็นโลก และเราไม่เคยคิดว่าโลกแตกดับ แต่วันนี้เดี๋ยวนี้ เพื่อที่เราจะเข้าใจคำนี้ให้ชัดเจนทุกคำที่ได้ฟัง ขอให้เป็นเรื่องความเข้าใจ ไม่ใช่เรื่องท่อง ไม่ใช่เรื่องตำรา แต่เป็นเรื่องของจริง เป็นสภาพธรรมที่พิสูจน์ได้ เข้าใจได้ แต่ผลของการฟังคือต้องเป็นปัญญาของผู้ฟังด้วย มิฉะนั้นแล้วทุกคนมาฟังแล้วกลับไปจะไม่ได้อะไรไปเลย เพราะเหตุว่า ไม่ใช่ปัญญาของตัวเอง แต่ถ้าฟังแล้วเข้าใจ สิ่งนั้นเป็นสิ่งซึ่งได้รับประโยชน์จากการฟัง ซึ่งต้องคิดด้วย เพราะฉะนั้นก็ขอให้ตอบว่าโลกอยู่ที่ไหน

    คุณสุรีย์ คือทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบตัวเรา

    ท่านอาจารย์ คำถามว่า โลกอยู่ที่ไหน

    คุณสุรีย์ อยู่รอบตัวเรา

    ท่านอาจารย์ อยู่รอบตัวเรา อะไรบ้าง ขอให้ยกตัวอย่าง

    คุณสุรีย์ ทุกอย่างที่อยู่รอบตัวเราเป็นโลกทั้งสิ้น

    ท่านอาจารย์ คำว่าทุกอย่างนี้กว้าง ขอเฉพาะเป็นอย่างๆ ว่าอะไรบ้าง

    คุณสุรีย์ ก็อยู่ที่รอบตัวเรานี้ จะเป็นสัตว์เป็นบุคคลเป็นสิ่งของ

    ผู้ฟัง โลกก็คือ สิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    คุณสุรีย์ นั่นก็คือสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา เพราะว่าคำว่ารอบตัวเรานั่นคือ สิ่งที่ปรากฏทางทวารทั้ง ๖

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าจริงๆ แล้ว ถ้าไม่เห็น โลกนี้จะมีหรือไม่ ที่เราเรียกว่าโลก ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา เสียง กลิ่น รส สิ่งที่กระทบสัมผัสก็ไม่มี แต่ที่เราเรียกว่าโลกแยกออกได้เป็น ๒ อย่าง คือโลกที่เป็นโอกาสโลก โอกาสโลกก็เหมือนโลกในภูมิศาสตร์ที่เราเข้าใจกัน เป็นโลก ดาว จักรวาลกี่ดวง มีต้นไม้ มีภูเขา มีหิน มีอะไรที่เรารู้จัก นั่นเป็นโอกาสโลก แต่ถ้าไม่มีใครเห็น ไม่มีใครสัมผัสจะรู้ได้มั้ยว่าสิ่งนั้นมี เพราะฉะนั้นที่มีโลกเกิดขึ้นปรากฏให้รู้ได้ก็เพราะเหตุว่ามีจิต ซึ่งเป็นสภาพรู้ หรือเราจะใช้คำว่านามธรรมก็ได้ ถ้าไม่มีจิตเกิดขึ้น อะไรๆ ก็ไม่ปรากฏ ที่เราจะรู้ว่าเป็นคนนั้นคนนี้ สิ่งนั้น สีนี้ ก็ตามหมายความว่า เป็นสิ่งที่จิตเป็นสภาพรู้ สิ่งที่กำลังปรากฏให้รู้ ทางตา คือสีสันวรรณะต่างๆ ทางหู คือเสียงต่างๆ ทางจมูก ก็คือกลิ่นต่างๆ ทางลิ้น ก็คือรสต่างๆ ทางกายก็คือกระทบสัมผัส ทางใจก็คิดนึกเรื่องโลกทั้งหมดนี้เอง นี่คือชีวิตประจำวัน ไม่ใช่เฉพาะวันนี้วันเดียว กี่วันมาแล้ว กี่ปีมาแล้ว กี่ชาติมาแล้ว ในแสนโกฏิกัปป์ ก็คือสิ่งที่ปรากฏทางตาเพราะมีจิตเห็น มีจิตได้ยิน มีจิตได้กลิ่น มีจิตลิ้มรส มีจิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส มีจิตที่คิดนึก เพราะฉะนั้นถ้าแยกโลกออกเป็นธรรมชาติ ๒ อย่าง จะใช้คำว่านามธรรมกับรูปธรรมก็ได้ เพราะเหตุว่าพระไตรปิฏกทั้งหมด หรือว่าสภาพทั้งหมดไม่ว่าจะกี่โลกกี่จักรวาล ก็จะพ้นจากสภาพธรรม ๒ อย่างนี้ไม่ได้เลย ซึ่งจะต้องแยกออกจากกันโดยเด็ดขาด คือสภาพที่เป็นรูปธรรม กับสภาพที่เป็นนามธรรม

    รูปธรรมหมายความถึง สภาพที่ไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น เกิดขึ้นจริง แต่ไม่สามารถที่จะรู้อะไรได้ เช่น แข็ง แข็งไม่สามารถที่จะรู้ว่ามีคนในห้องนี้ หรือว่ามีแสงสว่าง แข็งเป็นแต่เพียงสภาพที่เกิดมาแล้วก็มีลักษณะแข็ง แข็งมีจริงๆ ไม่ใช่ไม่มี เป็นโลกด้วยหมายความว่า เกิดขึ้น และดับด้วย แต่นี่ต้องเป็นปัญญาที่ประจักษ์แจ้งสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับในขณะนี้จึงจะรู้ได้ว่าที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่าโลก หรือโล กะ นั้นเป็นความจริง แต่ถ้าปัญญายังไม่ถึงระดับนั้น เราก็รู้จักเพียงแข็งที่กำลังกระทบที่กำลังปรากฏ แต่ไม่เห็นเกิดดับ แต่ลองคิดว่าถ้าแข็งไม่เกิด แข็งจะปรากฏให้กระทบได้ไหม นี่แสดงแล้วว่า เราข้าม เราไม่ได้พิจารณา เราก็เลยไม่รู้ว่า แท้ที่จริงสิ่งใดก็ตามที่กำลังปรากฏในขณะนี้ สิ่งนั้นต้องเกิดขึ้นจึงได้ปรากฏ ถ้าสิ่งนั้นไม่เกิดก็จะไม่ปรากฏเลย สิ่งใดก็ตามที่ยังไม่เกิดสิ่งนั้นปรากฏไม่ได้ เพราะเหตุว่ายังไม่เกิด แต่สิ่งใดที่เกิดแล้วปรากฏ หรือว่าสิ่งใดที่ปรากฎหมายความว่าสิ่งนั้นเกิดแล้วจึงปรากฏ ซึ่งสภาพธรรมที่เกิดปรากฏ มี ๒ อย่างคือ สภาพที่ไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น เป็นรูปธรรม ส่วนสภาพรู้ ลักษณะรู้ หรืออาการรู้ เป็นนามธรรม แค่ ๒ คำนี้ ถ้าเป็นผู้ที่ได้ฟังธรรมในอดีตมามาก ย้อนคิดถึงเมื่อ ๒๕๐๐ กว่าปี แล้วก็ในสมัยนั้นที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้พระธรรม ทรงแสดงพระธรรมสั้นๆ แต่คนที่ได้ฟังพระธรรมในอดีตมาแล้ว ในเรื่องของสภาพธรรมคือนามธรรม และรูปธรรม สามารถที่จะรู้ได้เข้าใจได้ทันที ถึงความต่างกันของนามธรรม และรูปธรรมในขณะนี้ ไม่ต้องทรงแสดงพระธรรมถึง ๔๕ พรรษา หรือว่าไม่ต้องทรงแสดงพระธรรมอย่างยาวโดยละเอียด แต่ว่าท่านเหล่านั้น เพียงฟังสามารถที่จะเข้าใจได้ เพราะฉะนั้นถ้าวันนี้ เราสามารถที่จะเข้าใจความต่างกันของนามธรรม และรูปธรรม เราก็เริ่มที่จะเหมือนกับบุคคลซึ่งได้อบรมเจริญจนกระทั่งเมื่อฟังแล้วเข้าใจ แล้วการเข้าใจมีหลายระดับมาก ฟังเข้าใจ แต่สติสัมปชัญญะไม่เกิดที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังฟังเข้าใจ นี่ก็แสดงให้เห็นว่ามีปัญญาหลายระดับเหลือเกิน ไม่ใช่เข้าใจเท่านั้น แต่เข้าใจแล้วก็ยังมีปัจจัยที่สติจะระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรม


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 11
    1 มี.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ