แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1943
ครั้งที่ ๑๙๔๓
สาระสำคัญ
เรื่องอาบัติของพระภิษุสงค์
นิคหกรรม การลงโทษตามพระวินัย
พระอธิกรณ์ เรื่องที่สงฆ์ต้องดำเนินการ มี ๔ อย่าง
สังฆกรรมที่เป็นการลงโทษผู้ทำผิด มี ๖ อย่าง
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๓๓
สุ. คนเราทุกคนเกิดมาแล้วต้องมีกิจ มีหน้าที่ หน้าที่ของคฤหัสถ์ก็เป็นหน้าที่ในการดำรงชีวิตไปตามเพศของคฤหัสถ์นั้นๆ พระภิกษุที่ท่านสละอาคารบ้านเรือนบวชในสำนักของพระผู้มีพระภาคก็ต้องมีกิจ ไม่ใช่ว่าบวชแล้วสบาย แต่ท่าน มีกิจที่ต่างจากคฤหัสถ์ เพราะว่าคฤหัสถ์มีกิจในการดำรงชีวิตในทางโลก เป็นไปกับ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะต่างๆ ตามสบายของคฤหัสถ์
สำหรับผู้ที่เห็นว่า การขัดเกลากิเลสในเพศของบรรพชิตเหมาะควรกับท่านที่ได้สะสมมา มากกว่าที่จะอบรมเจริญปัญญาในเพศของคฤหัสถ์ ท่านก็ละอาคารบ้านเรือน ละวงศาคณาญาติ ละทรัพย์สมบัติทั้งหมด ละกิจของคฤหัสถ์ทั้งหมด เพื่อกระทำกิจของบรรพชิต ซึ่งเป็นกิจเฉพาะของพระภิกษุทุกรูป
ในครั้งก่อนเมื่อพระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดงธรรม เมื่อได้เสด็จจาริกไปทรงแสดงธรรม และมีผู้ที่ได้รับฟังพระธรรม เข้าใจแล้ว และรู้จักอัธยาศัยของตนเองจริงๆ ว่าใคร่ที่จะเป็นบรรพชิต จึงได้ขออุปสมบท ไม่ใช่ว่าขอบวชก่อนและ ฟังพระธรรมทีหลัง แต่ในครั้งนั้นได้ฟังพระธรรมก่อน ได้เข้าใจพระธรรมแล้ว และรู้จักตนเองตามความเป็นจริงว่า เหมาะควรแก่เพศใด มีศรัทธาที่จะละอาคารบ้านเรือนอุปสมบทเป็นพระภิกษุหรือไม่
เมื่อท่านมีศรัทธาละอาคารบ้านเรือนแล้ว ท่านก็ทราบว่ากิจของท่าน คือ คันถธุระและวิปัสสนาธุระ การศึกษาพระธรรมพระวินัย และการอบรมเจริญ สติปัฏฐานเพื่อรู้แจ้งอริยสัจจธรรม แต่แม้กระนั้นก็ต้องมีกิจส่วนรวมของสงฆ์ที่จะต้องกระทำร่วมกัน เพราะเหตุว่าพระภิกษุท่านไม่ได้อยู่แต่ลำพัง ต้องเป็นหมู่คณะ
คำว่า สงฆ์ หมายความถึงหมู่คณะ เพราะฉะนั้น ส่วนหนึ่งที่ชาวบ้านยังไม่ได้พิจารณาให้เข้าใจจริงๆ คือ พระภิกษุบุคคลไม่ใช่สงฆ์ พระภิกษุบุคคลหมายความถึงภิกษุทุกรูปขณะที่ไม่ได้กระทำสังฆกรรม คือ ไม่ได้ทำกิจหนึ่งกิจใดของสงฆ์ตาม พระวินัย ขณะนั้นท่านเป็นภิกษุบุคคล ท่านจะมีความประพฤติที่ทุศีล หรือมีศีลสมบูรณ์ มีอาจาระ ความประพฤติที่สมควรจะเคารพ หรือความประพฤติของท่าน จะเป็นอนาจาระ ก็เป็นเรื่องของภิกษุบุคคล ไม่เกี่ยวกับสงฆ์ส่วนรวมทั้งหมดเลย
เพราะฉะนั้น คฤหัสถ์ถ้าเห็นพระภิกษุที่กระทำสิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควรกับ เพศบรรพชิต มีวิธีหนึ่งที่จะทำให้ท่านรู้สึกว่า ท่านได้กระทำสิ่งที่ไม่เหมาะควร โดยไม่ใช่ไปลบหลู่เพศซึ่งสูงกว่าคฤหัสถ์ และไม่ใช่ไปว่ากล่าว ไปสั่งสอน ไปติเตียน เพราะว่าคฤหัสถ์ทำอย่างนั้นไม่ได้ ไม่ใช่ฐานะของคฤหัสถ์ แต่คฤหัสถ์มีสิทธิ์ที่จะ ไม่แสดงความเคารพ คือ ไม่ไหว้ และยังมีกรรมหนึ่งซึ่งเป็นการลงโทษตามพระวินัย ชื่อว่าปฏิสารณียกรรม ซึ่งเกี่ยวกับคฤหัสถ์ เป็นกรรมอันสงฆ์พึงทำแก่ภิกษุอันจะ พึงให้กลับไป หมายถึงการที่สงฆ์ลงโทษให้ภิกษุไปขอขมาคฤหัสถ์
กรรมนี้สงฆ์ทำแก่ภิกษุปากกล้า ด่าว่าคฤหัสถ์ผู้มีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา เป็นทายกอุปัฏฐากสงฆ์ด้วยปัจจัย ๔ เป็นทางอันจะยังคนที่ ไม่เลื่อมใสมิให้เลื่อมใส จะยังคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เป็นอย่างอื่นไปเสีย
พระภิกษุที่กระทำผิดต่อคฤหัสถ์ สงฆ์ก็ลงโทษให้ภิกษุไปขอขมาคฤหัสถ์ด้วย แสดงให้เห็นถึงความเกื้อกูลกันระหว่างบรรพชิตและคฤหัสถ์ ไม่ใช่ว่าไม่มีการเกี่ยวข้อง กันเลย แต่ต้องเข้าใจให้ถูกต้องด้วยว่า ถ้าเป็นพระภิกษุบุคคล ทุกรูปที่ไม่ได้กระทำสังฆกรรม คือ กรรมหนึ่งกรรมใดซึ่งพระวินัยบัญญัติไว้ว่าเป็นกรรมของสงฆ์ที่ต้องกระทำร่วมกัน ตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป จึงเป็นสังฆกรรม
ถ้าขณะนั้น ขณะที่กำลังทำสังฆกรรมอยู่ แม้เป็นภิกษุทุศีล แต่ได้รับสมมติจากสงฆ์ส่วนรวมให้กระทำสังฆกรรม ทุกท่าน อุบาสก อุบาสิกา แม้ภิกษุนั้น ก็จะต้องแสดงความนอบน้อมต่อสงฆ์ส่วนรวม เพราะว่าขณะนั้นทำกิจของสงฆ์
แต่เมื่อกิจของสงฆ์เสร็จสิ้นลง ภิกษุทั้งหมดที่ร่วมกันทำสังฆกรรมก็เป็น ภิกษุบุคคล ถ้าเป็นภิกษุทุศีล คฤหัสถ์ซึ่งรู้ก็สามารถเตือนทางอ้อมโดยไม่แสดง ความเคารพ ก็คงจะไม่เสียหายอะไร ใช่ไหม คือ ไม่ได้ลบหลู่ ไม่ได้ติเตียน ไม่ได้แสดงกิริยาอาการที่น่ารังเกียจ เพียงแต่ไม่แสดงความเคารพเท่านั้น ก็คงจะพอสำหรับการที่จะทำให้ภิกษุนั้นได้พิจารณาตนเองว่า ท่านประพฤติสิ่งที่สมควรหรือไม่สมควร
ผู้ฟัง มีตัวอย่างที่เคยศึกษามา อุบาสกท่านหนึ่งจะถวายสังฆทาน ไปนิมนต์พระจากสงฆ์ เจ้าอาวาสจัดพระภิกษุทุศีลรูปหนึ่งมาให้ อุบาสกก็ระลึกว่า นี่เป็นตัวแทนสงฆ์ มาถึงท่านก็ล้างเท้า เช็ดเท้า บีบนวด ทาน้ำมัน และนิมนต์ ปูลาดอาสนะอย่างดี ถวายสังฆทานด้วยความเคารพเลื่อมใส และตอนบ่ายภิกษุนั้น ก็มาขอยืมจอบที่บ้านอุบาสกท่านนี้ อุบาสกก็เอาเท้าเขี่ยให้ เพราะว่ามาในนาม ของภิกษุผู้ทุศีล จึงแสดงกิริยาอย่างนั้น นี่เป็นตัวอย่างที่ท่านยกมา
ถ. ถ้าไม่ยอมปลงอาบัติ ผมอยากทราบ คือ เรื่องนี้สำคัญมาก และ ไปตรงกับในบ้านในเมือง ที่สภาผู้แทนราษฎรก็คล้ายๆ กัน เรื่องกฎเกณฑ์ของสงฆ์ กับประชาธิปไตยเหมือนกันมาก
สุ. ถ้าอย่างนั้นขอกล่าวถึงนิคหกรรม ซึ่งบางท่านอาจจะเคยได้ยิน คือ การลงโทษตามพระวินัย เพราะว่าพระภิกษุที่อยู่รวมกัน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมี พระวินัยเป็นข้อบัญญัติความประพฤติ เพื่อให้ภิกษุอยู่ร่วมกันด้วยความผาสุก ถ้าบุคคลหนึ่งบุคคลใดทำผิด อย่างสหายธรรม ไม่ว่าจะเป็นคฤหัสถ์หรือบรรพชิต ท่านที่ศึกษาพระธรรมก็คงมีความหวังดีต่อผู้ที่ศึกษาธรรมด้วยกัน ถ้ามีท่านผู้หนึ่งผู้ใดประพฤติไม่ถูก ไม่ควร และมีทางใดที่ท่านจะเกื้อกูลช่วยเหลือแนะนำ นั่นก็เป็นความหวังดี แม้ของคฤหัสถ์
เมื่อพระภิกษุท่านบวชแล้ว มีความเป็นอยู่รวมกันฉันพี่น้อง ท่านสละมารดาบิดาพี่ชายน้องชายมาหมดแล้ว เพราะฉะนั้น ท่านก็มีครอบครัวใหม่ คือ ครอบครัวของพระภิกษุซึ่งอยู่ร่วมกันฉันพี่น้องด้วย เมื่อมีภิกษุรูปหนึ่งรูปใดกระทำความผิด ก็ต้องมีการตักเตือน มีการว่ากล่าว มีการลงโทษ เพื่อให้ภิกษุรูปนั้นรู้สึกตัว และประพฤติในทางที่ถูก มิฉะนั้นแล้วจะเปล่าประโยชน์ในการบวช จะไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลยจากการบวช และเป็นผู้ที่ว่ายาก
สำหรับความหมายของคำว่า อธิกรณ์ คือ เรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว จะต้องจัดต้องทำ เป็นเรื่องที่สงฆ์ต้องดำเนินการ มี ๔ อย่าง คือ วิวาทาธิกรณ์ ๑ อนุวาทาธิกรณ์ ๑ อาปัตตาธิกรณ์ ๑ และกิจจาธิกรณ์ ๑ นี่เป็นเรื่องของสังฆกรรม
วิวาทาธิกรณ์ การเถียงกันเรื่องเกี่ยวกับพระธรรมวินัย นี่ก็เป็นไปได้ ต่างคน ต่างความคิดเห็น ไม่ว่าจะในเรื่องของพระธรรมหรือในเรื่องของพระวินัย เพราะฉะนั้น ถ้ามีเรื่องเกิดขึ้นแล้ว วิวาทาธิกรณ์ สงฆ์ต้องดำเนินการ
อนุวาทาธิกรณ์ การโจทหรือกล่าวหากันด้วยอาบัติ
อาปัตตาธิกรณ์ การต้องอาบัติ การปรับอาบัติ และการแก้ไขตนให้พ้นจากอาบัติ
กิจจาธิกรณ์ คือ กิจธุระต่างๆ ที่สงฆ์ต้องทำ เช่น ให้อุปสมบท หรือให้ผ้ากฐิน
ในภาษาไทย อธิกรณ์ มีความหมายเลือนลางลงและแคบเข้า กลายเป็น คดีความและโทษเป็นต้น
นิคหกรรม คือ การลงโทษตามพระวินัย ซึ่งการลงโทษผู้ทำผิด มี ๖ อย่าง คือ ตัชชนียกรรม นิยสกรรม ปัพพาชนียกรรม ปฏิสารณียกรรม อุกเขปนียกรรม และ ตัสสปาปิยสิกากรรม
ประการที่ ๑ ตัชชนียกรรม คือ กรรมอันสงฆ์พึงทำแก่ภิกษุอันจะพึงตักเตือน เหมือนกับคาดโทษหรือขู่ ซึ่งสงฆ์ทำการตำหนิโทษภิกษุผู้ก่อการทะเลาะวิวาท ก่ออธิกรณ์ขึ้นในสงฆ์ เป็นผู้มีอาบัติมาก และคลุกคลีกับคฤหัสถ์ในทางที่ไม่สมควร
เป็นสิ่งซึ่งเป็นไปได้ ใช่ไหม ทุกท่านที่บวชยังไม่ใช่พระอริยะเจ้า เพราะฉะนั้น ก็ยังมีกิเลสที่เป็นเหตุให้กระทำสิ่งที่ไม่สมควรต่างๆ
อาบัติมีมากเหลือเกิน ถ้าไม่ศึกษาให้ละเอียดและไม่มีศรัทธาที่จะประพฤติปฏิบัติตามให้ถูกต้อง ย่อมต้องอาบัตินั้น อาบัตินี้ และบางท่านก็ต้องอาบัติบ่อยๆ ทีเดียว
ฉะนั้น ภิกษุรูปใดเป็นผู้ก่อการทะเลาะวิวาท ก่ออธิกรณ์ขึ้นในสงฆ์ เป็นผู้ที่ มีอาบัติมาก และคลุกคลีกับคฤหัสถ์ในทางที่ไม่สมควร สงฆ์ลงโทษโดยตัชชนียกรรม
ประการที่ ๒ นิยสกรรม คือ กรรมอันสงฆ์พึงทำให้ภิกษุนั้นเป็นผู้ไร้ยศ ได้แก่การถอดยศ เป็นชื่อนิคหกรรมที่สงฆ์ทำแก่ผู้มีอาบัติมาก หรือคลุกคลีกับคฤหัสถ์ ด้วยการคลุกคลีอันไม่สมควร โดยปรับให้ถือนิสัยใหม่อีก
ธรรมดาของพระภิกษุที่ผู้บวชใหม่ ท่านต้องมีอุปัชฌาย์อาจารย์ที่ท่านจะต้อง ถือนิสัย หมายความว่ายอมรับภาระให้บุคคลนั้นเป็นครูบาอาจารย์ว่ากล่าวตักเตือน สั่งสอน และแม้แต่พระอุปัชฌาย์อาจารย์ก็ต้องยอมรับภิกษุนั้นเป็นภาระที่จะต้อง ว่ากล่าวตักเตือนสั่งสอนด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าภิกษุนั้นกระทำสิ่งที่ไม่สมควร เช่น เป็นผู้ที่มีอาบัติมาก หรือคลุกคลีกับคฤหัสถ์ด้วยการคลุกคลีที่ไม่สมควร ท่านจะต้องนิยสกรรม กรรมอันสงฆ์พึงทำให้เป็นผู้ไร้ยศ ได้แก่ การถอดยศ โดยปรับให้ถือ นิสัยใหม่อีก
ท่านผู้ฟังคงคิดว่า เป็นพระภิกษุสงฆ์จะมียศอะไร ท่านอาจจะเป็นอาจารย์สอน มีลูกศิษย์ หรือเป็นเจ้าอาวาส เป็นหัวหน้าของพระในสำนักต่างๆ ก็ได้ เพราะฉะนั้น สำหรับนิยสกรรม กรรมอันสงฆ์ทำให้เป็นผู้ไร้ยศ ได้แก่ การถอดยศ โดยปรับให้ถือนิสัยใหม่อีก
คนที่จะเป็นเจ้าสำนักหรือเจ้าอาวาส ต้องเป็นผู้ที่รู้ธรรมวินัยพอที่จะปกครองสงฆ์ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าผู้นั้นเป็นผู้ที่มีอาบัติมาก ก็ไม่สมควร ท่านต้องกลับมา ตั้งต้นถือนิสัยใหม่ ไม่สามารถเป็นผู้ที่เป็นอิสระได้ ต้องมีผู้ที่อบรมว่ากล่าวตักเตือน สั่งสอนต่อไปอีก
ประการที่ ๓ คือ ปัพพาชนียกรรม กรรมอันสงฆ์พึงกระทำแก่ภิกษุอันพึงจะ ไล่เสีย การขับออกจากหมู่ การไล่ออกจากวัด กรรมนี้สงฆ์ทำแก่ภิกษุผู้ประทุษร้ายสกุล และประพฤติเลวทรามเป็นข่าวเซ็งแซ่ หรือแก่ภิกษุผู้เล่นคะนอง ๑ อนาจาร ๑ ลบล้างพระบัญญัติ ๑ มิจฉาชีพ ๑
ประการที่ ๔ คือ ปฏิสารณียกรรม กรรมอันสงฆ์พึงกระทำแก่ภิกษุอันจะพึง ให้กลับไป หมายถึงสงฆ์ลงโทษให้ภิกษุไปขอมาคฤหัสถ์ กรรมนี้สงฆ์ทำแก่ภิกษุปากกล้าด่าว่าคฤหัสถ์ผู้มีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา เป็นทายกอุปัฏฐากสงฆ์ด้วยปัจจัย ๔ เป็นทางจะยังคนที่ยังไม่เลื่อมใสไม่ให้เลื่อมใส และจะยังคนผู้เลื่อมใส อยู่แล้วให้เป็นอย่างอื่นไปเสีย
ประการที่ ๕ คือ อุกเขปนียกรรม กรรมอันสงฆ์พึงทำแก่ภิกษุอันจะพึงยกเสีย หมายถึงวิธีการลงโทษที่สงฆ์กระทำแก่ภิกษุผู้ต้องอาบัติแล้ว ไม่ยอมรับว่าเป็นอาบัติ หรือไม่ยอมทำคืนอาบัติ หรือมีความเห็นชั่วร้าย คือ มีทิฏฐิบาป ไม่ยอมสละ ซึ่งเป็นทางเสียสีลสามัญญตา หรือทิฏฐิสามัญญตา โดยยกเธอเสียจากการอยู่ร่วม กับสงฆ์ คือ ไม่ให้ฉันร่วม ไม่ให้อยู่ร่วม ไม่ให้มีสิทธิเสมอกับภิกษุทั้งหลาย
เท่ากับถูกตัดสิทธิ์แห่งภิกษุชั่วคราว ยังไม่ถึงปาราชิก ยังมีการที่จะปลงอาบัติหรือมีการกระทำที่จะให้รู้สึกตัว และมีความประพฤติดีตามควรแก่เพศภิกษุต่อไปได้
ประการที่ ๖ ตัสสปาปิยสิกากรรม คือ กรรมอันสงฆ์พึงทำเพราะความที่ ภิกษุนั้นเป็นผู้เลวทราม กรรมนี้สงฆ์ทำแก่ภิกษุผู้เป็นจำเลยในอนุวาทาธิกรณ์ ให้การกลับไปกลับมา เดี๋ยวปฏิเสธ เดี๋ยวสารภาพ พูดถลากไถล พูดกลบเกลื่อนข้อที่ถูกซัก พูดมุสาซึ่งหน้า สงฆ์ทำกรรมนี้แก่ภิกษุนั้นเป็นการลงโทษตามความผิด แม้ว่าภิกษุนั้นจะไม่รับ หรือเพื่อเพิ่มโทษจากอาบัติที่ต้อง
ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของพระภิกษุ จะเห็นได้ว่า ถ้าพระภิกษุท่านกระทำผิด ต้องอาบัติแล้ว ท่านต้องกระทำคืน มิฉะนั้นท่านก็เป็นผู้ที่ไม่บริสุทธิ์ ไม่ควรแก่การได้รับความเคารพเลื่อมใสจากคฤหัสถ์
ถ. นิยสกรรมให้ถอดยศ ถ้าภิกษุบวชใหม่ยังไม่มียศ จะถอดอะไร
สุ. ยศ อย่างน้อยที่สุดก็มีผู้เคารพนับถือโดยประการหนึ่งประการใด
ถ. ผู้ที่นับถือ เขาก็นับถือ ไปถอดยศท่านได้อย่างไร
สุ. ถ้ารู้ว่าเป็นผู้ที่ไม่ควรแก่การนับถือ
สมพร คำว่า ยศ มีความหมายหลายอย่าง ภิกษุเป็นผู้ใหญ่ ทำนิยสกรรม ถอดยศ ก็หมายความว่าให้เป็นเด็กใหม่ คือ เป็นผู้บวชใหม่ ต้องถือนิสัยจากภิกษุ ๕ ปีจึงจะเป็นผู้ใหญ่ปานกลาง เรียกว่า มัชฌิมะ ถ้าเป็นผู้ใหญ่สมบูรณ์ก็เป็นเถระ ตั้งแต่ ๑๐ พรรษาขึ้นไป ถ้า ๑๐ พรรษาแล้ว ทำความไม่ดี ก็ถอดยศ ให้ถือนิสัยใหม่ นี่ข้อหนึ่ง คือ ยศลดลงมา อีกอย่างหนึ่ง ยศ เช่น เป็นอาจารย์มีลูกศิษย์มากมาย ไม่ให้เป็นอาจารย์ก็เท่ากับถอดยศ ยศ คือ บริวาร ไม่มีแล้ว หมดแล้ว นี่คือความหมายของยศ
สุ. เพราะอย่างไรๆ ก็คงมีบริวารบ้าง แม้ไม่มียศอื่น
ถ. ข้อนี้คงเอาไว้ลงโทษภิกษุที่พ้นจากการถือนิสัย คือ พรรษา ๕ ไปแล้ว เป็นเจ้าสำนัก เป็นครูอาจารย์ ประพฤตินอกรีตนอกรอยก็ถูกถอดยศ สำหรับผู้บวชใหม่ๆ คงต้องถือนิสัยอยู่กับอุปัชฌาย์ ข้อนี้คงไม่ลงโทษภิกษุที่ยังถือนิสัยอยู่
ขอเรียนถามว่า อย่างที่อาจารย์กล่าว อาบัติมากมายจริงๆ เคยบวชมาแล้วย่อมรู้ ยังเป็นปุถุชนก็ล่วงอาบัติไปบ้าง ปาจิตตีย์ ถุลลัจจัย ทุกกฏ ทุพภาสิต ถ้าเจริญสติปัฏฐานมีโอกาสบรรลุไหม
สุ. คฤหัสถ์ไม่เกี่ยว
ถ. สมมติว่าเป็นพระ ปาราชิก สังฆาทิเสส เป็นเครื่องกั้นแน่นอน แต่ปาจิตตีย์ ถุลลัจจัย ทุกกฏ ทุพภาสิต ถ้ายังเป็นอาบัติเหล่านี้อยู่ จะมีโอกาสบรรลุมรรคผลไหม
สุ. สัจจบารมี สัจจะสำคัญที่สุด เป็นผู้ที่จริงใจในการเป็นพระภิกษุ ถ้าจะเจริญสติปัฏฐานในเพศของบรรพชิต ต้องเป็นผู้ที่จริงใจต่อการที่จะประพฤติตาม พระวินัยบัญญัติ ถ้าต้องอาบัติ กระทำคืนทันที เพราะท่านแสดงอาบัติได้ ปลงอาบัติได้ ใช่ไหม อาจารย์จะกรุณาให้ความเข้าใจในเรื่องนี้เพิ่มเติมได้ไหม
สมพร สำหรับภิกษุผู้ปฏิบัติกัมมัฏฐาน เป็นผู้มีสติรอบคอบ แม้ท่าน ต้องอาบัติเล็กน้อย ท่านก็รู้ว่าท่านต้องอาบัติ ก็แสดงอาบัติกลับคืนได้ ภิกษุที่มีความกังวลเกี่ยวกับอาบัติมากมาย อาบัติรอบข้าง มีมาในสมัยพุทธกาลแล้ว บอกว่า กระดิกตัวไม่ได้เลย ทางซ้าย ทางขวา ทางหน้า ทางหลัง อาบัติทั้งนั้น จะขอลาสึก พระพุทธเจ้าทรงเห็นว่าผู้นี้มีอุปนิสัยที่จะได้มรรคผลก็ตรัสห้ามไว้ ถามว่า เพราะเหตุใดเธอจึงจะลาสึก ภิกษุก็ตอบว่า มีแต่อาบัติทั้งนั้น อาจารย์ก็ว่ามีอาบัติ อุปัชฌาย์ ก็ว่ามีอาบัติ ปฏิบัติไม่ไหว อาบัติมากมาย พระองค์ก็ตรัสว่า ให้เจริญอย่างเดียว รักษาอย่างเดียว คือ รักษาจิตอย่างเดียว ไม่ต้องรักษาอื่นทั้งหมด เพราะอาบัติทั้งหมดที่จะเป็นไปได้เพราะมีจิตที่ประกอบด้วยเจตนาที่จะกระทำ เรียกว่า สจิตตกะ เช่น อาบัติปาราชิก สังฆาทิเสสเหล่านี้เป็นต้น เพราะจิตมีเจตนาจะล่วง
เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐาน คือ รักษาจิต ผู้ที่รักษาจิตย่อมรู้ว่า ตนมีจิตเป็นเช่นใด เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล การเจริญสติปัฏฐานสามารถรู้ได้ว่า จิตของตนในเวลานี้เป็นเช่นไร
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๙๕ ตอนที่ ๑๙๔๑ – ๑๙๕๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1884
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1885
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1886
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1887
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1888
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1889
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1890
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1891
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1892
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1893
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1894
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1895
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1896
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1897
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1898
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1899
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1900
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1901
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1902
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1903
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1904
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1905
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1906
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1907
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1908
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1909
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1910
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1911
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1912
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1913
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1914
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1915
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1916
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1917
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1918
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1919
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1920
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1921
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1922
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1923
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1924
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1925
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1926
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1927
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1928
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1929
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1930
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1931
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1932
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1933
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1934
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1935
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1936
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1937
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1938
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1939
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1940
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1941
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1942
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1943
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1944
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1945
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1946
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1947
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1948
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1949