แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1929
ครั้งที่ ๑๙๒๙
สาระสำคัญ
การเห็นของพระองค์กับการเห็นของคนที่ยังมีกิเลส
ทูลขอกัมมัฏฐาน หมายความว่าอย่างไร
ปปัญจสูทนี อรรถกถา ม. ม. ฆฏิการสูตร - การแย้มยิ้มของพระผู้มีพระภาค
เรื่องของปัญญา เป็นเรื่องของการอบรม
ความต่างกันของสมถภาวนากับสติปัฏฐาน วิปัสสนาภาวนา
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๒๐ พฤษาภาคม ๒๕๓๓
และเมื่อตื่น ก็ควรที่จะได้พิจารณาความต่างกันของผู้ที่ดับกิเลสหมดแล้ว กับผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ แม้พระผู้มีพระภาคทรงตื่นบรรทม พระองค์ก็ทอดพระเนตรเห็น สิ่งต่างๆ ได้ยินเสียงต่างๆ เหมือนกับบุคคลอื่น แต่พระมหากรุณาคุณที่ได้ทรงตรัสรู้ พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า การเห็นของพระองค์ กับการเห็นของคนที่ยังมีกิเลสต้องต่างกันมาก
การเห็นของพระองค์ประกอบด้วยพระมหากรุณา พิจารณาอุปนิสัยของแต่ละบุคคลเพื่อเกื้อกูลแต่ละบุคคลด้วยพระธรรม แต่สำหรับผู้ที่ยังมีกิเลส ขอให้พิจารณาการเห็นที่ตื่นมา อ่านหนังสือพิมพ์ รัก ชัง มากน้อยแค่ไหน สนุกสนานเพลิดเพลิน และแม้ไม่อ่านหนังสือพิมพ์ เพียงตื่นขึ้นมา เห็นดอกไม้ในบ้าน หรือเห็นสัตว์เลี้ยง จิตใจในขณะนั้นเป็นอย่างไร นี่คือความต่างกันของแม้ผู้ที่มีจักขุปสาท แต่เหตุปัจจัย ที่ทำให้เกิดการเห็น มี
จักขุวิญญาณก็เห็นสิ่งเดียวกัน แต่หลังจากนั้นแล้ว อุปนิสัยที่สะสมมาต่างกัน ซึ่งแต่ละบุคคลสามารถที่จะระลึกรู้ได้ถึงกิเลสของตนเอง ใครมีกิเลสมากเท่าไร คนอื่นไม่รู้ แต่บุคคลนั้นรู้ ใครที่ค่อยๆ ขัดเกลากิเลสเพราะเห็นโทษของกิเลส และกิเลสทั้งหลายก็ค่อยๆ คลายลง ปัญญาค่อยๆ เพิ่มขึ้น คนอื่นก็ไม่สามารถรู้ได้ แต่บุคคลนั้นรู้ได้ นี่เป็นเหตุที่แม้ทุกคนมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และอยู่ร่วมโลกกัน แต่การสะสมต่างกัน ตามขั้นของปัญญา
ถ้าเป็นผู้ที่ยังไม่ได้ฟังพระธรรม ยังไม่ได้พิจารณาพระธรรม ยังไม่ได้อบรมเจริญปัญญา คิดดูว่าชาตินี้ทั้งชาติจะจบลงอย่างไร ก็ต้องด้วยกิเลสที่หนาขึ้นๆ ทุกวัน แต่ถ้ามีโอกาสได้ฟัง ละคลายความไม่รู้ อบรมเจริญกุศลทุกประการเพิ่มขึ้น ก็เป็นชาติที่มีประโยชน์ เมื่อกระดูกทุกชิ้นยังรวมกันอยู่ ยังไม่กระจัดกระจาย ก็ควรให้เป็นประโยชน์ในการที่จะได้เกิดปัญญาเพิ่มขึ้น ไม่ใช่หวังว่า กิเลสทั้งหมดที่เพิ่มขึ้นทุกวัน จะหมดไปเพียงในวันหนึ่ง หรือเดือนหนึ่ง หรือปีหนึ่ง โดยที่ไม่รู้อะไรเลย แต่อยากจะหมดก็เลยไปปฏิบัติ หรือไปทำสิ่งซึ่งไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะของ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้
ถ. ในคราวที่แล้วเรื่องพุทธกิจ ที่อาจารย์กล่าวว่า พระภิกษุบางพวก ก็ทูลขอฟังพระธรรม พระภิกษุบางพวกก็ทูลขอกัมมัฏฐาน และภิกษุบางพวกก็ทูลถามปัญหา เรื่องทูลถามปัญหาและขอฟังพระธรรมก็คงจะทั่วๆ ไป แต่เรื่องการทูลขอกัมมัฏฐานมีการพูดกันมากในการศึกษาธรรม ขอให้อาจารย์ช่วยอธิบายว่า การทูลขอกัมมัฏฐานนั้นคืออย่างไร
สุ. ท่านผู้ฟังทุกท่านมีจริตอัธยาศัยต่างๆ กัน แม้แต่ในขณะนี้เอง บางท่านอาจจะอยากถามปัญหา บางท่านอาจจะอยากฟังเรื่องนั้นเรื่องนี้ บางท่านก็อยากจะฟังเรื่องสติปัฏฐาน เพราะมีความข้องใจ มีความสงสัยในการอบรมเจริญปัญญา เพราะฉะนั้น ถ้ามีข้อความสั้นๆ ว่า ทูลขอกัมมัฏฐาน พระพุทธเจ้าจะทรงทำอย่างไร
ถ. ถ้าให้ผมเดา ผมเดาว่า คงต้องดูอัธยาศัยของผู้ถามก่อน เมื่อดูอัธยาศัยของผู้ถามและทรงทราบแล้ว พระพุทธองค์ก็ทรงให้กัมมัฏฐาน ก็ต้องสรุป ไปอย่างนั้น อย่างเช่นท่านจูฬปันถก ท่านก็ให้ รโชหรณัง ให้ลูบผ้า อย่างนี้ถือว่า ให้กัมมัฏฐานอย่างหนึ่ง เป็นตัวอย่างอย่างหนึ่ง
สุ. ไม่ทราบว่าท่านผู้รู้บาลี ท่านแปลจากภาษาบาลีว่าอะไรที่ว่า ทูลขอกัมมัฏฐาน ถ้าไม่ใช้คำว่า ทูลขอกัมมัฏฐาน จะใช้คำอื่นได้ไหม เพราะว่า คำแปลของผู้แปลมีความสำคัญมากที่จะทำให้ผู้ที่ได้อ่านเข้าใจคลาดเคลื่อนหรือเข้าใจถูกต้อง แต่ถ้าผู้นั้นเป็นผู้ที่เข้าใจพระธรรม และเข้าใจเรื่องการอบรมเจริญปัญญา จะไม่มีความคลาดเคลื่อนเลย แม้คำแปลแปลว่าอย่างนี้ บุคคลนั้นก็สามารถเข้าใจได้ว่า แต่ละบุคคลมีอัธยาศัยต่างๆ กัน เมื่อมีโอกาสได้เฝ้าพระผู้มีพระภาค บางท่าน ทูลถามปัญหา บางท่านไม่ถาม อยากฟังพระธรรม และบางท่านก็สงสัยข้องใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น ก็ทูลถามเรื่องนั้น
ถ. ก็คงจะอย่างนั้น และผมอ่านพบในคาถาธรรมบท ในขุททกนิกาย ส่วนใหญ่ก็เป็นอย่างนี้ เช่น ข้าพเจ้าบวชเมื่อมีอายุแล้ว คันถธุระไม่เอา จะเอาวิปัสสนาธุระ ก็คงจะเป็นการทูลขอกัมมัฏฐานอย่างหนึ่งเหมือนกัน และพระพุทธองค์ ก็จะบอกให้ โดยทรงทราบอัธยาศัยแล้ว ผู้นั้นก็จะได้ดวงตาเห็นธรรม
สมพร ผมจำได้ไม่หมด เท่าที่จำได้มีภิกษุไปสนทนากับอุบาสิกาว่า กัมมัฏฐานนี้ปฏิบัติได้เฉพาะภิกษุหรือ ภิกษุก็บอกว่า แม้อุบาสิกาก็ปฏิบัติได้ และ ถามกัมมัฏฐานที่เรียนมาจากพระศาสดา ก็บอกอาการ ๓๒ เป็นต้นไป แต่ความวิจิตรพิสดารอาจจะมีอีก ผมจำไม่ค่อยได้ จำได้เท่านี้ว่า กัมมัฏฐานที่เรียนมาจากพระศาสดา คือ อาจจะเป็นคำถามที่ว่า จะไปปฏิบัติที่ถิ่นอื่น เวลาที่จะเข้าพรรษา ก็ไปแสวงหาที่อยู่ ก็ทูลถามกัมมัฏฐานว่า ปฏิบัติอย่างไร อาจจะเป็นอย่างนั้น บาลี ผมเข้าใจว่าอย่างนั้น
สุ. ขอบพระคุณ กัมมัฏฐานก็ไม่พ้นจากตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ใช่ไหม ผู้ที่เข้าใจแล้วก็ฟังเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ส่วนผู้ที่ยังไม่ทราบว่าจะระลึกอย่างไร หรือจะอบรมเจริญปัญญาอย่างไร ก็เป็นเรื่องของการที่จะฟังเฉพาะเรื่องนั้น แต่ก็ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่กำลังปรากฏที่จะต้องอบรมเจริญปัญญา
ในคราวก่อนมีผู้สงสัย ๒ เรื่อง คือ เรื่องการแบ่งยามของไทยเราไม่ตรงกับ การแบ่งยามในพระไตรปิฎกและอรรถกถา อีกเรื่องหนึ่ง คือ เรื่องปัจฉาสมณะ
สำหรับเรื่องการแบ่งยามของไทย เราแบ่งเป็น ๓ ชั่วโมงต่อ ๑ ยาม แต่ในพระไตรปิฎกนั้น ตอนกลางวันแบ่งเป็น ๓ ยาม ตอนกลางคืนก็แบ่งเป็น ๓ ยาม คือ ตอนกลางวันตั้งแต่ ๖ โมงเช้า ถึง ๔ โมงเช้า ยามหนึ่ง
และ ๔ โมงเช้า ถึงบ่าย ๒ โมง ยามหนึ่ง
บ่าย ๒ โมง ถึง ๖ โมงเย็น อีกยามหนึ่ง
สำหรับตอนกลางคืน
ตั้งแต่ ๖ โมงเย็น ถึง ๔ ทุ่ม
จาก ๔ ทุ่ม ถึง ตี ๒
และจากตี ๒ ถึง ๖ โมงเช้า
สำหรับเรื่องปัจฉาสมณะ ปัจฉา คือ หลัง ปัจฉาสมณะ คือ พระภิกษุที่ติดตามไปเบื้องหลังพระผู้มีพระภาค เมื่อท่านพระอานนท์เป็นพระพุทธอุปัฏฐาก ท่านก็เป็นปัจฉาสมณะ ติดตามพระผู้มีพระภาคไปเบื้องหลัง หรือแม้เป็นพระภิกษุ อื่นใดก็ตามที่ติดตามพระผู้มีพระภาคไปเบื้องหลัง ภาษาบาลีใช้คำว่า ปัจฉาสมณะ
ปปัญจสูทนี อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ฆฏิการสูตร มีข้อความเรื่องการแย้มยิ้มของพระผู้มีพระภาค ซึ่งเสด็จไปข้างหน้า แต่พระภิกษุ ผู้ติดตามไปข้างหลังสามารถรู้ได้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงแย้มยิ้ม
อรรถกถา ฆฏิการสูตร มีข้อความเรื่องการแย้มยิ้มของพระผู้มีพระภาคทั้งหลายว่า
ปรากฏเพียงอาการยินดีและทรงแย้มพระโอษฐ์เท่านั้น พระผู้มีพระภาคทั้งหลายย่อมไม่ทรงพระสรวล ไม่เหมือนพวกโลกียชนที่ตีท้อง หัวเราะกลิ้งไปมา
เป็นไปได้เวลาสนุกสนานหรือดีใจมาก จะเห็นได้ว่า หัวเราะถึงกับกลิ้ง และ ตีท้องไปมาด้วย
ความแย้มยิ้มของพระผู้มีพระภาค ถึงมีประมาณเล็กน้อยก็ปรากฏแก่ ท่านพระอานนท์เถระผู้เป็นปัจฉาสมณะ เพราะในกาลที่พระผู้มีพระภาคทรงแย้มยิ้มนั้น พระรัศมีรุ่งเรืองจากพระโอษฐ์วนรอบพระเศียร ๓ รอบ แล้วอันตรธานไป เพราะเหตุนั้นท่านพระอานนท์ซึ่งเป็นปัจฉาสมณะ แม้จะเดินตามไปข้างหลัง พระผู้มีพระภาคก็ทราบได้ว่า ทรงแย้มพระโอษฐ์
จะให้เห็นได้ว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นเลิศกว่าสัตว์โลกทั้งหมด ในทุกจักรวาล ย่อมมีความพิเศษซึ่งเป็นผลจากการบำเพ็ญพระบารมี ๔ อสงไขยแสนกัป
ถ. คนในสมัยก่อนพระพุทธกาล หรือในสมัยที่ว่างจากศาสนา ยังสามารถทำฌานสมาบัติให้เกิดได้ แต่คนในสมัยพุทธกาลรุ่นนี้ เกือบจะ ๓,๐๐๐ ปี โอกาส ที่จะบำเพ็ญเพียรให้ได้ฌานสมาบัติ รู้สึกว่าจะไม่ใช่เป็นโอกาส ไม่ใช่สมัย เพราะอะไร
สุ. การเจริญสมถภาวนาถ้าไม่มีปัญญา ไม่ประกอบด้วยญาณสัมปยุตต์ เจริญไม่ได้เลย ผู้ที่ปฏิสนธิด้วยอเหตุกกุศลวิบาก คือ อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก หรือผู้ที่ปฏิสนธิด้วยมหาวิบากญาณวิปปยุตต์ ไม่ประกอบด้วยปัญญา ไม่สามารถบรรลุฌานได้
ถ. สมัยที่ว่างจากพระศาสนา คนสมัยนั้นมีปัญญาดีกว่าสมัย ๓,๐๐๐ ปีนี้
สุ. เรื่องของปัญญาเป็นเรื่องของการอบรม ผู้ใดที่มีปัญญาก็หมายความว่า ผู้นั้นต้องเคยมีโยนิโสมนสิการ มีการพิจารณาไตร่ตรองด้วยดีตามเหตุตามผล ข้อสำคัญที่สุดที่มีผู้สงสัยว่า สมัยนี้จะมีผู้ที่บรรลุฌานไหมถ้าเจริญสมถภาวนา ใช่ไหม
จะต้องเข้าใจเรื่องการเจริญสมถภาวนาให้ถูกต้อง โดยจะต้องรู้ลักษณะของสติสัมปชัญญะ เพราะไม่ว่าจะเป็นการเจริญสมถภาวนาหรือวิปัสสนาภาวนา ขาดสติสัมปชัญญะไม่ได้เลย สติเจตสิกเป็นโสภณเจตสิกเกิดกับกุศลจิตทุกขั้น ขณะที่ให้ทานหรือระลึกเป็นไปในทาน ในการให้ ขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน เป็นสติเจตสิกที่ระลึกเป็นไปในทาน ขณะที่วิรัติทุจริตก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ถ้าสติไม่เกิด ที่จะระลึก ที่จะเว้นทุจริต การละเว้นทุจริตก็เป็นไปไม่ได้
เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่า สติขั้นทาน สติขั้นศีล ไม่ใช่ขั้นสมถะและวิปัสสนา สำหรับขั้นสมถะและวิปัสสนาต้องเป็นสติที่ประกอบด้วยสัมปชัญญะ คือ สติ ที่ระลึกได้ และรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น รู้ว่าอกุศลเป็นอกุศล และกุศลเป็นกุศล ซึ่งต้องเป็นปัญญา เพราะว่าในขณะนี้จิตเกิดดับหลายประเภทเหลือเกิน ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ มีการนึกคิดเรื่องราวต่างๆ มีการเห็น มีการได้ยินสลับไป ใครสามารถบอกได้ว่า ขณะไหนเป็นกุศล ขณะไหนเป็นอกุศล เพราะว่าจิตเกิดดับสลับอย่างรวดเร็วมาก
แต่ผู้ใดสามารถมีสติสัมปชัญญะรู้ลักษณะของอกุศล เช่น กามฉันทนิวรณ์ ความยินดีพอใจในรูปที่ปรากฏทางตา ขณะนี้ถ้ามีความยินดีพอใจและรู้ว่า ขณะนั้นเป็นสภาพของความยินดีพอใจ รู้ด้วยว่าเป็นอกุศล ผู้นั้นจึงจะสามารถ เจริญกุศลซึ่งเป็นสมถภาวนาได้
ถ. สมัยนี้ถ้ามีผู้ที่สามารถเข้าใจในเรื่องสมถกัมมัฏฐานดี สามารถเข้าใจ ได้ถูกต้องตามหลักฐานที่มีอยู่ในพระไตรปิฎกและอรรถกถา ตรงตามที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ ก็ยังมีโอกาสได้บรรลุฌานสมาบัติได้อยู่
สุ. ผู้ที่เข้าใจพระธรรม จะละกิเลส ดับกิเลส หรือจะระงับกิเลส
ถ. ก็จะต้องดับกิเลส ระงับเป็นเพียงชั่วคราว ไม่เด็ดขาด
สุ. เพราะฉะนั้น ถ้าสติสัมปชัญญะเกิด รู้ลักษณะของสภาพธรรม และสามารถรู้ว่าลักษณะนั้นเป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม ย่อมดีกว่าเพียรที่จะให้จิต เป็นกุศลโดยน้อมระลึกถึงอารมณ์ที่เพียงระงับอกุศล
จะให้สงบเพราะจิตระลึกถึงอารมณ์ที่ทำให้จิตสงบเป็นกุศลบ่อยๆ เนืองๆ จนกระทั่งถึงฌาน หรือจะละการยึดถือจิตในขณะนั้น โดยรู้ว่าเป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง นี่คือความต่างกันของสมถภาวนา กับสติปัฏฐาน วิปัสสนาภาวนา
ถ. เมื่อ ๒ - ๓ วัน ได้อ่านเรื่องอานาปานสติ อ่านแล้วรู้สึกมีโลภะมาก เพราะท่านพรรณนาคุณของอานาปานสติไว้มากมายเหลือเกิน คงจะมีกิเลส ไม่ใช่ฉันทะ คงมีโลภะอยากจะเจริญบ้าง จะได้เป็นอย่างที่ท่านว่าไว้ในหนังสือ ถ้าเป็น อย่างนี้ผมว่าเราไม่ได้เข้าใจธรรม ไม่ได้เข้าใจทาง ไม่ได้เข้าใจสมถกัมมัฏฐาน เพราะฉะนั้น ถ้ายังไม่เข้าใจถูกต้อง แม้หวังอยากจะได้อย่างไร ก็ไม่มีทางได้บรรลุ ฌานสมาบัติ แม้แต่แค่ขั้นอุปาจารสมาธิ ก็รู้สึกว่ายังห่างไกลอยู่มาก
สุ. ส่วนใหญ่จะไม่ได้ระลึกรู้ว่า สมถภาวนาเป็นเรื่องละกิเลสหรือระงับกิเลส แต่เป็นเรื่องอยากได้
ถ. เป็นเรื่องอยากจะได้อานิสงส์อย่างที่ท่านว่าไว้ เพราะว่าท่านแสดงอานิสงส์ไว้มากมายเหลือเกิน
สุ. ถ้าท่านผู้ฟังมีความชอบใจสิ่งหนึ่งสิ่งใด เห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้วยินดีเพลิดเพลิน ขณะนั้นเห็นโทษของโลภะ ใคร่ที่จะระงับโลภะ หรืออยากจะได้อานิสงส์ของอานาปานสติ
ถ. ส่วนใหญ่ไม่ค่อยจะเห็นโทษ
สุ. เพราะฉะนั้น จะเจริญสมถภาวนาได้อย่างไร เห็นไหมว่าไม่สามารถเจริญสมถภาวนาได้ เพราะไม่เห็นโทษของโลภะ เพียงแต่อยากได้อานิสงส์ของ อานาปานสติ แต่ผู้ที่จิตจะสงบจากโลภะต้องรู้ว่า เห็นแล้วโลภะเกิด และที่กุศลจะเกิดแทนโลภะนั้นจะต้องระลึกอย่างไร หรือเวลาที่เห็นแล้วขุ่นเคืองรำคาญตา หมั่นไส้ ทำอย่างไรจึงจะเป็นกุศลแทนที่จะเป็นอกุศลนั้นๆ นี่คือความสงบ ซึ่งถ้าไม่เห็นโทษ และไม่มีจิตที่สงบจากอกุศล จะเป็นความอยากได้อย่างอื่น คือ อยากได้อานิสงส์ของอานาปานสติ
ถ. แม้แต่ในขั้นสมถะ ปัญญาก็ต้องเห็นโทษของโลภะด้วย
สุ. แน่นอนที่สุด เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะเจริญสมถะโดยไม่เข้าใจสมถะ ไม่มีทางที่จะถึง นี่คือคำตอบของคำถามที่ว่า คนในยุคนี้สมัยนี้สามารถบรรลุ ฌานจิตไหม ถ้าไม่มีความรู้ความเข้าใจ ไม่มีสติสัมปชัญญะ ไม่เห็นโทษของอกุศล ที่เกิดในขณะนั้น และไม่รู้ว่ากุศลจะเกิดโดยน้อมระลึกอย่างไร ซึ่งขณะนั้นต้องมีปัญญา ถ้าไม่มีปัญญาก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร อกุศลก็เป็นอกุศล โลภะก็เป็นโลภะ โทสะก็เป็นโทสะ และจะทำอย่างไร ใช่ไหม แต่ผู้ที่รู้หนทางที่จะระงับ คือ เข้าใจอารมณ์ของสมถภาวนา ปัญญาในขณะนั้นสามารถที่จะเกิดและกิเลสระงับ และ กุศลจิตก็มั่นคงขึ้นจนกระทั่งความสงบปรากฏเป็นขั้นๆ แต่ไม่ใช่เพราะอยากได้อานิสงส์ เพียงเท่านี้ก็เห็นได้ถึงความต่างกันของโยนิโสมนสิการกับอโยนิโสมนสิการ
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๙๓ ตอนที่ ๑๙๒๑ – ๑๙๓๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1884
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1885
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1886
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1887
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1888
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1889
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1890
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1891
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1892
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1893
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1894
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1895
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1896
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1897
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1898
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1899
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1900
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1901
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1902
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1903
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1904
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1905
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1906
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1907
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1908
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1909
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1910
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1911
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1912
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1913
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1914
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1915
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1916
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1917
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1918
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1919
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1920
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1921
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1922
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1923
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1924
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1925
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1926
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1927
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1928
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1929
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1930
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1931
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1932
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1933
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1934
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1935
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1936
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1937
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1938
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1939
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1940
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1941
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1942
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1943
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1944
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1945
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1946
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1947
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1948
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1949