สนทนาธรรม ตอนที่ 066


    ตอนที่ ๖๖


    ท่านอาจารย์ นี่ก็แสดงให้เห็นว่ามีปัญญาหลายระดับเหลือเกิน ไม่ใช่เข้าใจเท่านั้นค่ะ แต่เข้าใจแล้วก็ยังมีปัจจัยที่สติจะระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรม แล้วเมื่อระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมแล้วนะคะ ยังสามารถที่จะประจักษ์แจ้ง อาการที่เกิดดับของสภาพธรรมนั้นได้

    นี่แสดงให้เห็นถึงปัญญาที่ต่างระดับขั้นกันมาก แต่ว่าสามารถที่จะอบรมเจริญได้ตั้งแต่ขั้นของการฟัง แต่แสดงให้เห็นว่าอย่าประมาท และอย่าคิดว่าพระธรรมที่ได้ฟังไม่เป็นความจริง พิสูจน์ไม่ได้ พิสูจน์ได้แต่ว่าต้องมาจากการเริ่มต้น ที่จะฟังเข้าใจซะก่อนแล้วก็สามารถที่จะรู้ได้ว่าคำที่ใช้เรียกสภาพธรรม มีความหมายต่างกันเพราะความต่างกันของสภาพธรรมนั้น ซึ่งก็ต่างกันเป็นนามธรรม และรูปธรรมเพียง ๒ อย่างนี้ก่อน ไม่ทราบมีใครที่สงสัยในเรื่องของนามธรรม และรูปธรรมไหมคะ

    ผู้ฟัง จะสังเกตุได้อย่างไร ว่าเป็นนามธรรม นะ โดยการปฏิบัติ โดยการรู้เดี๋ยวนี้ลักษณะอย่างไหนที่เรียกว่านามธรรม สังเกตุจากก่อนสัมผัส ก่อนที่อารมณ์จะมากระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หรือว่าสังเกตตอนที่ว่าหลังจากสัมผัสแล้ว

    ท่านอาจารย์ ที่จริงแล้วนี่นะคะ ไม่มีเราที่จะสังเกตุเลย แต่ว่าเราจะเริ่มจากชีวิตประจำวันก่อน ขณะนี้มีอะไรแข็งไหมคะ

    ผู้ฟัง ก็ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราสัมผัสอยู่ก็แข็ง

    ท่านอาจารย์ ยังไม่ทุกสิ่งทุกอย่างค่ะ ขณะนี้คะ อะไรแข็ง มีไหมค่ะ แข็งนี่ค่ะ มีมั้ยคะ

    ผู้ฟัง มีครับ

    ท่านอาจารย์ ลักษณะที่แข็งมีนะคะ มีเพราะรู้ใช่ไหมคะ

    ผู้ฟัง ใช่ครับ

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีสภาพรู้แข็ง แข็งนั้นไม่ปรากฏ

    ผู้ฟัง ปรากฏต่อเมื่อที่เราได้สัมผัสแล้วใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ เรายังไม่ใช่คำพูดใดๆ ทั้งสิ้น จะสัมผัส หรือไม่สัมผัสนะคะ

    ผู้ฟัง โดยสภาวะใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ ไม่คะ มีแข็ง

    ผู้ฟัง แข็งมีอยู่

    ท่านอาจารย์ แข็งมีนะคะ เมื่อไหร่ค่ะ

    ผู้ฟัง เมื่อเราได้กระทบ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ เมื่อมีการรู้แข็ง

    ผู้ฟัง ต่อเมื่อได้มีผัสสะแล้ว ต่อเมื่อมี..เออ..

    ท่านอาจารย์ เราไม่ใช้คำผัสสะ ยังไม่ใช้อะไรทั้งสิ้นนะคะ มีสภาพรู้แข็งกับแข็ง

    ผู้ฟัง แข็งมีอยู่ สภาพรู้มีอยู่

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่ใช่มีอยู่ค่ะ หมายความว่ามีสภาพแข็ง ปรากฏกับสภาพที่รู้แข็ง

    ผู้ฟัง ครับ

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ใช่ไหมคะ แข็งกำลังปรากฏกับสภาพที่รู้ ในอาการที่แข็ง เพราะฉะนั้นมีสภาพธรรม ๒ อย่างในขณะที่กำลังรู้แข็ง คือมีรู้๑ และก็มีแข็ง๑ คือสภาพรู้ในขณะนั้น กำลังรู้ในสภาพแข็ง และก็มีสภาพแข็งที่กำลังถูกรู้ด้วย มี ๒ อย่างในขณะนั้น ไม่มีความคิดใดๆ ทั้งสิ้น

    ผู้ฟัง แล้วอย่างไหนเป็นนามธรรม ระหว่าง..

    ท่านอาจารย์ สภาพที่กำลังรู้ค่ะ

    ผู้ฟัง สภาพที่กำลังรู้แข็งเป็นนามธรรม และแข็งเป็นรูป

    ท่านอาจารย์ แข็งเป็นรูปค่ะ รู้แข็ง รู้นี่คือเป็นนามธรรมค่ะ

    ผู้ฟัง จะสังเกตได้ยังไงให้ลึกซึ้งยิ่งกว่านี้อีก ว่าเราจะสังเกตได้ว่านี่คือแข็งนะครับ

    ท่านอาจารย์ คือแข็ง ไม่ต้องนะคะ ถามเด็กๆ ก็บอกว่าแข็ง ไม่ต้องสังเกตุอะไรทั้งสิ้น กระทบสัมผัสแข็งไหม เขาบอกว่าแข็ง นี่คือกายวิญญาณจิต หมายความว่าเป็นจิตประเภทที่อาศัยกายปสาท ถ้าไม่มีกายปสาท แม้ว่าแข็งจะมากระทบร่างกายก็ไม่มีสภาพที่รู้แข็ง

    เพราะฉะนั้นจะเห็นได้คะ ว่าชั่วขณะหนึ่ง ซึ่งมีสภาพธรรมเกิดขึ้นปรากฏ มีปัจจัย หรือว่ามีธรรมหลายอย่างซึ่งทำให้สภาพนั้นเป็นอย่างนั้นเช่น แข็งมีทั่วๆ ไปแต่ขณะใดที่แข็งปรากฏ หมายความว่ามีสภาพที่กำลังรู้ลักษณะที่แข็ง ลักษณะที่รู้นั้นเป็นจิตเป็นนามธรรมเกิดพร้อมกับเจตสิก ที่กำลังรู้แข็ง

    ผู้ฟัง เจตสิกหมายถึงอารมณ์วิ่งเข้าไปกระทบกับวัตถุ

    ท่านอาจารย์ ไม่มีอารมณ์วิ่งเข้าไปเลย นามธรรมมี ๒ อย่างคือสภาพของนามธรรมที่เกิดนี่คะ ได้แก่จิต และเจตสิก เพราะเหตุว่าจิตนั้นเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้สิ่งที่กำลังปรากฏให้รู้ ซึ่งเราจะใช้คำว่าอารมณ์ในภาษาไทย แต่ในภาษาบาลีคืออารัมมณะ ต้องออกเสียงตามภาษาบาลี แต่คนไทยเราเรียกสั้นๆ เราตัดออกเป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้นเมื่อมีจิตซึ่งเป็นสภาพรู้ ก็ต้องมีอารมณ์คือสิ่งที่จิตกำลังรู้ หรือถูกรู้โดยจิต ๒ อย่างใช่ไหมคะ เพราะเหตุว่าจะมีแต่สภาพรู้โดยไม่มีสิ่งหนึ่ง สิ่งใดให้รู้ไม่ได้ เมื่อมีจิตก็จะต้องมีอารมณ์ เพราะเหตุว่าจิตเป็นสภาพรู้ก็ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ด้วย เพราะฉะนั้นแข็งเป็นอารมณ์ และก็จิตเป็นสภาพที่รู้อารมณ์นั้น เพราะฉะนั้นจิตเป็นใหญ่เป็นประธานในขณะที่กำลังรู้ลักษณะที่แข็ง

    ผู้ฟัง ขณะนี้จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการ..

    ท่านอาจารย์ การรู้แข็ง

    ผู้ฟัง ทำหน้าที่ของจิตใช่ไหมครับ เป็นหน้าที่ของจิต ที่ว่าจิตมีหน้าที่เป็นใหญ่ ที่ว่าจะรู้อารมณ์ หรือว่ารู้..

    ท่านอาจารย์ เป็นใหญ่ในการรู้อารมณ์ รู้แจ้งในลักษณะต่างๆ กันของอารมณ์

    ผู้ฟัง แล้วจิตที่ว่าจิตนี่ โดยสภาพทั่วไปนะครับ ถ้าหากว่า เราไม่รู้ ถ้าไม่ศึกษามาก่อนว่าจิตนี่คืออะไร ธรรมดาทั่วไปนี่จิตหมายถึงว่าการเกิดการดับ จิตนี่มีการเกิดการดับใช่ไหมครับ ท่านอาจารย์ครับ

    ท่านอาจารย์ แน่นอนค่ะ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นดับไป เกิดแล้วจะไม่ดับไม่มีเลย ค่อยๆ เข้าใจสภาพธรรมไปทีละเล็กทีละน้อยก่อนนะคะ เอาแข็งนี่เป็นรูปธรรมก่อน แล้วก็สภาพที่รู้แข็งเป็นนามธรรม เอาแค่นี้ก่อนนะคะ ยังไม่ไปถึงไหนเลย ขอให้ทุกคนเข้าใจพร้อมๆ กันแล้วก็เข้าใจจริงๆ ในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏโดยถามว่าแข็งมีไหม

    ผู้ฟัง มีครับ

    ท่านอาจารย์ สภาพที่รู้แข็งมีไหม

    ผู้ฟัง สภาพที่รู้ก็มี

    ท่านอาจารย์ ค่ะ เพราะฉะนั้นมีนามธรรมกับรูปธรรม ๒ อย่างเอาเท่านี้ก่อน

    ผู้ฟัง แต่ว่ามันรวมกันอยู่นะ รูปธรรมกับนามธรรม ถ้าหากว่าโดยขณะนี้ไม่สามารถที่จะแยกได้ว่าอันไหนคือรูปธรรม อันไหนคือนามธรรม ใช่ไหมครับอาจารย์ครับ ถ้าขณะที่กำลังพูดอยู่นี่ เราจะไม่รู้แยกไม่ได้ว่า อันนี้คือรูปธรรม อันนี้คือนามธรรม เพราะมันจะเกิดขึ้นพร้อมกันใช่ไหมครับอาจารย์ครับ

    ท่านอาจารย์ ด้วยเหตุนี้เราต้องฟังให้เข้าใจไงคะ ว่ารูปธรรมไม่ใช่นามธรรมโดยเด็ดขาดค่ะ รูปธรรมจะเป็นนามธรรมไม่ได้ นามธรรมจะเป็นรูปธรรมไม่ได้เลย

    ผู้ฟัง นอกจากการฟังแล้ว มีวิธีอื่นไหมครับที่จะเข้าใจถึงรูปธรรม และนามธรรมนี้ครับ

    ท่านอาจารย์ การฟัง ต้องฟัง และก็มีความเข้าใจเกิดขึ้นนะคะ ถ้าไม่มีความเข้าใจก็ไม่มีวิธี ไม่มีวิธีอื่นเลยค่ะ เพราะเหตุว่าปัญญานี่คือความรู้ถูก ความเห็นถูกต้องตามความเป็นจริงของสภาพธรรม ผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่พระปัจเจกพุทธเจ้า แล้วเป็นสาวก สาวโก คือ ผู้ฟังทุกท่าน แม้แต่ท่านพระสารีบุตรแล้วก็ถึงสมัยนี้นะคะ ที่จะไม่มีผู้ฟังพระธรรม และก็รู้นี่เป็นไปไม่ได้เลยคะ และการฟังพระธรรมของคนในสมัยนี้ก็ต่างกับคนในสมัยก่อน เราสมัยนี้เราก็ไม่รู้ว่าเราเคยเกิดมานานเท่าไหร่แล้วนะคะ เคยฟังมามากเท่าไหร่แล้ว แต่ผลที่จะพิสูจน์ได้ ก็คือว่าเมื่อฟังแล้วเราเข้าใจทันทีมากน้อยแค่ไหน อย่างที่กล่าวเมื่อกี้นี้คะ ว่ารูปธรรมก็เกิดดับเป็นส่วนของรูปธรรม นามธรรมก็เกิดดับเป็นส่วนของนามธรรม นามธรรมไม่ใช่รูปธรรม ผู้ที่ได้ฟัง เพราะว่าอบรมความรู้มาแล้ว สามารถที่จะฟังแล้วก็สติระลึกทันที มีปัจจัยให้สติสัมปชัญญะระลึกที่สภาพของธรรม ซึ่งเป็นนามธรรมเพราะเหตุว่ามีความเข้าใจในลักษณะของนามธรรมถูกต้องแล้วนอกจากนั้นนะคะ ผู้ที่ได้อบรมปัญญามามากกว่านั้นสามารถที่จะประจักษ์การเกิดดับได้เลยเป็นพระโสดาบันบุคคลได้ อย่างท่านพระอัญญาโกณฑัญญะนะคะ เมื่อจบเทศนาแล้วทั้งๆ ที่ฟังด้วยกัน ๕ รูป ภิกษุ ๕ รูป แต่ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะเป็นรูปแรกที่ได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ทั้งๆ ที่ ธรรมก็ปรากฏทั้ง ๕ รูป เหมือนกันแต่ทำไมอีก ๔ รูปไม่เป็นพระอริยะบุคคล นี่แสดงให้เห็นว่าไม่ใช่ว่าเราไปมีวิธีการ หรือเราอยากจะแยก หรือเราอยากจะทำ แต่ว่าปัญญาขณะนี้เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏแค่ไหน นี่เป็นเครื่องที่จะทำให้รู้ว่าเราต้องฟังอีกมากเท่าไหร่ก่อนที่สติสัมปชัญญะจะเกิด และก็ระลึกลักษณะของสภาพธรรม และสามารถที่จะรู้ความจริงตามที่ได้ฟังด้วย

    คุณสุรีย์ ติดใจในเรื่องรูปกับนามนี่นะคะ พูดถึงว่าถ้าเผื่อเป็นรูปแล้วคือสิ่งที่จิตรู้นะคะ นามก็คือตัวรู้

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ค่ะ ไม่อยากจะใช้คำว่าจิต อารมณ์ต่างหาก รูปเป็นรูป หมายความว่าไม่ใช่สภาพรู้ รูปนี้เป็นธรรมที่มีจริงๆ นะคะ เป็นส่วนหนึ่งต่างหากแยกออกไปจากนามเลย จะเป็นอารมณ์ หรือไม่เป็นอารมณ์ก็เป็นรูปนั่นแหละ มีปัจจัยก็เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

    คุณสุรีย์ ตอนนี้เมื่อเรามีรูปธรรมกับนามธรรม ดิฉันอยากจะก้าวเข้าไปถึงอารมณ์ได้ไหมคะอาจารย์ค่ะ ได้ไหมคะว่ามันจะเกี่ยวข้องยังไง

    ท่านอาจารย์ ถ้าพูดถึงจิตนะคะ ซึ่งเป็นสภาพรู้ต้องพูดถึงอารมณ์ คือสิ่งที่ถูกจิตรู้ด้วย แต่จริงๆ แล้วความเข้าใจขั้นไหน เพราะขณะนี้นะคะ ก็มีแต่รูปธรรม และนามธรรมเท่านั้นเอง ค่ะ ทุกอย่างที่กำลังปรากฏ คุณสุรีย์ช่วยบอกหน่อยค่ะ ว่าขณะนี้มีรูปธรรมอะไรบ้าง

    คุณสุรีย์ ที่เรามองเห็น เป็นรูป

    ท่านอาจารย์ สีสัน วัณณะ ต่างๆ ที่ปรากฏทางตาเป็นรูป นี่ ๑ รูปแล้วนะคะ นี่เรากำลังจะพูดเรื่องรูปนะคะ ค่ะ

    คุณสุรีย์ แล้วต่อไปก็สิ่งที่ปรากฏทางหู เสียงเป็นรูป

    ท่านอาจารย์ ค่ะ เพราะฉะนั้นทุกคนจะได้เข้าใจ เพราะบางคนคิดว่ารูปคือสิ่งที่เรามองเห็นเท่านั้น วันนี้เรารู้จักรูปเพิ่มขึ้น ว่ารูปหมายความถึงสิ่งที่ไม่รู้อะไรเลย เป็นสิ่งที่มีจริง เกิดขึ้นนะคะ เช่นสีสันวัณณะที่กำลังปรากฏทางตา แล้วก็เสียงที่ปรากฏทางหู ๒ อย่างแล้วนะคะ

    คุณสุรีย์ และทางจมูก ทางลิ้น ทางกายนะคะ

    ท่านอาจารย์ กลิ่น ต้องใช้คำว่ากลิ่นนะคะ กลิ่นเป็นรูปเพราะอะไรคะ ทำไมว่ากลิ่นเป็นรูป

    คุณสุรีย์ เพราะเขาไม่รู้คะ

    ท่านอาจารย์ เพระกลิ่นไม่ใช่สภาพรู้ กลิ่นไม่สามารถจะรู้อะไรได้ นี่ต้องเป็นคำยืนยันค่ะสำหรับรูปทั้งหมด รส ๓ รูปเลยนะคะ

    คุณสุรีย์ รสก็ทางลิ้น เช่นเดียวกันเป็นรูป เพราะว่าไม่ได้ใช่สภาพรู้ แล้วอะไรอีกคะ กาย ก็มีเย็นร้อนอ่อนแข็ง

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่กายนะคะ เย็นร้อน อ่อนแข็ง ตึงไหว ที่ปรากฏทางกายเป็นรูปอีก ๓ รูปรวมทั้งหมดกี่รูปคะ

    คุณสุรีย์ รวมทั้งหมด ทั้งหมด ๗ ใช่ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ ๗ รูป กำลังจะให้ทุกคนเข้าใจรูปที่มีจริงๆ

    คุณสุรีย์ ทั้งหมด ๗ รูป

    ท่านอาจารย์ ๗ รูปนี้ใครไม่แน่ใจ หรือว่าจำไม่ได้บ้างคะ ๗ รูปนี่ ทุกคนนะคะ คราวหน้าก็ไม่ลืม ๗ รูป ไม่ใช่วันนี้ฟัง ๗ รูป นะคะ คราวหน้ากี่รูปไม่ทราบ เพราะฉะนั้นเอาวันนี้นะค่ะ ที่คุณสุรีย์ ยกตัวอย่างมาว่า รูปหมายความถึงสิ่งที่ไม่รู้อะไรเลย ที่เราสามารถที่จะพิสูจน์ได้ในชีวิตประจำวันว่าเป็นรูปจริงๆ เพราะเหตุว่าไม่ใช่สภาพรู้ ทั้งสิ้นมี ๗ รูป คือสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา๑ เสียง๑ กลิ่น๑ รส๑ มี ๔ นะคะ แต่สำหรับทางกายนี่ค่ะ ๓ รูป คือเย็นเป็นรูป๑ เย็น หรือร้อน ก็เป็นรูปชนิดเดียวกัน แตกต่างลักษณะ อ่อนหรือแข็งอีกรูป๑ ตึงหรือไหวอีกรูป๑ เพราะฉะนั้นทางกาย มี ๓ รูป รวม ๗ รูป คราวหน้าถามได้ทุกคนใช่ไหมคะ เชื่อว่าทุกคนมีตาเห็น๑ รูป มีหูได้ยิน๑ รูป มีจมูกได้กลิ่น๑ รูป มีลิ้นกระทบอีก๑ รูป ทางกายให้ทราบว่ากระทบ ๓ รูป แต่ทีละ๑ รูป ธาตุแข็งปรากฏก็เฉพาะแข็ง ถ้าเย็นปรากฏก็เฉพาะเย็น ถ้าร้อนปรากฏก็เฉพาะร้อน ถ้าตึงปรากฏก็เฉพาะตึง ถ้าไหวปรากฏก็เฉพาะไหว

    เพราะฉะนั้นมีรูป ๗ รูปที่สามารถที่จะปรากฏให้รู้ได้ในชีวิตประจำวัน กับ รูปปรากฏกับอะไรค่ะ อะไรเป็นสภาพที่รู้รูป นามธรรมซึ่งได้แก่จิต และเจตสิก ๒ อย่าง

    คุณสุรีย์ คือเมื่อวานนี้ก็ เผอิญไปอ่านพอไปเจอคำว่าวิสยะรูป ซึ่งก็อ่านว่ามันมี ๗ มี ๗ รูปอย่างว่านะคะ ทำไมจึงใช้คำว่าวิสยะรูปใน ๗ รูป ดังที่กล่าวมาแล้วนี่

    อ.สมพร วิสยะรูปนี้ ถ้าเราแปลนะครับ ก็แปลว่าอารมณ์ วิสยะ

    คุณสุรีย์ วิสยะแปลว่าอะไรค่ะอาจารย์

    อ.สมพร อารมณ์ แต่ถ้าแยกศัพท์ วิ ศัพท์๑ แล้วก็ สิ ธาตุ สิ นะครับ ไม่ใช่ สี เอาสระอิเป็น ยะ ก็เป็น วิสยะ แปลว่าผูกพัน ถ้าแยกศัพท์อย่างนี้นะ ผูกพัน หมายความว่าอารมณ์ผูกพันกับอะไรล่ะครับ ก็ผูกพันกับอินทรีย์ คือ ตา นะครับ สี ผูกพันกับตา เสียงก็ผูกพันกับหู แล้วก็กลิ่นก็ผูกพันกับจมูก ถ้าเราแปลโดยเฉพาะที่ทั่วๆ ไป วิสยะก็แปลว่าอารมณ์ เข้าใจง่าย ถ้ามาแปลใหม่ตามโยชนา แปลว่าผูกพัน คนจะไม่เข้าใจ แล้วก็ใช้คำว่า วิสยะแปลว่าอารมณ์ หรือโคจรแปลว่าอารมณ์ ก็เช่นเดียวกับอารัมณ แปลว่า ...

    คุณสุรีย์ ตัวเดียวกันใช่ไหม วิสยะกับโคจร คือความหมายอันเดียวกัน

    อ.สมพร ความหมายอันเดียวกัน โดยคำแปล หมายความต่างกันนิดหน่อยโดยศัพท์ที่มันเกิดขึ้นนะครับ

    ท่านอาจารย์ โคจร อาจารย์ยังไม่ได้แปล

    อ.สมพร ครับ แปลว่าอารมณ์เหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ ต้องแยกศัพท์ไหมคะ หรือไม่ต้องแยก

    อ.สมพร ถ้าแยกศัพท์ก็ โค นะครับ แล้วก็ จะระ เป็นที่เที่ยวไป โค นั้นมีความหมายหลายอย่างแปลว่าอินทรีย์ก็ได้ แปลว่าโคธรรมดา วัวนี่ก็ได้นะครับ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นโดยมากในตำราจะใช้คำว่า อารมณ์ของโค ใช่ไหมคะ แล้วคนก็เลยงงว่านี่เราเป็นโค หรือเปล่านะคะ

    คุณสุรีย์ มาจากโคจรนี่คะ

    อ.สมพร โค จะ ระ ก็คนละศัพท์แล้ว ถ้าแยกกันนะครับ ถ้าหากว่าร่วมกันก็เป็นโคจรได้ ที่เป็นที่เที่ยวไปก็ได้ความหมายแล้วแต่

    ท่านอาจารย์ เป็นที่เที่ยวไปเฉยๆ หรือว่าเป็นที่เที่ยวไปของโคด้วย

    อ.สมพร ของ โค ครับ

    ท่านอาจารย์ แต่ โค ที่นี่คืออินทรีย์นะคะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ค่ะ

    อ.สมพร โค แปลว่าอินทรีย์นะ คำศัพท์นะ แต่ว่า โควัวก็ได้

    ท่านอาจารย์ ถ้าเข้าไปอ่านในอรรถกถา ก็เลยคิดว่าเมื่อแปลว่าตัวโคได้ เราจะเป็นโค หรือเปล่า

    คุณสุรีย์ คำว่าอารมณ์กับรูป

    ท่านอาจารย์ อารมณ์นะคะ หมายความถึงสิ่งที่จิตรู้ค่ะ ยืนยันไปได้เลยอารมณ์คือสิ่งที่จิตรู้ จิตรู้ได้ทุกอย่างไม่ใช่รู้แต่รูปอย่างเดียว เพราะฉะนั้นถ้าใช้คำว่ารูป คุณสรีย์หมายความถึงอารมณ์ มันแคบไป เพราะเหตุว่าจิตสามารถที่จะรู้ได้ทุกอย่าง นิพพาน จิตก็รู้ได้ รูป จิตก็รู้ได้ เจตสิก จิตก็รู้ได้ ทุกอย่างค่ะจิตรู้ทุกอย่างได้ ทุกอย่างเป็นอารมณ์ของจิตได้ ไม่ใช่แต่เฉพาะรูปเท่านั้น เพราะฉะนั้นต้องจำกัดความหมายให้ตรงกับลักษณะของสภาพธรรม คือรูปธรรมเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นนะคะ และไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น ส่วนนามธรรมที่เกิดขึ้นนั้นก็เป็นสภาพรู้ หรือธาตุรู้ และเมื่อมีสภาพรู้ก็ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ด้วย ซึ่งสิ่งที่ถูกรู้คืออารมณ์ เพราะฉะนั้นอารมณ์นั้นกว้างกว่ารูป เพราะเหตุว่าอะไรก็ตามที่จิตรู้ เป็นอารมณ์ของจิตทั้งนั้น ถามว่าถ้าจิตไม่เกิดเลย โลกมีไหม

    ผู้ฟัง มีคะ

    ท่านอาจารย์ โลกอะไรมีคะ ถ้าจิตไม่เกิดเลย ไม่มีจิตเกิดเลย โลกอะไร มี

    ผู้ฟัง มีรูป

    ท่านอาจารย์ ค่ะ มีรูปเกิดขึ้น เพราะว่าไม่มีใครรู้ก็ไม่เป็นไร มีปัจจัยเย็นร้อนที่จะให้มีรูปชนิดหนึ่งชนิดใดเกิดขึ้น ก็มีรูปชนิดนั้นเกิดขึ้น ต้นไม้ใบหญ้า โลกพระอาทิตย์ โลกพระจันทร์อะไรก็ตามแต่ ถึงแม้ว่าไม่มีจิตเกิดเลย เมื่อมีปัจจัยให้รูปเกิดขึ้น รูปก็เกิดขึ้น รูปก็เป็นโลกเพราะเหตุว่ารูปเกิดขึ้น และดับไป เพราะฉะนั้นต้องจำกัดความนะคะ ว่าโลกหมายความถึงสิ่งที่เกิดดับ นี่แน่นอนที่สุด และสิ่งที่เกิดดับนั้น เป็นนามธรรมอย่างหนึ่ง เป็นรูปธรรมอย่าง หนึ่ง ซึ่งแยกขาดจากกัน ถึงแม้ว่านามธรรมไม่เกิด รูปธรรมก็เกิดดับของรูปได้

    เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าจิตไม่เกิดเลยนะคะ โลกก็เกิดได้เพราะเหตุว่ายังมีรูปซึ่งเป็นโลก ซึ่งเกิดขึ้นโดยที่ไม่ต้องมีใครรู้ นามธรรมเป็นสภาพที่เมื่อเกิดขึ้นแล้วต้องเป็นสภาพรู้นะคะ และก็รูปธรรมเกิดขึ้นไม่ใช่สภาพรู้ และก็ขณะนี้ก็ความเข้าใจของเราจะเริ่มฟังก่อนให้รู้ว่าสภาพธรรมทุกอย่างที่เกิดขึ้นนั้นดับ ไม่คงที่ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไตรลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งอาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ต้องดับทั้งนามธรรม และรูปธรรม ใครจะรู้ หรือไม่รู้ก็ตามแต่ค่ะ เวลานี้สภาพธรรมเป็นจริงอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้น แต่อวิชาไม่สามารถที่จะรู้ความจริงนี้ได้ ด้วยเหตุนี้ต้องเป็นปัญญาจริงๆ ตามลำดับขั้น จึงสามารถที่จะประจักษ์การเกิดขึ้น และดับไปได้

    ขั้นฟังนี่คะ ไม่สามารถที่จะประจักษ์การเกิดดับแน่นอน แต่ว่าอาศัยการฟังพิจารณาเข้าใจว่าสภาพธรรมจริงๆ แล้วต้องเกิดดับแน่นอน ทุกขณะจิตอย่างรวดเร็วมาก เพราะฉะนั้นการฟัง ก็ฟังให้เข้าใจเรื่องราวของสภาพธรรมก่อน แล้วก็จะได้รู้ตามความเป็นจริงว่าปัญญาของตนเองที่ฟัง ระดับไหน ระดับฟัง หรือว่าระดับประจักษ์ เป็นผู้ที่ตรงต่อธรรม

    เพราะฉะนั้นการฟังธรรมนี่นะคะ เป็นผู้ที่จะทำให้เกิดปัญญาที่รู้จักความจริงว่าปัญญาแต่ละขั้นนั้นต่างกัน ปัญญาขั้นไหนก็ขั้นนั้น เมื่อยังไม่ประจักษ์ ก็เป็นปัญญาขั้นฟัง ก็ต้องอบรมไปจนกว่าจะประจักษ์ได้ แต่สิ่งใดก็ตามที่เป็นความจริงอย่างไร ก็สามารถที่จะประจักษ์ในความจริงอย่างนั้นได้ เพราะฉะนั้นเราก็จะให้ทุกคนซึ่งเป็นผู้ใหม่นี่คะ เข้าใจไปพร้อมๆ กัน ตั้งแต่ต้นด้วยความมั่นคงในเหตุผล ด้วยความเข้าใจจริงๆ ไม่เปลี่ยนแปลง

    ถ้าเป็นความเข้าใจ แล้วเราไม่เปลี่ยน แต่ถ้าเป็นความจำเราลืมได้ใช่ไหมคะ เราไปจำเรื่องราวของสิ่งต่างๆ แต่นี่เราไม่ลืมเพราะเราเข้าใจในเหตุผล

    ผู้ฟัง เพราะประจักษ์แจ้งใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ ยังไม่ถึงค่ะเพียงแต่ว่าเราเริ่มฟังเรื่องของสภาพธรรมก่อน ให้ปัญญาเจริญขึ้นตามลำดับ เพราะเหตุว่าปัญญาที่จะไปจากการประจักษ์แจ้ง ต้องเป็นวิปัสสนาญาณไม่ใช่การฟัง

    ผู้ฟัง อันนี้เป็นปัญญาขั้นการฟัง ใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ ขั้นฟังค่ะ ฟังให้เข้าใจก่อนให้เข้าใจจริงๆ

    ผู้ฟัง เรื่องของโลก ปัญญาขั้นการฟังหมายถึงว่า ให้ทุกคนคิดว่าโลกนี้มีอยู่จริง แต่ทีนี้ว่าจะเกี่ยวพันกับสัมพันธ์กับโลกใบอื่นได้อย่างไรนะครับ ถ้าเราไม่นำโลกใบนี้ไปเกี่ยวพันไปสัมพันธ์กับโลกใบอื่น

    ท่านอาจารย์ ค่ะ ถ้าไม่มีตามีหู ไม่มีจมูก ไม่มีลิ้น ไม่มีกายเลย ก็ยังมีใจ แล้วก็พวกที่เป็นอรูปพรมนี่คะ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับโลกใบไหนเลยทั้งสิ้น เพราะเหตุว่าไม่มีตาที่จะเห็น ไม่มีหูที่จะได้ยิน แต่สำหรับในโลกนี้มีตาเห็นแล้ว ก็ยังมีใจคิดต่อจากสิ่งที่เห็นด้วย เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องราวที่เป็นเรื่องของโลกใบอื่น แต่จริงๆ แล้วนะคะ เป็นความคิดของโลกใบนี้ใบเดียว

    ผู้ฟัง เพราะว่าโลกใบนี้ได้นำเข้ามาใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วก็เป็นความคิดนึกค่ะ เพราะเหตุว่าโลกใบอื่นก็แตกดับไปแล้วทั้งนั้นกำลังแตกดับอยู่ทั้ง ๒ โลก จะกี่โลกก็ตาม ๑๐๐๐ โลกที่จะมาเกี่ยวข้องกันก็ตาม ทุกโลกเกิดดับ แต่เมื่อไม่รู้ความจริงก็ยึดถือสิ่งที่เกิดดับนั้นว่าเป็นสิ่ง หนึ่ง สิ่งใด เป็นทั้งคน เป็นทั้งสัตว์ เป็นทั้งโอกาสโลก เป็นทั้งสัตวโลก ทั้งหมด ก็เลยทำให้โลกใบนี้วุ่นวายด้วยความไม่รู้ เพราะฉะนั้นโลกใบนี้นะคะ จะสงบขึ้น ด้วยความรู้ ตามความเป็นจริงแต่ถ้าตราบใดยังไม่รู้ตามความเป็นจริง โลกใบนี้ก็ไปวุ่นวาย กับโลกใบอื่นด้วย

    ผู้ฟัง อารมณ์ที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็จะต่อไปที่ทางใจเหมือนกันก็เลยสงสัยว่าอารมณ์ที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ซึ่งเป็นปรมัตถอารมณ์ จะถือว่าเป็นธัมมารมณ์ด้วย หรือเปล่า

    อ.สมพร อารมณ์เขาจำกัดอยู่แล้วนะครับ สีเป็นอารมณ์ของทางตา ใช่ไหม สี เสียงเป็นอารมณ์มทางหู ทวารหู อันนี้ว่าธัมมารมณ์ ได้แก่รูป ไม่ใช่รูปทั้งหมดเอาปสาทรูป ปสาทรูป ๕ แล้ว สุขุมรูป ๑๖ รูปที่เหลือนั้นเป็นอารมณ์ทางปัญจทวาร ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็แยกกันแล้วนะครับ อารมณ์ทางใจส่วนมากมีบัญญัติแยะนะครับ บัญญัติอารมณ์อย่างที่คิดเมื่อกี้นี้ ก็เป็นอารมณ์ บัญญัติอารมณ์ จิตทุกดวงเมื่อเกิดขึ้นต้องมีอารมณ์ เว้นจิตไม่เกิด เมื่อจิตไม่เกิดจิตก็ไม่มีอารมณ์ เกิดขึ้นข้างในต้องมีอารมณ์ แต่ว่าอารมณ์ก็ต่างกันนะครับ เสียงก็เป็นอารมณ์เฉพาะทางทวารหู คราวนี้มันปรากฏอย่างนี้แล้วก็ ตา หู จมูก ลิ้นกาย แล้วมีอารมณ์ของเขาโดยเฉพาะๆ แล้ว แล้วคราวนี้ก็ที่เหลือนั้นน่ะก็เป็นธัมมารมณ์ ปรากฏทางใจอย่างเดียว


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 11
    23 ก.พ. 2567

    ซีดีแนะนำ