แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1895
ครั้งที่ ๑๘๙๕
สาระสำคัญ
ม.มู.อนุมานสูตร การพิจารณาตนเอง
เรื่องของวิริยเจตสิก วิริยะในความหมายต่างๆ
ธัมมปัชโชติกา อรรถกถา ขุ.มหา. - วิริยินทรีย์
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๓๒
ท่านผู้ฟังคิดว่า ท่านเป็นคนขี้ระแวงหรือเปล่า
ถ้าเป็นมิตรกัน มีความหวังดีต่อกัน มีความเชื่อมั่น ไม่ต้องระแวงเลย แต่ เวลาที่จะระแวง หมายความว่าท่านต้องมีความไม่พอใจ มีความขุ่นใจบางอย่าง บางประการที่ทำให้ท่านเป็นผู้ที่ระแวง และการระแวงต้องเกิดจากความไม่พอใจ ซึ่งเป็นความโกรธ ถ้าเป็นคนที่ท่านพอใจ ไว้ใจ เป็นมิตร จะไม่มีความระแวงเลย แต่ถ้าเป็นคนที่ท่านไม่พอใจ เพียงเห็นนิดเดียว ความระแวงหรือคิดระแวงทำให้เป็นผู้ที่ระแวงจัดด้วยจิตตวิปลาส เพราะว่าเพียงเห็นก็ระแวงไปสารพัด
เคยระแวงคนในบ้านบ้างไหม คนที่ท่านไม่พอใจ จะเป็นคนที่อยู่ด้วยกัน หรือคนที่มาช่วยรับใช้ในบ้านก็ตาม ถ้าเป็นผู้ที่มีความประพฤติดีเรียบร้อย ไม่มีอะไรที่ท่านต้องระแวง แต่เวลาที่ท่านมีความระแวงเกิดขึ้น หมายความว่ามีความไม่พอใจ บางสิ่งบางประการในบุคคลนั้นว่า จะทำสิ่งที่ท่านไม่พอใจยิ่งกว่านั้นอีก
เพราะฉะนั้น ขณะใดที่เกิดระแวง ระลึกถึงจิตตวิปลาส ซึ่งคิดไปมากมาย ในเรื่องต่างๆ โดยที่ว่าขณะนั้นก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่ปรากฏและดับไปเท่านั้นเอง แต่เมื่อมีโมหะ ความไม่รู้ มีการยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคลต่างๆ จึงทำให้จิตวิปลาสคิดระแวงไปเป็นเรื่องราวต่างๆ มากมาย ซึ่งความจริงเรื่องนั้นก็ไม่ได้เกิด และ ความระแวงนั้นก็เป็นเพียงความคิดของท่านเท่านั้นเอง
ชีวิตประจำวันเป็นอย่างนี้หรือเปล่า พิจารณาตัวท่านเองว่า ท่านเป็นผู้ที่ มีจิตตวิปลาสคือเป็นผู้ที่มักระแวงจัดหรือเปล่า ถ้าเป็นก็ควรละอกุศลธรรมอันชั่วช้า นั้นเสีย เพราะว่าไม่มีประโยชน์
ประการต่อไป
ภิกษุพึงพิจารณาตนด้วยตนเองอย่างนี้ว่า เราเป็นจำเลยถูกโจทก์ฟ้อง กลับโต้เถียงโจทก์หรือไม่ หากพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า เราเป็นจำเลยถูกโจทก์ฟ้อง กลับโต้เถียงโจทก์จริง ก็ควรพยายามเพื่อที่จะละอกุศลธรรมอันชั่วช้านั้นเสีย หากพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า เราเป็นจำเลยถูกโจทก์ฟ้อง ไม่กลับโต้เถียงโจทก์ ภิกษุนั้นพึงอยู่ด้วยปีติและปราโมทย์นั้นทีเดียว หมั่นศึกษาทั้งกลางวันกลางคืน ในกุศลธรรมทั้งหลาย
วันหนึ่งๆ เป็นโจทก์ หรือว่าเป็นจำเลย มีใครเข้าใจท่านผิดบ้างหรือเปล่า หรือท่านเข้าใจบุคคลอื่นผิดบ้างหรือเปล่า และในขณะที่ท่านเป็นจำเลยถูกโจทก์ฟ้อง กลับโต้เถียงโจทก์หรือไม่
เรื่องของสภาพธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด ซึ่งข้อความต่อไปมีว่า
อีกประการหนึ่ง ภิกษุพึงพิจารณาตนด้วยตนเองอย่างนี้ว่า เราเป็นจำเลย ถูกโจทก์ฟ้อง กลับรุกรานโจทก์หรือไม่
เป็นลักษณะอาการต่างๆ ของผู้ที่เห็นผิด เข้าใจผิด ประพฤติผิดด้วย อกุศลธรรม
อีกประการหนึ่ง ภิกษุพึงพิจารณาตนด้วยตนเองอย่างนี้ว่า เราเป็นจำเลย ถูกโจทก์ฟ้อง กลับปรักปรำโจทก์หรือไม่
เป็นวิธีการของอกุศลธรรมซึ่งเป็นไปโดยวิธีต่างๆ ถ้าชีวิตของบรรพชิตเป็น อย่างนี้แล้ว ชีวิตของคฤหัสถ์จะยิ่งกว่านี้สักแค่ไหน
ข้อความต่อไปมีว่า
อีกประการหนึ่ง ภิกษุพึงพิจารณาตนด้วยตนเองอย่างนี้ว่า เราเป็นจำเลย ถูกโจทก์ฟ้อง กลับเอาเรื่องอื่นมากลบเกลื่อน พูดนอกเรื่อง แสดงความโกรธ ความมุ่งร้าย และความไม่เชื่อฟังให้ปรากฏหรือไม่
อีกประการหนึ่ง ภิกษุพึงพิจารณาตนด้วยตนเองอย่างนี้ว่า เราเป็นจำเลย ถูกโจทก์ฟ้อง ไม่พอใจตอบในความประพฤติหรือไม่
อีกประการหนึ่ง ภิกษุพึงพิจารณาตนด้วยตนเองอย่างนี้ว่า เราเป็นคนลบหลู่ ตีเสมอหรือไม่
อีกประการหนึ่ง ภิกษุพึงพิจารณาตนด้วยตนเองอย่างนี้ว่า เราเป็นคนริษยา เป็นคนตระหนี่หรือไม่
อีกประการหนึ่ง ภิกษุพึงพิจารณาตนด้วยตนเองอย่างนี้ว่า เราเป็นคนโอ้อวด เจ้ามายาหรือไม่ หากพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า เราเป็นคนโอ้อวดเจ้ามายาจริง ก็ควรพยายามเพื่อที่จะละอกุศลธรรมอันชั่วช้านั้นเสีย หากพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า เราไม่เป็นคนโอ้อวด ไม่เป็นคนเจ้ามายา ภิกษุนั้นพึงอยู่ด้วยปีติและปราโมทย์นั้นทีเดียว หมั่นศึกษาทั้งกลางวันกลางคืนในกุศลธรรมทั้งหลาย
อีกประการหนึ่ง ภิกษุพึงพิจารณาตนด้วยตนเองอย่างนี้ว่า เราเป็นกระด้าง ดูหมิ่นผู้อื่นหรือไม่
อีกประการหนึ่ง ภิกษุพึงพิจารณาตนด้วยตนเองอย่างนี้ว่า เราเป็นคนถือเอาแต่ความเห็นของตน ถือรั้น ถอนได้ยากหรือไม่ หากพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า เราเป็นคนถือเอาแต่ความเห็นของตน ถือรั้น ถอนได้ยากจริง ก็ควรพยายามเพื่อที่จะละอกุศลธรรมอันชั่วช้านั้นเสีย หากพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า เราไม่เป็นคนถือเอาแต่ความเห็นของตน ไม่ถือรั้น ถอนได้ง่าย ภิกษุนั้นพึงอยู่ด้วยปีติและปราโมทย์นั้นทีเดียว หมั่นศึกษาทั้งกลางวันกลางคืนในกุศลธรรมทั้งหลาย
จะมีใครที่พิจารณาอย่างนี้บ้างหรือเปล่า หรือฟังไปแต่ไม่ขยันที่จะพิจารณา เพราะว่าเป็นเรื่องของวิริยะที่จะพิจารณาตนเอง และต้องเป็นผู้ที่ตรง คือ ไม่เข้าข้างตนเองด้วย สำหรับผู้ใดที่พิจารณาอย่างนี้ และมีความเพียรที่จะละอกุศลเหล่านี้ เป็นผู้ที่ว่าง่าย แต่ถ้าผู้ใดมีธรรมฝ่ายตรงกันข้าม คือ เป็นจริงอย่างนี้ แต่ไม่เพียรเพื่อที่จะละ ก็มีธรรมที่ทำให้เป็นผู้ที่ว่ายาก
เพราะฉะนั้น เรื่องที่จะไปคิดดับกิเลสหมด ไม่มีกิเลสเลย ต้องทราบว่า จะยากกว่านี้ไหม เพียงแต่การพิจารณาตนเองจริงๆ แม้ว่าสติปัฏฐานไม่เกิด แต่กุศลขั้นอื่นก็เกิดได้ และถ้าทำไม่ได้วันละ ๓ ครั้ง ๒ ครั้งได้ไหม ๑ ครั้งได้ไหม หรือว่า หลายๆ วันครั้งหนึ่ง
นี่เป็นเรื่องของวิริยเจตสิกทั้งหมด
ขอกล่าวถึงลักษณะของความเพียร ไม่ว่าจะเป็นทางกายหรือทางวาจา ก็เป็น วิริยเจตสิกนั่นเอง
สัทธัมมปัชโชติกา อรรถกถา ขุททกนิกาย มหานิทเทส อรรถกถา ตุวฏกสุตตนิทเทสที่ ๑๔ อธิบายวิริยินทรีย์ มีข้อความว่า
พึงทราบวินิจฉัยในนิทเทสแห่งวิริยินทรีย์ ดังต่อไปนี้
บทว่า เจตสิโก ท่านกล่าวเพื่อแสดงว่า ความเพียรเป็นไปทางจิตโดยแน่นอน เพราะความเพียรนี้ท่านกล่าวว่า เจตสิก ก็เพื่อแสดงว่า ความเพียรเป็นไปทางกาย ไม่มี มีแต่เป็นไปทางจิตเท่านั้น ดุจกายวิญญาณ แม้กล่าวว่าเป็นไปทางกาย แต่ก็เป็นนามธรรมที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางกาย
เพราะฉะนั้น นามธรรมนั่นเองเป็นสภาพธรรมที่ทำให้เกิดความเพียรทางกายหรือทางใจ แม้แต่ความเพียรทางกายที่ทุกท่านขยันทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ให้ทราบว่า ในขณะนั้นที่กายจะเพียร ก็เพราะวิริยเจตสิกนั่นเอง
ข้อความในพระสูตรยกตัวอย่างเช่น ผู้ที่จงกรม ไม่เกียจคร้าน ไม่ง่วง ดูลักษณะอาการภายนอกก็จะเห็นได้ว่า เป็นความเพียรทางกาย แต่แท้จริงที่ความเพียรทางกายนั้นจะเกิดได้ ก็เพราะความเพียรทางใจ คือ วิริยเจตสิก
ข้อความต่อไปกล่าวถึงความเพียรที่เจริญขึ้นจนถึงวิริยสัมโพชฌงค์ ซึ่งเป็น องค์ธรรมของการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม และได้กล่าวถึงความหมายของวิริยะ ในความหมายต่างๆ เช่น
บทว่า วิริยารัมโภ ความว่า อารัมภะ คือ วิริยะ
ถ้าได้ยินคำว่า วิริยารัมโภ ก็หมายความถึงวิริยเจตสิก ข้อความต่อไป อธิบายเรื่องศัพท์ คือ อารัมภะ มีความหมายหลายอย่าง เช่น หมายความถึงกรรม อาบัติ กิริยา เป็นต้น
อารัมภะ มาในความว่า วิริยะ ในบทนี้ว่า ท่านทั้งหลายจงพยายาม จงออกไป จงขวนขวายในพระพุทธศาสนาเถอะ
ลักษณะของความเพียรซึ่งควรจะเจริญ มีข้อความว่า
จริงอยู่ ความเพียร ท่านเรียกว่า อารัมภะ ด้วยสามารถแห่งความพยายาม บทว่า วิริยารัมโภ นี้ เป็นบทแสดงถึงสภาวะของความเพียรนั้น
ความเพียรนั้นคือความเพียรอะไร
คือ การก้าวออกด้วยการออกไปจากความเกียจคร้าน การก้าวหน้าด้วยการก้าวไปสู่ฐานะอื่นๆ ความขวนขวายด้วยการย่างขึ้นไป ความพยายามด้วยการไป ไม่หยุด ความอุตสาหะด้วยความขะมักเขม้น ความขยันด้วยความขะมักเขม้นอย่างสูง ความมั่นคงด้วยตั้งอยู่ในความหนักแน่น ความทรงไว้เพราะทรงไว้ด้วยสามารถการ ทรงจิตและเจตสิกไว้ได้ หรือทรงความสืบต่อแห่งกุศลไว้ด้วยสามารถความเป็นไป โดยไม่ขาดตอน
นี่คืออาการของวิริยะทั้งหมด ทั้งก้าวออกไปจากความเกียจคร้าน ก้าวไปสู่ฐานะอื่น ขวนขวายต่อไปอีก พยายามโดยไม่หยุด มีความอุตสาหะขะมักเขม้น มีความมั่นคงหนักแน่นที่จะก้าวต่อไป
อีกนัยหนึ่ง ความก้าวออกนี้เพื่อบรรเทากามทั้งหลาย ความก้าวหน้านี้เพื่อ ตัดความผูกพัน ความขวนขวายนี้เพื่อถอนโอฆะ ความพยายามนี้เพื่อไปถึงฝั่ง ความอุตสาหะนี้เพื่อไปข้างหน้า ความขยันนี้เพื่อความยิ่งขึ้นไป ความมั่นคงนี้ เพื่อถอนกิเลสเพียงดังกลอนเหล็ก ความทรงไว้นี้เพื่อไม่หยุดยั้ง ความก้าวหน้ามิได้ ย่อหย่อนด้วยสามารถการก้าวไปไม่หยุดในกาลอันเป็นไปอย่างนี้ว่า หนัง เอ็น และกระดูกจงเหลืออยู่ก็ตาม อธิบายว่า ก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง
อนึ่ง เพราะความเพียรนี้ไม่ปลงฉันทะ ไม่ทอดธุระ ไม่ข้ามไป ไม่สละ นำมาซึ่งความเป็นผู้ไม่ท้อถอยในที่ที่ทำกุศลกรรม ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ความไม่ปลงฉันทะ ความไม่ทอดธุระ ดังนี้ เหมือนอย่างว่า ชนทั้งหลายกล่าวว่า พวกท่าน จงคอยจับโคนำสินค้าไปในที่ที่เจิ่งไปด้วยน้ำใกล้ฝั่งคงคา โคนั้นแม้คุกเข่าลงที่พื้น ก็ยังนำสินค้าไปได้ไม่ให้สินค้าตกลงที่พื้น ฉันใด ภิกษุไม่ทอดธุระ ประคองความเพียรไว้ในที่ที่ทำกุศลกรรมก็ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ประคองธุระไว้
นี่เป็นลักษณะของความเพียร ซึ่งแต่ละท่านจะทราบได้ว่า ความเพียรของท่านมากน้อยแค่ไหน และจะต้องเพียรต่อไป
ผู้ฟัง วันหนึ่งๆ มีแต่เพียรหาอกุศลมากกว่าที่จะไปเพียรหากุศล ที่อาจารย์กล่าวว่า มีวิริยสัมโพชฌงค์อีก ฟังดูแล้วก็ยิ่งไกล สมัยพุทธกาลคำสอนต่างๆ เหล่านั้น พรั่งพร้อมทั้งคนสอนและผู้ที่มีกุศลจิต ทั้งธรรมด้วย และพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ยังอยู่ สาวกก็ยังอยู่มากมาย ฟังดูแล้วช่างไพเราะเหลือเกิน สมัยนี้หูของเราคงรับกุศลธรรมหนักๆ อย่างนั้นไม่ไหว
สุ. แต่ก็เปรียบเทียบได้ พระธรรมจะทำให้ท่านระลึกถึงความเพียรของท่าน ถ้าเพียรในอกุศล รู้สึกว่าท่านเพียรกันได้ไม่ท้อถอยเลย แม้แต่ตามข้อความที่ว่า พวกท่านจงคอยจับโคนำสินค้าไปในที่ที่เจิ่งไปด้วยน้ำใกล้ฝั่งคงคา โคนั้นแม้คุกเข่าลง ที่พื้นก็ยังนำสินค้าไปได้ คือ ให้คิดถึงสัตว์ที่มีความเพียรที่จะนำสินค้าไป แม้โดยคุกเข่าลงก็ยังสามารถนำสินค้าไปไม่ให้สินค้าตกลงที่พื้น นั่นคือสัตว์ที่เพียรใน ฝ่ายอกุศล เพราะฉะนั้น ถ้าเปลี่ยนจากฝ่ายอกุศลเป็นทางฝ่ายกุศล ทำไมอ่อนแอ และรู้สึกว่าเพียรไม่ไหว เพียรไม่ได้ แต่ให้เพียรทางฝ่ายอกุศล ทำไมเข้มแข็งและ เพียรได้ถึงอย่างนั้น
ผู้ฟัง ขณะฟังอาจารย์พูดอยู่ ก็ยังเพียรไปอกุศล คือ มองนาฬิกาอยู่เรื่อยว่าเมื่อไรจะหมดเวลา แย่จริงๆ
สุ. เพราะฉะนั้น ให้ทราบได้ว่า ชื่อว่าวิริยินทรีย์ เพราะทำความเป็นใหญ่ในลักษณะประคองไว้ ยังประคองให้อยู่ในทางกุศลอยู่ ชื่อว่าวิริยพละ เพราะไม่หวั่นไหวไปในความเกียจคร้าน ชื่อว่าสัมมาวายามะ เพราะพยายามในกุศลอันนำสัตว์ออกไปจากทุกข์ได้แน่นอน คือ ต้องเกิดพร้อมสติปัฏฐานที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรม แต่เมื่อวิริยะมี ธรรมที่ตรงกันข้ามกับวิริยะก็มี
ธรรมอะไรที่ตรงกันข้ามกับวิริยะ
บทว่า ตันทิ ความเกียจคร้าน บทว่า ตันทิยา คือ อาการเกียจคร้าน
บอกให้ทำอะไรก็ทำไม่ได้ เพราะอะไรถึงทำไม่ได้ ก็เพราะเกียจคร้าน แต่จริงๆ แล้วแม้ในขณะนั้นก็มีวิริยะ วิริยะต้องเกิดด้วยกับชวนจิต เพราะว่าไม่เกิดกับอเหตุกจิตเพียง ๑๖ ดวง เพราะฉะนั้น วิริยะนั้นประคองให้เกียจคร้านต่อไป
ถ้าเป็นลักษณะของความเกียจคร้านที่เราเข้าใจ คือ การไม่ขยัน ไม่อุตสาหะ ไม่มีความเพียรที่จะทำกิจใดๆ ให้สำเร็จ โดยเฉพาะกิจการงานทางฝ่ายกุศล เพราะฉะนั้น ความเกียจคร้านก็เป็นธรรมที่ตรงกันข้ามกับความขยัน
บทว่า ตันทิมนกตา ความเป็นผู้เกียจคร้าน คือ ความเป็นผู้มีจิต ถูกความเกียจคร้านครอบงำ
ใครที่ไม่ขยันก็ควรที่จะได้พิจารณาตนเอง
ความเป็นแห่งความเกียจคร้าน ชื่อว่าอาลสิยัง ความเกียจคร้าน
อาการแห่งความขี้เกียจ ชื่อว่าอาลสายนา กิริยาที่ขี้เกียจ
ความเป็นแห่งคนขี้เกียจ ชื่อว่าอาลสายิตัตตัง ความเป็นคนขี้เกียจ
บางคนไม่เพียงเกียจคร้านซึ่งเป็นอกุศล แต่ยังขยันในอกุศล คือ บางคน เกียจคร้าน ไม่ทำอะไร ซึ่งเป็นอกุศล แต่บางคนไม่ใช่อย่างนั้น ยังขยันในอกุศลอีก ถ้าพระธรรมไม่แสดงไว้โดยละเอียด ย่อมไม่สามารถระลึกได้เลยว่า ในขณะนั้น เป็นอกุศล ข้อความในพระธรรมที่จะแสดงต่อไปจะทำให้ระลึกได้ว่า ขณะใดเป็น อกุศลบ้าง
ถ. ในกลุ่มของผม คุยกันแล้วมีความรู้สึกว่า อานาปานสติเป็นอย่างไร จึงจะถูกต้อง บางครั้งฟังจากอาจารย์แล้วคิดว่า เราควรเจริญสติปัฏฐานเป็นสำคัญมากกว่าไปมุ่งทางด้านอานาปานสติ บางครั้งก็เข้าใจกันอย่างหนักแน่นมากจนกระทั่งถือว่าอานาปานสติเป็นเรื่องยากที่จะให้ถูกต้อง ก็อย่าไปพยายามทำเลยจะดีกว่า อาจจะนึกไปอย่างนั้นก็ได้ แต่ผมไปพบข้อความในพระไตรปิฎกตอนหนึ่งอยู่ใน สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เป็นพุทธพจน์บอกว่า
ดูกร อานนท์ ธรรมอย่างหนึ่ง คือ อานาปานสติ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมทำสติปัฏฐาน ๔ อย่างให้บริบูรณ์ สติปัฏฐาน ๔ อันบุคคล เจริญแล้วทำให้มากแล้ว ย่อมทำให้โพชฌงค์ ๗ อย่างให้บริบูรณ์ โพชฌงค์ ๗ อันบุคคลเจริญทำให้มากแล้ว ย่อมทำวิชชา วิมุตติ ให้บริบูรณ์
ผมขอเรียนถามว่า อานาปานสติอันจะทำให้สติปัฏฐาน ๔ อย่างนั้นให้บริบูรณ์ ตามพระพุทธภาษิตนี้ ทำอย่างไรจึงจะถูกต้อง และให้สติปัฏฐาน ๔ อย่างนั้นบริบูรณ์ได้อย่างไร เพราะว่าอานาปานสติก็เป็นเพียงกายานุปัสสนา และอานาปานสติที่ทำให้บริบูรณ์แล้ว ทำไมไปเกี่ยวกับเวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา และธัมมานุปัสสนา
ผมเชื่อพุทธภาษิตที่ท่านบอกว่า อานาปานสติอันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมทำสติปัฏฐาน ๔ อย่างให้บริบูรณ์ และต่อๆ ไป แต่มีปัญหาว่า ทำอย่างไร อานาปานสติจึงจะให้เป็นอย่างนี้
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๙๐ ตอนที่ ๑๘๙๑ – ๑๙๐๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1884
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1885
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1886
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1887
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1888
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1889
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1890
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1891
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1892
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1893
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1894
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1895
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1896
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1897
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1898
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1899
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1900
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1901
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1902
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1903
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1904
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1905
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1906
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1907
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1908
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1909
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1910
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1911
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1912
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1913
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1914
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1915
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1916
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1917
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1918
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1919
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1920
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1921
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1922
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1923
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1924
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1925
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1926
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1927
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1928
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1929
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1930
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1931
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1932
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1933
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1934
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1935
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1936
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1937
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1938
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1939
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1940
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1941
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1942
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1943
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1944
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1945
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1946
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1947
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1948
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1949