แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1915
ครั้งที่ ๑๙๑๕
สาระสำคัญ
ที.ม. อรรถกถาปายาสิราชันยสูตร สหายในชาติก่อนของท่านปุกกุสาติ
พระกุมารกัสสปะ กราบทูลถามปัญหา ๑๕ ข้อ
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๓
ขอกล่าวถึงอดีตประวัติของท่านปุกกุสาติ เพื่อจะได้ทราบว่า ในชาตินั้นท่านมีใครเป็นสหายบ้าง และในชาติที่ท่านได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระเจ้าปุกกุสาตินั้น ท่านไม่ได้พบสหายในชาติก่อนของท่านเลย แต่ครั้งหนึ่งในสมัยพระผู้มีพระภาคทรง พระนามว่า กัสสปะ ข้อความใน อรรถกถา ทีฆนิกาย มหาวรรค อรรถกถา ปายาสิราชัญญสูตร มีว่า
เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่า กัสสปะ ทรงดับขันธปรินิพพานแล้ว พระศาสนากำลังเสื่อม พระภิกษุ ๕ รูปทำบันไดขึ้นไปยังภูเขา เจริญสมณธรรม ภิกษุผู้เป็นสังฆเถระ (หัวหน้า) ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ในวันที่ ๓ ภิกษุผู้เป็นอนุเถระ ได้เป็นพระอนาคามีในวันที่ ๔
เมื่อจุติจากชาตินั้นแล้ว ท่านก็ไปเกิดเป็นพรหมบุคคลในพรหมโลกชั้นสุทธาวาส
อีก ๓ รูป ไม่บรรลุมรรคผล
จะเห็นได้ว่า สหาย ๕ ท่าน ขึ้นไปเจริญสมณธรรมบนภูเขา แต่การสะสมที่ต่างกันทำให้พระสังฆเถระผู้เป็นหัวหน้าได้เป็นพระอรหันต์ ส่วนพระอนุเถระได้เป็น พระอนาคามี อีก ๓ ท่าน แม้เป็นเพื่อนกัน เจริญสมณธรรมในที่เดียวกัน แต่ก็ไม่ได้บรรลุมรรคผลเลย
ทั้ง ๓ ท่านนั้น เมื่อจุติแล้วได้เกิดในเทวโลกและในมนุษย์ตลอดสมัย ที่ว่างพระพุทธศาสนานั้น เมื่อถึงสมัยของพระผู้มีพระภาคพระสมณโคดมพระองค์นี้ อดีตพระภิกษุทั้ง ๓ รูป ซึ่งได้จากสวรรค์มาสู่โลกมนุษย์นั้นก็มีวิถีชีวิตที่ต่างกัน ตามกรรม คือ แม้แต่การเกิดก็เกิดในที่ต่างกัน และการบรรลุมรรคผลของท่าน ก็ต่างกัน และไม่ได้เป็นสหายกันอีกด้วยในชาตินั้น
ในสมัยของพระผู้มีพระภาคพระองค์นี้ ภิกษุรูปหนึ่งเกิดในราชตระกูล ในกรุงตักกสิลา แคว้นคันธาระ เป็นพระราชาทรงพระนามว่า ปุกกุสาติ บวชอุทิศ พระผู้มีพระภาค มุ่งมายังกรุงราชคฤห์ ได้สดับพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาค ที่โรงช่างหม้อ ก็บรรลุอนาคามิผล
ตามที่ท่านผู้ฟังได้ทราบแล้วจากข้อความใน ธาตุวิภังคสูตร
ภิกษุรูปหนึ่งเกิดในตระกูลที่ท่าเรือชื่อสุปัฏฏนะ ใกล้ทะเลแห่งหนึ่ง ท่านมี ชื่อว่าพาหิยะ ซึ่งภายหลังมีชื่อว่าทารุจีริยะ เพราะว่าท่านเป็นผู้นุ่งผ้าเปลือกไม้ โดยที่ก่อนนั้นท่านได้โดยสารเรือไปในมหาสมุทร เมื่อเรือแตกก็เอาปอพันเปลือกไม้แห้ง ทำเป็นผ้านุ่งห่ม คนก็หลงผิดเข้าใจว่าท่านเป็นพระอรหันต์ เพราะเห็นว่าท่านคงจะเป็นผู้ที่มักน้อย เพราะว่าไม่นุ่งห่มตามปกติ แต่เอาปอพันเปลือกไม้แห้งทำเป็น ผ้านุ่งห่ม แต่สหายของท่านผู้เป็นพระอนาคามีบุคคลซึ่งอยู่ในพรหมโลกชั้นสุทธาวาส เป็นผู้ที่เห็นความเป็นไปของสหายทั้งหมดของท่าน เมื่อเห็นว่าท่านพาหิยะมีความ หลงผิด เข้าใจผิด ก็ได้เตือนให้ท่านรู้ว่าท่านไม่ใช่พระอรหันต์ และให้ท่านไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคที่พระนครสาวัตถี ท่านได้เดินทางไป ๑๒๐ โยชน์ในคืนเดียว เพื่อเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ขณะที่พระองค์เสด็จเที่ยวบิณฑบาต ท่านทูลขอให้พระผู้มีพระภาคทรง แสดงธรรมถึง ๒ ครั้ง ในครั้งที่ ๓ พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงธรรมโดยย่อ
คือ สั้นมาก มีข้อความเพียงว่า รูปที่เห็นแล้ว จงเป็นเพียงแต่ว่าเห็น เป็นต้น
ท่านเป็นเอตทัคคะ คือ เป็นเลิศกว่าภิกษุสาวกผู้ตรัสรู้เร็ว คือ บรรลุเป็น พระอรหันต์พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาขณะที่ฟังธรรม และท่านถูกแม่โคขวิดขณะแสวงหาบาตรและจีวร พระผู้มีพระภาคทรงให้นำสรีระออกจากเมือง เผาแล้วกระทำสถูปไว้
นี่เป็นท่านที่ ๒
อีกรูปหนึ่งเกิดในครรภ์ของกุลสตรีในกรุงราชคฤห์ ซึ่งเป็นผู้ที่ปรารถนาบวช ก่อนแต่งงาน แต่มารดาไม่อนุญาต ท่านจึงต้องแต่งงาน ภายหลังเมื่อแต่งงานแล้ว ก็ขออนุญาตอ้อนวอนสามีบวชอีก โดยไม่รู้ว่าตนเองตั้งครรภ์ ภิกษุณีทั้งหลายเห็น นางมีครรภ์จึงถามท่านพระเทวทัต ท่านพระเทวทัตก็บอกว่า นางไม่เป็นสมณะ
พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ท่านพระอุบาลีเถระวินิจฉัย ท่านพระอุบาลีเถระก็เชิญนางวิสาขามิคารมารดามาสอบถามพระภิกษุณีรูปนั้น ก็ได้ทราบว่า นางตั้งครรภ์ ก่อนบรรพชา
เมื่อภิกษุณีนั้นคลอดบุตรแล้ว พระเจ้าปเสนทิโกศลโปรดชุบเลี้ยงทารกนั้น แล้วพระราชทานนามว่ากัสสปะ เมื่อถึงวัยได้บรรพชาทารกนั้น คนทั้งหลายจึงเรียกท่านว่า กุมารกัสสปะ เพราะว่าท่านบวชตอนที่เป็นเด็กและท่านเป็นบุตรเลี้ยงของ พระเจ้าปเสนทิโกศล
วันหนึ่ง เทพคือพรหมชั้นสุทธาวาสผู้เป็นอดีตสหายของท่าน ได้ให้ท่านเรียนปัญหา ๑๕ ข้อ แล้วทูลถามพระผู้มีพระภาค เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงวิสัชนาปัญหาจบ ท่านก็บรรลุอรหันต์ และเป็นผู้ที่เป็นเอตทัคคะ คือ เป็นเลิศกว่าบรรดาภิกษุทั้งหลายผู้กล่าวธรรมได้อย่างวิจิตร
จะเห็นได้ว่า เป็นสหายกัน ท่านหนึ่งเป็นพระอรหันต์ตั้งแต่สมัยพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่า กัสสปะ อีกท่านหนึ่งเป็นพระอนาคามีในชั้นสุทธาวาสภูมิ อีกท่านหนึ่งได้เป็นพระเจ้าปุกกุสาติ ได้บรรลุธรรมเพียงเป็นพระอนาคามี แต่อีก ๒ ท่านได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ และเป็นเอตทัคคะด้วย นี่เป็นวิถีชีวิตที่ต่างกัน
ท่านพระกุมารกัสสปะเป็นเอตทัคคะซึ่งเลิศกว่าภิกษุสาวกทั้งหลายในการกล่าวธรรมได้อย่างวิจิตร ซึ่งก็น่าสนใจในการที่ท่านบรรลุเป็นพระอรหันต์ว่า ท่านอาศัยพฤติกรรมอย่างไร ปัญญาที่ท่านได้สะสมมาแล้วในชาติก่อนๆ จึงทำให้ท่านได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ซึ่งข้อความใน วัมมิกสูตร ข้อ ๒๘๙ มีว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่าน อนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี สมัยนั้นท่านพระกุมารกัสสปะพำนักอยู่ที่ป่าอันธวัน ครั้งนั้น เทวดาองค์หนึ่ง มีวรรณงามยิ่ง
คือ พรหมชั้นสุทธาวาสซึ่งเป็นสหายของท่านในครั้งก่อนนั่นเอง
เมื่อราตรีล่วงปฐมยามแล้วยังป่าอันธวันทั้งสิ้นให้สว่าง เข้าไปหาท่านพระกุมารกัสสปะ ได้ยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กล่าวกะท่านพระกุมารกัสสปะว่า
ดูกร ภิกษุ จอมปลวกนี้พ่นควันในกลางคืน ลุกโพลงในกลางวัน พราหมณ์ ได้กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงเอาศาสตราไปขุดดู สุเมธะเอาศาสตราขุดลงไป ได้เห็นลิ่มสลัก จึงเรียนว่า ลิ่มสลัก ขอรับ
พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงยกลิ่มสลักขึ้น เอาศาสตราขุดดู สุเมธะเอาศาสตราขุดลงไป ได้เห็นอึ่ง จึงเรียนว่า อึ่ง ขอรับ
พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงยกอึ่งขึ้น เอาศาสตราขุดดู สุเมธะเอาศาสตราขุดลงไป ได้เห็นทาง ๒ แพร่ง จึงเรียนว่า ทาง ๒ แพร่ง ขอรับ
พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงก่นทาง ๒ แพร่งเสีย เอาศาสตรา ขุดดู สุเมธะเอาศาสตราขุดลงไป ได้เห็นหม้อกรองน้ำด่าง จึงเรียนว่า หม้อกรอง น้ำด่าง ขอรับ
พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงยกหม้อกรองน้ำด่างขึ้น เอา ศาสตราขุดดู สุเมธะเอาศาสตราขุดลงไป ได้เห็นเต่า จึงเรียนว่า เต่า ขอรับ
คนชอบเต่าอาจจะดีใจ ได้เห็นเต่า
พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงยกเต่าขึ้น เอาศาสตราขุดดู สุเมธะเอาศาสตราขุดดู ได้เห็นเขียงหั่นเนื้อ จึงเรียนว่า เขียงหั่นเนื้อ ขอรับ
พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงยกเขียงหั่นเนื้อขึ้น เอาศาสตรา ขุดดู สุเมธะเอาศาสตราขุดลงไป ได้เห็นชิ้นเนื้อ จึงเรียนว่า ชิ้นเนื้อ ขอรับ
พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงยกชิ้นเนื้อขึ้น เอาศาสตราขุดดู สุเมธะเอาศาสตราขุดลงไป ได้เห็นนาค จึงเรียนว่า นาค ขอรับ
พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า นาคจงอยู่ เจ้าอย่าเบียดเบียนนาคเลย จงทำความนอบน้อมต่อนาค
ดูกร ภิกษุ ท่านพึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค แล้วทูลถามปัญหา ๑๕ ข้อ เหล่านี้แล ท่านพึงทรงจำปัญหาเหล่านั้นตามที่พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ ดูกร ภิกษุ ข้าพเจ้าไม่เห็นบุคคลในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ที่จะยังจิตให้ยินดีด้วยการพยากรณ์ปัญหาเหล่านี้ นอกจากพระตถาคต หรือสาวกของพระตถาคต หรือเพราะฟังจากสำนักนี้
เทวดานั้นครั้นกล่าวคำนี้แล้ว ได้หายไปในที่นั้นแล
บางคนฟังแล้ว ไม่สนใจเลย ใช่ไหม ไม่น่าสนใจ ขุดลงไปๆ และเห็นอะไรๆ ดูเหมือนกับว่า ไม่มีความหมายเลย แต่สำหรับผู้มีปัญญาสามารถที่จะพยากรณ์ปัญหาทั้งหมดออกเป็นชีวิตประจำวัน และเป็นสภาพธรรมตามปกติ ซึ่งผู้มีปัญญาสามารถที่จะเข้าใจ ระลึก และศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริงได้
แสดงให้เห็นว่า ปัญหาธรรมเป็นเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงๆ เพียงแต่ว่าบุคคลอื่นซึ่งไม่รู้ ก็ไม่สามารถพยากรณ์ได้
ท่านพระกุมารกัสสปะ เมื่อราตรีนั้นล่วงไปแล้ว ก็ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายอภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
... ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอแลชื่อว่าจอมปลวก อย่างไรชื่อว่าพ่นควัน ในกลางคืน อย่างไรชื่อว่าลุกโพลงในกลางวัน อะไรชื่อว่าพราหมณ์ อะไรชื่อว่าสุเมธะ อะไรชื่อว่าศาสตรา อะไรชื่อว่าการขุด อะไรชื่อว่าลิ่มสลัก อะไรชื่อว่าอึ่ง อะไรชื่อว่าทาง ๒ แพร่ง อะไรชื่อว่าหม้อกรองน้ำด่าง อะไรชื่อว่าเต่า อะไรชื่อว่าเขียงหั่นเนื้อ อะไรชื่อว่าชิ้นเนื้อ อะไรชื่อว่านาค ดังนี้
พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ว่า
ดูกร ภิกษุ คำว่า จอมปลวก นั่นเป็นชื่อของกายนี้ อันประกอบด้วย มหาภูตรูปทั้ง ๔ ซึ่งมีมารดาบิดาเป็นแดนเกิด เจริญด้วยข้าวสุกและขนมกุมมาส ไม่เที่ยง ต้องอบรม ต้องนวดฟั้น มีอันทำลายและกระจัดกระจายเป็นธรรมดา
ไม่ได้อยู่ไกลเลย ไม่ได้อยู่ในป่า แต่ที่กายของทุกคนเป็นจอมปลวก รู้สึกว่า กายเหมือนจอมปลวกไหม
ข้อความในอรรถกถามีว่า
อนึ่ง สัตว์เล็กๆ มีประการต่างๆ ภายในจอมปลวก
ถ้ายังไม่รู้สึกว่าร่างกายของทุกคนเป็นจอมปลวก ก็ขอให้นึกสภาพของ จอมปลวกจริงๆ ซึ่งมีสัตว์เล็กๆ หลายอย่างภายในจอมปลวก
สัตว์เหล่านั้นอาศัยจอมปลวกเกิด ถ่ายอุจจาระปัสสาวะ นอนป่วย และย่อมตายตกไปในจอมปลวกนั้นนั่นเอง ดังนั้น จอมปลวกนั้นจึงเป็นเรือนเกิด เป็นส้วม เป็นโรงพยาบาล และเป็นสุสานของสัตว์เล็กๆ เหล่านั้น ฉันใด กายแม้ของกษัตริย์มหาศาลเป็นต้นก็ฉันนั้น
ไม่มีความต่างกันเลย เมื่อขึ้นชื่อว่า กาย
เหล่าสัตว์ที่อาศัยผิว หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก มิได้คิดว่า กายนี้ถูกคุ้มครองรักษาแล้ว ประดับตบแต่งแล้ว เป็นกายของผู้มีอานุภาพใหญ่
ถ้าเอาร่างกายของเราไปขยาย ส่องด้วยกล้องที่จะให้เห็นละเอียด แม้แต่ที่ ขนตาก็จะเห็นว่า อาจจะมีสัตว์บางชนิด หรือเชื้อโรคบางอย่างอาศัยอยู่ เพราะฉะนั้น เหล่าสัตว์ที่อาศัยผิว หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ไม่ได้คิดเลยว่า กายนี้ถูกคุ้มครองรักษาแล้ว ประดับตบแต่งแล้ว และไม่คิดด้วยว่า เป็นกายของผู้มีอานุภาพใหญ่ เพราะแม้เป็นกายของกษัตริย์มหาศาลก็เช่นเดียวกัน
รวมความว่า หมู่หนอนย่อมเกิด ย่อมถ่ายอุจจาระปัสสาวะ นอน กระสับกระส่ายเพราะความป่วยไข้ ตายตกอยู่ในกายนี้เอง เหตุนั้นจึงนับได้ว่า เป็นจอมปลวก ... พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ดูกร ภิกษุ คำว่า วัมมิกะนี้ เป็นชื่อของกายนี้ ที่เกิดจากมหาภูตทั้ง ๔
ไม่ค่อยจะได้พิจารณาถึงสัตว์เล็กสัตว์น้อยที่อยู่ในร่างกาย เชื้อโรคต่างๆ
ข้อความต่อไป
ปัญหาข้อว่า อย่างไรชื่อว่าพ่นควันในกลางคืนนั้น ดูกร ภิกษุ ได้แก่การที่บุคคลขมักเขม้นการงานในกลางวัน แล้วตรึกถึงตรองถึงในกลางคืน นี้ชื่อว่าพ่นควันในกลางคืน
ท่านที่มีงานเยอะ กลางวันขมักเขม้นทำก็ยังไม่เสร็จ กลางคืนไม่ได้ทำงานนั้น เพราะว่าเป็นช่วงกลางคืน แต่ถึงกระนั้นก็ยังตรึกยังตรองถึงกิจการงานเหล่านั้น เหมือนกับพ่นควันในกลางคืน
คืนนี้ สังเกตดู ท่านที่มีงานมากๆ และคิดถึงเรื่องงาน ในขณะนั้นให้ทราบว่า พ่นควันในกลางคืน
ปัญหาข้อว่า อย่างไรชื่อว่าลุกโพลงในกลางวันนั้น ดูกร ภิกษุ ได้แก่การที่บุคคลตรึกถึงตรองถึงการงานในกลางคืน แล้วย่อมประกอบการงานในกลางวัน ด้วยกาย ด้วยวาจา นี้ชื่อว่าลุกโพลงในกลางวัน
ตอนกลางคืนได้แต่คิดเรื่องงานว่า จะทำอะไรบ้าง เมื่อถึงกลางวันจริงๆ ลุกโพลงในกลางวัน เพราะว่าต้องอาศัยกาย อาศัยวาจาในการประกอบการงาน ในกลางวัน เพราะฉะนั้น ก็ชื่อว่าลุกโพลงในกลางวัน
ดูกร ภิกษุ คำว่า พราหมณ์นั้น เป็นชื่อของพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า คำว่า สุเมธะนั้น เป็นชื่อของเสขภิกษุ
คือ ผู้ที่ยังศึกษาอยู่เพื่อที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม
คำว่า ศาสตรานั้น เป็นชื่อของปัญญาอันประเสริฐ คำว่า จงขุดนั้น เป็นชื่อของการปรารภความเพียร
ต้องอาศัยศาสตรา คือ ปัญญา และต้องอาศัยความเพียรขุด จึงจะพบธรรม สามารถที่จะเข้าใจธรรมตามความเป็นจริงได้
คำว่า ลิ่มสลักนั้น เป็นชื่อของอวิชชา
ซึ่งข้อความในอรรถกถาอธิบายว่า
เมื่อประตูพระนครปิด ใส่ลิ่มสลัก มหาชนก็ขาดการไป คนที่อยู่ในพระนคร ก็ออกไม่ได้ คนที่อยู่นอกพระนครก็เข้าไม่ได้
ถ้ายังมีลิ่มสลักติดอยู่ ไม่เอาลิ่มสลักออก ทุกคนก็ยังจมอยู่ในอวิชชา ยังไม่สามารถออกไปจากอวิชชาได้ เพราะฉะนั้น ผู้มีปัญญามีความเพียรจึงเห็นอวิชชา รู้ว่าแม้สภาพธรรมกำลังปรากฏในขณะนี้ แต่ขณะใดที่ไม่รู้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลเพราะอะไร ก็เพราะอวิชชาไม่สามารถ รู้ความจริงของสภาพธรรมได้
แต่ก่อนนี้อาจจะสงสัยว่า อวิชชาอยู่ที่ไหน พูดถึงแต่อวิชชาๆ วันหนึ่งๆ อวิชชาอยู่ที่ไหนบ้าง แต่ผู้ที่มีปัญญาสามารถรู้ได้ว่า ขณะที่กำลังเห็นและไม่รู้ว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ที่ไม่รู้อย่างนั้นก็เพราะอวิชชา เวลาที่มีความยินดีพอใจในสิ่งที่เห็น มีความยินดีพอใจเกิดขึ้นจนไม่รู้ว่าแม้ขณะนั้นก็มีอวิชชา ในขณะที่กำลังสนุก ในขณะที่กำลังเพลิดเพลิน ในขณะที่กระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ด้วยความพอใจรื่นเริงที่เป็นโลภะ ขณะนั้นก็มีอวิชชาเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น ข้อความที่ว่า จงใช้ปัญญาเพียงดังศาสตรา ยกลิ่มสลักขึ้น คือ จงละอวิชชาเสีย ก็ไม่ง่ายเลยในการที่จะยกลิ่มสลักคืออวิชชาได้ เพราะฉะนั้น ต้องขุดไปอีก
คำว่า อึ่งนั้น เป็นชื่อแห่งความคับแค้น ด้วยอำนาจความโกรธ
เวลาที่ไม่โกรธ จะไม่รู้สึกว่าชีวิตคับแค้น ถ้ากำลังสนุกสนานรื่นเริง ทางตาเห็นสิ่งที่สวยงาม ทางหูได้ยินเสียงที่เพราะ ทางจมูกได้กลิ่นหอม ทางลิ้นได้ลิ้มรสอร่อย ทางกายได้กระทบสัมผัสสิ่งที่สบาย ขณะนั้นโลกรื่นรมย์ จะไม่รู้เลยว่า แท้ที่จริงแล้วคับแค้น เพราะฉะนั้น ความคับแค้นของชีวิตจะปรากฏเมื่อมีความโกรธ หรือมี ความเสียใจ ความน้อยใจ ความไม่สบายใจ ความขุ่นเคืองใจ
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๙๒ ตอนที่ ๑๙๑๑ – ๑๙๒๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1884
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1885
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1886
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1887
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1888
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1889
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1890
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1891
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1892
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1893
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1894
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1895
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1896
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1897
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1898
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1899
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1900
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1901
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1902
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1903
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1904
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1905
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1906
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1907
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1908
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1909
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1910
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1911
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1912
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1913
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1914
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1915
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1916
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1917
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1918
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1919
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1920
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1921
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1922
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1923
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1924
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1925
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1926
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1927
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1928
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1929
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1930
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1931
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1932
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1933
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1934
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1935
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1936
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1937
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1938
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1939
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1940
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1941
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1942
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1943
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1944
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1945
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1946
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1947
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1948
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1949