แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1901
ครั้งที่ ๑๙๐๑
สาระสำคัญ
ขุ. ปฏิ. วิปลาสกถา - ว่าด้วยวิปลาส ๔
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๓๒
ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค วิปัลลาสกถา ว่าด้วย วิปลาส ๔ ข้อ ๕๒๕ – ข้อ ๕๒๖
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัญญาวิปลาส จิตตวิปลาส ทิฏฐิวิปลาสนี้ มี ๔ ประการ
ไม่ได้มีแต่ทิฏฐิวิปลาส แสดงให้เห็นว่าความวิปลาส ความคลาดเคลื่อน ปรวนแปรไปจากความเป็นจริงนั้น ไม่ใช่เฉพาะทิฏฐิ แต่สัญญาก็วิปลาสได้ และจิตก็วิปลาสได้
๔ ประการเป็นไฉน ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัญญาวิปลาส (ความ คลาดเคลื่อนไป) จิตตวิปลาส ทิฏฐิวิปลาส ในสภาพที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง ในสภาพที่ เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข ในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตนว่าตัวตน ในสภาพที่ไม่งามว่างาม
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัญญาไม่วิปลาส จิตไม่วิปลาส ทิฏฐิไม่วิปลาสนี้ มี ๔ ประการ ๔ ประการเป็นไฉน ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัญญาไม่วิปลาส จิตไม่วิปลาส ทิฏฐิไม่วิปลาส ในสภาพที่ไม่เที่ยงว่าไม่เที่ยง ในสภาพที่เป็นทุกข์ว่า เป็นทุกข์ ในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตนว่าไม่ใช่ตัวตน ในสภาพที่ไม่งามว่าไม่งาม
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัญญาไม่วิปลาส จิตไม่วิปลาส ทิฏฐิไม่วิปลาส ๔ ประการนี้แล
สัตว์ทั้งหลายมีความสำคัญในสภาพที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง มีความสำคัญ ในสภาพที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข มีความสำคัญในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตนว่าเป็นตัวตน มีความสำคัญในสภาพที่ไม่งามว่างาม ถูกความเห็นผิดนำไป มีจิตกวัดแกว่ง มีสัญญาผิด สัตว์เหล่านั้นติดอยู่ในบ่วงของมาร เป็นสัตว์ไม่มีความปลอดโปร่งจากกิเลส ต้องไปสู่สงสาร เป็นผู้ถึงชาติและมรณะ เมื่อใดพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เสด็จอุบัติขึ้นในโลก ทรงส่องแสงสว่าง พระพุทธเจ้าเหล่านั้นทรงประกาศธรรมนี้ อันให้ถึงความสงบระงับทุกข์ เมื่อนั้นสัตว์ทั้งหลายผู้มีปัญญาได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าเหล่านั้นแล้วกลับได้ความคิดชอบ เห็นสภาพที่ไม่เที่ยงโดยความ เป็นสภาพไม่เที่ยง เห็นสภาพที่เป็นทุกข์โดยความเป็นทุกข์ เห็นสภาพที่ไม่ใช่ตัวตนโดยความเป็นสภาพไม่ใช่ตัวตน และเห็นสภาพที่ไม่งามว่าไม่งาม เป็นผู้ถือมั่นสัมมาทิฏฐิ ล่วงพ้นทุกข์ทั้งปวง ฉะนี้แล
วิปลาส ๔ ประการนี้ บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิละได้แล้ว ละทั่วแล้ว วิปลาสเหล่าใดละได้แล้ว เหล่าใดละทั่วแล้ว
ความสำคัญผิด ความคิดผิด ความเห็นผิด ในสภาพที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง ละได้แล้ว
ความสำคัญ ความคิด ในสภาพเป็นทุกข์ว่าเป็นสุขเกิดขึ้น ทิฏฐิวิปลาส ละได้แล้ว
ความสำคัญผิด ความคิดผิด ความเห็นผิด ในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตนว่าตัวตน ละได้แล้ว
ความสำคัญ ความคิด ในสภาพที่ไม่งามว่างามเกิดขึ้น ทิฏฐิวิปลาส ละได้แล้ว
วิปลาส ๖ ในวัตถุ ๒ ละได้แล้ว วิปลาส ๒ ในวัตถุ ๒ ละได้แล้ว วิปลาส ๔ ละทั่วแล้ว และวิปลาส ๘ ในวัตถุ ๔ ละได้แล้ว วิปลาส ๔ ละทั่วแล้ว
ถ้าท่านผู้ฟังต้องการความละเอียดก็พิจารณาตามในสูตรนี้ ซึ่งก็เป็นเรื่องของสัญญาวิปลาส จิตตวิปลาส ทิฏฐิวิปลาส และการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมตามลำดับขั้น ซึ่งละวิปลาสเป็นขั้นๆ
การศึกษาธรรมก็เพื่อให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงในวันหนึ่งๆ แม้แต่เรื่องของวิปลาสทั้ง ๓ ก็ควรที่จะได้พิจารณาว่า สัญญาวิปลาส ได้แก่ สัญญาเจตสิก จิตตวิปลาส ได้แก่ อกุศลจิต และทิฏฐิวิปลาส ได้แก่ ทิฏฐิเจตสิกเพราะฉะนั้น เป็นสภาพธรรมที่ต่างกัน ไม่ใช่เอาสัญญาวิปลาสมาเป็นทิฏฐิวิปลาส เพราะแม้ทิฏฐิวิปลาสคือมิจฉาทิฏฐิจะดับหมดแล้ว สัญญาวิปลาสและจิตตวิปลาส ก็ยังเหลืออยู่ แสดงให้เห็นถึงความละเอียดและความต่างกันของทั้งสัญญาวิปลาส จิตตวิปลาส และทิฏฐิวิปลาส
ข้อความใน อรรถกถา วิภังคปกรณ์ สติปัฏฐานวิภังค์ มีว่า
นามธรรมที่ไม่ปรากฏ เช่น ผัสสะ เป็นต้น คล้ายกับความมืด
ขณะนี้ผัสสเจตสิกเกิดทุกขณะจิต สัญญาเจตสิกก็เกิดทุกขณะจิต แต่ใครเห็น ก็เหมือนกับอยู่ในความมืดที่ไม่สามารถระลึก หรือแทงตลอด หรือรู้ลักษณะที่เกิดขึ้น ทำกิจการงานของนามธรรมเหล่านั้นได้เลย ฉะนั้น จึงต้องอาศัยพระธรรมและ การพิจารณาพระธรรมเพื่อคลายความสงสัยในวิปลาสทั้ง ๓ โดยพิจารณาเป็นขั้นๆ คือ จิตเกิดทุกขณะ สัญญาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง แต่ทิฏฐิเจตสิกไม่ได้เกิดกับ จิตทุกดวง นี่คือความต่างกัน เพราะฉะนั้น สัญญา วิปลาสได้ในขณะที่เป็นอกุศลจิต โดยที่ไม่มีทิฏฐิคือความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย
ในขณะที่เป็นอกุศล มีอวิชชา มีความไม่รู้ มีสัญญาที่จำลักษณะของ สิ่งที่ปรากฏ แต่เมื่อปัญญาไม่สามารถแทงตลอดลักษณะที่เกิดดับของสภาพธรรม ที่ไม่ใช่ตัวตนในขณะนั้น ความจำของสัญญาจึงไม่ได้จำในลักษณะที่เกิดขึ้นและดับไป แต่ความจำของสัญญา จำคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง
แม้ว่าสภาพธรรมเกิดและดับๆ สัญญาก็จำสิ่งที่กำลังปรากฏซึ่งเป็นอารมณ์และดับไป ไม่ว่าจะจำทางตาก็ดับ จำทางหูก็ดับ จำทางจมูก จำทางลิ้น จำทางกาย จำทางใจก็ดับ แต่แม้กระนั้นสัญญาขณะนั้นก็เป็นแต่เพียงสภาพที่จำเท่านั้น และ จำคลาดเคลื่อน เพราะสภาพธรรมเกิดดับแต่ไม่ได้จำว่าเกิดดับเลย เนื่องจาก ลักษณะของสัญญาในขณะนั้นจำคลาดเคลื่อน เป็นสัญญาวิปลาสในขณะที่อวิชชาเกิดขึ้น ทำให้มีความจำคลาดเคลื่อนอย่างนั้น
สัญญาเจตสิกเป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิก ถ้ามีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วย สัญญานั้นก็เป็นอกุศล ถ้ามีกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วย สัญญานั้นก็เป็นกุศล แต่สัญญาเป็นเหตุให้เกิดทิฏฐิคือความเห็นได้ เพราะว่าไม่ใช่สัญญาที่จำลักษณะที่ไม่เที่ยง ที่เกิดขึ้นและดับไป ที่เป็นทุกข์ ที่เป็นอนัตตา ที่ไม่งาม
เพราะฉะนั้น สัญญาที่คลาดเคลื่อนเป็นเหตุทำให้เกิดทิฏฐิวิปลาส คือ ความเห็นที่ลูบคลำการยึดติดในสภาพธรรมที่ปรากฏโดยสภาพที่เป็นตัวตน เที่ยง และเป็นสุข ขณะนั้นเป็นความเห็นผิด คือ เห็นว่าสภาพธรรมไม่ได้เกิดดับ และเป็นตัวตน เพราะถ้ามีการสนทนาเกิดขึ้นถึงเรื่องที่ว่า ขณะนี้สภาพธรรมเกิดดับหรือเปล่า ถ้ามีผู้ที่ตอบว่า ไม่เกิดดับ สภาพธรรมเที่ยง ขณะนั้นก็แสดงให้เห็นว่า เป็นความเห็นผิด แล้วแต่ว่าจะเป็นขั้นใด แต่ในขณะที่คิดอย่างนั้น เข้าใจอย่างนั้น ต้องเป็นทิฏฐิวิปลาส
การพิจารณาแยกลักษณะของสัญญาวิปลาสกับทิฏฐิวิปลาส ในชีวิตประจำวัน คือ ทุกคนจำได้ใช่ไหมว่า ใครชื่ออะไร เก็บอะไรไว้ที่ไหน ขณะที่อ่านหนังสือต่างๆ ก็จำได้ว่า ขณะนั้นเป็นเรื่องราวอะไร ไม่ว่าจะกำลังเขียน กำลังพูด กำลังนึก ขณะนั้นลักษณะของสัญญาปรากฏชัดโดยที่ไม่มีความเห็นผิดใดๆ อย่างท่านที่จำได้ว่า เก็บหนังสือไว้ในตู้ ขณะนั้นจะเป็นมิจฉาทิฏฐิ เป็นความเห็นผิดหรือเปล่า หรือเป็นเพียงสัญญา ความจำ
แต่ขณะใดที่จิตไม่เป็นไปในกุศล ขณะนั้นจิตต้องเป็นอกุศล แม้ขณะที่เพียง นึกขึ้นทางใจว่า เก็บหนังสือไว้ในตู้ ซึ่งเป็นเรื่องราว ก็จะพิจารณาเห็นได้ว่า เป็นเพียงสัญญาความจำ ไม่ใช่ทิฏฐิวิปลาส แต่ขณะนั้นเมื่อเป็นอกุศล สัญญานั้น จึงเป็นสัญญาวิปลาส
ถ. เรื่องวิปลาส พูดทีไรผมก็ไม่แจ่มแจ้งสักที ฟังแล้วก็ยังสับสนอยู่ไม่รู้ว่าอะไรเป็นสัญญาวิปลาส อะไรเป็นทิฏฐิวิปลาส แยกไม่ออก อย่างทิฏฐิวิปลาส ตามที่ได้ศึกษาเล่าเรียนว่า สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แต่ที่เห็นอย่างนี้ รู้สึกว่าไม่สามารถทำลายทิฏฐิได้ เพราะเป็นความจำที่จำตามเรื่องราวที่ศึกษาเล่าเรียนเท่านั้นเอง ผมคิดว่า ตราบใดที่ยังไม่ประจักษ์ลักษณะของสภาวธรรม ทิฏฐิวิปลาสก็ต้องเกิดอยู่ตลอดเวลา
สุ. ถ้าใช้คำว่า ตลอดเวลา อย่างที่ได้บรรยายในแนวทางเจริญสติปัฏฐานตอนต้นๆ เมื่อได้กลับไปฟังเทปอีกครั้งหนึ่ง ดิฉันใช้คำว่า มีความยึดถือสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจว่าเป็นตัวตนทุกขณะ หรือตลอดเวลา
ขอเรียนให้ทราบว่า ควรแก้เป็น อนุสัยกิเลส หมายความว่า มีอนุสัยกิเลส คือ กิเลสที่ละเอียดอยู่ตลอดเวลา แต่ตอนที่บรรยายนั้นจุดมุ่งหมายเพื่อเน้นให้เข้าใจถึงความเห็นผิดและการอบรมเจริญปัญญา แต่คำบรรยายในตอนต้นๆ ไม่ละเอียด เพราะฉะนั้น ก็ใช้คำที่หละหลวม
ขณะนี้ถ้าจะมีการกล่าวว่า เรามีความเห็นผิดอยู่ตลอดเวลา ก็ขอให้ทราบว่า โดยอนุสัยกิเลส ไม่ใช่โดยขณะจิต ถ้าโดยขณะจิตต้องแยกละเอียดมากจนกระทั่งว่า ขณะนี้เป็นจิตประเภทไหน
ถ้ามีความสำคัญว่าเป็นเรา ต้องมีเหตุการณ์เกิดขึ้นจึงจะมีความสำคัญว่า เป็นเรา เช่น มีมานะเกิดขึ้น ขณะที่มีความสำคัญตนว่าเป็นเรา ขณะนั้นเป็นเรา โดยมานะ เพราะฉะนั้น มีเรา ๓ อย่าง คือ มีเราโดยตัณหา มีเราโดยทิฏฐิ และมีเราโดยมานะ ต้องแยกว่า เราโดยตัณหา หรือเราโดยทิฏฐิ หรือเราโดยมานะ
ถ. อาจารย์พูดอย่างนี้ทำให้เข้าใจง่ายขึ้น คือ ถ้าเราโดยตัณหา เราโดยมานะ ๒ อย่างนี้ต้องเกิดตลอดเวลา
สุ. ตลอดเวลาก็ยังไม่ใช่ คำว่า ตลอดเวลา ขอให้เข้าใจว่า หมายความถึงอนุสัยกิเลสดีกว่า
ถ. แต่สัญญาจำผิดอยู่ตลอด สัญญาไม่ได้จำถูกเลย ยังเห็นว่าเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นสิ่งของ ไม่ได้เห็นว่าเป็นสภาวธรรม
สุ. เพราะฉะนั้น เป็นสัญญาวิปลาสเมื่ออกุศลจิตเกิด
ถ. เห็นอย่างนี้อยู่ตลอดเวลา ไม่เรียกว่าเป็นสัญญาวิปลาสตลอดเวลาหรือ
สุ. ถ้าเข้าใจสัญญาวิปลาส ก็แยกสัญญาวิปลาสออกจากทิฏฐิวิปลาส คือ ขั้นที่ ๑ ขอให้แยกสัญญาวิปลาสออกจากทิฏฐิวิปลาสก่อน
ถ. ทิฏฐิวิปลาสอาจจะไม่เกิดตลอดเวลาอย่างที่อาจารย์ว่า แต่สัญญาวิปลาส ผมเข้าใจว่ากำลังเกิดตลอด
สุ. ต้องเกิดพร้อมกับอกุศลจิต ขณะใดที่อวิชชาเกิดขึ้น ขณะนั้นสัญญาวิปลาส จิตตวิปลาส ส่วนทิฏฐิวิปลาส ต้องแล้วแต่ว่าจะเป็นโลภมูลจิต ที่มีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วยหรือไม่ ถ้าไม่ใช่โลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ก็ไม่ใช่ ทิฏฐิวิปลาส
ถ. สัญญาวิปลาสต้องเกิดกับอกุศลจิตเท่านั้น ถ้าเกิดกับมหากุศลก็ ไม่ถือว่าเป็นสัญญาวิปลาส
สุ. เป็นการแสดงความลึกของอกุศล ที่ใช้คำว่า วิปลาส เพื่อให้เห็นว่า การละอกุศลต้องละอย่างละเอียด แม้ว่าละทิฏฐิเจตสิกเป็นสมุจเฉท ก็ยังเหลือสัญญาวิปลาส เพราะว่ายังมีอวิชชาอยู่
ถ. แต่จิตตวิปลาสยังดับไม่ได้ ใช่ไหม
สุ. คิดดู พระโสดาบันละทิฏฐิ ดับทิฏฐิเจตสิกไม่เกิดอีกเลย แต่ยังมีสัญญาวิปลาสกับจิตตวิปลาสในขณะที่เป็นอกุศล
ไม่ว่าจะคิดเรื่องอะไร อย่างเวลาที่ท่านเจ้าของจดหมายยกตัวอย่างเรื่องของสัตว์เลี้ยง ขณะที่เห็นสัตว์เลี้ยงก็เกิดความรักใคร่ ในขณะนั้นมีสัญญาจำแน่นอน มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา และสัญญาก็จำสิ่งนั้น และจิตก็วิปลาสไปด้วยโลภะ เป็นเรื่องราวของสิ่งที่ปรากฏ แต่ไม่ใช่ทิฏฐิคตสัมปยุตต์ แต่วิปลาสไปในเรื่องราวของ สิ่งที่กำลังปรากฏ
ถ. ในขณะที่จิตเป็นกุศล สัญญาไม่วิปลาส จิตไม่วิปลาส ผมยังมองไม่เห็นอย่างอาจารย์ คือ ขณะที่กำลังให้ทาน จิตเป็นกุศล ขณะนั้นสัญญาก็จำว่าเที่ยง ก็น่าจะวิปลาสเหมือนกัน
สุ. เป็นเรื่องเป็นราว ใช่ไหม
ถ. เป็นพระภิกษุองค์นั้น เป็นเรากำลังให้ทาน ก็น่าจะวิปลาส
สุ. แต่อวิชชาไม่ได้เกิดในขณะนั้น ศรัทธาเกิด สติเกิด
ถ. แต่ไม่ใช่สติปัฏฐาน
สุ. แม้ไม่ใช่สติปัฏฐานก็ตาม มิฉะนั้นแล้วจะเอาอะไรละวิปลาส
ถ. นั่นซิ กุศลขั้นทาน ขั้นศีล ละวิปลาสได้หรือ
สุ. ละไม่ได้ แต่หมายความว่าขณะนั้นไม่เกิด ละไม่ได้ แต่โสภณธรรมเกิด เมื่อโสภณธรรมเกิด อกุศลเจตสิกทั้งหลายจึงเกิดไม่ได้
ถ. ก็จงเป็นผู้มีจิตตวิปลาสต่อไป
สุ. ต้องเข้าใจความละเอียด เพราะใน ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค วิปัลลาสกถา ข้อ ๕๒๖ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัญญาไม่วิปลาส จิตไม่วิปลาส ทิฏฐิไม่วิปลาสนี้ มี ๔ ประการ ๔ ประการเป็นไฉน ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัญญาไม่วิปลาส จิตไม่วิปลาส ทิฏฐิไม่วิปลาส ในสภาพที่ไม่เที่ยงว่าไม่เที่ยง ในสภาพที่เป็นทุกข์ว่า เป็นทุกข์ ในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตนว่าไม่ใช่ตัวตน ในสภาพที่ไม่งามว่าไม่งาม ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัญญาไม่วิปลาส จิตไม่วิปลาส ทิฏฐิไม่วิปลาส ๔ ประการนี้แล
เหมือนที่คิดเมื่อกี้ ใช่ไหม ตรงตามที่ได้กล่าว ถ้าไม่วิปลาส ก็ในขณะที่ สัญญา จิต และทิฏฐิ จำไม่ผิด คิดไม่ผิด เห็นไม่ผิด ในสภาพที่ไม่เที่ยงว่าไม่เที่ยง ในสภาพที่เป็นทุกข์ว่าเป็นทุกข์ ในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตนว่าไม่ใช่ตัวตน ในสภาพที่ไม่งามว่าไม่งาม และอย่าลืมว่า อกุศลธรรมทั้งหลายจะค่อยๆ คลาย ค่อยๆ หมดไป ด้วยอะไร ถ้ายังมีวิปลาสในขณะที่กุศลจิตเกิด อะไรจะละวิปลาสนั้น ปัญญา ก็ต้องเกิดกับกุศล
ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดมากจริงๆ ตามข้อความที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เห็นสภาพที่ไม่เที่ยงว่าไม่เที่ยง เห็นสภาพที่เป็นทุกข์ว่าเป็นทุกข์ เห็นสภาพที่ ไม่ใช่ตัวตนว่าไม่ใช่ตัวตน เป็นการเริ่มต้นของการละวิปลาสได้ไหม
ถ. ถ้าอาจารย์ใช้คำว่า เป็นการเริ่มต้นที่จะละวิปลาส ก็คงต้องเห็นด้วย ไปก่อน แต่ปัญญายังไม่เห็น อย่างผู้ที่กำลังทำฌานอยู่ ผู้ที่ได้ฌานยิ่งหนักไปใหญ่เลย เป็นกุศลแน่เพราะเป็นสัมมาสมาธิและได้ฌานถึงขั้นนั้น ซึ่งเขาก็สำคัญว่าเที่ยง เกิดในรูปพรหมอยู่เป็นแสนๆ ปี หมื่นๆ ปี เขาเข้าใจว่าเที่ยงก็น่าจะเป็นสัญญาวิปลาส แต่อาจารย์ก็บอกว่า ขณะนั้นเป็นกุศล
สุ. ในขณะที่เห็นว่าเที่ยงเป็นกุศลไม่ได้ คนละขณะจิต
ถ. แต่เขาก็คิดไป อย่างท่านอาฬารดาบส อุทกดาบส ท่านคงคิดว่าเที่ยง เพราะว่าผู้ที่ได้ฌานอยู่กันนานเหลือเกิน แต่ไม่ถึงขนาดเห็นผิด และถ้ากล่าวว่า เป็นคนละขณะ ซึ่งขณะจิตนี่ไม่มีอะไรสามารถแยกได้ อย่างนี้ก็ต้องยอม เพราะว่าธรรมของพระพุทธเจ้าลึกซึ้ง ต้องมีอะไรที่ลึกๆ ที่เรายังมองไม่เห็น
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๙๑ ตอนที่ ๑๙๐๑ – ๑๙๑๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1884
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1885
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1886
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1887
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1888
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1889
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1890
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1891
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1892
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1893
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1894
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1895
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1896
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1897
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1898
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1899
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1900
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1901
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1902
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1903
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1904
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1905
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1906
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1907
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1908
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1909
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1910
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1911
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1912
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1913
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1914
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1915
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1916
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1917
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1918
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1919
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1920
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1921
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1922
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1923
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1924
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1925
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1926
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1927
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1928
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1929
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1930
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1931
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1932
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1933
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1934
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1935
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1936
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1937
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1938
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1939
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1940
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1941
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1942
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1943
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1944
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1945
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1946
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1947
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1948
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1949