สนทนาธรรม ตอนที่ 116


    ตอนที่ ๑๑๖


    ผู้ฟัง ที่ไม่สงสัยก็อาจจะเป็นเพราะว่า ไม่รู้ ก็ยังอยากจะได้ฟังที่ขยายความออกไปอีกค่ะ

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าจริงๆ แล้วที่สำคัญที่สุดอย่าลืมว่าจิต รูปไม่เดือดร้อนอะไรกับใครเลย ทุกคนขณะนี้ค่ะมีจิต ถ้าได้รู้เรื่องของจิตเพิ่มขึ้น ก็จะทำให้เห็นความไม่ใช่ตัวตนแล้วจะได้รู้ว่าจิตมีทั้งหมดเท่าไหร่ และในวันหนึ่งๆ ที่เป็นปกติธรรมดาถึงแม้ว่าจิตทรงแสดงไว้โดยละเอียดมากโดยกว้างขวางตลอดกี่จักรวาลกี่ภพกี่ชาติในอดีต และอนาคตข้างหน้า แต่ถ้าแสดงโดยประเภทใหญ่ๆ ก็แสดงจำนวนเอาไว้แต่ว่าความละเอียดแตกต่างกันก็มีมากกว่านั้น

    สำหรับเรื่องจิตก็เป็นสภาพที่พอจะรู้เลาๆ ว่ามีแน่นอน แล้วก็เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ ซึ่งขณะนี้กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังรู้สิ่งที่ถูกต้องทางกาย และก็กำลังคิดนึก นี่คือจิตในวันหนึ่งๆ ซึ่งจะต้องต่างกันไปตามเจตสิกคือสภาพธรรมอีกชนิดหนึ่งซึ่งเกิดกับจิตรู้อารมณ์เดียวกับจิต ดับพร้อมจิต และจิตกับเจตสิกนี้แม้ว่าจะรู้อารมณ์เดียวกันเกิดพร้อมกันดับพร้อมกันเกิดที่รูปเดียวกันก็จริง แต่ก็เป็นสภาพที่ต่างชนิดกัน โดยที่ว่าจิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ที่กำลังปรากฏ เช่นในขณะนี้ที่กำลังเห็น ทุกคนรู้เลยเห็นมีแน่ๆ กำลังเห็นอยู่ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีเจตสิกเกิดกับจิต ถูกไหมคะ แต่ว่าจิตมี ถ้ากล่าวว่าขณะนี้เห็นมีไหม เห็นมี และที่เห็นก็เป็นสภาพรู้คือเป็นจิต แต่ว่าเมื่อทรงแสดงว่ามีเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะเหตุว่าสภาพธรรมใดๆ ก็ตามซึ่งจะเกิดขึ้น โดยลำพัง โดยที่ไม่มีสภาพธรรมอื่นเกิดร่วมด้วยไม่ได้ เพราะฉะนั้นแม้ว่าจิตจะเป็นนามธรรม ก็ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย เจตสิกเช่นความรู้สึก ทุกคนกำลังมีเฉยๆ ถ้าถามว่ารู้สึกยังไง สบายไหมคะ ดีใจไหมคะ เสียใจไหมคะ เป็นทุกข์ หรือเปล่า เจ็บตรงไหนเป็นสุข หรือเปล่า นั่นคือความรู้สึก ซึ่งไม่ใช่จิตแต่เป็นเจตสิกความจริงแล้วเจตสิกนี้เกิดกับจิตทุกขณะเพราะขณะใดที่มีการรู้อารมณ์ ต้องมีเจตสิกชนิดนี้เกิดร่วมด้วยทุกครั้งไป

    แต่ว่าในขณะนี้เอง ที่กำลังเห็น ทุกคนรู้ว่ากำลังเห็นแสดงให้เห็นว่าสามารถที่จะเข้าใจถูกในลักษณะของจิตซึ่งเป็นสภาพที่เห็น โดยยังไม่รู้ว่ามีเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นจิตจึงเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ ที่กำลังปรากฏ ทางหูที่กำลังได้ยินก็เช่นเดียวกันนัยเดียวกันมีเจตสิกเกิดกับจิตที่กำลังได้ยินเสียงแต่เจตสิกที่เกิดกับจิตที่ได้ยินเสียงก็ไม่ปรากฏ ไม่มีใครรู้ลักษณะของผัสสะเจตสิก หรือแม้เวทนาเจตสิกคือความรู้สึก แต่สิ่งที่มีจริงๆ ที่ทุกคนสามารถที่จะพอเข้าใจได้ในขั้นต้น ก็คือการได้ยินมี เพราะว่าขณะนี้กำลังได้ยินเสียงมีเสียงปรากฏกับสภาพที่ได้ยิน

    แสดงให้เห็นว่า เมื่อจิตเป็นใหญ่เป็นประธาน เพราะว่าจิตตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่เคยขาดเลย แต่เจตสิกบางประเภท ก็เกิดกับจิตชนิดหนึ่ง บางประเภทก็เกิดกับจิตอีกชนิดหนึ่ง บางขณะไม่มีเจตสิกชนิดนั้น บางขณะไม่มีเจตสิกชนิดนี้ แต่จิตต้องมีตลอดเวลา เพราะฉะนั้นจิตจึงเป็นใหญ่เป็นประธานตั้งแต่เกิดจนตาย เราจึงจะต้องศึกษาเรื่องของจิตก่อน ซึ่งในการที่จะศึกษาเรื่องของจิต เราจะแบ่ง โดยชาติ หรือ ชา ติ คือการเกิดขึ้นของจิต ว่าจำแนกออกเป็น ๔ ชาติ คือเป็นกุศลชาติหนึ่ง เป็นอกุศลชาติหนึ่ง เป็นวิบากชาติหนึ่ง เป็นกิริยาชาติหนึ่ง ภาษาบาลีก็คล้ายๆ ภาษาไทยคือไม่ต่างกันมากเลย พูดเรื่องชาติ ทุกคนก็รู้ว่าชาติ แม้ว่าจะรู้มากรู้น้อยก็ยังได้ยินคำว่าชาติ ชาติจีน ชาติไทย แต่ว่าชาติของจิต ไม่ใช่ไทย จีนสากลทั่วไป ไม่จำกัดเลย เกิดขึ้น ถ้าเป็นอกุศลก็ต้องเป็นอกุศลซึ่งเปลี่ยนไม่ได้ จะเกิดกับนก จะเกิดกับคน จะเกิดกับพระเจ้าแผ่นดินหรือจะเกิดกับเด็กเล็กหญิงชายต่างๆ อกุศลก็เป็นอกุศล ซึ่งเปลี่ยนไม่ได้เพราะเหตุว่าเกิดแล้วดับทันที สภาพธรรมของจิตซึ่งเกิดขึ้นเป็นชาติหนึ่ง ชาติใด ก็ชาตินั้น คือกุศลเกิดขึ้นเป็นกุศลแล้วก็ดับ อกุศลเกิดขึ้นเป็นอกุศล แล้วก็ดับ นี่เป็นเหตุกุศลกับอกุศลเป็นเหตุ แต่อีก ๒ ชาติ ซึ่งไม่ชินหูหรืออาจจะเข้าใจผิด ก็คือ วิบาก หรือกิริยา ซึ่งถ้าพูดตามภาษาบาลี ต้องเป็นวิปากะ ไม่ใช่วิบากในภาษาไทยหมายความถึง จิตที่เป็นผล แสดงให้เห็นว่า ในชีวิตของเรามีจิตครบทั้ง ๔ ชาติ จิตที่เป็นกุศลก็มีจิตที่เป็นอกุศลก็มี จิตที่เป็นวิบากคือผลของกุศล และอกุศลก็มี จิตที่เป็นกิริยาคือไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศลไม่ใช่วิบากก็มี ก็เป็นเรื่องธรรมดาๆ ซึ่งเป็นขั้นต้นเริ่มต้น ซึ่งทุกคนก่อนที่จะศึกษาเรื่องของจิตประเภทต่างๆ ต้องรู้พื้นฐานก่อนว่า โดยส่วนใหญ่แล้วจิตจำแนกออกเป็น ๔ ชาติ

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นคิดว่าคนที่เรียนใหม่ๆ อยากจะขอให้เข้าใจว่าจิตเขารู้ที่ไหนตรงนั้นคือจิตอยู่ที่นั่น รู้ที่ตาคือจิตเห็น รู้ที่หูคือจิตได้ยิน รู้ที่จมูกคือจิตได้กลิ่น รู้ที่ลิ้นคือจิตลิ้มรส รู้ที่ใจคือจิตคิดนึก กว่าจะรู้ได้เกือบ ๖ เดือนหรือเกือบปีกว่า ที่จะเข้าใจ เพราะฉะนั้นถ้าเผื่อเริ่มเรียน โปรดอย่าหลงทางแบบดิฉันว่าจิตไม่ใช่อยู่ที่หัวใจที่เหมือนเท่ากับกำปั้นเราแล้วเต้นตุ๊บๆ รู้ที่ไหนจิตอยู่ที่นั่น เอาแค่นี้ก่อน อันนี้คือความหลงทางของดิฉัน ก็อยากจะให้เพื่อนธรรมอย่าหลงแบบดิฉันด้วย

    ท่านอาจารย์ ที่คุณสุรีย์พูดก็ทำให้เห็นความวิจิตรต่างๆ ที่แสดงให้เห็นว่าเราไม่รู้เรื่องของจิตเลย อย่างที่คุณสุรีย์บอกว่าถ้ารู้ที่ตาคือเห็น นั่นคือจิตเกิดที่ตา อย่างที่กล่าวถึงในตอนต้นจะเห็นได้ว่าที่ร่างกายทั้งหมดตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าถ้าเราจะกล่าวถึงเฉพาะรูปซึ่งเกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน จะเห็นได้ว่านอกจากตาคือจักขุปสาทรูป หู โสตปสาทรูป จมูกคือฆานปสาทรูป ลิ้น คือชิวหาปสาทรูป กายหรือกายะคือกายประสาทรูป จะเห็นได้ว่ารูปที่เกิดจากกรรมมีตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า ศีรษะถ้ากระทบแข็ง ตรงนั้นมีกายประสาท ซึ่งขณะที่กำลังรู้แข็งตรงนั้นสภาพรู้นั้นคือจิต รู้ตรงนั้นตรงที่แข็ง แต่หลังจากนั้นแล้วถ้าคิดนึกเรื่องราวต่างๆ เว้นจิต ๒ ดวงคือกุศลวิบาก อกุศลวิบากที่รู้ลักษณะนั้นแล้ว จิตอื่นเกิดที่หทยรูป ซึ่งอยู่ปกติขณะนี้กลางหัวใจ แสดงให้เห็นว่ารวดเร็วไหมคะ เพราะบางคนคิดว่าจิตต้องเดินทางจากตาไปที่ใจไปที่กลางหัวใจ แต่ความจริงไม่ใช่เลยค่ะถ้าคิดอะไรเลย รูปใดที่เกิดแล้วดับไม่ปรากฏ รูปนั้นก็มีก็เหมือนไม่มี ขณะที่กำลังเห็นถ้าจะคิดถึงปอด ตับ หัวใจนั่นเป็นเรื่องคิด แต่ไม่ได้ปรากฏ แต่ที่ปรากฏจริงๆ คือสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเท่านั้น

    เพราะฉะนั้นความจริงย่อยออกมาที่จะเห็นความไม่ใช่ตัวตนก็คือว่า ไม่มีตัวเราตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้านอกจากความทรงจำ แต่จะมีจิตที่เกิดขึ้นขณะหนึ่งแล้วก็รู้รูปอย่างหนึ่งเท่านั้น ถ้าทางตา ก็คือขณะนี้ไม่ต้องนึกถึงปอดหัวใจ เท้า มือ แขนอะไรเพราะว่าไม่ปรากฏ แต่มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ตัดออกเหลือเฉพาะโลกของเห็นจริงๆ หนึ่งขณะที่เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา จึงจะรู้ได้ว่าไม่มีตัวเรา ขณะที่ได้ยินต่างกันแล้วใช่ไหมคะ ลืมร่างกายทั้งตัวมิฉะนั้นก็จะมีอัตตสัญญาความทรงจำอยู่ตลอดเวลา ซึ่งการที่จะประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมว่า ไม่ ใช่ตัวตนด้วย ต้องเพิกอิริยาบถหรือว่ารู้ ในความเป็นอนัตตา ไม่ ใช่เป็นร่างกายที่คงที่ๆ ทรงอยู่ แต่ว่ารูปใดปรากฏรูปนั้นเกิดแล้วก็ดับ ทั้งจิตที่รู้รูปนั้นก็เกิดแล้วก็ดับทีละอย่าง ทีละขณะสืบต่อจนกระทั่งเป็นความทรงจำที่มั่นคง ว่ายังมีรูปร่างกายทั้งตัวอยู่ แต่ถ้ายังปรากฏในความนึกคิดความทรงจำว่ามีเราขณะ ใดขณะนั้นก็เป็นอัตตสัญญา เพราะฉะนั้นการอบรมเจริญปัญญาจึงรู้ความจริงแต่ละทางถ้าเป็นทางตาจะมีทางอื่นปน ไม่ ได้ ทางตาที่กำลังเห็น ทางหูที่กำลังได้ยิน นอกจากนั้นแล้วจิตเกิดที่หทยวัตถุ แสดงว่าจิตดับทางตา แต่จิตขณะต่อไปที่ไม่ได้เห็น จะเกิดขึ้นที่หทยวัตถุ แสดงให้เห็นว่าไม่มีใครไปบังคับบัญชา ว่าให้จิตนี้เกิดตรงนั้นจิตนั้นเกิดตรงนี้แต่มีที่ ใดสำหรับจิตเกิดขึ้นเป็นปัจจัย ให้จิตเกิดขึ้นตรง ไหนจิตก็เกิดขึ้นตรงนั้น กำลังคิดนึกจิตเกิดที่ไหนคะคุณหมอมธุรส

    ผู้ฟัง ที่หทยวัตถุค่ะ

    ท่านอาจารย์ หทยวัตถุเกิดแล้วดับด้วย เพราะฉะนั้นชั่วขณะสั้นๆ นิดหนึ่งทางตาเห็นหมดอย่างรวดเร็ว จิตเกิดที่หทยวัตถุแล้ว ลองคิดดู ว่าเร็วสักแค่ไหนทันทีที่จิตเห็นทางตาดับจิตเกิดที่หทยวัตถุ และพอจิตได้ยินเกิดไม่ได้เกิดที่หทยวัตถุแล้วเกิดที่โสตปสาทรูป แล้วทันทีที่จิตดับที่โสตปสาทรูปจิตเกิดที่หทัยวัตถุอีก นี่คือไม่ใช่ตัวตนแน่นอน เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยจริงๆ

    ผู้ฟัง ปรมัตถธรรมก็คือสิ่งที่มีจริงเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุด เพราะว่าเป็นสัจธรรม รสอื่นใดที่จะเสมอกับรสของสัจจะไม่มี เพราะว่าผู้ที่รู้แจ้งสัจจะสามารถที่จะเปลี่ยนฐานะจากความเป็นปุถุชนเป็นพระอริยะบุคคลได้ ซึ่งปรมัตถธรรมแรก ที่เราจะต้องเข้าใจก็คือ เรื่องของจิตปรมัตถ์ ปรมัตถธรรมเป็นสิ่งที่มีจริงเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุดมี ๔ อย่างจิตปรมัตถ์อย่างหนึ่ง เจตสิกปรมัตถ์อย่างหนึ่ง รูปปรมัตถ์อย่างหนึ่งแล้วก็นิพพานปรมัตถ์

    สิ่งที่เรายึดถือเข้าใจผิดกันอยู่ ซึ่งมีอยู่ในแต่ละบุคคลก็คือ จิตเจตสิก รูป เราเข้าใจผิดยึดถือผิดเห็นผิดว่าเป็นเรา เป็นของเราฉะนั้นจึงจะต้องศึกษาทำความเข้าใจให้ถูกต้องว่าสิ่งที่เคยยึดถือนั้น เป็นจิต เป็นเจตสิก เป็นรูป ไม่ใช่เราเลย แต่เพียงขั้นการศึกษาเท่านั้น ไม่เพียงพอ ยังจะต้องมีการอบรมปัญญาขั้นสูงยิ่งขึ้นคือขั้นพิจารณาแล้วก็ขั้นที่จะสามารถประจักษ์แจ้งธรรมได้

    ฉะนั้นขั้นต้นจะต้องเข้าใจจากเรื่องราวของสภาพธรรม เพราะเรายังเข้าถึงตัวสภาพธรรมไม่ได้ มีสภาพธรรมปรากฏ ในชีวิตประจำวัน เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส ถูกต้อง สัมผัส คิดนึกมีจริงๆ แต่ว่าไม่รู้ตามความเป็นจริงเพราะว่าการศึกษาความเข้าใจขั้นการศึกษายังไม่เพียงพอจึงเข้าถึงสภาพปรมัตถ์จริงๆ ไม่ได้ เพราะฉะนั้นเริ่มต้นที่จิตก่อน ซึ่งเราเข้าใจว่านามธรรมมี สอง ประเภท จิตปรมัตถ์ และเจตสิกปรมัตถ์ เป็นนามธรรมเพราะว่าเป็นสภาพที่รู้อารมณ์อารมณ์คือ สิ่งที่จิตรู้สำหรับจิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ เราไม่ได้พูดถึง โลภ โกรธ หลง เกลียด อะไรต่างๆ เพราะว่าเดี๋ยวเราเรียนละเอียดยิ่งขึ้นจะมี จิตโกรธ จิตโลภ จิตดีงาม จิตเลวทราม มีทั้งนั้นแต่ว่าพูดถึงสภาพของจิตก่อน เป็นสภาพที่เป็นใหญ่ในการรู้อารมณ์จะรู้ละเอียดยังไงก็แล้วแต่นะครับ

    ท่านพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเรื่องของจิตว่ามีมากมายหลายประเภท แต่ว่าโดยลักษณะรวมๆ ก็คือ จิตจะเป็นใหญ่ในการที่รู้อารมณ์ มีคำจำกัดความ เขียนไว้บนกระดาน จินเตตีติ จิตตัง ชื่อว่าจิตเป็นสภาพที่คิด เป็นสภาวะที่คิด ในที่นี้ก็เป็นการพูดโดยรวมโดยความเป็นใหญ่แต่ว่าอธิบายได้ก็คือ เป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ ขณะใดก็แล้วแต่ที่มีอารมณ์ปรากฏ เช่นมี สี มีเสียง มีกลิ่น มีรส หรือว่ามีเรื่องราวปรากฏก็แล้วแต่ขณะนั้นเรื่องราวหรือว่าสภาพธรรมเหล่านั้นปรากฏกับจิตแจ้งกับจิต จิตรู้แจ้งสิ่งใด สิ่งนั้นเป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ถูกจิตรู้อันนั้นก็จะเป็นตัวอารมณ์ ไม่ทราบจากข้อความตรงนี้มีใครสงสัยอะไรบ้างไหมครับหรือว่าใครจะช่วยสนทนาอะไรบ้างไหมครับ

    ผู้ฟัง มีผู้ถามนะครับ มีผู้ถามว่า ข้างบนนั้นบอกว่าจิตย่อมคิดด้วยอรรถว่ารู้แจ้งอารมณ์จิตคิดได้หรือ ผมเคยถูกตั้งคำถามอย่างนี้ถามไม่ใช่เจตสิกคิดหรือ

    ผู้ฟัง จิตจะเป็นใหญ่เป็นประธานของสัมปยุตธรรม เพราะฉะนั้น อะไรที่เกิดขึ้นก็แล้วแต่เขาก็จะยกให้จิตทั้งหมด บางที่แสดงไว้ว่าจิตโกรธแต่จริงๆ แล้วตัวจิตเขาไม่ได้โกรธ ตัวจิตเขารู้แจ้งเท่านั้น แต่ความโกรธเป็นหน้าที่ของเจตสิกซึ่งเมื่อจิตเป็นใหญ่เป็นประธานแล้วก็เลยยกเหมาให้จิตทั้งหมด สภาพความคิด เป็นเจตสิกเป็นวิตกเจตสิก แต่ว่าในเมื่อจิตเป็นใหญ่เป็นประธานแล้วก็โดยสภาพของจิตแล้วหลังจากที่เห็นได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรสถูกต้องแล้ว เมื่อถึงทางมโนทวารก็จะคิดถึงเรื่องราวอะไรต่างๆ มากมาย ก็เลยยกให้จิตเป็นใหญ่โดยการคิด แต่ว่าอธิบายนะครับ ไม่ใช่คิดเป็นเรื่องราวเท่านั้น อธิบายโดยคลุมเลยก็คือเป็นการรู้แจ้งอารมณ์ อีกอย่างหนึ่งการที่อธิบายว่า จิตเพราะว่าเป็นสภาวะย่อมคิดเป็นการอธิบายตามรูปศัพท์ด้วย รูปศัพท์คำว่า จินตะแปลว่าคิด เพราะฉะนั้นท่านไม่ใช่ ใช้คำว่าคิดอย่างเดียว จิตคือความคิดหรือว่าเป็นสภาพที่คิดเท่านั้นอธิบายด้วยก็คือเป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ คำว่า ขอโทษนะครับ ชื่อของท่านอาจารย์ก็แปลว่า ผู้คิดดี จินตะ เพราะฉะนั้นก็เป็นการอธิบายความหมายของจิตโดยศัพท์อีกนัย

    ผู้ฟัง คำว่ารู้แจ้งในที่นี้กับคำว่ารู้ชัดแตกต่างกันอย่างไรครับ

    ท่านอาจารย์ หมายความถึงลักษณะของจิตเป็นสภาพที่รู้อารมณ์ซึ่งขณะนี้จิตกำลังเห็น เพราะฉะนั้นรู้แจ้งอารมณ์คือรู้อารมณ์ที่กำลังปรากฏจริงๆ ไม่ใช่เพียงแต่คิดหรือว่าโกรธ หรืออะไรซึ่งเป็นลักษณะของเจตสิก แต่ลักษณะของจิตแยกเป็นส่วนหนึ่งต่างหากคือเป็นสภาพที่ไม่ทำกิจหรือไม่มีลักษณะอย่างอื่นเลย นอกจากรู้แจ้งเฉพาะลักษณะของอารมณ์เท่านั้น เมื่อจิตเกิดลักษณะของจิตเป็นธาตุรู้หรือเป็นสภาพรู้ ขณะนั้นถ้ารู้ลักษณะของจิต จิตรู้อารมณ์อะไรถ้าขณะนั้นไม่รู้ลักษณะของอารมณ์ก็จะรู้ลักษณะของจิต เพราะว่าจิตเป็นสภาพรู้แจ้ง

    ผู้ฟัง ก็ฝากสำหรับผู้ที่ถามผมหลายๆ คนนะครับ คำว่ารู้ชัดกับรู้แจ้ง ให้ฟังให้ดีนะครับ

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วเป็นเรื่องคำจะใช้คำว่าชัดก็เป็นบัญญัติจะใช้คำว่าแจ้งก็เป็นบัญญัติ แต่เราไม่ลืมว่าเรื่องของบัญญัติ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่เราจะต้องไปติด ถ้าใช้คำหลายๆ คำแล้วก็จะต้องไปพยายามคิดว่าสองคำนี้ต่างกันยังไงอาจจะใช้คำอื่นอีกก็ได้ ใช่ไหมคะ แต่ลักษณะของจิต เป็นสิ่งที่จะต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่าเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ในการรู้อารมณ์ แจ้งในอารมณ์ ไม่ใช่แจ้งด้วยปัญญา

    ผู้ฟัง การศึกษาเรื่องของสภาพธรรมความเป็นผู้ใคร่ ในการที่จะรู้ลักษณะของธรรมหรือว่า ใคร่ในการที่จะเข้า ใจปรมัตถธรรมเป็นสิ่งที่ถูกต้องเป็นสิ่งที่ควร แต่ว่าอย่าให้ถึงกับคลั่งปรมัตถธรรมก็คือพูดบัญญัติไม่ได้เลยเราทำอะไรไม่ได้เลย ถ้าเกิดถึงขนาดว่าเรายืนไม่ได้เราเดินไม่ได้เรานั่งไม่ได้ หรือว่าเราจะทำบุญทำบาปไม่ได้เลยก็เลยจะต้องใช้คำว่าปรมัตถ์ตลอดเลย ขันธ์ ๕ ทำบุญ ขันธ์ ๕ พิจารณาธรรม อย่างนี้ก็คงจะสื่อภาษากันไม่รู้เรื่อง เพราะฉะนั้นควรจะต้องแยกแยะกันว่า การที่เราพูดคำว่าเราก็ดีหรือว่าสัตว์บุคคลเป็นเรื่องของบัญญัติแต่ว่าโดยสภาพธรรมจริงๆ นั้นไม่มี ไม่มีสัตว์บุคคล มีจิตเจตสิก รูป และนิพพาน เราคงจะไม่มาทะเลาะกันว่า ไม่มีเรา ขณะที่คนเขาพูดว่าเราทำบุญ หรือว่าเราไปวัดไปวาอะไรเหล่านี้ เราคงไม่ต้องมาทะเลาะกัน เพราะคงจะต้องเข้าใจกันว่าคนที่เริ่มศึกษาเรื่องของปรมัตถ์จะต้องได้ยินได้ฟังแล้วว่า ไม่มีเราจริงๆ มีเพียงสภาพธรรม แต่การที่จะสื่อสารการที่จะใช้คำบัญญัติเหล่านี้ ก็เพื่อให้เข้าใจว่าปรมัตถธรรมไหน หรือว่าขันธ์ไหน ขันธ์ ๕ ไหน ที่กำลังทำอะไร สำหรับเรื่องของอำนาจหรือว่าอาการของจิตที่เป็นไป ทุกสิ่งทุกอย่างขณะนี้ ขณะที่เราเห็นก็ดี หรือว่าคิดหรือว่าสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลกนี้อย่างเช่นบ้านช่อง วัดวาอาราม ถนนหนทาง ถ้าไม่มีจิตสิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นไม่ได้

    เพราะฉะนั้นท่านให้คำจำกัดความของจิตไว้อย่างหนึ่งก็คือ วิจิตต กรณา จิตตัง จิตกระทำให้วิจิตร พระพุทธเจ้าแสดงกับภิกษุบอกว่าพวกเธอเห็นลวดลายอันวิจิตรนั้นไหม มีลวดลายภาพวาดอะไรต่างๆ พระพุทธเจ้าก็ชี้ให้ภิกษุทั้งหลายดู แล้วก็ทรงแสดงว่าจิตวิจิตรกว่าลวดลายเหล่านั้นมากเพราะว่าลวดลายเหล่านั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าไม่มีจิต ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นจะเป็นภายนอกก็ดี ภายในก็ดีเกิดขึ้นเพราะจิต ก็เป็นการอธิบายคำว่าจิตว่าความหมายของคำว่าจิต นอกจากแปลว่าคิดแล้วก็ยังแปลว่าวิจิตรก็ได้ อันนี้ก็เป็นความหมายหนึ่ง

    อีกความหมายหนึ่ง ก็คือวิจิตรด้วยตนเอง จิตไม่ได้มีประเภทเดียว จิตมีมากมายหลายประเภท ที่มีมากมายหลายประเภท ก็เพราะว่ามีสัมปยุตธรรม หรือว่าเจตสิกประกอบแตกต่างกันไป เช่น จิตโลภ แล้วก็ประเภทหนึ่ง จิตโกรธ หรือว่าจิตเป็นกุศล ก็ประเภทหนึ่ง จิตที่เป็นกามาวจร รูปาวจร ประเภทหนึ่ง ในตัวของจิตเองก็วิจิตรด้วยสัมปยุตธรรม สัมปยุตธรรม ความหมายขอเชิญอาจารย์สมพรช่วยให้ความหมายนะครับ สัมปยุตธรรม

    อ.สมพร สัมปยุตธรรมก็หมายถึงธรรมที่ประกอบกัน สัม ก็มาจาก สัง แปลว่าพร้อมกันนะครับ พร้อมกันด้วยอาการ ๔ อย่าง ปยุต ก็หมายความว่าประกอบทั่ว คือการประกอบทั่วพร้อม โดยลักษณะ ๔ อย่างมีการเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกันมีอารมณ์เดียวกันมีที่อาศัยเกิดแห่งจิตอันเดียวกัน เฉพาะจิตกับเจตสิกเท่านั้นนะครับ สัมปยุตธรรม โดยลักษณะมี ๔ อย่างที่กล่าวนี้ เรียกว่าสัมปยุตธรรม

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นตัวของจิตเป็นสภาพที่วิจิตรด้วยตนเอง ก็คือตัวเขาบางทีเขาก็เป็นจิตที่มีโทษ เป็นจิตที่โกรธเป็นทุกข์เดือดร้อนขณะนั้น แต่จิตบางประเภทก็เป็นจิตที่ติดข้องในอารมณ์ เป็นจิตที่โลภเพลิดเพลินในอารมณ์ หรือว่าจิตบางประเภทก็เป็นจิตที่ผ่องใส่ด้วยศรัทธา มีปัญญาประกอบด้วย ในตัวเองของจิตก็เป็นสภาพที่วิจิตร เป็นความหมายของจิตเป็นความหมายของคำว่า จิตต ความหมายหนึ่งวิจิตรในตนเองมีทั้งหมด ๘๙ ประเภทถ้าโดยพิสดารก็ ๑๒๑ ประเภท อันนี้พูดถึงในสังสารวัฏ หรือว่าในจักรวาลเลย แต่ในบุคคลคนหนึ่งคงไม่ถึง ๘๙ ประเภท อีกความหมายหนึ่ง จิตตัง กมกิเลเสหิ ชื่อว่าจิต เพราะว่าสั่งสมกรรม และกิเลส จิตมีความสามารถพิเศษในการที่จะสั่งสมกรรม และกิเลสที่เกิดขึ้นแล้ว กรรม และกิเลสที่เกิดขึ้นแล้วไม่ได้สูญหายไปเลยนะครับ แม้เพียงเล็กน้อย


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 11
    6 ก.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ