แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1885
ครั้งที่ ๑๘๘๕
สาระสำคัญ
วิปลาสจะเกิดในขณะไหน
การศึกษาเรื่องจิต เรื่องเจตสิก เพื่อจะรู้จักตนเองตามความเป็นจริง
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๙ กรกฏาคม ๒๕๓๒
เพราะฉะนั้น ต้องพิจารณาโดยละเอียดจริงๆ ว่า ขณะไหนที่วิปลาสจะเกิด และขณะไหนที่ไม่ใช่วิปลาส เช่น ขณะที่นอนหลับสนิทสำหรับผู้ที่เกิดเป็นมนุษย์ จะพิการหรือไม่พิการตั้งแต่กำเนิดก็ตามแต่ ก็ไม่มีมิจฉาทิฏฐิเกิดร่วมด้วย ไม่มีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วย
สัตว์ดิรัจฉานมีความเห็นผิดไหมในขณะที่นอนหลับสนิท ไม่มี สภาพธรรมต้องเป็นอย่างนั้น เปลี่ยนไม่ได้เลย ความเป็นจริงเป็นอย่างไรก็ต้องเป็นอย่างนั้น แต่จะ เป็นวิปลาสเมื่อตื่นและเริ่มเห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ได้กลิ่นบ้าง รู้โผฏฐัพพะบ้าง คิดนึกบ้าง
ขอให้พิจารณาวิถีจิตทางตา เวลาที่รูปารมณ์กระทบกับจักขุปสาท หรือวิถีจิตที่เกิดขึ้นรู้เสียงทางหู วิถีจิตที่เกิดขึ้นรู้กลิ่นทางจมูก วิถีจิตที่เกิดขึ้นลิ้มรสที่กระทบลิ้น วิถีจิตที่เกิดขึ้นรู้สิ่งที่กำลังกระทบสัมผัส วิถีจิตที่คิดนึกว่าขณะไหนจะเป็นวิปลาส
ขณะที่จักขุปสาทเกิดมีอายุ ๑๗ ขณะ กระทบกับรูปารมณ์ซึ่งมีอายุ ๑๗ ขณะ เวลาที่จักขุทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้นเป็นขณะแรกซึ่งไม่ใช่ภวังค์ เพราะมีการรู้ว่า อารมณ์กระทบกับจักขุปสาท ในขณะนั้นเป็นกิริยาจิต ไม่ใช่กุศลจิต และไม่ใช่ อกุศลจิต ขณะนั้นสัญญาวิปลาสหรือยัง จิตตวิปลาสหรือยัง ขณะที่เป็น จักขุทวาราวัชชนจิต เพิ่งเป็นวิถีจิตแรกที่รู้ว่าอารมณ์กระทบ ยังไม่เห็น เพียงรู้เท่านั้น ชั่วขณะเดียว และก็เป็นกิริยาจิต ขณะนั้นวิปลาสหรือยัง ก็ยังไม่วิปลาส
แสดงให้เห็นถึงเรื่องของเจตสิกต่างๆ ที่เป็นธาตุแต่ละชนิดจริงๆ ว่า ต้องเป็นอกุศลธาตุ ต้องเป็นเจตสิกที่เป็นฝ่ายอกุศลที่จะทำให้เกิดวิปลาสขึ้น แต่ขณะที่ไม่ใช่อกุศลจิตยังไม่เป็นวิปลาส เพียงแต่รู้ว่ามีอารมณ์กระทบที่จักขุปสาท เมื่อ จักขุทวาราวัชชนจิตดับ จักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็นทำทัสสนกิจ เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ เพียงเห็น ทำกิจเห็นนิดเดียว ในขณะนี้จักขุวิญญาณกำลังทำกิจเพียงเห็นนิดเดียว นั่นคือกิจของจักขุวิญญาณ เป็นวิบากจิต ขณะนั้นวิปลาสหรือยัง ยังไม่วิปลาส ทั้งสัญญาและจิตไม่วิปลาส เมื่อจักขุวิญญาณดับไปแล้ว สัมปฏิจฉันนจิตเกิด วิปลาสหรือยัง ยังไม่วิปลาสเหมือนกัน เพราะว่าสัมปฏิจฉันนจิตเป็นวิบากจิต ทำกิจรับอารมณ์ต่อจากจักขุวิญญาณ เพียงรับต่อเท่านั้นชั่วขณะเดียว ขณะนั้นยัง ไม่วิปลาส เมื่อสัมปฏิจฉันนจิตดับแล้ว สันตีรณจิตซึ่งเป็นวิบากจิตต้องเกิดขึ้นทำกิจพิจารณาอารมณ์ต่อจากสัมปฏิจฉันนะ ชั่วขณะจิตเดียวเท่านั้น ขณะนั้นก็ยังไม่วิปลาส
เมื่อสันตีรณจิตดับแล้ว มโนทวาราวัชชนจิตเกิดทางปัญจทวารทำโวฏฐัพพนกิจ ก่อนชวนจิตจะเกิด เพียงทำกิจโวฏฐัพพนะในขณะนั้น เป็นกิริยาจิต ชั่วขณะจิตเดียว ขณะนั้นยังไม่วิปลาส ต่อเมื่อมโนทวาราวัชชนจิตซึ่งทำโวฏฐัพพนกิจดับไปแล้ว อกุศลจิตเกิดเมื่อไร ขณะนั้นสัญญาวิปลาส จิตตวิปลาส และถ้าขณะนั้นมี ความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย ก็เป็นทิฏฐิวิปลาสด้วย
แต่ในวันหนึ่งๆ พิจารณาได้ว่า ความเห็นผิดไม่ได้เกิดบ่อยเลย ส่วนใหญ่แล้วเป็นแต่เพียงสัญญาวิปลาสและจิตตวิปลาสเพราะว่ามีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วย ซึ่งอวิชชาก็เกิดขึ้นพร้อมกับโลภมูลจิต โทสมูลจิต โมหมูลจิตในขณะนั้น นอกจากอวิชชา ก็มีธาตุอื่นๆ ซึ่งเป็นเจตสิกต่างๆ เช่น อหิริกธาตุ อโนตตัปปธาตุ อุทธัจจธาตุ เหล่านี้เป็นเจตสิกแต่ละชนิด ซึ่งมีเหตุปัจจัยก็เกิดและดับ ขณะนั้นก็วิปลาส
เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า สภาพธรรมเกิดเพราะมีเหตุปัจจัย และเป็นแต่เพียงธาตุแต่ละชนิดซึ่งอาศัยกันเกิดและก็ดับ ถ้าเป็นอกุศลจิตก็มีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วย พร้อมทั้งสัพพจิตตสาธารณเจตสิก คือ ผัสสะก็เป็นอกุศล เวทนาก็เป็นอกุศล สัญญา เจตนา เอกัคคตา ชีวิตินทรีย์ มนสิการ สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ ดวง เป็นอกุศลทั้งหมด ในขณะที่เกิดกับอกุศลจิต
ปกิณณกเจตสิกก็เป็นอกุศลด้วย เพราะว่านอกจากทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง จิตอื่นๆ ต้องมีปกิณณกเจตสิกเกิดร่วมด้วย คือ ต้องมีวิตกเจตสิก วิจารเจตสิก อธิโมกขเจตสิก วิริยเจตสิก ปีติเจตสิก ฉันทเจตสิกเกิดร่วมด้วย เว้นตามสมควร เช่น ถ้าเป็นโมหมูลจิต ก็เว้นฉันทเจตสิก ถ้าขณะนั้นจิตเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนาก็เว้น ปีติเจตสิก
แสดงให้เห็นว่า สภาพธรรมไม่มีใครไปจัดสรร หรือทำอะไรได้เลย เป็นสิ่งที่อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้นเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงพร้อมทั้งเหตุปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้สภาพธรรมแต่ละอย่างเกิดขึ้นเป็นไปในขณะนั้น
เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมเจริญปัญญาไม่ใช่ทำอย่างอื่นเลย เพียงแต่เข้าใจ ให้ถูกต้องในลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นอนัตตา ไม่ว่าจะกำลังเห็นในขณะนี้ ก็ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นแต่เพียงธาตุชนิดหนึ่ง เป็นสภาพรู้ชนิดหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นเห็น คือ รู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ในขณะที่ได้ยินเกิดขึ้นก็รู้ตามความ เป็นจริงตามปกติว่า สภาพที่กำลังได้ยินในขณะนี้เป็นธาตุชนิดหนึ่ง เป็นธาตุรู้เสียงอาศัยเจตสิกต่างๆ ซึ่งเป็นธาตุต่างๆ เกิดขึ้นพร้อมกันทำกิจและดับไปเท่านั้นเอง จึงจะเข้าถึงลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล
ถ้าแสดงถึงสภาพของวิถีจิตวาระหนึ่งๆ ที่เกิดขึ้น ขณะไหนเป็นวิปลาส ขณะไหนไม่วิปลาส ย้อนกลับมาที่ ขณะที่กุศลจิตเกิด วิปลาสหรือไม่วิปลาส ต้องมีเหตุผล ต้องเป็นความเข้าใจ วิปลาสหรือไม่วิปลาส ในขณะที่กุศลจิตเกิด
เห็นด้วยไหมที่มีท่านที่ตอบว่า ไม่วิปลาส
ถ้ายังไม่เข้าใจ ขอให้คิดถึงขณะที่นอนหลับ ขณะนั้นวิปลาสหรือไม่วิปลาส
ขณะที่เห็นและอกุศลจิตเกิด วิปลาสหรือไม่วิปลาส วิปลาส
ขณะที่เห็นและกุศลจิตเกิด วิปลาสหรือไม่วิปลาส ไม่วิปลาส ไม่อย่างนั้นจะต้องวิปลาสไปหมด ถ้าอะไรๆ ก็วิปลาสหมดแม้กุศล จะไปละวิปลาสได้อย่างไร ต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า ขณะที่เป็นอกุศล วิปลาส ขณะที่เป็นกุศล ไม่วิปลาส เพราะมีกุศลเกิด เช่น โสภณเจตสิกต่างๆ เป็นธาตุแต่ละชนิดที่เกิดขึ้นร่วมกันทำกิจ ซึ่งวิปลาสเกิดไม่ได้ในขณะนั้น เพราะเมื่อมีสติจะวิปลาสได้อย่างไร เมื่อมีศรัทธา เมื่อมีหิริ เมื่อมีโอตตัปปะ เมื่อมีโสภณสาธารณเจตสิกอื่นๆ อีกมากซึ่งเกิดขึ้นร่วมกันทำกิจการงานเพื่อที่จะเป็นกุศล เป็นฝ่ายดี เพราะฉะนั้น จะวิปลาสไม่ได้ แต่ถ้าเข้าใจว่า วิปลาสไปหมดทุกสิ่งทุกอย่าง ก็ไม่มีทางที่จะละวิปลาสได้
มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งสงสัยว่า เพียงเห็นชั่วขณะสั้นๆ จะเป็นโลภะหรือโทสะ ได้อย่างไร คือ ความคิด ความสงสัยของแต่ละท่านไม่ได้หมดไปเพียงจากการฟัง แต่จะต้องอาศัยการพิจารณา การไตร่ตรอง จนกระทั่งเป็นความเข้าใจจริงๆ ของท่าน เพราะว่าชั่วขณะสั้นๆ ที่เห็นและเป็นโลภะ เป็นโทสะ ไม่น่าจะเป็นไปได้ บางคนก็ บอกว่า เพียงเห็นเท่านั้นยังไม่รู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร จะเป็นโลภะ เป็นโทสะ ได้อย่างไร แต่ท่านก็พิจารณาถึงธรรมที่ท่านได้ยินได้ฟังทบไปทวนมา ก็สามารถเข้าใจได้ว่า เพราะว่าสภาพธรรมที่เป็นรูปก็ดี เสียงก็ดี กลิ่นก็ดี รสก็ดี โผฏฐัพพะก็ดี ต่างกัน ไม่ใช่เหมือนกัน
เพราะฉะนั้น เมื่อรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะต่างกัน ก็จำแนกออกได้เป็น ๒ ประเภท คือ รูปที่ดี ที่น่าดู ที่สวยงาม ที่ประณีตก็มี รูปที่ไม่น่าดู ไม่สวยงาม ไม่ประณีตก็มี เสียงที่น่าฟังก็มี เสียงที่ไม่น่าฟังก็มี กลิ่นที่หอมก็มี กลิ่นที่เหม็นก็มี รสที่อร่อยกลมกล่อมก็มี รสที่ไม่อร่อยไม่กลมกล่อมก็มี โผฏฐัพพะที่หยาบกระด้างก็มี โผฏฐัพพะที่อ่อนนุ่มละมุนละไมทำให้เกิดความสบายก็มี เมื่อรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเป็นสภาพที่ต่างกันอย่างนี้ จึงเป็นปัจจัยให้ขณะใดก็ตามที่แม้เพียงเห็น เท่านั้น แต่สิ่งที่ปรากฏนั้นเป็นสิ่งที่น่าพอใจ ก็เป็นเหตุให้อกุศลธาตุทั้งหลายเกิดขึ้นยินดีพอใจในสิ่งนั้นได้ เป็นโลภมูลจิตเกิดขึ้น หรือถ้าเป็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ ก็เป็นปัจจัยให้ความขุ่นเคืองใจ ความไม่สบายใจเกิดขึ้นเป็นโทสมูลจิตได้
แสดงให้เห็นว่า แม้จะได้ฟังเรื่องของอิฏฐารมณ์ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่น่าพอใจ และอนิฏฐารมณ์ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ไม่น่าพอใจ ได้ฟังเรื่องของ กุศลวิบาก อกุศลวิบาก แต่ก็ต้องใคร่ครวญพิจารณาจนกระทั่งเป็นความเข้าใจของตนเอง
เพราะฉะนั้น การฟังธรรมที่จะตอบว่าเป็นกุศล ก็ยาก เพราะต้องเป็นผู้ที่รู้จิตใจของตนเองในขณะที่กำลังฟังพระธรรมว่า ฟังแล้วเกิดความเข้าใจ มีศรัทธา มีความสนใจเห็นประโยชน์ว่า พระธรรมจะทำให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่เคยรู้และเคยเข้าใจผิด เคยยึดถือว่าเป็นเรา เคยยึดถือว่าเป็นของเราให้ถูกต้องขึ้น ถ้าขณะนั้นศึกษาเพื่อให้เกิดความเข้าใจของตนเองอย่างนี้ ขณะนั้นก็เป็นปัญญา และเป็นกุศล แต่ถ้าเป็นผู้ที่ศึกษาธรรมแบบเพลินไปกับเรื่องราวของจิตมีเท่าไร เจตสิกมีเท่าไร ก็เป็นชื่อ เป็นเรื่องทั้งหมด
อย่างชาวต่างประเทศหรือชาวต่างชาติที่ศึกษาพระอภิธรรม เขามีความสนใจว่า พระพุทธศาสนาที่เป็นแก่นคือพระอภิธรรมมีอะไรบ้าง เขาก็ศึกษาเรื่องของจิต เรื่องของเจตสิก แต่ขอให้พิจารณาดูการศึกษาแม้พระอภิธรรมของผู้ที่มีความเห็นอื่น หรือมีความเชื่ออย่างอื่น จะศึกษาเหมือนคณิตศาสตร์ คือ สามารถรู้ว่าจิตมีกี่ประเภท มีจำนวนเท่าไร เจตสิกมีกี่ประเภท มีจำนวนเท่าไร จิตนี้มีเจตสิกอะไรเกิดร่วมด้วย เป็นความเพลิดเพลินไปกับเรื่องราวบัญญัติ แต่ขณะนั้นไม่ได้รู้ประโยชน์เลยว่า แท้ที่จริงแล้วการศึกษาเรื่องจิต เรื่องเจตสิก ก็เพื่อรู้จักตนเองตามความเป็นจริง ในขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน คือ ชีวิตที่เป็นไปทุกขณะนั่นเอง
เพราะฉะนั้น แม้แต่ผู้ที่ศึกษาพระอภิธรรม ก็ควรที่จะได้ทราบว่า เพลินไปกับเรื่องราว เรื่องบัญญัติ ศึกษาเหมือนคณิตศาสตร์ เหมือนฟิสิกส์ เหมือนคอมพิวเตอร์ หรือเหมือนอะไร หรือว่าศึกษาเพื่อพิจารณาจนกระทั่งเป็นความเข้าใจของตนเอง ที่จะเข้าถึงลักษณะของสภาพธรรมตามที่ได้ยินได้ฟัง
มีท่านผู้ฟังอีกท่านหนึ่ง ท่านได้ฟังเรื่องนามธรรมรูปธรรม และท่านเป็นผู้ที่ศึกษาพระอภิธรรมด้วย แต่ท่านก็ยอมรับว่า เป็นการยากเหลือเกินที่จะเข้าถึงหรือรู้ หรือเข้าใจลักษณะของนามธรรม เพราะสามารถพูดตามได้ว่า ขณะที่กำลังเห็น ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่รูปธรรม ไม่ใช่เย็น ไม่ใช่ร้อน ไม่ใช่อ่อน ไม่ใช่แข็ง ไม่ใช่ตึงไหว ไม่ใช่เปรี้ยว ไม่ใช่หวาน ไม่ใช่เค็ม ไม่ใช่เผ็ด เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ ฟังมาเป็นหลายปี ศึกษาพระอภิธรรมด้วยเป็นเวลานาน และท่านก็เคยสอน พระอภิธรรมระยะหนึ่ง แต่ท่านก็บอกว่า ยังไม่สามารถรู้ลักษณะจริงๆ ของธาตุรู้ ของนามธรรมได้ จนกระทั่งวันหนึ่ง ขณะที่ท่านกำลังนั่งรถกลับจากวัดแห่งหนึ่ง ท่านก็คิดว่า ถ้าในขณะที่ท่านนั่งรถไปและเกิดอุบัติเหตุ สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ที่ท่านกำลังเห็นในขณะนี้จะไม่มีอีกเลย ขณะนั้นท่านเข้าใจถึงลักษณะของสภาพรู้ ธาตุรู้ที่กำลังเห็น
คือ หลังจากที่ฟังแล้ว พิจารณา ไตร่ตรอง เทียบเคียงจนกระทั่งปัญญา ความเข้าใจเกิดขึ้นในขณะที่กำลังนั่งรถและรู้สึกตัวว่า ถ้าเพียงแต่เกิดอุบัติเหตุและ ตาบอด สภาพนามธรรมที่กำลังเห็นสิ่งต่างๆ ในขณะนี้จะไม่มี เพราะฉะนั้น นี่คือลักษณะของนามธรรม ขณะที่กำลังเห็นในขณะนี้เป็นธาตุรู้ เป็นสภาพรู้
แสดงให้เห็นว่า สภาพธรรม ต้องอาศัยการฟังและการพิจารณาจนกระทั่ง ค่อยๆ เข้าใจขึ้น และขณะใดก็ตามที่กำลังเห็นและมีวิริยะคือความเพียรที่จะรู้ ที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมให้ตรงตามที่ได้ศึกษาแล้ว เช่น กำลังเห็น เป็นนามธรรม ศึกษาว่าอย่างนี้ และขณะนี้ก็กำลังเห็น ความเข้าใจในขณะที่กำลังเห็นและรู้ว่าขณะที่กำลังเห็น ลักษณะเห็นนี้เป็นสภาพรู้ ขณะนั้นเป็นสติปัฏฐาน
เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานไม่ใช่การที่จะไปทำ หรือจะไปปฏิบัติ แต่เป็นการเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตรงตามความเข้าใจเรื่องราวของ สภาพธรรมที่เคยฟังและเคยเข้าใจมาแล้ว และควรที่จะได้รู้ชัดจริงๆ ว่า แม้ปัญญา ที่จะเจริญขึ้น ก็ต้องเป็นความเข้าใจของท่านเองที่จะรู้ว่า ปัญญาไม่ใช่รู้อย่างอื่น แต่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังมีทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจในขณะนี้
ถ้าขณะที่กระทบสัมผัสสิ่งหนึ่งสิ่งใด มีลักษณะที่แข็งหรืออ่อน เย็นหรือร้อน และมีความเพียรที่จะรู้ในลักษณะของสภาพที่กำลังรู้สิ่งที่แข็ง เพราะว่ามีแข็งปรากฏ ก็ต้องมีสภาพที่กำลังรู้สิ่งที่แข็ง ในขณะนั้นที่กำลังเพียรที่จะรู้ว่า เป็นอาการรู้ เป็นลักษณะรู้ ขณะนั้นคือสติปัฏฐาน เป็นหนทางที่จะทำให้วิปัสสนาญาณเกิด ไม่ใช่ไปทำอย่างอื่นเลย
นี่เป็นความเข้าใจถูกตั้งแต่เบื้องต้นที่จะต้องรู้ว่า แท้ที่จริงปัญญาอย่างสูงสุด คือ วิปัสสนาญาณ จะต้องเริ่มจากการเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏนั่นเอง และในขณะที่เห็นยังไม่รู้ว่าเป็นนามธรรม แต่เมื่อฟังบ่อยๆ ก็เกิดระลึกและค่อยๆ รู้ขึ้น ขณะนั้นก็พร้อมด้วยวิริยะ คือ ความเพียร พร้อมด้วยสัมปชัญญะ พร้อมด้วยสติ ที่จะค่อยๆ รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๘๙ ตอนที่ ๑๘๘๑ – ๑๘๙๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1884
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1885
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1886
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1887
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1888
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1889
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1890
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1891
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1892
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1893
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1894
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1895
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1896
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1897
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1898
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1899
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1900
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1901
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1902
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1903
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1904
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1905
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1906
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1907
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1908
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1909
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1910
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1911
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1912
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1913
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1914
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1915
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1916
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1917
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1918
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1919
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1920
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1921
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1922
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1923
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1924
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1925
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1926
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1927
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1928
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1929
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1930
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1931
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1932
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1933
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1934
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1935
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1936
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1937
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1938
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1939
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1940
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1941
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1942
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1943
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1944
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1945
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1946
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1947
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1948
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1949