แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1932
ครั้งที่ ๑๙๓๒
สาระสำคัญ
วิลาสินี อรรถกถาพุทธวงศ์ อัพพันตรนิทาน พรรณนารัตนจังกัมมนกัณฑ์ - พระผู้มีพระภาค ชื่อว่า ตถาคต
ปรมัตถโชติกา อรรถกถา ขุททกนิกายอรรถกถามงคลสูตร คาถาพรรณนาปฐมมหาสังคายนา - ความนอบน้อมในพระผู้มีพระภาคของท่านพระอานนท์เถระ
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๓๓
บารมี ๑๐ คือ ทานบารมี ๑ ศีลบารมี ๑ เนกขัมมบารมี ๑ ปัญญาบารมี ๑ วิริยบารมี ๑ ขันติบารมี ๑ สัจจบารมี ๑ อธิษฐานบารมี ๑ เมตตาบารมี ๑ อุเบกขาบารมี ๑ ซึ่งบารมีที่ได้กล่าวถึงแล้วก็มี ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ และขันติ
บารมีต่อไป สัจจบารมี คือ ความจริงใจในการเจริญกุศลเพื่อดับกิเลส ถ้าไม่มีความจริงใจในการเจริญกุศล ดับกิเลสไม่ได้
มธุรัตถวิลาสินี อรรถกถาพุทธวงศ์ อัพภันตรนิทาน พรรณนา รัตนจังกมนกัณฑ์ มีข้อความที่แสดงว่า พระผู้มีพระภาคทรงได้พระนามว่า ตถาคต เพราะเหตุใดบ้าง
ถามว่า พระผู้มีพระภาคชื่อว่าตถาคต เพราะทรงถึงลักษณะที่แท้เป็นอย่างไร
ตอบว่า ชื่อว่าตถาคต เพราะบรรลุโดยไม่ผิดพลาด รู้ตามลักษณะเฉพาะ ของสภาพธรรม และลักษณะที่เสมอทั่วไปแท้จริงของรูปธรรมและอรูปธรรมทั้งปวง ด้วยญาณคติ เพราะเหตุที่ทรงบรรลุถึงลักษณะเฉพาะและลักษณะทั่วไปอันแท้จริง ของธรรมทั้งปวง ฉะนั้น พระศาสดาจึงชื่อว่าตถาคต
ไม่มีอะไรที่จะประเสริฐเท่ากับการรู้แจ้งความจริงของธรรมทั้งหลาย ซึ่งเป็นสัจจธรรมที่พระผู้มีพระภาคเองทรงแสวงหาตลอดเวลาที่เป็นพระโพธิสัตว์ และเมื่อได้ทรงตรัสรู้แล้ว ก็ทรงแสดงหนทางจริงที่จะทำให้สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรม และดับกิเลสได้จริงๆ แต่ต้องเป็นผู้ที่ตรงและจริงใจ
ถามว่า พระผู้มีพระภาคชื่อว่าตถาคต เพราะตรัสรู้ธรรมอันแท้ตามความ เป็นจริง เป็นอย่างไร
ตอบว่า อริยสัจจ์ ๔ ชื่อว่าธรรมแท้ เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อริยสัจจ์ ๔ เหล่านี้ เป็นของแท้ เป็นของจริง ไม่เป็นอย่างอื่น อริยสัจจ์ ๔ มีอะไรบ้าง คือ อริยสัจจ์ที่ว่า นี้ทุกข์ เป็นของแท้ เป็นของจริง ไม่เป็นอย่างอื่น ฯลฯ
ตลอดไปจนถึงอริยสัจจ์ข้ออื่นๆ ทั้ง ๔ ข้อ
ก็พระผู้มีพระภาคตรัสรู้อริยสัจจ์ ๔ เหล่านั้น เพราะฉะนั้น พระองค์จึงชื่อว่า ตถาคต เพราะตรัสรู้ธรรมอันแท้ ความจริง พระผู้นายกตรัสรู้สัจจะทั้งหลายที่เป็นของแท้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าตถาคต เพราะตรัสรู้สัจจะทั้งหลายที่เป็นของแท้
ถามว่า พระผู้มีพระภาคชื่อว่าตถาคต เพราะทรงเห็นแต่ความจริง เป็นอย่างไร
ตอบว่า แท้จริง พระผู้มีพระภาคผู้ตถาคตย่อมทรงรู้ ทรงเห็นอารมณ์ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมที่ปรากฏทางทวาร คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจของสัตว์ทั้งหลายไม่มีประมาณ ในโลกธาตุที่ไม่มีประมาณโดยอาการ ทั้งปวง เหตุนั้นจึงชื่อว่าตถาคต เพราะทรงเห็นแต่ความจริงอย่างนั้น
อีกนัยหนึ่ง ทรงแสดงแต่สิ่งที่แท้ในโลกแก่โลกอย่างนี้เท่านั้น แม้เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงชื่อว่าตถาคต ในที่นี้พึงทราบความหมายแห่งบทว่า ตถาคต ในอรรถว่า ทรงเห็นแต่ ความจริงแท้
ไม่มีอะไรนอกไปจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตามที่ว่า พระผู้มีพระภาคผู้ตถาคตย่อมทรงรู้ ทรงเห็น ธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริง
ท่านผู้ใดย่อมรู้ ย่อมเห็นธรรมทั้งหลายโดยอาการที่แท้จริง ท่านผู้นั้นชื่อว่า ผู้เห็นแต่ความจริง เพราะฉะนั้น ท่านผู้รู้จริงดังว่า จึงชื่อว่าตถาคต
ถามว่า พระผู้มีพระภาคชื่อว่าตถาคต เพราะตรัสแต่คำจริง เป็นอย่างไร
ตอบว่า ก็คำใดที่สงเคราะห์เป็นนวังคสัตถุศาสตร์มีสุตตะเป็นต้น อันพระตถาคตภาษิตดำรัสไว้ตลอดกาลประมาณ ๔๕ พรรษา ระหว่างตรัสรู้ และปรินิพพาน คำนั้นทั้งหมดเป็นคำแท้ ไม่เท็จเลย ดุจชั่งได้ด้วยตาชั่งอันเดียว
ด้วยเหตุนั้นจึงตรัสว่า
ดูกร จุนทะ ตถาคตตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ณ ราตรีใด ปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ณ ราตรีใด ในระหว่างนี้ตถาคตภาษิต กล่าว ชี้แจง คำใดไว้ คำนั้นทั้งหมดเป็นคำแท้จริงอย่างเดียว ไม่เป็นอย่างอื่น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าตถาคต
เพราะเหตุที่พระชินพุทธเจ้าตรัสแต่คำจริง ทรงประกาศธรรมที่แท้จริง และ พระดำรัสของพระองค์ก็เป็นคำจริง ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงชื่อว่าตถาคต
ถามว่า พระผู้มีพระภาคชื่อว่าตถาคต เพราะทรงทำจริง เป็นอย่างไร
ถ้าไม่ทรงทำจริง จากการที่ทรงบำเพ็ญบารมีสี่อสงไขยแสนกัปในขณะที่ เป็นพระโพธิสัตว์ ย่อมไม่สามารถตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณได้
ตอบว่า ความจริง พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระวาจาใดๆ ก็ทรงทำพระวาจานั้นๆ ด้วยพระกาย คือ พระกายก็อนุโลมตามพระวาจา ทั้งพระวาจาก็อนุโลม ตามพระกาย ด้วยเหตุนั้นนั่นแลจึงตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตกล่าวอย่างใดก็ทำอย่างนั้น ตถาคตทำอย่างใด ก็กล่าวอย่างนั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าตถาคต เพราะเหตุที่พระวาจาของพระองค์ไปอย่างใด พระกายก็ไปอย่างนั้น เพราะตรัสแต่คำจริง ฉะนั้น พระศาสดาผู้ตรัสรู้จริง จึงชื่อว่าตถาคต
เป็นเรื่องจริงตลอดพระไตรปิฎก และเป็นเรื่องจริงตลอดทุกขณะ ในชีวิตประจำวัน ซึ่งท่านผู้ฟังจะพิสูจน์ได้
ถ. คำว่า ตถาคต มีความหมายหลายประการ โดยรากศัพท์แปลว่าอะไร
สุ. เชิญท่านอาจารย์สมพร
สมพร คำว่า ตถาคต แยกศัพท์ออกเป็น ตถา กับ อาคต แปลว่า ผู้เสด็จมาอย่างนั้น คือ เสด็จมาอย่างพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ องค์ก่อนๆ เสด็จมาอย่างไร เพื่อตรัสรู้ เพื่อโปรดสัตว์อย่างไร องค์นี้ก็ฉันนั้น จึงชื่อว่าตถาคต ตถา แปลว่า อย่างนั้น อาคต แปลว่า มา เสด็จมาอย่างนั้น
สุ. ขอบพระคุณ แสดงให้เห็นว่า แม้แต่เพียงคำเดียว คือ คำว่า ตถาคต ความหมายก็กว้างมาก เพราะเหตุว่าเสด็จมาอย่างไร เสด็จมาอย่างนั้น เพียงเท่านี้ ก็จะต้องศึกษามากว่า อย่างไรและอย่างนั้น คือ พระธรรมทั้งหมด
สำหรับสัจจะคือความจริงซึ่งเป็นสัจจบารมี คือ การเป็นผู้ที่จริงใจในการ เจริญกุศลที่จะดับกิเลส ซึ่งท่านผู้ฟังจะพิจารณาได้ เริ่มจากความจริงใจที่ ท่านมีต่อพระรัตนตรัย ต้องเป็นผู้ที่จริงใจและตรงจริงๆ ที่จะพิจารณาว่า ท่านมี ความเคารพ นับถือ เลื่อมใสในพระรัตนตรัยอย่างไร มีความเคารพ เลื่อมใส จริงใจต่อพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือต่อพระพุทธรูป
น่าคิด เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ วิธีที่จะรู้ว่าความจริงใจของท่านที่มีต่อ พระรัตนตรัย คือ พิจารณาว่าท่านมีความจริงใจต่อพระรัตนตรัย หรือต่อพระพุทธรูป คือ คิดอย่างไรเมื่อเห็นพระพุทธรูป เพื่อที่จะได้ระลึกรู้ว่า เป็นความจริงใจของท่าน หรือยังที่จะมีพระรัตนตรัยเป็นสรณะ คือ ในขณะนั้นมีความเคารพ นอบน้อม นับถือ สักการะ โดยระลึกถึงพระคุณของพระผู้มีพระภาค หรือเมื่อเห็นพระพุทธรูปก็ ขอความคุ้มครอง ขอลาภ ขอยศ ขอตำแหน่ง ขอสิ่งต่างๆ ในวันหนึ่งๆ ต้องเป็นผู้ที่รู้จักตนเองตามความจริงใจว่า เป็นผู้ที่จริงใจ ไม่ขอ แต่เป็นผู้ที่ระลึกที่จะประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมด้วยความนอบน้อมต่อ พระบรมศาสดา ขณะนี้ทุกท่านก็เห็นพระพุทธรูป ถ้ามีความจริงใจที่จะประพฤติ ปฏิบัติตามพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง นี่คือการมีพระรัตนตรัยเป็นสรณะ
ทุกครั้งที่เห็นพระพุทธรูป ก็เตือนให้เป็นผู้ที่มีความจริงใจต่อการที่จะ ประพฤติปฏิบัติธรรม จึงจะชื่อว่าเป็นผู้นับถือด้วยสัจจะอย่างจริงใจ มีความจริงใจที่จะเป็นผู้เชื่อฟังพระโอวาทต่างๆ ของพระผู้มีพระภาคหรือเปล่า คือ ถึงแม้เป็นผู้ที่มีกิเลสมากก็จริง แต่เป็นผู้ที่มีความจริงใจที่จะประพฤติปฏิบัติตามเท่าที่จะกระทำได้ ไม่ใช่ฟังพระธรรมแล้วก็คิดว่ายากไป ทำไม่ได้ ยกไว้ชาติหน้า คือคิดว่าถ้าจะอภัยให้ใครก็จะอภัยชาติหน้า ไม่สำเร็จแน่ ถ้าชาตินี้ยังไม่อภัย ชาติหน้าจะอภัยได้อย่างไร ถ้าชาตินี้ยังไม่เริ่มที่จะละคลายโลภะ โทสะ โมหะบ้าง และหวังว่า ไว้ชาติหน้าจะละคลาย เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่จริงใจ ก็คือพยายามประพฤติปฏิบัติตาม แม้ยังไม่ได้ดับกิเลส ยังมีกิเลสอยู่ แต่ก็มีความจริงใจที่จะศึกษาให้เข้าใจพระธรรม และประพฤติตามพระธรรมเพื่อละคลายกิเลส
เมื่อพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงดับขันธปรินิพพานแล้ว พระธรรมเป็นศาสดาแทนพระองค์ จริงใจต่อพระธรรมหรือเปล่า ถ้าเป็นผู้ที่จริงใจ ต่อพระธรรม ก็คือศึกษาพระธรรมด้วยความจริงใจเพื่อเข้าใจพระธรรมให้ถูกต้อง นี่คือความจริงใจในการศึกษาพระธรรม การศึกษาพระธรรมไม่ใช่เพื่ออย่างอื่นเลย ไม่ใช่เพื่อลาภ ไม่ใช่เพื่อสักการะ ไม่ใช่เพื่อสรรเสริญ แต่เพื่อให้เข้าใจพระธรรมให้ถูกต้อง ให้เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏให้ถูกต้อง เพื่ออะไร เพื่อขัดเกลากิเลส เพื่อละความไม่รู้ ไม่ใช่เพียงเพื่อรู้ หรือเก่ง หรือเพื่อความสำคัญตน
แสดงให้เห็นว่า ผู้ที่จริงใจต่อพระธรรม จะมีการกระทำหรือมีความคิด ซึ่งสามารถรู้ตัวเองได้ว่า ชีวิตของตนในการศึกษาพระธรรมนั้นเพื่ออะไร
มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งมีจิตศรัทธาพิมพ์หนังสือให้มูลนิธิ และมีผู้ที่รู้จักกัน คือ เป็นมารดาของภรรยาของท่านผู้นั้น ท่านเห็นว่า ท่านผู้นั้นบริจาคเงินให้มูลนิธิ เป็นค่าพิมพ์หนังสือมากถึง ๒๐๐,๐๐๐ บาท ท่านก็บอกว่า ขอแบ่งสักแสนหนึ่งได้ไหม คือ พิมพ์หนังสือให้มูลนิธิ ๑๐๐,๐๐๐ บาท อีก ๑๐๐,๐๐๐ บาท ขอไปสร้างโบสถ์หรือศาลา หรือทำการกุศลอย่างอื่น ท่านผู้นั้นก็ตอบว่า ท่านไม่ได้ให้มูลนิธิ ท่านให้ พระธรรม ท่านผู้ฟังก็คงจะซาบซึ้งในความคิดของท่าน คือ ท่านศึกษาธรรม หรือ ท่านทำทุกอย่างไม่ใช่เพื่อสถาบันหนึ่งสถาบันใด หรือบุคคลหนึ่งบุคคลใด แม้แต่ การพิมพ์หนังสือที่ท่านเห็นว่ามีประโยชน์ ก็ไม่ใช่ให้มูลนิธิ แต่ให้พระธรรม
เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีความจริงใจต่อการศึกษาและประพฤติปฏิบัติตาม ก็เพื่อที่จะเข้าใจพระธรรมให้ถูกต้อง เพื่อการละคลาย และดับกิเลสของตนเอง
ผู้ฟัง ใน ๑๐ บารมี ผมชอบสัจจบารมีที่สุด ไม่รู้เป็นอย่างไร ตั้งแต่ก่อน เรียนธรรมด้วย ส่วนบารมีอื่นก็อย่างนั้นๆ แต่อาจารย์ก็บอกแล้วว่า ถ้าไม่ได้ทั้ง ๑๐ บารมี ข้ามฝั่งไม่ได้ ก็ต้องมาเพียรในชาตินี้ อย่างขันติก็ดี เนกขัมมะก็ดี จะเป็นทานก็ดี เป็นศีลก็ดี ก็ด้อยๆ ทั้งนั้น ต้องมาทำให้ครบทั้ง ๑๐ บารมี แต่สัจจบารมีซาบซึ้งกว่าเพื่อน อย่างที่อาจารย์พูดว่า เห็นพระพุทธรูปแล้วมีความรู้สึกอย่างไร จากที่อาจารย์พูดไปแต่ละครั้งก็เพิ่มอนุสสติให้ อย่างวันนี้ก็ได้อีกว่า เมื่อเห็นพระพุทธรูปแล้วระลึกอะไร ก็ระลึกถึงพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ รู้พระธรรม และพระธรรมจะส่องนำทางเราไปสู่อริยสัจจธรรมได้ ก็เพิ่มไปๆ อยู่เรื่อยๆ เมื่อเห็นพระพุทธรูป คำสอนของพระพุทธองค์ ก็เป็นอนุสสติได้บ่อยๆ
สุ. ทุกท่านที่ได้ร่มเงาแม้ของวัดวาอารามเป็นที่พักพิง เป็นที่อาศัย เป็นที่ฟังธรรม เป็นที่ศึกษาธรรม จะต้องพิจารณาให้เข้าใจว่า วัดวาอารามทั้งหมด ไม่ใช่เป็นของภิกษุบุคคล แต่เป็นของพระรัตนตรัย เพราะการมีวัดวาอารามต่างๆ ในสมัยพระผู้มีพระภาค หรือแม้จนในสมัยนี้ ณ ที่แห่งใดในโลกก็ตาม ต้องเกิดจากศรัทธาในพระคุณของพระรัตนตรัยนั่นเอง จึงทำให้มีวัดวาอารามต่างๆ เป็นที่พัก ที่พึ่งพิง และเป็นที่ศึกษาธรรม เพราะฉะนั้น ถ้ามีทางใดที่ทุกท่านจะกระทำ เป็นปฏิการบูชา เป็นการนอบน้อมต่อพระรัตนตรัย ก็จะต้องพิจารณาว่า จะกระทำ สิ่งซึ่งเป็นประโยชน์ต่อพระรัตนตรัย
ขอกล่าวถึงตัวอย่างความนอบน้อมในพระผู้มีพระภาคของท่านพระอานนท์เถระ ซึ่งข้อความใน ปรมัตถโชติกา อรรถกถา ขุททกนิกาย อรรถกถามงคลสูตร กถาพรรณนาปฐมมหาสังคายนา มีว่า
เมื่อท่านพระมหากัสสปะ ท่านพระอุบาลี ท่านพระอานนท์ และท่าน พระอรหันต์เถระอื่นๆ รวม ๕๐๐ รูป ประชุมกันทำสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งแรก ณ ใกล้ประตูถ้ำสัตตบรรณ ข้างภูเขาเวภาระ เขตพระนครราชคฤห์ เพราะเหตุที่เทวดาบางเหล่าเห็นท่านพระอานนท์นั่งเหนือธรรมาสน์ ห้อมล้อมด้วยพระอรหันต์เถระทั้งหลาย จึงเกิดจิตคิดว่า ท่านพระอานนท์นี้เป็นเวเทหมุนี (คือ เป็นมุนีผู้รู้) แม้โดยปกตินับอยู่ในศากยตระกูล เป็นทายาทของพระผู้มีพระภาค แม้แต่พระผู้มีพระภาค ก็ทรงยกย่องไว้ในเอตทัคคะถึง ๕ สถาน เป็นผู้ประกอบด้วยอัจฉริยัพภูตธรรม ๔ ประการ เป็นที่รักเจริญใจของบริษัท ๔ บัดนี้ เห็นทีจะเป็นรัชทายาทโดยธรรมของ พระผู้มีพระภาค เกิดเป็นพุทธะ ผู้รู้
แสดงให้เห็นว่า อย่าเดาว่าใครจะเป็นผู้รู้ หรือใครจะเกิดเป็นผู้ที่ตรัสรู้ด้วยตัวเอง
ท่านพระอานนท์รู้ทั่วถึงความคิดต่างๆ ของเทวดาเหล่านั้น ทนการยกย่อง คุณที่ไม่เป็นจริงนั้นไม่ได้ เพื่อแสดงภาวะที่ตนเป็นเพียงสาวกจึงกล่าวว่า เอวมฺเม สุตํ เอกํ สมยํ ภควา
ข้อความต่อไป ท่านผู้ฟังก็คงจะคุ้นหูที่ว่า
สาวตฺถิยํ วิหรติ เชตวเน อนาถปิณฺฑิกสฺส อาราเม ภควนฺตํ คาถาย อชฺฌภาสิ
คือ ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี
คำนี้ ท่านพระอานนท์กล่าวไว้อย่างนี้
จะเห็นได้ว่า ถ้าผู้ใดได้ฟังคำที่มีความว่า ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ ก็จะรู้ซึ้งถึงความคิดของท่านพระอานนท์ เมื่อท่านกล่าวคำนี้ในการกระทำสังคายนาครั้งที่ ๑ ที่แสดงตนว่าเป็นเพียงสาวก จึงได้กล่าวว่า ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ คือ ไม่ใช่เป็นคำของท่านเอง เพราะท่านไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่าน เป็นเพียงสาวกและได้สดับมาจากพระผู้มีพระภาค
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๙๔ ตอนที่ ๑๙๓๑ – ๑๙๔๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1884
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1885
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1886
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1887
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1888
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1889
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1890
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1891
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1892
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1893
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1894
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1895
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1896
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1897
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1898
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1899
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1900
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1901
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1902
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1903
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1904
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1905
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1906
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1907
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1908
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1909
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1910
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1911
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1912
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1913
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1914
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1915
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1916
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1917
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1918
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1919
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1920
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1921
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1922
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1923
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1924
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1925
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1926
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1927
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1928
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1929
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1930
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1931
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1932
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1933
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1934
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1935
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1936
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1937
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1938
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1939
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1940
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1941
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1942
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1943
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1944
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1945
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1946
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1947
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1948
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1949