แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1944
ครั้งที่ ๑๙๔๔
สาระสำคัญ
อาบัติของภิกษุเป็นเครื่องกั้น
พระวินัยทั้งหมดเป็นเรื่อง สัจจะ
จตุตถปาราชิกกัณฑ์ กล่าวเท็จด้วยอาการ ๗ อย่าง
อุตริมนุสธรรม ธรรมที่สูงหรือเหนือกว่ามนุษย์ธรรมดา
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๓๓
ถ. ภิกษุผู้มีอาบัติติดตัวประเภทลหุกาบัติ อาบัติเบาๆ ยังไม่ได้ชำระ ให้หมดสิ้น มรณภาพไป อาบัติเหล่านี้จะเป็นเครื่องกั้นต่อสุคติภูมิไหม
สมพร อาบัติของภิกษุเป็นเครื่องกั้นอย่างแน่นอน อย่างเช่น ภิกษุรูปหนึ่งในสมัยพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า ปฏิบัติสมณธรรมอยู่ตั้ง ๒๐,๐๐๐ ปี ท่านนั่งเรือไปในมหาสมุทร เผอิญจับตะไคร่น้ำติดมือไป ต้องอาบัติเล็กน้อย ท่านคิดว่า ไม่เป็นไร อาบัติเล็กน้อย แต่เมื่อใกล้มรณะ อาบัตินั้นก็มาปรากฏเหมือนใบตะไคร่น้ำพันคอ ท่านก็นึกขึ้นได้ว่า ท่านต้องอาบัติ จะแสดงอาบัติก็ไม่มีภิกษุให้แสดงแล้ว และท่านก็มรณะ ไปเกิดเป็นพญานาคอยู่ในภพของอเหตุกะ เพราะฉะนั้น แสดงว่าอาบัติเป็นเครื่องกั้นสำหรับภิกษุแน่นอน ถ้าจะให้บริสุทธิ์ต้องแสดงอาบัติก่อน จึงบริสุทธิ์
สุ. ขอเชิญท่านผู้ฟังที่มีความคิดเห็นในเรื่องพระวินัย
ผู้ฟัง เรื่องเกี่ยวกับเงินทอง เป็นเรื่องที่ปฏิบัติได้ยากจริงๆ เพราะสมัยนี้ แม้ฆราวาสจะปฏิบัติถูก คือ ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยไม่ถวายเงินทอง แต่พระสมัยนี้ท่านก็เห็นว่า การรับเงินรับทองเป็นของธรรมดาไปแล้ว
สุ. ตั้งแต่ปรินิพพานได้ ๑๐๐ ปี ใช่ไหม ที่เป็นมูลเหตุให้กระทำสังคายนาครั้งที่ ๒ ตั้งแต่ครั้งนั้นหรือเปล่า
ผู้ฟัง ผมจำไม่ได้ เมื่อเป็นอย่างนี้พระพุทธศาสนาจะบริสุทธิ์ผุดผ่องได้อย่างไร ยังมองไม่เห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามชนบท การถวายเงินถวายทองถือเป็นเรื่องธรรมดาที่สุด ไม่มีตะขิดตะขวงใจใดๆ ทั้งสิ้น ผมเห็นแล้วไม่รู้จะทำอย่างไร หมดปัญญาที่จะแก้ไข สงสัยเป็นเรื่องที่แก้ไขไม่ได้เสียแล้วในสมัยนี้ พระท่านก็อ้างความจำเป็น ท่านต้องเดินทาง ต้องเสียค่ารถ จะเอาเด็กไปด้วยคนหนึ่งเพื่อจะได้เสียค่ารถให้ ก็เพิ่มภาระขึ้น เป็นเรื่องลำบากจริงๆ ผมเคยคิดว่า หลังเกษียณอายุราชการแล้ว จะบวชอีก แต่เมื่อคำนึงถึงเรื่องนี้ก็ไม่เอาแล้ว
ถ. พูดเรื่องพวกนี้แล้ว รู้สึกร้อนตัว ไม่ทราบว่าผมจะตกนรกไหมก็ไม่รู้ คือ มีพระภิกษุรูปหนึ่งมาหาผมที่บ้าน บอกว่าเป็นลูกศิษย์ท่านนั้นท่านนี้ที่ผมเคยทำบุญถวายปัจจัยในการสร้างอะไรต่ออะไร และท่านก็บอกว่ากำลังจะออกไปทำกิจกรรมพัฒนาชาวบ้าน ขอให้ผมถวายเงินให้ท่านเพื่อกิจกรรมอันนั้น ผมก็เรียนท่านว่า ท่านก็เป็นพระภิกษุ รู้ดีทั้งหมด การทำทานก่อนอื่นต้องมีศรัทธา ตอนนี้ศรัทธาผมไม่เกิด ... ผมไม่มีจิตศรัทธา ผมทำไม่ได้ ท่านก็บอกว่า ถ้าอย่างนั้นช่วยค่าน้ำมันรถที่มาหาได้ไหม ผมบอกว่า ไม่ได้ ขัดกับศรัทธาผม ผมสนับสนุนไม่ได้ ท่านมาอีกรอบผมก็พูดอย่างนี้ ผมก็มาคิดว่า จะตกนรกไหม ผมร้อนใจ กราบเรียนท่านอาจารย์ บอกผมสักหน่อยก็ดี
สมพร เราทำเพื่ออนุเคราะห์ช่วยเหลือพระพุทธศาสนา เพื่ออนุเคราะห์ พระวินัยให้พระวินัยนั้นบริสุทธิ์ เราไม่จำเป็นต้องไปส่งเสริมผู้ที่ประพฤติปฏิบัติไม่ดี หน้าที่ของสงฆ์มีเพียง ๒ อย่างเท่านั้นตามที่กล่าวแล้ว นอกจากนั้นไม่ใช่หน้าที่ของสงฆ์ ถ้าจะทำกิจอย่างอื่นต้องเป็นฆราวาส
เราช่วยเหลือพระศาสนา ดูแลพระศาสนา ช่วยให้ท่านปฏิบัติถูกต้องเป็นเจตนาที่ดีอันหนึ่ง เราอย่ากังวล เพราะเราทำสิ่งที่ถูก ถ้ากังวล อกุศลจิตเกิดตอนที่จิตกังวล
สุ. คงจะเป็นประโยชน์สำหรับท่านผู้ฟังที่จะพิจารณาเหตุการณ์ ตามยุคตามสมัย และการเข้าใจในพระวินัยบัญญัติ เพื่อท่านเองจะได้พิจารณาว่า จะเอื้อเฟื้อต่อพระวินัยเพิ่มขึ้นโดยสถานใด ไม่ใช่ว่าปล่อยไป เพราะคนที่ปล่อย ไม่เอื้อเฟื้อต่อพระธรรมวินัยนั้นมีมากมายเหลือเกิน ไม่ใช่ผู้รู้ เพราะฉะนั้น ถ้าเป็น ผู้ที่ศึกษา เข้าใจในพระธรรม ก็ควรจะมีความรู้ทางพระวินัยพอสมควรที่จะประพฤติเป็นการเอื้อเฟื้อต่อพระวินัยโดยถูกต้อง
การกล่าวถึงพระวินัยเป็นการแสดงให้เห็นถึงสัจจะ ความจริงใจของผู้ที่ตั้งใจจะอบรมเจริญปัญญาในเพศบรรพชิตที่ต้องขัดเกลากิเลสจริงๆ เพราะว่าผู้ที่สละอาคารบ้านเรือน ละเพศคฤหัสถ์สู่บรรพชิต จะต้องเป็นผู้ที่มีสัจจะ ความจริงใจ ต่อการที่จะขัดเกลากิเลสยิ่งกว่าเพศของคฤหัสถ์
เพราะฉะนั้น พระวินัยทั้งหมด ถ้าศึกษาแล้วจะเห็นความจริง เป็นสัจจธรรม ทั้งเรื่องของกุศลและอกุศล เพราะในเรื่องของกุศลก็จะเป็นเรื่องของหิริโอตตัปปะ ความละอายต่อสภาพของอกุศลต่างๆ ที่เกิดขึ้น ถ้าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซึ่ง เป็นอกุศลที่ทำให้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติพระวินัย ก็จะได้เห็นความจริงของอกุศล ซึ่งก็ต้องเป็นอกุศล ไม่ว่าจะเป็นเพศคฤหัสถ์หรือเพศบรรพชิต
พระวินัยทั้งหมดเป็นเรื่องสัจจะ ความจริง ของกุศลและอกุศลโดยละเอียด ซึ่งจะเป็นเครื่องส่องหรือวัดกุศลและอกุศลระดับต่างๆ เช่น ในเรื่องของการกล่าวเท็จ ซึ่งตรงกันข้ามกับสัจจะ สัจจะเป็นความจริงโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นปรมัตถธรรม สัจจะก็คือลักษณะที่แท้จริงของปรมัตถ์ที่เป็นอย่างนั้น หรือสมมติสัจจะก็เป็นความจริง ที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติคำเพื่อให้เข้าใจลักษณะของปรมัตถธรรมนั้นๆ
แต่คำเท็จ ไม่ใช่สัจจะ เป็นคำไม่จริง เป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับสัจจะ ซึ่งพระวินัยบัญญัติใน จตุตถปาราชิกกัณฑ์ บทภาชนียะ สุทธิกฌาน ข้อ ๒๔๑ มีข้อความแสดงความละเอียดของการกล่าวเท็จ
บทภาชนียะ คือ ข้อความที่ท่านจำแนกไว้ ซึ่งใน จตุตถปาราชิกกัณฑ์ มีข้อความที่แสดงความละเอียดของการกล่าวเท็จว่า
กล่าวเท็จด้วยอาการ ๗ อย่าง
ถ้าไม่ศึกษาในพระวินัย จะไม่ได้รับประโยชน์จากการเป็นผู้ที่ละเอียดขึ้น ซึ่งจะมีสติสัมปชัญญะเพิ่มขึ้นที่จะรู้สึกตนว่า ควรจะเกิดหิริโอตตัปปะอย่างไรบ้าง
การกล่าวเท็จด้วยอาการ ๗ อย่าง คือ
๑. เบื้องต้นรู้ว่าจะกล่าวเท็จ
นี่เป็นของแน่ ใช่ไหม ต้องรู้ก่อนว่าจะกล่าว ถ้าไม่รู้ ไม่กล่าวแน่ๆ
๒. กำลังกล่าวก็รู้ว่ากล่าวเท็จ
ในขณะที่กำลังกล่าวนั่นเอง ก็รู้ว่าเรื่องที่กล่าวไม่จริง หิริโอตตัปปะไม่มีเลย ในขณะนั้นเป็นอกุศลจิต
๓. ครั้นกล่าวแล้วก็รู้ว่ากล่าวเท็จแล้ว
๔. อำพรางความเห็น
๕. อำพรางความถูกใจ
๖. อำพรางความชอบใจ
๗. อำพรางความจริง
นี่คืออกุศลจิตที่เกิดสืบต่อๆ จากการกล่าวเท็จ โดยเริ่มจาก เบื้องต้นรู้ว่า จะกล่าวเท็จ กำลังกล่าวก็รู้ว่ากล่าวเท็จ ครั้นกล่าวแล้วก็รู้ว่ากล่าวเท็จแล้ว อำพรางความเห็น อำพรางความถูกใจ อำพรางความชอบใจ และ อำพรางความจริง
มีใครพิจารณาได้ละเอียดๆ อย่างนี้บ้าง ก็คงจะพิจารณาเพียงแค่ ๓ อย่าง คือ เบื้องต้นรู้ว่าจะกล่าวเท็จ กำลังกล่าวก็รู้ว่ากล่าวเท็จ ครั้นกล่าวแล้วก็รู้ว่ากล่าวเท็จแล้ว แต่ข้อที่ ๔ อำพรางความเห็น ไม่บอกว่ากล่าวเท็จแล้ว กล่าวเท็จแล้วก็รู้ว่ากล่าวเท็จแล้ว แต่ต่อไป คือ อำพรางความเห็น ไม่บอกว่ากล่าวเท็จแล้ว
ข้อที่ ๕ อำพรางความถูกใจ ถูกใจที่ได้กล่าวเท็จไปแล้ว ไม่ได้เสียใจ ไม่ได้เกิดหิริโอตตัปปะ แต่ อำพรางความถูกใจ ที่ได้กล่าวเท็จไปแล้ว
ข้อที่ ๖ อำพรางความชอบใจ ในผลที่เกิดจากการกล่าวเท็จนั้น เพราะว่า การกล่าวเท็จต้องมีผล ที่จะให้ผู้อื่นได้เข้าใจสิ่งที่ไม่จริงอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ก็เกิดความชอบใจที่ผลนั้นเกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้ประการที่ ๖ คือ อำพรางความชอบใจ ในผลที่เกิดจากการกล่าวเท็จนั้น
ข้อที่ ๗ อำพรางความจริง ไม่ให้ใครรู้ว่าความจริงเป็นอย่างไร
นี่คืออกุศลจิต ซึ่งในพระวินัยมีเรื่องที่ละเอียดมาก ถ้าผู้ใดศึกษาจริงๆ จะรู้ว่าพระวินัยมีคุณที่จะทำให้แม้ผู้ที่ไม่ใช่บรรพชิต ก็จะเป็นผู้ที่เกิดสติสัมปชัญญะที่จะรู้ทันทีที่กิเลสเกิดขึ้นกับตนว่า กิเลสมากน้อยแค่ไหน
สำหรับผู้ที่ศึกษาพระธรรม ส่วนใหญ่คงจะละอกุศลขั้นที่เป็นทุจริตกรรม และในเรื่องของศีล ๕ ก็คงจะค่อยๆ สมบูรณ์ขึ้น เพราะบางท่านก็กล่าวว่า ถ้าเป็น คำเท็จที่ไม่เป็นโทษกับใคร ก็ยังอดไม่ได้ เช่น ถ้ามีคนถามว่า เมื่อยหรือยัง ก็อาจจะตอบว่า ยัง ทำให้คนอื่นสบายใจ หรือบางคนอาจจะถามว่า เบื่อหรือยัง ก็บอกว่า ยังไม่เบื่อ ซึ่งบางคนอาจจะคิดว่าไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน แต่ลืมว่า สัจจะ ความจริง เป็นสิ่งที่ทุกคนแสวงหา เพราะฉะนั้น ต้องจริงในทุกเรื่อง แม้แต่เรื่องเล็กน้อย ที่คิดว่าไม่ได้ให้โทษกับใคร ควรเริ่มฝึกหัดที่จะเป็นคนกล่าวคำจริง เพราะว่า เป็นผู้แสวงความจริง ก็ต้องเป็นผู้ที่จริงใจ แม้แต่การศึกษาธรรมก็เพื่อเข้าใจและ ละอกุศล ไม่ใช่เพื่อเหตุอื่นเลย ถ้าเป็นอย่างนี้ได้ก็จะทำให้เป็นผู้ที่เกิดสติสัมปชัญญะเพิ่มขึ้น
สำหรับการกล่าวผิดความจริงแม้เพียงเล็กน้อย ในพระวินัยก็เป็นอาบัติตั้งแต่ทุพภาสิต ทุกกฏ ปาฏิเทสนียะ ปาจิตตีย์ ถุลลัจจัย สังฆาทิเสส จนถึงปาราชิก
เรื่องของการกล่าวคำไม่จริง บางท่านอาจจะคิดว่าเล็กน้อย แต่ต้องแล้วแต่ โทษ และต้องแล้วแต่เจตนาที่กระทำกรรมนั้นๆ เพราะถ้าไม่มีเจตนา หรือไม่ใช่เป็นการเบียดเบียนหวังร้ายต่อผู้อื่น โทษก็เล็กน้อยเป็นแค่ทุพภาสิต คือ คำที่ไม่ควรกล่าว หรือบางกรณีก็เป็นทุกกฏ บางกรณีเป็นปาฏิเทสนียะ บางกรณีเป็นปาจิตตีย์ บางกรณีเป็นถุลลัจจัย บางกรณีเป็นสังฆาทิเสส บางกรณีถึงปาราชิก เพราะฉะนั้น ต้องระวัง สำหรับคฤหัสถ์เป็นเรื่องที่ทุกคนรับผิดชอบตัวเอง แต่สำหรับบรรพชิตซึ่งเป็น ผู้ที่แสดงความจริงใจที่จะขัดเกลากิเลสในเพศบรรพชิต ก็ต้องเป็นผู้ที่จริงใจต่อการ ขัดเกลากิเลสด้วย
ขอยกตัวอย่างเรื่องของการกล่าวเท็จตามพระวินัยปิฎก คือ ผู้ที่ไม่บรรลุ ฌานสมาบัติ มรรคผล ที่ใช้คำว่า อุตริมนุสธรรม คือ ธรรมที่สูงหรือเหนือกว่ามนุษย์ธรรมดา และผู้นั้นเมื่อไม่บรรลุก็กล่าวว่า ข้าพเจ้าบรรลุ คือ พูดชัดเจนว่าตนเองบรรลุ เป็นปาราชิก เพราะว่ากล่าวโดยไม่ได้อ้อมค้อมและกล่าวตรง ไม่มีการที่จะปฏิเสธได้ เพราะกล่าวว่า ข้าพเจ้าบรรลุ ถ้ากล่าวอย่างนั้นด้วยเจตนาที่จะอวดทั้งๆ ที่ตนเอง ไม่ได้บรรลุ เป็นอาบัติปาราชิก คือ ขาดจากความเป็นภิกษุ
ข้อ ๒๘๕
ถ้ากล่าวอวดกับภิกษุโดยอ้อมเช่นว่า ลูกศิษย์ของพระอุปัชฌาย์ของพวกเราล้วนเป็นพระอรหันต์
คือ ไม่กล่าวตรงๆ ว่า ข้าพเจ้าบรรลุ แต่กล่าวอ้อมให้คิดเองให้เข้าใจเองว่า ลูกศิษย์ของอุปัชฌาย์ของพวกเราล้วนเป็นพระอรหันต์ ต้องอาบัติถุลลัจจัย
หรือแม้จะกล่าวกับอุบาสก อุบาสิกา คฤหัสถ์ว่า ภิกษุผู้อยู่ในวิหารของท่าน หรือภิกษุที่ท่านบำรุงอุปัฏฐากเป็นพระอรหันต์ ไม่ได้กล่าวตรงๆ ว่า ใครเป็น หรือข้าพเจ้าเป็น แต่กล่าวอย่างนี้ เป็นอาบัติถุลลัจจัย
ขณะใดมีเจตนาที่จะอวด ไม่ใช่ความจริง ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ความจริงก็จะอวด แสดงให้เห็นว่า ต้องเป็นอกุศลที่มีกำลัง เพราะฉะนั้น แล้วแต่ว่าจะถึงระดับขั้นใด จะถึงขั้นปาราชิก หรือขั้นสังฆาทิเสส หรือขั้นถุลลัจจัย แต่ถ้าไม่มีใครได้ยิน คือ พูดในที่ลับที่ไม่มีใครเลย ต้องอาบัติทุกกฏ แสดงให้เห็นถึงความห่างกันมากระหว่าง ระดับของอาบัติขั้นปาราชิกซึ่งเป็นอาบัติหนักที่สุด กับระดับของทุกกฏซึ่งเป็นระดับเบา เป็นลหุกาบัติ
ข้อ ๒๙๐
ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธ ภิกษุทั้งหลายได้พากันถามภิกษุนั้นว่า อุตริมนุสธรรมของท่านมีหรือ ภิกษุนั้นตอบว่า ผู้มีความเพียรอันปรารภแล้ว พึงยังธรรมให้สำเร็จได้ แล้วมีความรังเกียจว่า เฉพาะท่านที่เป็นสาวกของ พระผู้มีพระภาคเท่านั้น จึงควรพูดอย่างนั้น ส่วนเราสิ หาได้เป็นสาวกของพระองค์ไม่ เราต้องอาบัติปาราชิกแล้วกระมังหนอ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแก่พระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า
ดูกร ภิกษุเธอคิดอย่างไร
ภิกษุนั้นกราบทูลว่า
ข้าพุทธเจ้ามิได้มีความประสงค์จะพูดอวด พระพุทธเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุ ภิกษุผู้ไม่มีความประสงค์จะพูดอวด ไม่ต้องอาบัติ
นี่เป็นเรื่องของการที่จะวินิจฉัยเพียงคำพูดภายนอกไม่ได้ ต้องรู้ถึงจิตใจของบุคคลนั้นว่า พูดโดยต้องการอะไร ถ้าต้องการอวดเป็นอาบัติแน่ ถ้าไม่ต้องการอวด แต่ใช้คำว่า ผู้มีความเพียรอันปรารภแล้ว พึงยังธรรมให้สำเร็จได้
ก็เป็นเรื่องที่ลำบากใจสำหรับพระภิกษุหรือผู้ที่อบรมเจริญปัญญา เพราะว่าปัญญาของแต่ละท่านจะเกิดเมื่อไร แม้ท่านนั้นเองก็ไม่สามารถรู้ได้ หรือแม้บุคคลอื่น ก็ไม่สามารถรู้ได้ เพราะฉะนั้น จะมีประโยชน์อะไรที่จะถามใครว่า รู้ธรรมขั้นไหนแล้ว วิปัสสนาญาณขั้นไหนแล้ว สำเร็จเป็นพระอริยบุคคลขั้นไหนแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ ผู้ถูกถามไม่มีประโยชน์อะไรเลยที่จะตอบ เพราะถ้าท่านตอบว่า วันนี้ไม่เป็น วันหน้า หรือขณะต่อไปท่านเป็น จะมีประโยชน์อะไรกับคำที่ท่านได้กล่าวแล้ว
เพราะฉะนั้น ที่ภิกษุรูปนั้นท่านกล่าวว่า ผู้มีความเพียรอันปรารภแล้ว พึงยังธรรมให้สำเร็จได้ เป็นคำตอบที่ถูกต้องสำหรับผู้ที่อยากจะรู้ ใช่ไหม
ถ้ามีความเพียร ย่อมสำเร็จได้ เป็นพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเองก็ตรัสแสดงบ่อยๆ เพราะฉะนั้น ถ้าท่านกล่าวอย่างนี้ โดยที่ท่านไม่มีความประสงค์จะพูดอวด พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ไม่ต้องอาบัติ
ข้อ ๒๙๑
พราหมณ์ผู้หนึ่งนิมนต์พระภิกษุด้วยความเลื่อมใสว่า นิมนต์พระอรหันต์ทั้งหลายจงมาเถิดเจ้าข้า และบางท่านก็บอกว่า นิมนต์ท่านจงนั่งเถิดเจ้าข้า นิมนต์ท่านจงบริโภคเถิดเจ้าข้า นิมนต์ท่านฉันให้อิ่มเถิดเจ้าข้า และเมื่อเสร็จการถวายภัตตาหารแล้วก็กล่าวว่า นิมนต์พระอรหันต์ทั้งหลายจงกลับไปเถิดเจ้าข้า
ภิกษุเหล่านั้นมีความรังเกียจว่า พวกเราหาได้เป็นพระอรหันต์ไม่ ก็พราหมณ์นี้มาร้องเรียกเราด้วยวาทะว่า อรหันต์ พวกเราจะพึงปฏิบัติอย่างไรหนอ แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ไม่เป็นอาบัติ เพราะเขากล่าวด้วยความเลื่อมใส
คือ ท่านไม่ใช่เป็นผู้ที่ไปบอกเขาว่า ท่านเป็น แต่จะห้ามผู้ที่เลื่อมใสไม่ให้กล่าววาจาอย่างนั้นก็ห้ามไม่ได้ และไม่ใช่ว่าท่านจะต้องไปเดือดร้อนกับคำที่คนอื่นกล่าว เพราะฉะนั้น สำหรับพระภิกษุที่มีผู้อื่นกล่าวอย่างนั้น ท่านเองไม่เป็นอาบัติ
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๙๕ ตอนที่ ๑๙๔๑ – ๑๙๕๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1884
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1885
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1886
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1887
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1888
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1889
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1890
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1891
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1892
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1893
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1894
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1895
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1896
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1897
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1898
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1899
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1900
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1901
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1902
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1903
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1904
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1905
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1906
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1907
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1908
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1909
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1910
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1911
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1912
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1913
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1914
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1915
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1916
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1917
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1918
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1919
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1920
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1921
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1922
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1923
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1924
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1925
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1926
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1927
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1928
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1929
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1930
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1931
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1932
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1933
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1934
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1935
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1936
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1937
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1938
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1939
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1940
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1941
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1942
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1943
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1944
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1945
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1946
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1947
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1948
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1949