แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1946
ครั้งที่ ๑๙๔๖
สาระสำคัญ
เรื่องของกรรมและผลของกรรม
สติปัฏฐาน สติสัมปชัญญะ และสมถภาวนา
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๓๓
ท่านพระรัฐปาลเถระได้แสดงบิดามารดาของท่านกระทำให้เป็นเสมือนพรานเนื้อ คือ พยายามดักให้ท่านติดบ่วงในการครองเรือน กระทำเงินและทองและเรือนหญิง ให้เป็นดุจบ่วง กระทำโภคะที่ตนใช้สอยในกาลก่อนและโภชนะที่ตนบริโภคในวันนั้น คือ ในกาลที่ฉันบิณฑบาตที่บ้านของบิดา ให้เป็นดุจเหยื่อคือหญ้า เพราะว่า มารดาบิดาของท่านยังต้องการให้ท่านกลับไปครองเรือน แม้จะนิมนต์ไปฉันบิณฑบาต ก็ยังกระทำเป็นเสมือนพรานเนื้อที่พยายามดักให้ติดบ่วงในการครองเรือน ซึ่งก่อนบวชแม้ว่าท่านจะบริโภคสมบัติ ท่านก็บริโภคโดยไม่ติดข้อง เพราะฉะนั้น เมื่อบรรลุถึงความเป็นพระอรหันต์แล้ว แม้บิดามารดาโศกเศร้าท่านก็ทิ้งไปได้ เพราะเป็นเรื่องของกิเลสของแต่ละคน ใครยังมีกิเลสอยู่ คนนั้นก็โศกไป เศร้าไป แต่คนใดที่ดับกิเลสแล้วจะให้ไปเกื้อกูลคนที่ยังมีกิเลสโดยยอมทำตามใจคนที่ยังมีกิเลส ก็เป็นสิ่งซึ่งทำไม่ได้ และไม่สมควร
เมื่อท่านกล่าวคาถานี้แล้ว ก็ได้เหาะไปนั่งในอุทยานของพระเจ้าโกรัพยะ เพราะบิดาของท่านได้ให้ใส่กลอนที่ซุ้มประตูทั้ง ๗ แห่ง และสั่งคนให้จับท่านไว้ไม่ให้ออกไป และให้ดึงผ้ากาสายะออก ให้นุ่งขาว แต่ว่าท่านก็เป็นพระอรหันต์ และท่านสามารถที่จะเหาะได้ ท่านก็ไปสู่อุทยานของพระเจ้าโกรัพยะ
นี่เป็นการแสดงให้ท่านผู้ฟังได้เห็นพระคุณของพระรัตนตรัยจริงๆ ได้มีการเปรียบเทียบชีวิตของพระภิกษุที่เป็นสมมติสงฆ์ว่า เป็นขั้นหนึ่งซึ่งต่างกับคฤหัสถ์ และแม้อย่างนั้นภิกษุที่ได้อุปสมบทแล้วที่ยังเป็นปุถุชน ก็ยังต่างกับพระภิกษุซึ่งได้อบรมเจริญปัญญารู้แจ้งเป็นอริยสงฆ์ เป็นปรมัตถสงฆ์
ขอกลับไปกล่าวถึงตอนท้ายของ รัตนสูตร ซึ่งมีข้อความว่า
ครั้งนั้น ท้าวสักกเทวราชทรงพระดำริว่า พระผู้มีพระภาคทรงอาศัย คุณพระรัตนตรัยประกอบสัจจวาจา ทรงทำความสวัสดีแก่ชาวนคร แม้พระองค์เอง ก็พึงกล่าววาจาอาศัยคุณพระรัตนตรัย เพื่อความสวัสดีแก่ชาวนคร
ท้าวสักกเทวราชตรัสวาจาสรรเสริญคุณพระรัตนตรัย และกล่าวรวมพระองค์และเทวบริษัททั้งหมดว่า
ตถาคตํ เทวมนุสฺสปูชิตํ พุทฺธํ นมสฺสาม สุวตฺถิ โหตุ
ความว่า พวกเรานอบน้อมพระตถาคตพุทธเจ้า ผู้อันเทวดาและมนุษย์บูชาแล้ว ขอความสวัสดีจงมี
ท้าวสักกเทวราชครั้นตรัสคาถานี้แล้ว ทรงทำประทักษิณพระผู้มีพระภาค เสด็จกลับสู่สวรรค์พร้อมด้วยเทพบริษัท
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงรัตนะสูตรนี้ถึง ๗ วัน ซึ่งมีผู้บรรลุธรรมทุกวัน พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กรุงเวสาลี กึ่งเดือนแล้ว จึงมีพระพุทธประสงค์ เสด็จกลับ ต่อนั้นพวกเจ้าลิจฉวีก็นำเสด็จพระผู้มีพระภาคสู่ฝั่งแม่น้ำคงคาด้วยสักการะเป็นทวีคูณอีก ๓ วัน แม้พระเจ้าพิมพิสารก็ได้ทำสักการะแก่พระผู้มีพระภาค เป็นทวีคูณกว่าที่พวกเจ้าลิจฉวีทรงกระทำครั้งที่พระผู้มีพระภาคเสด็จมา พระเจ้าพิมพิสารทรงนำเสด็จพระผู้มีพระภาค ๕ วัน จึงถึงกรุงราชคฤห์
พระผู้มีพระภาคเสด็จถึงกรุงราชคฤห์แล้ว ภายหลังภัตตาหาร พวกภิกษุที่ นั่งประชุมกัน ณ ศาลาโรงกลม ได้สนทนากันถึงอานุภาพของพระผู้มีพระภาคที่ได้ ทรงรับสักการะอย่างใหญ่ยิ่ง พระผู้มีพระภาคทรงทราบ จึงเสด็จไปยังศาลาโรงกลม และตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า
บูชาวิเศษนี้มิได้บังเกิดเพราะพุทธานุภาพของเรา ทั้งมิใช่เพราะอานุภาพ ของนาค เทวดา และพรหม ที่แท้บังเกิดเพราะอานุภาพของการบริจาคเล็กๆ น้อยๆ แต่ก่อนต่างหาก
พวกภิกษุจึงกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์ไม่รู้การบริจาคนั้นๆ ขอ พระผู้มีพระภาค โปรดตรัสบอกพวกข้าพระองค์ด้วยเถิด
พระผู้มีพระภาคตรัสเชื่อมชาดกกับปัจจุบันว่า
สมัยนั้น เราเป็นสังฆพราหมณ์ เราถอนหญ้าที่ลานเจดีย์ของพระสุสีมปัจเจกพุทธเจ้า ด้วยผลกรรมของเรานั้น ชนทั้งหลายจึงทำทาง ๘ โยชน์ให้ปราศจากตอและหนาม ทำพื้นที่ให้ราบเรียบสะอาด เราโรยทรายที่ลานเจดีย์ พระสุสิมปัจเจกพุทธเจ้านั้น ด้วยผลกรรมของเรานั้น ชนทั้งหลายจึงโรยทรายที่ หนทาง ๘ โยชน์ เรากระทำบูชาที่พระสถูปด้วยดอกไม้ป่า ด้วยผลกรรมของเรานั้น ชนทั้งหลายจึงได้ทำเครื่องลาดดอกไม้ด้วยดอกไม้ป่านานาชนิดทั้งบนบก ทั้งในน้ำ ในหนทาง ๙ โยชน์ เราปะพรมพื้นดินด้วยน้ำในคนโทที่พระสถูปนั้น ด้วยผลกรรม ของเรานั้น ฝนโบกขรพรรษจึงตกลงที่กรุงเวสาลี เรายกธงแผ่นผ้าและผูกฉัตรที่ พระเจดีย์นั้น ด้วยผลกรรมของเรานั้น ชนทั้งหลายจึงยกธงแผ่นผ้าและฉัตรน้อยใหญ่
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ดังนั้นบูชาวิเศษนี้มิใช่บังเกิดเพราะพุทธานุภาพของเรา ไม่ใช่บังเกิดเพราะอานุภาพของนาค เทวดา และพรหม ที่แท้บังเกิดเพราะอานุภาพของการบริจาคเล็กๆ น้อยๆ ต่างหากเล่า
เมื่อจบคาถา ได้ตรัสพระคาถานี้
ถ้าบุคคลพึงเห็นสุขอันไพบูลย์เพราะสละสุขพอประมาณไซร้ ผู้มีปัญญา เมื่อเห็นสุขอันไพบูลย์ พึงสละสุขพอประมาณเสีย ดังนี้
สั้นมาก ใช่ไหม เรื่องของกุศล แต่จะทำก็ลำบาก ไม่ได้สบายๆ คนที่จะ ทำกุศลเป็นผู้ที่เสียสละ เสียสละเวลา เสียสละความสนุก เสียสละหลายอย่าง แต่ขอให้พิจารณาว่า ถ้าบุคคลพึงเห็นสุขอันไพบูลย์เพราะสละสุขพอประมาณไซร้ ผู้มีปัญญาเมื่อเห็นสุขอันไพบูลย์ พึงสละสุขพอประมาณเสีย ดังนี้
พระผู้มีพระภาคตรัสด้วยพระองค์เองว่า ไม่ใช่เพราะพุทธานุภาพ หรือ อานุภาพของนาค ของเทวดา ของพรหม แต่เป็นผลของอดีตกรรมที่ได้ทรงกระทำแล้วในชาติก่อนๆ เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นถึงเรื่องของเหตุและผล เรื่องของกรรมและผลของกรรม
สำหรับสัจจะที่ถูกต้อง ต้องเป็นไปในการกุศล แต่ถ้าเป็นสัจจะที่งมงาย และ ไม่เป็นไปในกุศล ไม่เป็นสัจจบารมี และแม้พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือพระสาวกทั้งหลาย ก็เป็นผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรมด้วยสัจจบารมีเป็นเครื่องประกอบด้วย ถ้าขาดสัจจบารมีไม่มีทางถึงความสำเร็จที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้
อย่างบางท่านบอกว่า ท่านเคยให้สัจจะว่าจะไม่บริโภคเนื้อ แต่ถ้าดูในพระไตรปิฎกในอดีตชาติทุกพระชาติมา นั่นไม่ใช่สัจจบารมี ไม่มีเลยที่พระโพธิสัตว์ จะมีสักชาติหนึ่งที่มีสัจจบารมีว่า จะไม่บริโภคเนื้อ เพราะฉะนั้น ต้องทราบเหตุและ ผลจริงๆ ในการที่จะดับกิเลสด้วยปัญญาพร้อมบารมีอื่นๆ ซึ่งเป็นการเจริญกุศล ไม่ใช่เป็นการหลงผิด เข้าใจผิด และคิดว่าข้อปฏิบัติอื่นๆ ที่นอกจากสติปัฏฐาน จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้
ถ. สัจจบารมีที่พระพุทธองค์แสดงไว้มีอะไรบ้าง พระพุทธเจ้าคงไม่บอกว่า ตลอดชาตินี้จะไม่ฉันเนื้อ พระพุทธเจ้าคงจะไม่แสดงสัจจะอย่างนั้นแน่นอน
สุ. เป็นผู้มีหิริ มีโอตตัปปะ เป็นผู้เสียสละประโยชน์สุขเพื่อที่จะเจริญกุศล
ถ. แต่พระพุทธองค์แสดงสัจจะไว้ อย่างน้อยคงมุ่งจะละกาม คงจะมีแน่
สุ. ถ้าท่านผู้ฟังสนใจฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม เป็นสัจจะหรือเปล่า มีความตั้งใจจริงๆ หรือเปล่า ถ้ามีความตั้งใจจริงๆ ก็เป็นสัจจะที่เป็นฝ่ายกุศล
ถ. มีแน่ เราต้องตั้งสัจจะไว้ว่า ชาตินี้จะต้องศึกษาพระธรรมตลอดไป แบบนี้ก็คงจะได้ตั้งกันไว้ แล้วแต่ละคน
สุ. เรื่องอื่น ก็เป็นเรื่องของกุศลทุกเรื่องไป จะไม่พูดสิ่งที่ไม่จริง หรือจะช่วยเหลือบุคคลอื่นก็แล้วแต่ แต่ว่าเป็นเรื่องของกุศลทั้งหมด
ผู้ฟัง เมื่อเราได้ศึกษาพระธรรมแล้ว เราก็รู้ว่า อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล และสิ่งใดควรประพฤติ สิ่งใดไม่ควรประพฤติ พระธรรมสอนเราทุกอย่างอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น นั่นก็เป็นสัจจะอย่างหนึ่ง
สุ. สัจจะ คือ จริงใจ ศึกษาธรรมเพื่อขัดเกลา ไม่ใช่เพื่อเป็นคนเก่งกว่า คนอื่น ไม่ใช่เพื่อลาภ สักการะ
ผู้ฟัง เมื่อศึกษาพระธรรมแล้ว พระธรรมสอนเราทุกอย่าง ขอย้อนกลับมาเรื่องท่านรัฐปาละ เท่าที่ผมอ่านพบ ท่านได้แสดงโทษของทรัพย์สินเงินทอง และท่านให้บิดามารดานำไปทิ้งทะเล ท่านบอกว่า ทรัพย์สินเงินทองเป็นศัตรู เป็นตัวร้ายที่ ทำให้ท่านหมดกิเลสได้ยาก ถ้ายังติดอยู่ในทรัพย์สินเงินทองเหล่านั้น
สุ. นั่นเป็นความละเอียดของคาถาของท่านรัฐปาละ ซึ่งในเถรคาถา พระสาวกทั้งหลายท่านก็แสดงเหตุการณ์ในชีวิตของท่าน และท่านกล่าวคาถาที่เป็นธรรมต่างๆ กัน
ผู้ฟัง แต่ในชีวิตประจำวันของเราทุกคน กลับตรงกันข้าม ไม่ได้บอกว่า เงินทองเป็นศัตรูตัวร้ายในการที่จะออกไปจากวัฏฏะได้ กลับมุ่งหากันยกใหญ่
สุ. การรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ไม่ได้จำกัดเพศ ถ้าเป็นภิกษุไม่ยินดีในเงิน และทอง ไม่รับเงินและทอง แต่ถ้าเป็นคฤหัสถ์ แม้แต่พระเจ้าพิมพิสารก็รู้แจ้ง อริยสัจจธรรมเป็นพระโสดาบัน มหาอำมาตย์ต่างๆ ...
ผู้ฟัง แต่จะยั่วยวนทำให้เราติด เมื่อติดแล้ว โลภะ สมุทัยก็จะเข้ามาทำให้เราเพลิดเพลินไปกับเงินทอง แสวงหาความสุขต่างๆ
สุ. ไม่จับเงินจับทอง แต่ไม่มีปัญญาก็ไม่สามารถดับกิเลสได้ แต่ถึงแม้ว่าจะจับเงินจับทอง แสวงหาเงินทอง แต่เป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญา ปัญญาก็สามารถดับกิเลสได้
ผู้ฟัง ถ้ามีปัญญาคงจะเห็นว่า ไม่ควรจะติดทั้งนั้น
สุ. เป็นเรื่องของปัญญาที่จะต้องสะสมอบรมไป จนกว่าจะมีกำลังสามารถละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลก่อน นี่ขั้นต้น ไม่ใช่ละ โลภะ โทสะก่อน
ถ. ปัญจโวการภพคืออะไร
สุ. หมายความถึงภูมิที่มีขันธ์ ๕ คือ มีทั้งรูปขันธ์และนามขันธ์ ถ้าเป็น เอกโวการภพ หมายความถึงมีเฉพาะขันธ์เดียว คือ รูปขันธ์ ได้แก่ อสัญญสัตตาพรหม ถ้าเป็นจตุโวการภพ เป็นภูมิที่มีนามขันธ์เท่านั้น ไม่มีรูปขันธ์ ได้แก่ อรูปพรหม
ถ. สำหรับภูมิมนุษย์ได้รับวิบากทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ถ้าเป็นอรูปภูมิ
สุ. ไม่มีรูป ไม่ต้องเห็น ไม่ต้องได้ยิน ไม่ต้องได้กลิ่น ไม่ต้องลิ้มรส ไม่ต้องกระทบสัมผัส เพราะว่าไม่มีรูปเลย
ถ. ท่านได้รับวิบากไหม
สุ. ปฏิสนธิจิตเป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรม ภวังคจิตเป็นวิบากจิต
ถ. แสดงว่าตั้งแต่ปฏิสนธิจิตถึงจุติจิตของท่าน วิบากคือภวังคจิต
สุ. ใช่ จนกว่าจะถึงจุติ สบายไหม ไม่เห็นอะไรเลย ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส ไม่ต้องกระทบสัมผัส ไม่ต้องได้ยินเสียง แต่ใจมี เพราะฉะนั้น ต้องมีการคิดนึก อย่างบางคนเป็นคนที่ช่างคิด ทั้งๆ ที่มีรูป มีเสียง มีกลิ่น มีรส โผฏฐัพพะกระทบ เป็นบางครั้งบางคราว แต่ส่วนใหญ่ใจจะคิดมากในเรื่องนั้นๆ จนกระทั่งเกือบจะลืมว่า มีสิ่งที่กระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือถึงแม้ว่าหลับตาไม่มีรูปกระทบ และ เงียบสงัด ไม่มีเสียง แต่ขณะนั้นใจก็คิด ก็คิดถึงสภาพของจิตซึ่งคิดได้ แม้ไม่มีรูปกระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย
ถ. อย่างรูปพรหมภูมิมีตากับหู ใช่ไหม
สุ. มี
ถ. รับวิบากหรือเปล่าอย่างนั้น
สุ. รูปไม่เป็นวิบาก แต่จักขุวิญญาณเป็นวิบากจิต โสตวิญญาณเป็น วิบากจิต แต่รูปไม่ใช่วิบาก รูปเป็นผลของกรรม แต่รูปไม่ใช่วิบาก เพราะเมื่อกุศลจิตเป็นเหตุ จิตและเจตสิกเป็นเหตุ จิตและเจตสิกก็เป็นวิบาก
ถ. รูปพรหมภูมิ คงไม่มีอกุศลวิบาก
สุ. ถ้ามาที่โลกมนุษย์นี้ ก็คงจะต้องมี
ถ. ในภูมิของท่านคงไม่มี
สุ. เป็นภูมิที่ประณีตมาก
ถ. สติสัมปชัญญะ กับสติที่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย เหมือนกันไหม
สุ. เป็นความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ขณะนี้มีเห็น มีได้ยิน มีคิดนึก มีการกระทบสิ่งที่แข็งหรืออ่อน มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมไหม คือ ทางตาที่เห็นก็รู้ในขณะที่กำลังเห็น ทางหูที่ได้ยินก็รู้ในขณะที่กำลังได้ยิน ในขณะที่กำลังกระทบสัมผัสก็รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ในขณะที่คิดนึกก็รู้ นั่นคือผู้ที่มีสติสัมปชัญญะ ซึ่งตามธรรมดาของคนที่ยังมีอกุศลมาก มีอวิชชามาก และเป็นผู้ที่ยังไม่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐานจนกระทั่งมีกำลัง ก็มีสติสัมปชัญญะเกิดบ้าง แต่ไม่ใช่ทั่วพร้อมจริงๆ
แต่ขณะใดที่สติเกิด และเป็นสติสัมปชัญญะ หมายความว่าขณะนั้น ไม่ใช่สติขั้นทาน ไม่ใช่สติขั้นศีล แต่เป็นสติที่สามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังมี ในขณะนั้นตามขั้นของปัญญา ถ้าเป็นปัญญาขั้นสมถภาวนา คือ ปัญญาที่สามารถ รู้สภาพของจิตที่สงบ รู้เหตุที่จะให้จิตสงบจากอกุศล ขณะนั้นจะรู้ว่า ลักษณะของ อกุศลจิตต่างกับกุศลจิต แม้เกิดสลับกันอย่างรวดเร็ว แต่สติสัมปชัญญะสามารถ รู้ในสภาพที่มีจริงๆ ในขณะนั้น และสำหรับสติปัฏฐาน ในขณะที่สภาพธรรมกำลังปรากฏ สติสัมปชัญญะ ความรู้สึกตัว สามารถรู้สภาพที่แท้จริงของสิ่งที่ปรากฏว่า ขณะนั้นเป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล นั่นจึงจะเป็นสติสัมปชัญญะ
แต่ถ้าระดับขั้นที่ต่ำกว่านั้นอีก อย่างเมื่อได้ฟังธรรมและเกิดระลึกได้บ้าง เช่น ถ้าจิตเกิดขุ่นเคือง ซึ่งก่อนนี้ไม่เคยรู้สึกตัวเลย แต่ภายหลังสามารถรู้สึกได้ว่า ขณะนี้เป็นสภาพที่ขุ่นเคืองใจ แม้ขณะนั้นจะไม่ใช่ปัญญาที่พิจารณารู้ชัดในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน คือ ยังไม่รู้ชัดในลักษณะที่เป็นนามธรรมหรือรูปธรรม แต่ก็มีสติสัมปชัญญะ ขั้นพิจารณาที่จะรู้ว่า ขณะนี้เป็นธรรม เป็นสภาพธรรม เป็นโทสะ
บางคนก็พูดเป็นคำหรือเป็นชื่อว่านี่โทสะ แต่ขณะนั้นไม่ใช่สติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น สติสัมปชัญญะต้องสมบูรณ์ขึ้นตามลำดับด้วย
ถ. สติปัฏฐานเท่านั้นที่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย
สุ. ปัญญาระดับขั้นที่รู้ว่าเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม ปัญญาของ สมถภาวนาไม่รู้ว่าเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม แต่รู้ว่าขณะใดเป็นกุศล ขณะใดเป็นอกุศล และรู้เหตุที่จะให้กุศลเจริญมั่นคงขึ้น และปัญญาขั้นที่ต่ำกว่านั้น คือ ขั้นพิจารณา ขั้นนึกคิด ขั้นเข้าใจ
ถ. ผู้ที่ไม่ได้ศึกษาเรื่องสติปัฏฐาน เวลาทำบุญรู้ว่า กรรมมี ผลของกรรมมี เป็นปัญญาไหม
สุ. ขณะใดก็ตาม จะให้ทานหรือไม่ให้ทาน ขณะใดที่ระลึกเป็นไปในเหตุผล ขณะนั้นเป็นปัญญา
ถ. ต่างขั้นกับสติปัฏฐาน
สุ. ต่างขั้น จะเป็นระดับเดียวกันไม่ได้
ถ. กุศล อกุศล ที่เกิดกับชวนะ จึงจะให้ผล ...
สุ. ทำไมเรียกกุศลหรืออกุศลที่เกิดกับชวนะ
ถ. ก็ชวนะมีแต่กุศล อกุศล อ้อ และมีกิริยาด้วย
สุ. ชวนะเป็นกิจของจิต และจิตที่ทำชวนกิจ ได้แก่ จิตประเภทที่เป็น อกุศลจิต กุศลจิต กิริยาจิต และโลกุตตรจิต
ต้องรู้ว่า จิตแต่ละขณะที่เกิดขึ้นทำกิจอะไร อย่างเช่น ภวังคจิตเป็นวิบากจิต ทำชวนกิจไม่ได้ เพราะทำภวังคกิจ หรือกุศลจิตก็ดี อกุศลจิตก็ดี ไม่ใช่วิบากจิต เพราะฉะนั้น ไม่ได้ทำทัสนกิจ ไม่ได้ทำสัมปฏิจฉันนกิจ ไม่ได้ทำโวฏฐัพพนกิจ แต่ทำชวนกิจ
เวลาที่ศึกษาเรื่องจิต ต้องรู้กิจหน้าที่ของจิตด้วย จะได้สะสมความเข้าใจ ในความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมทุกอย่าง ที่ศึกษาทั้งหมด ที่พิจารณาให้เข้าใจ ก็เพื่อให้เห็นความไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลของสภาพธรรม แม้แต่การ ที่จะต้องรู้ว่า อกุศลจิต ทำชวนกิจ เพราะฉะนั้น คำถามควรจะเปลี่ยน ใช่ไหม
ถ. เปลี่ยนเป็นว่า กุศลจิต อกุศลจิตที่ทำกิจชวนะ จึงให้ผลเป็นวิบากจิต
สุ. กุศลจิต อกุศลจิตเป็นเหตุ กุศลวิบาก อกุศลวิบากเป็นผล กุศลจิต เป็นเหตุให้เกิดกุศลวิบากจิต อกุศลจิตเป็นเหตุให้เกิดอกุศลวิบากจิต
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๙๕ ตอนที่ ๑๙๔๑ – ๑๙๕๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1884
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1885
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1886
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1887
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1888
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1889
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1890
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1891
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1892
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1893
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1894
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1895
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1896
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1897
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1898
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1899
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1900
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1901
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1902
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1903
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1904
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1905
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1906
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1907
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1908
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1909
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1910
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1911
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1912
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1913
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1914
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1915
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1916
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1917
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1918
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1919
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1920
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1921
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1922
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1923
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1924
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1925
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1926
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1927
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1928
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1929
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1930
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1931
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1932
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1933
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1934
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1935
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1936
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1937
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1938
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1939
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1940
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1941
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1942
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1943
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1944
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1945
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1946
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1947
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1948
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1949