แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1930


    ครั้งที่ ๑๙๓๐


    สาระสำคัญ

    มโนรถปุรณี อรรถกถา เอกนิบาต อรรถกถาวรรคที่ ๖ บาลีแห่งเอกธรรม - กิจของพุทธบริษัท

    คุณโกวิท อมาตยกุล ท่านผู้เขียน เหตุใดผมจึงศึกษาธรรมและแนวทางการเจริญวิปัสสนา


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๓๓


    ถ. อีกอย่างหนึ่ง ผมอยากให้ท่านอาจารย์พูดซ้ำอีกที คือ ...

    สุ. ขอประทานโทษ ขอถาม ทำไมต้องอานาปานสติ

    ถ. ก็มีคนสนใจกันมากเหลือเกิน ผมก็เลยไปอ่านตำราดูว่า ทำไมคน อยากได้มากมายนัก บางแห่งท่านก็บอกว่าเป็นวิสัยของพระอริยบุคคล หรือเป็นวิสัยของสัตบุรุษเท่านั้นที่เจริญอานาปานสติได้ แต่บางแห่งก็บอกว่า ผู้ที่เหมาะจะเจริญ อานาปานสติต้องเป็นโมหจริต คนโมหจริตนี่เป็นคนโง่ ทำไมท่านจึงบอกว่า อานาปานสติเหมาะสม เป็นกัมมัฏฐานที่เหมาะแก่อัธยาศัย

    สุ. การฟังพระธรรม หรือการพิจารณาพระธรรม ต้องละเอียด แม้แต่เพียงคำพูดที่บอกว่า ต้องการอานิสงส์ของอานาปานสติ ถ้าถาม ซักให้ละเอียดว่า ทำไมต้องเป็นอานาปานสติ เหตุผลจะมีไหม ถ้าถามกลับไปอีกว่า ถ้าจิตสงบโดยไม่ใช่ อานาปานสติได้ไหม เอาไหม หรือไม่เอา จะเอาอานาปานสติ เพราะว่าจิตจะสงบ ได้หลายอย่าง หลายอารมณ์ ไม่ใช่แต่เฉพาะอานาปานสติเท่านั้น

    เพราะฉะนั้น ผู้ใดก็ตามที่ได้ฟังพระธรรม จะต้องไตร่ตรอง และซักถามแม้แต่ความคิดของตนเองและผู้อื่น จึงจะได้เหตุผลที่ถูกต้อง ถ้าจิตใครไม่สงบ และจะสงบโดยวิธีอื่นที่ไม่ใช่อานาปานสติ เอาไหม หรือจะเอาแต่อานาปานสติ

    ถ. แต่อานาปานสติ มีอานิสงส์มากจริงๆ

    สุ. ฟังแล้วอยากได้เหลือเกิน เพราะอานิสงส์มากจริงๆ แต่จิตสงบ อานิสงส์ดีไหม ขณะนั้นไม่เป็นอกุศลจิต ดีไหม เอาไหม ไม่ต้องอานาปานสติ

    ถ. เอา

    สุ. ก็คลายความติดในอานาปานสติไปได้ มิฉะนั้นแล้วก็ต้องอานาปานสติ อยู่นั่นแหละ อยากจะทำอานาปานสติโดยไม่รู้ว่าทำอย่างไร จะถึงได้อย่างไร ต้องการเพียงผลเท่านั้น

    อานาปานสติ ยากที่สุดในบรรดากัมมัฏฐานทั้งปวง เพราะว่าเป็นอารมณ์ของมหาบุรุษ มีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎก

    ถ. ยิ่งท่านบอกว่ายาก ยิ่งอยากจะรู้

    สุ. ยิ่งอยาก ขณะอยากเป็นโลภะ ถ้าขณะนั้นไม่มีโลภะ เป็นกุศล เอาไหม

    ถ. ตกลงต้องเอาที่เป็นกุศล

    สุ. ขอให้เป็นกุศล โดยวิธีใดก็ตาม อย่าเลือกว่าต้องเป็นอานาปานสติ หรืออะไรอย่างนั้น

    ถ. ท่านพระอานนท์ท่านเป็นผู้สังเกตว่า ที่พระพุทธองค์ทำอย่างไรนั้น หมายความว่าอย่างไร ท่านแปลได้หมดเลย อย่างท่านจะเสด็จไปทางไกล ท่านก็ ฉันอาหารเพิ่มขึ้นอีกคำสองคำ และเสด็จจงกรมนิดหน่อย อย่างนี้มีความหมายอย่างไรไม่ทราบ

    สุ. คนที่คุ้นเคยกัน อยู่ด้วยกัน ไม่ต้องพูดกันก็รู้ว่า ใครต้องการอะไร

    การบำเพ็ญชีวิตของพุทธบริษัทผู้มีพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ต่างกันตามเพศ สำหรับพุทธบริษัทที่เป็นบรรพชิต คือ ภิกษุ สามเณร ย่อมได้รับทุกอย่างที่เป็น อามิสทายาท เพราะว่าเป็นผู้ที่เกิดใหม่ในพระธรรมวินัย อามิสทายาทที่สมบูรณ์ ก็ทั้งอาราม ที่อยู่อาศัย ความสะดวกสบายด้วยปัจจัย ๔ เพราะฉะนั้น ต้องมีความอดทนที่จะกระทำกิจของบรรพชิต คือ คันถธุระและวิปัสสนาธุระ คู่กันไปกับการประพฤติปฏิบัติตามพระวินัยบัญญัติที่เป็นปาติโมกขสังวรศีล จึงจะไม่เป็นการเปล่าประโยชน์

    ขอกล่าวถึงข้อความใน มโนรถปูรณี อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต อรรถกถาวรรคที่ ๖ บาลีแห่งเอกธรรม ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงกิจของ พุทธบริษัท ไม่ว่าจะเป็นบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ แต่สำหรับบรรพชิตพระผู้มีพระภาค ทรงโอวาทตักเตือนมากกว่าผู้ที่เป็นคฤหัสถ์

    ข้อความในอรรถกถามีว่า

    คำว่า อโมฆํ แปลว่า ไม่เปล่า บทว่า รฏฺฐปิณฺฑํ ความว่า บิณฑบาต (อาหาร) นั่นแล ท่านเรียกว่า รัฏฐบิณฑะ (ก้อนข้าวของชาวแว่นแคว้น) เพราะ อาหารนั้น ภิกษุผู้สละเครือญาติ อาศัยชาวแว่นแคว้น บวชแล้วได้จากเรือน ของคนอื่น

    บทว่า ปริภุญฺชติ ความว่า บริโภคมี ๔ อย่าง คือ

    เถยยบริโภค บริโภคอย่างโจร

    อิณบริโภค บริโภคอย่างเป็นหนี้

    ทายัชชบริโภค บริโภคอย่างทายาท

    สามีบริโภค บริโภคอย่างเจ้าของ

    ในบริโภค ๔ อย่างนั้น การบริโภคของผู้ทุศีล ชื่อว่าเถยยบริโภค การบริโภคปัจจัยที่ไม่ได้พิจารณาของผู้มีศีล ชื่อว่าอิณบริโภค การบริโภคของพระเสขบุคคล ๗ จำพวก ชื่อว่าทายัชชบริโภค การบริโภคของพระขีณาสพ ชื่อว่าสามีบริโภค ... ผู้เจริญเมตตาบริโภคโดยไม่เป็นหนี้ เป็นทายาทบริโภค ไม่เสียเปล่า

    สำหรับเถยยบริโภค คือ การบริโภคอย่างโจรหรือขโมย เพราะว่าเป็นผู้ที่ทุศีล เพราะฉะนั้น เมื่อได้รับอาหารบิณฑบาตแล้วไม่ประพฤติปฏิบัติตามพระวินัย จึงเสมือนโจร

    การบริโภคอย่างอิณบริโภค คือ บริโภคอย่างเป็นหนี้ เพราะถึงแม้จะเป็นผู้มีศีล แต่ขณะใดที่ไม่ได้พิจารณา ไม่ได้อบรมเจริญปัญญา สติไม่ระลึกรู้ลักษณะของ สภาพธรรมในขณะนั้น การบริโภคก้อนข้าวของชาวแว่นแคว้นคืออาหาร ก็เป็นการบริโภคอย่างเป็นหนี้

    การบริโภคของพระเสกขบุคคล ๗ จำพวก ชื่อว่าทายัชชบริโภค เพราะว่า เป็นผู้บริโภคอย่างทายาทของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้สมควรแก่อาหารที่ได้รับ

    การบริโภคของพระขีณาสพ ชื่อว่าสามีบริโภค เมื่อหมดกิเลสแล้ว ก็สมควรที่บุคคลอื่นจะถวายอาหารนั้นให้บริโภค จึงเป็นเจ้าของอาหารที่บริโภค บริโภคอย่างผู้ที่เป็นเจ้าของ

    นี่ก็แสดงให้เห็นถึงกิจของพุทธบริษัท แต่สำหรับบรรพชิตจะเห็นได้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงโอวาททรงเตือนว่า แม้ไม่ใช่ผู้ทุศีล แต่ขณะใดที่หลงลืมสติ ขณะนั้นชื่อว่าอิณบริโภค บริโภคอย่างเป็นหนี้

    สำหรับพุทธบริษัทที่ยังไม่ปรินิพพาน ยังคงหลงเหลืออยู่ในสังสารวัฏฏ์ ยังต้องเวียนว่ายตายเกิด ยังไม่สิ้นกิเลส ก็จะต้องอบรมเจริญปัญญาบารมีต่อไป ด้วยความอดทน ซึ่งเป็นขันติบารมีของแต่ละท่านที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ ในวันหนึ่ง

    วันนี้เป็นโอกาสดีที่ท่านผู้ฟังจะได้พบกับท่านผู้เขียนหนังสือเรื่อง เหตุใดผมจึงศึกษาธรรมและแนวทางการเจริญวิปัสสนา

    ท่านผู้เขียน คือ คุณโกวิท อมาตยกุล ซึ่งจะไม่ขอแนะนำอะไร เพียงแต่ ถ้าท่านผู้ฟังได้พบท่านแล้ว มีคำถามหรือมีความสนใจในเรื่องที่ท่านเขียนก็ขอเชิญ

    ขอเชิญพบกับคุณโกวิท อมาตยกุล

    โกวิท ผมขอกราบสวัสดีท่านที่เคารพทุกท่าน ผมรู้สึกดีใจมากที่ได้มาพบกับ ท่านที่เคารพทั้งหลาย ความจริงผมควรจะมานานแล้ว แต่ผมเป็นโรคอย่างหนึ่ง คือ มีความอาย ไม่ค่อยปรากฏให้ใครเห็น นานมาก บางทีท่านอาจารย์อาจไม่ชอบใจเท่าไร วันนี้ก็เลยมาปรากฏตัวให้ท่านเห็น ผมต้องกราบขอบพระคุณท่านอาจารย์ ที่เคารพไว้อย่างสูง

    ผมรู้สึกไม่ค่อยสบายใจนักที่มายืนอยู่ตรงนี้ เพราะว่าจะมาพูดเรื่องธรรม ซึ่งเมื่อก่อนผมไม่เคยศึกษามาเลย แต่ที่ได้มาศึกษาเพราะถูกบังคับ ผมถูกใครบังคับ บังคับอย่างไร ปรากฏอยู่ในหนังสือเล่มนี้ คือ คุณหญิงณพรัตน์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ท่านบังคับให้ผมศึกษาธรรม และผมฟังๆ ไป ผมก็ชอบ ที่ชอบเพราะว่าผู้บรรยาย คือ ท่านอาจารย์สุจินต์นั้น สะดุดใจผมมาก นอกจากนั้นยังได้นำคำของพระพุทธองค์ มาบรรยายอย่างชนิดที่เรียกว่า ละเอียดลึกซึ้ง เป็นที่ต้องใจผมมาก ผมจึงเริ่มศึกษา มาตั้งแต่บัดนั้น

    ได้ยินแต่เจริญสติปัฏฐานๆ ไม่ทราบว่าเพราะอะไร หมายความว่าอย่างไร แต่ในที่สุดฟังๆ ไปก็รู้ว่า การเจริญสติปัฏฐานนั้น คือ การมีสติระลึกรู้ลักษณะ สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงในปัจจุบัน ที่ผมพูดอย่างนี้ ต้องขอประทานอภัยสำหรับท่านที่เคารพที่เริ่มศึกษาการเจริญสติปัฏฐาน สำหรับท่านที่ศึกษามา นานแล้ว ท่านคงตระหนักถึงคำจำกัดความได้อย่างดี

    ผมเขียนหนังสือเล่มนี้เสมือนเป็นของเด็กอนุบาล คือ นำคำสอนของ พระพุทธองค์ซึ่งบรรยายโดยท่านอาจารย์สุจินต์มาย่นย่อ พูดแต่พอเข้าใจเท่านั้น ที่จริงการเจริญสติปัฏฐานนั้น ผมรู้สึกว่าเป็นธรรมที่สูงมากสำหรับผม เสมือนหนึ่ง จบประถมแล้วไปเรียนปริญญา ต่อกันไม่ได้เลย ต้องใช้เวลามาก

    ผมเขียนหนังสือเล่มนี้เมื่อปี ๒๕๒๙ บัดนี้ ๒๕๓๓ เป็นเวลา ๔ ปี ผมเพิ่งมาปรากฏตัว คือ ถ้ามาผมก็คงจะอาย เพราะเขียนมาใหม่ๆ แต่ในที่สุดหลบไม่ไหว ก็ต้องมา อายุก็มากแล้ว

    ผมจะเรียนความลับส่วนตัว คือ ที่ผมพูดนี่ จะเน้นที่การเจริญสติปัฏฐานเท่านั้น เพราะว่าผมสนใจ

    เราฟังธรรมทำไม ฟังธรรมเพื่อรู้ รู้อะไร รู้สิ่งที่ปรากฏ รู้แล้วทำไม รู้แล้วละ ละอะไร ละสิ่งที่ไม่รู้ ละความเห็นผิดที่ยึดถือว่านามรูปเป็นตัวตน และจะดับกิเลส ได้เป็นสมุจเฉทในโอกาสต่อไป

    พระพุทธองค์ทรงกล่าวว่า แม้จะเจริญทานสักเท่าใด เจริญความสงบสักเท่าใดก็ตาม ไม่เป็นทางที่จะตัดกิเลสได้เป็นสมุจเฉท มีหนทางเดียวที่จะตัดกิเลส ได้เป็นสมุจเฉท คือ การเจริญสติปัฏฐาน รู้ลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ นี่คือหัวใจ

    ผมอยากจะเรียนให้ท่านที่เริ่มศึกษาสติปัฏฐานนั้นได้ทราบนิดๆ หน่อยๆ ว่า ที่จริงไม่ใช่เป็นเรื่องง่าย เป็นเรื่องยากมาก การเจริญสติปัฏฐานนั้นสามารถจะทำให้ท่านบรรลุเป็นพระอริยบุคคลได้ อาจจะเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี หรือพระอรหันต์ได้ ซึ่งแต่ละขั้นของพระอริยะก็ตัดกิเลสอย่างน้อยที่สุด ไปจนถึงตัดได้หมด

    ผมขอเชิญชวนให้ท่านทั้งหลายได้ศึกษาวิชานี้เถิด เป็นวิชาที่ท้าทายมาก สิ่งที่เกิดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ท่านเคยทราบบ้างไหม ท่านได้ยินอะไร ท่านก็บอกว่า ได้ยินเสียงนก แต่ทราบไหมว่า ในขณะที่ได้ยินนั้น มีทั้งเสียงและได้ยิน

    ผมไม่เคยทราบ ผมเพิ่งทราบก็เลยนึกว่า วิชานี้เป็นวิชาที่ลึกซึ้งมาก ผมยังรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณของคุณหญิงณพรัตน์ ซึ่งผมเรียกว่าพี่หญิงอยู่เสมอ และเป็นหนี้ บุญคุณท่านอาจารย์ที่เคารพอยู่จนบัดนี้ ท่านพูดได้ลึกซึ้ง ลีลาการพูดดีเหลือเกิน ไม่มีโทสะง่ายๆ ใครจะถามอะไรก็ตอบแบบผู้ดี เป็นที่ติดใจประทับใจผมมาก

    เรื่องที่จะพูดต่อไปเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ ซึ่งผมขอกราบเรียนเฉพาะท่านที่ เริ่มศึกษา ถ้าผมจะพูดว่า กำลังเห็นนี่เป็นสภาพธรรมอะไร กำลังเห็นก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งเป็นสภาพรู้ หรืออาการรู้ หรือลักษณะรู้ หรือธาตุรู้ รู้อะไร รู้สิ่งที่ปรากฏทางตา สิ่งที่ปรากฏทางตาคืออะไร คือ รูปารมณ์ หรือสี หรือวัณโณ วัณณะ ตามศัพท์บาลี อันนี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก สิ่งที่ปรากฏทางตานั้น ไม่ใช่คน ไม่ใช่ ถ้วยแก้ว ไม่ใช่วัตถุ แต่เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตาจริงๆ

    ไม่เชื่อท่านทั้งหลายหลับตา และลืมตาขึ้น สิ่งที่ปรากฏทางตาเต็มไปหมดเลย แต่ตอนนั้นเรายังไม่รู้ว่าเป็นอะไร เป็นคน เป็นพัดลม เป็นไฟ เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาจริงๆ เสมือนหนึ่งว่าเวลาเรานั่งรถไฟ ท่านมองไปทางช่องหน้าต่าง ควายก็มี คนขี่ควายก็มี ข้าวก็มี แต่ท่านไม่ได้สนใจในนิมิตอนุพยัญชนะ หรือรูปร่างสัณฐานอะไรใดๆ ทั้งสิ้น

    ยกตัวอย่างอีกอันหนึ่ง เวลาไปตลาด ท่านเดินไป ผลไม้ก็มี ปลาก็มี หมูก็มี ไก่ เนื้อ แต่ไม่ได้สนใจอะไรโดยเฉพาะ ต่อเมื่อท่านสนใจแล้ว ก็รู้ว่าอันนี้เป็นหมู อันนั้นเป็นถ้วยแก้ว ซึ่งนั่นไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตาแล้ว เป็นเรื่องของมโนทวารแล้ว

    กรุณาคิดให้ดี สิ่งที่ปรากฏทางตา คือ สิ่งที่ปรากฏทางตา แต่เมื่อท่านรู้ว่า เป็นถ้วยแก้ว เป็นเรื่องของมโนทวารแล้ว

    เป็นสิ่งที่น่าศึกษาไหม เสียงกับได้ยิน ท่านได้ยินทีไรก็เป็นนกร้อง แต่หารู้ไม่ว่า เสียงก็มี ได้ยินก็มี เสียงนั้นเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งปรากฏให้รู้ได้ทางหู อย่าเอาอะไรมาเชื่อมโยงจนรู้ว่าเป็นเสียงนั้นเป็นเสียงนี้ ปล่อยทิ้งไว้ กำลังได้ยิน ก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งเป็นสภาพรู้ เป็นนามธรรม ท่านต้องเข้าใจอย่างนี้ จึงจะละคลายตัวตนได้ เป็นเรื่องยากมาก การละคลายตัวตน

    การเจริญสติปัฏฐาน มีหลายท่านถามว่า ทำอย่างไร

    ถ้าใช้คำว่า ทำ เมื่อไร เป็นตัวตนเมื่อนั้น กรุณาสังเกตให้ดี ถ้าทำ เป็นเราทำ เรียกเสียใหม่ว่า การเจริญสติปัฏฐาน

    เจริญสติปัฏฐาน คือ การมีสติระลึกได้

    สติ คือ ระลึก ลักษณะของสติท่านคงทราบว่าเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ไม่อยู่ในบังคับบัญชาของใคร ท่านจะไปสั่งว่า สติเกิดสิ ก็ไม่ได้ ธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นโดยเหตุปัจจัย เกิดขึ้นและดับไป ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคลใดๆ ทั้งสิ้น

    สิ่งที่ผมพูดนี้ เล่าถึงชีวิตที่ผมได้ประสบมาในการปฏิบัติธรรม ผมว่า การเจริญสติปัฏฐานนั้นสูงมากจริงๆ ผมไม่สนใจธรรมอย่างอื่น บางท่านอาจจะ ตำหนิผม แต่ก็เคยฟังเรื่องเมตตา เรื่องทาน เรื่องกรรม เรื่องจิต โดยเฉพาะเรื่องจิต หนักหนาสำหรับผมเหลือเกิน ซับซ้อนซ่อนเงื่อนมากมาย ผมเคยเรียนท่านอาจารย์ว่า หนักหนาสำหรับผมเหลือเกิน ท่านก็บอกว่า ในอาทิตย์หนึ่ง วันก็ยังจำได้ เดือน ๑๒ เดือนก็ยังจำได้ ทำไมจำอย่างนี้ไม่ได้ ผมก็จำนนด้วยเหตุผล ต่อไปก็ต้องศึกษา แต่ในขณะนี้เริ่มนิดๆ ว่า จิตนั้นคือสภาพรู้ ธาตุรู้ อาการรู้ ลักษณะรู้ เท่านี้

    ถ้าท่านผู้ใดเห็นว่า มีสติระลึกรู้นั้น ยากไป ผมขอเปลี่ยนใหม่เป็น ตามรู้สิ่งที่ปรากฏก็ได้ ที่เปลี่ยนนี้ไม่ใช่ผมเปลี่ยน แต่เป็นคำบรรยายของท่านอาจารย์ ที่ผมสรุปไว้

    สิ่งที่ปรากฏเวลานี้มีเต็มไปหมด รูปนามเต็มไปหมด แล้วแต่ว่าท่านจะสติเกิดเมื่อใด หรือรู้สึกตัว คือ มีสติสัมปชัญญะ ซึ่งจะต้องมีรูปนามปรากฏจึงจะเป็น การรู้สึกตัวที่เป็นสติปัฏฐาน

    ผมคิดว่า คำบรรยายสั้นๆ ท่านอาจจะพอเข้าใจบ้าง มีเรื่องที่อยากจะเรียน อีกนิดว่า เมื่อระลึกได้แล้ว ทีแรกยังไม่รู้ สติระลึกได้แต่ยังไม่รู้ อย่างเวลานี้ ท่านนั่ง เสียงก็มี เห็นก็มี กลิ่นก็มี เย็น ร้อน อ่อน แข็งก็มี คิดนึกก็มี โน่น ฟุตบอลที่ไหนก็ไม่ทราบ คิดกันใหญ่ ท่านพอจะมีสติระลึกได้ไหม ถ้าสมมติว่าระลึกได้ ก็นั่นแหละคือระลึก แต่ยังไม่รู้ เมื่อระลึกได้แล้วก็พยายามศึกษา พิจารณา สังเกต สำเหนียก น้อมไปที่จะรู้สิ่งที่ปรากฏ นั่นแหละปัญญาจึงเกิด และจะรู้ชัดต่อๆ ไป

    ขอกราบขอบพระคุณท่านทั้งหลาย โดยเฉพาะขอเรียนว่า ทุกๆ ท่าน จงเป็นผู้มีปกติเจริญสติ กราบสวัสดี



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๙๓ ตอนที่ ๑๙๒๑ – ๑๙๓๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 133
    28 ธ.ค. 2564