แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1899
ครั้งที่ ๑๘๙๙
สาระสำคัญ
อรรถกถา สังขารยมก - จิต เจตสิกทั้งหมดในสังสารวัฏฏ์
จริยา.อ. (ปรมัตถทีปนี) - กามทั้งหลาย มีความยินดีน้อย แต่มีการผูกพันมาก
โลกมืดเพราะอวิชชา
ขุททก.อ. (ปรมัตถโชติกา) - พระคุณต่างๆ ของพระรัตนตรัย การรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๓๒
ถ้าจะพิจารณาเพื่อให้เกิดความสลด และเกิดวิริยะที่จะเห็นประโยชน์ของ การเพียรระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ คงไม่ลืมข้อความที่ว่า
จิตและเจตสิกคือธรรมทั้งหลาย ออกไปภายนอกจากอารมณ์ของภวังค์ สู่อารมณ์อื่นคือรู้อารมณ์อื่น แล้วก็กลับเป็นภวังคจิตอย่างรวดเร็ว
เพียงเท่านี้ก็จะเห็นได้ว่า ชั่วขณะๆ ซึ่งข้อความใน อรรถกถาสังขารยมก มีข้อความสั้นๆ คือ
ปฐมจิต ทุติยจิต และปัจฉิมจิต
จิตเจตสิกทั้งหมดในสังสารวัฏฏ์ ย่อแล้วมีข้อความสั้นๆ ว่า ปฐมจิต ทุติยจิต และปัจฉิมจิต
ปฐมจิต หมายถึงภวังค์ที่เกิดต่อจากปฏิสนธิ เมื่อมีปฏิสนธิ การเกิดขึ้น ชั่วขณะเดียวขณะแรกและดับไป หลังจากนั้นแล้วเป็นภวังค์ เพราะฉะนั้น ภวังค์ทั้งหมดเป็นปฐมจิต เพราะว่าเหมือนกัน มีอารมณ์เดียวกัน เกิดดับสืบต่อดำรงภพชาติไว้ ไม่มีอะไรต่างในขณะที่กำลังเป็นภวังคจิต
อาวัชชนจิต ชื่อว่าทุติยจิต เพราะว่าเปลี่ยนจากอารมณ์ของภวังค์สู่อารมณ์อื่น และเร็วมาก ทางตาที่เห็นเป็นกุศล เป็นอกุศล และกลับเป็นภวังค์อีก ทางหูที่ได้ยิน เป็นกุศล เป็นอกุศล และกลับเป็นภวังค์อีก
ไม่ว่าใครจะริษยา ใครจะผูกโกรธ หรือจะเป็นกุศลประเภทใดๆ ก็ตาม สภาพธรรมไม่มีสาระ เพราะว่าเกิดดับสืบต่อตามเหตุตามปัจจัยและกลับเป็นภวังค์ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าดี ไม่ว่าชั่ว ในวันหนึ่งๆ และตลอดมาในสังสารวัฏฏ์ ก็เพียงแต่ ปฐมจิต ทุติยจิต คือ ออกไปสู่อารมณ์อื่น และกลับสู่ภวังค์เท่านั้นเองจริงๆ จนกว่าจะถึงปัจฉิมจิต คือ จุติจิตของพระอรหันต์ซึ่งเป็นจิตขณะสุดท้ายจริงๆ
ถ้าจะพิจารณาให้เห็นสภาพธรรมในความไม่มีสาระ ชาติก่อนๆ จะเคย สุขสำราญ จะเคยมีปราสาทราชวัง จะเคยมีผู้ที่ผูกโกรธอาฆาตริษยาต่างๆ ก็ผ่าน ไปแล้วหมด ไม่มีอะไรเหลือจริงๆ ชาติก่อนเป็นอย่างนั้นฉันใด ชาตินี้ก็เป็น อย่างนั้นแหละ และชาติต่อๆ ไปก็จะเป็นอย่างนี้
และถ้าสรุปจิตจริงๆ ก็มีแต่ปฐมจิต ทุติยจิต จนกว่าจะถึงปัจฉิมจิตเมื่อไร เมื่อนั้นก็ทราบได้ว่า ตราบใดที่ยังไม่ปรินิพพาน ตราบนั้นก็เหมือนคนที่ทำการงาน ที่รอเวลาเลิกงานเท่านั้น เพราะว่าต้องมีกรรมที่ให้ผลจนกว่าจะถึงปรินิพพาน โดย ต้องเห็น ต้องได้ยิน ต้องได้กลิ่น ต้องลิ้มรส ต้องรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แต่ไม่มี กิเลสใดๆ เลยหลังจากบรรลุความเป็นพระอรหันต์แล้ว เพราะฉะนั้น ปัจฉิมจิต คือ จิตสุดท้าย เป็นจุติจิตของพระอรหันต์
เพราะฉะนั้น วันนี้ไม่มีสาระเลย เหมือนชาติก่อนๆ ไม่ว่ากุศล อกุศล ก็คือ ปฐมจิต ทุติยจิต เท่านั้นเอง แต่ยังไม่ถึงปัจฉิมจิต เพราะยังคงต้องมีปฐมจิตและทุติยจิต อบรมเจริญปัญญาเรื่อยไปจนกว่าจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงการดับ กิเลสหมดเป็นสมุจเฉท เป็นพระอรหันต์
จะเห็นได้ว่า ถ้าปัญญาไม่เกิด และยังเป็นผู้ที่หลงติดยินดีในชั่วขณะจิต ที่ออกจากภวังค์มารู้อารมณ์ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง เพียงสั้นๆ และกลับเป็นภวังค์อีก ด้วยความไม่รู้ ก็จะทำให้มีอวิชชาหรือว่ากิเลสเพิ่ม
ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก มีข้อความว่า
กามทั้งหลาย (คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ) มีความยินดีน้อย (แต่) มีการผูกพันด้วยสิ่งที่ไม่มีประโยชน์มากมาย
รูปที่น่าพอใจทางตา เสียงที่น่าพอใจทางหู สั้นๆ น้อยมาก ถ้าจะให้เกิด ความยินดีก็ให้เกิดความยินดีเพียงเล็กน้อย แต่โทษคือการผูกพันด้วยสิ่งที่ ไม่มีประโยชน์มากมาย
ดุจลิ้มเลียหยาดน้ำผึ้งที่ติดอยู่บนคมมีด
กล้าไหม ลิ้มเลียหยาดน้ำผึ้งที่ติดอยู่บนคมมีด ทุกคนกำลังกล้ามาก ที่ยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่แสนสั้นและเป็นโทษ
เพราะตั้งอยู่บนความเศร้าหมองทั้งสิ้น เพราะคับแค้นมากด้วยบุตรภรรยา เป็นต้น เพราะวุ่นวายด้วยการตั้งใจทำการงานหลายอย่างมีกสิกรรมและพาณิชยกรรมเป็นต้น
นี่คือความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ท่านที่ยังไม่มีครอบครัว คงไม่รู้ถึงความคับแค้นมากด้วยบุตรภรรยา แต่ท่านที่มีครอบครัวแล้วคงพิจารณาได้ว่า เป็นความจริง แต่แม้กระนั้นผู้ที่ไม่มีครอบครัว ตัวคนเดียว คิดว่าไม่ต้องดิ้นรนเดือดร้อนเท่าผู้ที่มีครอบครัว ก็ไม่หายวุ่น ไม่ใช่ว่าไม่มีครอบครัวจะไม่วุ่น แม้ไม่มีครอบครัวก็ยังวุ่นวาย ด้วยการตั้งใจทำการงานหลายอย่างมีกสิกรรมและพาณิชยกรรมเป็นต้น
ได้เวลานิดหน่อย ดุจการฟ้อนรำที่ต้องใช้แสงไฟ
เวลาที่รู้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพียงเล็กน้อยจริงๆ ชั่วขณะที่ออกจากภวังค์มารู้อารมณ์ภายนอก อุปมาเหมือนกับ ได้เวลานิดหน่อย ดุจการฟ้อนรำที่ต้อง ใช้แสงไฟ
ได้สัญญาวิปริต ดุจเครื่องประดับของคนบ้า
ไม่ว่าจะพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ก็เหมือน ได้สัญญาวิปริต ดุจเครื่องประดับของคนบ้า เป็นการตอบแทน ท่านอาจจะเป็นผู้ที่ มีการงานสำคัญ มีลาภ มียศ มีสรรเสริญ มีตำแหน่ง มีเกียรติยศ แต่ให้ทราบว่า นั่นคือ สัญญาวิปริต ดุจเครื่องประดับของคนบ้า
ดุจปกปิดไว้ด้วยคูถ ไม่อิ่ม ดุจดื่มน้ำที่นิ้วมืออันเปียกด้วยน้ำ
ไม่มีใครอิ่มในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ความไม่อิ่มของทุกคนเปรียบเหมือนดื่มน้ำที่นิ้วมืออันเปียกด้วยน้ำ เพราะฉะนั้น ไม่มีทางที่จะอิ่มได้
มีความไม่สบาย ดุจบริโภคอาหารในเวลาหิว เป็นเหตุรวมความพินาศ ดุจเหยื่อที่เบ็ด เป็นเหตุเกิดทุกข์ใน ๓ กาล ดุจความร้อนของไฟ มีการผูก เป็นเครื่องหมาย ดุจยางดักลิง เป็นที่ตั้งแห่งภัย ดุจอยู่บ้านศัตรู
อยู่บ้านท่านเองปลอดภัย ใช่ไหม แต่เวลาที่อยู่บ้านศัตรูจะเกิดอันตรายวันไหนเมื่อไรก็ไม่ทราบ เพราะฉะนั้น การที่มีความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะในกามทั้งหลาย ได้รับทุกข์โทษเพราะกามทั้งหลายเมื่อไร ก็เหมือนกับ อยู่บ้านของศัตรู
เป็นเหยื่อของกิเลสมารเป็นต้น ดุจเลี้ยงศัตรู มีทุกข์เกิดจากการปรวนแปรไป ดุจสมบัติมหรสพ
ในละคร ในหนัง ทุกคนก็เห็นปราสาทราชวัง มีสมบัติมากมาย แต่ก็เป็นเพียงสมมติในเรื่องเท่านั้นเอง
มีการเผาภายใน ดุจไฟในโพรงไม้ … เป็นเหตุแห่งความกระหาย ดุจดื่มน้ำเค็ม การเสพของชนชั้นต่ำ ดุจสุราเมรัย
เพราะเหตุว่าเป็นความหลงผิดในกามทั้งหลายนั่นเอง
ถ้าเห็นโทษเห็นภัยอย่างนี้ ทุกคนคงจะมีวิริยะเป็นบารมีที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม และที่ได้ฟังเรื่องของจิต เจตสิก รูป ซ้ำไปซ้ำมา ก็เพื่อให้สติสัมปชัญญะสามารถรู้ว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล จนกว่าจะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรม
ถึงแม้ว่าธรรมจะเป็นสิ่งที่มีจริง แต่ก็เป็นสภาพที่รู้ได้แสนยาก ถ้าไม่ได้ อบรมเจริญปัญญาที่จะสามารถเข้าใจและรู้สภาพธรรมนั้น
ผู้ที่ศึกษาธรรมแล้วย่อมเข้าใจความหมายที่ว่า โลกมืดเพราะอวิชชา เพราะ ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงตรัสรู้ ไม่ทรงแสดงพระธรรม ก็ไม่มีใครเข้าใจลักษณะของสภาพที่กำลังปรากฏว่าเป็นแต่เพียงธรรมแต่ละอย่าง ถึงแม้ว่าขณะนี้สภาพธรรมกำลังมีจริงๆ แต่อวิชชาก็ปิดกั้นไม่ให้เห็นว่า สภาพธรรมในขณะนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะ เหตุปัจจัยและดับไป ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
ขณะนี้ท่านผู้ฟังก็พิสูจน์ได้ สภาพธรรมกำลังปรากฏ แต่เมื่อยังไม่ประจักษ์ ก็ไม่มีการที่จะละคลายการยึดถือสภาพธรรมนั้นว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้
ถ้าพิจารณาถึงสภาพของธรรมซึ่งเป็นอวิชชาและปัญญา จะเห็นได้ว่า ก่อนการตรัสรู้นั้นโลกมืด มืดด้วยอวิชชา เพราะแม้สภาพธรรมปรากฏแต่ก็ไม่สามารถรู้ลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรมนั้นๆ ได้ และเมื่อพระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงประกาศพระอริยสัจจธรรม ความสว่างด้วยปัญญาคือการสามารถประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมก็เกิดขึ้นในโลก แต่เฉพาะในพุทธบริษัท ตามข้อความใน ปรมัตถโชติกา อรรถกถา ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ซึ่งอุปมาว่า
พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนพระจันทร์เพ็ญ พระธรรมเปรียบเหมือนกลุ่มรัศมีของพระจันทร์ พระสงฆ์เปรียบเหมือนโลกที่เอิบอิ่มด้วยรัศมีของพระจันทร์เพ็ญที่ทำให้เกิดขึ้น
แต่ไม่ใช่ทั้งโลก เฉพาะโลกของแต่ละบุคคล คือ บุคคลใดที่ฟัง พิจารณา เข้าใจ อบรมเจริญปัญญา รู้แจ้งอริยสัจจธรรม บุคคลนั้นก็เหมือนโลกที่เอิบอิ่ม ด้วยรัศมีของพระจันทร์เพ็ญที่ทำให้เกิดขึ้น บุคคลผู้นั้นก็สามารถขจัดความมืดออกได้
พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนดวงอาทิตย์ทอแสงอ่อนๆ พระธรรมดังกล่าวเปรียบเหมือนข่ายรัศมีของดวงอาทิตย์นั้น พระสงฆ์เปรียบเหมือนโลกที่ดวงอาทิตย์นั้น กำจัดมืดแล้ว
บางครั้งเปรียบพระผู้มีพระภาคเหมือนพระจันทร์ บางครั้งเปรียบเหมือน พระอาทิตย์ ซึ่งความหมายก็คือความสว่าง การรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงนั่นเอง
พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนคนเผาป่า (ป่าคือกิเลส) พระธรรมเปรียบเหมือนไฟ เครื่องเผาป่า พระสงฆ์ที่เป็นบุญเขตเพราะเผากิเลสได้แล้ว เปรียบเหมือนภูมิภาค ที่เป็นเขตนาเพราะเผาป่าเสียแล้ว
ถ้าพิจารณาตามไปจะเห็นความจริงว่า ทุกคนที่ยังมีกิเลสไม่สามารถดับกิเลสได้ ถ้าไม่มีพระธรรมซึ่งเป็นเครื่องเผาป่าคือกิเลสนั้น เพราะฉะนั้น ก็มีข้ออุปมา หลายอย่างที่เป็นพระคุณต่างๆ ของพระรัตนตรัย
พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนเมฆฝนใหญ่ พระธรรมเปรียบเหมือนน้ำฝน พระสงฆ์ผู้ระงับละอองกิเลสเปรียบเหมือนชนบทที่ระงับละอองฝุ่นเพราะฝนตก
ฝุ่นเยอะมาก จะระงับไปได้ก็เพราะฝนที่เกิดจากเมฆใหญ่ เพราะฉะนั้น กิเลส คือ ฝุ่นของแต่ละคนที่ยังไม่ได้ระงับ วันหนึ่งก็ฟุ้งไปต่างๆ นานา แล้วแต่ว่าจะเป็นประเภทไหน
พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนสารถีที่ดี พระธรรมเปรียบเหมือนอุบายฝึก ม้าอาชาไนย พระสงฆ์เปรียบเหมือนฝูงม้าอาชาไนยที่ฝึกมาดีแล้ว
ผู้ที่ได้ศึกษาพระธรรม น้อมประพฤติปฏิบัติตามธรรม กาย วาจา ใจของผู้นั้น ก็สงบจากกิเลสขึ้น ซึ่งผู้นั้นเองจะรู้สึกตัวว่าเป็นผู้ที่ฝึกแล้ว แต่ฝึกโดยใคร ก็ฝึกโดย พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงสำหรับฝึกตนจริงๆ
พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนศัลยแพทย์เพราะทรงถอนลูกศรคือทิฏฐิได้หมด พระธรรมเปรียบเหมือนอุบายที่ถอนลูกศรออกได้ พระสงฆ์ผู้ถอนลูกศรคือทิฏฐิ ออกแล้ว เปรียบเหมือนชนที่ถูกถอนลูกศรออกแล้ว
การฟังพระธรรม ก็เพื่อพิจารณาเข้าใจสภาพของตนเอง ซึ่งกำลังมีลูกศรเสียบ เป็นทุกข์มากเพราะอวิชชา เพราะอกุศลทั้งหลาย เช่น โลภะ โทสะ โมหะ และ อกุศลอื่นๆ เกิดขึ้นขณะใด เป็นทุกข์ขณะนั้น เหมือนถูกเสียบด้วยลูกศร เพราะฉะนั้น การที่จะถอนลูกศรคือทิฏฐิ ต้องอาศัยพระธรรมเป็นทางที่จะถอนลูกศร ซึ่งพระสงฆ์ ผู้ถอนลูกศรคือทิฏฐิออกแล้ว เปรียบเหมือนชนที่ถูกถอนลูกศรออกแล้ว
พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนจักษุแพทย์เพราะทรงลอกพื้นชั้นโมหะออกได้แล้ว พระธรรมเปรียบเหมือนอุบายเครื่องลอกพื้นของตา พระสงฆ์ผู้มีพื้นชั้นตาอันลอกแล้ว ผู้มีดวงตาคือญาณอันสดใส เปรียบเหมือนชนที่ลอกพื้นตาแล้วมีดวงตาสดใส
คนที่เป็นต้อคงจะเห็นได้ชัดว่า มองไม่ชัดและพร่ามัวไปหมด เพราะฉะนั้น เวลาที่ปัญญาไม่เกิด ก็ไม่สามารถรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ แต่เมื่อใด มีตาคือญาณอันสดใส ขณะนั้นก็จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง
พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนแพทย์ผู้ฉลาดเพราะทรงสามารถกำจัดพยาธิ คือกิเลสพร้อมทั้งอนุสัยออกได้ พระธรรมเปรียบเหมือนเภสัชยาที่ทรงปรุงถูกต้องแล้ว พระสงฆ์ผู้มีพยาธิคือกิเลสและอนุสัยอันระงับแล้ว เปรียบเหมือนหมู่ชนที่พยาธิ ระงับแล้วเพราะใช้ยา
กำลังป่วยไข้กันอยู่ แต่เดินเหินได้ตามปกติ เพราะเป็นโรคใจ ไม่ใช่โรคทางกาย และยาที่จะรักษาโรคทุกโรคของใจ ก็ต้องเป็นพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดง และผู้นั้นศึกษาเข้าใจสามารถที่จะรักษาจิตใจของตนเองได้
พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนผู้ชี้ทาง พระธรรมเปรียบเหมือนทางดีหรือพื้นที่ ที่ปลอดภัย พระสงฆ์เปรียบเหมือนผู้เดินทางถึงที่ที่ปลอดภัย
ขณะนี้ทุกคนมีอันตรายรอบข้าง อาจจะคิดว่าเป็นอันตรายจากโจร จากผู้ร้าย จากคนที่ไม่หวังดี แต่บุคคลเหล่านั้นไม่สามารถทำร้ายใจของท่านได้ อย่างมากที่สุด ที่จะทำร้ายได้คือทำร้ายกาย ทำร้ายทรัพย์สมบัติ แต่สำหรับจิตใจนั้นต้องเป็นกิเลส ของท่านเอง เพราะฉะนั้น ทุกคนกำลังอยู่ในที่ที่ไม่ปลอดภัย แล้วแต่ว่าขณะใดกิเลส จะเกิดขึ้นทำร้ายเมื่อใด เมื่อนั้นก็จะเห็นได้ว่า ที่ที่อยู่ไม่ปลอดภัยเลย
พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนนายเรือที่ดี พระธรรมเปรียบเหมือนเรือ พระสงฆ์เปรียบเหมือนชนที่เดินทางถึงฝั่ง
ขณะนี้ก็เหมือนกับว่ากำลังอยู่ในหนทางที่จะไปสู่ฝั่ง แล้วแต่ว่าจะถึงเมื่อไร สำหรับผู้ที่ศึกษาแล้วก็มีความเข้าใจ และกำลังค่อยๆ เดินทางไปถึงฝั่ง แต่ต้องขึ้นเรือที่มีทิศทางที่ดี คือ พระธรรม
พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนป่าหิมพานต์ พระธรรมเปรียบเหมือนโอสถยา ที่เกิดขึ้นที่ป่าหิมพานต์นั้น พระสงฆ์เปรียบเหมือนชนที่ไม่มีโรคเพราะใช้ยา
พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนผู้ประทานทรัพย์ พระธรรมเปรียบเหมือนทรัพย์ พระสงฆ์ผู้ได้อริยทรัพย์มาโดยชอบเปรียบเหมือนชนผู้ได้ทรัพย์ตามที่ประสงค์
พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนผู้ชี้ขุมทรัพย์ พระธรรมเปรียบเหมือนขุมทรัพย์ พระสงฆ์เปรียบเหมือนชนผู้ได้ขุมทรัพย์
พระพุทธเจ้าผู้เป็นวีรบุรุษเปรียบเหมือนผู้ประทานความไม่มีภัย พระธรรมเปรียบเหมือนไม่มีภัย พระสงฆ์ผู้ล่วงภัยทุกอย่างเปรียบเหมือนชนผู้ถึงความไม่มีภัย
ถ้าท่านที่กำลังมีทุกข์โศก
พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนผู้ปลอบ พระธรรมเปรียบเหมือนการปลอบ พระสงฆ์เปรียบเหมือนชนผู้ถูกปลอบ
พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนมิตรดี พระธรรมเปรียบเหมือนคำสอนที่เป็น หิตประโยชน์ พระสงฆ์เปรียบเหมือนชนผู้ประสบประโยชน์ตนเพราะประกอบ หิตประโยชน์
พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนบ่อเกิดทรัพย์ พระธรรมเปรียบเหมือนทรัพย์ ที่เป็นสาระ พระสงฆ์เปรียบเหมือนชนผู้ใช้ทรัพย์ที่เป็นสาระ
พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนผู้ทรงสรงสนานพระราชกุมาร พระธรรมเปรียบเหมือนน้ำที่สนานตลอดพระเศียร พระสงฆ์ผู้สรงสนานดีแล้วด้วยน้ำคือพระสัทธรรม เปรียบเหมือนหมู่พระราชกุมารที่สรงสนานดีแล้ว
ถ้ามีความสกปรกเพราะกิเลสก็ต้องชำระล้าง และสิ่งที่จะชำระให้สะอาดก็คือพระธรรม เพราะฉะนั้น ก็คงจะต้องชำระด้วยพระธรรมกันไปเรื่อยๆ
ท่านที่ชอบเครื่องตกแต่งก็มีคำอุปมาว่า
พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนช่างผู้ทำเครื่องประดับ พระธรรมเปรียบเหมือนเครื่องประดับ พระสงฆ์ผู้ประดับด้วยพระสัทธรรมเปรียบเหมือนพระราชโอรส ผู้ทรงประดับแล้ว
พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนต้นจันทน์ พระธรรมเปรียบเหมือนกลิ่นอันเกิดจาก ต้นจันทน์นั้น พระสงฆ์ผู้ระงับความเร่าร้อนได้สิ้นเชิงเพราะพระสัทธรรมเปรียบเหมือน ชนผู้ระงับความร้อนเพราะใช้จันทน์
พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนบิดาผู้มอบมรดก พระธรรมเปรียบเหมือนมรดก พระสงฆ์ผู้สืบมรดกคือพระสัทธรรมเปรียบเหมือนพวกบุตรผู้สืบมรดก
พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนดอกปทุมที่บาน พระธรรมเปรียบเหมือนน้ำ ที่เกิดจากดอกปทุมที่บานนั้น พระสงฆ์เปรียบเหมือนหมู่ภมรที่ดูดกินน้ำนั้น
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๙๐ ตอนที่ ๑๘๙๑ – ๑๙๐๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1884
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1885
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1886
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1887
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1888
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1889
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1890
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1891
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1892
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1893
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1894
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1895
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1896
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1897
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1898
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1899
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1900
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1901
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1902
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1903
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1904
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1905
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1906
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1907
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1908
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1909
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1910
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1911
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1912
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1913
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1914
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1915
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1916
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1917
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1918
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1919
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1920
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1921
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1922
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1923
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1924
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1925
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1926
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1927
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1928
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1929
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1930
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1931
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1932
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1933
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1934
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1935
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1936
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1937
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1938
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1939
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1940
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1941
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1942
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1943
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1944
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1945
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1946
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1947
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1948
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1949