แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1926
ครั้งที่ ๑๙๒๖
สาระสำคัญ
เหตุทั้งหลายย่อมนำมาซึ่งผล
มโนรถปุรณี อรรถกถา องฺ. เอก. อันตรธาน ๕
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๑๓ พฤษาภาคม ๒๕๓๓
ถ้าท่านผู้ฟังมีขันติเพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ทีละนิดทีละหน่อย พร้อมทั้ง การฟังธรรม การอบรมเจริญปัญญา และบารมีประการอื่นๆ ย่อมจะถึงที่สุดวันหนึ่ง ด้วยการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม เพราะว่าเหตุทั้งหลายย่อมนำมาซึ่งผล เมื่อเหตุมีคือบารมีทั้งหลายอบรมเจริญพร้อม การรู้แจ้งอริยสัจจธรรมก็ย่อมมีได้
สำหรับพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ได้ทรงตรัสรู้ พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ และได้ทรงดับขันธปรินิพพานไปแล้ว มีพระธรรมเป็นศาสดาแทนพระองค์ นอกจากพระธรรมที่เป็นศาสดาแล้ว ในโลกนี้ยังมีสถานที่ ซึ่งเป็นสังเวชนียสถาน เป็นสถานที่ที่พุทธบริษัทจะระลึกถึงพระผู้มีพระภาคด้วยจิต ที่เป็นกุศล เพราะว่าได้เข้าใจธรรม คือ ธรรมทั้งหลายเมื่อเกิดขึ้นแล้วต้องดับไป
ทุกคนต้องจากโลกนี้ไป และบางท่านที่บางขณะระลึกถึงความตาย ก็อาจจะระลึกว่า จะไม่เห็นโลกนี้อีกต่อไป เมื่อตายแล้วจะไม่เห็นโลกนี้อีก โลกนี้จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรในแต่ละวันๆ ผู้นั้นไม่สามารถรู้เห็นอีกต่อไปได้ เมื่อจากโลกนี้ ไปแล้วก็ไปสู่โลกอื่น เป็นบุคคลอื่นทันที
ถ้าจะกล่าวถึงโลกที่เราอยู่ในขณะนี้ว่า มีอะไรบ้างที่ควรค่าแก่การเห็น เพราะว่าการเห็น ไม่ว่าจะเกิดในที่หนึ่งที่ใด ในภพภูมิใด จะเป็นในสวรรค์ หรือ ในมนุษย์ การเห็นก็เหมือนกัน คือ มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา การเห็นเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส ทุกภพทุกชาติเหมือนกัน แต่สำหรับผู้ที่เกิดในโลกมนุษย์ในยุคนี้ ในกัปนี้ ในสมัยนี้ มีสถานที่ที่จะทำให้เมื่อเห็นแล้วเกิดกุศล ระลึกถึงพระคุณ ซึ่งโลกอื่นแม้สวรรค์ก็ไม่มี คือ สังเวชนียสถานทั้ง ๔ ได้แก่ สถานที่ประสูติของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า สถานที่ทรงตรัสรู้ พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ สถานที่ทรงแสดงพระปฐมเทศนา และสถานที่ ทรงดับขันธปรินิพพาน ซึ่งในสวรรค์หรือในพรหมโลกก็ไม่มีสถานที่เหล่านี้ แต่ต้อง เป็นผู้ที่มีปัญญา จึงจะเห็นความเป็นสังเวชนิยะของสถานที่เหล่านั้นได้ แต่ถ้าเป็นผู้ที่ไม่มีปัญญา แม้จะยืนอยู่ที่ประตูของพระวิหารเชตวัน ก็ไม่สามารถรู้คุณของสถานที่ ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงประทับเป็นเวลานาน และทรงแสดงพระธรรมเพื่อให้พุทธบริษัทได้พ้นทุกข์ด้วยการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม
สำหรับผู้ที่มีโอกาสได้ไปนมัสการสังเวชนียสถาน ก็ไม่ควรที่จะเพียงไปเห็นเท่านั้น แต่ควรมีกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญาที่จะพิจารณาเพื่อเห็นความเป็น สังเวชนิยะของสถานที่เหล่านั้น เช่น สถานที่ประสูติ
การเกิดเป็นของธรรมดา เมื่อมีเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้น และทุกคนก็ได้เกิดมาแล้ว นานแล้วด้วยในแสนโกฏิกัปป์ และเมื่อตายแล้ว ผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ก็ต้องเกิดอีก เพราะฉะนั้น การเกิดโดยทั่วๆ ไป เป็นของธรรมดาที่ตายแล้วต้องเกิดอีก แต่สำหรับ ผู้ที่เกิดแล้วและเป็นการเกิดครั้งสุดท้าย ย่อมไม่ใช่ของธรรมดา กว่าที่ชีวิตจะอบรม เจริญปัญญาบารมี เกิดแล้วเกิดอีกในสังสารวัฏฏ์มานานแสนนานจนถึงการเกิด ครั้งสุดท้าย เพราะฉะนั้น ที่เกิดครั้งสุดท้ายย่อมเป็นที่ที่ควรจะได้น้อมระลึกถึงพระคุณที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงบำเพ็ญพระบารมี ๔ อสงไขยแสนกัป และสถานที่นั้น เป็นที่เกิดซึ่งจะไม่มีการเกิดอีกต่อไป ที่ประสูติครั้งสุดท้าย คือ ลุมพินีวัน ท่านที่จะได้ไปนมัสการที่นั่น ก็จะได้น้อมระลึกถึงพระบารมีที่ได้ทรงบำเพ็ญ ๔ อสงไขยแสนกัป
อีกที่หนึ่ง คือ สถานที่ที่ทรงตรัสรู้ในอดีต คือ ในวันเพ็ญเดือน ๖ ถ้าท่านผู้ฟังจะน้อมระลึกถึงสถานที่ที่ทรงตรัสรู้ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่พุทธคยา พระโพธิสัตว์ ผู้ทรงเป็นปุถุชนเพราะว่ากิเลสทั้งหลายยังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท เมื่อได้ย่างพระบาท ไปประทับอยู่ ณ โคนต้นพระศรีมหาโพธิ์ ในวันนั้นทรงสามารถสิ้นสุดความเป็นปุถุชนดับกิเลสหมดเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ถ้าได้ไปถึงสถานที่นั้นแล้ว ถ้าน้อมระลึกถึงรอยเท้าในอดีต จะมากมายสัก แค่ไหน ก่อนที่พระองค์จะประทับนั่ง และเมื่อทรงตรัสรู้แล้ว หลังจากที่ได้ทรง แสดงธรรมจนกระทั่งปรินิพพานแล้ว ผู้ที่ได้ไปนมัสการยังสังเวชนียสถาน คือ สถานที่ตรัสรู้ ทุกก้าวย่างให้ทราบว่า มีรอยเท้าของผู้อื่นซึ่งได้ผ่านไปนมัสการในอดีต จนถึงปัจจุบันนับไม่ถ้วน และยังจะต่อๆ ไปอีก เพราะว่าเป็นสถานที่ซึ่งไม่ใช่ที่ธรรมดา แต่เป็นที่ที่ทำให้บุคคลผู้หนึ่งซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์ที่ได้บำเพ็ญพระบารมีถึง ๔ อสงไขยแสนกัป สิ้นสภาพความเป็นปุถุชน และได้ตรัสรู้เป็นพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
อีกแห่งหนึ่ง คือ สถานที่ทรงแสดงปฐมเทศนาที่สารนาถ เป็นการที่ ทรงถึงพร้อมด้วยสัตตูปการะ คือ การอุปการะแก่สัตว์โลก เป็นการเทศนาครั้งแรก
และสถานที่ดับขันธปรินิพพานที่กุสินารา ณ ที่นั้นทุกท่านคงจะระลึกถึงที่ ซึ่งเมื่อพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงดับขันธ์แล้วจะไม่มีการเกิดอีกเลย ทุกคนที่เกิดแล้วก็ตาย เกิดแล้วก็ตาย ที่ตายของแต่ละคนย่อมเป็นของธรรมดา เพราะเมื่อตายแล้วก็เกิดอีก แต่ที่ดับขันธปรินิพพาน คือ ที่ที่จะไม่เกิดอีกเลยของ ผู้ที่ได้ทรงบำเพ็ญบารมีถึง ๔ อสงไขยแสนกัป
สำหรับประเทศอินเดีย ถ้าได้ท่องเที่ยวไปสถานที่ต่างๆ ก็จะได้น้อมระลึกถึงแดนของพระอรหันต์และพระอริยบุคคลทั้งหลายในอดีต ซึ่งเป็นสถานที่เกิดของ ท่านพระสารีบุตร ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ท่านพระมหากัสสปะ ท่านพระอนุรุทธะ ท่านพระอริยะทั้งหลาย เป็นที่ที่จะทำให้ระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัยได้ทุกแห่ง
สำหรับพระบรมสารีริกธาตุซึ่งทุกท่านจะมีโอกาสได้นมัสการ ต่อไปก็จะไม่เหลืออะไรเลย คือ หมายความถึงขณะที่พระศาสนาได้อันตรธานไปทั้งหมด ซึ่งอีกไม่นาน ก็คงจะถึงกาลนั้น แต่คำว่า ไม่นาน ในที่นี้ ไม่ใช่ว่าจะถึงทันที แต่จะค่อยๆ แปร และค่อยๆ เปลี่ยนไป
มโนรถปูรณี อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต อรรถกถาวรรคที่ ๑๐ มีข้อความแสดงเรื่องอันตรธาน ๕ คือ
อธิคมอันตรธาน อันตรธานแห่งการบรรลุอริยสัจจธรรม ๑
ปฏิปัตติอันตรธาน อันตรธานแห่งหนทางปฏิบัติ ๑
ปริยัตติอันตรธาน อันตรธานแห่งปริยัติ ๑
ลิงคอันตรธาน อันตรธานแห่งเพศ ๑
ธาตุอันตรธาน อันตรธานแห่งพระธาตุ ๑
นี่ก็อีกนาน เพราะว่าการอันตรธานจะอันตรธานไปตามลำดับ
อันตรธานที่ ๑ อธิคมอันตรธาน อันตรธานแห่งการบรรลุอริยสัจจธรรม คือ การบรรลุมรรค ๔ ผล ๔ ปฏิสัมภิทา ๔ วิชชา ๓ อภิญญา ๖
จะเห็นได้ว่า คุณวิเศษนอกจากการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม เช่น ปฏิสัมภิทา วิชชา และอภิญญา ซึ่งปฎิสัมภิทา คือ ธรรมปฎิสัมภิทา อรรถปฎิสัมภิทา ปฏิภาณปฎิสัมภิทา นิรุตติปฎิสัมภิทา เสื่อมก่อน
พวกคุณวิเศษต่างๆ จะเสื่อม เหลือแต่การรู้แจ้งอริยสัจจธรรม และจะเสื่อมลงจากการบรรลุเป็นพระอรหันต์ ถึงการบรรลุเป็นพระอนาคามีบุคคล ถึงการบรรลุเป็นพระสกทาคามีบุคคล ถึงการบรรลุเป็นพระโสดาบันบุคคล
ความสิ้นไปแห่งชีวิตของพระอริยบุคคลผู้โสดาบันชั้นต่ำสุดชื่อว่า อันตรธานแห่งอธิคม
เมื่อไรที่พระโสดาบันท่านสุดท้ายสิ้นชีวิต ไม่มีพระโสดาบันอีกเลย นั่นคือ อธิคมอันตรธาน ซึ่งจะค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป ตามกาลและตามเหตุปัจจัย
อันตรธานที่ ๒ ปฏิปัตติอันตรธาน
คือ ไม่มีการอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ได้แต่เพียงรักษาศีลเท่านั้น ในกาลนั้นชื่อว่า อันตรธานแห่งข้อปฏิบัติ
เมื่อภิกษุ ๑๐๐ รูปบ้าง ๑,๐๐๐ รูปบ้าง ผู้รักษาอาบัติปาราชิกยังทรงชีพอยู่ การปฏิบัติชื่อว่ายังไม่อันตรธาน
เพราะว่ายังมีการรักษาจตุปาริสุทธิศีลอยู่
จะอันตรธานไป เพราะภิกษุรูปสุดท้ายทำลายศีล หรือสิ้นชีวิต
ก่อนนั้นก็มีการย่ำยีสิกขาบทเล็กน้อย และค่อยๆ เพิ่มขึ้นจากสิกขาบทเล็กน้อยจนถึงปาจิตตีย์ จนถึงถุลลัจจัย จนถึงครุกาบัติ คือ อาบัติหนัก
อันตรธานที่ ๓ ปริยัตติอันตรธาน
เมื่อกาลเวลาผ่านไป ภิกษุทั้งหลายไม่สามารถทรงจำอรรถไว้ได้ ทรงจำไว้ได้แต่พระบาลีเท่านั้น และเมื่อกาลล่วงไปอีก ก็ไม่สามารถทรงพระบาลีไว้ได้ทั้งสิ้น พระอภิธรรมปิฎกย่อมเสื่อมก่อนตั้งแต่ท้ายลงมา คือ คัมภีร์ปัฏฐานย่อมเสื่อมก่อน ต่อจากนั้นก็คัมภีร์ยมก คัมภีร์กถาวัตถุ คัมภีร์ปุคคลบัญญัติ ธาตุกถา วิภังค์ และธัมมสังคณี ต่อจากนั้นพระสุตตันตปิฎกก็เสื่อมตั้งแต่ท้ายมา จะทรงไว้แต่เฉพาะชาดกกับพระวินัยปิฎกเท่านั้น
ภิกษุผู้เป็นลัชชีเท่านั้นทรงพระวินัยปิฎก ส่วนพระภิกษุผู้หวังในลาภคิดว่า แม้เมื่อกล่าวแต่พระสูตรก็ไม่มีผู้ที่จะกำหนดได้ จึงทรงไว้เฉพาะชาดกเท่านั้น เมื่อเวลาล่วงไปๆ แม้แต่ชาดกก็ไม่สามารถที่จะทรงไว้ได้ บรรดาชาดกเหล่านั้น เวสสันดรชาดกเสื่อมก่อน ชาดกอื่นๆ ก็เสื่อมไปๆ เมื่อชาดกเสื่อมไปอย่างนี้ ภิกษุทั้งหลายย่อมทรงไว้เฉพาะพระวินัยปิฎกเท่านั้น และเมื่อกาลล่วงไปๆ ก็ไม่สามารถจะทรงไว้แม้แต่พระวินัยปิฎก แต่นั้นก็เสื่อมตั้งแต่ท้ายมา โดย คัมภีร์ปริวารเสื่อมก่อน ต่อแต่นั้น ขันธกะ ภิกษุณีวิภังค์ก็เสื่อม ทรงไว้แต่เพียงอุโบสถขันธกะเท่านั้น แม้ในกาลนั้น ปริยัติก็ชื่อว่ายังไม่เสื่อม
ก็คาถา ๔ บาทยังหมุนเวียนอยู่ในหมู่มนุษย์เพียงใด ปริยัติก็ยังชื่อว่า ยังไม่อันตรธานเพียงนั้น
เมื่อถึงกาลสมัยที่พระศาสนาจะเสื่อม ชนผู้รู้คาถาแม้เพียง ๔ บาทก็ไม่มี ถึงแม้ว่าพระราชาผู้มีศรัทธาเลื่อมใส ทรงให้ใส่ถุงทรัพย์ถึงหนึ่งแสนลงในผอบทอง ตั้งบนคอช้าง และให้ตีกลองร้องประกาศไปในพระนครหาคนที่จะรู้คาถา ๔ บาท ก็ไม่มี ราชบุรุษทั้งหลายจึงให้ขนถุงทรัพย์หนึ่งแสนนั้นกลับสู่ราชตระกูลตามเดิม ในกาลนั้น ปริยัตินั้นชื่อว่าย่อมเสื่อมไป ดังนี้ชื่อว่า การอันตรธานแห่งปริยัติ
เรื่องการอันตรธานของการศึกษาพระธรรม จะเห็นได้ว่า แม้มีตัวหนังสือจารึกไว้ก็จริง แต่ถ้าไม่มีใครสามารถเข้าใจอรรถ พระธรรมนั้นก็เหมือนกับค่อยๆ อันตรธานไปทุกที เพราะมีบางสำนักที่ประกาศว่า ทีนี่ไม่มีปริยัติ
บุคคลใดก็ตามที่ไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ย่อมต้องอาศัย พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้แล้วอย่างดีโดยละเอียดด้วยความรอบคอบ จึงจะสามารถเข้าใจธรรมได้ แต่ถ้าประกาศว่า สำนักนี้ไม่มีปริยัติ ซึ่งบุคคลนั้นก็ไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแน่นอน ฉะนั้น การประพฤติปฏิบัติของสำนักนั้น ถูกต้องไม่ได้ เพราะว่าเมื่อไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จะรู้หนทางปฏิบัติที่จะละคลายการยึดถือสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้อย่างไร
นี่เป็นความสำคัญยิ่งสำหรับในกาลที่ปริยัติยังไม่อันตรธาน ซึ่งจะทำให้บุคคลที่อยู่ในกาลนี้ยังมีโอกาสได้ฟังและได้พิจารณาจนปัญญาเจริญขึ้น
ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์พูดถึงสำนักนี้ว่า ไม่มีการพูดถึงปริยัติ เป็นเรื่องที่ได้ยินมากับหูและเห็นกับตาก็วิตกกังวล แต่แม้กระนั้นก็ได้ปลอบใจตัวเอง เพราะเคยไปสำนักลักษณะนี้ ปลอบใจตัวเองว่า ท่านเพียงแต่ปรามให้ผู้มุ่งไปปฏิบัติกับท่านนั้น อย่าติดใจกังวลอยู่กับปริยัตินัก และท่านบอกต่อไปว่า ให้เอาร่างกายของเรานี้ ที่ยาววาหนาคืบเป็นพระไตรปิฎก ให้พิจารณาจากสังขารร่างกายของเรา ที่ผมคิดอย่างนั้น เพราะในยามค่ำท่านจะแสดงธรรม ซึ่งก็คือปริยัติ
นอกจากนั้น ในสำนักเหล่านี้ก็มีทำหนังสือ ทำเทป ในเทปนั้นมีเรื่องของ ปริยัติมากทีเดียว ผมเลยปลอบใจตัวเองว่า ใจเย็นๆ ไม่ต้องถึงกับเดือดร้อนกระวนกระวายจนเกิดความทุกข์มากนัก เพราะแม้ในครั้งพุทธกาลก็มีอาจารย์ หลายท่าน แต่ผมอาจจะผิด และก็ได้ให้ไปสู่ป่า ถึงเวลาก็จะรวบรวมมาฟังธรรม หรือสนทนาธรรม ซึ่งนั่นเป็นปริยัติ ผมหวังว่าจะแค่นั้น ไม่ใช่ให้ปริยัติอันตรธานไป โดยสิ้นเชิง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าวิตก เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องที่จะต้องดูกันต่อไป
สุ. ข้อสำคัญที่สุด คือ เราจะทราบได้อย่างไรว่า เป็นพระธรรมที่ พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ถ้าเราไม่ศึกษาด้วยตัวเอง เพียงได้ยินได้ฟังว่าอย่างนี้ๆ และเราจะรู้จริงๆ ได้อย่างไรว่า ที่เราได้ฟังนั้นเป็นพระธรรม โดยที่มีการกล่าวว่า สำนักนี้ไม่มีปริยัติ
การที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรม ๔๕ พรรษา สำหรับใคร จะให้ปริยัติอันตรธาน หรือควรส่งเสริมการศึกษาปริยัติให้เข้าใจกันโดยถูกต้อง ไม่ใช่เพียงแต่รับฟัง และบอกว่า นี่เป็นปริยัติ แต่ผู้ฟังไม่มีโอกาสทราบได้เลยว่า พระธรรมที่ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงจริงๆ นั้นเป็นอย่างไร ถ้าบุคคลนั้นไม่ได้ศึกษาด้วยตัวเอง
อย่างเรื่องของการปฏิบัติก็เหมือนกัน มีหลายท่านที่บอกว่า ถึงเวลาปฏิบัติ แต่คนนั้นไม่มีความเข้าใจอะไรเลย ไม่เข้าใจเรื่องนามธรรมรูปธรรม ไม่เข้าใจ เรื่องสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่รู้เรื่องของสังขารธรรม ไม่รู้เรื่องของจิต เจตสิก รูปซึ่งเกิดดับในขณะนี้ เพราะฉะนั้น ไม่ทราบว่าจะมีการปฏิบัติอย่างไร เพราะคนส่วนใหญ่ถ้าถามว่า จะเข้าใจพระธรรมหรือจะปฏิบัติ ผู้ที่ต้องการผลเร็วก็บอกว่า จะปฏิบัติ แต่ปฏิบัติเพื่ออะไร เพราะถ้าปฏิบัติโดยไม่เข้าใจ แสดงว่าไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญา
การปฏิบัติต้องทราบว่า เพื่อให้ปัญญาเกิด แต่ปัญญาไม่ใช่จะเกิดโดยที่ไม่มีความเข้าใจอะไรเลย
เพราะฉะนั้น บุคคลนั้นไม่เข้าใจว่า ลักษณะของปัญญาที่จะเจริญขึ้น ย่อมมาจากการฟังและการพิจารณา และการเข้าใจพระธรรมเป็นลำดับขั้น และความเข้าใจที่เพิ่มขึ้น มากขึ้น ละเอียดขึ้นนั่นเอง คือ การอบรมภาวนาปัญญา จนกว่าสติจะระลึก และความรู้ค่อยๆ เพิ่มขึ้นในขณะที่พิจารณาสังเกตลักษณะของสภาพธรรมตามที่ได้เข้าใจแล้ว ถ้ามีแต่ปฏิบัติเฉยๆ โดยไม่มีปริยัติ ถูกต้องไม่ได้
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๙๓ ตอนที่ ๑๙๒๑ – ๑๙๓๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1884
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1885
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1886
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1887
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1888
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1889
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1890
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1891
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1892
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1893
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1894
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1895
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1896
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1897
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1898
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1899
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1900
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1901
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1902
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1903
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1904
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1905
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1906
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1907
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1908
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1909
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1910
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1911
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1912
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1913
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1914
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1915
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1916
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1917
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1918
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1919
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1920
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1921
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1922
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1923
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1924
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1925
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1926
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1927
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1928
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1929
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1930
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1931
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1932
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1933
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1934
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1935
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1936
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1937
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1938
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1939
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1940
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1941
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1942
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1943
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1944
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1945
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1946
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1947
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1948
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1949