แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1940
ครั้งที่ ๑๙๔๐
สาระสำคัญ
เรื่องของสีลัพพตปรามาส ข้อประพฤติปฏิบัติที่ผิด
ความจริงคืออะไร สัจธรรมคืออะไร หนทางคืออะไร
สังฆรัตนะ คืออะไร
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๓๓
เรื่องของสีลัพพตปรามาส ต้องเป็นปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรม ต้องพิจารณาในเหตุผล ต้องเข้าใจตามความเป็นจริง ไม่ใช่เพียงแต่ฟังตาม เชื่อตาม หรือประพฤติปฏิบัติตาม
อย่างท่านพระอานนท์ในรัตนสูตร ท่านเป็นพระโสดาบัน ท่านไม่มี สีลัพพตปรามาส ท่านผู้ฟังคิดว่าท่านพรมน้ำมนต์ ใช่ไหม แต่ขอให้พิจารณาว่า ท่านพระอานนท์เถระเป็นเอตทัคคะถึง ๕ สถาน และท่านเป็นพระโสดาบันบุคคล ในขณะนั้น ท่านดับมิจฉาทิฏฐิและสีลัพพตปรามาสหมดไม่มีเหลือเลย แต่ดูภายนอกท่านผู้ฟังอาจจะถือว่า ท่านพระอานนท์เป็นต้นเหตุของการประพรมน้ำมนต์ แต่ ความจริงท่านพระอานนท์ไม่มีสีลัพพตปรามาส การที่จะเตือนให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดระลึกถึงพระคุณของพระรัตนตรัยในโอกาสต่างๆ อย่างที่เมืองไทยเราก็มีพระพุทธรูปเตือนให้ระลึกถึงพระคุณของ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าใครกราบไหว้แล้วไม่ได้นึกถึง พระคุณเลย แต่กลับขอสิ่งต่างๆ ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า มีความเข้าใจถูกหรือผิด ในการที่จะมีพระรัตนตรัยเป็นสรณะ เพราะว่าผู้ที่ไม่ขอแต่ได้ มีไหม ไม่ต้องขอ ก็ได้ทั้งลาภ ทั้งยศ ทั้งการสรรเสริญ โดยไม่ต้องขอ และผู้ที่ขอก็ไม่ใช่ว่าจะได้ อย่างที่ท่านผู้ฟังท่านหนึ่งบอกว่า บางครั้งขอก็ได้ บางครั้งก็ไม่ได้
แสดงให้เห็นว่า ตามความเป็นจริงแล้ว ต้องเป็นไปตามเหตุตามผลทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น สิ่งต่างๆ ที่จะทำให้ระลึกถึงพระรัตนตรัย แม้แต่ในขณะที่กำลังฟัง พระธรรมก็ดี หรือในขณะที่สวดรัตนสูตรก็ดี หรือมีกิจกรรมใดๆ ก็ตาม ให้ทราบว่า ที่ถูกแล้วต้องเพื่อระลึกถึงพระรัตนตรัย เป็นการเตือนสติไม่ให้เห็นผิด แต่ขณะใด ไม่มีความเข้าใจอย่างถูกต้อง ก็จะไปยึดถือว่าเป็นสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์ แต่ถ้าได้ทราบถึงความเมตตาของผู้ที่เตือนไม่จะด้วยวิธีใดก็ตาม ก็ย่อมจะเห็นว่า ท่านเป็นผู้มีเมตตาจิตในการให้บุคคลนั้นระลึกถึงพระรัตนตรัย
เพราะฉะนั้น พุทธบริษัทต้องเป็นผู้ที่ไม่ลบหลู่และไม่งมงาย ทั้ง ๒ อย่าง คือ ต้องไม่งมงาย และในขณะเดียวกันก็ไม่ลบหลู่ เพราะต้องพิจารณาดูว่า เป็นการกระทำที่เกิดจากกุศลหรือความเมตตาของบุคคลอื่นหรือเปล่า หรือเพื่อที่จะให้งมงาย ถ้าเพื่อให้งมงายก็เป็นอกุศล แต่ถ้าเพื่อให้ระลึกถึงพระรัตนตรัยก็เป็นกุศล
คาถาที่สวดกันก็ควรที่จะเข้าใจว่า สวดเพื่ออะไร ไม่ใช่สวดเพื่องมงาย แต่เพื่อให้เข้าใจพระธรรมให้ถูกต้อง มิฉะนั้นคาถานั้นก็ไม่เป็นประโยชน์
อย่างคาถาที่มีข้อความว่า ให้พระพุทธเจ้าทั้งหลายมาประทับที่บ่า ที่คอ ที่ศีรษะ ที่ส่วนต่างๆ ของร่างกาย เพื่ออะไร ทำไมต้องให้มาประทับที่บ่า ที่คอ ที่ส่วนต่างๆ ของร่างกาย และจะประทับจริงๆ ได้ไหม ต้องเป็นผู้ที่มีสัจจะ มีความจริง ตรงต่อเหตุผล ไม่ว่าการกระทำใดๆ ทั้งสิ้น การที่จะให้พระพุทธเจ้า แต่ละพระองค์มาประทับที่ศีรษะ ที่บ่า ที่แขน ที่ส่วนต่างๆ เป็นสัจจธรรม ความจริงได้ไหม ถ้าเป็นไปไม่ได้ ขณะที่สวดต้องการอะไร ผู้สวดต้องการอะไร
ผู้ฟัง ผมคิดว่า คาถานี้เหมือนกับวรรณกรรม วรรณคดี เขียนให้ประทับใจ ถ้าผู้อ่านคาถานั้นรู้จักคิด จะเข้าถึงจิตถึงใจได้ อย่างที่อัญเชิญพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นพระองค์นี้มาประทับที่ไหนๆ ผมคิดว่า ผู้เขียนคงไม่ถึงกับเป็นคนโง่เง่า หลงใหล ถึงขนาดจะให้เป็นอย่างนั้นจริงๆ จังๆ ผมคิดว่า ท่านเป็นปราชญ์ ท่านเขียนอย่างนั้นทำให้เราคิดอย่างนั้น จนในที่สุดเราก็นึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ และนึกถึงพระรัตนตรัย นึกถึงท่านเป็นสรณะ ถ้าทำอย่างนั้นได้ก็จะทำให้ผู้นั้นเจริญ ถ้าเรานึกอย่างนี้ก็น่าจะเป็นคุณ ผมคิดตามประสาของผมในฐานะที่เป็นคนชอบวรรณกรรม
สุ. ดิฉันก็ได้รับคำบอกเล่าจากท่านที่มีความภาคภูมิใจมากที่ท่านสวด ได้หลายจบ บางท่านก็เกือบจะถึง ๑๐๐ จบว่า ถ้าสวดจบแล้วจะได้ลาภ ได้ยศ ได้สรรเสริญ ได้สักการะ ได้สิ่งต่างๆ มากมาย
ผู้ฟัง นั่นเป็นเรื่องของผู้สวด เวลาเราพูดถึงท่านผู้ประพันธ์ ไม่เหมือนกัน ท่านผู้ประพันธ์นั้นถือว่าท่านเป็นนักปราชญ์ ท่านเป็นผู้ทรงความรู้ และมีเมตตาธรรม ที่สูงส่ง ท่านจึงประพันธ์ออกมาอย่างนั้น และมักจะน้อมนำให้ผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็น ที่พึ่งที่ระลึกได้รับกุศลกรรมของตนเองด้วย สำหรับผู้ที่ไปหลงใหลไปเชื่อในลักษณะอื่น ก็ช่วยไม่ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าคนที่หลงเชื่อไปทำด้วยความเขลา และเราไปเหมาว่า สิ่งที่ท่านประพันธ์นั้นเป็นสีลัพพตปรามาส ผมคิดว่า คงจะไม่ถูกนัก
สุ. แต่ทุกอย่างต้องเป็นสัจจธรรม อย่างพระรัตนตรัย พระคุณของ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสัจจะ เป็นคุณธรรม มีจริง ผู้ที่กล่าวแสดง พระคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสัจจวาจา เป็นคำจริง และคุณของ พระธรรม คุณของพระสงฆ์ ก็เป็นสิ่งที่มีจริง เป็นกุศล เพื่อที่จะเตือนให้ผู้ที่ได้ฟัง ระลึกถึงการที่จะต้องประพฤติปฏิบัติตาม ไม่ใช่เป็นผู้ที่ในขณะนั้นมีอกุศลจิต ต้องการลาภ ต้องการยศ ต้องการสรรเสริญ แต่ผู้ใดก็ตามที่ระลึกถึงพระคุณของ พระผู้มีพระภาค พระธรรม พระสงฆ์ เพื่อที่จะให้ขณะนั้นเกิดหิริ เกิดโอตตัปปะ ละอกุศลกรรมทางกาย ทางวาจา แม้แต่ทางใจที่กำลังเป็นโลภะในขณะนั้น นี่คือ สัจจธรรม ไม่ใช่เป็นอย่างอื่นที่จะมาให้ประทับได้
ผู้ฟัง ผมคิดว่า เป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่สนใจในเรื่องนี้ ที่จะชี้ให้ ท่านทั้งหลายที่ปฏิบัติให้เข้าใจถึงวัตถุประสงค์ว่า จุดสำคัญ คือ การระลึกถึงพระคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะ ประเด็นอยู่ตรงนี้มากกว่าจะไปบอกว่า อย่าไปสวดเลย ไม่มีประโยชน์ ผมคิดว่าอย่างนั้น ประโยชน์หรือไม่ประโยชน์ขึ้นอยู่กับท่านผู้นั้น อย่างคนๆ หนึ่งไปเห็นตอไม้ รูปร่างคล้ายๆ พระพุทธรูป เขาก็เลื่อยมา ไปตั้งที่ศาลา และบอกว่าได้พระพุทธรูปมา คนก็มากราบไหว้เป็นแถวไปหมด ก็เกิดประโยชน์
สุ. เป็นความผิดของใครหรือเปล่า หรือเป็นความถูกของบรรดาผู้ที่ไปไหว้
ผู้ฟัง ถ้าเขาไหว้โดยนึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็ถูกต้อง
สุ. นี่เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด แต่ใครจะรู้ว่าเขาไหว้ด้วยจิตอะไร ถ้าถามสัก ๑๐๐ คน ๑,๐๐๐ คนว่า เขาไหว้เพื่ออะไร
ผู้ฟัง พระพุทธรูปที่มาจากตอไม้ หรือพระพุทธชินราชก็แล้วแต่ ถ้าคนที่ไหว้ไม่มีจิตระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง ก็เหมือนกันทั้งนั้น เพราะฉะนั้น อยู่ที่ผู้ไหว้ อย่างที่ผมพูดเมื่อกี้ว่า ถ้าเราช่วยกันชี้ให้พุทธศาสนิกชนทั้งหลายได้เข้าใจอย่างนี้ ก็จะเป็นการเข้าใจที่ถูกต้อง ถ้าจะคล้องพระ ก็คล้องด้วยความเข้าใจอย่างถูกต้อง ผมคิดอย่างนี้
สุ. แต่ถ้าจะระลึกถึงพระรัตนตรัย โดยที่ไม่ต้องมีพระพุทธเจ้ามาประทับ ที่ต่างๆ จะเป็นความจริงมากกว่าหรือเปล่า ระลึกถึงพระรัตนตรัย สามารถประพฤติปฏิบัติตามได้โดยที่ไม่ต้องนึกว่า มีพระพุทธเจ้ามาประทับอยู่ที่นั่นที่นี่ในร่างกาย จะเป็นความจริงมากกว่าหรือเปล่า
ผู้ฟัง ไม่ต้องมีพระพุทธรูปมาจูงใจให้ระลึกพระพุทธเจ้าได้หรือไม่ คำตอบ มี ๒ คำตอบ ๑. ไม่มีก็ได้ ถ้าจิตใจผู้นั้นได้น้อมนำไปถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ๒. ถ้าไม่มีอะไรให้นึกถึง ก็เลยไม่นึก ๒ ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่เป็นจริงได้ทั้ง ๒ ลักษณะ ลักษณะแรกที่บอกว่า ไม่มี ก็ได้อยู่ที่ใจ ก็เลยมีบางสำนักที่ไม่เอาพระพุทธรูปมากราบไหว้ ซึ่งก็ไม่ค่อยดีนัก แต่ถึงแม้จะมี ถ้าไม่นึกถึง ก็ไม่มีประโยชน์ เมื่อเปรียบเทียบกันแล้วผมว่า มี ดีกว่าไม่มี แต่มีแล้วต้องอธิบายให้เข้าใจว่า คุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นอย่างไร และเราต้องนึกถึงไตรสรณคมน์อย่างไร ทั้ง ๒ อย่างนี้ประกอบกัน จึงจะน้อมนำให้เป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี แต่ถ้าไม่มี ต่อไปข้างหน้าก็ไม่มีสิ่งที่จะน้อมนำ ไม่ว่าศาสนพิธี ศาสนวัตถุต่างๆ เหล่านี้ มองว่าเป็นสิ่งไร้สาระก็ได้ แต่มองว่าเป็นสิ่งจูงใจและรักษาพระพุทธศาสนาไว้ก็ได้ แล้วแต่ ผู้ที่จะมองจะคิด ด้วยเหตุนี้ การแนะนำคนให้เกิดปัญญาที่จะรู้จะคิด จะเป็นประโยชน์ ผมคิดอยู่แค่นี้เอง
สุ. ขอเหตุผลที่ว่า พระพุทธเจ้าหลายพระองค์ พระองค์เดียวไม่พอหรือ พระองค์นี้ที่บ่า พระองค์นี้ที่ศีรษะ พระองค์นี้ก็ไม่ทราบกี่พระองค์ เพราะดิฉันเอง ก็ไม่ได้ท่องคาถานี้ และไม่รู้ว่าข้อความทั้งหมดแต่ละบรรทัดซึ่งยาวมากนั้นมีอะไรบ้าง แต่สรุปใจความคร่าวๆ ที่มีความสนใจว่า คำแปลของคาถานี้คืออย่างไร ก็ได้ทราบว่า เป็นเรื่องพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ประทับตามส่วนต่างๆ หมายความว่า พระองค์เดียวไม่พอหรืออย่างไร
ผู้ฟัง แล้วแต่จินตนาการของผู้ประพันธ์ ท่านมีจินตนาการอย่างไรก็ทำไปอย่างนั้น สำหรับตัวผมเอง ผมมองด้านบวก และผมก็พยายามใช้ให้เกิดประโยชน์ ในด้านบวกกับผม ที่จะน้อมนำให้ผมมีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ศรัทธาในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ผมทำแค่นั้น เพราะฉะนั้น สิ่งที่ผมทำก็คือว่า ท่านจะว่าอย่างไร ก็ช่าง ผมก็ระลึกถึงพระคุณ แม้พระพุทธเจ้าพระองค์อื่น ผมก็นึกถึงพระคุณของท่านเช่นกัน
สุ. พระธรรมที่ได้ทรงแสดงไว้ในเรื่องของอริยอุโบสถ ผู้ที่ระลึกถึงคุณ ของพระพุทธเจ้า คุณของพระธรรม คุณของพระสงฆ์ ตามอัธยาศัยของท่านแต่ละบุคคล มีการน้อมระลึกถึงพระคุณเหมือนกับเทิดไว้บนศีรษะ เหมือนกับไม่ใช่หมายความว่า เชิญ หรืออัญเชิญพระพุทธเจ้าหลายๆ พระองค์มาประทับ ไม่ใช่ในลักษณะนั้น
เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจให้ถูกต้อง และผู้ที่มีความเข้าใจในพระรัตนตรัย ที่จะเข้าใจจริงๆ ว่า สังฆรัตนะคืออะไร จะต้องรู้ในหนทางข้อปฏิบัติที่จะทำให้เข้าถึงพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และเป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญานั้นด้วยตนเองซึ่งจะรู้ว่าไม่มีหนทางอื่น นอกจากหนทางนี้ที่ทำให้ปัญญาเกิด แต่ไม่ใช่หมายความว่า โดยการให้พระพุทธเจ้าหลายๆ พระองค์มาประทับ และจะเกิดปัญญา หรือจะหมดกิเลส หรือเพื่อต้องการอะไร ต้องมีจุดประสงค์
ผู้ฟัง ที่อาจารย์กล่าวทั้งหมดเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ไม่คัดค้านเลย แต่ไม่ถึงกับว่าไม่ควรสวดบทนั้น ถ้ามีอัธยาศัยอยากสวดก็สวดเถิด แต่สวดแล้วให้รู้จักประโยชน์ ให้เข้าใจ และทำให้เกิดประโยชน์ เกิดปัญญา
สุ. เพราะฉะนั้น ต้องไปสอบถามผู้สวดเพื่อจะได้แก้ไขความเข้าใจของเขาให้ถูกต้อง ใช่ไหม
ผู้ฟัง ผมคงไม่สอบถาม
สุ. คุณชินวุฒิจะช่วยพูดให้เขาเข้าใจ
ผู้ฟัง ใช่
สุ. ถ้าเขาถามว่า ทำไมต้องหลายพระองค์
ผู้ฟัง ผมก็จะบอกว่า ถ้าอ่านพระไตรปิฎกจะพบว่า พระสมณโคดมในชาติก่อนๆ ท่านได้พบพระพุทธเจ้าพระองค์นี้ ท่านทำอย่างนั้น ทำอย่างนี้ และตั้ง อธิษฐานบารมีจนกระทั่งส่งท่านมาเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านได้พูดถึงพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ มีพระกัสสปะเป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่มีอยู่ในพระไตรปิฎก เพราะฉะนั้น ไม่ใช่สิ่งที่ไร้สาระ ผมก็ถือว่า ไม่เห็นเป็นไร ก็ดีเหมือนกัน เท่านั้นเอง
สุ. เป็นเรื่องจริงที่ว่า มีพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก่อนพระองค์นี้มากมายหลายพระองค์ ในภัทรกัปนี้ก็จะมีพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ ที่ผ่านมาแล้วคือ ๔ พระองค์ แสดงให้เห็นว่า มีพระพุทธเจ้ามาก ในพุทธวงศ์ หรือในอปทานก็แสดงไว้ว่า พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นทรงพระนามว่าอย่างนั้น มีพระมารดาหรือพระบิดาอย่างนั้นๆ เป็นเรื่องจริงทั้งหมด แต่ผู้ที่จะเข้าถึง พระรัตนตรัยที่จะรู้ถึงความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าของพระองค์นี้ ซึ่งเหมือนกับพระองค์ก่อนๆ ไม่ได้มีความต่างกันเลย จะไม่เข้าใจว่า จะอัญเชิญมาประทับที่บ่า ที่ศีรษะ หรือที่อะไรได้อย่างไร ใช่ไหม
สัจจธรรม ความจริง จะอัญเชิญมาประทับได้อย่างไร แต่ถ้าจะมีการเทิดไว้เหนือเศียรเกล้าด้วยการน้อมระลึก ด้วยการเคารพบูชาอย่างสูงสุด แม้ในขณะที่รักษาอุโบสถศีล ก็ย่อมได้ แต่ไม่ใช่ว่าหมายความว่า ให้มีการน้อมระลึกว่าเอามาประทับ ที่ส่วนต่างๆ ของร่างกาย นี่เป็นเรื่องเหตุผลที่ทุกคนจะต้องพิจารณา มิฉะนั้นแล้ว จะไม่เข้าใจในเหตุผล และจะเป็นสีลัพพตปรามาส
ผู้ฟัง ผมขอพูดอีกคำเดียวว่า ทั้งนี้ทั้งนั้นแล้วแต่ผู้สวดและผู้คิด ทางเดียว ที่จะช่วยได้ คือ ชี้สิ่งที่ถูกต้องให้เขา สำหรับผม ผมไม่ชี้ว่า อย่าสวดเลยดีกว่า ผมคงไม่พูดอย่างนั้น
สุ. สำหรับดิฉัน ให้เข้าใจความหมาย และให้รู้สัจจธรรมว่า สิ่งใดเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เป็นไปได้ หรือสิ่งใดเพียงแต่นึกเอาว่ามาประทับ นี่เป็นเรื่องนึก นึกเอาจริงๆ ความจริงมาประทับไม่ได้ ความจริงคืออะไร สัจจธรรมคืออะไร หนทางคืออะไร แต่หนทางที่จะให้พระพุทธเจ้ามาประทับอย่างนั้น มาไม่ได้ ซึ่งหลายคนอาจจะบอกว่า เขาสวดเฉยๆ ไม่ได้ให้มาประทับจริงๆ ก็จะกลายเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ใช่ไหม หรือให้มาประทับจริงๆ
ถ. เรื่องคาถาชินบัญชร ไหนๆ ก็ยกมาพูดกันแล้ว ผมอยากให้ผู้ที่รู้ ได้พูดถึงคาถานี้ และวัตถุประสงค์ ซึ่งผมเคยได้ฟังจากคุณนิภัทร สุ. ขอเชิญคุณนิภัทร เป็นส่วนที่แต่งขึ้นภายหลังแน่นอน ไม่ได้อยู่ในพระไตรปิฎก
นิภัทร คาถาชินบัญชร ผมสวดทุกวัน แต่สวดไปก็คิดไปว่า ทำไมเรา จะเอาพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์มาใช้ คล้ายๆ อย่างนั้น ตะขิดตะขวงใจอยู่เหมือนกัน ที่อาจารย์พูด เห็นด้วยทุกประการ เพราะเป็นเรื่องที่จะทำให้คนเข้าใจผิด ได้ง่ายๆ เลย ผมว่า ๑๐๐% ที่สวดเพื่อป้องกันภัย เพื่อให้ได้ลาภ ไม่ใช่สวดเพื่อ ระลึกถึงพระพุทธคุณ ธรรมคุณ รู้สึกจะมีดอกเตอร์ชินวุฒิที่ท่านสวดเพื่อให้ระลึกถึงพระพุทธคุณ ส่วนใหญ่แล้วเท่าที่ผมรู้ สวดเพื่อป้องกันภัย เพื่อให้ได้ลาภได้ผล ผมเองก็คิดอย่างเขาตอนแรกๆ แต่ขณะนี้ก็ตะขิดตะขวงใจอยู่ขณะที่สวด เพราะเป็นไปไม่ได้อย่างที่อาจารย์บอกว่า จะอัญเชิญพระพุทธองค์มาประทับ พระพุทธเจ้า ๒๘ พระองค์ มีพระตัณหังกรพุทธเจ้าเป็นต้น ขอให้ประทับบนกระหม่อม การคิดอย่างนี้ คิดว่าพระพุทธเจ้าท่านมาประทับจริงๆ ไม่ใช่เรื่องระลึกถึงพระคุณ เป็นอันตรายอย่างยิ่ง ไม่ทราบว่าทำไมถึงได้นิยมสวดกัน คาถาชินบัญชร ที่ศรีลังกาก็นิยมสวดเหมือนกัน
สุ. ขอประทานโทษ ไม่มีประทับที่อื่นหรือ นอกจากที่กระหม่อม
นิภัทร มี นอกจากนั้นยังมีท่านพระอานนท์ ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ประทับที่เบื้องซ้าย เบื้องขวา ที่หูซ้าย หูขวา ที่บ่าซ้าย บ่าขวา ข้างหน้า ข้างหลัง บอกไว้หมด ต้องสวดเป็นตอนๆ จึงจะรู้ มีหมด แต่การที่เอาท่านมาไว้ข้างหลัง ผมรู้สึกตะขิดตะขวงใจอย่างไรไม่รู้ และตอนสุดท้ายของพระสูตรนี้ท่านก็บอกว่า …
สุ. ทำไมคุณนิภัทรใช้คำว่า พระสูตร
นิภัทร ไม่ใช่พระสูตร เป็นเรื่องที่แต่ง ผมเข้าใจว่าแต่งในลังกา เรื่องนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับความขลังโดยตรง ไม่เกี่ยวกับระลึกพระพุทธคุณเลย วัตถุประสงค์ของผู้ที่ทำมา ผมเข้าใจอย่างนั้น แต่อาจจะเป็นวรรณคดี วรรณกรรม อย่างที่ดอกเตอร์ชินวุฒิว่าก็ใช่ เพราะคาถานี่ไพเราะ คล้ายๆ ร้องเพลงได้เลย ตอนสุดท้าย ที่สวดก็บอกว่า ขอความคุ้มครองป้องกันให้ปลอดภัย ก็เหมือนกับรัตนสูตร เมื่อจบบทหนึ่ง พุทฺเธ รตนํ ปณีตํ เอเตน สจฺเจน สุวตฺถิ โหตุ ... พระพุทธเจ้าเป็นรัตนะอันประณีต .... ด้วยสัจจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่าน ซึ่งหมายถึงผู้ฟัง ขอทุกอันเลยในท้ายของรัตนสูตร ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ลงท้ายก็ขอความสวัสดีจงมีแด่ท่าน เป็นการขอเหมือนกัน แต่คำว่า สวัสดี ในทีนี้คงไม่ใช่สวัสดีที่หายจากโรคภัย คงเป็นความเพียร ตบะ สำรวมอินทรีย์ จึงจะเป็นความสวัสดี …
ที่คุณอดิศักดิ์บอกว่า ผมรู้อะไรละเอียด ผมก็รู้อย่างนี้ ไม่ได้ละเอียด สวดไป ก็ตะขิดตะขวงใจไป แต่ก็สวด
สุ. ทำไม
นิภัทร ความเคยชิน
สุ. เลิกไม่ได้
นิภัทร จะเลิกก็เสียดาย
สุ. เสียดายอะไร
นิภัทร เสียดายว่า เคยสวดมานานแล้ว
สุ. เสียดายผลของการสวด หรือเสียดายความเคยชินในการสวด
นิภัทร แต่ผมก็ไม่ได้หวังว่าผมจะพ้นจากอันตราย เพราะตอนที่มา ลงจากรถก็โดนชนล้มหกคะเมน ดีว่ารถไม่วิ่งมาทับ คนที่ชนก็ไม่ได้มาช่วยพยุง บอกขอโทษคำเดียว ไปเลย
สุ. ถ้าคนไม่เชื่อเรื่องกรรม ก็อาจจะบอกว่า สวดน้อยจบไป
นิภัทร อาจจะเข้าใจว่า ลืมสวดคาถาชินบัญชรเลยโดนชน ความจริงแล้ว เป็นกรรมของเรา
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๙๔ ตอนที่ ๑๙๓๑ – ๑๙๔๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1884
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1885
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1886
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1887
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1888
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1889
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1890
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1891
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1892
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1893
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1894
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1895
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1896
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1897
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1898
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1899
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1900
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1901
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1902
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1903
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1904
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1905
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1906
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1907
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1908
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1909
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1910
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1911
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1912
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1913
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1914
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1915
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1916
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1917
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1918
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1919
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1920
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1921
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1922
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1923
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1924
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1925
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1926
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1927
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1928
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1929
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1930
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1931
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1932
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1933
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1934
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1935
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1936
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1937
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1938
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1939
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1940
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1941
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1942
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1943
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1944
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1945
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1946
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1947
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1948
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1949