แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1924
ครั้งที่ ๑๙๒๔
สาระสำคัญ
อนนุโสจิยชาดกที่ ๘ - พระศาสดาทรงปรารภกฎุมพีคนหนึ่ง ทรงแสดงอาการไม่เที่ยงด้วยคาถา ๔ คาถา
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๓๓
ข้อความใน อรรถกถา อนนุโสจิยชาดกที่ ๘ มีว่า
พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภกุฎุมพีคนหนึ่ง ผู้มีภรรยาตาย จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า พหูนํ วิชฺชติ โภติ ดังนี้
ได้ยินว่า กุฎุมพีนั้นเมื่อภรรยาตายแล้วไม่อาบน้ำ ไม่บริโภคอาหาร ไม่ประกอบการงาน ถูกความโศกครอบงำ ไปป่าช้า เที่ยวปริเทวนาการอยู่อย่างเดียว แต่อุปนิสัยแห่งโสดาปัตติมรรคโพลงอยู่ในภายในของกุฎุมพีนั้น เหมือนประทีปโพลงอยู่ในหม้อฉะนั้น
ใครมีอุปนิสัยที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระโสดาบัน บุคคลอื่นไม่สามารถรู้ได้ นอกจากพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
เพราะเหตุว่ากิเลสยังไม่ดับ จึงยังมีเหตุปัจจัยทำให้เกิดขึ้นเป็นความโศกเศร้าอย่างมาก แต่ปัญญาที่ได้สะสมมาแล้วในอดีตสามารถที่จะได้ฟังพระธรรมและเข้าใจ จนกระทั่งประจักษ์แจ้งอริยสัจจธรรมได้
ในเวลาใกล้รุ่ง พระศาสดาทรงตรวจดูโลก ได้ทอดพระเนตรเห็นกุฎุมพีนั้น ทรงพระดำริว่า เว้นเราเสีย ใครๆ อื่นผู้จะนำความโศกออกแล้วให้โสดาปัตติมรรค แก่กุฎุมพีนี้ย่อมไม่มี เราจักเป็นที่พึงอาศัยของกุฎุมพีนั้น
นี่คือพระมหากรุณา ซึ่งถ้าไม่ทรงพระมหากรุณา กุฎุมพีนั้นไม่อาจจะ รู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระโสดาบันได้ ตลอดชีวิตของพระองค์หลังจากการตรัสรู้แล้ว ถ้ามีโอกาสที่จะอนุเคราะห์ให้บุคคลใดได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ไม่ทรงละเว้น
จึงเสด็จกลับจากบิณฑบาต ภายหลังภัต ทรงพาปัจฉาสมณะไปยังประตูเรือนของกุฎุมพีนั้น กุฎุมพีได้สดับการเสด็จมา ทรงมีสักการะมีการลุกรับเป็นต้นอันกุฎุมพีกระทำแล้ว ประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาด แล้วตรัสถามกุฎุมพีผู้มานั่งอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่งว่า
อุบาสก ท่านคิดอะไรหรือ
ทุกคนคิด แล้วแต่ว่าขณะนั้นมีปัจจัยที่จะให้คิดอย่างไร
เมื่อกุฎุมพีนั้นกราบทูลว่า พระเจ้าข้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภรรยาของ ข้าพระองค์ตาย ข้าพระองค์เศร้าโศกถึงเขา จึงคิดอยู่ พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
อุบาสก ขึ้นชื่อว่าสิ่งที่มีการแตกเป็นธรรมดาย่อมแตกไป เมื่อแตกไป จึงไม่ควรคิด แม้โบราณกบัณฑิตทั้งหลายเมื่อภรรยาตายแล้วก็ยังคิดว่า สิ่งที่มี การแตกเป็นธรรมดา ได้แตกไปแล้ว
อันกุฎุมพีนั้นทูลอาราธนา พระองค์จึงตรัสเรื่องในอดีต
ในพระชาติที่พระองค์ทรงเป็นพระโพธิสัตว์ ซึ่งมีชีวิตคล้ายกับชีวิตก่อนบวชของท่านพระมหากัสสปะและนางภัททากาปิลานี ที่มารดาบิดาให้ท่านแต่งงานกับ นางสัมมิลลหาสินี ทั้งพระผู้มีพระภาคและนางสัมมิลลหาสินีต่างก็มีความประสงค์ จะบวช
คนทั้งสองนั้นนอนอยู่ในห้องเดียวกัน แม้จะนอนอยู่บนที่นอนเดียวกัน ก็ไม่ได้แลดูกันและกันด้วยอำนาจกิเลส อยู่ในสถานที่เดียวกัน เหมือนภิกษุ ๒ รูป และเหมือนพรหม ๒ องค์อยู่ในที่เดียวกันฉะนั้น
ภายหลังเมื่อบิดามารดาสิ้นชีวิตแล้ว คนทั้งสองนั้นจึงสละทรัพย์ทั้งหมดให้ทาน ละทิ้งสมบัติเหมือนก้อนน้ำลาย เข้าไปยังป่าหิมวันต์ ทั้งสองบวชเป็นฤๅษี มีรากไม้และผลไม้ในป่าเป็นอาหาร เมื่ออยู่ในป่าหิมวันต์นานแล้ว ต้องการจะเสพรสเค็ม และรสเปรี้ยว จึงลงจากป่าหิมวันต์ถึงเมืองพาราณสีโดยลำดับ ดาบสทั้งสองนั้นบริโภคภัตอันเจือปนปราศจากโอชะ (คือ บริโภคอาหารที่ไม่มีรสอร่อย ไม่มีโอชะ ไม่ทำให้ร่างกายสมบูรณ์) ก็เกิดอาพาธลงโลหิต นางดาบสนั้นเมื่อไม่ได้เภสัช อันเป็นสัปปายะก็ได้อ่อนกำลังลงในเวลาภิกขาจาร พระโพธิสัตว์ได้พยุงนางนำไปยังประตูพระนคร แล้วให้นอนบนแผ่นกระดาน ณ ศาลาหลังหนึ่ง ส่วนตนเข้าไปภิกขาจาร
นางดาบสนั้นสิ้นชีวิตในขณะที่พระโพธิสัตว์ยังไม่กลับ มหาชนเห็นรูปสมบัติ ของนางก็พากันห้อมล้อมร้องไห้ร่ำไร พระโพธิสัตว์เที่ยวภิกขาจารแล้วกลับมาก็รู้ว่า นางสิ้นชีวิตแล้ว ดำริว่า สิ่งที่มีอันจะแตกไปเป็นธรรมดา ย่อมแตกไป สังขารทั้งปวงไม่เที่ยงหนอ มีคติอย่างนี้เอง แล้วนั่งบนแผ่นกระดานที่นางนอนอยู่นั่นแหละ บริโภคโภชนะอันระคนกัน แล้วบ้วนปาก
เป็นความอดทนที่ได้สะสมมาที่จะไม่เศร้าโศกเลย เพราะรู้ว่าเป็นธรรมดา ทั้งๆ ที่มหาชนทั้งหลายไม่ได้เกี่ยวข้องกับนางดาบสนั้นเลยร้องไห้คร่ำครวญ เมื่อเห็นรูปสมบัติของนาง แต่พระโพธิสัตว์เห็นความเป็นธรรมดาของสิ่งที่ไม่เที่ยง สิ่งที่มีอันจะแตกไปเป็นธรรมดา นั่งบนแผ่นกระดานที่นางนอนอยู่นั่นแหละ บริโภคโภชนะอันระคนกัน แล้วบ้วนปาก
มหาชนที่ยืนห้อมล้อมถามว่า
ท่านผู้เจริญ ปริพาชิกานี้เป็นอะไรกับท่าน
พระโพธิสัตว์กล่าวว่า
เมื่อเวลาเป็นคฤหัสถ์ นางเป็นบาทบริจาริกาของเรา
มหาชนกล่าวว่า
ท่านผู้เจริญ พวกเรายังอดทนไม่ได้ก่อน พากันร้องไห้ร่ำไร เพราะเหตุไร ท่านจึงไม่ร้องไห้
พระโพธิสัตว์กล่าวว่า
นางปริพาชิกานี้เมื่อยังมีชีวิตอยู่ย่อมเป็นอะไรๆ กับเรา บัดนี้ไม่เป็น อะไรๆ กัน เพราะนางเป็นผู้สมัครสมานกับปรโลก ไปสู่อำนาจของคนอื่นแล้ว เราจะร้องไห้เพราะอะไร
เมื่อจะแสดงธรรมแก่มหาชน จึงได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า
นางสัมมิลลหาสินีผู้เจริญ ได้ไปอยู่ในระหว่างพวกสัตว์ที่ตายไปแล้วเป็นจำนวนมาก เมื่อนางไปอยู่กับพวกสัตว์เหล่านั้น จักชื่อว่าเป็นอะไรกับเรา เพราะฉะนั้น เราจึงมิได้เศร้าโศกถึงนางสัมมิลลหาสินีผู้เป็นที่รักนี้
ถ้าบุคคลจะเศร้าโศก ถึงสิ่งที่ไม่มีแก่สัตว์ผู้เศร้าโศกนั้น พึงเศร้าโศกถึงตน ซึ่งตกอยู่ในอำนาจของมัจจุราชอยู่ทุกเวลา
อายุสังขารใช่ว่าจะติดตามเฉพาะสัตว์ผู้ยืน นั่ง นอน หรือเดินอยู่เท่านั้น ก็หาไม่ แม้ในเวลาชั่วลืมตา หลับตาวัยก็เสื่อมไปแล้ว
ในอัตภาพซึ่งเป็นทางอันตรายนั้นหนอ ต้องมีความพลัดพรากจากกันโดย ไม่ต้องสงสัย หมู่สัตว์ที่ยังอยู่ควรเอ็นดูกัน ส่วนที่ตายไปแล้วไม่ควรเศร้าโศกถึง
ถ้าท่านผู้ฟังทบทวนคาถาที่พระโพธิสัตว์กล่าว จะเห็นได้ว่า เป็นการกล่าวถึงสภาพธรรมในขณะนี้ซึ่งไม่เที่ยง เช่น ข้อความที่ว่า ถ้าบุคคลจะเศร้าโศก ถึงสิ่งที่ไม่มีแก่สัตว์ผู้เศร้าโศกนั้น พึงเศร้าโศกถึงตนซึ่งตกอยู่ในอำนาจของมัจจุราชอยู่ทุกเวลาแทนที่จะให้คิดถึงนางสัมมิลลหาสินี กลับให้ผู้ฟังย้อนระลึกถึงตนเองทุกคน ซึ่งทุกขณะนามธรรมและรูปธรรมดับไปไม่เหลือ เหมือนคนที่ตายจากไปก็ไม่เหลืออะไรอีกแล้ว สิ้นสภาพความเป็นบุคคลนั้นฉันใด นามธรรมและรูปธรรมของทุกท่านในขณะนี้ ก็เหมือนกันฉันนั้น คือ จากไป ดับไปอยู่ทุกขณะ เพราะฉะนั้น ถ้าจะเศร้าโศกถึง ผู้ที่ตายจากไป ก็ควรเศร้าโศกถึงนามธรรมและรูปธรรมซึ่งกำลังดับไปในขณะนี้ด้วย
นี่คือผู้ที่เห็นชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่เที่ยงในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ เพราะว่า อายุสังขารใช่ว่าจะติดตามเฉพาะสัตว์ผู้ยืน นั่ง นอน หรือเดินอยู่เท่านั้น ก็หาไม่ คือ ไม่ต้องจากนั่งไปเป็นนอน จากนอนไปเป็นยืน หรือจากยืนไปเป็นเดิน แม้ในเวลาชั่วลืมตา หลับตาวัยก็เสื่อมไปแล้ว
ในอัตภาพซึ่งเป็นทางอันตรายนั้นหนอ ต้องมีความพลัดพรากจากกันโดย ไม่ต้องสงสัย หมู่สัตว์ที่ยังอยู่ควรเอ็นดูกัน ส่วนที่ตายไปแล้วไม่ควรเศร้าโศกถึง
จะมีความอดทนอย่างนี้ไหม เวลาที่มีการพลัดพราก การจากไปของเพื่อนสนิทมิตรสหาย หรือญาติที่คุ้นเคย ขณะใดที่เศร้าโศก ขณะนั้นถ้าสติเกิดระลึกได้จะรู้ว่า ขณะนั้นไม่อดทน และถ้าเศร้าโศกถึงคนที่ตายจริงๆ ก็เศร้าโศกถึงนามธรรมและรูปธรรมของตัวเองในขณะนี้ซึ่งเกิดและดับไปไม่เหลือเลยด้วย
ข้อความต่อไปมีว่า
พระมหาสัตว์เมื่อแสดงอาการไม่เที่ยงด้วยคาถา ๔ คาถาอย่างนี้ แสดงธรรมแล้ว มหาชนพากันกระทำฌาปนกิจสรีระของนางปริพาชิกาแล้ว พระมหาสัตว์เข้าไปยังป่าหิมวันต์ ทำฌานและอภิญญาให้เกิด ได้มีพรหมโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้า
พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงทรงประกาศสัจจะ แล้วทรงประชุมชาดก ในเวลาจบสัจจะ กุฎุมพีได้ดำรงอยู่ในโสตาปัตติผล นางสัมมิลลหาสินีในครั้งนั้นได้เป็นราหุลมารดา ส่วนดาบสในครั้งนั้นได้เป็นเราตถาคต ฉะนี้แล
ถ้าในขณะที่ฟังเข้าใจความหมายจริงๆ อย่างกุฎุมพีท่านนั้น ที่ว่า ถ้าบุคคลจะเศร้าโศกถึงสิ่งที่ไม่มีแก่สัตว์ผู้เศร้าโศกนั้น พึงเศร้าโศกถึงตนซึ่งตกอยู่ในอำนาจของมัจจุราชอยู่ทุกเวลา ก็สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ เพราะไม่ใช่เพียงคิด แต่ในขณะที่ฟัง รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นตามความเป็นจริง
ถ. ดิฉันเป็นผู้ที่เริ่มศึกษาสนใจฟังอาจารย์เมื่อไม่นานมานี้ มีข้อสงสัยที่ผู้อื่นอาจจะทราบแล้ว แต่ดิฉันไม่ทราบ ขอเรียนถามว่า ในการรู้ลักษณะของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏทางใดทางหนึ่งใน ๖ ทาง เราจะเลือกทางไหนที่จะพิจารณา
สุ. ไม่ใช่การเลือก การอบรมเจริญปัญญาต้องทราบว่า สภาพธรรมทั้งหมดแม้ในขณะนี้ที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังคิดนึก ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ปัญญาจะต้องอบรมเจริญโดยสติระลึกได้หลังจากที่ได้ฟังและเข้าใจในขั้นการศึกษาว่า ไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล มีแต่สภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เช่น เห็นในขณะนี้เป็นแต่เพียงสภาพรู้ ธาตุรู้
การได้ยินได้ฟังและเข้าใจในขั้นการฟัง ไม่พอที่จะรู้จริงๆ ว่า ไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้น ในขณะที่เห็นนี้เอง หรือว่าในขณะที่ได้ยิน ในขณะที่คิดนึก ไม่ใช่เลือก ไม่จำเป็นต้องเลือก เพราะว่าเลือกไม่ได้ แล้วแต่สติที่มีปัจจัยเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดตามที่ได้ฟังเข้าใจแล้ว และพิจารณาจนกระทั่งรู้ว่า ลักษณะนั้นเป็นสภาพรู้ หรือไม่ใช่สภาพรู้
ถ. จับเอาตามที่ปรากฏแก่เรา
สุ. ก็คือขณะนี้ ถ้ามีเห็น ขณะนี้กำลังเห็น สติระลึกได้ที่จะรู้ว่า เป็นแต่เพียงสภาพรู้หรืออาการรู้ หรือในขณะที่พูดนั่นเองมีรูปธรรมปรากฏ ลักษณะที่ กระทบสัมผัส อ่อนหรือแข็ง จะตรงส่วนหนึ่งส่วนใดของกาย เช่น ที่ริมฝีปาก หรือ ที่มือที่เท้าก็ได้ ทั้งหมดล้วนเป็นสภาพธรรมทั้งนั้นที่ปัญญาจะต้องรู้จนทั่ว และ ค่อยๆ คลายความไม่รู้ ความสงสัยในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม และรู้ชัดจนกระทั่งประจักษ์แจ้ง หมดความสงสัยในสภาพที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมตามลำดับขั้น ข้อสำคัญที่สุด คือ ไม่เลือก
ถ. ก็จะทันบ้าง ไม่ทันบ้าง มีช่องว่าง
สุ. ไม่ควรใช้คำว่า ทัน ขอถามให้เข้าใจว่า ทันอะไร
ถ. ทันอารมณ์ที่ปรากฏ
สุ. ดับไปแล้วก็แล้วไป ขณะนี้มีสภาพธรรมกำลังปรากฏ อย่างเห็นเมื่อกี้ ดับแล้ว หลงลืมสติไปแล้ว ก็เรื่องหลงลืมสติ แต่ขณะนี้ไม่ใช่ไม่มีเห็น ยังมีเห็นให้สติระลึกได้อีก เพราะฉะนั้น ไม่จำเป็นต้องทันเห็นเมื่อสักครู่นี้ หรือเพียงชั่วขณะที่ดับไป เพราะว่าขณะนั้นหลงลืมสติ แต่ขณะใดที่สติเกิด มีสภาพธรรมที่สติจะระลึกรู้ได้ ในขณะนั้น เพราะฉะนั้น ต่อไปนี้ ไม่ต้องใช้คำว่า ทัน จะทันอะไรในเมื่อสภาพธรรมเกิดและดับไปอย่างรวดเร็ว
ถ. ตอนที่เริ่มปฏิบัติใหม่ๆ การระลึกรู้สึกตัวอาจจะเป็นการนึกคิด ใช่ไหม
สุ. โดยมากจะใช้คำว่า เริ่มปฏิบัติใหม่ๆ แต่ความจริงควรจะพูดว่า ขณะที่สติเริ่มเกิดบ้าง เพราะว่าสติปฏิบัติกิจของสติ ไม่ใช่เราปฏิบัติ หรือเราทำ จะเห็นได้ว่า ขณะที่หลงลืมสติ แม้ว่าสภาพปรมัตถธรรมจะเกิดและดับไป ปัญญาก็ไม่รู้ว่าเป็นปรมัตถธรรม ต่อเมื่อใดที่สติเกิดและเริ่มระลึก แต่ยังไม่สามารถจะ รู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม เพราะฉะนั้น ปัญญาจึงมีต่างขั้นตามกำลังของปัญญานั้นๆ เช่น สติที่เพิ่งเริ่มระลึก ขณะนั้นสติที่ระลึกก็ดับ เพราะว่าสติเป็น สภาพปรมัตถธรรมที่เกิดดับด้วย จะสังเกตเห็นได้ว่า บางครั้งยังไม่ทันจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมว่าเป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม หลงลืมสติก็คั่น หรือมิฉะนั้นก็เกิดการ คิดนึกเป็นคำๆ ว่า แข็งเป็นรูป หรือสภาพเห็นขณะนี้เป็นธาตุรู้ เป็นสภาพรู้ เป็นอาการรู้ ปัญญาจะต้องรู้จนกระทั่งแม้ขณะที่คิดนั้นก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง จึงสามารถถ่ายถอนความเป็นตัวตนที่คิดนึกออกได้
เรื่องการอบรมเจริญสติปัฏฐาน จึงเป็นจิรกาลภาวนา และเป็นปกติ เพราะฉะนั้น จึงเป็นผู้มีปกติหลงลืมสติ มีปกติมีสติ มีปกติหลงลืมสติอีก และมีปกติสติระลึกอีก เป็นปกติจริงๆ
ถ. เข้าใจขึ้นมาก
สุ. ไม่เลือก ถ้าเลือกก็เป็นตัวตน
ผู้ฟัง คนอื่นอาจจะเบื่อที่พูดเรื่องนี้ คือ ทุกครั้งก็พูดอย่างนี้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ฟังมากี่ครั้งๆ ก็เป็นปัจจัยให้รู้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เท่านั้น สำหรับผมไม่มีการเบื่อเลย ยิ่งฟังยิ่งรู้ ไม่มีคำว่า รู้แล้ว หรือฟังแล้ว เบื่อ ฟังแล้วไม่มีการเบื่อ ยิ่งฟังแล้วยิ่งชอบ ยิ่งเกิดสติ หรืออ่านพระไตรปิฎกก็ได้ คือ เราทำตามพระเถระ หรือพระพุทธองค์ เราทำตรงตามท่านไปก็รู้สึกว่าดี เราทำไปแล้วปีติว่าเราทำ ตามตัวอย่างที่ดี แม้แต่สมัยปัจจุบันก็ตาม คนที่ทำดี เราก็ทำตาม รู้สึกว่าภูมิใจ เกิดปีติ ถึงแม้คนอื่นจะดูว่าเป็นการลำบาก แต่เมื่อเข้าใจแล้วเกิดความสบาย ปีติ
สุ. ขออนุโมทนา นี่คือความต่างกันของขณะที่กุศลจิตเกิดกับอกุศลจิตเกิด ถ้าเป็นอกุศล ฟังเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แสนจะเบื่อ ไม่ไปถึงไหนเลย ก็อยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ธรรมดาเหลือเกินสำหรับบางท่าน และบางท่านก็คิดว่า ธรรมควรเป็นเรื่องที่มากกว่านี้ แต่ผู้ที่มีกุศลศรัทธาย่อมรู้ว่า เรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คือธรรมทั้งหมด ไม่มีธรรมอื่นนอกจากนี้เลย ไม่ว่าจะอยู่ในภพไหนภูมิไหน ตั้งแต่เกิดจนตาย แต่เมื่อมีอวิชชา ความไม่รู้ความจริงของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ทำให้เบื่อ เพราะคิดว่าน่าจะรู้อย่างอื่น นี่ก็เป็นขณะที่ต่างกันของกุศลจิตกับอกุศลจิต
ท่านที่ได้รับฟังธรรมมาโดยตลอด คงจะเห็นความลึกซึ้งของธรรมที่ พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ซึ่งยากต่อการที่จะเข้าใจและประจักษ์ลักษณะของ สภาพธรรมตามที่พระอริยบุคคลทั้งหลายได้ประจักษ์แจ้งแล้ว แต่ให้เห็นลักษณะของความอดทนที่เป็นกุศลในชีวิตประจำวัน เพราะว่าไม่ได้อดทนที่จะไปหาอกุศลอย่างอื่นด้วยโลภะ แต่อดทนที่จะรู้ว่า สิ่งที่ได้ยินได้ฟังเป็นสิ่งที่ยาก แต่สามารถค่อยๆ เข้าใจขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งวันหนึ่งข้างหน้า ก็จะได้รับผลของความอดทนซึ่งเป็นตบะอย่างยิ่ง ด้วยการสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเช่นพระอริยบุคคลทั้งหลาย
สำหรับผู้มีปัญญาจะพิจารณาชีวิตของตนเองในชาติหนึ่งๆ ได้ว่า ทุกสถานการณ์ต้องมีความอดทนอย่างมาก อดทนที่จะไม่เศร้าโศก อดทนที่จะ ไม่ขุ่นเคืองใจ เสียใจ น้อยใจในการกระทำหรือในคำพูดของบุคคลอื่น ในทุกสถานการณ์ แม้ในเรื่องของความเป็นความตายของชีวิต
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๙๓ ตอนที่ ๑๙๒๑ – ๑๙๓๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1884
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1885
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1886
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1887
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1888
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1889
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1890
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1891
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1892
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1893
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1894
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1895
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1896
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1897
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1898
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1899
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1900
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1901
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1902
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1903
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1904
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1905
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1906
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1907
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1908
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1909
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1910
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1911
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1912
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1913
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1914
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1915
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1916
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1917
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1918
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1919
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1920
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1921
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1922
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1923
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1924
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1925
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1926
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1927
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1928
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1929
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1930
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1931
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1932
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1933
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1934
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1935
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1936
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1937
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1938
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1939
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1940
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1941
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1942
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1943
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1944
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1945
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1946
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1947
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1948
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1949