แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1947
ครั้งที่ ๑๙๔๗
สาระสำคัญ
กิจหน้าที่ของจิต
อกุศลกรรมบถ (กายกรรม ๓ วจีกรรม ๔ มโนกรรม ๓)
การประพฤติพรหมจรรย์ เจริญปัญญาเพื่อที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม
ปัญญามีหลายขั้น ปัญญาที่รู้ สภาพธรรมกำลังปรากฏในขณะนี้
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๓๓
ถ. ที่บอกว่าสะสมเป็นอุปนิสัย สะสมแล้วไม่ให้ผลเป็นวิบากหรือ
สุ. ไม่ให้ผลเป็นวิบาก เช่น ชอบรสอะไร ชอบรสเปรี้ยวไหม ชอบ รสหวานก็ชอบ รสอะไรก็ชอบ สะสมไป เป็นกรรมหรือเปล่าเกิดมาชอบรสอย่างนั้น กำลังชอบรสหวานๆ ขนมอร่อยๆ ขณะนั้นเป็นกรรมหรือเปล่า
ถ. ไม่เป็นกรรมบถ
สุ. ไม่ใช่เป็นกรรมบถ และจะให้ผลเป็นอะไร
ถ. แต่ต้องทำกิจชวนะ
สุ. ทำกิจชวนะ แต่ไม่ใช่เป็นอกุศลกรรมบถ เป็นอกุศลจิตเท่านั้น ถ้าอกุศลกรรมบถ ต้องเบียดเบียนประทุษร้ายบุคคลอื่นให้เดือดร้อน อกุศลกรรมบถ มีกายกรรม ๓ วจีกรรม ๔ และมโนกรรม ๓ ต้องรู้ว่าระดับไหนที่จะเป็นอกุศลกรรมบถ ถ้าเพียงแต่อาหารอร่อย จะให้เป็นกรรมอะไรในอกุศลกรรมบถ
ถ. แสดงว่า อกุศลจิต กุศลจิตที่ทำกิจชวนะ ถ้าไม่เป็นกรรมบถ ก็สะสมเป็นอุปนิสัย
สุ. เพราะฉะนั้น กรรมจึงมีหลายอย่าง ที่เป็นกัมมปัจจัยต้องถึงขั้นเป็น กุศลกรรมหรืออกุศลกรรม ถ้าเป็นอุปนิสสยปัจจัยก็สะสมไปทำให้บุคคลนั้นเป็นผู้ที่มีอัธยาศัยอย่างนั้น
ถ. กุศลจิต อกุศลจิตที่ทำกิจชวนะ ถ้าเป็นกรรมบถ
สุ. ก็ถึงระดับขั้นที่เป็นอกุศลกรรมบถ
ถ. แสดงว่าทำกิจชวนะ มีกำลังแรงขึ้น
สุ. จิตไม่เหมือนกันเลยแต่ละขณะที่เกิดขึ้น แล้วแต่ว่าเป็นกุศลประเภทไหน เป็นอกุศลประเภทไหน มีกำลัง หรือไม่มีกำลัง เป็นอกุศลกรรม หรือไม่เป็นอกุศลกรรม
ถ. ตามความเข้าใจผมคิดว่า คงมีกำลังแรงจึงให้ผลเป็นวิบาก
สุ. ถ้าเป็นกัมมปัจจัย
ถ. ไม่เกี่ยวกับกำลัง ใช่ไหม
สุ. ต้องเกี่ยว ถ้าคุณพรชัยโกรธนิดหนึ่งก็รู้สึกขุ่นๆ ใครก็ยังมองไม่ออก ถ้าโกรธมากกว่านั้นอีก คนอื่นก็จะรู้จากสีหน้า หรือจากเสียง และถ้ามีกำลังถึงขั้นที่ ทำทุจริตกรรม มีกำลังขึ้นหรือยัง
ถ. เพิ่มขึ้น
สุ. ต้องเข้าใจว่า เมื่อไรจะเป็นอกุศลกรรม
ถ. ทำกิจชวนะ กำลังก็เพิ่ม
สุ. ชวนกิจเป็นเรื่องของชวนกิจ ต้องทำชวนกิจ ทำกิจอื่นไม่ได้ เพราะว่าจิตทั้งหมด ๘๙ ดวง มีกิจเพียง ๑๔ กิจ และสำหรับจิตที่เป็นกุศลจิต อกุศลจิต ไม่ว่าเป็นขณะใดก็ตาม มีกำลังน้อย กำลังมากก็ตาม ทำชวนกิจทั้งหมด
ถ. ผมเข้าใจว่า ถ้าสะสมเป็นอุปนิสสยปัจจัยจะมีกำลังน้อยกว่า ที่เป็นกรรมบถ
สุ. ถูกต้อง เพราะว่าโกรธนิดหนึ่งเป็นชวนจิต เป็นโทสมูลจิต โกรธมากขึ้นก็ทำชวนกิจ เป็นโทสมูลจิต แต่ยังไม่ได้กระทำกรรม โกรธมากขึ้นอีก สามารถจะเบียดเบียนคนอื่นให้เดือดร้อนด้วยกายหรือด้วยวาจา ขณะนั้นก็ยังเป็นอกุศลจิต เป็นโทสมูลจิตที่ทำชวนกิจ แต่มีกำลังถึงขั้นที่จะทำทุจริตกรรม
ถ. อาจารย์ช่วยยกตัวอย่างกุศลเป็นปัจจัยให้เกิดอกุศล และอกุศลเป็นปัจจัยให้เกิดกุศล
สุ. ใครที่ทำผิด รู้ว่าทำไม่ดี เกิดสติระลึกได้ก็ทำกุศล เพราะว่าได้ทำอกุศลมาแล้ว อย่างหลายคนเคยฆ่าสัตว์เล็กสัตว์น้อยมามาก ศึกษาธรรมแล้วก็เลิก และทำกุศลเพิ่มขึ้น การระลึกถึงอกุศลที่ได้ทำแล้วเป็นปัจจัยให้ทำกุศลได้
ถ. นี่คือ อกุศลเป็นปัจจัยให้ทำกุศล
สุ. ให้เกิดกุศล สำหรับกุศลเป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลก็ได้ บางท่านศึกษาธรรมเข้าใจแล้วเกิดความสำคัญตน กุศลก็เป็นปัจจัยให้เกิดอกุศล
ถ. เราต้องการรับประทานขนมรสอร่อย และเราได้ทานขนมนั้น ขณะที่จิตลิ้มรสอร่อยนั้น ไม่ใช่ผลของความต้องการ ถูกไหม
สุ. ต้องแยก ขณะใดเป็นวิบากจิต ต้องเป็นผลของกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม ขณะใดที่กำลังชอบรสที่อร่อย ขณะนั้นไม่ใช่วิบากจิต แต่เป็นเหตุ คือ เป็นอกุศลจิต
ถ. ขณะที่ต้องการก่อนหน้านั้นก็เป็นอกุศลจิต ซึ่งจะให้ผลเป็นอกุศลวิบาก
สุ. อยากรับประทานขนม จะเป็นอกุศลกรรมได้อย่างไร จะให้ผลเป็น อกุศลวิบากได้อย่างไร
ถ. สะสมเป็นอุปนิสสยปัจจัย
สุ. ใช่ เป็นอุปนิสสยปัจจัย
เรื่องของชีวิตประจำวัน ต้องเป็นผู้ละเอียดที่จะรู้ว่า จิตขณะใดเป็นกุศล ขณะใดเป็นอกุศลระดับใด และขณะใดไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล เป็นวิบากจิต มิฉะนั้น ก็แยกไม่ออกว่าขณะใดเป็นเหตุ ขณะใดเป็นผล แต่ถ้าทราบว่า ขณะเห็นเป็นวิบาก แต่หลังเห็นแล้วจะชอบหรือไม่ชอบ จะเป็นกุศลหรือจะเป็นอกุศล นั่นไม่ใช่วิบากแล้ว ก็จะได้ระวังที่จะเป็นกุศลเพิ่มขึ้น มิฉะนั้นแล้วเวลาที่ได้รับกระทบกับอารมณ์ที่ไม่ดี เป็นอกุศลวิบาก จิตใจก็หวั่นไหว เวลาได้รับกระทบกับอารมณ์ที่ดี เป็นกุศลวิบาก จิตใจก็หวั่นไหวอีก เพราะฉะนั้น ก็หวั่นไหวไป กระเพื่อมไป ตกไป สะดุดไป ตามกำลังของอกุศลที่เกิดขึ้น
ถ. การประพฤติพรหมจรรย์ การปฏิบัติธรรม และการปรารภความเพียร มีความหมายเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร
สุ. การประพฤติพรหมจรรย์ หมายความถึงอบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ซึ่งเป็นธรรมที่ประเสริฐจึงใช้คำว่า พรหม
จรรย์ คือ ความประพฤติหรือหนทาง เพราะฉะนั้น การบรรลุถึงหนทางที่ประเสริฐสำหรับผู้ประเสริฐได้ ก็ด้วยการอบรมเจริญสติปัฏฐาน นี่คือความหมายหนึ่ง อีกความหมายหนึ่ง คือ เป็นผู้ที่ละอาคารบ้านเรือน และมีการประพฤติปฏิบัติอย่างพรหม ซึ่งไม่เกี่ยวกับการครองเรือน
สำหรับการปฏิบัติธรรม ก็มีตั้งแต่ขั้นฟัง เข้าใจ และประพฤติปฏิบัติ คือ อบรมเจริญกุศลทุกประการ
สำหรับความเพียร ถ้าไม่เป็นไปในการอบรมเจริญสติปัฏฐาน หรือการอบรมเจริญปัญญา ก็เป็นความเพียรเรื่องอื่น
พระ อาตมามีข้อสงสัยเกี่ยวกับการเจริญสติปัฏฐาน คือ หลังจากที่มีความเข้าใจขั้นการฟังบ้างแล้ว สติเริ่มระลึก ปัญญาก็เริ่มสังเกตรู้ลักษณะของรูปธรรมนามธรรมที่กำลังปรากฏ แต่สัมมาสติก็เกิดไม่บ่อยนัก ปัญญาก็ยังไม่คมเพราะเพิ่ง เริ่มอบรม ขณะที่สติระลึกบางครั้งปัญญาก็พิจารณาตามความเป็นจริง แต่ที่จะระลึกตรงตามลักษณะจริงๆ นั้น มีน้อยครั้งมาก ซึ่งในชีวิตประจำวันที่สติระลึกนั้น ขณะนั้นมีสัมมาวายามะ แต่ยังขาดการใส่ใจอย่างแยบคายและละเอียดลึกซึ้ง ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ ทำให้ความเข้าใจในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมไม่เจริญขึ้นมากนัก แต่ก็ต่างจากที่สติเพิ่งเริ่มระลึกครั้งแรก คือ มีความเข้าใจในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมเพิ่มขึ้นบ้างเหมือนกัน แต่ก็ยัง น้อยมาก
ที่สำคัญบางครั้งมีความเพียรที่จะระลึก แต่ปัญญาก็รู้ไม่ตรงกับสภาพธรรม ตามความเป็นจริง จึงทำให้เกิดความลังเลสงสัยขึ้นในลักษณะของรูปธรรมนามธรรม ซึ่งมักจะเป็นเช่นนี้บ่อยๆ สงสัยว่า เป็นเพราะอุปนิสัยของตัวเองที่ไม่มั่นใจในตนเอง จึงทำให้บางครั้งที่สติระลึกตรงแล้วก็เกิดความสงสัยในภายหลังขึ้นบ้าง หรือเป็น ปกติธรรมดาของผู้ที่เริ่มอบรม หรือเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยของแต่ละบุคคล อาตมาขอคำแนะนำด้วย
สุ. เป็นปกติธรรมดาเจ้าค่ะ นี่คือความจริง เพราะกว่าปัญญาจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ต้องอาศัยการฟัง เป็นพหูสูต และเมื่อสติเริ่มระลึก ก็จะมีการคิดนึกเรื่องของสภาพธรรม ไม่ใช่การที่จะรู้โดยไม่ต้องคิด
เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นว่า ปัญญามีหลายขั้น ทั้งๆ ที่ขณะนี้สภาพธรรมกำลังปรากฏ เป็นของที่แน่นอนที่สุด ทางตา สภาพธรรมกำลังปรากฏ ใครที่ลืมไป ก็ให้ทราบและระลึกได้ในขณะนี้ว่า ทางตามีสภาพธรรมกำลังปรากฏ ทางหูมี สภาพธรรมกำลังปรากฏ สำหรับผู้ที่อบรมเจริญปัญญาจนรู้ทั่วจะไม่มีความสงสัยเลยว่า สภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตาก็คือปกติอย่างนี้ ซึ่งก่อนนี้ไม่เคยรู้เลยว่า เป็นเพียงสภาพธรรม เมื่อได้อบรมเจริญปัญญาความรู้จึงเพิ่มขึ้นจนกระทั่งชินต่อลักษณะที่กำลังปรากฏ และไม่มีความเคลือบแคลงสงสัยว่า สภาพธรรมคืออย่างนี้ เป็นปกติธรรมดา
เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญาที่จะเข้าใจลักษณะของ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏเท่านั้นเอง สภาพธรรมไม่เปลี่ยน เคยเห็นอย่างนี้ นานมาแล้ว ซึ่งแต่ก่อนนั้นไม่รู้เท่านั้นเอง
เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐาน หรือการอบรมเจริญปัญญา ไม่ใช่ ทำอย่างอื่น นอกจากขณะใดที่สติเกิดก็รู้ว่า ขณะนี้เป็นสภาพธรรม เหมือนปกติ แต่ความรู้ค่อยๆ เจริญขึ้น ถ้ายังไม่เจริญก็ระลึกอีกทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ตามปกติจริงๆ ซึ่งการอบรมเจริญปัญญาของแต่ละท่านนั้น เป็นปัจจัตตัง เป็นความรู้เฉพาะตน ที่ไม่ใช่การหลอกตัวเอง และคนอื่นก็ไม่สามารถมาหลอกได้ว่า ท่านผู้นี้มีปัญญาขั้นนั้นขั้นนี้ แต่เป็นปัญญาของผู้ที่สติระลึกจริงๆ ที่จะรู้ว่า ปัญญาของตนเองมีมากแค่ไหน หรือยังจะต้องอบรมเจริญต่อไป เพราะว่า ความจริงเป็นอย่างไรก็ต้องเป็นอย่างนั้น
และจุดประสงค์ก็ไม่ใช่เพื่อเป็นพระอริยบุคคลในชาตินี้ เพราะถ้าจุดประสงค์ จะเป็นพระอริยบุคคลในชาตินี้ นั่นเป็นความหวัง เป็นความต้องการ แต่ไม่ใช่ปัญญา ที่รู้เหตุจริงๆ ที่จะทำให้เป็นพระอริยบุคคล ถ้าเป็นปัญญาที่ทำให้รู้เหตุจริงๆ ที่จะ เป็นพระอริยบุคคลก็คือปัญญาที่รู้ว่า สภาพธรรมกำลังปรากฏในขณะนี้ และสติเกิด คืออย่างไร และเมื่อสติเกิดแล้ว มีความรู้ความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏอย่างไร
ขอให้เป็นการอบรมเจริญปัญญา ความรู้ ความเข้าใจในลักษณะของ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติไปเรื่อยๆ นี่เป็นเหตุที่ว่า ถ้าปัญญาสามารถรู้ อย่างนี้จริงๆ วิปัสสนาญาณจะเกิดขึ้นเมื่อไรย่อมได้ มรรคจิต ผลจิต จะเกิดขึ้นเมื่อไรย่อมได้ แต่ถ้าไม่มีปัญญาอย่างนี้ ไม่มีทางที่วิปัสสนาญาณจะเกิด หรือโลกุตตรจิต จะเกิด
พระ ถ้ายังลังเลสงสัยในสภาพธรรม จะเป็นเหตุให้ความเข้าใจที่ตรงแล้ว และเริ่มระลึกแล้ว หันเหไปสู่ข้อปฏิบัติอื่นได้
สุ. ความสงสัยเป็นปรมัตถธรรม และเมื่อสติเกิดระลึก แม้ความสงสัยขณะนั้นก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เป็นนามธรรม ข้อสำคัญ คือ ไม่ติด ไม่ยึดถือ ในลักษณะของสภาพธรรมทุกอย่าง ต้องทุกอย่าง ต้องทั้งหมด ก่อนที่จะละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลจริงๆ เว้นไม่ได้เลย แม้แต่ความสงสัยเกิดขึ้นก็จะต้องรู้ว่า ความสงสัยมีจริง เกิดขึ้นชั่วขณะ และมีเห็น เพราะฉะนั้น ขณะที่เห็น ไม่ใช่ขณะที่สงสัย ถ้าปัญญาสามารถรู้จนทั่วตามปกติจริงๆ ไม่เดือดร้อนเลย เพราะว่าความสงสัยเมื่อมีเหตุปัจจัยก็เกิด แต่ในตอนต้นเป็นเรื่องยาก เพราะว่าการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนยังเต็ม ในขณะที่เห็นน้อยคนนักที่จะสามารถรู้ว่า เป็นเพียงสภาพรู้ หรือเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น ก็มีเหตุปัจจัยที่จะให้ ความสงสัยเกิดขึ้นได้
แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีสัจจญาณจริงๆ คือ เป็นผู้ที่รู้ว่า อริยสัจจ์ ๔ คืออย่างไร ทุกขอริยสัจจะไม่ใช่ขณะอื่น นอกจากขณะนี้ และรู้ว่าหนทางเดียวที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจจ์ คือ สติปัฏฐานระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ถ้ามี สัจจญาณที่มั่นคงจะทำให้ไม่หลงผิดไปทางอื่น
พระ ความเข้าใจมั่นคงแล้ว แต่บางครั้งไปทำอย่างอื่นที่เป็นความไม่มั่นคง ต่อสัจจญาณ เช่น กำหนดลมหายใจ รู้สึกว่าพอใจเฉยๆ โดยไม่มีความเห็นผิด ก็รู้สึกว่า ขณะนั้นไม่มั่นคงแล้ว
สุ. เจ้าค่ะ ถ้าอย่างนั้นต้องอาศัยการฟังอีก เป็นการทำให้สติระลึกว่า ขณะนั้นเป็นแต่เพียงรูปธรรมที่ปรากฏ และไม่ติดอยู่ที่นั่น ข้อสำคัญ คือ ไม่มีความต้องการที่จะรู้อยู่ที่ลมหายใจ และเริ่มเห็นลักษณะของสมุทัยคือความต้องการว่า ความต้องการมีอยู่ตลอดเวลา แม้แต่ในขณะที่กำลังมีลมหายใจกำลังปรากฏ ถ้าปัญญาไม่สามารถที่จะรู้ ไม่สามารถที่จะละได้ ขณะนั้นก็ยังติด และยังต้องการ ให้มีความตั้งมั่นอยู่ที่ลมหายใจ ซึ่งไม่ทำให้เกิดปัญญาเมื่อไม่รู้ว่าขณะนั้นเป็นสภาพรู้ ที่กำลังมีลมซึ่งเป็นธาตุชนิดหนึ่งเป็นอารมณ์เท่านั้น ถ้าปัญญาไม่เกิดอย่างนี้ จะทำให้ยังคงตั้งมั่นอยู่ที่ลมหายใจโดยปัญญาไม่เกิด
พระ ... สัจจญาณ (ได้ยินไม่ชัด)
สุ. ขณะใดที่ปัญญาไม่รู้ลักษณะของสภาพปรมัตถธรรม ขณะนั้นไม่มีอะไรที่จะไปดับกิเลสที่ยึดถือสภาพปรมัตถธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ต้องเป็นปัญญาที่สามารถรู้ว่า ปรมัตถธรรมที่ได้ศึกษามาทั้งหมด ลักษณะจริงๆ คืออย่างนี้ ไม่ใช่ตัวตนอย่างนี้ เพียงปรากฏแต่ละลักษณะตามเหตุตามปัจจัยเท่านั้น
พระ ขณะที่ความเพียรเกิดขึ้น รู้สึกว่า ไม่แยบคายและยังไม่ลึกซึ้งเลย ปฏิบัติมานานแล้วก็ยังรู้สึกว่า ยังเป็นความเพียรที่ไม่แยบคาย
สุ. ไม่แยบคาย เพราะว่าขณะนั้นไม่ใช่ปกติ ถ้าเป็นความเพียรที่แยบคายต้องในขณะเป็นปกติอย่างนี้ และสติเกิดแม้เพียงเล็กน้อยก็รู้ว่า ขณะนั้นสติกำลังระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรม และกำลังค่อยๆ เข้าใจขึ้นในลักษณะของสภาพธรรม เป็นปกติ ความเพียรที่แยบคายต้องเป็นปกติ ถ้าผิดปกติ คือ ไม่แยบคาย
ถ้าเพียรตามปกติ คือ ในขณะนี้ เป็นปกติทุกอย่าง ถ้าเริ่มที่จะจดจ้องที่หนึ่ง ที่ใด นั่นคือผิดปกติ ไม่ใช่เป็นการที่แล้วแต่สภาพธรรมใดจะเกิด จะปรากฏ และสติระลึกทางตาเป็นปกติ ทางหูเป็นปกติ ทางกายเป็นปกติ ทางใจเป็นปกติ
พระ เรื่องบารมี อาตมาเข้าใจว่า การบำเพ็ญบารมีต้องบำเพ็ญทุกบารมี ไปพร้อมๆ กัน ใช่ไหม
สุ. ที่จริงแล้วสภาพของโสภณเจตสิกเกิดขึ้นทุกขณะที่กุศลจิตเกิด แล้วแต่ว่าขณะนั้นจะมีอารมณ์ของบารมีใดเป็นพิเศษ แต่ไม่ใช่หมายความว่า ในขณะนั้นจะขาดบารมีอื่น
แม้แต่ทานบารมี ก็ต้องประกอบด้วยสัจจบารมี มิฉะนั้นแล้วทานบารมี สำเร็จไม่ได้ โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่บำเพ็ญบารมีใหญ่ อภินิหารใหญ่ ที่จะให้ถึงความสำเร็จเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
และสำหรับบางท่านก็อาจจะเริ่มสะสมบารมีให้มากขึ้น จะเห็นได้ว่า แม้แต่ การเริ่มที่จะสะสมบารมี เช่น ทานบารมี หรือศีลบารมี เป็นต้น ขาดสัจจบารมีไม่ได้ คือ ต้องเป็นผู้ที่จริงใจต่อการที่จะบำเพ็ญบารมีนั้นๆ บารมีนั้นๆ จึงจะสมบูรณ์ขึ้นได้
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๙๕ ตอนที่ ๑๙๔๑ – ๑๙๕๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1884
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1885
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1886
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1887
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1888
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1889
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1890
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1891
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1892
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1893
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1894
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1895
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1896
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1897
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1898
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1899
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1900
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1901
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1902
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1903
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1904
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1905
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1906
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1907
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1908
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1909
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1910
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1911
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1912
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1913
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1914
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1915
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1916
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1917
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1918
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1919
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1920
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1921
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1922
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1923
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1924
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1925
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1926
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1927
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1928
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1929
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1930
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1931
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1932
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1933
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1934
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1935
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1936
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1937
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1938
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1939
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1940
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1941
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1942
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1943
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1944
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1945
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1946
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1947
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1948
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1949