สนทนาธรรม ตอนที่ 067
ตอนที่ ๖๗
อ.สมพร คราวนี้มันปรากฏอย่างนี้แล้วว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย เรามีอารมณ์ของเขาโดย เฉพาะๆ แล้ว คราวนี้ก็ที่เหลือนั้นนะ ก็เป็นธัมมารมณ์ปรากฏทางใจอย่างเดียว
ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นโดยสรุปแล้ว ธัมมารมณ์ก็คือสิ่งที่ปรากฏเฉพาะทางใจอย่างเดียวเท่านั้น ก็มีคำว่าอย่างเดียวเท่านั้น เพราะฉะนั้นอารมณ์ที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ซึ่งเป็น เสียง แสง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็ปรากฏทางทวารทั้ง ๕ ด้วย เพราะฉะนั้นมันก็ไม่ได้เป็นทางใจทางเดียวเท่านั้นก็เลยต้องถือว่า ยกเว้นใช่ไหมคะอาจารย์ ตามคำจำกัดความ ไม่ทราบว่าหนูเข้าใจถูกรึเปล่าคะ
ท่านอาจารย์ ค่ะ ซึ่งเป็นเรื่องที่คุณหมอก็ฟังมามากนะคะ แล้วก็มีศัพท์หลายศัพท์ ซึ่งบางคนก็ยังงงๆ อยู่ระหว่างธัมมารมณ์แล้วก็อารมณ์อื่นๆ เป็นชื่อทางภาษาบาลีซึ่งตอนนี้เรากำลังเป็นเรื่องของนามธรรม และรูปธรรมไปก่อนนะคะ เพราะฉะนั้นก็ขอย้อนกลับมาที่ว่า เมื่อปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นเป็นจิต เพราะฉะนั้นก็ต้องมีอารมณ์ แต่ขณะนั้นไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่ได้กระทบสัมผัส ไม่คิดนึกเรื่องราวใดๆ ทั้งสิ้น
ขอให้คิดถึงสภาพของจิตซึ่งเป็นขณะที่สั้นแสนสั้นค่ะ เพียงเกิดขึ้นตั้งอยู่นิดนึงแล้วก็ดับไปเร็วมาก เพราะฉะนั้นเราก็จะเห็นได้ว่าปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นขณะหนึ่งมีอารมณ์หนึ่ง แล้วก็ดับไปซึ่งไม่ใช่อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ใดๆ ทั้งสิ้น นี่แสดงให้เห็นว่าจิตเป็นสภาพที่รู้ เกิดแล้วต้องรู้ เพราะฉะนั้นแม้ว่าจะไม่มีตาตอนเกิดในครรถ์นี่ไม่มีตาแน่ๆ ไม่มีหู ไม่มีจมูก ไม่มีลิ้น มีกายปสาทรูปเกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิตจริง แต่ว่าขณะที่เพียงเกิดขึ้น เป็นผลของกรรม หนึ่ง ที่ทำให้วิบากจิตซึ่งเป็นผลของกรรมทำหน้าที่ปฏิสนธิ เกิดสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน ทำกิจนี้เท่านั้นค่ะ ไม่ใช่ได้เห็น หรือได้ยิน คิดนึก อะไรเลยแต่ว่าต้องมีอารมณ์
ซึ่งเราจะไม่กล่าวถึงอารมณ์ของปฏิสนธิจิตในขณะนี้ เพียงแต่ให้มั่นใจแน่นอน มั่นคง ใครจะถามสักเท่าไหร่ยังไงก็ตาม ไม่อาศัยตาจิตมีอารมณ์ไหม ก็ต้องมี ไม่อาศัยหูจิตรู้อารมณ์ไหม ก็ต้องรู้ ไม่อาศัยใจไม่คิดนึกจิตรู้อารมณ์ไหม ก็ต้องรู้ เช่นตอนที่เป็นปฏิสนธิจิต ขณะ หนึ่งดับไป แต่กรรมก็ไม่ได้ทำให้เพียงปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นขณะเดียว ถ้าอย่างนั้นก็สบาย ไม่ต้องรับผลของกรรมใดๆ ทั้งสิ้น แต่ว่าทำให้บุคคลนั้นนะคะ ดำรงความเป็นบุคคลนั้นอยู่ตราบเท่าที่กรรมนั้นยังให้ผล ยังไม่สิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้
เพราะฉะนั้นเมื่อปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นขณะหนึ่ง นะคะ รู้อารมณ์ซึ่งไม่ใช่อารมณ์ของโลกนี้เลย ไม่ใช่อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้นกาย และใจ เพราะเหตุว่าไม่ได้คิดนึก เมื่อปฏิสนธิจิตดับไปแล้วกรรมก็ทำให้จิตขณะต่อไปนี่เกิดขึ้น เป็นวิบากจิตคือเป็นผลของกรรมเดียวกับที่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น แต่ว่าทำกิจต่างกับจิตขณะแรกนี่แสดงให้เห็นว่าเพียงจิต ๒ ขณะนี้ค่ะ ก็ทำกิจต่างกันแม้ว่าจะเป็นจิตประเภทเดียวกัน คือเป็นผลของกรรมเดียวกัน
แต่จิตขณะแรกทำปฏิสนธิกิจ สืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน เพราะฉะนั้นเมื่อดับไปแล้วขณะจิตที่ ๒ ไม่ได้ทำกิจสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน แต่ทำกิจดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนี้ไว้ ขณะนี้ก็ไม่เห็นไม่ได้ยินไม่ได้กลิ่นไม่ลิ้มรสไม่รู้อารมณ์ใดๆ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่ภวังคจิตรู้อารมณ์ไหมค่ะ มีอารมณ์ไหม ภวังคจิตรู้อารมณ์ไหมค่ะ คะ ต้องรู้ค่ะยืนยันได้เลยคะ รู้อารมณ์อะไรไม่บอกทั้งสิ้น ยังไม่ต้องพูดถึง
แต่ต้องรู้อารมณ์เพราะเหตุใด เพราะเหตุว่าจิตเป็นสภาพที่เมื่อเกิดขึ้น เป็นสภาพรู้ ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ และอารมณ์ของภวังคจิตกับปฏิสนธิจิตเป็นอารมณ์เดียวกัน คืออารมณ์ใกล้จะจุติของชาติก่อน นี่ข้ามภพข้ามชาติโดยที่ว่าเป็นผลของกรรม หนึ่ง ที่ทำให้จิตใกล้จุตินี่คะ เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล ซึ่งถ้าก่อนจะจุติ กรรมที่ให้ผลเป็นกุศลกรรม ก็ทำให้กุศลจิตเกิด เมื่อดับไปแล้วกุศลวิบากจิตก็ทำกิจปฏิสนธิ เพราะฉะนั้นก็มีอารมณ์สืบต่อจากชาติก่อน ซึ่งไม่ใช่อารมณ์ของโลกนี้นะคะ
แต่ให้ทราบว่าเมื่อเป็นจิต แล้วต้องมีอารมณ์ เพราะฉะนั้นเรายังจะไม่พูดถึง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ โผพารมณ์ ธัมมารมณ์ ซึ่งล้วนเป็นชื่อภาษาบาลีแต่เราจะค่อยๆ เข้าใจขึ้นว่า ภวังคจิตนะคะ ก็จะต้องเกิดดับสืบต่อแม้ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึกเพราะว่าขณะใดที่ทำกิจภวังค์นะคะ จิตรู้อารมณ์โดยไม่อาศัยทวารหนึ่ง ทวารใดทั้งสิ้น
คำว่าทวารหมายความถึงทาง หรือถ้าเป็นภาษาไทยจะแปลว่าประตูได้ไหมคะ อาจารย์ หรือไม่จำเป็นต้องแปลว่าประตู
อ.สมพร ทวารนั้น แปลว่าประตู อย่างเดียวครับ
ท่านอาจารย์ ประตูก็คือทางเข้าทางออกใช่ไหมคะ
อ.สมพร ใช่ครับ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจะแปลว่าประตู หรือว่าจะแปลว่าทาง ความหมายก็เหมือนกันนะคะ เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่าจิตนี่ค่ะ ตอนเกิดขึ้นขณะแรก ขณะหนึ่งดับไปแล้ว ก็โลกนี้ก็ยังไม่ปรากฏ ไม่รู้เลยว่าเป็นใคร อยู่ที่ไหนทั้งสิ้นแต่จิตเกิดแล้ว
ระหว่างที่ดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนั้น ซึ่งบุคคลนั้นไม่ได้หมายความว่าเป็นมนุษย์อย่างเดียว เป็นสัตว์เดรัจฉานก็ได้ เป็นนก เป็นปลา เป็นไก่ เป็นงู เป็นได้ทุกอย่าง ปฏิสนธิจิตเกิดแล้วก็หลังจากที่ปฏิสนธิจิตดับมีอารมณ์อย่างไร ภวังคจิตก็มีอารมณ์เดียวกับปฏิสนธิจิตไปตลอดจนกว่าจะมีการรู้อารมณ์อื่นโดยอาศัยทางหนึ่ง ทางใด ซึ่งทางที่จิตจะรู้อารมณ์อื่นนี่คะ มี ๖ ทาง
ที่ใช้คำว่าอารมณ์อื่นหมายความว่าไม่ใช่อารมณ์เดียวกับปฏิสนธิ และภวังคจิต เรียกว่าอารมณ์อื่นทั้งหมด ทางตาขณะนี้ไม่ใช่อารมณ์ของภวังคจิต ทางหูขณะนี้ไม่ใช่อารมณ์ของภวังคจิต เพราะเหตุว่าเวลาที่เป็นภวังค์ไม่รู้อารมณ์ใดๆ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่คิดนึกเลย ขณะนั้นเช่นที่จะรู้ได้ง่าย ก็คือขณะที่นอนหลับสนิทเหมือนกับขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิดภวังคจิตเกิด เป็นจิตประเภทเดียวกันดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนั้นไว้ นะค่ะ
ขณะที่กำลังนอนหลับสนิทจริงๆ ไม่ฝัน ขณะนั้นไม่ได้รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจทางทวารทั้ง ๖ อันนี้เข้าใจเป็นลำดับไปก่อน ว่าทางรู้อารมณ์มี ๖ ทาง แต่เวลาที่เป็นภวังคจิตไม่รู้อารมณ์ทางหนึ่ง ทางใดใน ๖ ทางเลยทั้งสิ้น และสภาพนั้นก็คือสภาพของการที่หลับสนิท แต่ว่ามีจิตเพราะเหตุว่ายังไม่ตาย และจิตนั้นทำภวังกิจดำรงภพชาติไว้ เพื่อว่าตื่นก็เป็นคนนั่นแหละ
ตราบใดที่ยังไม่ตาย หลับไปแล้วก็ตื่นอีก หลับไปแล้วก็ตื่นอีก ทุกวันก็ยังคงสภาพความเป็นบุคคลนั้น จนกว่ากรรมที่จะทำให้เป็นบุคคลนี้สิ้นสุด ก็จะทำให้จุติจิต ซึ่งเกิดทำกิจ เคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้ เมื่อจิตนี้ดับก็คือตาย แต่ว่าก็มีปฏิสนธิจิตเกิดสืบต่อเรื่อยๆ ไม่มีระหว่างคั่นเลย
นี่ให้ทราบว่าเมื่อมีจิตก็ต้องมีอารมณ์ และเรากำลังจะพูดถึงอารมณ์ทีหลัง แต่ให้ทราบว่าแม้ว่าอารมณ์มี ๖ อารมณ์ คือทางตาเป็นอารมณ์อย่างหนึ่ง ปรากฏได้เฉพาะทางตาเช่นสีสันวัณณะต่างๆ ปรากฏได้เฉพาะทางตาเท่านั้นนะคะ ทางหูก็เป็นเสียงอย่างเดียว ทางจมูกก็เป็นกลิ่น ทางลิ้นก็เป็นรส ทางกายก็เป็น เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว และก็ทางใจก็เป็นการรับรู้อารมณ์ทั้ง ๕ นี้ แล้วก็ยังสามารถที่จะคิดนึกเรื่องราวต่างๆ ด้วย
นี่แสดงให้เห็นว่าทางใจนี่คะ ซึ่งเป็นจิต แม้ว่าจะเห็น และดับไป แต่ทางใจก็ยังตามคิดถึงต่อได้ ทางหูเสียงดับนั้นไปแล้วนะคะ ทางใจก็รับรู้ต่อได้ เพราะฉะนั้นทางใจ จิตสามารถที่จะรู้อารมณ์ได้ทุกอย่างไม่เว้นเลย ไม่ว่าจะเป็นสี เป็นเสียง เป็นกลิ่น เป็นรส เป็นอะไรก็ตามแต่ ทางใจสามารถที่จะรู้อารมณ์ได้หมด แต่อันนี้ก็เป็นการพูดกว้างๆ ยังไม่ละเอียดถ้าเป็นการพูดที่ละเอียด เราก็จะทำให้เข้าใจขึ้นนะคะ ว่าขณะไหนเป็นการรู้อารมณ์อะไร ทางไหน
แต่ให้ทราบว่านอกจาก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ๖ ทาง จิตก็ยังสามารถที่จะรู้อารมณ์โดยที่ว่าไม่ต้องอาศัย ๖ ทางนี้เลย เรียกว่าทวารวิมุต เพราะเหตุว่าปราศจากทวารที่จะต้องอาศัยจิตก็สามารถที่จะเกิดขึ้นรู้อารมณ์ได้ มีไหมค่ะขณะนี้ ถ้าไม่ศึกษาจะทราบได้ไหมคะ ว่าขณะนี้มีภวังคจิตหรือเปล่า ขณะนี้คะ ที่กำลังเห็น ได้ยินอย่างนี้ค่ะ เดี๋ยวนี้มีภวังคจิตไหมคะ ค้ะ
ผู้ฟัง มีอยู่ครับ
ท่านอาจารย์ คนที่ศึกษาแล้วตอบได้นะคะ แต่ถ้าคนที่ยังไม่ได้ศึกษานะคะ เหมือนไม่มีแต่ความจริงมี นี่ค่ะคือความละเอียดของธรรมที่ว่าไม่มีใครสามารถที่จะรู้สภาพธรรมได้โดยตลอดถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดงไว้โดยละเอียด นี่เป็นการที่เราจะต้องเห็นความสำคัญนะคะ ว่า ในชีวิตของเรานี่ค่ะ เราก็เป็นผู้ที่มีอาชีพการงานหลายอย่างมีธุรกิจอาจจะมีความก้าวหน้า หรือว่ามีความหวังในเรื่องกิจการ ในเรื่องลาภ เรื่องยศต่างๆ แต่สิ่งต่างๆ เหล่านี้นะคะ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาเลย เพราะว่าโดยสภาพปรมัตธรรม หรือเป็นธรรม แล้วก็เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือว่าเป็นเสียงที่ปรากฏทางหู เป็นกลิ่นที่ปรากฏทางจมูกเป็นรสต่างๆ ที่ปรากฏทางลิ้น เป็นเย็นร้อน อ่อนแข็ง ที่ปรากฏทางกาย
แล้วเราก็ไปสมมติเรียกเป็นยศถาบรรดาศักดิ์ เป็นลาภ เป็นยศ เป็นสิ่งต่างๆ แต่ความจริงแล้วต้องมีจิต ซึ่งอาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น แล้วก็ไม่ได้รู้อารมณ์อะไรมากมายเลย นอกจากอารมณ์ต่างๆ เหล่านี้ แต่ด้วยความไม่รู้ และก็มีความยึดมั่นมีความทรงจำในสิ่งที่ปรากฏ ก็เลยทำให้เราหวั่นไหวเป็นสุข เป็นทุกข์ไป ตามอารมณ์ซึ่งความจริงแล้วไม่มีใครบังคับบัญชาได้ อย่างขณะนี้เสียงที่ได้ยิน แม้แต่เสียงซึ่งเราไม่ได้ทำให้เกิดขึ้น ก็ปรากฏใช่ไหมคะ มีไหมคะ
ผู้ฟัง มีครับ
ท่านอาจารย์ มี นี้แสดงให้เห็นว่าไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาทั้งสิ้น การได้ยินเป็นวิบากเป็นผลของกรรมที่ทำให้ต้องได้ยินเสียงนั้น เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตาจริงๆ แม้แต่จิตก็ไม่มีใครไปควบคุม ไปบงการ ไปจัดสั่งให้จิตประเภทนั้นเกิด ประเภทนี้เกิด หรือแม้แต่การที่จะได้ยินอะไร จะเห็นอะไร จะได้กลิ่นอะไร ก็เป็นเรื่องของเหตุกับผล ซึ่งเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้วทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นถ้าเข้าใจความจริงนะคะ จะรู้ได้เลยคะว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต ก็คือการเข้าใจธรรมตามความเป็นจริง ไม่ใช่ว่าเราหลงด้วยความไม่รู้ และเราก็จากโลกนี้ไปโดยที่ยังยึดมั่น และก็ยังไม่รู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ
เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าเราจะมีกิจการ มีธุระ มีการงาน มีอาชีพต่างๆ นะคะ แต่อย่าลืมว่าเหนือสิ่งอื่นใด มันก็คือความเข้าใจธรรมเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดค่ะ เพราะเหตุว่าเราไม่รู้แม้แต่เหตุผลว่าทำไมเราได้ลาภ ทำไมเราได้ยศ ทำไมเราได้สุข ทำไมเราได้ทุกข์ ถ้าเราไม่ศึกษาธรรมเราก็จะไม่รู้ที่มาที่ไปของธรรมเหล่านี้เลย แต่ว่าถ้าเราสามารถที่จะเข้าใจนะคะ แม้ว่าเราจะมีความหวังแต่เราผิดหวัง ไม่ได้อย่างที่เราต้องการ ก็เพราะเหตุว่าไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา แม้แต่เพียงเห็น ได้ยิน ก็ยังเป็นจิตซึ่งต้องเกิดตามเหตุ คือถ้าเป็นวิบากจิตเป็นผลของกรรม ก็ต้องเห็นสิ่งนี้ซึ่งจะเป็นสิ่งที่น่าพอใจ หรือไม่น่าพอใจก็แล้วแต่ ต้องได้ยินสิ่งที่น่าพอใจ หรือไม่น่าพอใจก็แล้วแต่ เพราะฉะนั้นเหนือสิ่งอื่นใดนะคะ
ทุกคนก็ควรที่จะทราบว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต ไม่ควรจะเป็นเกินกว่าความเข้าใจธรรมให้ถูกต้อง เพราะเหตุว่าจะทำให้เรานี่คะ ได้มีปัญญาที่สามารถที่จะรู้ความจริงของธรรม แล้วก็เป็นพุทธศาสนิกชนจริงๆ ที่เข้าใจพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไม่ใช่ว่าเราเป็นชาวพุทธ แต่เราไม่รู้ว่าพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมจากการตรัสรู้อย่างไร และก็พระธรรมก็ยังอยู่นะคะ ที่จะทำให้เราสามารถเข้าใจได้ ความจริงมีอยู่ทุกขณะ แม้แต่ในขณะนี้เอง ซึ่งเรากำลังพูดถึงว่าขณะนี้มีภวังคจิตไหม นี่ก็เป็นสิ่งซึ่งจะทำให้เรารู้จักว่า ชีวิตของเราจริงๆ นะคะ คือจิตแต่ละประเภทในวันหนึ่งๆ เกิดขึ้นตามเหตุ ตามปัจจัย
อ.สมพร อาจารย์ครับ ผมอยากขอเรียนถามแทรกตรงนี้หน่อย จิตที่ไม่อาศัยทวารเลย แต่ก็รู้อารมณ์นี้ ก็ได้แก่ภวังคจิต
ท่านอาจารย์ ได้แก่จิต ๓ ประเภทเท่านั้นค่ะ คือปฏิสนธิจิต๑ ภวังคจิต๑ จุติจิต๑ นอกจากนั้นแล้วอาศัยทวารทั้งหมด
อ.สมพร ไม่อาศัยถาวรเลยมีอยู่ ๓ ประเภท ที่นี่ไม่อาศัยวัตถุเลยมีไหมครับ
ท่านอาจารย์ ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ นะคะ ต้องอาศัยรูปเป็นวัตถุ คือวัตถุที่นี้หมายความถึงที่เกิดของจิต ถ้าพูดคำไหนต้องทราบด้วยว่าคำนั้นหมายความว่าอะไร
อ.สมพร คือจิตที่ไม่อาศัยที่เกิดเลยนี่ มีไหม
ท่านอาจารย์ ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก็ต้องอาศัยที่เกิด แต่ในภูมิที่ไม่มีรูปขันธ์ไม่ต้องอาศัยที่เกิด
อ.สมพร อย่างในอรูปภูมินี่ไม่มีรูปขันธ์
ท่านอาจารย์ ค่ะ
อ.สมพร จิตก็เกิดได้
ท่านอาจารย์ แน่นอนค่ะ
อ.สมพร แล้วเกิด โดยอาศัยทวารหรือเปล่าอาจารย์
ท่านอาจารย์ อาศัยทวารก็ได้ ไม่อาศัยทวารก็ได้ เพราะเหตุว่าปฏิสนธิจิตไม่ได้อาศัยทวาร ภวังคจิตไม่ได้อาศัยทวาร จุติจิตไม่ได้อาศัยทวาร แต่การเป็นอรูปพรหมไม่ใช่มีแต่ปฏิสนธิ ภวังค์ และจุติ เพราะฉะนั้นก็ต้องอาศัยทวาร
อ.สมพร ขณะที่พรหมปฏิสนธิก็ดี ขณะที่เป็นภวังค์ของพรหม อรูปพรหมก็ดี ขณะที่จุติจิตของอรูปพรหมก็ดี นี่ไม่อาศัยวัตถุเลย ไม่อาศัยทวารเลย
ท่านอาจารย์ ค่ะ
ผู้ฟัง ผมเรียนถามอีกนิดหนึ่งหรือเปล่า ปฏิสนธิจิตนี่ ในขณะที่เกิด ชั่วขณะเดียวที่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น มันก็พกพาเอาโลกใบนี้ทั้งเรา ผลิตโลกใบนี้ของเราทั้งโลกมาเลยใช่ไหม ประกอบไปด้วย โลภะ โทสะ หมายความว่าทั้งบู๊ รัก โลดโผน อะไรมันอยู่ในนี้หมดเลยใช่ไหมครับท่านอาจารย์ครับ
ท่านอาจารย์ คะ เพราะเหตุว่าปฏิสนธิจิตเป็นวิบากจิตเป็นผลของกรรมหนึ่ง ซึ่งเลือกไม่ได้เลยทุกคน ชาตินี้มีกรรมเยอะแยะเลย แต่ถ้าจะจากโลกนี้ไป จะขอให้กรรมนี้ให้ผลเถอะ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ อาจจะเป็นกรรมหนึ่งในชาตินี้ ซึ่งเลือกไม่ได้ว่าเป็นกุศลกรรม และอกุศลกรรม หรืออาจจะเป็นกรรมในชาติก่อนๆ ก็มีสิทธิ์ มีโอกาส มีปัจจัย ที่จะทำให้ปฏิสนธิเกิดต่อจากจุติจิตของชาตินี้
เพราะฉะนั้นจึงไม่มีทางรู้เลยว่าจะจากโลกนี้แล้ว จะไปเป็นบุคคลไหนเพราะกรรมอะไรนอกจากผู้ที่เป็นพระอริยะบุคคลแล้วละก็ไม่ไปสู่อบายภูมิ แต่ว่าถ้าเป็นผู้ที่ไม่ใช่พระอริยะบุคคลก็ไม่แน่นอนนะคะ เพราะเหตุว่าอกุศลกรรมก็จะทำให้เกิดในอบายภูมิได้ อย่างม้ากัณฐกะนี่ค่ะ อีกชาติเดียวหลังจากที่เป็นม้ากัณฐกะแล้ว ก็ได้เป็นพระโสดาบันเมื่อเกิดเป็นเทพ แต่ว่าก่อนจะเป็นเทพก่อนจะเป็นพระโสดาบันก็เป็นม้ากัณฐกะ นี้ก็แสดงให้เห็นว่าเราไม่สามารถที่จะเลือกได้ แต่ว่าจิตนี่นะคะ เป็นสภาพซึ่งสะสมทุกอย่าง จากขณะหนึ่งไปสู่อีกขณะหนึ่ง
เพราะฉะนั้นถ้าโลภะขณะนี้เกิดขึ้น ก็หมายความว่าโลภะไม่ได้ดับเลยนะคะ เคยเกิดมาแล้วก่อนๆ เป็นปัจจัยทำให้โลภะขณะนี้เกิด และโลภะขณะนี้ที่เกิดยังไม่ได้ดับ ก็จะเป็นปัจจัยให้โลภะข้างหน้าเกิดอีก เพราะฉะนั้นจิตเป็นสภาพที่สะสมทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นธรรมฝ่ายกุศล หรือฝ่ายอกุศลก็ตาม เพราะฉะนั้นจึงมีกิเลสหลายระดับ ที่เป็นปริยุฏฐานะกิเลสคือเกิดพร้อมจิต หรือว่าที่เป็นวีติกกัมมกิเลส เป็นกิเลสอย่างหยาบที่มีกำลังแรงหรือว่าที่เป็นอนุสัยกิเลสที่มีอย่างละเอียด เพราะฉะนั้นเวลาที่วิบากจิตเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นวิบาก ขณะใดก็ตาม ภพไหนภูมิไหนก็ตาม ขณะนั้นไม่ใช่กุศลจิตไม่ใช่อกุศลจิตซึ่งเป็นเหตุ แต่เป็นวิบากจิตซึ่งเป็นผลของกุศลกรรม หรืออกุศลกรรม ก็จริงนะคะ แต่มีอนุสัยกิเลสคือกิเลสที่ยังไม่ได้ดับสืบต่อจนกว่าจะถึงการดับกิเลสเป็นประเภทๆ ไป
เพราะฉะนั้นปฏิสนธิจิตแม้ว่าเป็นวิบากแต่ก็มีกิเลสที่สะสมมาอยู่ด้วย เพราะฉะนั้นเราก็ตั้งต้นที่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ หรือเปล่า อีกครั้ง หนึ่ง ค่ะ จิตที่เป็นปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นนะคะ ขณะแรกที่สุด ตั้งต้นของโลกใบนี้ค่ะ เกิดขึ้นขณะนั้นรู้อารมณ์ หรือเปล่า รู้ นะคะ คงไม่มีใครตอบว่าไม่รู้นะคะ เพราะว่าเป็นจิตแล้วต้องรู้อารมณ์ แล้วก็เมื่อปฏิสนธิจิตดับแล้วภวัคจิต รู้อารมณ์ หรือเปล่า รู้ แต่ไม่ใช่ทางตา ไม่ได้อาศัย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ใดๆ ทั้งสิ้นจึงชื่อว่าภวังคจิต หรือ จึงเป็นภวังคจิต
เพราะฉะนั้นจิตที่ไม่อาศัยทาง หนึ่ง ทางใดเลย ที่จะรู้อารมณ์นะคะ มีเพียง ๓ อย่าง คือปฏิสนธิจิต๑ ภวังคจิต๑ จุติจิต๑ ไม่ต้องท่อง แล้วก็ไม่ต้องไปทำอะไรเลยทั้งสิ้นนะคะ อาศัยความเข้าใจ เราก็จะได้รู้ว่าจิตแบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้อีกอย่างหนึ่งคือแบ่งเป็น จิตที่เป็นวิถีจิตนะคะ กับจิตที่ไม่ใช่วิถีจิต หรืออีกนัยหนึ่งจิตซึ่งอาศัยทวารรู้อารมณ์กับจิตที่ไม่อาศัยทวารก็รู้อารมณ์ได้ เหมือนกันนะคะ คือถ้าใช้คำว่าจิตไม่อาศัยทวารก็รู้อารมณ์ได้ มีกี่อย่างค่ะ ๓ อย่าง นี่ค่ะคือทวนกลับไปกลับมานี่ และเราก็เข้าใจเอง ว่าจิตที่ไม่ต้องอาศัยทวารรู้อารมณ์เลยมี ๓ อย่าง คือปฏิสนธิจิต ภวังคจิต จุติจิต ที่เหลือจากนั้นนะคะ ต้องอาศัยทวารทั้งหมด และจิตที่อาศัยทวารนี่คะ ชื่อว่าวิถีจิต เพราะว่าจะต้องอาศัยจิตแต่ละขณะที่เกิดสืบต่อกันที่จะรู้อารมณ์ทางทวารนั้นๆ
เพราะฉะนั้นก็มีจิต ๒ ประเภทนะคะ คือจิตที่ไม่ใช่วิถีจิตประเภท๑ แล้วก็จิตที่เป็นวิถีจิตอีกประเภท๑ จิตที่ไม่ใช่วิถีจิตไม่ต้องอาศัยทวาร จิตที่เป็นวิถีจิตต้องอาศัยทวาร คู่กันไป ทีนี้ก็เริ่มจากภวังค์จิตรู้อารมณ์โดยไม่อาศัยทวาร ทีนี้ถ้าไม่มี สี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ มากระทบเลย จิตนี่ค่ะ คิดนึกเองค่ะ อาศัยการสะสมของเรื่องราวของประสบการณ์ต่างๆ ทำให้จิตนี่คะ เกิดตรึกนึกถึงเรื่องนั้นขึ้น แสดงให้เห็นว่าจิตขณะหนึ่ง ซึ่งเกิด และดับไปเป็นปัจจัยให้ขณะต่อไปเกิดแล้วก็ดับไป แล้วก็เป็นปัจจัยให้ขณะต่อไปเกิดขึ้น และจิตที่เกิดก็จะสืบต่อทุกอย่างที่สะสมในจิตแต่ละขณะ เพราะฉะนั้นขณะนี้นะคะ ถ้าเราเป็นผู้ที่มีปัญญา ระดับขั้นที่สามารถระลึกชาติได้ กี่ชาติก็ระลึกได้ค่ะ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าระลึกชาติได้มากมายเกินกว่าพวกเดียรถีย์ พวกเดียรถีย์หมายความถึงพวกที่นับถือศาสนาอื่น แต่ว่าเขาสามารถที่จะมีปัญญาที่ทำให้จิตสงบถึงขั้นสมาธิที่มั่นคง แล้วก็มีความชำนาญในการที่จะให้จิต ระลึกถึงสภาพเรื่องราวต่างๆ ตั้งแต่ขณะนี้ถอยไปจนกระทั่งถึงปฏิสนธิ และถอยไปจนถึงจุติ และก็ถอย ถอย ไปอีกเป็นชาติๆ นั้นคือผู้ที่ไม่มีความชำนาญ แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านะคะ ไม่ว่าจะระลึกถึงชาติไหน ได้ทันที
- สนทนาธรรม ตอนที่ 061
- สนทนาธรรม ตอนที่ 062
- สนทนาธรรม ตอนที่ 063
- สนทนาธรรม ตอนที่ 064
- สนทนาธรรม ตอนที่ 065
- สนทนาธรรม ตอนที่ 066
- สนทนาธรรม ตอนที่ 067
- สนทนาธรรม ตอนที่ 068
- สนทนาธรรม ตอนที่ 069
- สนทนาธรรม ตอนที่ 070
- สนทนาธรรม ตอนที่ 071
- สนทนาธรรม ตอนที่ 072
- สนทนาธรรม ตอนที่ 073
- สนทนาธรรม ตอนที่ 074
- สนทนาธรรม ตอนที่ 075
- สนทนาธรรม ตอนที่ 076
- สนทนาธรรม ตอนที่ 077
- สนทนาธรรม ตอนที่ 078
- สนทนาธรรม ตอนที่ 079
- สนทนาธรรม ตอนที่ 080
- สนทนาธรรม ตอนที่ 081
- สนทนาธรรม ตอนที่ 082
- สนทนาธรรม ตอนที่ 083
- สนทนาธรรม ตอนที่ 084
- สนทนาธรรม ตอนที่ 085
- สนทนาธรรม ตอนที่ 086
- สนทนาธรรม ตอนที่ 087
- สนทนาธรรม ตอนที่ 088
- สนทนาธรรม ตอนที่ 089
- สนทนาธรรม ตอนที่ 090
- สนทนาธรรม ตอนที่ 091
- สนทนาธรรม ตอนที่ 092
- สนทนาธรรม ตอนที่ 093
- สนทนาธรรม ตอนที่ 094
- สนทนาธรรม ตอนที่ 095
- สนทนาธรรม ตอนที่ 096
- สนทนาธรรม ตอนที่ 097
- สนทนาธรรม ตอนที่ 098
- สนทนาธรรม ตอนที่ 099
- สนทนาธรรม ตอนที่ 100
- สนทนาธรรม ตอนที่ 101
- สนทนาธรรม ตอนที่ 102
- สนทนาธรรม ตอนที่ 103
- สนทนาธรรม ตอนที่ 104
- สนทนาธรรม ตอนที่ 105
- สนทนาธรรม ตอนที่ 106
- สนทนาธรรม ตอนที่ 107
- สนทนาธรรม ตอนที่ 108
- สนทนาธรรม ตอนที่ 109
- สนทนาธรรม ตอนที่ 110
- สนทนาธรรม ตอนที่ 111
- สนทนาธรรม ตอนที่ 112
- สนทนาธรรม ตอนที่ 113
- สนทนาธรรม ตอนที่ 114
- สนทนาธรรม ตอนที่ 115
- สนทนาธรรม ตอนที่ 116
- สนทนาธรรม ตอนที่ 117
- สนทนาธรรม ตอนที่ 118
- สนทนาธรรม ตอนที่ 119
- สนทนาธรรม ตอนที่ 120